Sunday, 19 May 2024
GoodVoice

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train)

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) พร้อมส่งหัวรถจักรไฟฟ้า “MINE Locomotive” ยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ นับเป็นโครงการใหญ่ของโรดแมประบบรางไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มี ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือว่า สถาบันฯ มุ่งมั่นส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาการขนส่งทางรางให้ทันสมัย สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน ระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ตามนโยบาย Thai First และ MoU ความร่วมมือกับ EA เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศและกระทรวงด้าน Green and Safe Transport ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2580

ด้าน ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สทร. เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและสร้างอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่ต้องผลักดันไปสู่การผลิตและใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปสู่ตลาดโลก หรือห่วงโซ่คุณค่า ของระบบรางในระดับโลก (Global Value Chain) ความร่วมมือกับ EA จึงถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญระดับประเทศและระดับโลกด้วย

“การประกาศลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สทร.และ EA จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบราง ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางของประเทศไทย และส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้ผลิตและออกเทคโนโลยี ระบบรางที่ทันสมัยสู่ตลาดโลก” ดร.สันติกล่าว

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีระบบราง และพัฒนานวัตกรรมระบบรางไร้มลพิษตอบโจทย์ต่อบริบทของประเทศ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางไปสู่การใช้ไฟฟ้าแทนระบบรถไฟเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train และเริ่มทดลองใช้แล้วในประเทศไทย

EA ได้นำนวัตกรรมหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (MINE Locomotive) มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) ได้เป็นผลสำเร็จ จากการได้รับแรงสนับสนุนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน และได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตพันธมิตรของ EA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลของการพัฒนา MINE Locomotive จึงนำมาสู่การต่อยอดเส้นทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร ได้แก่

1. ระบบสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping & Charging Station) สำหรับรถไฟแบตเตอรี่ EV on Train ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มากกว่า 3 MW

2.องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้นแบบ ของ EA ที่มีขนาดมากกว่า 3 MW เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งใช้เวลาสั้น (เช่น เพียง 10 นาที) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการของระบบรางสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพัฒนาต้นแบบและทดสอบแล้วจะนำไปสู่การขยายผลใช้งานในระบบรางของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการร่วมมือ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Local Content) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทดสอบและรับรองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้นั้น มีมาตรฐานและผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยไตรมาส 1/2566 รายได้เติบโตกว่า 80% ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก

‘STARK’ เอฟเฟกต์  ความเชื่อมั่น ‘ตลาดทุนไทย’ หดหาย รอลุ้น ‘DSI’ พิสูจน์ฝีมือช่วยกู้วิกฤต

เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ค่อยดีเลยสำหรับ ‘ตลาดหุ้นไทย’ หลังติดอันดับ TOP 3 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนยอดแย่ของโลก

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีทุจริตสะท้านวงการหุ้นซ้ำเติมอีก จากกรณีที่ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) เกิดการทุจริตทั้ง การไม่ยอมส่งงบการเงิน ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างออเดอร์ยอดขายเทียม ลูกหนี้เก๊ ลูกค้าปลอม พร้อมถ่ายโอนเงินออกไปจากบริษัทจริง ส่งผลให้ราคาหุ้นรูดลงมาเหลือเพียง 0.02 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป เหลือเพียง 268 ล้านบาท จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 73,733 ล้านบาท

มหกรรมการโกง ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ได้สร้างหายนะต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ของ STARK เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างหนัก พร้อมมีคำถามขึ้นมากมาย ไปถึงผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ บริษัทผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหลาย ๆ คำถาม ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

แน่นอนว่า เมื่อหวังพึ่งหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้แล้ว ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเสียหายกว่า 10,000 คน ได้เริ่มรวมตัวเรียกร้องความยุติธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ www.thaiinvestors.com ของ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ล่าสุดมีการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องแล้ว จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงค์ดำเนินคดีรวม 1,759 คน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,063 ล้านบาท แม้โอกาสได้รับเงินกลับคืนนั้นแทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับเจ้าหนี่ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งนี้ มีสัญญาณผิดปกติมาตั้งแต่การส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า โดยทาง STARK ได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการนับสินค้าคงคลัง อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่บริษัทเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจากบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด มาเป็น บริษัท บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC)

