Sunday, 19 May 2024
GoodVoice

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City ร่วมผลักดันพื้นที่ EEC ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลในการดำเนินงาน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26 (1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 5 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน 'โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่' ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ขอทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC ได้แก่ การสร้างเครือข่าย Internet of Things และ CCTV พร้อม ทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจ ใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเมือง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่นักพัฒนาเมืองจะสามารถ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา และต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้

โดยผลการดำเนินงานในโครงการ ประกอบด้วย การติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้นในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้าน IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเริ่มใช้งานจริง เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

‘กองทุนดีอี’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ 5G ต้นแบบ หลัง ม.เชียงใหม่ได้รับทุนนำร่องขยายบริการเข้าถึงประชาชน

สดช. ลงพื้นที่เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District)

เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร’ นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย พร้อมด้วย  นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ส่วน 5G Smart Health เพื่อพัฒนาแนวทางและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยี 5G ในการส่งเสริมการให้บริการการแพทย์ 5G Smart Ambulance สำหรับบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ และ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแหล่งข้อมูล (Big Data) เพื่อนําไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อในด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อประชากรในท้องถิ่นระบบเชื่อมโยงและข้อมูลระหว่างกลุ่มข้อมูลแบบเรียลไทม์ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่

‘รมว.แรงงาน’ ชูนโยบายเร่งด่วน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว พร้อมอัดฉีดงบอัปสกิล ‘ภาษา-การบริการ’ มั่นใจ!! มีงานทำ-รายได้สูง

(10 ต.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายด้านพัฒนาทักษะแรงงานในระยะเร่งด่วนตอนนี้ คือการ Upskill แรงงานภาคการท่องเที่ยว เพราะขาดแคลนแรงงานทางด้านนี้มาก จึงต้องเร่งฝึกทักษะและอบรมในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ

อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ได้ไปต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวบินแรก หลังการประกาศนโยบาย ‘วีซ่าฟรี’ แสดงความพร้อมของไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยรัฐบาลคาดการณ์รายได้ที่จะเข้าประเทศกว่า 2.38 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การ Upskill และ Reskill ให้แรงงานมีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน โดยเติมเต็มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ หลักสูตรฝึกอบรม เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เพื่อการทำงาน, การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว, นวดแผนไทย สปา, งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม, สปาตะวันตก, การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ, การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ

โดยบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อสำรวจความต้องการแรงงานและการพัฒนาทักษะฝีมือในส่วนที่แรงงานยังขาดแคลน เพื่อพัฒนากำลังแรงงานภาคท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ ในปี 2566 กำลังแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งในส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินการรวมจำนวน 288,438 คน เป็นผู้มีงานทำร้อยละ 93.20 ผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถรักษาฐานรายได้คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 51,450.19 ล้านบาท/ปี

สำหรับในปีนี้ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งผลิตและเพิ่มทักษะแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างเร่งด่วน

ทางด้านของนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่กรมดำเนินการเอง ได้วางเป้าหมายและงบประมาณไปยังหน่วยฝึกที่มีทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานภาคการท่องเที่ยว รวมกว่า30,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น กระบี่ ภูเก็ต พังงา พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯเป็นต้น

พร้อมได้กำชับให้หน่วยฝึกคัดเลือกหลักสูตรที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการให้บริการ อาทิ การฝึกด้านภาษาต่างประเทศ กรณีที่เป็นแรงงานที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ต้องรองรับนักท่องเที่ยว มีการจัดหลักสูตรเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นฝากของที่ระลึก ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในชุมชน เพื่อให้แรงงานในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ตั้งแต่ระดับชุมชน

ทั้งนี้ ได้แจ้งให้หน่วยฝึกไปสำรวจความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ด้วย สำหรับผู้ที่สนในเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1506 กด 4

'วีระศักดิ์' ร่วมเสวนา Russian Ecological Forum ครั้งที่ 3 บรรยายหลัก กม.ขยายความรับผิดชอบของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภาไทย ได้รับเชิญให้ขึ้นอภิปรายที่กรุง มอสโก ประเทศรัสเซีย ในหัวข้อ 'หลักกฎหมายขยายความรับผิดชอบของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์' (Extended Producers Responsibility EPR) 

การเสวนา Russian Ecological Forum ครั้งที่ 3 นี้ จัดโดยรัฐสภาและรัฐบาลรัสเซีย ในโอกาสที่ประธานาธิบดีปูตินนำหลักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ออกมาใช้บังคับ เพื่อกำหนดภาระเพิ่มแก่ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าสินค้า ที่จะต้องลดปริมาณการใช้พลาสติกตั้งแต่ขั้นออกแบบ การใช้พลาสติกในการทำหีบห่อบรรจุภัณฑ์ การรับคืนภาชนะเมื่อผู้บริโภคใช้หมดแล้ว การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำกลับมาทำลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลรัสเซียที่ประสงค์จะลดปริมาณขยะและปิดเลิกหลุมฝังกลบที่เคยมีอยู่ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

โดยบุคลากรระดับสูงที่ร่วมบนเวทีเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยนางวิคตอเรีย อัมรามเชงโก รองนายกรัฐมนตรี รองประธานสภาดูมาร์ (สภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย) รองประธานวุฒิสภารัสเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมรัสเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมเบลารุส รองประธานธนาคารกลางรัสเซีย ที่ปรึกษาประธานาธิบดีรัสเซีย ประธานบริษัทวิสาหกิจขนาดใหญ่ ด้านการจัดการขยะผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมของรัสเซีย และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย

‘รัดเกล้า’ ย้ำ!! รัฐฯ ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 80 พร้อมเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ ปชช.

