Tuesday, 30 April 2024
เวียดนาม

Taliban 2.0 ความหวังใหม่ของอัฟกานิสถาน สู่ 'เมืองเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว' ที่น่าจับตา

การยึดครองของกลุ่มตอลิบาน อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าชาติตะวันตกพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ที่สมรภูมิอัฟกานิสถาน 

เมื่อไม่นานมานี้ นายพล เซอร์ นิค คาร์เตอร์ ได้รายงานความเห็นต่อหน้าคณะกรรมการกลาโหมแห่งรัฐสภาอังกฤษว่า กลุ่มผู้ปกครองตอลิบานในยุคนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มตอลิบานยุคที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มตอลิบานมีการยกระดับขึ้นเป็น "Taliban 2.0" ที่มีการปรับแนวคิดตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น และรัฐบาลตอลิบานก็ยินดีที่จะปกครองอัฟกานิสถานในแนวคิดสมัยใหม่นี้ 

ดังนั้นนายพลคาร์เตอร์จึงเชื่อว่า อัฟกานิสถานในอีก 5 ปีข้างหน้า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นและแตกต่างจากยุคตอลิบานรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาปกครองอัฟกานิสถานอย่างโหดเหี้ยมเมื่อ 20 ปีก่อน

นอกจากนี้ นายพล นิค คาร์เตอร์ ยังเคยให้สัมภาษณ์ออกสื่อโทรทัศน์เมื่อครั้งที่กองทัพตอลิบานบุกถึงกรุงคาบูลเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า กองทัพตอลิบานก็ไม่ต่างจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มีจรรยาบรรณขึ้นมาหน่อย และเปรียบเทียบกับกองทัพเวียดกงในสงครามเวียดนาม ที่เนื้อแท้แล้วพวกเขาก็เป็นชาวบ้านเวียดนามกลุ่มหนึ่ง ที่รบชนะในประเทศของตัวเอง 

ซึ่งหลังสงครามเวียดนาม ชาติตะวันตกก็เคยคาดการณ์ว่า เวียดนามจะล้าหลัง กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่พอเวลาผ่านไปเวียดนามก็เจริญขึ้นได้ มีเศรษฐกิจเติบโต และกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่โด่งดังมาก ที่ใคร ๆ ก็อยากไปเที่ยว

นายพล คาร์เตอร์มองว่า อัฟกานิสถานน่าจะเดินในโมเดลเดียวกับเวียดนามได้ และหากพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ เขาเชื่อว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมได้ไม่ยาก 

เวียดนามปืนไว!! เซ็นสัญญาตัวแทนขายวัคซีน​โควิดแคปซูล แม้ยังอยู่ในช่วงการทดลองในคลินิก

เมื่อ 29 ธันวาคม 2021 Oramed Pharmaceuticals บริษัทยาสัญชาติอิสราเอลได้แถลงว่า ทีมผู้พัฒนาวัคซีน Covid-19 ในรูปแบบเม็ดแคปซูล Oravax ได้เซ็นสัญญากับบริษัทโฮลดิงส์เวียดนาม Tan Thanh Holdings เพื่อสั่งซื้อแคปซูลวัคซีน Oravax ล่วงหน้าแล้วถึง 10 ล้านเม็ด แม้ว่าตอนนี้จะเพิ่งอยู่ในช่วงการทดลองในคลินิกก็ตาม

จากข้อตกลงนี้ จะทำให้บริษัท Tan Thanh ของเวียดนามได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย Oravax วัคซีน Covid-19 ชนิดแคปซูลอย่างเป็นทางการ ทั้งในเวียดนาม และในย่านอาเซียนทั้งหมด ตั้งแต่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ นั่นก็คือ อินโดนิเซีย 

ซึ่งยอดสั่งจองลวงหน้า 10 ล้านเม็ด เป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้น และคาดว่าจะมียอดสั่งซื้อตามมาอีกแน่นอน เนื่องจากทั้งผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่ายของเวียดนามมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำวัคซีนแคปซูลตีตลาดในย่านอาเซียน ที่มีประชากรมากถึง 660 ล้านคน 