ต่อมา ผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ เช่น การสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น โดยสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังพบพฤติกรรมการโยกย้ายถ่ายเทเม็ดเงินเกิดขึ้นภายใน 3 บริษัทย่อยของ STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) เริ่มจาก ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ ผู้สอบบัญชีพบว่ามีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย ‘อดิสรสงขลา’ มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ ‘ไทย เคเบิ้ลฯ’ อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในช่วง 2 ปีก่อน (2564-2565) มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทระหว่างกันทั้ง STARK และบริษัทบ่อยรวมถึงบริษัทที่อ้างเป็นคู่ค้าธุรกิจ จนทำให้ STARK มีผลขาดทุนจริงมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ภายหลังความจริงเริ่มปรากฏชัดออกมาเรื่อย ๆ สังคมตลาดทุนต่างมีคำถามมากมาย มีใครบ้างที่มีเอี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว ทั้งผู้บริหารบริษัท พนักงานและบริษัทตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงแอคชันการทำงานที่ดูเหมือนจะล่าช้า จนเกิดความเสียหายหนักเกินจะเยียวยาแล้ว

ปฏิบัติการกู้คืนความเชื่อมั่น

ล่าสุดมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดอย่างรวดเร็ว และหากพบความผิด ให้ดำเนินการเอาผิดในทุกกรณีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การดูแลนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของSTARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ส่วนกรมสรรพากร ระบุจะตรวจสอบการจ่ายภาษีของ บริษัท STARK อย่างละเอียด หลังพบการปลอมแปลงรายได้ของบริษัท

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน จับมือแถลงข่าวหวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาพรวมตลาดทุน เมื่อช่วงเช้า วันที่ 26 มิ.ย. 66 แต่ในหลาย ๆ ประเด็นยังไม่มีความกระจ่าง โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชี โดยนายธวัชชัย ทิพย์โสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะมีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่ามีช่องโหว่ และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย

ส่วนการตรวจสอบผู้สอบบัญชี สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพบว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทุจริตรายอื่นที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายใด

นายธวัชชัย ย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งการสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก แม้ทาง ก.ล.ต. จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี แต่พร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่าย และหากช่วยได้ก็จะดำเนินการให้ โดยขอยืนยันว่าทาง ก.ล.ต. ทำเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย

ด้านนางสาวสิริพร สงบธรรม เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่สมาคมฯ ได้เปิดให้ผู้ลงทุนหุ้น STARK ลงทะเบียนเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ 19-25 มิ.ย.66 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท โดยหลังจากนี้สมาคมฯจะนำข้อมูลของผู้เสียหายมาตรวจสอบเบื้องต้น และให้ความรู้ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยจะเป็นคนกลางเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

จากข้อมูลที่แถลงออกมานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์ความหายนะในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการตกแต่งบัญชี คงต้องรอการทำคดีของดีเอสไอ ว่าจะสืบสาวไปจนถึงต้นตอได้หรือไม่ และเชื่อว่าคนที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดคงเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ อยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน เพราะมีโทษสูงสุดติดคุกถึง 20 ปีเลยทีเดียว 

อ้างอิง
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/financial-statement/company-highlights
https://www.thaipost.net/economy-news/403508/
https://www.bbc.com/thai/articles/c3gzkwl1lnro
https://www.infoquest.co.th/2023/312719
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000057779

 

เปิดใจ ‘กัปตันเค-สุทธิกาจ’ ผู้พัฒนาแอป ‘จับยาม’  ช่วย ‘สายมู’ ทุกการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิต

จากกัปตันสายการบินพาณิชย์ สู่ซินแสผู้พัฒนาแอป ‘จับยาม’ (JUB-YAM) ‘กัปตันเค-สุทธิกาจ พัฒนสุข’ ที่รวบรวมเอาศาสตร์การทำนายของชาวจีนที่มีมายาวนานกว่า 4,000 ปี มาผสมผสานกับเทคโนโลยีจนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ ‘สายมู’ วางแผนชีวิต ตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ จากคำทำนายเฉพาะบุคคลตามดวงชะตาจากวันเดือนปีเกิดของคุณเอง ที่จะช่วยให้เราไม่พลาดทุกการตัดสินใจ

