Tuesday, 7 May 2024
GoodVoice

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 66 พลิกทำกำไร 16,342 ลบ. เร่งเครื่องฟื้นฟูกิจการเต็มกำลัง พร้อมขานรับนโยบายฟรีวีซ่า

(10 พ.ย. 66) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย โดยระบุว่า...

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% 

โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท 

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท 

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 31,720 ล้านบาท 

ในปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 3 ลำ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) 

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 

สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่าง ๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 

ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลาย ๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย 

ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

การดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในไตรมาสนี้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

>>การหารายได้จากการขนส่ง 

เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการ เดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ในเส้นทางซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

>>การดำเนินการตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน

รับมอบเครื่องบินแบบ A350-900 จำนวน 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ในเส้นทางสู่ประเทศจีน เพื่อรองรับนโยบาย Free Visi ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และเพื่อขยายฝูงบินให้รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน 

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

>>การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ 

การบินไทยได้ขายเครื่องบินแบบ B747-400 จำนวน 2 ลำ และ A340-68) จำนวน 1 ลำ รวมทั้งเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 1 เครื่องยนต์ ซึ่งส่งมอบให้กับผู้ซื้อแล้ว 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ได้แก่ บ้านพักกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสำนักงานขายมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินครบถ้วนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว

>>การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของกลุ่มบริษัทการบินไทย 

บริษัทฯ รับโอน เครื่องบิน A320-200 จากบริษัท ไทยสมายล์ฯ เพิ่มอีกจำนวน 3 ลำ รวมเป็น 6 ลำ เพื่อเตรียมทำการบินในเส้นทาง ระหว่างประเทศของบริษัทฯ ได้แก่ เดล, มุมไบ, ธากา รวมถึงกัลกัตตา (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม2566 เป็นต้นไป) 

บริษัทฯ ยังทำการบินทดแทนสายการบินไทยสมายล์ ในเส้นทางย่างกุ้ง, เวียงจันทน์, พนมเปญ, อาห์เมคา บัด รวมถึงเกาสงและปีนัง (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป) 

การบินไทยจะทยอยรับโอนอากาศยานจน ครบ 20 ลำ ภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอากาศยานได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบิน และจัดเที่ยวบินให้ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารใน ภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร

รู้จัก ‘e-Refund’ โครงการรองรับผู้ไม่เข้าข่ายรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ภาคต่อ ‘ช้อปดีมีคืน’ กระตุ้นการจับจ่าย-ลดหย่อนภาษี-มุ่งสู่ e-Government

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แถลงผลการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีมติเห็นชอบรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการเรียบร้อย

โดยปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวน 50,000,000 คน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นั่นหมายความว่า ‘คนรวย’ หรือผู้มีรายได้สูง 4.8 ล้านคน จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไม่ได้นั้น นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลจะออกโครงการ ‘e-Refund’ ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการแทน

สำหรับโครงการ ‘e-Refund’ มีเงื่อนไข รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
- ผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท
- ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น
- โครงการ e-Refund เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

“ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ได้ รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้นำใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา และรัฐฯ จะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย” นายกฯ ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า โครงการ e-Refund นั้น ประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการ รวมมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่จูงใจให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้น มุ่งไปสู่การเป็น ‘e-Government’ ในอนาคต ซึ่งโครงการ e-Refund จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

‘3 Steps Plus’ พา ‘GC’ พลิกทำกำไรในช่วง ศก.โลกขาลง ‘ยกระดับการแข่งขัน-สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์-บูรณาการความยั่งยืน’

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พลิกทำกำไร ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอยและตลาดเคมีภัณฑ์ขาลง เป็นผลมาจากการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า ทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการภายในที่เข้มแข็ง ได้แก่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ รักษาวินัยทางการเงินเข้มแข็ง และกลยุทธ์ 3 Steps Plus ที่มาถูกทาง ช่วยขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ทั่วโลกที่ยังผันผวน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า 

“อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก และ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่ GC ได้มีการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า มุ่งเน้นทำสิ่งที่เราควบคุมได้ และดำเนินมาตรการภายในที่เข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ผ่านโครงการกว่า 10,000 โครงการ ส่งผลให้เกิดผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 6,900 ล้านบาทต่อปี”

มาตรการภายในที่เข้มแข็งดังกล่าว ได้แก่
>>Business Enhancement: การเพิ่มประสิทธิภาพ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 5,200 ล้านบาทต่อปี

