Sunday, 19 May 2024
GoodVoice

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19-23 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน เฉลี่ยโดยรวมลดลงกว่า 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนเทขายจากความวิตกต่ออุปสงค์พลังงานโลกที่อาจชะลอการฟื้นตัว หากธนาคารกลางรายใหญ่ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวสูงขึ้นหลังจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลางสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังจากสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดสูงสุดในรอบ 7 วัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก นำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น

รมว.กระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Nikolai Shulginov กล่าวในงานสัมมนา St. Petersburg International Economic Forum ว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในปี 2566 ลดลงจากปีก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียประกาศลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง มี.ค. 66 - ธ.ค. 67 เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ซึ่งออกมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล และราคา Brent จะกลับมาแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราคา Brent ต่ำกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นมา)

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จับตาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีน ซึ่งมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลัง รมว. กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย Anthony Blinken เยือนจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 18 มิ.ย. 66 และพบปะหารือกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Qing Gang ทั้งนี้นาย Blinken เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดของสหรัฐฯ คนแรก ที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการในรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• 14 มิ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ตามตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

• 15 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate), ดอกเบี้ยสำหรับสร้างสภาพคล่องให้ระบบธนาคารฯ (Main Refinancing Operations Rate) และดอกเบี้ยที่ให้ธนาคารฯ กู้ยืม (Marginal Lending Facility Rate) อยู่ที่ 3.50%, 4.0% และ 4.25% ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป

• EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.1 ล้านบาร์เรล

• Kpler รายงานอิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 15.4% อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561และส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 43% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% อยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน

• 13 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระยะเวลา 7 วัน แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (7-Day Reverse Repurchase Agreement) ลง 0.1% มาอยู่ที่ 1.9% ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสภาวะเงินฝืด

• Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2566 อยู่ที่ +2.7% จากปีก่อน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ในเดือน มี.ค. 66 ที่ +2.6%) โดยปรับเพิ่ม GDP จีน อยู่ที่ +5.6% (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ที่ +4.3%)

• IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน)

เข้ารอบ Final Pitching  โครงการ Content Lab โปรแกรม “ดิจิทัลคอนเทนต์”

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศรายชื่อ 7 ทีม ผ่านเข้ารอบ Final Pitching โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ในโปรแกรม “ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)” สนับสนุนรวมกว่า 150,000 บาท/ทีม และเงินรางวัลสำหรับทีมที่ชนะในรอบ Final Pitching มูลค่ารวม 150,000 บาท พร้อมเปิดโอกาสนำเสนอโครงการให้กับผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรชั้นนำของเมืองไทย หวังต่อยอด สร้างสรรค์ และ ประชาสัมพันธ์ผลงานในระดับสากล
นายชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า...

ปตท. ได้ปรับการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากด้านพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ โดยได้มีการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ทั้งนี้ ปตท. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการเปิดคอร์สอบรมพัฒนาทักษะ สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ภายใต้ “โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” ในโปรแกรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีประกอบการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมเรียนรู้ทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้ง Virtual Production, AR/XR, AR location base, CG, 3D Model ฯลฯ

ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 13 ทีม ได้นำความรู้และประสบการณ์มานำเสนอ Proposal ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Meaningful Travel” ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยพร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่  แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด Location Base & Platform หมวด Game และหมวด Film & Advertising

ทั้งนี้ มีการคัดเลือก 7 ทีม ผ่านเข้ารอบการนำเสนอสุดท้าย (Final Pitching Day) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนการผลิตชิ้นงาน จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเตรียมนำเสนอผลงานสุดท้ายต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจากองค์กรชั้นนำของเมืองไทยในวัน Final Product Pitching  วันที่ 26 สิงหาคมนี้ โดยจะมีคัดเลือกผลงานสุดท้ายที่จะได้รับเงินรางวัล พร้อมการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ หวังต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานในระดับสากล ซึ่งถือเป็นซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สำคัญ ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าควบคู่กับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืน

ทีมที่ผ่านการเข้ารอบ ได้แก่
• หมวด Location Base & Platform  
1. ทีมที่ 6 Travel Platform & Virtual Influencer 
2. ทีมที่ 11 Thailand Culture Guide (สายมู) 
3. ทีมที่ 14 Foodscape

