Sunday, 19 May 2024
GoodVoice

'โงวฮก’ บริษัทใจบุญผู้บริจาคเงิน 520 ลบ. สร้าง ‘รพ.หัวใจบ้านแพ้ว’ จากอดีตธุรกิจโรงสีข้าว สู่ความสำเร็จทางธุรกิจเดินเรือชั้นนำระดับโลก

เป็นข่าวฮือฮาและเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อบริษัทที่ชื่อว่า ‘โงวฮก’ ได้บริจาคเงินจำนวน 520 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว

กล่าวสำหรับ ‘โงวฮก’ คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชื่อหรือไม่รู้จักบริษัทนี้มากนัก แต่สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดินเรือต่างรู้จัก บริษัทแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ประกอบธุรกิจมายาวนานเกือบ 100 ปี

อีกทั้งยังมีบริษัทลูกที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ในนาม บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) (RCL) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเดินเรือระดับโลกของคนไทย ที่มีกำไรมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา

วันนี้ ทาง THE STATES TIMES จะพาไปรู้จักความเป็นมาของ ‘โงวฮก’ ให้มากขึ้น

บริษัท โงวฮก จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2472 จากการรวมตัวกันของเจ้าของโรงสีข้าวชาวไทยเชื้อสายจีน 5 คน ซึ่งมองเห็นโอกาสทางธุรกิจและเชื่อว่าธุรกิจขนส่งทางเรือ หรือ ‘ชิปปิ้ง’ (Shipping) สามารถบริหารจัดการโดยผู้ประกอบการชาวไทยได้ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ในการดำเนินธุรกิจเดินเรือต้องใช้เงินลงทุนสูงและความรู้เฉพาะด้าน ทำให้ธุรกิจประเภทนี้ล้วนอยู่ภายใต้บริษัทตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ เช่น East Asiatic และ British India ส่งผลให้อัตราค่าระวางและค่าขนส่งสินค้าถูกกำหนดโดยบริษัทต่างชาติ

ดังนั้น แนวคิดการจัดตั้งบริษัทขนส่งของคนไทยในยุคนั้น จึงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาค่าระวางเกินราคาและปัญหาตารางการเดินเรือที่ไม่เที่ยงตรงนัก

สำหรับชื่อ ‘โงวฮก’ มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วประกอบด้วยคำสองคำที่มีความหมาย คำว่า ‘โงว’ หรือ ‘โหงว’ ในภาษาไทยแปลว่า ‘ห้า’ หมายถึง 5 ตระกูลผู้ก่อตั้ง ได้แก่ บุลกุล, บุลสุข, ก่อวัฒนา, ตันตะเศรษฐี และตันธุวนิตย์ ส่วนคำว่า ‘ฮก’ มีความหมายด้านมลคลหลายอย่าง เช่น ‘โชค ลาภ รุ่งเรือง’ ดังนั้น ‘โหงวฮก’ จึงตีความได้ว่าเป็น ‘ห้ารุ่งเรือง’ ดังเห็นได้จากดาวนำโชค 5 ดวงในโลโก้บริษัท และเรือกลไฟลำแรกที่บริหารและดำเนินการโดยโงวฮก จึงมีชื่อว่า ‘S/S Prosperity’

ธุรกิจหลักอันดับแรกของ ‘โงวฮก’ คือ การขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในขณะเดียวกัน ก็ได้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อาทิ จีนแผ่นดินใหญ่ผ่านฮ่องกง เข้ามายังประเทศไทยด้วย 

และนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ‘โงวฮก’ ภายใต้การบริหารของตระกูล ‘ตันธุวนิตย์’ ได้เอาชนะความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ และค่อยๆ ผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทเจ้าของเรือชั้นนำของประเทศ ด้วยการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจเดินเรือของ ‘โงวฮก’ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้ง เมื่อ ‘สุเมธ ตันธุวนิตย์’ ได้ก่อตั้งบริษัท บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) (RCL) เพื่อขยายธุรกิจไปสู่บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล เมื่อปี 2523 และได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2531 