>>Organization & Digital Transformation: ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ การปรับโครงสร้างองค์กร และเพิ่มศักยภาพบุคลากร ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี

>>ดำเนินมาตรการทางการเงิน: คงวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง บริหารสภาพคล่อง ควบคุมค่าใช้จ่าย และ บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

*ลด OPEX ต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2566 คาดว่าจะลดได้ 1,500-2,000 ล้านบาท
*ลด CAPEX ประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยการเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาดในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และในขณะเดียวกันสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
*การลดหนี้และบริหารต้นทุนทางการเงิน โดยการซื้อคืนหุ้นกู้ (US Bond buy back) ทำให้มีกำไรประมาณ 460 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

>>Asset Light Strategy: ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็น Non-core Assets

“ผลจากการดำเนินตามกลยุทธ์ 3 Steps Plus ส่งผลให้ GC มีพื้นฐานที่ดี และมีผลบวกในด้านต่าง ๆ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ GC ได้ทำการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป โดยกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย 

(1) Step Change ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
(2) Step Out  มุ่งสู่ธุรกิจ High Value (Specialty Chemicals) and Low Carbon ( Bio and Circularity) 
(3) Step Up บูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่ง GC มีการดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้”

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 ของ GC ปรับตัวดีขึ้น มีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท มี Adjusted EBITDA ที่ 12,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2566 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขาลง มีการปรับตัวลดลงของ EBITDA ในไตรมาสที่ 3/2566 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 2/2566 ประมาณ 20 - 40 % 

GC องค์กรยั่งยืนได้รับการยอมรับในระดับสากลและระดับประเทศ
>>GC ได้รับรางวัล DJSI อันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน (2562-2565) และในปี 2566 ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

>>นอกจากนี้ยังมีรางวัลเกียรติยศอื่น ๆ อาทิ รางวัล Platinum ระดับสูงสุดจาก Ecovadis, ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน CDP Water and Climate ได้รับการจัดอันดับ A LIST, องค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด (LEAD) ของโลกจาก UN Global Compact Lead, หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ที่ระดับ AAA

>>ล่าสุดได้ตอกย้ำศักยภาพการเป็น Sustainability Thought Leader จากการจัดงาน GC Sustainable Symposium 2023: We are GEN S ซึ่งเป็นเวทีแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีผู้ชมการถ่ายทอดสดผ่าน LIVE ใน 125 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘องค์กรคาร์บอนต่ำ’ และเพิ่มโอกาสในการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ที่สำคัญ

“ความสำเร็จของ GC ไม่เพียงตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อโลก แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือของคณะผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตให้กับองค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” ดร.คงกระพัน กล่าวสรุป

‘ปตท. - GPSC - Nuovo Plus’ ร่วมมือ ‘TES’ ศึกษาการลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. John Jonghun Oh, Chief Strategy Officer, Total Environmental Solutions Company Limited (TES) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด (TES) 

โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. นายมนัสชัย คงรักษ์กวิน รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี กรรมการ Nuovo Plus และ Mr. Luc Scholte van Mast, Managing Director, TES ร่วมลงนาม เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครบวงจรในอนาคต พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีรีไซเคิลมาส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่ม ปตท. นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

'จิรายุ' ชี้กองทัพยุค 'บิ๊กทิน' พัฒนา 'ความมั่นคง' พร้อม 'ความมั่งคั่ง' ทาง ศก. หลัง 'ผบ.ทร.' เผย!! สนามบินอู่ตะเภาพร้อมรองรับ EEC เอื้อ ศก.รุดหน้า

(16 ธ.ค.66) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคตะวันออก อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ว่า นอกจากการตรวจเยี่ยมการฝึกยุทธวิธีของกองทัพเรือ แล้ว รมว.กลาโหม ยังได้ติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC เพื่อรองรับต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้

โดย พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุง สนามบินอู่ตะเภา ได้รายงานว่า เพื่อให้สนามบินแห่งนี้มีความทันสมัยในการรองรับ นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากที่เข้ามาท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และรองรับกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในโครงการ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และระบบคมนาคม ทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ในความรับผิดชอบของ กองทัพเรือมี 2 โครงการ คือการพัฒนาและปรับปรุงทั้งอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ที่ 2 เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากขึ้น