• หมวด Game 
1. ทีมที่ 8 Muay Thai VR Game 
2. ทีมที่ 10 Survive the Streets

• หมวด Film & Advertising 
1. ทีมที่ 1 Thatien 
2. ทีมที่ 3 One free day

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Content Lab และ Creative Economy Agency

PTTEP ผนึก 5 พันธมิตรเดินเครื่องผลิตกรีนไฮโดรเจนในโอมาน  ตั้งเป้าแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ คาด!! เริ่มผลิตปี 73

(22 มิ.ย. 66) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ร่วมมือกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ผลักดันโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย พร้อมด้วย 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฝรั่งเศส ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานและลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) และสัญญาเช่าแปลงสัมปทาน (Sub-usufruct Agreement) กับบริษัท ไฮโดรเจน โอมาน หรือ Hydrom ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโอมาน เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี

แปลงสัมปทาน Z1-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดดูคุม ประเทศโอมาน

การเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของ ปตท.สผ. ที่มุ่งขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี

หลังจากนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาเชิงเทคนิค (Technical study) ของโครงการดังกล่าว และจะประเมินมูลค่าการลงทุนต่อไป

โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนประกอบด้วย FTEV, กลุ่มบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วยบริษัท POSCO Holdings บริษัท Samsung Engineering Co., Ltd. บริษัท Korea East-West Power Co., Ltd และบริษัท Korea Southern Power Co., Ltd และบริษัท MESCAT Middle East DMCC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ENGIE จากประเทศฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของโลก

โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมานครั้งนี้ ครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW), การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 และการพัฒนาโรงงานที่เปลี่ยนสถานะไฮโดรเจนให้เป็นกรีนแอมโมเนียซึ่งเป็นของเหลว เพื่อสะดวกในการขนส่ง จะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูคุม โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2570 และเริ่มการผลิต (Commercial Operations Date) กรีนแอมโมเนียได้ในปี 2573 ในอัตราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะส่งออกกรีนแอมโมเนียไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ส่วนกรีนไฮโดรเจนส่วนที่เหลือ จะใช้ภายในประเทศโอมาน

“ประเทศโอมานเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และมีความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนอย่างเป็นรูปธรรม การที่ ปตท.สผ. และบริษัทพันธมิตรได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพของโลก ซึ่ง ปตท.สผ. จะนำประสบการณ์และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศโอมานที่มีมากว่า 20 ปี มาช่วยเสริมให้การพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ต่าง ๆ ที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตต่อไป รวมทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย” นายมนตรี กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ของประเทศ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน

‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 2 ปลายทางยอดนิยม นทท. ทั่วโลก ‘กรุงเทพฯ’ คว้าอันดับ 1 เมืองถูกจองเข้าพักมากที่สุด

วันที่ (22 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผลสำรวจ เดือนม.ค. - พ.ค.ปี 2566 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นบนหลายแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ทั้ง Agoda และ Klook สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 5 เดือน กว่า 10.6 ล้านคน สะท้อนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไทย และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล

โดย Agoda แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เปิดเผยสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น จากการที่ไทยเปิดประเทศเร็ว โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับ ไทยมีเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ

ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการจองเข้าพักบนแพลตฟอร์มมากที่สุดในโลก โดย Agoda เชื่อมั่นว่า กรุงเทพฯ สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชียได้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

นายอนุชา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับ Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย ในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายใต้แคมเปญ ‘Let Your Journey be THAI’ โดยส่งเสริมต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทย ผ่านการประชาสัมพันธ์ 5F Soft Power ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจองกิจกรรมในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,200 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีการจองกิจกรรมไทยบนแพลตฟอร์ม Klook มากที่สุดเป็น 5 อันดับแรก กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ ทัวร์แบบ Day trip กิจกรรมชมความสวยงามของเมืองไทย และสปา เป็นต้น

‘OMD2–DITP’ จัดสัมมนายกระดับการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย สู่เวทีการค้าในตลาดโลก