หลังจากได้พัฒนาวัคซีน Covid-19 รูปแบบแคปซูลจนผ่านขั้นตอนการทดสอบในกลุ่มสัตว์ทดลองแล้ว นาดาฟ คิดรอน ผู้บริหารสูงสุดของ Oramed กล่าวว่า Oravax ได้เข้าสู่การทดสอบในคลินิกกับกลุ่มอาสาสมัครแล้ว คาดว่าจะรู้ผลลัพธ์ไม่เกินต้นปี 2022 นี้ 

โดยทางการเวียดนามกำลังพิจารณาจากผลการทดสอบในเฟส 2 นี้อย่างใกล้ชิด หากผลสัมฤทธิ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ รัฐบาลเวียดนามพร้อมอนุมัติให้ใช้วัคซีนแคปซูล Oravax ในกรณีฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการทำตลาดวัคซีน Oravax ในภูมิภาคอาเซียน

จากการประเมินของ Oramed พบว่า กลุ่มประเทศทุ่มงบประมาณถึง 4% ของ GDP ในสวัสดิการสาธารณสุขในประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี ที่เป็นโอกาสในการทำตลาดของวัคซีนแคปซูล Oravax 

ซึ่งวัคซีน Covid-19 ชนิดแคปซูลเม็ด กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากแม้ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์ Omicron 

ดังนั้นการใช้วัคซีนชนิดแคปซูล ที่ใช้ได้ง่ายเหมือนยาทั่วไปอาจเป็นจุดเปลี่ยนเกมสำคัญในการกระจายวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวัคซีนแบบฉีดที่ใช้กันอยู่ตอนนี้มาก 

และหากวัคซีนแคปซูล Oravax ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ก็นับว่าโชคดีของบริษัทโฮลดิงส์จากเวียดนาม ที่ปืนไว เซ็นสัญญาก่อนใครในภูมิภาคนี้


เรื่อง: ยีนส์​ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Channal News Asia / Biospace.com / The Jerusarem Post

ระเบิดเวลาอนาคตไทย หากยังมองเวียดนาม 'ห่างชั้น-ด้อยพัฒนา' หลังเหงียนเริ่มกลืนตลาดออนไลน์ไทย โดยคนรุ่นใหม่

จากเพจเฟซบุ๊ก 'สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์เรื่องราวของคนที่ได้สัมผัสกับนักกลุ่มธุรกิจเวียดนามรุ่นใหม่ที่กำลังมองไกล สร้างตัว สร้างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางสร้างตัวหนึ่งที่น่ากังวลต่ออนาคตของคนในบ้านเราอย่างมาก คือ การมาตักตวงโอกาสที่คนไทยส่วนใหญ่มองข้าม แต่พวกเขามองขาด ไว้ว่า... 

ใครรู้บ้างว่าค่าโฆษณาเฟซบุ๊กเวียดนาม แพงกว่าเมืองไทย 2-3 เท่า ธุรกิจขายของออนไลน์ในไทย คือ "Blue Ocean" สำหรับชาวเวียดและสินค้าจีนที่ขายออนไลน์จำนวนมากในไทย ขายโดยคนเวียดนามที่นั่งสั่งการอยู่ที่เวียดนาม

ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันพอได้มีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหวของนักธุรกิจรุ่นเยาว์กลุ่มหนึ่ง ที่รวมตัวกันขึ้นมาหลวมๆ เรียกตัวเองว่า CEO Club คุยกันตามร้านกาแฟวันเสาร์-อาทิตย์ เดือนละ 1-2 ครั้ง บางทีก็จัดสัมมนาย่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเทคนิคการทำการตลาดออนไลน์ 

และ CEO Club กลุ่มนี้ก็ไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่ขึ้น ที่มุ่งเน้นทำธุรกิจข้ามชาติ มากกว่าขายของในเวียดนาม โดยเริ่มต้นจากไทย ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากนั้นก็จะขยายไปตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา

เท่าที่ได้เคยพูดจา เจอกันตัวเป็นๆ บ้างในงานสัมมนาต่างๆ คนกลุ่มนี้อยู่ในวัย 20-30 กลางๆ (ร้อยละ 90 อายุน้อยกว่าดิฉันทั้งนั้น)...หน้าตาซื่อๆ แต่งตัวธรรมดา ขี่มอเตอร์ไซค์ แบกเป้ กันตามปกติ ไม่มีอะไรผิดสังเกต นอกจาก พกโทรศัพท์มือถือ อย่างน้อย 2 เครื่อง และไปเจอกันเกือบทุกงานสัมมนา ซึ่งงานสัมมนาบางรอบรับเฉพาะบริษัทที่มีงบโฆษณาเฟซบุ๊กเกินเดือนละ 500,000 บาท หรือบางสัมมนารับเฉพาะบริษัทที่มีรายได้เกินเดือนละ 10 ล้านบาทเท่านั้น ...และก็ยังมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นร้อยคน !!! 

