Friday, 17 May 2024
เวียดนาม

ระบบการศึกษาเวียดนาม ความคล้ายคลึงที่อาจไม่ต่างจากไทย เน้นสอนให้ท่องจำไว้ เพื่อดันผลคะแนนสอบ PISA ให้ได้สูงๆ

(8 ธ.ค.66) จากเพจ ‘Mr Strategist’ ได้โพสต์ข้อความชวนคิดในหัวข้อ ‘เด็กเวียดนามเรียนเก่งกว่าไทยจริงไหม?’ ความว่า...

เด็กเวียดนามเรียนเก่งกว่าไทยจริงไหม? วัดกันยากครับ ผมเคยไปพูดคุยกับคณะทำงานของฝั่งเวียดนาม เจ้าหน้าที่ระดับล่างและระดับกลางบ้านเขาก็ไม่ได้พูดอังกฤษเก่งนะ (จากการประเมินของผม)

ภาษาอังกฤษเขาก็ติดสำเนียงท้องถิ่น พูดแบบไม่แม่นแกรมม่าเหมือนบ้านเรานี่แหละ แต่เขาดูมีความพยายามมากๆ ในการพูด ถามว่าการแข่งขันเขาสูงไหม สูงมากครับ

สูงไม่ต่างจากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น เขาแข่งกัน ในแบบที่บ้านครอบครัวเด็กยากจนยังวิ่งหาเงิน เพื่อจ่ายค่าติวเตอร์/ส่งลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนน่ะ…

เรื่องคะแนนคณิตศาสตร์เนี่ย แน่นอน พูดกันในเรื่องการออกแบบหลักสูตรแล้ว มันไม่ค่อยซับซ้อนอะไรมาก รัฐบาลเวียดนามสั่งกระทรวงศึกษาฯ ไปว่าอยากได้คะแนนสอบ PISA เยอะๆ

ทางโรงเรียนก็ไปเร่งสอน ไปบีบเด็กให้ท่องจำ ไปเน้นอัดความรู้ให้เด็กๆ แค่นี้เองครับ คนแวดวงการศึกษาของเวียดนามเคยเล่าให้ผมฟัง คะแนนคณิตศาสตร์บ้านเขาดี ก็เพราะหลักสูตรมันเน้นอัดทุกอย่างให้เด็กท่องจำไม่ต่างจากบ้านเรา

ดังนั้น ผมว่าแค่คะแนนอะไรพวกนี้มันน่าจะวัดความเก่ง หรือสติปัญญาไม่น่าจะได้ และคะแนนที่เก็บสถิติมามันก็แค่ค่าเฉลี่ย ไม่สะท้อนภาพรวมทั้งประเทศ อย่างมากอาจจะวัดภาพรวมคุณภาพและการบริหารจัดการระบบการศึกษา

(เพราะท้ายที่สุด กลุ่มตัวอย่างที่ดึงให้คะแนนภาพรวมของประเทศขึ้นหรือลง มันคือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการกระจายทรัพยากรการศึกษาที่ดีพอ ทำยังไงคะแนนภาพรวมในประเทศก็ไม่ขึ้นครับ)

แต่จุดเด่นหนึ่งที่เวียดนามเขาดีกว่าเราในตอนนี้คือ บ้านเขาประชากรยังหนุ่มสาวเยอะ มีวัยรุ่นพร้อมเป็นแรงงานราคาถูกมากกว่าประเทศไทย

เขาผลิตเด็กออกไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมได้ แต่ไทยเราควรเลิกหวังเรื่องผลิตเด็กออกไปเป็นแรงงานพวก Semi Skilled หรือ Unskilled ได้แล้ว

ค่าแรงบ้านเราแพงครับ ยังไงก็แข่งไม่ได้ โรงงานของบริษัทข้ามชาติยังไงก็ชอบเวียดนามกับอินโดนีเซียมากกว่าบ้านเราในระยะยาว

ยังไงไทยก็ควรปรับ Position ตัวเองให้พร้อมกับการผลิตแรงงานป้อน Service Sector และ IT Sector ที่มันซับซ้อนกว่าแค่การเป็นแรงงานประกอบชิ้นส่วนครับ

‘สีจิ้นผิง’ เดินทางถึง ‘เวียดนาม’ เริ่มต้นการเยือนอย่างเป็นทางการ พร้อมถกประเด็นเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับคณะผู้นำเวียดนาม

