Sunday, 19 May 2024
GoodVoice

นักวิเคราะห์ ชี้!! ระวังหุ้น STARK ภาค 2 หายนะครั้งใหญ่จ่อนักลงทุนนับหมื่นคน

เมื่อไม่นานนี้ คุณสุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์หุ้น ได้เผยว่า แม้หุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ปิดฉากการสร้างภาพลวงตาไปแล้ว แต่ไม่ใช่หุ้นตัวสุดท้ายที่จะสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้นักลงทุนนับหมื่นคน

เพราะยังมีหุ้นบางตัวที่มีพฤติกรรมไม่แตกต่างจาก STARK และถูกจับตาว่า อีกไม่นานเกินรอบริษัทจะล่มสลายเช่นเดียวกัน

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กนับสิบบริษัท ช่วงนี้สงบราบคาบตามๆ กัน แต่บางตัวยังมีความพยายามสร้างข่าว กระตุ้นราคาหุ้นอยู่เป็นระยะ แม้ว่าธุรกิจหลักกำลังตกต่ำ กลายเป็นสินค้าและบริการที่ตกยุค เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล และสะดวกสบายมากกว่า

หุ้นที่มีพฤติกรรมปั่นราคาจะมีสูตรสำเร็จในลักษณะเดียวกันคือ การสร้างข่าว การขยายการลงทุน การซื้อทรัพย์สิน หรือซื้อกิจการบริษัทอื่น รวมทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน

การแจกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์

การปล่อยข่าวโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของบริษัท และการจุดพลุไล่ราคาหุ้น เพื่อล่อแมลงเม่าให้ตามแห่เข้าไปเก็งกำไร

การซื้อทรัพย์สิน กิจการ หรือบริษัทจดทะเบียนจะใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ โดยวิ่งหาบริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถแจกเครดิตเกรดดีๆ ได้ง่าย เช่นเดียวกับ STARK และมีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเสนอตัวเป็นตัวแทนผู้จำหน่ายหุ้นกู้ จนระดมเงินจากหุ้นกู้ได้หลายพันล้านบาท

บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กบางแห่งสร้างภาพเป็นกิจการขนาดใหญ่ มีบริษัทย่อยในเครือข่ายจำนวนนับสิบแห่ง จนนักลงทุนมองว่าเป็นกิจการที่มั่นคง ขณะที่มีเจ้ามือคอยดูแล สร้างมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันสูง ราคาบางช่วงขึ้นถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรงจนดูเหมือนเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่อง

แต่บริษัทพร้อมล่มสลายได้ตลอดเวลา

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางตัวมีจำนวนผู้ถือหุ้นหลายหมื่นคน มากกว่าจำนวนผู้ถือหุ้น STARK เสียอีก ซึ่งหากวันใดบริษัทถึงจุดอวสาน จะสร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนมากยิ่งกว่า STARK

ผู้บริหารหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางคนไม่รู้ไปทำเรื่องร้ายๆ อะไรไว้ จึงต้องคอยระวังตัว โดยมีคนคอยเดินติดตามคุ้มกัน เหมือนกลุ่มคนที่ทำธุรกิจสีเทา ทั้งที่เป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล

นายเอริค เลอวีน อดีตผู้บริหาร บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW ชาวแคนาดา ซึ่งมาเปิดกิจการฟิตเนส ก่อนหอบเงินสมาชิกหนีคดีฉ้อโกงออกนอกประเทศ โดยยังมีหมายจับติดตามตัวอยู่

ผู้บริหาร CAWOW เคยจ้างตำรวจขับรถตำรวจนำทางจากบ้านย่านฝั่งธนบุรี ส่งถึงสำนักงานย่านสีลม เพื่อคุ้มกัน เพราะรู้ตัวว่ากำลังฉ้อโกง และเกรงกลัวผู้ที่ได้รับความเสียหายจะลอบทำร้าย

ผู้บริหารหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางคนกำลังก่อพฤติกรรมฉ้อโกง สร้างความเสียหายให้นักลงทุนหรือไม่ จึงต้องจ้างบอดี้การ์ดมาคุ้มกัน

หุ้น STARK เก็บฉากไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ซากศพนักลงทุนทั้งหุ้นกู้และหุ้นสามัญนับหมื่นชีวิต แต่หุ้น STARK 2 อาจตามมาในเร็วๆ นี้

อย่าหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์จะป้องกันไม่ให้เกิด STARK ภาค 2 ได้

แต่นักลงทุนต้องป้องกันตัวเอง โดยสำรวจตรวจสอบว่ามีหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กตัวใดที่มีพฤติกรรมสร้างภาพ สร้างข่าวกระตุ้นราคาหุ้น มีการซื้อทรัพย์สิน ซื้อกิจการ ออกหุ้นกู้หลายๆ รุ่น และอยู่ในข่ายอาจล่มสลายเช่นเดียวกับ STARK หรือไม่