ปัจจุบันการดำเนินงานของ RCL มี ‘สุเมธ ตันธุวนิตย์’ เป็นประธานกรรมการบริหาร โดยดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ 1.) Shipper Owned Container (SOC) หรือตู้สินค้าของเรือเดินสมุทรข้ามทวีป 2.) Carrier Owned Container (COC) หรือตู้สินค้าของกลุ่มบริษัทที่ให้บริการภายในภูมิภาค และ 3.) การให้บริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในด้านโลจิสติกส์ โดยมีเครือข่ายสำนักงานที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุทวีปอินเดีย ตะวันออกกลาง ทะเลแดง และแอฟริกาตะวันออก

ในปี 2565 บริษัท RCL ถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 26 ในหมู่ผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลระดับโลก และอยู่ในระดับตันๆ ของกลุ่มผู้ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน RCL ดำเนินการกองเรือ 40 ลำ (ณ สิ้นปี 2565) ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 400 TEU ถึง 6,400 TEU นอกจากนี้ ยังมีกองเรือจำนวน 94,439 TEU เพื่อรองรับการขนส่ง COC ของตัวเองด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์กับลูกค้าและเอเยนซี่สำคัญๆ ในต่างประเทศ จำนวน 69 แห่ง และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการบริการ SOC และ เป็นผู้บริหารท่าเรือจำนวน 1 ท่าในภูมิภาคเอเชีย

ผลประกอบการ ‘โงวฮก’ ย้อนหลัง 5 ปี
ปี 2561 รายได้ 470 ล้านบาท กำไร 192 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 435 ล้านบาท กำไร 126 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 635 ล้านบาท กำไร 241 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,513 ล้านบาท กำไร 1,167 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 2,053 ล้านบาท กำไร 1,730 ล้านบาท

ผลประกอบการ ‘RCL’ ย้อนหลัง 4 ปี
ปี 2562 รายได้ 16,566 ล้านบาท ขาดทุน 492 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 17,255 ล้านบาท กำไร 1,745 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 38,007 ล้านบาท กำไร 17,973 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 52,219 ล้านบาท กำไร 24,625 ล้านบาท


 

'Arun Plus' ผนึก 'CATL' ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ EV ในไทย ดันไทยสู่ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในอาเซียน

(9 มิ.ย. 66) Arun Plus – CATL บรรลุข้อตกลงร่วมจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) พร้อมด้วย 
Mr. Ni Zheng, Executive president of overseas car business, and CEO of Japan & Korea affiliate, Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ลงนามสัญญาร่วมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP) ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพ็กโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพความจุพลังงานสูงขึ้น น้ำหนักเบา และมีความปลอดภัยสูง เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือกับ CATL ผู้นำในระดับสากลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV โดยพิธีลงนามฯ จัดขึ้นที่งาน Shanghai International Automobile Industry Exhibition สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ในครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจรในอนาคต ด้วย CATL เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง Arun Plus มุ่งมั่นที่จะสร้างความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยได้ร่วมกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN ก่อตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (Horizon Plus) เพื่อดำเนินการผลิต EV รองรับความต้องการที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573

ซึ่งการก่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ โรงงานผลิต EV ดังกล่าว และในอนาคต Arun Plus ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ CATL เพื่อนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC) พร้อมทั้งจะศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต

ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP นี้ นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม Arun Plus แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

รู้จัก ‘หนองโพ’ นมโค 100% ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสังคม-คนเลี้ยงวัว

(13 มิ.ย.66) หลังจากที่ผ้าไทยได้ขาดตลาดไปแล้ว คราวนี้ถึงคิวของ ‘นมถุงหนองโพ’ เมื่อ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ได้ถ่ายลงสตอรี่อินสตราแกรมที่มีผู้ติดตามทั่วโลกกว่า 94 ล้านคน พร้อมแคปชัน “วัยเด็กต้องนี่เลย!”