ในงานสัมมนานอกจากการฝึกอบรมทั่วไป มักจะมี CEO หน้าละอ่อน ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จอยู่เรื่อยๆ

ที่ฟังแล้วทึ่งก็มี และที่สะอึกก็มาก โดยเฉพาะเมื่อเขาพูดกันถึงการทำธุรกิจขายออนไลน์ในไทย!!! 

ดิฉันจึงอยากสรุปความนำมาเล่าตามประสาชาวบ้าน ที่เก็บความลับไม่อยู่ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านชาวไทยบ้าง

📍แนวทางขายของออนไลน์ในไทยจากเวียดนาม... 

1. เข้าหุ้นหรือหาตัวแทนจดทะเบียนบริษัทในไทย 
2. เช่าอาคารพาณิชย์เป็นคลังสินค้าและออฟฟิศ
3. จ้างพนักงานชาวไทยระดับเงินเดือนประมาณ 15000-20000 บาท เพื่อลดอัตราการลาออก หน้าที่หลักคือ ขายของออนไลน์ ตอบลูกค้า แพ็กของ ส่งของ ให้คำปรึกษาลูกค้า ฯลฯ
4. ส่งคนเวียดนามไปอบรมพนักงานไทย ที่ไทย
5. นำสินค้าเข้าจากจีน
6. ทำการตลาด โฆษณาต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ยูทูบ ติ๊กต๊อก ฯลฯ โดยตรงจากเวียดนาม
7. สื่อการตลาดต่างๆ เอาจากเวียดนามแล้วจ้างคนแปลหรือจ้างคนไทยทำ
8. สำหรับนักลงทุนใหม่ ช่วงเริ่มต้นยังไม่ต้องเอาสินค้าเข้าไป ทำโฆษณาไปก่อน มีออเดอร์แล้วค่อยส่งของ เพราะคนไทยรอออเดอร์ได้นาน ทำให้มีเวลา test ระบบได้ก่อนลงทุนจริง

📍การลงทุนและผลตอบแทน

- สินค้า (คุณภาพดี) สามารถขายได้ราคาสูงกว่าที่เวียดนามประมาณ 2-3 เท่า
- สามารถทำจำนวนออเดอร์ 2000-3000 ออเดอร์ต่อวัน ได้ภายใน 1 ปี (100 ออเดอร์ต่อวันภายใน 1-2 เดือน)
- ค่าโฆษณาร้อยละ 35
- ค่าสินค้าร้อยละ 20
- ค่าดำเนินการร้อยละ 10
- ค่าขนส่งร้อยละ 10
- เบ็ดเสร็จหากทำเป็น กำไรตั้งแต่เดือนแรก
- งบลงทุนขั้นต่ำ 4-5 ล้านบาท

📍ทำไมถึงเป็นประเทศไทย
- คนไทยชอบสินค้าตามกระแส ไฮเทค
- คนไทยชอบซื้อของ
- ยอดซื้อของต่อออเดอร์คนไทยสูงกว่าเวียดนาม
- ต้นทุนการตลาดถูกกว่าเวียดนามมาก
- คนไทยชอบของดีมีคุณภาพ
- คนไทยไม่รังเกียจของจีนเหมือนเวียดนาม
- คนไทยใจดี ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้
- อัตราการคืนของต่ำมาก (3%) เวียดนาม 30%
- คนไทยรอของได้นาน 10-15 วันยังรอ (เวียดนามรอ 3-4 วันก็ยกเลิกออเดอร์แล้ว)
- การขนส่งมีประสิทธิภาพกว่าเวียดนาม
- กฎระเบียบในประเทศไทยไม่เข้มงวด