เมื่อไม่นานนี้ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดสัมมนาการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “เปิดประตูสู่โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก” (The Key to Connext) ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ส่งออกไทยด้วยข้อมูลการค้าตลาดภูมิภาคอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป CIS แอฟริกา และตะวันออกกลาง จัดโดย สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 หรือ สพต.2 หรือ ‘OMD2’ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นการสัมมนาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถ่ายทอดผ่านระบบโปรแกรมผ่านระบบ ZOOM Application โดย ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย และผลักดันการขยายการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดโลก
.
โดยครั้งที่ 1 เป็นการสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศในเรื่องการใช้ข้อมูลการค้า แนวโน้มตลาด มุมมองเศรษฐกิจ กลุ่มสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว พฤติกรรมผู้บริโภค ในปี 2023 แนวโน้มการค้าโลก การแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามระดับต่างๆ เทคนิคการเจาะตลาด การเลือกตลาดให้เหมาะสมกับสินค้า โอกาสในการเจรจาการค้าในยุค Digital ทั้งเทคนิค ขั้นตอน วิธีการที่สำคัญในการเตรียมตัวสู่การเจรจาการค้าออนไลน์ รวมทั้งแนะนำสำนักงานส่งเสริมการค้าของไทยในต่างประเทศทั้ง 58 แห่ง ที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวก แนะนำข้อมูลการค้าต่างๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างโอกาสทางการค้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ

ครั้งที่ 2 เป็นการแนะนำการเสนอเรื่องราวของสินค้าอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค การปรับแต่งเรื่องเล่าสำหรับตลาดต่างๆ การสร้างโอกาสผ่านการเล่าเรื่อง การค้นหาจุดเด่น บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องคำนึงถึงอะไร กลยุทธ์การตลาดกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก เลือกวิธีการสื่อสาร ไปจนถึงการนำเสนอรูปแบบสินค้า เทคนิคต่างๆ รวมทั้งการติดตามผลการเจรจาการค้าหรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่เหมาะสม โดยวิทยากรที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ในวงการธุรกิจเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน

นอกจากจะยกระดับผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือกิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ สพต. 2 หรือ OMD2 สำหรับผู้ที่สนใจการสัมมนาหรือกิจกรรมที่จะช่วยยกพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศในด้านต่างๆ สามารถติดตามข่าวสาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

‘คิม พร็อพเพอร์ตี้’ ชี้ ซาอุ จ่อสร้างคลังน้ำมัน  ภาคใต้ของไทย ให้ใหญ่เทียบชั้นได้กับสิงคโปร์

ยูทูปช่อง Kim Property Live ได้โพสต์คลิปอธิบายถึง การที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สนใจจะมาลงทุนครั้งใหญ่ในภาคใต้ของไทย โดยมีใจความว่า ...

ประเทศไทยเนื้อหอม ซาอุดิอาระเบีย เล็งที่จะลงทุนใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะทำเป็นคลังน้ำมันให้ใหญ่ให้เทียบเท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ซาอุดิอาระเบีย จะลงทุนในภาคใต้ของเรา ประเทศไทยของเรานั้น มีข้อดีอะไรหรือ ต้องบอกก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ไม่ได้รักกันมาก่อน ความสัมพันธ์นั้นร้าวฉานมากว่า 32 ปีแล้ว จากการฆาตกรรมนักธุรกิจของซาอุดิอาระเบียหรือการขโมยเพชร ความบาดหมางจากตรงนี้ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับไทย แต่พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยประเทศไทยได้เชิญซาอุดิอาระเบียมาในงานเอเปค ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็ได้ให้เกียรติตอบรับตามคำเชิญมาร่วมงาน ถือว่าเป็นผลงานทางการทูตที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งต่อมาซาอุดิอาระเบียนั้นก็มีแผนที่เตรียมจะมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ eec ซึ่งในพื้นที่ของไทยบริเวณ eec ก็เป็นจุดที่เป็นฮับของการผลิตรถ EV ซึ่งตรงกับความต้องการของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการจะผลิตรถไฟฟ้าด้วย

ในระยะหลังนี้ ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้วางตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา และ เอนเอียงไปในทางของประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงมีการจับมือกับอิหร่านโดยมีประเทศจีนนั้นเป็นตัวกลาง ในการที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กัน