งานนี้จึงเชื่อได้ว่า ‘นมถุงหนองโพ’ คงต้องขาดตลาดอีกแน่นอน เพราะไม่ว่าสาวลิซ่าจะหยิบจับอะไร ก็กลายเป็นที่สนใจทุกครั้งไป ช่วยคืนชีพ Soft Power ไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก

ว่าแต่ ‘แบรนด์หนองโพ’ มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ถ้าหากให้ผู้ใหญ่ในวัยนี้ได้ย้อนนึกไปถึงวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนย่อมคุ้นเคยและมีประสบการณ์ร่วมกับ ‘นมหนองโพ’ มาไม่มากก็น้อย ทั้งรูปแบบของนมกล่อง หรือนมถุง จนรู้ตัวอีกทีหนองโพก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่คู่และเติบโตมาพร้อมๆ กับคนไทยไปแล้ว

แนวคิดในการก่อตั้งแบรนด์ ‘หนองโพ’ ซึ่งมีที่มาจากชื่อของตำบลหนึ่งในจังหวัดราชบุรี แหล่งเลี้ยงโคนมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มาจากการที่ตกผลึกถึงเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังของเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลายครั้งพวกเขากลับเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่าประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และทำปศุสัตว์กว่า 2.9 ล้านราย และในจำนวนนั้นเป็นผู้เลี้ยงโคนมราว 18,000 ราย ที่คอยดูแลโคนมมากกว่า 600,000 ตัวทั่วประเทศ

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อ 54 ปีก่อน ในปี 2511 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ราชบุรีเผชิญหน้ากับปัญหาด้านเศรษฐกิจ และเกิดปัญหาด้านสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ จนสร้างความเสียหายให้กับน้ำนมดิบที่เก็บไว้และเกิดการขาดทุน ทำให้มีการรวมตัวเพื่อถวายฎีกาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับปัญหาตลาดจำหน่ายน้ำนม

พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานเพื่อแปรรูปน้ำนมดิบที่ตำบลหนองโพ ในปี 2515 และดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์การเกษตร ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)’ สหกรณ์นี้เองทำให้เกิดการรวมตัวที่เข้มแข็งของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสมากมายมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จนปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกกว่า 4,000 คน ที่กระจายรายได้เข้าสู่หลายพันครัวเรือน และนำไปสู่การพัฒนาน้ำนมและเลี้ยงวัวให้มีคุณภาพและมีความสุข

ดังนั้นหนองโพจึงไม่ใช่เพียงแค่แบรนด์นมโคคุณภาพสูง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาหนองโพเป็นจุดศูนย์กลางของคุณภาพชีวิต และความสุขของคนเลี้ยงโคนมมาโดยตลอด ซึ่งโอกาสเหล่านั้นได้พัฒนามาในรูปแบบของน้ำนมโค 100% ที่เต็มไปด้วยสารอาหารและประโยชน์ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม, วิตามินบี 2, วิตามินบี 12 และโปรตีนที่มาช่วยสร้างสุขภาพดีๆ ให้กับคนไทยทั่วประเทศ

ปัจจุบันหนองโพมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ...

>> นมถุง (พาสเจอร์ไรซ์) มี 5 รสชาติสุดอร่อย คือ จืด, หวาน, ช็อกโกแลต, สตรอว์เบอร์รี และ กาแฟ (สูตรพร่องไขมัน)

>> นมกล่อง (ยูเอชที) ที่มี วัวยิ้มอยู่หน้ากล่อง  มีสองขนาด 225 มล. และ 180 มล. และมีถึง 5 รสชาติ ให้เลือก คือ จืด, หวาน, ช็อกโกแลต, รสจืด (สูตรพร่องมันเนย), กาแฟ (สูตรพร่องไขมัน) 