เปิดข้อเท็จจริง!! ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

จากคำขอของพี่นวลอนงค์ สุวรรณเรือง ซึ่งบอกมาว่า “อาจารย์คะ รบกวนเล่าที่มาของสนธิสัญญา อินโด-แปซิฟิก หน่อยได้มั้ยคะ ขอบคุณค่ะ” ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ได้เล่าถึงองค์การ SEATO ซึ่งเปรียบเสมือนองค์การ NATO แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (แต่แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย) จนยุบเลิกไปในที่สุด โดยเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องราวส่วนแรกของ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ครับ

ฉะนั้นสำหรับบทความรอบนี้ จึงขอเล่าเรื่องราวส่วนที่สอง อันเป็นภาคจบด้วยข้อเท็จจริงของ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งได้ขอความอนุเคราะห์มาจาก ท่านหน่อย ‘ธานี แสงรัตน์’ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ท่านเป็นเพื่อนของรุ่นน้องที่สนิทสนมกัน และราว 30 ปีก่อนเคยไปเยี่ยมท่านที่ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาโท University of Pittsburgh  

ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาเริ่มกันเลยครับ...

ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 รถถังของเวียดนามเหนือสนธิกำลังกับเวียดกงชนประตูรั้วเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้

แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องราวข้อเท็จจริงของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่มาจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากความพ่ายแพ้ของทุกรัฐบาลในอินโดจีนที่สหรัฐฯ สนับสนุน และเหตุการณ์ต่อจากนั้นกระทั่งถึงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในยุคปัจจุบันกันก่อน 

ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 เมื่อรถถังของเวียดนามเหนือสนธิกำลังกับเวียดกงชนประตูรั้วเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้อันเป็นการแสดงถึงชัยชนะต่อรัฐบาลเวียดนามใต้ที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ต้องถอนกำลังออกจากสามประเทศอินโดจีน อันได้แก่ ลาว, กัมพูชา และเวียดนามใต้ อย่างบอบช้ำ และชัยชนะดังกล่าวทำให้ทั้งสามประเทศสถาปนาตัวเองเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์

แต่หลังจากชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่เกิดขึ้นทั้งในสามประเทศไม่นาน ก็ดันเกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและกัมพูชาประชาธิปไตย โดยสงครามเริ่มขึ้นด้วยการปะทะตามพรมแดนทางบกและทางทะเลของเวียดนามและกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง 2520 

ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เวียดนามเริ่มปฏิบัติการรุกรานกัมพูชาเต็มขั้นและยึดครองประเทศได้หลังล้มล้างรัฐบาลเขมรแดง โดยวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ทหารเวียดนาม 150,000 นาย บุกเข้ายึดครองกัมพูชาประชาธิปไตย และสามารถชนะกองทัพปฏิวัติกัมพูชาได้ในเวลาเพียงสองสัปดาห์

วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2522 มีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่นิยมเวียดนามในกรุงพนมเปญ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามยาวนานนานสิบปี แต่ระหว่างการยึดครองนั้นรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของเขมรแดงยังคงได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติว่าเป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมของกัมพูชา พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านติดอาวุธหลายกลุ่มขึ้นเพื่อสู้รบกับการยึดครองของเวียดนาม 

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ซึ่งนิยมเวียดนาม ได้พยายามเจรจากับรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย เพื่อเริ่มการเจรจาสันติภาพ ภายใต้แรงกดดันทางการทูตและเศรษฐกิจอย่างหนักจากประชาคมนานาชาติ รัฐบาลเวียดนามจึงเริ่มนำการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศหลายอย่างมาใช้ และนำไปสู่การถอนตัวออกจากกัมพูชาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2532 

ในระหว่างการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ 17 กุมภาพันธ์ - 16 มีนาคม พ.ศ. 2522 จีนได้การโจมตีเวียดนามตามแนวชายแดนจีน-เวียดนาม และจีนสามารถยึดครองเมืองเกาบังได้ในวันที่ 2 มีนาคม และเมืองลาวเซินในวันที่ 4 มีนาคม จากนั้นมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงฮานอย แม้การส่งกำลังบำรุงไม่ดีพอ แต่อีกไม่กี่วันต่อมากองกำลังของจีน ก็สามารถเข้าสู่เวียดนามตอนเหนือและยึดเมืองต่างๆ ของเวียดนามได้หลายเมืองใกล้ชายแดน กระทั่ง วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2522 ประเทศจีนประกาศว่า ประตูสู่กรุงฮานอยได้ถูกเปิดออกแล้ว และสรุปว่า ภารกิจลงโทษลุล่วงแล้ว ก่อนถอนทหารทั้งหมดออกจากประเทศเวียดนาม โดยทั้งประเทศจีนและเวียดนามต่างอ้างชัยชนะในสงครามครั้งนี้

ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม โดยเกิดเหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม ด้วยกองกำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มกัมพูชาติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม คือ...

