'อินเดีย-เวียดนาม' ประสานพันธมิตร 2 ฟากทะเล ขยายศักยภาพการป้องกันทางทะเลเพื่อสกัดจีน

เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งมอบเรือตรวจการณ์ความเร็วสูงจำนวน 12 ลำให้แก่ เวียดนาม หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงเซ็นข้อตกลงร่วมด้านโลจิสติกส์ ที่จะทำให้ทั้งอินเดีย และเวียดนามสามารถใช้ฐานทัพร่วมกันได้ 

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การขยายศักยภาพในการป้องกันดินแดน และความมั่นคงภายใน ต้านการแผ่อิทธิพลของจีน และข้อตกลงนี้จะมีผลผูกพันไปจนถึงปี 2030 ที่จะทำให้อินเดียเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในเขตทะเลจีนใต้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย

สำหรับเรือทั้ง 12 ลำใช้งบก่อสร้างราว ๆ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 5 ลำแรกจะต่อในโรงงานที่อินเดีย ส่วนอีก 7 ลำจะต่อที่อู่ต่อเรือในเมืองฮอยอัน ในเวียดนาม 

ด้านนายรัชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินเดีย ซึ่งได้เดินทางมาเวียดนาม เพื่อลงนามในข้อตกลงร่วมทั้ง 2 ประเทศ และส่งมอบเรือตรวจการณ์สัญชาติอินเดียในครั้งนี้ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันภัยและความมั่นคงของอินเดีย ภายใต้สโลแกน 'Make in India, Make for the World' ที่เราจะไม่ได้สร้างยุทโธปกรณ์เพียงเพื่อป้องกันดินแดนของอินเดียเท่านั้น แต่พร้อมจะเสริมกำลังความมั่นคงให้แก่นานาชาติด้วย 

ภายหลังจากการส่งมอบเรือตรวจการณ์ 12 ลำ รวมถึงที่อินเดียเคยให้วงเงินกู้แก่เวียดนาม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกันกับอินเดียนั้น ทางด้านเวียดนามก็เล็งที่จะซื้อขีปนาวุธพิสัยกลาง รุ่น BrahMos ที่มีความเร็วเหนือเสียง เป็นการตอบแทนด้วย

สำหรับการเซ็นข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาฐานการผลิตด้านความมั่นคง และระบบขนส่ง เชื่อได้ว่าจะไม่ใช่เพียงแค่การใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเรือรบ และอาวุธให้แก่อินเดียเท่านั้น แต่ยังเป็นการผนึกกำลังด้านการทหารร่วมกันระหว่างอินเดียที่คุมพื้นที่ด้านฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับเวียดนามที่มีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้เช่นกัน

เพราะต้องไม่ลืมว่า อินเดียยังเป็นหนึ่งในพันธมิตร QUAD อันประกอบไปด้วย อินเดีย, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งอินเดียเป็นสมาชิกในกลุ่มเพียงชาติเดียวที่มีพรมแดนติดกับจีน แถมยังมีข้อพิพาทกันเรื่องพรมแดน ภายใต้ศักยภาพทั้งในด้านกำลังพลกองทัพ และอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธที่ใกล้เคียงกับจีน

ดังนั้นการที่อินเดีย ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับเวียดนาม อาจส่งสัญญาณว่า อินเดียจะขอข้ามฝั่งมหาสมุทรเข้ามามีบทบาทในฝั่งอินโด-แปซิฟิกบ้าง เพื่อจับตามองจีนที่เล็งเป้าขยายอิทธิพลในย่านนี้ด้วยเช่นกัน ก็เป็นได้


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Straits Times / India Express