ล่าสุด มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยงานจ้างที่ปรึกษาโครงการดำเนินการ ไปถึงขั้นตอนการประกาศเชิญชวน แล้วคาดว่าจะมีการอนุมัติ ในสัปดาห์หน้านี้

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ส่วนงานจ้างก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 จะนำเข้าพิจารณากับคณะกรรมการของกองทัพเรือเพื่อขอความเห็นชอบในร่าง TOR ไม่เกิน วันที่ 26 ธันวาคม ปีนี้ เพื่อให้ทันแถลงผลการประชุม คณะกรรมการ EEC ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันดังกล่าว โดยคาดว่าในปีหน้าโครงการนี้จะมีความคืบหน้าในการรองรับภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้

นายจิรายุ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม รมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ดำเนินการตอบสนองตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในเรื่องแนวนโยบายพัฒนากองทัพควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ทรัพยากรของกองทัพในการสนับสนุน เนื่องจากโลกยุคใหม่ต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกันระหว่างความมั่นคงทางการทหาร และความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งความมั่นคงของประเทศไทยก็จะมั่นคงตามไปด้วย

'นายกฯ' เผย JETRO ขอไทยช่วยดูแลระบบเปลี่ยนผ่านสู่ EV หลังหลายบริษัทฯ รับปากจะพิจารณามาลงทุนไทยเร็วขึ้น

(16 ธ.ค.66) ที่บริเวณหน้าลานพระราชวังอิมพีเรียล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการหารือกับผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้บริหารบริษัทคูโบต้าว่า JETRO ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ติดต่อจะไปลงทุนที่ประเทศไทย ก็ได้มาขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยดูแลนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น โดยเราหวังว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต่อไป พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาเรามีความสัมพันธ์ดีมากกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคนและกว่า 6,000 บริษัทที่มาทำงานในประเทศไทย ฉะนั้นตรงนี้ทุกอย่างมองตาก็รู้ใจอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า JETRO อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็ดูแลในเรื่องระบบที่กำลังเปลี่ยนผ่านเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนอยู่แล้ว และจากที่เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ได้พบกับ 7 บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ตนก็ได้ให้ความชัดเจนเรื่องของนโยบายที่จะสนับสนุน พร้อมชี้แจงว่าอยากให้เข้ามาลงทุนเร็วขึ้น โดยหลายบริษัทก็รับไปพิจารณาต่อ

ทั้งนี้ ไทยยืนยันในเรื่องของสนธิสัญญาทางการค้า (FTA) ระหว่างไทย อียู และสหราชอาณาจักร ที่ขับรถพวงมาลัยขวาตรงนี้ก็มีการยืนยันว่าจะเร่งเจรจาให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทย เพราะโดยเฉลี่ยในประเทศใช้เอง 30% ส่งออก 70% ดังนั้นการที่เราเร่งในเรื่องนี้ให้เยอะขึ้น ก็จะเป็นการย้ำว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถควบคุมได้

ส่วนการเปลี่ยนขยับไปทำเรื่องโรงงานอีวี ก็เร็วขึ้นในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะของอีซูซุ และโตโยต้า

ส่วนการหารือกับผู้บริหารคูโบต้า จะมีความร่วมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับเกษตรกรไทยอย่างไรบ้างนั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารคูโบต้าถือเป็นการประชุมที่ดีมาก ซึ่งเราเข้าใจผิดว่าคูโบต้าขายแต่รถไถอย่างเดียว แต่เขามีเทคโนโลยีเรื่องของการอัดแน่นซังข้าวโพดที่ไปทำถ่านไร้ควันและเชื้อเพลิง รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืชของอนาคต และปัจจุบันในเรื่องของการไถและเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งทางคูโบต้าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่พืชในอนาคตของประเทศไทย เช่น ถั่วเหลืองไทยนำเข้าปีละล้านตัน แต่เราผลิตเองได้เพียงหลังหมื่น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวที่ไม่คุ้มต้นทุน ฉะนั้น จึงพูดคุยกับทางคูโบต้าที่มีเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการทำระบบชลประทานในภาคการเกษตร ซึ่งระบบครบวงจรเกษตรกรรมทางคูโบต้าดำเนินการอยู่ มีการตกลงว่าไทยจะไปดูสถานที่ และให้ทางคูโบต้ามาช่วยกันพัฒนา ตรงนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็นสามเท่าภายในสี่ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องดี อีกทั้งทางประธานใหญ่คูโบต้าก็ให้การสนับสนุนเต็มที่