(1) กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และเขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 นาย มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง

(2) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLF) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000 นาย 

และ (3) กลุ่มพรรคฟุนซินเปก (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif - FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ กลุ่มต่อต้านทั้งสามกลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อง่ายต่อการหลบหนีเมื่อถูกกำลังเวียดนามบุกเข้าโจมตี กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่าไทยยินยอมให้ชาวกัมพูชาฝ่ายต่อต้านใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของเฮง สัมริน

หลายครั้งที่การโจมตีของกำลังเวียดนามต่อกลุ่มกัมพูชาติดอาวุธที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามทั้ง 3 กลุ่ม มักมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทย ซึ่งขณะนั้นถือได้ว่ากองทัพไทยหากเปรียบเทียบกับกองทัพเวียดนามแล้ว ต้องบอกว่าว่าเทียบกันไม่ติด เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบมาก่อนหรือถ้าผ่านก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่ ซึ่งมีแนวทางในปฏิบัติการรบแบบสหรัฐอเมริกา แตกต่างกับเวียดนาม

พิจารณาได้จากกองกำลังของเวียดนามซึ่งมีทักษะในการรบที่ดีกว่า และรู้วิธีการรบแบบกองโจร แถมทหารของเวียดนาม ก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนาม 

โดยขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้น กองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวน 875,000 นาย โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮง สัมริน ที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ภายใต้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และการรบแบบสมัยใหม่ 

ส่วนฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการปราบปรามกองโจร และมีกำลังทหารหน่วยที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม แต่ก็ชำนาญการรบตามหลักนิยมของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า จึงจะทำการรบได้ 

นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธของสหรัฐฯ ที่เหลือทิ้งไว้จากยุคสงครามเวียดนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 นี้ เวียดนามก็ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในกัมพูชา จึงกล่าวได้ว่า ไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก 

ทั้งนี้ ข้อตกลงสันติภาพปารีส การเจรจาสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป โดยการประชุมสันติภาพปารีสเกี่ยวกับกัมพูชาครั้งแรกจัดขึ้นใน พ.ศ. 2532 หลังจากการถอนทหารเวียดนาม ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ได้จัดการประชุมจาการ์ตาครั้งที่สาม และจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา เพื่อรับรองอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ในเวลาเดียวกัน ฮุน เซนได้เปลี่ยนชื่อพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชามาเป็นพรรคประชาชนกัมพูชา

กลัวอะไรถ้าบริสุทธิ์ใจจริง กับ กฎหมายเปิดเผยเงิน NGO | NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช EP.54

✨ กลัวอะไรถ้าบริสุทธิ์ใจจริง กับ กฎหมายเปิดเผยเงิน NGO 
✨ ทำอะไรสักอย่างสิ!! ชุมชนผู้สูญเสียเหตุกราดยิงร้องขอ ด้าน ‘ไบเดน’ ตอบ “เราจะทำอะไรสักอย่าง”
✨‘ไทย’ จับมือ ‘เวียดนาม’ ยกระดับคุณภาพข้าวและยาง เพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก

NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช

โดย อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

'อินเดีย-เวียดนาม' ประสานพันธมิตร 2 ฟากทะเล ขยายศักยภาพการป้องกันทางทะเลเพื่อสกัดจีน

เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งมอบเรือตรวจการณ์ความเร็วสูงจำนวน 12 ลำให้แก่ เวียดนาม หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงเซ็นข้อตกลงร่วมด้านโลจิสติกส์ ที่จะทำให้ทั้งอินเดีย และเวียดนามสามารถใช้ฐานทัพร่วมกันได้ 

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การขยายศักยภาพในการป้องกันดินแดน และความมั่นคงภายใน ต้านการแผ่อิทธิพลของจีน และข้อตกลงนี้จะมีผลผูกพันไปจนถึงปี 2030 ที่จะทำให้อินเดียเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในเขตทะเลจีนใต้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย

สำหรับเรือทั้ง 12 ลำใช้งบก่อสร้างราว ๆ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 5 ลำแรกจะต่อในโรงงานที่อินเดีย ส่วนอีก 7 ลำจะต่อที่อู่ต่อเรือในเมืองฮอยอัน ในเวียดนาม 

ด้านนายรัชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินเดีย ซึ่งได้เดินทางมาเวียดนาม เพื่อลงนามในข้อตกลงร่วมทั้ง 2 ประเทศ และส่งมอบเรือตรวจการณ์สัญชาติอินเดียในครั้งนี้ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันภัยและความมั่นคงของอินเดีย ภายใต้สโลแกน 'Make in India, Make for the World' ที่เราจะไม่ได้สร้างยุทโธปกรณ์เพียงเพื่อป้องกันดินแดนของอินเดียเท่านั้น แต่พร้อมจะเสริมกำลังความมั่นคงให้แก่นานาชาติด้วย 

ภายหลังจากการส่งมอบเรือตรวจการณ์ 12 ลำ รวมถึงที่อินเดียเคยให้วงเงินกู้แก่เวียดนาม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกันกับอินเดียนั้น ทางด้านเวียดนามก็เล็งที่จะซื้อขีปนาวุธพิสัยกลาง รุ่น BrahMos ที่มีความเร็วเหนือเสียง เป็นการตอบแทนด้วย

Apple เตรียมย้ายฐานผลิตออกจากจีน จ่อผลิต Apple Watch-MacBook ในเวียดนาม

กลายเป็นข่าวดีสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมไฮเทคของเวียดนาม หลังมีรายงานว่า 'แอปเปิล' อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเตรียมสร้างฐานการผลิต Apple Watch และ MacBook ในเวียดนามเป็นครั้งแรก

หนังสือพิมพ์นิกเกอิเอเชียอ้างแหล่งข่าวที่ทราบข้อมูลโดยตรง 3 ราย ซึ่งระบุว่า บริษัท Luxshare Precision Industry และฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์หลักของแอปเปิล ได้เริ่มทดสอบสายการผลิต Apple Watch ในภาคเหนือของเวียดนามแล้ว โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าตัวนี้ภายนอกจีนให้ได้เป็นครั้งแรก

เวียดนามเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดของแอปเปิลรองจากจีนอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยมีการผลิตสินค้าเรือธงให้แอปเปิลมากมายหลายตัว รวมถึง iPad และ AirPod เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชี้ว่า กระบวนการผลิต Apple Watch นั้นจะต้องอาศัยทักษะแรงงานและเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก และการถูกเลือกให้เป็นฐานผลิตอุปกรณ์ตัวนี้ก็ถือว่าเป็น 'ชัยชนะ' ครั้งสำคัญของเวียดนาม ซึ่งมุ่งมั่นที่จะยกระดับภาคการผลิตสินค้าไฮเทคของตนเองอยู่แล้ว

นิกเกอิรายงานด้วยว่า แอปเปิลยังกระจายสายการผลิต iPad จากจีนมายังเวียดนาม หลังจากมาตรการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อห่วงโซ่อุปทาน และยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับซัปพลายเออร์เพื่อทดสอบสายการผลิตลำโพงอัจฉริยะ HomePod ในเวียดนามเช่นกัน

วีรบุรุษต่างเชื้อชาติ!! ‘Kostas Sarantidis’ ชายชาวกรีซแห่งกองกำลัง Viet Minh ผู้ได้รับการยกย่องเป็น ‘วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม’


Kostas Nguyen Van Lap ชายชาวกรีซผู้ซึ่งกลายเป็นวีรบุรุษของเวียดนาม

๒ สิงหาคมที่ผ่านมา เวียดนามได้จัดพิธีรำลึกจัดถึง Kostas Nguyen Van Lap (Kostas Sarantidis - Nguyen Van Lap) ขึ้นที่เมืองดานัง ทางตอนกลางของประเทศ Kostas Nguyen Van Lap ชายผู้มีสัญชาติกรีซและเวียดนาม เข้าร่วมกับกองกำลัง Viet Minh ของเวียดนามในสงครามต่อต้านอาณานิคมของฝรั่งเศส และกลายเป็นวีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม

Kostas Nguyen Van Lap ประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ “วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม (Hero of the People's Armed Forces of Vietnam)

Kostas Nguyen Van Lap (1927 - 25 มิถุนายน ค.ศ. 2021) เดิมชื่อ Kostas Sarantidis (Κώστας Σαραντίδης) เขาเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่เคยได้รับตำแหน่ง “วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม (Hero of the People's Armed Forces of Vietnam) เขาเป็นทหาร "เวียดนามใหม่" ซึ่งเป็นชาวกรีซเพียงคนเดียวที่เคยรับใช้ในกองกำลัง Viet Minh ระหว่างสงครามเวียดนามกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม



Kostas Nguyen Van Lap เกิดในครอบครัวคนงานในเมือง Thessaloniki ประเทศกรีซ เมื่อเขาอายุ ๑๖ ปี กรีซถูกนาซีเยอรมันยึดครอง เขาจึงถูกเกณฑ์เป็นทหารแล้วถูกส่งไปเยอรมนี ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาไม่สามารถกลับไปกรีซได้ เพราะไม่มีเอกสารประจำตัว เขาถูกส่งไปยังค่ายกักกันในอิตาลีในช่วงต้นปี ค.ศ. 1946 และต่อมาได้สมัครเข้าร่วมกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส และถูกส่งไปยังอินโดจีนภายใต้ภารกิจในการปลดปล่อยประชาชน และปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น

หน่วยของเขาเดินทางไปเวียดนามทางเรือ เมื่อถึงไซง่อนแล้วก็ถูกพาขึ้นรถไฟไปยังตอนกลางของเวียดนาม ในวันแรกที่เขามาถึงเวียดนาม เขาได้เห็นความโหดร้ายมากมายของกองทัพฝรั่งเศสที่กระทำต่อชาวเวียดนาม เขาจึงตระหนักว่า ฝรั่งเศสเป็นเพียงผู้รุกราน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะแปรพักตร์ เข้าร่วมกับกองกำลัง Viet Minh โดย Kostas Nguyen Van Lap เล่าว่า "เราเข้าร่วมในการต่อสู้หลายครั้งในภาคใต้ ทหารได้รับคำสั่งให้โจมตีและเผาหมู่บ้านเพื่อพิสูจน์ตนเองว่า แข็งแกร่ง ผมอยากจะลาออก เพราะผมทนไม่ไหวแล้ว ในวันสุดท้ายในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสของผม ผมเห็นด้วยตาตนเองว่า ทหารของกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสทั้งหมวดข่มขืนเด็กหญิงอายุเพียง ๑๔-๑๕ ปี” 

ขณะเขาประจำการอยู่ที่เมือง Binh Hoa ก็ได้พบกับ Mai Le สายลับหญิงซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยให้ Kostas Nguyen Van Lap เข้าร่วมกับกองกำลัง Viet Minh โดยพ่อแม่ของ Mai Le เป็นผู้รักชาติ เข้าร่วมสงครามต่อต้านและเสียสละตัวเอง แม้จะอายุน้อยมาก แต่ Mai Le และเพื่อนร่วมชั้นก็ออกจากเมืองเข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน เขาพบกับ Mai Le ในฐานะที่เธอเป็นภรรยาของร้อยโท Christianis หัวหน้าหน่วยในเมือง Phan Thiet โดย Mai Le ได้ฝากฝังเขากับกองกำลัง Viet Minh (ต่อมาสายลับหญิงผู้นี้ถูกจับและถูกประหารชีวิตโดยฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1946) 

เวลา ๐๒.๐๐ น. ของวันที่ ๖ เมษายน เขาทิ้งกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสเพื่อไปยังเขตปลอดทหารใน Binh Thuan นอกจากนี้ เขายังปล่อยนักโทษอีก ๒๔ คน นำถือปืนกลเบรนและปืนไรเฟิลไปด้วยอีกสองกระบอก ระเบิดมือสองกล่อง และกระสุนอีกจำนวนหนึ่ง ที่พื้นที่ต่อต้านเขาพบว่า กองกำลัง Viet Minh มีอาวุธที่แย่มาก อาทิ ปืนคาบศิลาฝรั่งเศสสามกระบอกที่มีความยาวต่างกัน นายทหารมีปืนพกที่เก่ามาก ทหารบางคนยังใช้มีด หรือดาบ เขามอบปืนที่เขานำมาด้วยให้กับกองกำลัง Viet Minh ทหารเวียดนามดีใจมากเพราะได้อาวุธใหม่ หลังจากนั้นทหารเวียดนามจึงฆ่าลูกวัวเพื่อทำอาหารฉลอง หลังจากนั้น Kostas ได้รับชื่อเวียดนามว่า Nguyen Van Lap และเข้าร่วมกองทัพประชาชนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ในฐานะหนึ่งในทหาร "เวียดนามใหม่ " 