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย รายงานว่า ทางเวียดนามได้ปูพรมแดงต้อนรับ ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน และเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเริ่มต้นการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ด้วยเป้าหมายส่งเสริมสายสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี

โดยก่อนหน้านี้ ‘วัง เหวินปิน’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายจะหารือการยกระดับความสัมพันธ์ ‘จีน-เวียดนาม’ พร้อมกับทำงานเพื่อส่งเสริมและพิสูจน์ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างสองประเทศ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างการเยือนระยะสองวันนี้

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ของ สี จิ้นผิง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และผู้แทนภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนจากจีนและเวียดนามกว่า 400 คน ร่วมโบกธงของทั้งสองพรรคการเมืองและสองประเทศเพื่อต้อนรับคณะผู้นำของจีน ณ ท่าอากาศยาน รวมถึงประชาชนตลอดเส้นทางจากท่าอากาศยานไปยังโรงแรมที่พัก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีน แสดงความคาดหวังจะแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกกับคณะผู้นำของเวียดนาม ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านอันสำคัญต่อทิศทางความสัมพันธ์ของ 2 พรรคการเมืองและ 2 ประเทศ

รายงานระบุว่า สี จิ้นผิง มีกำหนดหารือกับ ‘เหงียน ฟู้ จ่อง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, ‘หวอ วัน เถือง’ ประธานาธิบดีเวียดนาม รวมถึงพบปะกับ ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ ‘เวือง ดิ่งห์ เหวะ’ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ ระยะ 2 วัน

อนึ่ง การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเวียดนาม ครั้งที่ 3 ของสีจิ้นผิง นับตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน

ทั้งนี้ ได้มีการเผยถึงสุนทรพจน์ฉบับลายลักษณ์อักษรของ สี จิ้นผิง ซึ่งเผยแพร่หลังจากเขาเดินทางถึงเวียดนามด้วยว่า คณะผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะหารือประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน

จีนถือว่าความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็นพันธกิจสำคัญในการทูตประเทศเพื่อนบ้านของจีน และสีจิ้นผิงคาดหวังว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ระดับใหม่

จีนและเวียดนามที่เชื่อมต่อด้วยภูเขาและแม่น้ำมีมิตรภาพเก่าแก่ยาวนาน ซึ่งสั่งสมและบ่มเพาะร่วมกันโดยคณะผู้นำรุ่นเก่าก่อนของ 2 ประเทศ และถือเป็นสมบัติล้ำค่าของประชาชน 2 ประเทศ

สีจิ้นผิงในนามพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีน และประชาชนชาวจีน ขอกล่าวทักทายและอวยพรให้กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รัฐบาลเวียดนาม และประชาชนชาวเวียดนามอย่างจริงใจ

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศสำคัญในเอเชียและสมาชิกสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ประชาชนชาวเวียดนามได้ก้าวสู่วิถีทางการพัฒนาอันเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศ และเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านทุกด้านตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีอิทธิพลในระดับโลกและระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น

ยอดนำเข้า ‘ทุเรียนเวียดนาม’ สู่ ‘จีน’ พุ่งทะยานต่อเนื่อง หลังศุลกากรเปิดช่องทางพิเศษ หนุนการค้าทวิภาคีเติบโต

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, หนานหนิง รายงานข่าว ‘ด่านโหย่วอี้กวน’ ซึ่งเป็นด่านนำเข้าทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ และคุ้นเคยกับการนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เป็นหลัก ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ นับตั้งแต่มีการอนุญาตทุเรียนเวียดนามเข้าถึงตลาดจีนเมื่อปีก่อน

‘หนงหลี่ชิง’ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าและส่งออกแห่งหนึ่งในเมืองผิงเสียงของกว่างซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านบกโหย่วอี้กวน สามารถประสานงานขนส่งทุเรียนสดใหม่ถึงมือลูกค้าในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ที่อยู่ใกล้เคียง และมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนอย่างรวดเร็ว

“ปีนี้เรานำเข้าทุเรียนมากกว่า 1,600 ตู้คอนเทนเนอร์แล้วเมื่อนับถึงเดือนธันวาคม โดยนอกจากไทย เราได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามด้วย” หนงกล่าว พร้อมเสริมว่าปัจจุบันมีการนำเข้าทุเรียนหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละวัน

อนึ่ง จีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 รวม 825,000 ตัน โดยข้อมูลศุลกากรระบุว่าการนำเข้าทุเรียนครองอันดับหนึ่งในหมู่ผลไม้นำเข้าของจีน คิดเป็นมูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.43 แสนล้านบาท)

สำหรับทุเรียนเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักว่ามีฤดูเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าและราคาถูกกว่า ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตลาดจีน ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2022 โดยปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งหลักของเวียดนาม

“สักสิบกว่าปีก่อน ผลไม้จากประเทศอาเซียนอย่างทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ถือเป็นของหายากในจีน แต่ตอนนี้พบเจอได้ตามแผงขายผลไม้ในแทบทุกเมืองใหญ่และมีราคาย่อมเยามากขึ้น” หวังเจิ้งโป๋ ประธานบริษัทผลไม้ในกว่างซี กล่าว

บริษัทของหวังก้าวเข้าแวดวงการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม และลงนามสัญญากับสวนทุเรียนหลายแห่งในเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่รวมเกือบ 3,000 เฮกตาร์ (ราว 18,750 ไร่) เมื่อปีก่อน โดยหวังเผยว่าปีนี้มีแผนนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน

‘ด่ง กวาง หาย’ นักธุรกิจชาวเวียดนามที่ทำธุรกิจเพาะปลูกทุเรียนในเวียดนามมานานนับสิบปี กล่าวว่าทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน มีความต้องการจากผู้บริโภคและศักยภาพทางการตลาดสูงมาก

ปัจจุบันด่านโหยวอี้กวนกลายเป็นด่านบกสำหรับการแลกเปลี่ยนทางพรมแดน ระหว่างจีนและเวียดนามที่คึกคักและสะดวกมากที่สุด โดยสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกที่ด่านโหยวอี้กวนได้รับรองยานพาหนะเข้าและออกในปีนี้ 400,000 คัน เมื่อนับถึงวันอังคารที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 122 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘ถังซาน’ หัวหน้าศุลกากรด่านโหยวอี้กวน ระบุว่า ด่านโหยวอี้กวนเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับส่งออกผลไม้เวียดนามสู่จีน มีรถบรรทุกขนส่งทุเรียน แก้วมังกร ขนุน และผลไม้อื่นๆ ของเวียดนามเข้าทำพิธีศุลกากรช่วงในฤดูกาลวันละเกือบ 300 คัน และมีการขนส่งทุเรียนเวียดนามช่วงนอกฤดูกาลวันละมากกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์

“เราเริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อปีก่อน ทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าผลไม้นำเข้าที่ขายดีที่สุด มีการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์และออนไลน์ทั่วประเทศ” ‘ฟางช่วงเฉวียน’ ผู้ค้าผลไม้ในเมืองผิงเสียงกล่าว

โดยข้อมูลจากศุลกากรหนานหนิง ระบุว่า มูลค่าสินค้านำเข้าจากเวียดนามผ่านด่านโหยวอี้กวน ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปีนี้ รวมอยู่ที่ 9.14 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.47 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 271.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าผลไม้เวียดนาม 1.17 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.73 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 637.9 โดยมูลค่าการนำเข้าทุเรียนรวมอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.43 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,084.2

การค้าทวิภาคีด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอานิสงส์จากการอนุมัตินำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรหลายรายการจากเวียดนามสู่จีน กอปรกับการส่งออกผักผลไม้ที่มีคุณภาพจากกว่างซีสู่ตลาดเวียดนาม

นอกจากด่านโหยวอี้กวนแล้ว ด่านเหอโข่วในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังกลายเป็นด่านนำเข้าทุเรียนยอดนิยมของจีน นับตั้งแต่มีการอนุมัตินำเข้าทุเรียนผ่านด่านเหอโข่วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้

‘ฟู่จิง’ ผู้ค้าผลไม้จากมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงการค้าผลไม้นำเข้ามานานมากกว่า 10 ปี ได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อไม่นานนี้เช่นกัน โดยฝูบอกว่าขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่สะดวกรวดเร็วของด่านเหอโข่วเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเลือกนำเข้าทุเรียนเวียดนาม

‘เหยาฉี’ ตำรวจหญิงประจำสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกเหอโข่ว เผยว่า การนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากดึงดูดผู้คนมายังด่านเหอโข่วเพิ่มขึ้น มีบริษัทจำนวนมากเข้ามาตั้งสาขา หรือสำนักงานในอำเภออันเป็นที่ตั้งของด่านเหอโข่ว