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ตนได้ขอให้คูโบต้าทำเรื่องการให้เงินกู้กับสัญญาเช่าซื้อมากกว่าการขายอย่างเดียว และให้ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้อย่างแท้จริง หลังจากนี้ ทีมงานก็จะไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
 

'อลงกรณ์' จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)เดินหน้าโครงการเรือธง“สาหร่าย-พืชแห่งอนาคต” มุ่งเป้าสร้างรายได้ประชาชนทดแทนนำเข้าตอบโจทย์ลดโลกร้อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท เปิดเผยวันนี้(20 ธ.ค.) ว่า มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (WCF : Worldview Climate Foundation) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)โดยการนำของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท ในการพัฒนาสาหร่ายรวมถึงพืชน้ำและพืชชายฝั่งอื่นในประเทศไทย เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

เนื่องด้วยประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 กม. มีป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านไร่ และมีประชากรในจังหวัดชายฝั่งทะเล ประมาณ 26 ล้านคน มีศักยภาพในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นโครงการเรือธง(flagship project)ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy)โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงและลดการนำเข้าสาหร่ายจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ในระยะยาว เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเลเป็นพืชแห่งอนาคตตัวใหม่ 

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน การผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท นอกจากสาหร่ายจะเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง ยังมีสรรพคุณในการนำไปสกัดเพื่อใช้ผลิตอาหารเสริม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ ปุ๋ย พลาสติกชีวภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์ กระดาษ สิ่งทอ สารกระตุ้นทางชีวภาพ (bio stimulants) และเชื้อเพลิงชีวภาพ 

ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายยังมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกภายใต้

“ถือเป็นความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(blue economy)ในการใช้ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการมีงานทำในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสุขภาพของระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร
รวมถึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆเช่น การกักเก็บคาร์บอน การปกป้องชายฝั่ง คุณค่าทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท จะร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ผ่านการทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

ILINK พบนักลงทุน Opp Day Q4/66 ฉายผลงานความสำเร็จ ทำรายได้ 6,965.19 ลบ. มีกำไรสุทธิเด่น พร้อมตั้งเป้าทั้งปี 67 แตะ 7,002 ลบ. เน้นโกยกำไร New High ต่อเนื่อง บอร์ดอนุมัติจ่ายปันผลแรง 0.39 บาทต่อหุ้น เตรียมประกาศ 8 พ.ค. นี้

ILINK ปิดงบปีไตรมาส 4/66 ทำตัวเลขสวย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมอัปเดตนำเสนอข้อมูลบริษัทฯ พบนักลงทุนในงาน 'Opportunity Day' จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ชี้ชัดถึงผลการดำเนินงานธุรกิจในปี 2566 ที่ผ่านมา โดดเด่น กอบโกยรายได้ พร้อมทำกำไรเติบโตตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้า “จะเติบโตแบบมีคุณภาพ ทั้งรายได้ และกำไรสุทธิ” พร้อมเคาะตัวเลข เผยปันผลให้ 0.39 บาทต่อหุ้น (พาร์ 1 บาท) เพื่อยืนยันการเป็นหุ้นปันผล โชว์ศักยภาพธุรกิจดันรายได้ปีนี้แตะ 7,002 ล้านบาท มั่นใจฟื้นตัวเน้นทำกำไร New High ต่อเนื่อง 

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK เผยถึงภาพรวมและผลการดำเนินงานทั้ง 3 ธุรกิจ จากผลงานตลอดทั้งปี 2566 ว่า “กลุ่มธุรกิจในเครือของอินเตอร์ลิ้งค์ มีธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ และธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ พลิกบวกทำรายได้ 4 ไตรมาสรวม 6,965.19 ล้านบาท ขานรับทำกำไรสำหรับงวดโดดเด่น รวมแล้วอยู่ที่ 712.20 ล้าทบาท เพิ่มขึ้น 170.24 ล้านบาท พุ่งแรง 31.41% โดยเป็นการตอกย้ำว่า ทุกธุรกิจในเครือประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ พร้อมทำกำไรเซอร์ไพรส์ สูงเป็นประวัติการณ์ ชี้ชัดถึงการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนแบบมีคุณภาพ

ซึ่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) สร้างผลงานจากทั้งปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 2,881.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 366.27 ล้านบาท หรือ 14.56% โดยทำกำไรสุทธิรวม 309.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.76 ล้านบาท หรือ 51.82% เป็นผลสำเร็จเติบโตหลัก ๆ มาจากรายได้ที่ดีขึ้นของสินค้าในหมวดสาย LAN และในหมวดของสาย Solar ที่ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ครัวเรือนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด ทั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และเทรนด์ของโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar) ก็เป็นตัวผลักดันให้ตลาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

ด้านรายได้ในกลุ่มธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) เป็นรายได้จากบริษัทย่อย IPOWER ซึ่งรับเหมาดำเนินงานโครงการที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่งานวางระบบไฟฟ้าสายเคเบิลใต้น้ำ, งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง, งานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อย และงานวางระบบไฟฟ้าสายเคเบิลใต้ดิน ซึ่งนับว่าเป็นงานที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญสูง ทำให้มีรายได้ที่ก้าวกระโดดรวมทั้งปี 2566 จากธุรกิจอยู่ที่ 1,329.18 ล้านบาท เติบโต 178.96 ล้านบาท หรือ 15.56% และทำกำไรสุทธิรวม 106.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.96 ล้านบาท หรือ 70.45% พร้อมกันนี้ ปัจจุบันมี Backlog ในมือราว 1.14 พันล้านบาท กว่า 80% ที่รอรับรู้รายได้ภายในปี 2567 นี้ ที่จะส่งผลทำกำไร พร้อมรายได้สะสมไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้แน่นอน

โดยรายได้จากธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) เป็นรายได้จากบริษัทย่อย ITEL ทำรายได้รวม 4 ไตรมาส 2,754.94 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 295.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% โดยในอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 10.74% ของรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32% ถึงแม้จะทำรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 นั้น แต่ในทางกลับกัน บริษัทย่อย ITEL กลับสามารถเพิ่มอัตราทำกำไรสุทธิเทียบกับยอดขายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตแบบมีคุณภาพได้เป็นอย่างดี

สำหรับภาพรวมของทิศทางตลอดทั้งปี 2567 ด้านการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ในเครือ มีการวางแผนตั้งเป้าหมายแน่วแน่ให้กอบโกยรายได้แตะ 7,002 ล้านบาท ไปพร้อมกับเน้นทำกำไร New High ต่อเนื่อง ดันยอดขายในกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ผลิตภัณฑ์ LINK AMERICAN จากสินค้านวัตกรรมใหม่ ที่ได้เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่ในกลุ่มของ Super S Series : UTP CAT 6A และ FTTR (Fiber Optic To The Room Solution) ซึ่งนับเป็นสินค้าชิ้นโบว์แดงแห่งปีที่ ILINK เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในอาเซียน ได้คิดค้นพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์แก่เทคโนโลยีแห่งยุคนี้โดยเฉพาะ จึงมั่นใจว่าทิศทางของผลประกอบการเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพกับราคาแล้ว ผลิตภัณฑ์ LINK AMERICAN และ GERMAN RACK จะสามารถผลักดันยอดขายให้สอดรับกับการเติบโตของตลาดธุรกิจโลกที่เปิดกว้างมากขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ขณะที่การประมูลงานของกลุ่มธุรกิจวิศวกรรมโครงการในปีนี้ เน้นไปที่งาน Submarine เกาะสมุยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่เป็นลูกค้าหลักรายใหญ่ในมือมาอย่างยาวนาน และเป็นความเชี่ยวชาญที่กลุ่มธุรกิจมีความชำนาญโดดเด่น 

ซึ่งคาดการณ์ยังมีงานที่อยู่ระหว่างจ่อรอเซ็นสัญญาอีกเพียบตลอดทั้งปีนี้ พร้อมเร่งลุยเข้าประมูลงานโครงการของภาครัฐ และภาคเอกชนเพิ่มเติม Backlog ให้แน่นไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และสำหรับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทย่อย ITEL กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งปีนี้มีแผนดันขยายกิจการเพิ่มเติมสู้ Health Tech หลังเข้าลงทุนใน 'Global Lithotripsy Services Company Limited' เสริมพื้นฐานแข็งแกร่งตรงตามกลยุทธ์ New S-Curve ต่อยอดธุรกิจ คาดว่าปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการเสนองานใหม่ เร่งรุกธุรกิจ Data Center ควบคู่การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง พร้อมนำ บมจ.บลู โซลูชั่น 'BLUE' เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในปีนี้แน่นอนอีกด้วย และคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งปี 2567 นี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.39 บาท จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งสิ้น 543,632,325 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 212.02 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นี้