ถ้ามีหุ้นเล็กตัวอันตรายอยู่ในพอร์ตต้องรีบตัดสินใจขายทิ้งทันที จะขาดทุนเท่าไหร่ก็ช่าง

เพราะถ้าชะล่าใจ หรือทำใจตัดขายขาดทุนไม่ได้ จะเสียใจที่ตกเป็นเหยื่อหุ้น STARK 2 ในภายหลัง

‘ไรมอนแลนด์’ ผุด ‘OCC’ ออฟฟิศ Grade A+ บริษัทดัง ‘ไทย-เทศ’ แห่จองพื้นที่แล้วกว่า 70%

(15 มิ.ย. 66) นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘RML’ เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในปี 2566 โดยมองว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พิจารณาข้อมูลจาก CBRE ระบุว่า ไตรมาส 1 ปีนี้ มีพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 9.38 ล้านตารางเมตร ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A+ บนทำเลศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อยู่ที่ 400,000 ตร.ม. และเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A บนทำเล CBD อยู่ที่ 900,000 ตร.ม. รวมถึงเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A นอกพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (Non-CBD) อยู่ที่ 520,000 ตร.ม. 

“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าอุปทาน (Supply) พื้นที่ให้เช่าในอาคารสำนักงาน Grade A+ มีน้อยที่สุด ในขณะที่ความต้องการยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ทาง RML จึงเล็งเห็นโอกาสในการเปิดตัวโครงการ OCC (One City Centre) อาคารสำนักงานลักชัวรี่ Grade A+ ที่สูงที่สุดในไทย โดยเตรียมเปิดตัวเต็มรูปแบบในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตอบสนองดีมานด์ของตลาดในขณะนี้” 

สำหรับ OCC ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซปต์ ‘REIMAGINE YOUR WORLD’ แลนด์มาร์กสำคัญทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์ใจกลางเพลินจิต ที่ตอบสนองชีวิตในรูปแบบใหม่ให้กับการใช้ชีวิตการทำงานควบคู่กับไลฟ์สไตล์ในทุกวัน มีอัตราค่าเช่าในส่วนของพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 1,500 บาทต่อตร.ม. โดยล่าสุดได้รับความสนใจจากผู้เช่าแล้วประมาณ 70% แบ่งสัดส่วนผู้สนใจเป็นกลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก 80% และบริษัทชื่อดังในไทย 20% 

นายกรณ์ กล่าวอีกด้วยว่า ในไตรมาส 4 นี้ เตรียมเปิด Sky Bar ที่ชั้น 61 และร้านอาหาร ที่ชั้น 58 ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงฟู้ดคอร์ท ‘กินนี่ฟู้ด’ (Kinnie Food) ที่รวมร้านอาหารชื่อดังมากมายในราคาที่จับต้องได้มาไว้ที่นี่อีกด้วย 

“ยิ่งไปกว่านั้น เรามั่นใจว่าหลังจาก Sky Bridge ซึ่งเชื่อมกับ BTS เพลินจิต ตรงสู่อาคาร OCC แล้วเสร็จ จะยิ่งผลักดันให้อัตราการเช่า OCC เต็มพื้นที่ในต้นปี 2567 และหลังจากที่เปิดใช้บริการ OCC เต็มรูปแบบ จะส่งผลให้ RML มีสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มขึ้นถึง 15-25% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ RML มีสถานะทางการเงินที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตระยะยาว” นายกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘อินเตอร์ลิ้งค์’ จัดสัมมนา New Technology Talk เจาะลึกโซลูชั่น พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม ที่นำไปสู่ยุค 4.0

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา New Technology Talk เรื่อง  Industrial Technology สรุปเนื้อหาสำคัญ และเทรนด์เทคโนโลยี เจาะลึกโซลูชั่น Smart Industrial พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม ที่นำไปสู่ยุค 4.0

โดยมี คุณพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานคณะทางานการปฏิรูปอุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มาให้ข้อมูล และบรรยายพิเศษเรื่อง INDUSTRIAL 4.0

ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดศักยภาพในการแข่งขัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ระบบ Automation ทำให้เกิดการใช้งานระบบ Network Cabling ที่เป็น Digital Infrastructure ของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน และอนาคต นับเป็นการอธิบายเจาะลึกพร้อมกับสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของยุคของ Digital Disruption ให้เข้าใจชัดมากขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลนี้จะต้องขับเคลื่อน และเดินหน้าปรับตัวให้ทันท่วงที อีกทั้งต้องพร้อมพัฒนาให้สอดรับกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย 