>> ผสานหลากศาสตร์จีนสู่คำทำนายหนึ่งเดียว
สุทธิกาจ เล่าว่าก่อนที่จะมาศึกษาเรื่องโหราศาสตร์จีนและศาสตร์ลายเซ็น เพราะลายเซ็นต์คนเราสามารถวิเคราะห์ตัวตน และอาชีพการงานของเขาได้ สามารถแก้ไขลายเซ็นให้เหมาะสมกับพลังงานธาตุประจำตัวได้ เป็นวิชาพื้นฐานแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่า คนเรามีธาตุประจำตัว แล้วถ้ามีธาตุเราจะเอามาทำอะไรได้บ้าง ก็เลยลองเริ่มศึกษาเรื่อยๆ จนมาจับกับเรื่องระบบปฏิทิน และโหราศาสตร์จีน

“ผมเรียนเกี่ยวกับโหราศาสตร์จีน และศาสตร์การทำนายของจีนอื่นๆ มาเยอพอสมควร จึงเอาองค์ความรู้ทุกอย่างในศาสตร์การทำนายของจีนมาเพื่อใช้งานในแบบเฉพาะของตัวเอง อย่างระบบปฏิทินที่ใช้ในแอปจับยามผมก็เป็นคนสร้างเอง เรารู้สึกว่าเวลาที่เราพัฒนาสร้างเองมันสามารถใช้งานได้จริง วิชาที่ใช้ในการทำงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องธาตุพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของวิชาโหราศาสตร์จีนอยู่แล้ว ผมก็ไปปรึกษากับเพื่อน ก็ได้รับคำแนะนำว่าศาสตร์ที่ผมพัฒนาขึ้นนี้สามารถพัฒนาให้คนทั่วไปรู้จักได้ จึงลงตัวที่การพัฒนาเป็นแอปจับยาม” สุทธิกาจ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาจับยาม ผู้ช่วยสายมูที่ผู้ใช้สามารถเช็กดวงชะตาและฤกษ์งามยามดีของตัวเองในแต่ละวันได้ 

>> จับยาม รู้วันดี บอกเวลาเฮง
หลังจากพัฒนาศาสตร์การทำนายที่ผสมผสานศาสตร์จีนต่างๆ จนลงตัว สุทธิกาจ ก็ได้เริ่มพัฒนา แอปพลิเคชัน เพื่อง่ายต่อการที่ทุกคนสามารถดูดวงกับซินแสโดยไม่เสียเวลาต่อคิว และรับรองได้ว่ามีรายละเอียดการทำนายเกินร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับการต่อคิวดูดวงกับซินแสตัวจริง

“เราใช้เวลาพัฒนาอยู่เกือบปีนับจากโครงร่างโครงแรก และเพื่อความง่ายต่อคนดู เราพัฒนาการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์เพียงแค่แอดเฟรนด์ ลงทะเบียน ระบุวัน เดือน ปี เวลาเกิด ก็สามารถรู้ฤกษ์ยามของตัวเองตามหลักโหราศาสตร์จีน” สุทธิกาจ กล่าว 

สำหรับการใช้งาน ‘จับยาม’ นั้นไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เพียงแค่เข้าเว็บไซต์ www.jubyam.com หลังจากนั้นล็อกอินเข้าสู่ระบบผ่านแอปพลิเคชัน กรอกวัน เดือน ปี เวลาเกิด (ถ้ามี) เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานแอปจับยามได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง ซึ่งผู้ใช้สามารถรู้ ยามเกิด ธาตุประจำตัว เช่น เกิดเป็นคนธาตุทองหยาง เวลาวอก เดือนฉลู ปีระกา จากนั้นก็มีคำทำนายประจำวัน คำทำนายประจำสัปดาห์ เรื่องงาน ความรัก สุขภาพ และอื่นๆ สามารถเลือกเวลาดีและเวลาไม่ดีเฉพาะตัวเจ้าชะตาในแต่ละวัน และในแต่ละเดือนมีวันไหนบ้าง ที่เป็นวันเวลามงคลสำหรับเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ทุกอย่างล้วนอยู่ในแอปฯ จับยามนี้ทั้งสิ้น

>> DNAid โครงสร้างดวงชะตาจากฟ้าดิน
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้แอปจับยามนั้นแตกต่างจากแอปฯ อื่นๆ คือ DNAid และคำทำนายของพระแม่ธรณี Master Earth oracle และ 12 วันเจ้าการ ซึ่งนำมาจากการรวมศาสตร์การทำนายของจีนมาไว้ในแอปพลิเคชันนี้ให้การทำนายดวงชะตาของทุกคนมีความแม่นยำและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตไปในแต่ละปี