>> และสำหรับเด็กเล็ก ที่เพิ่งเริ่มหัดดื่มนม หนองโพ ก็มีแบบ นมยูเอชที กล่องเล็ก ขนาด 125 มล. จำชื่อให้ดี นมหนองโพ ไฮคิดส์  มีรสชาติ ให้เลือก 3 รสชาติ คือ จืด, หวาน, ช็อกโกแลต 

ไม่ใช่แค่นมสดเท่านั้น หนองโพยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโยเกิร์ตและไอศกรีมที่ผลิตจากนมโคแท้ ๆ ที่ขอบอกว่าต้องลองสักครั้ง

โดยสรุปแล้ว แบรนด์หนองโพไม่ได้มีดีแค่นมที่สดใหม่ รสชาติดีเท่านั้น แต่เป็นอีกแบรนด์สำคัญที่สร้างความเข้มแข็งและส่งต่อโอกาสให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและครอบครัวผ่านการรวมตัวของสหกรณ์อย่างยั่งยืน และการที่ไอดอลคนดังอย่าง ลิซ่า BLACKPINK ได้จับตำนานขึ้นมาโพสต์หนนี้ คงมีออเดอร์ล้นแบบผลิตกันไม่ทันขายแน่นอน...

พาณิชย์-DITP’ จัดโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ตอบรับดีเกินคาด!! ปลื้ม!! ชาวจีนแห่ซื้อ ‘ทุเรียน มังคุด ลำไย’ ขายกันมือระวิง

‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ (DITP) เผย ผลการจัดกิจกรรมโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ที่เมืองชิงต่าว ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทุเรียน มังคุด ลำไย ขายมือระวิงห้างขายได้ทันที 2.93 ล้านบาท ผู้นำเข้าขายส่งได้ 138 ล้านบาท และห้างยังแจ้งอีกว่าจะสั่งซื้อผลไม้ภายใน 1 ปี อีก 190 ล้านบาท

(13 มิ.ย. 66) นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานผลโครงการยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนเมืองชิงต่าว ภายใต้ธีมงาน ‘Qingdao Thai Fruits Golden Months 2023’ จากนางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไทยได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group ในเมืองชิงต่าว จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและกระตุ้นให้ชาวจีนบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ทูตพาณิชย์รายงานว่า ปีนี้ได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขา ทั่วเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่นระดับกลาง-บนที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วเมืองชิงต่าว โดยในช่วงการเปิดงาน ได้จัดให้มีการแสดงประกอบเพลง การร้องเพลงสากล การเล่นเกมชิงรางวัลผลไม้ไทยและการสาธิตการทำ ‘ข้าวเหนียวทุเรียนไทย’ และแนะนำร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา ‘Thai SELECT’ และเชฟจากร้านอาหาร ‘Thai SELECT’ รวมทั้งแจกชิมอาหารหวานไทยที่ทำจากผลไม้ ได้แก่ พัฟทุเรียน เพื่อตอกย้ำถึงรสชาติของทุเรียนไทย และดึงดูดให้ผู้บริโภคไปใช้บริการร้านอาหาร Thai SELECT ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงานที่ชิงต่าว ยังได้ร่วมกับ KOL ด้านอาหารชื่อดังของเมืองชิงต่าวถึง 3 ราย ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin. (TikTok) รวมเกือบ 3 ล้าน followers มาจัดทำคลิปเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมงาน รวมทั้งร่วมกับ KOL อีก 1 รายชื่อ Kě’àiQiúqiú (เค่ออ้ายฉิวฉิว) ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin (Tiktok) มากกว่า 1.49 ล้าน followers เข้ามาร่วมไลฟ์สดบรรยากาศภายในงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน ร่วมกับทูตพาณิชย์ โดยมีการแนะนำผลไม้ที่จำหน่ายภายในงาน และเชิญชวนผู้บริโภคชาวชิงต่าวมาซื้อผลไม้ไทยราคาพิเศษตลอด 1 สัปดาห์เต็ม