หากพูดถึงเรื่องของพลังงานในแถบเอเชีย ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้มีการลงทุนซื้อหุ้นของโรงกลั่นในประเทศจีน ซึ่งนี่คือการร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่น แล้วการลงทุนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พลังงานและน้ำมันนั้นเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยอย่างนั้นหรือ มันมีความจำเป็นอย่างไร ที่ซาอุดิอาระเบียจะต้องมาตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย จีนนั้นเป็นประเทศบริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกและก็ได้ซื้อน้ำมันจากหลายช่องทางรวมทั้งน้ำมันจากอิหร่าน โดยอิหร่านนั้นใช้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการส่งออก อธิบายให้ง่ายก็คืออิหร่านนั้นส่งน้ำมันมายังประเทศมาเลเซีย และมาเลเซียก็แปะป้ายให้เป็นน้ำมันของมาเลเซียแล้วก็ส่งไปขาย ที่ประเทศจีน แล้วเพราะเหตุใดประเทศจีนถึงไม่ซื้อน้ำมันผ่านประเทศสิงคโปร์หรือเพราะว่าประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นคนละพวกกัน แทนที่จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการลงทุนการคุ้มค่ากลับกลายเป็นแฝงด้วยประเด็นทางการเมือง มีการแบ่งพวก แบ่งฝ่าย แล้วเพราะเหตุใดประเทศซาอุดิอาระเบียจึงได้เล็งมายังภาคใต้

ที่จริงแล้ว ภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในการขนส่งค้าขาย เพราะแทนที่เรือขนส่งจะแล่นไปทางช่องแคบ มะละกา ซึ่งก็จะต้องใช้ระยะเวลานานในการขับเรืออ้อม แต่ถ้ามาขนส่งผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยก็จะง่าย กว่า รวดเร็วกว่ากันมาก

แล้วประเทศไทย จะสามารถรองรับการขนส่งนี้ได้หรือไม่ ประเทศไทยนั้นมีโครงการ Land Bridge ในการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ ก็คือท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ซึ่งการก่อสร้างโครงการนี้มีมูลค่า มากถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียนั้นสนใจมากที่จะมาลงทุนในโครงการ Land Bridge ของประเทศไทย ด้วยการจัดตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย น้ำมันจากซาอุดิอาระเบียจะถูก ส่งมาเก็บไว้ที่ภาคใต้ของไทยก่อนจะนำไปขายต่อให้กับประเทศจีน

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น TSMC เกลี้ยง  หวั่นปัญหาจีน-ไต้หวัน เตรียมเบนเข็มไปที่ ญี่ปุ่น

ความตึงเครียดระหว่าง จีน - ไต้หวัน ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

และสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้ง ของบัฟเฟตต์ ได้เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปในสัดส่วน 86% ของมูลค่ารวม 4,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากได้เข้าซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ผิดกับวิสัยการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่มักจะลงทุนและถือครองหุ้นนั้นในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้ชี้แจงในบทสัมภาษณ์ Nikkei เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ว่า การเทขายหุ้น TSMC ออกไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความกังวลในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐต่อกรณีไต้หวัน ซึ่งบริษัท TSMC ก็เป็นบริษัทในไต้หวันและมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ไต้หวันด้วย 

บัฟเฟตต์ ยอมรับว่า TSMC เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม มีคนเก่ง ๆ อยู่มาก และบริหารจัดการดี และโดยส่วนตัวก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC แต่ก็โชคร้ายมีชัยภูมิแย่เพราะดันตั้งอยู่ไต้หวัน ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้ จะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปออกไป และกลับไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ตนเองคุ้นเคย

ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของ Berkshire Hathaway ณ สิ้นเดือนมี.ค. 66 พบว่า กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) นั้น จะประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐเพียง 5 ตัวเท่านั้น ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

ทั้งนี้ นอกจากเทขายหุ้น TSMC ออกไปแล้ว ยังพบว่า Berkshire Hathaway ได้ซื้อหุ้น Apple เพิ่มขึ้นอีก 20.8 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 5.8% 

และแม้ว่า บัฟเฟตต์ จะทยอยขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ในจีน และไต้หวันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการลงทุนในเอเชียเสียทีเดียว แต่เริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ

แหล่งลงทุนที่ บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ เอาไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'ห้ากลุ่มบริษัท' ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ Berkshire Hathaway ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์ อีกด้วย