สุทธิกาจ อธิบายว่า DNAid แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ DNA เป็นการรวมศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเบื้องบน ส่วน id คือตัวเลขหนึ่งที่บ่งชี้พื้นฐานของตัวเรา ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อรวมเป็น DNAid จะเป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างธาตุประจำตัวกับพลังงานธาตุประจำวัน ก็จะกลายเป็นเหตุการณ์เป็นคำทำนายในแต่ละวันที่แต่ละคนประสบพบเจอแตกต่างกันออกไป

อย่างดวงไทยจะมีแค่ 12 ราศี มีดาวย้าย มีดาวเจ้าเรือน แต่ DNAid จะสามารถจำแนกได้ถึง 60 แบบทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องต่างๆ ที่ลงลึกมากขึ้น หากจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือในแต่วันล้วนมีพลังงานหลักที่มาจากตัวแทนธาตุต่างๆ ตามแนวทางของจีนได้แก่ ธาตุไม้, ธาตุทอง, ธาตุดิน, ธาตุไฟ, ธาตุน้ำ สมมุติว่าวันนี้เป็นวันที่มีพลังงานของธาตุไม้ ปีนักษัตรนี้เป็นปีเถาะ ซึ่งเป็นธาตุไม้ เช่นกัน ไม้กับไม้ เจอกันจะกลายเป็นวันทำลายตามคำทำนาย 12 วันเจ้าการ หากเราเจอคำทำนายแบบนี้เราจะทำอย่างไร ก็เหมือนผมกำลังบอกว่าวันนี้ช่วงกลางวันคุณจะเจอฝนตกหนัก ถ้าผมบอกแบบนี้เราจะยังซักผ้าตากทิ้งไว้ที่ระเบียงบ้านอีกไหมก็คงไม่ แต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกัน วันนี้ดีสำหรับเราแต่อาจไม่ดีสำหรับอีกคนก็ได้ เพราะ DNAid ของเราแตกต่างกัน รู้ฤกษ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

สุทธิกาจ อธิบายถึงความสำคัญของฤกษ์ยามตามศาสตร์การทำงานจีนอีกด้วยว่า ในลักษณะการทำนายของดวงจีนจะใช้พลังงานธาตุประจำวัน มารวมกับพลังงานธาตุของตัวเราและอื่นๆ ก็จะได้เป็นคำทำนายเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันเป็นคำทำนายที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากเรากำลังหาวันนัดติดต่อเซ็นสัญญาลูกค้า เราดูแล้ววันพรุ่งนี้ไม่ดีสำหรับดวงเรา เป็นวันถัดไปจะดีกว่าแบบนี้เราจะเลือกวันไหน แต่สิ่งที่ผมกำลังจะบอกอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่ว่าเป็นวันไม่ดีแล้วเราจะเซ็นสัญญาไม่ได้ คุณอาจจะเจรจาเซ็นสำเร็จก็ได้ แต่ความราบรื่นจะต่างกัน ความเสี่ยงก็ต่างกัน และข้อดีอีกอย่างของแอปจับยามก็คือสามารถดูวันเวลาล่วงหน้าได้เป็นปีซึ่งจะช่วยทำให้เราวางแผนชีวิต และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น

“เพราะช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต เราเลือกผิดไม่ได้ คนเรามีกิจกรรมและเรื่องที่ต้องตัดสินใจทุกวัน พลังงานประจำวันกับพลังงานของตัวเราส่งผลต่อชีวิตเรามากกว่าที่คิด ผมเชื่อว่าต้องมีสักวันหนึ่ง ที่คุณรู้สึกว่า ‘โอ้โห วันนี้มันวันซวยจริงๆ มีเรื่องทั้งวัน’ และก็คงมีบางวันที่คุณรู้สึกว่าทำอะไรก็สำเร็จไปซะทุกอย่าง สิ่งนั้นแหละ เรียกว่าผลของพลังงานประจำตัว และพลังงานประจำวัน ทุกกิจกรรมในชีวิต จะประสบความสำเร็จราบรื่นได้ เรื่องฤกษ์ยามมีผลมาก แม้เราจะไม่ได้สังเกตจริงจัง แต่มันมีเวลาที่เหมาะที่ควรอยู่ในทุกกิจกรรม” สุทธิกาจ กล่าวทิ้งท้าย

