‘ออสเตรเลีย’ เดินหน้าประสานรอยร้าว-เคลียร์ใจทุกข้อขัดแย้ง ‘จีน’ งัดกลยุทธ ‘Kungfu Panda Diplomacy’ หวังพิชิตใจ ‘สี จิ้นผิง’

‘นายแอนโทนี แอลบานีส’ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ของัดทุกกลยุทธ ขุดทุก Soft Power ที่รู้จัก มาเพื่อทำภารกิจสานสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนปักกิ่ง หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ดำดิ่งสู่ระดับเลวร้ายมานานกว่า 7 ปี

เมื่อไม่นานนี้ นายแอนโทนี แอลบานีส ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ที่มาเยือนจีนอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี 2016 ในสมัยของ ‘นายแมลคัม เทิร์นบุลล์’ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระดับทวิภาคี ให้กลับมามีบรรยากาศที่ดีขึ้นอีกครั้ง และยังเป็นการมาเพื่อเคลียร์ใจในประเด็นที่เคยขัดแย้ง จนสร้างความเย็นชาต่อกันมานานหลายปี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ เนื้อวัว และไวน์ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของออสเตรเลียไปยังตลาดจีน

ซึ่งต้องยอมรับว่า จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าออสเตรเลียรายใหญ่ที่สุดมานานหลายสิบปี นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาจีนนับแสนต่อปีที่เดินทางมาศึกษาต่อในออสเตรเลีย ซึ่งเคยทำสถิติสูงสุดในปี 2019 มากกว่า 1.6 แสนคน และถือเป็นสัดส่วนนักเรียนต่างชาติมากที่สุดของออสเตรเลียอีกด้วย

จนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่าง ‘จีน-ออสเตรเลีย’ เริ่มเลวร้ายลงตั้งแต่ปี 2017 เมื่อออสเตรเลียออกมากล่าวหาว่า จีนพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศ ตามมาด้วยการตัดสินใจดำเนินตามนโยบายของสหรัฐอเมริกา ในการแบนอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G ของ ‘Huawei’ รวมถึงการออกมาเรียกร้องให้สอบสวนคดีต้นกำเนิดไวรัส Covid-19 โดยตั้งข้อสงสัยว่าอาจมาจากเมืองอู่ฮั่น

และล่าสุด ได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (AUKUS) ที่มีเป้าหมายเพื่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ได้เติมเชื้อไฟในความบาดหมางระหว่างจีน และออสเตรเลียเรื่อยมาจนถึงวันนี้

โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อรัฐบาลจีนคว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากออสเตรเลีย และตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 116.2% – 218.4% รวมถึงการรณรงค์ไม่ให้นักศึกษาจีนเดินทางมาเรียนต่อในออสเตรเลีย จนยอดนักศึกษาจีนหล่นฮวบกว่า 5 หมื่นคนในปีการศึกษา 2022

ทำให้นายแอนโทนี แอลบานีส ผู้นำออสเตรเลียคนปัจจุบัน ต้องมาคิดทบทวน นโยบายที่แล้วมา และขอเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง ซึ่งการเยือนจีนในครั้งนี้ยังถือเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีที่ ‘โกห์ วิทแลม’ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนแรก เดินทางมาเยือนจีน ในปี 1973 

หลังจากที่ได้พบหน้ากับผู้นำจีนแล้ว นายแอนโทนี แอลบานีส ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เป็นการพูดคุยด้วยบรรยากาศชื่นมื่น แถมยังมีการเล่นมุก หยอกล้อกันด้วยเรื่องความน่ารักของ ‘แพนด้า’ อีกด้วย

นายแอนโทนี เล่าว่า “สี จิ้นผิง เล่าถึงการไปเยือนนิวซีแลนด์เมื่อเร็วๆ นี้ และเอ่ยปากชมว่าไวน์ของที่นั่นรสชาติดีมาก ผมจึงเสริมทันทีว่า ถ้าพูดถึง ‘ไวน์แดง’ ของออสเตรเลียเหนือชั้นกว่ามาก จากนั้น สี จิ้นผิง ก็พูดถึงตัว ‘แทสเมเนียนเดวิล’ สัตว์พื้นถิ่นของออสเตรเลีย และชมว่ามันน่ารักดี ผมบอกเขาไปทันทีว่า น่ารักไม่เท่าแพนด้าของจีนหรอก ผู้นำจีนรีบตอบทันทีว่า แพนด้าก็ไม่ได้น่ารักทุกตัวหรอกนะ จากนั้นก็ได้หยิบตัวละครในแอนิเมชันดัง อย่าง ‘Kungfu Panda มาคุยกันต่อ” ซึ่งผู้นำออสเตรเลียค่อนข้างพอพึงใจในการเจอกัน ระหว่างเขาและผู้นำสี จิ้นผิง ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่น

แต่ทว่า สื่อตะวันตกบางสำนักได้ออกวิพากษ์วิจารณ์ นายแอนโทนี แอลบานีส ว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อที่ ‘แปลกประหลาดที่สุด’ ในบรรดาผู้นำออสเตรเลียที่ผ่านมา และแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความละมุนละม่อมต่อรัฐบาลจีน จากที่เคยแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด และตั้งคำถามว่าจะมีผลต่อนโยบายเกี่ยวกับจีนของรัฐบาลออสเตรเลียหรือไม่

ด้านนายแอนโทนี ตอบแบบกลางๆ ว่า ถึงระบบการเมืองของจีนจะแตกต่างจากออสเตรเลีย แต่มันไม่สำคัญเลยว่าใครจะสวมหมวกใบที่แตกต่างจากเรา เพราะพวกเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันได้ ถ้าหากเรารู้จักแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่าง

แต่ทั้งนี้ ผู้นำออสเตรเลียย้ำว่า ออสเตรเลียยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา และยังต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนด้วยเช่นกัน เราไม่ต้องการเป็นกันชน คนกลางระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งการพูดคุยกับผู้นำจีนในวันนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากการเจอหน้ากันครั้งแรก ในงานประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี

นับเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีน ที่มีความบาดหมาง และเย็นชาต่อกันมานานหลายปี อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่นายแอนโทนี แอลบานีส ยังอยู่ในตำแหน่ง ถึงไม่อาจจะรับประกันได้ว่าผู้นำออสเตรเลียคนต่อไป จะมีนโยบายต่อจีนที่ต่างออกไปหรือไม่ แต่สำหรับ ‘แพนด้า’ นับเป็นสัญลักษณ์ทูตสันถวไมตรี ที่ใช้เป็นสื่อกลางของชาวจีนได้ดีเสมอ


เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง : ABC Australia / Sky News / VOA