แม้ว่า การลงทุนในญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่หวือหวาได้เช่นเดียวกับ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นหัวใจหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แต่บัฟเฟตต์มองว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์ มีความชื่นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากการซื้อคืนหุ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายเงินลงทุนออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากสำหรับ บัฟเฟตต์ เพราะไม่ต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แถมยังได้ลงทุนในตลาดที่ตรงตามสไตล์ที่มองถึงความมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง

เปิดมุมมอง ‘นักธุรกิจจีน’ ยึดปรัชญา ซื่อสัตย์-ร่วมมือ มอง เทคโนโลยีเอไอ-หุ่นยนต์ กำลังเข้ามามีอิทธิพล เปลี่ยนชีวิตและธุรกิจ

เปิดมุมมอง “นักธุรกิจจีน” ผู้บริหารจากหลากหลายบริษัทชั้นนำร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ภูมิปัญญา แนวความคิดการทำธุรกิจ ในหัวข้อเสวนา “แนวความคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน” ภายในงาน ประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention - WCEC) ครั้งที่ 16 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คว้าโอกาสทอง ‘อาเซียน’

เกา เฉวียน ชิ่ง ประธานหอการค้าสิงคโปร์-จีน กล่าวว่า แนวการทำธุรกิจที่ดีต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความสำคัญกับคุณค่าของคน ภายใต้แนวคิดที่สอดคล้องไปกับปรัชญา ตำราพิชัยสงครามของจีน ที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน ความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อประเทศชาติ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กล้าคิด มีความคิดริเร่ิมสร้างสรรค์ ตอบแทนสังคม เพื่อทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุข

เช่นที่สิงคโปร์ที่วันนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความซื่อสัตย์ การสร้างความไว้วางใจต่อลูกค้า คู่ค้า การตอบแทนสังคม รวมถึงความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ โดยแนวคิดดังกล่าวจะมีการสืบทอดและส่งต่อไปสู่คนรุ่นหลังต่อๆ ไป
“หากเรามีการสืบสานแนวคิดและยึดถือหลักการเช่นนี้ต่อไปจะสามารถเติบโตและคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในอีกทางหนึ่งไม่ใช่แค่เพื่อธุรกิจ แต่เป็นรากฐานของการสร้างชาติและทำให้งานต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ เชื่อว่าภูมิปัญญาที่ถูกต้องจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ช่วยสร้างความสำเร็จ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

ในยุคทองของการเติบโต ภูมิภาคอาเซียน ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ไว้วางใจ จับมือไปด้วยกันเพื่อเสริมจุดแข็ง แบ่งปันและคว้าโอกาสทองของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจต้องมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มทุกประเทศมีการพัฒนาที่สอดคล้องกันไป ลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความเสมอภาค สร้างความปรองดอง ส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนทั่วโลกร่วมมือกัน
สุดท้าย เสริมสร้างจิตวิญญาณในการสร้างนวัตกรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านภูมิอากาศ ลดการใช้พลังงาน เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายที่มีความชัดเจนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมผลักดัน ‘แพทย์แผนจีน’ สู่สากล
หลี ฉู่ หยวน ประธานกรรมการ บริษัท กว่างโจวฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จีนและไทยเป็นสองประเทศที่มีมิตรภาพที่ลึกซึ้งต่อกันมาอย่างยาวนาน

สำหรับจีน ไทยนับเป็นเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด กว่างโจวฟาร์มาซูติคอลเองให้ความสำคัญอย่างมากกับตลาดไทย และขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาทำตลาด
อย่างไรก็ดี จากไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ต่างต้องรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ทุกฝ่ายมีการร่วมมือกัน นอกจากด้านการแพทย์ให้ความสำคัญกับปรัชญาการใช้ชีวิต เรื่องการมีชีวิตที่ยืนยาว มีคุณภาพ และมีความสุข

นอกจากนี้ บริษัทได้มีการเผยแพร่การแพทย์แผนจีน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมแพทย์แผนปัจจุบัน โดยพยายามส่งเสริมให้เป็นสากลมากขึ้น ผ่านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระดับสูงมากกว่า 100 คน

มากกว่านั้น มีการสร้างการรับรู้ให้ตลาด โดยการสร้างศูนย์การเผยแพร่วัฒนธรรมในต่างประเทศ ทั้งมีการผลักดันโมเดลการรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ เพื่อทำให้แพทย์แผนจีนกลายเป็นเทรนด์ระดับสากล