งานนี้ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ได้เชิญวิศกรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางโครงข่ายสายสัญญาณ คุณภาคภูมิ พลธร ผู้อำนวยการวิศวกรฝึกอบรม และผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Infrastructure มาบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง Digital Infrastructure ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมยังไงให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้า

รวมถึงเรียนเชิญ คุณอภิชาติ พงศ์นา Product & Technical Support manager มาเล่าถึงโครงการ Project ต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่ Smart Industrial ว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง และเจาะลึกถึงการออกแบบการวางโครงข่ายแบบใดให้เหมาะสมตอบโจทย์แก่การใช้งาน เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ งานนี้สนับสนุนโดย LINK AMERICA และ GERMAN RACK และถ่ายทอดสด ณ สำนักงานใหญ่ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

สำหรับงานสัมมนา NEW TECHNOLOGY TALK อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีที่คุณต้องรู้ ในครั้งถัดไป จะจัดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในหัวข้อ Smart HealthCare ( Smart Healthcare พัฒนาไปอีกระดับ พร้อมรับการแพทย์อัจฉริยะ) เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ตอบโจทย์ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปต่อยอดกับอาชีพของท่าน

สนใจเข้าร่วมอบรม ได้ที่ www.interlink.co.th หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-666-1111 ต่อ 1707

ยกระดับการบริการ!! SCBX จับมือ KakaoBank ผู้นำด้านดิจิทัลเกาหลีใต้ ดันตั้ง ‘Virtual Bank’ เจาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการบริการ

(16 มิ.ย. 66) นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ (Income Inequality) ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ หรือ Pain Point ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) เรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในโจทย์หลักที่กลุ่ม SCBX ตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งการถือกำเนิดของ Virtual Bank จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบนี้ ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และการจัดตั้ง Virtual Bank ให้แข็งแรงนั้น จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการเพื่อความพึ่งพอใจสูงสุดของลูกค้า

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ KakaoBank พันธมิตรระดับโลกซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัล 100% ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่มีจุดแข็งคือความเชียวชาญและประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ Virtual Bank ตลอดจนมีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมสนับสนุนให้กลุ่ม SCBX ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศไทย และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี ในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ในเมืองไทยให้ประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเพิ่ม โอกาสคนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก และทั่วถึง โดยการลงนามความร่วมมือจัดตั้ง Consortium ในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtua/ Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป” นายอาทิตย์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ SCBX และ KakaoBank กำลังร่วมกันพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความแข็งแกร่งให้ครบทุกมิติในการขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้งและประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทย

‘วิชัย ทองแตง’ เผยแผนดำเนินชีวิตในวัย 76 ปี ทิ้งฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ สู่นักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป

ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบหายไป จากอดีตที่เคยโด่งดังในยุคของการเป็นทนายมือทอง และเข้าสู่แวดวงตลาดหุ้น มีการ ‘เทกโอเวอร์กิจการ’ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง

มาถึงวันนี้ ในวันที่หันหลังให้กับฉายา ‘เจ้าพ่อตลาดหุ้น’ แล้ว ฉากและชีวิตจะก้าวไปอย่างไร มาลองฟังมุมมองและแพชชันใหม่ ๆ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ ตั้งใจผลักดันกัน

>> ลุยปั้นคน-ไม่เน้นสร้างเวลท์
“new chapter ของผมต่อจากนี้ คือ สร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนก่อนแล้ว” อดีตเจ้าพ่อตลาดหุ้น ประกาศจุดยืนใหม่ของตัวเอง

วิชัยบอกว่าปัจจุบันตนไม่ใช่เซียนหุ้นแล้ว และไม่อยากจะให้ภาพตัวเองเป็นพ่อมดตลาดหุ้น หรือเป็นนักลงทุนขาใหญ่เหมือนในอดีต เพราะตนคิดว่าก้าวข้ามจากส่วนนั้นมาแล้ว โดยปัจจุบันได้โอนทรัพย์สินแบ่งให้ลูก ๆ ไปเกือบหมดแล้ว และวางมือจากธุรกิจเดิม ลาออกจากประธานกรรมการโรงพยาบาลพญาไท เพื่อขอออกมาทำตาม ‘passion’ ของตัวเอง นับตั้งแต่ตอนอายุ 70 ปี หรือตั้งแต่ราว 6 ปีก่อน ปัจจุบันรับบทเป็นเพียงที่ปรึกษาในแต่ละธุรกิจเท่านั้น

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
“ตอนนี้ new chapter ของผมเป็นคนเก่าในชีวิตใหม่ ที่เริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 70 ปี คือ ผมอยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า” วิชัยบอก พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว” วิชัยกล่าว