ปัจจุบันด่านเหอโข่วรับรองยานพาหนะเข้าและออกเฉลี่ยวันละราว 700 คัน และจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับการทำพิธีการศุลกากร ของผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์ปลีกย่อย รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของขั้นตอนพิธีการศุลกากรอย่างต่อเนื่อง

‘เวียดนาม’ ยัน!! ยึดมั่นหลักการจีนเดียว ค้านแทรกแซงกิจการภายในของจีน

(13 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย เผยว่า ‘สี จิ้นผิง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวถึงการประกาศสร้างประชาคม ‘จีน-เวียดนาม’ ที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งมีนัยสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ได้ส่งสัญญาณเชิงบวกของความมุ่งมั่นของสองประเทศสังคมนิยมในความสามัคคี มิตรภาพ และการพัฒนาร่วมกัน โดยคำกล่าวนี้ สี จิ้นผิง ได้กล่าวขณะพบปะหารือกับ ‘เวือง ดิ่งห์ เหวะ’ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ณ กรุงฮานอย

ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานถึงการพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้นำจีน กับ ‘เหงียน ฟู้ จ่อง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดย จ่อง ได้กล่าวว่า เวียดนามยึดมั่นหลักการจีนเดียวอย่างหนักแน่น และคัดค้านกองกำลังใดๆ เข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีน และกล่าวอีกว่าเวียดนามรับรองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจแบ่งแยกของดินแดนจีน สนับสนุนกิจการรวมชาติของจีน และคัดค้านกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนเพื่อ ‘เอกราชไต้หวัน’ ในทุกรูปแบบ

จ่อง กล่าวเสริมอีกว่า ประเด็นเกี่ยวกับฮ่องกง, ซินเจียง และทิเบต (ซีจ้าง) ล้วนเป็นกิจการภายในของจีน ซึ่งเวียดนามหวังและเชื่อว่าจีนจะรักษาเสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองไว้ได้

หลังจากนั้น สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึง ความพร้อมของจีนในการทำงานร่วมกับเวียดนาม เพื่อส่งเสริมพหุภาคีนิยมที่แท้จริง โดยฝ่ายจีนยินดีจะร่วมเพิ่มการส่งเสียงและอิทธิพลของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในกิจการระหว่างประเทศกับเวียดนาม

อุดรธานี -ประธานสภาเวียดนามและคณะเยือนอุดรฯ เพื่อกระชับสัมพันธ์ไมตรี พร้อมเปิดถนนอาหารวัฒนธรรมเวียดนาม "เวียดนามทาวน์"

ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและคณะเยือนจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้การต้อนรับนายเวือง ดิ่ง เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและคณะในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี พร้อมเปิดถนนอาหารวัฒนธรรมเวียดนาม"เวียดนามทาวน์ สัญลักษณ์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและเวียดนาม ที่จังหวัดอุดรธานี

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยคณะหัวหน้าส่วนราชการ และนายสุทิน พัชระนาคิน นายกสมาคมชาวไทยเชื้อสายเวียดนามแห่งประเทศไทย ชุมชนชาวเวียดนามในไทย ให้การต้อนรับนายเวือง ดิ่ง เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และคณะในโอกาสเดินทางมาเยือนจังหวัดอุดรธานี เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี หารือข้อราชการ ในประเด็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-เวียดนาม, การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องอุดรธานี-ท้ายเงวียน การดูแลชาวไทยเชื้อสานเวียดนามที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งจังหวัดอุดรธานีมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่มากที่สุด และถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้จังหวัดอุดรธานียังมีการส่งเสริมความร่วมมือสามเหลี่ยมมรดกโลก (บ้านเชียงอุดรธานี-หลวงพระบาง-ฮาลองเบย์ กวางนิงส์) มาตั้งแต่ 30 สิงหาคม 2547 และเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานประธานาธิบดี โฮจิมินห์ในไทยแห่งที่ 3 (แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมืองอุดรธานี)

จากนั้นนายเวือง ดิ่ง เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมด้วยนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และคณะ ได้เดินทางไปที่ทำการสำนักงานชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี เลขที่ 23/41 ถนนศรีสุข ซอย 2 เพื่อเยี่ยมชุมชนชาวเวียดนามในไทย และเปิดถนนอาหารวัฒนธรรมเวียดนาม "เวียดนามทาวน์" ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี ซึ่งเวียดนามทาวน์ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ระหว่างไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุดรธานี โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแขกผู้มีเกียรติ พี่น้องชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจังหวัดอุดรธานี สมาคมชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี สมาคมนักธุรกิจไทย-เวียดนามแห่งประเทศไทย ชมรมนักธุรกิจชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมบูรณาการความร่วมมือทำให้เกิดขึ้น โดยสำนักงานชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี และเวียดนามทาวน์ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เป็นมิตรภาพที่ยั่งยืนต่อกันของพี่น้องชาวอุดรธานี และชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจังหวัดอุดรธานี

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2519 ซึ่งนับเป็นเวลา 47 ปี ที่ทั้งสองประเทศได้เชื่อมสัมพันธ์ไมตรี ในฐานะมิตรประเทศที่ดีต่อกัน และในปีนี้ยังเป็นปีที่สำคัญ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี แห่งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและเวียดนาม อันจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและเวียดนามเกิดขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นและการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทย และยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวของเวียดนาม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและอนุภูมิภาค

โอกาสนี้นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยนายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชนของจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมหารือข้อราชการ กับ นายเวือง ดิ่ง เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และคณะรัฐสภา ณ โรงแรมเซ็นทารา อุดรธานี และในโอกาสเดินทางเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งนี้ นายเวือง ดิ่ง เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี

‘นายกฯ’ เผย อินโดฯ สั่งข้าวไทย 2 ล้านตัน เชื่อ ช่วยดันราคาสูงขึ้น พร้อมหารือ ‘ผู้นำ 3 ชาติ’ เล็งจัดเส้นทางท่องเที่ยว 4 ประเทศ

(17 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมโอกุระ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ว่า ระหว่างการประชุมได้หารือพูดคุยส่วนตัวกับผู้นำประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศกัมพูชา, ประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย สำหรับการพูดคุยกับ ‘นายฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีความสนิทสนมกัน และพบเจอกันในหลายวงประชุมแล้ว ก็ได้หารือกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานกงศุลที่กรุงเสียมเรียบซึ่งเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังคือนครวัด และมีนักท่องเที่ยวเยอะ โดยทางนายฮุน ยืนยันจะสนับสนุนเต็มที่ รวมถึงขอบคุณประเทศไทยที่ช่วยดำเนินการให้คนกัมพูชาเข้าไทยได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต และทำให้ภาคแรงงานทำให้ขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะที่การหารือร่วมกับ ‘นายหวอ วัน เถือง’ ประธานาธิบดีเวียดนาม ก็จะมีการรื้อฟื้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมสองประเทศ โดยทางเวียดนามเสนอให้จัดช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ก็น่าจะมีการพูดคุยกันเรื่องราคาข้าว เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น

รวมถึงทางเวียดนามเสนอให้ประเทศไทยในฐานะที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องการท่องเที่ยว และนโยบายก้าวหน้า รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเยอะที่สุดในภูมิภาคนี้ ทางเวียดนามก็ได้เสนอว่า ให้ไทย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา มาพูดคุยกันเพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการโปรโมทการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะเวลานักท่องเที่ยวมาภูมิภาคนี้ก็จะได้มาทั้งหมด นำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ ซึ่งตนได้เสนอว่าการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีระหว่างเวียดนามและไทยช่วงเดือนพฤษภาคม เราจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดประชุมกับรัฐมนตรีท่องเที่ยวทั้ง 4 ประเทศ เพื่อทำการบ้านไปก่อนคลอดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของทุกประเทศที่จะดำเนินการต่อไป อีกทั้งแนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ที่ดีมากของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยกับ ‘นายโจโก วีโดโด’ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ดำรงตำแหน่งมา 8 ปีแล้ว และปัจจุบันเป็นประธานอาเซียน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบารมี และทุกคนให้ความเคารพ ตนได้เจอท่าน 3-4 ครั้ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านส่งนักธุรกิจมาคุยเรื่องการค้าข้าวมาพูดคุยก่อนแล้ว และการพบกันวันนี้ประธานาธิบดียืนยันว่าจะซื้อข้าวไทยจำนวน 1 ล้านตันภายในปีนี้ แต่เมื่อระยะเวลาเหลือเพียง 20 วัน ประธานาธิบดียืนยันจะสั่งข้าวไทยเป็น 2 ล้านตัน โดยจะส่งคนมาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงต้นปี 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวไทยมีราคาและความต้องการสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยังมีความสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ด้วย เพราะมีนักลงทุนอินโดนีเซียสนใจมาลงทุน โดยจะมีการนัดมาหารือต่อไป