ในช่วงปี ค.ศ. 1946 - 1948 สภาพความเป็นอยู่ของกองกำลัง Viet Minh นั้นเลวร้ายมาก เขาเล่าว่า "เราได้รับอาหารเพียง ๘๐๐ กรัมต่อวัน และมีเพียงผักเป็นอาหารเท่านั้น” สโลแกนการต่อต้านของกองกำลัง Viet Minh มีความคล้ายคลึงกับสโลแกนของชาวกรีซซึ่งก็คือ "เสรีภาพหรือความตาย" กองกำลัง Viet Minh ให้เขาทำงานในหน่วยประจำเขตพื้นที่ ๕ เขตสนามรบ “กว๋างนาม – ดานัง” เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ออกอากาศไปยังกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสชักจูงให้ทหารแปรพักตร์ออกจากกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส และช่วยชีวิตเชลย ๑๒๐ คนที่ถูกจับ 

ต่อมาเขาและเพื่อนร่วมหน่วยสามารถยิงเครื่องบิน Morane-Saulnier ตก และจับกุมนักบินชาวฝรั่งเศสสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ใกล้ ๆ กับ Phu Cang (กว๋างนาม) เมื่อเมษายน ค.ศ. 1948 หน่วยของเขาสามารถสังหารกองกำลังศัตรูได้ ๒๐๐ นาย ที่ Huong An - Ba Ren

'บุพเพสันนิวาส ๒' แซงหน้า FRIEND ZONE.. ขึ้นแท่นหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลที่เวียดนาม

บุพเพสันนิวาส ๒ ภาพยนตร์ร่วมทุนฟอร์มใหญ่ ระหว่าง จีดีเอช และ บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ขึ้นแท่นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุด ตลอดกาลที่ประเทศเวียดนาม ด้วยรายได้ Box Office 62,000 ล้านดอง ราว 2.6 ล้านดอลลาร์ ภายใน 14 วันที่มีการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แซงหน้าภาพยนตร์ FRIEND ZONE..ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน ค่าย จีดีเอช ที่ครองตำแหน่งภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดยาวนานกว่า 3 ปี ที่เคยทำไว้ 53,000 ล้านดอง VND (2.25 ล้าน USD) 

นอกจากนี้ หนังบุพเพสันนิวาส ๒ ยังได้กระแสตอบรับที่ดีจากชาวเวียดนามตั้งแต่รอบสนีก พรีวิว จนถึงวันที่เข้าฉายจริง สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปาก เพิ่มรอบ เพิ่มโรง แม้ว่าจะเข้าฉายสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้วก็ตาม

เวียดนามเตือนประชาชนออกนอกพื้นที่เสี่ยง หลัง 'พายุโนรู' ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทางการเวียดนามออกประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณตอนกลางอพยพออกจากพื้นที่ เนื่องจากไต้ฝุ่นโนรูกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาและจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไปทางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากสร้างความเสียหายไม่น้อยในฟิลิปปินส์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของเวียดนาม กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นโนรูจะรุนแรงขึ้นในคืนวันอังคาร (27 ก.ย. 65) ระหว่างที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามตอนกลางมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์กลางของพายุอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะพาราเซล มีความเร็วลมสูงสุด 183 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจาก 149 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในคืนก่อนหน้า (26 ก.ย.)

นอกจากนี้ เวียดนามต้องปิดสนามบินหลายแห่งทำให้เที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศถูกยกเลิกหลายร้อยเที่ยว การจราจรปั่นป่วน อีกทั้งประชาชนหลายหมื่นคนจำเป็นต้องอพยพออกจากบ้านเรือนกะทันหันอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top