ทั้งนี้ ผลการจัดงานปรากฏว่า ผลไม้ไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีการจำหน่ายทุเรียนของประเทศอื่น แต่ผู้นำเข้าและห้างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าทุเรียนไทยยังขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล และปีนี้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีกว่าปีที่ผ่านๆมารวมทั้งราคาจับต้องได้และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

ส่วนยอดขายผลไม้ในช่วงที่จัดกิจกรรมตลอด 1 สัปดาห์จากห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขาคิดเป็นมูลค่าทันที 2.93 ล้านบาท ส่วนผู้นำเข้ามียอดขายแบบค้าส่งทันที 138 ล้านบาท และห้างสรรพสินค้า Leader Group คาดการณ์ว่าภายใน 1 ปี จะมีมูลค่าการสั่งซื้อผลไม้รวมทั้งสิ้น 190 ล้านบาท

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

ผู้ลงนามบันทึกรายงานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี พบนั่ง ‘เอ็มดี INTUCH’ ควบบอร์ด ถือหุ้น 0.0006%

วันที่ (13 มิ.ย. 66) จากกระแสข่าวใหญ่ในแวดวงการเมืองและตลาดทุนไทย โยงปมการถือหุ้นสื่อของนายทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ล่าสุดปรากฏคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเทปบันทึกการรายงานผลการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ITV’ ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม

โดยสปอตไลต์ยิงตรงไปที่บุคคลรายนามว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ซึ่งเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV และเป็นผู้เซ็นลงนามรับรองในเอกสารรายงานการประชุม โดยที่คำตอบในคลิปวิดีโอค่อนข้างย้อนแย้งกับเอกสารรายงานผลการประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีเนื้อหาคนละเรื่อง หรือคนละความหมายกันเลย

ทำให้ชื่อ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ กลายเป็นที่สนใจของคนในสังคม โดยติดอันดับรายชื่อที่ถูกค้นหาบน Google Trends มากที่สุด วันนี้ประชาชาติธุรกิจจึงจะพาไปเปิดประวัติ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ว่าบุคคลท่านนี้เป็นใคร และมีความสัมพันธ์กับใครและบริษัทไหนกันบ้าง

โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH อยู่ที่ 0.0006%

ทั้งนี้ ยังพบว่าเป็นกรรมการอยู่ใน บมจ.ไทยคม (THCOM) บมจ.ไอทีวี (ITV), บจก. อาร์ตแวร์ มีเดีย, Shenington Investments Pte Ltd, บจก. ลิตเติ้ล เชลเตอร์, บจก. ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส, บจก. อินทัช มีเดีย, บจก. ทัชทีวี, บจก. สเปซ เทค อินโนเวชั่น นอกจากนี้ เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุนของ INTUCH อีกด้วย

และที่สำคัญผ่านการอบรมจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอื่น ๆ ประกอบด้วย

1.) DCP : Directors Certification Program รุ่น 116/2552
2.) Harvard#1 Executive Learning Sustainment Program ปี 2561-2562
3.) Harvard Leadership Development Program, Harvard Business Publishing ปี 2560-2561
4.) SFLP : Strategic Financial Leadership Program ปี 2562 โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
5.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 21

ทั้งนี้ สำหรับ INTUCH ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 1,320.91 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 41.19% โดย GULF ได้เทกโอเวอร์ INTUCH ผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ในสัดส่วน 23.32% โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 48,611 ล้านบาท ตอนนั้นเมื่อรวมกับหุ้น INTUCH ที่ GULF ถืออยู่ก่อนแล้วสัดส่วน 18.93% ทำให้ GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 42.25% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

 

6 ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่ของจีน เล็งตั้งฐานการผลิตในไทย หวังดันไทยสู่ Hub ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย

หากพูดถึง ‘The Big 6’ แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของจีน ต้องเอ่ยชื่อ BYD (Build Your Dreams), Chongqing Changan, JAC Motors, Jiangling Motors, Great Wall Motor และ Geely

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ‘Geely’ ตามหลัง ‘Great Wall Motor’ เดินหน้ามาลงทุนธุรกิจ EV ในไทย

‘Geely’ หนึ่งในค่ายรถรายใหญ่ของจีน มีแผนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของไทย ประกอบด้วย การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งฐานการผลิตในไทย

Geely กำลังพิจารณาแผนการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยครั้งใหญ่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเล็ก และรถกระบะไฟฟ้า ภายใต้ยี่ห้อ ‘Radar’ สอดคล้องกับ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ที่เผยว่า ได้มีการหารือกับค่ายรถ EV จีนยักษ์ใหญ่ 6 บริษัท หรือ ‘The Big 6’

ได้แก่ ‘บีวายดี’ (BYD: Build Your Dreams), ‘ฉงชิ่ง ฉางอัน’ (Chongqing Changan), ‘เจเอซี มอเตอร์’ (JAC Motors), ‘เจียงหลิง มอเตอร์’ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ ‘จีลี’ (Geely)

เลขาฯ BOI เสริมว่า ‘The Big’ ให้ความสนใจในนโยบายของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และวางระบบห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการในภูมิภาค’

ก่อนหน้านี้ BYD (Build Your Dreams) และ Great Wall Motor ได้เดินตามแผนตั้งฐานการผลิต EV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพิจารณาการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย

ตามมาด้วย Geely ซึ่งเป็นรายล่าสุด ต่อจาก Great Wall Motor ที่มีแผนลงทุน ‘ปักหมุด’ EV ในไทย มูลค่าระดับหลักพันล้านบาท สอดรับกับนโยบายการรักษาสถานะผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 10 ของโลกของไทย ซึ่งมุ่งหวังสานต่อความสำเร็จของ Hub รถยนต์เอเชียในอดีต และต่อยอดสู่การเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ของภูมิภาค

ตามเป้าหมายปรับสัดส่วนการผลิตรถยนต์ 30% จากยอดการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี ให้เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Great Wall Motor ประกาศแผนลงทุน 30 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นเล็กในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024

คุณณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการบริษัท Great Wall Motor Thailand ระบุว่า บริษัทเเม่จากจีน กำลังพิจารณาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

“แผนการลงทุนที่ไทยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตราการเงินอุดหนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า หรือการลดภาษีรถ EV” MD Great Wall Motor Thailand กล่าว

ในปี ค.ศ. 2022 รถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ที่เป็นรถรุ่นเล็ก หรือ Compact Car ของ Great Wall Motor เป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย โดยรุ่นที่ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 828,500 บาท ซึ่งราคานี้ได้รับการอุดหนุจากรัฐ 230,500 บาท

โดย Great Wall Motor ได้เข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่ง Great Wall Motor วางแผนที่จะผลิตรถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024 ส่วนแผนการลงทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ของ Great Wall Motor น่าจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะประกาศรายละเอียดให้ทราบในอีก 6 เดือนจากนี้ หรือในครึ่งปีหลังของปี ค.ศ. 2023 หรือไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2023

อย่างไรก็ดี แม้ว่า The Big 6 ทุกค่ายไล่ตั้งแต่ บีวายดี (BYD: Build Your Dreams), ฉงชิ่ง ฉางอัน (Chongqing Changan), เจเอซี มอเตอร์ (JAC Motors), เจียงหลิง มอเตอร์ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ จีลี (Geely) จะลงทุนในไทยเป็นมูลค่าที่สูงมากเท่าไหร่ก็ตาม

ทว่า ค่ายรถเจ้าใหญ่ (เจ้าที่) ในไทย ยังคงเป็นบริษัทญี่ปุ่น เช่น TOYOTA, ISUZU, HONDA, NISSAN, MAZDA, MITSUBISHI