เวียดนามปรับ TikToker ฐานโพสต์ข้อมูลเท็จ 'นครวัด' อยู่เมืองไทย ด้านนักสิทธิฯ บอกไร้สาระ แค่ทำไปเพราะกลัวพนมเปญขุ่นเคือง

(5 ม.ค. 67) รายงานข่าวจากสำนักข่าว Nikkei Asia ระบุว่า ทางการเวียดนามได้สั่งปรับอินฟลูฯ TikTok จำนวน 300 ดอลลาร์ (ประมาณ 10,350 บาท) จากกรณีโพสต์คลิปใน TikTok ความยาว 90 วินาที ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภาพนครวัดที่ทับด้วยธงชาติไทย

เวียดนามลงโทษ 'ฮวา ก๊วก อันห์' (Hua Quoc Anh) อินฟลูเอนเซอร์ชาวเวียดนาม โทษฐานที่เขาโพสต์คลิปข้อมูลเท็จ นำเสนอว่า นครวัดของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ในประเทศไทย 

โดยปัจจุบันคลิปวิดีโอถูกลบไปแล้ว ซึ่งข่าวรายงานว่า มีรูปภาพพระราชวงศ์ของไทยและคำทักทาย "สวัสดี ประเทศไทย" คู่ภาพถ่ายปราสาทอันเป็นเอกลักษณ์ของนครวัด

อย่างไรก็ตาม 'ฟิล โรเบิร์ตสัน' (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ประจำภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์ว่า “นี่เป็นเรื่องไร้สาระจริง ๆ ฮานอยควรปกป้องเสรีภาพในการพูด แทนที่จะกังวลว่าพนมเปญจะขุ่นเคือง เพราะคงไม่มีใครเชื่อจริง ๆ ว่าเสียมราฐเป็นของประเทศไทยหรอก”

“ดังนั้นขั้นตอนที่เหมาะสม น่าจะเป็นการหัวเราะเยาะกับความไม่รู้ของอินฟลูฯ รายนี้ แทนที่จะหันไปใช้บทลงโทษทางอาญามากกว่า” โรเบิร์ตสันแสดงความเห็นเพิ่มเติม

ปัจจุบัน TikTok ถือเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม แต่ทางรัฐบาลในยุคปัจจุบันก็เป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่เข้มงวดกับการใช้งานอย่างมาก โดยเฉพาะกับการเซ็นเซอร์โซเชียลมีเดีย อย่างกรณีนครวัด ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเรียกเก็บค่าปรับ หากแต่มักมีการเรียกปรับและเซ็นเซอร์เรื่องราวที่ละเอียดอ่อน เช่น การเมือง หรือสิทธิมนุษยชน อยู่บ่อยครั้ง

'ไชยา' ตรวจความพร้อมฟาร์มเอกชนที่ จ.เพชรบุรี เตรียมส่งออกโคมีชีวิตไปเวียดนามทางเรือครั้งแรกสองพันตัว

รมช. ไชยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์กักกันโรคเพื่อการส่งออกของจังหวัดเพชรบุรี เตรียมส่งออกโคมีชีวิตทางเรือครั้งแรก 2,000 ตัวไปเวียดนาม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอดิศรฟาร์ม 88 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี  และส่วนจังหวัดให้การต้อนรับในพื้นที่ สำหรับวัตถุประสงค์การตรวจเยี่ยมฟาร์มในวันนี้ เพื่อรับฟังปัญหาและให้กำลังใจเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ รวมถึงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของฟาร์มอดิศร 88 ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์กักกันโรคเพื่อการส่งออกของจังหวัดเพชรบุรี และเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ ในการรวบรวมและดูแลโคมีชีวิตให้ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสารเร่งเนื้อแดง เพื่อทำการส่งออกทางเรือไปยังประเทศเวียดนาม จำนวน 2,000 ตัว

รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางยกระดับให้การเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพหลักที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมส่งเสริมการเกษตรในทุกด้าน อาทิ การคัดเลือกพื้นที่ในการจัดทำศูนย์กักกันโรคเพื่อการส่งออก การปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนเพื่อยกระดับราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมทั้ง มอบหมายกรมปศุสัตว์ให้ผลิตหัวอาหารสัตว์ส่งจำหน่ายสหกรณ์ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกร และเร่งพัฒนาโรงงานวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานสากลสามารถส่งออกวัคซีนไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมถึงจัดหาตลาดรองรับการซื้อโคเนื้อและโคมีชีวิต โดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนามที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรดำเนินการเลี้ยงปศุสัตว์ให้ตรงตามมาตรฐานการส่งออก เพื่อลดข้อกีดกันทางการค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกไปยังต่างประเทศ โอกาสนี้ รมช.ไชยา ได้มอบเสบียงสัตว์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ (หญ้าแห้ง) แก่เกษตรกรในพื้นที่ อีกด้วย

หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา เดินทางลงพื้นที่ ณ เขาโป่งพรม หมู่ 2 ตำบลพุสวรรค์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พร้อมหารือกับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมการทำสถานกักกันสัตว์สำหรับส่งออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

‘แฟนบอลเวียดนาม’ เผย!! เหตุถือธงชาติไทยเชียร์ทัพช้างศึก เพราะแฟนบอลไทยน่ารัก ร่วมยินดีเวียดนามได้แชมป์ U23

(19 ม.ค. 67) เพจ ‘หลังสนามบอลไทย’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับแฟนบอลชาวเวียดนามที่โบกสะพัดธงชาติไทย เชียร์นักเตะไทยในศึกเอเชียน คัพ 2023 โดยระบุว่า…

“มีไวรัลในโลกโซเชียลอย่างมากถึงกรณีที่แฟนบอลเวียดนามถือธงชาติไทยเชียร์ทัพ ‘ช้างศึก’ ซึ่งทำให้คนสงสัยกันว่าเพราะเหตุใดถึงมาเชียร์ติดขอบสนาม

ล่าสุด ‘Trần Duy Đạt’ แฟนบอลเวียดนามรายดังกล่าวเปิดใจถึงเรื่องนี้ว่า “ผมสนิทกับกองเชียร์ชาวไทยบางคน ทัวร์นาเมนต์ U23 ชิงแชมป์อาเซียน ที่ประเทศไทย เวียดนามได้แชมป์ กองเชียร์ไทยก็มาช่วยเชียร์เวียดนาม ส่วนตัวผมไปเชียร์ทีมชาติไทยในทัวร์นาเมนต์นั้นด้วย พวกเราคว้าแชมป์ได้ พวกคุณมาดีใจกับเรา นี่คือเหตุผลที่ผมมาเชียร์ทีมชาติไทยในวันนี้””

สำหรับ ‘Trần Duy Đạt’ แฟนบอลชาวเวียดนาม 🇻🇳 ถือธงเชียร์ทีมชาติไทย 🇹🇭 ปรากฏตัวที่สนามอับดุลลาห์ บิน คาลิฟา สเตเดียม⁣ ในเกมเอเชียน คัพ 2023 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่ม F นัดแรก เกมที่เอาชนะ คีร์กีซสถาน 2-0 เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา

Trần Duy Đạt เป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ของทัพดาวทอง เคยเดินทางมาเชียร์ชาติบ้านเกิดในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอล U23 ชิงแชมป์อาเซียน 2023 ที่จังหวัดระยอง เมื่อปีที่แล้ว

นอกเหนือจากความสมหวังที่เวียดนามก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ในทัวร์นาเมนต์นั้นได้สำเร็จแล้ว สิ่งที่ Trần Duy Đạt ได้รับกลับไป คือ #มิตรภาพฟุตบอล จากแฟนบอลช้างศึกนั่นเอง

‘สื่อฮ่องกง’ ชี้ ‘ทุเรียนไทย’ กำลังเสียแชมป์เจ้าตลาดในแดนมังกร หลัง ‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ แข่งส่งออก ซ้ำ!! ‘จีน’ หันมาผลิตเอง

เมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 67) หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ภายในแค่ 3 ปี จีนประสบความสำเร็จสามารถปลูกทุเรียนได้เองเพิ่มกำลังการผลิตจาก 50 ตัน มาอยู่ที่ 500 ตัน ภายในปีหน้า

"การบริโภคทุเรียนภายในประเทศคาดจะสามารถเพิ่มการผลิต 250 ตันปีนี้ แต่ภายในปีหน้าจะสามารถมีกำลังการผลิตมหาศาลโดยกำลังการผลิตสามารถแตะ 500 ตัน” เฟง ซูจี (Feng Xuejie) ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตอากาศร้อนชื้น (Institute of Tropical Fruit Trees) ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences)

ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนานประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนได้ถึง 50 ตัน ซึ่งเฟงมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการทุเรียนอย่างสูงของผู้บริโภคชาวจีน