‘หัวเว่ย’ มุ่งสร้างคุณค่า ‘ธุรกิจ-สังคม’
เจย์ เฉิน ซีอีโอ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำหรับการรับมือความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น คือความถูกต้องและความชอบธรรม เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

ด้วยหลักการนี้ ควรสะท้อนไปในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การวิจัย ค้นคว้า การผลิต การขาย บริการหลังการขาย เช่นที่หัวเว่ย ทุกธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ต้องเคารพกฎหมายของประเทศจีนและกฎหมายในประเทศที่ทำธุรกิจนั้น ๆ

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับค่านิยมร่วม เพื่อตอบแทนสังคม การสร้างคุณค่าทั้งเชิงธุรกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ใช่แค่การทำรายได้ แต่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยภาพรวมด้วยเทคโนโลยีไอซีที

หัวเว่ยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในหลากหลายมิติ ใช้เทคโนโลยีไอซีทีเพื่อสร้างโอกาส การจ้างงาน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดยมีมุมมองว่า ไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ แนวทางการทำงานให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความถูกต้อง ชอบธรรม เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันเห็นถึงความสำคัญกับการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาบุคคลากร สตาร์ตอัป ผลักดันการพัฒนาเชิงดิจิทัล
ก้าวสู่ยุคใหม่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ฟัง อวิ่นโจว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด กล่าวว่า การเดินหน้าสู่ยุคแห่งรถยนต์พลังงานใหม่ ต้องมีการผสมผสานของพลังงานไฟฟ้า การเชื่อมต่อเครือข่าย และความอัจฉริยะ

โดยขณะนี้ นับว่ามีการเติบโตที่มากขึ้นและต่อเนื่อง โดยต่อไปจะไม่ใช่แค่รถยนต์ แต่เป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ผสมผสานอินเทอร์เน็ต ภายใต้การผสมผสานของเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา
“การเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลและความอัจฉริยะ คือการผสมผสานและรวบรวมของทั้งพลังงาน พลังงานใหม่ การเดินทาง และเทคโนโลยี คาดว่าช่วงปี 2035-2045 จะเป็นการพัฒนาในช่วงหลัง ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นว่ามีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบนิเวศรวมถึงโมเดลธุรกิจที่สมบูรณ์มากขึ้น”

เขากล่าวว่า เส้นทางนี้มีความกว้างอย่างมากและมีเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ลูกค้า นักลงทุน เป็นการยกระดับครั้งสำคัญที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูล ประมวลผล มีการใช้เอไอมาควบคุม การเชื่อมต่อ ยกระดับความปลอดภัย การเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ส่วนของบริษัทเองเบื้องต้นปีนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายในไทยได้ประมาณ 1.5 หมื่นคัน

 ‘เอไอ’ เปลี่ยนโฉมธุรกิจ-ชีวิต
หยวน ฮุย ประธานกรรมการ เสี่ยว อ้าย คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า วันนี้เทคโนโลยีเอไอรวมถึงหุ่นยนต์ กำลังเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากกับการทำงานและการใช้ชีวิตของมนุษย์
ทั้งนี้ นับเป็นโอกาสของธุรกิจในแทบทุกอุตสาหกรรมที่จะนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนายกระดับการบริการ โดยที่ได้เห็นแล้วมีทั้งด้านการเงิน อสังหาริมทรัพย์ เฮลธ์แคร์ การดูแลสุขภาพ การนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การออกแบบ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนาประสบการณ์ผู้บริโภค รวมถึงการผสมผสานเมตาเวิร์สกับโลกความเป็นจริง

จากประสบการณ์ วันนี้ได้เห็นว่าธุรกิจต่างต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค อีกทางหนึ่งเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายที่ต่างต้องเผชิญ
ในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ช่วงขาลงและความท้าทายจำนวนมากดังกล่าว แนวคิดที่สำคัญของนักธุรกิจชาวจีนคือ การสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับทั้งตนเอง ครอบครัว สังคม เพื่อผลักดันให้เกิดอนาคตที่สดใสร่วมกัน

AI ไม่ทำใครตกงาน!! เปิดบทสรุป AI ในมุมที่ไม่ได้จะมาแทนที่ใคร แต่คนที่ใช้ไม่เป็นจะถูกผู้ช่ำชองใน AI แทนที่

ไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก 'Skooldio' ได้สรุป Session 'AI for The Next Era of Marketing AI สำหรับยุคสมัยใหม่ของ marketing' โดยคุณวิสสุต เมธีสุวกุล จาก Microsoft Thailand ในงาน Creative Talk Conference 2023 ในหัวข้อ 'คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเรียนรู้และนำ Generative AI ไปใช้' ว่า...