(13 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด

นางรัดเกล้า กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัด โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้นและให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25% - 100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละรายเมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้

รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

“รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไปโดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี” นางรัดเกล้า กล่าว

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

'พีระพันธุ์' เผยข่าวดี!! ลดแก๊สโซฮอล์ 2.50 บาท คิกออฟ 7 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ตรึงสามเดือน

(31 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เดิม ผมในฐานะ รมว. พลังงาน จะเสนอที่ ประชุม ครม.รับทราบการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร โดยใช้วิธีปรับลดภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับกรณีของน้ำมันดีเซลตามที่ ครม. เห็นชอบในหลักการไว้ แต่เมื่อลงไปทำงานพบว่า อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทเป็นอัตราเดียวกันหมดมิได้แยกอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ไว้ต่างหาก 

วันนี้จึงจำเป็นต้องให้ ครม. พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทลงแต่เพียงในอัตรา 1 บาทต่อลิตร และแบบอี 10 ลดลง 90 สตางค์ อี 20 ลดลง 80 สตางค์ และ อี 85 ลดลง 15 สตางค์ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงานไปบริหารจัดการให้ปรับลดราคาสำหรับเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงอีกลิตรละ 1.50 บาท ให้เป็นลิตรละ 2.50 บาท ตามที่กระทรวงพลังงานเคยเสนอไว้ วันนี้ ครม. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบโดยกระทรวงการคลังเสนอให้เป็นมติว่าให้กองทุนนำ้มันไปบริหารจัดการชดเชยเงินที่ต้องใช้จ่ายในส่วน 1.50 บาทต่อลิตรดังกล่าวเองในภายหลัง มีกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 

ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชน และขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี  กระทรวงการคลัง และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านทุกฝ่ายอีกครั้งครับ

'สนข.' ลุย!! 'แลนด์บริดจ์' เต็มพิกัด ประเดิมโรดโชว์ พ.ย.นี้ ดึงสายเดินเรือ 10 ชาติลงทุน เล็งประมูล PPP กลางปี 68

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หากแล้วเสร็จ จะเป็นจุดหมายปลายทาง ขนส่งสินค้าเพิ่มขีดการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะแลนด์บริดจ์มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่มีผลการศึกษาแล้วเสร็จ และเห็นถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงการเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 2 จากนครราชสีมาไปยังหนองคาย เชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว และจีนแผ่นดินใหญ่

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยจะดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งตามแนวทางทั้ง 2 ฝั่งท่าเรือ ภายในพฤศจิกายนนี้ พร้อมจัดทำร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย (EHIA)

ขณะเดียวกันสนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้นสนข. จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์

หลังจากนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลในรูปแบบ PPP พร้อมกันทั้งโครงการฯ ไม่เกินกลางปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ภายในปี 2573

ส่วนการประมูลของโครงการฯ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพ็กเกจ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย

สำหรับวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ มีระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ โดยระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท

ด้านการก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

ขณะการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU

ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU และระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351 ล้านบาท ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างแก้ไขรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2566 คาดว่าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2567 พร้อมเปิดให้บริการปี 2573 ทั้งนี้ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชนรวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที

‘ซิซเลอร์’ เผย!! เทรนด์ทานที่ร้านกลับมาฮิต พร้อมขยายสาขาใน ‘ห้าง-หัวเมือง’ เพิ่ม ส่ง ‘3 เมนูสเต๊ก’ ไฮไลต์ ชิงดีมานด์ปลายปี มั่นใจ!! โตตามเป้าก่อนปี 67

(3 พ.ย. 66) นายอนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ภายใต้ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้ากว่า 90% ของฐานสมาชิกกว่า 4 แสนคน เข้ามาใช้บริการในรูปแบบไดน์อิน (Dine-in)

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้ประสบการณ์ในทั้งการออกแบบและตกแต่งบรรยากาศร้าน รวมถึงเมนูอาหารมีความสำคัญมากขึ้น

ดังนั้นช่วงไฮซีซันไตรมาส 4 นี้จะใช้ กลยุทธ์ 'Festive Marketing' เชื่อมโยงเทศกาลเข้ากับเมนูอาหารและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหลากหลาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ชื่นชอบการทานอาหารนอกบ้าน

มีไฮไลต์เป็น 3 เมนูสเต๊ก Festive Season ทั้งสำหรับการทานคนเดียวและเป็นกลุ่มประกอบด้วย สเต๊กปลากะพง และเบคอน (Bacon-Wrapped Sea Bass Steak), สเต๊กบีฟลอยน์ และเบคอน (Bacon-Wrapped Beef Loin Steak), สเต๊กเนื้อไพร์มริบ (สำหรับ 2 ท่าน) (Grilled Sous Vide Beef Prime Rib Cote De Boeuf)

เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินธุรกิจในปีนี้คาดว่าจะเติบโตตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

ผู้บริหารซิซซ์เล่อร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2567 จะขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับเมนูสเต๊กและสลัดบาร์ใหม่ ๆ

รวมถึงจัดกิจกรรมลอยัลตี้ โปรแกรมมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าสมาชิกทุกระดับต่อเนื่อง ตามแผนเน้นสร้างประสบการณ์เอกซ์คลูซีฟ

‘นายก’ มุ่งแก้ปัญหา ‘หนี้นอกระบบ’ เชิงรุก ให้ปชช. ชี้!! ตั้งใจให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ พร้อมสั่งผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ที่ต้นทาง

(3 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า...

“ความรับผิดชอบในการจัดการเรื่องหนี้นอกระบบ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกฝ่ายต้องหาแนวทางในการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ซึ่งผมตั้งใจให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะในบางครั้งมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมาย และลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้ ที่เกินเงินต้นเป็นจำนวนมากเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ผมได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการจัดการแก้ไขหนี้สินรายย่อยเชิงรุก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินที่ต้นทางให้ประชาชนครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top