ไทยรับอานิสงส์ ต่างชาติจ่อย้ายฐานการผลิต หลังการแข่งขันเทคโนโลยี ‘จีน-สหรัฐฯ’ ยืดเยื้อ 

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย สถานการณ์การแข่งขันเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ยังคงยืดเยื้อ และคาดการณ์ว่าจะยังไม่สิ้นสุดในระยะเวลาใกล้นี้ ส่งผลให้บริษัทรายสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศคู่แข่งขันในสงครามเทคโนโลยี โดยมองว่า ‘ไทย’ จะได้รับอานิสงส์ หลังมีการวางตัวเป็นกลางระหว่างทั้งสองประเทศ 

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทย พบว่า ปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความไม่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทย ในแง่ของการเป็นฐานการผลิตสินค้าแต่ละประเทศมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน หรือก็คือ เป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน ไทยมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการตั้งฐานการผลิต โดยหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการของตน และไทยเองมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต ที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรวางแผนการกระจายความเสี่ยง กรณีห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก โดยการจัดหาวัตถุดิบที่มาจากหลายแหล่ง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ

เปิดสถานะ ‘การเงิน-การคลังไทย’ แข็งแกร่ง  8 เดือนแรกปีงบฯ 66 จัดเก็บรายได้กว่า 1.22 แสน ลบ.

(27 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ฐานะการเงิน-การคลังของไทยมีความแข็งแกร่ง หลังรับทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าประมาณการ และรายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนกว่า 2.57 แสนล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,643,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่…

(1.) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ 

(2.) ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และรายได้จากใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM 

(3.) กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี 

และ (4.) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้ที่เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 69,248 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,569,515 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,221,328 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 384,243 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 256,857 ล้านบาท 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีสัญญาณเป็นไปในทิศทางบวก สถานะการเงินการคลังของไทยแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนทิศทางการทำงานที่ถูกต้องของรัฐบาลภายใต้วินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด รวมถึงความมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตลอดมา โดยยึดหลักของความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

‘บีโอไอ’ เดินสายชวนนักลงทุน ‘เยอรมัน-ฝรั่งเศส’ ให้เข้ามาตั้งฐาน ผลิตรถอีวี

นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงความสำเร็จจากการเดินสายเพื่อชักจูงการลงทุน ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 18 – 23 มิถุนายน 2566 

ว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ (อีวี) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการด้านสุขภาพ โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และ SMEs แสดงความสนใจเลือกบริษัทผู้ผลิต (Sourcing) ในไทยผลิตสินค้าป้อนลูกค้าเอเชีย 

“การเดินสายชักจูงการลงทุนในครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนจากเยอรมันและฝรั่งเศส ที่สนใจในการขยายฐานการผลิต รวมไปถึงการหาบริษัทผู้รับจ้างผลิตเพื่อป้อนตลาดลูกค้าที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นเสมือนเซฟโซนของนักลงทุนต่างชาติ มีโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร รวมถึงมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง” นายวิรัตน์ กล่าวย้ำ 

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือมายาวนาน โดยเกือบครึ่งปีแรกปี 2566 (3 มกราคม – 21 มิถุนายน) พบว่ามีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากเยอรมนี 12 โครงการ มูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ สำหรับฝรั่งเศส มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ มูลค่ากว่า 2,900 ล้านบาท
 

‘ONE Championship’ เตรียมจัดการแข่งขันครั้งแรกในกาตาร์ เล็งเจาะกลุ่มแฟนกีฬาศิลปะการต่อสู้ในตลาดตะวันออกกลาง


เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 66 ‘ONE Championship’ บรรลุข้อตกลงกับ ‘Media City Qatar’ เจ้าของเครือข่ายสื่อยักษ์ใหญ่ของประเทศกาตาร์ เตรียมเปิดตัวการแข่งขัน ONE เป็นครั้งแรก ตั้งเป้าเจาะกลุ่มแฟนกีฬาศิลปะการต่อสู้ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

มีการคาดการณ์ว่า ONE จะยกพลบินลัดฟ้าเยือนถิ่นกาตาร์ เพื่อเปิดตัวอีเวนต์แรกในกรุงโดฮาภายในปีนี้ โดยมีแผนที่จะดึงตัวนักกีฬาชั้นแนวหน้าระดับโลกและระดับภูมิภาคเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน

ก่อนหน้านี้ ONE และ ‘Media City’ ได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกัน เพื่อผลิตคอนเทนต์อันหลากหลายสู่สายตาผู้ชมทั่วตะวันออกกลาง และประเทศกาตาร์ยังถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำรายการเรียลลิตีระดับโลก ‘The Apprentice : ONE Championship Edition’ ซีซันสองอีกด้วย โดยปรากฏว่ามีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นำมาซึ่งการขยายความร่วมมือเพื่อการจัดแข่งขัน ONE เป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้

ภูมิภาคตะวันออกกลางถืออีกหนึ่งตลาดสำคัญที่มีกลุ่มเป้าหมายศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจเรื่องดิจิทัล นอกจากนี้ ONE ยังมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแรงซึ่งเอื้อต่อการขยายการลงทุนต่อไปในอนาคตด้วย

โดยนอกจากเป้าหมายในการขยายฐานแฟนกีฬา และเครือข่ายพันธมิตรแล้ว ONE ยังตั้งใจจุดกระแสความนิยมในศิลปะการต่อสู้ และเปิดพื้นที่ให้นักกีฬาการต่อสู้ระดับอาชีพในภูมิภาคนี้ ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในเวทียิ่งใหญ่ระดับโลกอีกด้วย

โดยแฟน ๆ สามารถติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของ ONE ได้ที่เฟซบุ๊ก ‘ONE Championship Thailand’ เว็บไซต์ www.onefc.com และอินสตาแกรม ‘ONEChampTh’
 

‘ไทย’ เผยยอด ‘นทท.ต่างชาติ’ ครึ่งปีแรก ทะลุ 12 ล้านคน คาดสร้างได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศ 2.38 ล้านล้านบาท!!

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วงเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ปี 2023 จำนวนกว่า 12.46 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคนตลอดปีนี้

เมื่อนับถึงสัปดาห์ก่อน ไทยทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 5.14 แสนล้านบาท ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนมีส่วนส่งเสริมสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มตลาดหลักส่วนใหญ่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน

เมื่อวันจันทร์ (26 มิ.ย.) แถลงการณ์จากอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าจะแตะ 25 ล้านคนภายในสิ้นปี 2023

อนุชา เผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการส่งเสริมต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทำรายได้จากการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวล่าสุดทะลุสถิติตลอดปี 2022 ที่ 11.15 ล้านคนแล้ว

ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในปี 2019 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยเกือบ 40 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ครองสัดส่วนราวร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
 

‘มธ.-ปตท.’ จับมือพัฒนาสถานีบริการ NGV ธรรมศาสตร์รังสิต เพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ปตท.ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีบริการ NGV ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต สู่แหล่งรวมบริการที่หลากหลายทั้งด้านพลังงานในอนาคต ศูนย์รวมสินค้าและบริการที่ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่สะดวกสบายเข้าถึงได้ง่าย ภายใต้แนวคิด ‘Greenity+’ ในรูปแบบการผสมผสานการใช้งานพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด และการให้บริการและสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในพื้นที่ (Mixed Used Station)

ซึ่งประกอบด้วย สถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ชนิดพิเศษ (NGV Plus Station) สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (Charging Station) พื้นที่ทำงานร่วมของนิสิตนักศึกษา (Co-working Space) และพื้นที่กลางแจ้งส่วนกลางที่มีความร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียว (Outdoor Common Space) รวมถึงนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายทั้งร้านค้า ร้านอาหาร - เครื่องดื่ม ในรูปแบบทั้งไดร์ฟ-อิน (Drive-in) และ ไดร์ฟ-ทรู (Drive-through) เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่ต้องการนั่งรับประทานอาหารในร้าน และผู้ใช้บริการที่ต้องการความสะดวกสบายในการรับอาหาร รวมถึงเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง และเป็นพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับด้านพลังงานสะอาด โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ด้วยงบประมาณ 105 ล้านบาท
 

ข่าวดี!! ‘แหล่งเอราวัณ’ เพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ ‘ค่าไฟ’ จ่อถูกลง

วันที่ (30 มิ.ย. 66) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 
 
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 24 เมษายน 2565) จนถึงปัจจุบัน
 
โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม 
 
รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม โดยความคืบหน้าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม
 
ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
 
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น
 
“การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจฯ G1/61 กลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ โดยจะส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ประเทศต่อไป” นายสราวุธ กล่าวทิ้งท้าย
 .


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top