‘STARK’ เอฟเฟกต์  ความเชื่อมั่น ‘ตลาดทุนไทย’ หดหาย รอลุ้น ‘DSI’ พิสูจน์ฝีมือช่วยกู้วิกฤต

เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ค่อยดีเลยสำหรับ ‘ตลาดหุ้นไทย’ หลังติดอันดับ TOP 3 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนยอดแย่ของโลก

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีทุจริตสะท้านวงการหุ้นซ้ำเติมอีก จากกรณีที่ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) เกิดการทุจริตทั้ง การไม่ยอมส่งงบการเงิน ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างออเดอร์ยอดขายเทียม ลูกหนี้เก๊ ลูกค้าปลอม พร้อมถ่ายโอนเงินออกไปจากบริษัทจริง ส่งผลให้ราคาหุ้นรูดลงมาเหลือเพียง 0.02 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป เหลือเพียง 268 ล้านบาท จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 73,733 ล้านบาท

มหกรรมการโกง ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ได้สร้างหายนะต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ของ STARK เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างหนัก พร้อมมีคำถามขึ้นมากมาย ไปถึงผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ บริษัทผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหลาย ๆ คำถาม ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

แน่นอนว่า เมื่อหวังพึ่งหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้แล้ว ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเสียหายกว่า 10,000 คน ได้เริ่มรวมตัวเรียกร้องความยุติธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ www.thaiinvestors.com ของ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ล่าสุดมีการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องแล้ว จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงค์ดำเนินคดีรวม 1,759 คน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,063 ล้านบาท แม้โอกาสได้รับเงินกลับคืนนั้นแทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับเจ้าหนี่ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งนี้ มีสัญญาณผิดปกติมาตั้งแต่การส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า โดยทาง STARK ได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการนับสินค้าคงคลัง อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่บริษัทเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจากบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด มาเป็น บริษัท บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC)

ต่อมา ผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ เช่น การสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น โดยสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังพบพฤติกรรมการโยกย้ายถ่ายเทเม็ดเงินเกิดขึ้นภายใน 3 บริษัทย่อยของ STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) เริ่มจาก ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ ผู้สอบบัญชีพบว่ามีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย ‘อดิสรสงขลา’ มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ ‘ไทย เคเบิ้ลฯ’ อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในช่วง 2 ปีก่อน (2564-2565) มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทระหว่างกันทั้ง STARK และบริษัทบ่อยรวมถึงบริษัทที่อ้างเป็นคู่ค้าธุรกิจ จนทำให้ STARK มีผลขาดทุนจริงมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ภายหลังความจริงเริ่มปรากฏชัดออกมาเรื่อย ๆ สังคมตลาดทุนต่างมีคำถามมากมาย มีใครบ้างที่มีเอี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว ทั้งผู้บริหารบริษัท พนักงานและบริษัทตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงแอคชันการทำงานที่ดูเหมือนจะล่าช้า จนเกิดความเสียหายหนักเกินจะเยียวยาแล้ว

ปฏิบัติการกู้คืนความเชื่อมั่น

ล่าสุดมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดอย่างรวดเร็ว และหากพบความผิด ให้ดำเนินการเอาผิดในทุกกรณีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การดูแลนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของSTARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ส่วนกรมสรรพากร ระบุจะตรวจสอบการจ่ายภาษีของ บริษัท STARK อย่างละเอียด หลังพบการปลอมแปลงรายได้ของบริษัท

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน จับมือแถลงข่าวหวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาพรวมตลาดทุน เมื่อช่วงเช้า วันที่ 26 มิ.ย. 66 แต่ในหลาย ๆ ประเด็นยังไม่มีความกระจ่าง โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชี โดยนายธวัชชัย ทิพย์โสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะมีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่ามีช่องโหว่ และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย

ส่วนการตรวจสอบผู้สอบบัญชี สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพบว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทุจริตรายอื่นที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายใด

นายธวัชชัย ย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งการสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก แม้ทาง ก.ล.ต. จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี แต่พร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่าย และหากช่วยได้ก็จะดำเนินการให้ โดยขอยืนยันว่าทาง ก.ล.ต. ทำเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย

ด้านนางสาวสิริพร สงบธรรม เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่สมาคมฯ ได้เปิดให้ผู้ลงทุนหุ้น STARK ลงทะเบียนเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ 19-25 มิ.ย.66 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท โดยหลังจากนี้สมาคมฯจะนำข้อมูลของผู้เสียหายมาตรวจสอบเบื้องต้น และให้ความรู้ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยจะเป็นคนกลางเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

จากข้อมูลที่แถลงออกมานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์ความหายนะในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการตกแต่งบัญชี คงต้องรอการทำคดีของดีเอสไอ ว่าจะสืบสาวไปจนถึงต้นตอได้หรือไม่ และเชื่อว่าคนที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดคงเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ อยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน เพราะมีโทษสูงสุดติดคุกถึง 20 ปีเลยทีเดียว 

อ้างอิง
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/financial-statement/company-highlights
https://www.thaipost.net/economy-news/403508/
https://www.bbc.com/thai/articles/c3gzkwl1lnro
https://www.infoquest.co.th/2023/312719
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000057779