“นับเป็นการชี้ชัดถึงการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก ตอกย้ำถึงความสำเร็จตามแบบแผนของการวางยุทธศาสตร์ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งในแง่รายได้ และกำไรสุทธิ โดยอาศัยจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นสำคัญ โดยสามารถสร้างผลงานได้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมนำพากลุ่มธุรกิจไปสู่ผลลัพธ์ที่ก้าวหน้า เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนได้อย่างมีคุณภาพ”  

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงใย เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งการ SME D Bank เร่งช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในพื้นที่

(23 มี.ค.67) ตามที่ได้เกิดเหตุก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายจุด ในช่วงวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ดังกล่าวหลายรายได้รับความเสียหาย นั้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเร่งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านที่กระทรวงสามารถให้ได้

“เบื้องต้น ทราบข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รู้สึกเป็นห่วงและเห็นใจผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบให้ SME D Bank กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจสอบและสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทุกราย สำหรับในส่วนของ SME D Bank สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียายา ด้านการเงิน อาทิ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อ Soft Loan พิเศษ แก่ผู้ได้รับผล กระทบ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 สามารถเข้าไปช่วยเหลือในด้านเทคนิค การตลาด และเงินทุนหมุนเวียน โดยจะเร่งให้ทุกหน่ายในสังกัดกระทรวง บูรณาการกับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

'6 เดือนรัฐบาล' กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นตามหวัง ซ้ำ!! 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' ยังกระทบงบประมาณ 67

'เศรษฐกิจไทย' ยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะส่งผลดี กระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สต็อกบ้าน คอนโด เหลือขายเป็นจำนวนมาก โครงการเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10.80% แต่หน่วยขายได้ กลับลดลง -14.50% เตรียมเข็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% โดยขยายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก เท่านั้น

ด้านพลังงาน มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม จะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คาดการว่า กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบในระดับ 100,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถขยายเวลาในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ 

หากจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อ ต้องอาศัยกลไกจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มาช่วยตรึงราคาควบคู่กับกลไกกองทุนน้ำมัน 

ส่วนค่าไฟฟ้า มาตรการจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2567 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีแนวโน้มจะสามารถตรึงฐานค่าไฟได้ต่อ ถึงเดือนสิงหาคม 2567 

ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใน 'กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ' ที่มีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทในไทย สามารถยื่นขอบีโอไอได้ ได้รับสิทธิ์เว้นอากรขาเข้า อุปกรณ์-เครื่องจักร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) 

มาตรการที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่ทำให้คะแนนนิยมทั้งของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีกระเตื้องขึ้น กับการที่บริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องเข็นมาตรการเงินดิจิตอลวอลเล็ต เพื่อช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 

โดยวันที่ 10 เม.ย. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการเคาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 - 3 ทางเลือกระหว่างการใช้เงินกู้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงิน และไทม์ไลน์ในโครงการนี้แล้ว โครงการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยืนยันว่าโครงการนี้รัฐบาลจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้สามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนเทศกาลปีใหม่ 2568

ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงไม่กระเตื้อง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า แต่เมื่อการหาแหล่งเงินทุนในโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะต้องไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีร่วมด้วย นั่นหมายความว่า งบประมาณประจำปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ ของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกตัดไปใส่ในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต เท่ากับว่า เม็ดเงินที่จะออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ เพราะส่วนหนึ่งใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายอยู่แล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องคิดเผื่อด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก เพราะทุกหน่วยงานต้องรอจัดสรรการใช้จ่ายในแต่ละโครงการอีกครั้ง ว่าโครงการใด ต้องชะลอเพื่อกันเงินไว้สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต โครงการใดที่จะสามารถเบิกจ่ายได้จริง ส่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยิ่งต้องล่าช้าออกไปอีก 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้ แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่าใดนัก และกับการที่อาจต้องคาดการณ์ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปอีก ... ความกดดันที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น กำลังถาโถมต่อรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ

ตอนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สถานการณ์หนักพอควรแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ ก็คงไม่ต่างกัน นโยบายที่ออกมาเพียงเพื่อหาเสียงเพื่อให้ได้เข้าไปนั่งในสภา ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกฎกติกา หรือยัง ?


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top