เรื่อง : ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
 

แม็คโคร’ เตรียมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ 15 มิ.ย. นี้ แต่ยังยืนยัน จะยังคงใช้แบรนด์ชื่อเดิม

วันที่ 13 มิ.ย. 2566 –  แม็คโคร ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป แต่ยืนยันจะใช้แบรนด์ “แม็คโคร” เช่นเดิม

ก่อนหน้านี้ ได้มีรายงานข่าวว่า จะมีการประกาศให้ บริษัทสยามแม็คโคร อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทและตราประทับจาก SIAM MAKRO เป็น CP AXTRA รวมทั้งชื่อย่อหลักทรัพย์จาก MAKRO เป็น CPAX

ขณะที่ผลกำไร ไตรมาสแรกของปี 66 นั้น แม็คโคร มีรายได้โตกว่า 1.2 แสนล้าน โดยมีกำไร 2 พันล้านบาท อานิสงส์เปิดประเทศดันการท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจขยับ พร้อมแผนเชิงรุก ขยายสาขา บุกช่องทางขายออนไลน์ และมีแผนการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
 

หน้าร้อนดันโต!! CPALL รับอานิสงส์หน้าร้อน เครื่องดื่มขายดีกระฉูด หนุน Q2/66 ผงาด โบรกฯ แนะ!! ซื้อ เคาะเป้า 72 บ.

🔴 (14 มิ.ย. 66) บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำ ‘เพิ่มน้ำหนัก’ เข้าลงทุน CPALL โดยแนวโน้มผลการดำเนินงาน Q2/66  เติบโตโดดเด่น โดยล่าสุด SSSG ยังบวกได้ 7-9% y-y จากการบริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเป็นช่วงหน้าร้อนทำให้เครื่องดื่มขายดี

🟢 นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์จากค่าไฟภาคธุรกิจที่เริ่มปรับลงในเดือน พ.ค. - ส.ค. 66 ส่งผลให้ลดแรงกดดันในด้านค่าใช้จ่าย

⚪ สำหรับแนวโน้มกำไรในช่วงครึ่งหลังปี 66 คาดจะได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการปรับโครงสร้างหนี้ Lotus’s ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง ส่งผ่านมายังกำไรของ MAKRO ที่เร่งตัวขึ้น ดังนั้นฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรปี 66 ที่ 1.7 หมื่นลบ. +30% y-y  แนะนำ ‘ซื้อ’ ราคาเป้าหมาย 72 บาท
 

ประชาชนต้องรับรู้ เคาะ!! ทุก ‘บล.’ ต้องเผย ‘ข้อมูล-งบการเงิน’ ผ่านทุกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 16 มิ.ย.นี้

📌เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ.9/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประกาศ รายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2566

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 สำนักงานออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 4/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประกาศรายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2544 

ข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลโดยวิธีการที่กำหนดดังต่อไปนี้ ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานหรือประชาชนเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยพลัน ณ สำนักงานทุกแห่งของบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้ติดต่อกับประชาชน ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต้องถูกต้องครบถ้วน ชัดเจน เป็นปัจจุบัน และตรงต่อความเป็นจริง

(1) ใบอนุญาต สำเนาใบอนุญาต หรือเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงสถานะการได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของสำนักงาน โดยปิดประกาศหรือแสดงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือช่องทางอื่นใดที่สามารถเชื่อมโยงหรือเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น 

(2) งบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี พร้อมหมายเหตุประกอบงบการเงินของงวดการบัญชีหลังสุด โดยปิดประกาศหรือแสดงข้อมูลบนหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งติดตั้งไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 3 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลนั้นให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และตรงต่อความเป็นจริงโดยพลัน

ข้อ 41 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566
นายธวัชชัย พิทยโสภณ
รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด 

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE STATES TIMES ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

1.) การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2.) ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู
.
3.) ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

4.) ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top