Generative AI นั้นได้รับการพูดถึงอย่างมากทั่วโลก รวมถึงนิตยสาร The New York Times ที่ได้นำรูปของ ChatGPT ที่เป็นหนึ่งใน Generative AI มาขึ้นปกนิตยสารซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจดจำมากทีเดียว

โดย ChatGPT นั้นเป็น Generative AI ภายใต้บริษัท OpenAI ซึ่งมี Generative AI ทั้งหมด 3 ตัวได้แก่...

1. ChatGPT เป็น Generative AI ที่สามารถตอบโต้ระหว่างคอมกับผู้ใช้ได้อย่างคล่องและรู้เรื่องด้วยภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้ง่าย แล้วยังสามารถสร้างเรื่องราวและไอเดียได้ รวมทั้งยังสรุปข้อมูลให้เราได้ด้วย หากต้องการให้ข้อมูลอัปเดตล่าสุดอยู่ตลอด คุณสามารถเพิ่ม Plug in ‘voxscript’ เข้าไปกับการใช้ ChatGPT ได้

2. Codex เป็น Generative AI ที่ช่วยเขียนโปรแกรมให้ Programmer โดยไม่ว่าคุณจะใช้ภาษาเขียนโค้ดภาษาใดก็ตาม Codex ก็สามารถช่วยคุณแปลเป็นภาษาอื่นที่คุณต้องการได้ โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาทำเองหรือไปเรียนภาษาอื่น

3. DALL-E เป็น Generative AI ที่สามารถช่วยคุณวาดภาพได้ตาม prompt ที่คุณกำหนดอย่างไร้ขีดจำกัด ตราบใดที่คุณเขียน prompt ที่ชัดเจน

แล้วมันจะเข้ามาช่วยเราในการทำงานได้อย่างไร?

AI จะส่งผลกระทบในการทำงานของเราในเชิงบวก Generative AI สามารถช่วยเราทำงานได้หลายอย่างมาก เช่น การทำสไลด์ใน Powerpoint จากข้อมูลที่เราบอก ดึงข้อมูลใน Excel ให้ทำมาเป็น output ที่เราอยากได้ นอกจากนี้ เราสามารถออกแบบการขายของให้กับลูกค้าแบบ Personalization ได้เช่นกัน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสามารถของ AI ที่เข้ามาช่วยเราทำงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่มันจะเข้ามาช่วยลดภาระการทำงาน และเพิ่ม Productivity ให้กับเรา

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า เราจะเชื่อใจ AI ได้มากน้อยแค่ไหน?

คำตอบคือเชื่อได้ในระดับที่เราก็ยังควรที่จะตรวจสอบข้อมูลเพราะ Generative AI คือระบบอัตโนมัติที่วิเคราะห์คำตอบจากข้อมูลที่มีมาประเมินและค่อยตัดสินใจทำ action เปรียบเสมือน Copilot เราไม่สามารถให้ทุกอย่าง Autopilot ได้ตลอดเวลา ทุกอย่างยังต้องใช้มนุษย์ที่มีประสบการณ์ เหมือนกับการที่เราไม่สามารถใช้ระบบขับเครื่องบินได้ตลอด เรายังต้องการกัปตันในการที่จะนำเครื่องขึ้นหรือลงและควบคุมเครื่อง

📍และสำหรับบริษัทที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลว่าปลอดภัยไหม จะหลุดออกมาไหม
คำตอบก็คือปลอดภัยเพราะทางผู้ผลิตได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบจะไม่ถูกเปิดเผยสู่โลกภายนอกอย่างแน่นอนด้วย Open AI for Enterprise

จะเห็นได้ว่า Generative AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราใช้มันให้เป็น เราก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้โดดเด่นกว่าใคร และไม่ต้องกลัว AI จะมาแทนที่ 

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top