“สำหรับราคาและรสชาติของทุเรียนภายในประเทศในอนาคตนั้นขอให้เฝ้ารอ” เฟง กล่าวเสริม

ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วเมื่อ ‘ปักกิ่ง’ ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถออกผลผลิตทุเรียนปลูกเองภายในประเทศที่มณฑลไห่หนานได้

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงรายงานว่า ผู้บริโภคทุเรียนในจีนมองทุเรียนโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อต่างมองผลไม้เปลือกแข็งหนามแหลมและมีรสชาติที่หอมหวานไม่เหมือนใครว่าเป็นเสมือนรางวัล ซึ่งทุเรียนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาผลไม้’

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงชี้ต่อว่า การนำเข้าทุเรียนปีที่แล้วสูงลิ่ว แต่ทว่าปักกิ่งซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มกระจายการซื้อทุเรียนไปยังหลายแหล่งเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนภายในประเทศ ซึ่งจากแต่เดิมเคยนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เพียงเจ้าเดียว โดยปักกิ่งได้นำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ ส่งผลทำให้ไทยกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนไปอย่างช่วยไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขทางการของสำนักงานศุลกากรจีนพบว่า จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.4 ล้านตันภายใน 12 เดือนแรกของปี 2023 สูง 69% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ไทยซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าการตลาดการส่งออกทุเรียนไปจีน มียอดการส่งออกตกจากเกือบ 100% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 95.36 ในปี 2022 และเหลือแค่ 67.98% มาจนถึงเดือนธันวาคมปี 2023

อ้างอิงข้อมูลวันที่ 11 เม.ย ปี 2566 จากกรมการส่งออก การผลิตทุเรียนไทยต่อปีที่ 1,480,000 ตัน และสายพันธุ์ที่ปลูกและส่งออกคือ ชะนีหมอนทอง ก้านยาว กระดุมพวงมณี

กรมการส่งออกพบว่า ‘ทุเรียนฟิลิปปินส์’ ที่ส่งออกไปจีนเป็นพันธุ์ปูยัต (Puyat) มีลักษณะเนื้อสีทอง กลิ่นหอมแรงและรสชาติเข้มข้น

สมาคมอุตสาหกรรมทุเรียนดาเวา (DIADC) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มณฑล/เขต ที่ปลูกทุเรียนของฟิลิปปินส์มีจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ปลูกทุเรียนรวมประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร ผลผลิต 100,000 ตันต่อปี สายพันธุ์ทุเรียนที่สามารถปลูกได้ในฟิลิปปินส์คือ ชะนี, หมอนทอง, alcon fancy, arancillo และ puyat

ส่วน ‘ทุเรียนเวียดนาม’ ที่ส่งเข้าไปตีตลาดจีนและแซงหน้าไทยได้นั้นเป็น ‘พันธุ์หมอนทอง’ (Ri6 หมอนทอง 6) จากจ.ดักลัก ซึ่งก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับทุเรียนไทยที่ส่งออกมายังตลาดจีน

ตามรายงานของกรมการส่งออกระบุว่า จุดแข็งของทุเรียนเวียดนามคือ ระยะทางที่สั้นและเวลาการขนส่งน้อยแค่ 2 ชม. ถึงด่านจีน ทำให้ทุเรียนเวียดนามยังคงรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดี

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนเวียดนามไปจีนนั้นเริ่มตั้งแต่เกือบ 0% ไปอยู่ที่ 4.63% ที่ 188.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2022, และเพิ่มไปอยู่ที่ 31.82 % ใน 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ เบียดการส่งออกทุเรียนจากไทย

ขณะที่บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียต่างพยายามผลักดันข้อตกลงในปีนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย ไซมอน ชิน (Simon Chin) ผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออก DKing กล่าว

ปัจจุบันมาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนเท่านั้น

ชินแสดงความเห็นกับสื่อฮ่องกงว่า “ปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนเพื่อหาลู่ทางการส่งออกผลไม้สด เช่นเดียวกับที่ไทยและเหมือนเช่นที่ฝ่ายไทยทำ”

อย่างไรก็ตามในแง่รายได้ การส่งออกทุเรียนไทยมาจีนนั้นยังคงเพิ่มในปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากความต้องการสูงของตลาดผู้บริโภคจีนในเมืองระดับการที่เริ่มจะมีมากขึ้น แซม ซิน (Sam Sin) ผู้อำนวยการพัฒนาประจำ S&F Produce Group ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงชี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top