โดยที่ผ่านมา ได้เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความกระหายอยากทำธุรกิจ แต่ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งตรงนี้นับเป็นข้อกำหนดที่ร่วมธุรกิจกับทาง ‘บิทคับ’ ด้วย ว่าตนขอทำแค่ส่วนที่เกี่ยวกับบล็อกเชน และดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเท่านั้น ส่วนที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี พวกการเทรดต่าง ๆ จะไม่ยุ่ง

>>โฟกัสธุรกิจ ‘เมกะเทรนด์’
สำหรับประเภทธุรกิจที่ให้ความสำคัญ วิชัยกล่าวว่าจะเป็น ‘เมกะเทรนด์’ นอกจากเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ก็ยังมีธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1.) เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2.) กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัปรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก

“ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าคนไทยทั้งประเทศใช้ไฟพร้อมกัน หม้อแปลงจะอยู่ได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครคิด แต่ผมไปเจอสตาร์ตอัปเด็กไทยคนหนึ่ง ไปประกวดระดับโลกได้ที่ 29 เขาทำสิ่งนี้อยู่ ผมพาเขา เข้าไปพรีเซนต์กับการไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจพวกนี้คอยไม่ได้ เพราะกระแสอีวีเข้ามาเร็ว” วิชัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังสนใจเกี่ยวกับ smart farmer โดยกำลังปั้นบริษัทบริหารฟาร์ม สร้างโมเดลเกษตรกรหัวขบวนอยู่ โดยสตาร์ตอัปรายนี้นอกเหนือบริหารฟาร์มแล้วยังสามารถค้นหาดีมานด์และซัพพลายให้มาเจอกันได้ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปได้

“ตอนนี้บริษัทที่ว่านี้ เพิ่งทำ ‘กระดานเทรดข้าว’ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เสร็จเรียบร้อยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน” วิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาโรงพยาบาลพญาไท ย้ำว่า ตนและลูก ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งธุรกิจด้านสุขภาพ (healthcare) เพราะเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงสูงมาก

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
สำหรับปีนี้วิชัยคาดว่าจะผลักดันบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้นได้ ประมาณ 2 บริษัท โดยตนจะไม่ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% อาจจะถือหุ้นแค่ 20-30% และไม่เข้าไปบริหาร

“ผมต้องการให้สตาร์ตอัปเกิด ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเทกโอเวอร์” วิชัยกล่าว

>>สูตรเลือกสตาร์ตอัป
วิชัยกล่าวว่า การเลือกสตาร์ตอัปที่จะนำมาปั้นนั้น ตนมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัปเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัป คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

“ผมมีสูตรเลือกสตาร์ตอัป คือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดี ถ้ามี 2G แล้ว ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย” วิชัยกล่าว

“นอกจากนี้ ทุกคนที่เข้ามา ต้องปฏิญาณ 3 ข้อ คือ 1. ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม และ 3. แบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า” เดอะ ก็อด ฟาร์เธอส์ นักปั้นสตาร์ตอัปกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: prachachat

‘Mastercard’ จัดอันดับ ‘ไทย’ ติด 1 ใน 10  ปลายทางยอดฮิตในเอเชียแปซิฟิก ปี 66

(19 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) ถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2566 จากรายงาน Travel Industry Trends 2023 พร้อมยินดีที่ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) ระบุในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม Travel Industry Trends 2023 Mastercard Data & Services เพราะเสน่ห์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปลายปี 2565 นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการกลับมาสัมผัสกับเสน่ห์ของประเทศไทยที่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้จ่ายด้านประสบการณ์การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 40.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของเพิ่มขึ้น 24%

นายอนุชา กล่าวว่า รายงานของมาสเตอร์การ์ดระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แก่ 

1.) การท่องเที่ยวพักผ่อนและการเดินทางเชิงธุรกิจมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมมีอัตราการจองเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปี 2562 และยังพบว่าช่วงต้นปี 2566 อัตราการจองเที่ยวบินขององค์กรมีการเติบโตเทียบเท่ากับการจองเที่ยวบินเพื่อการพักผ่อนส่วนบุคคล

2.) การเปิดประเทศของจีนมีผลดีต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการเปิดประเทศของจีน เพราะเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการค้า การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์กับประเทศอื่น ๆ ของโลก

3.) นักท่องเที่ยวออกท่องโลกไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ซึ่งเสน่ห์ที่โดดเด่นและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ซึ่งจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

4.) นักท่องเที่ยวยังต้องการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ โดยเดือนมีนาคม 2566 ยอดการใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 65% ในขณะที่การใช้จ่ายในสิ่งของเพิ่มขึ้นเพียง 12% เมื่อเทียบกับปี  2562 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวประจำปี 2566 จะสร้างประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมมั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งด้านสถานที่ และการจัดการ รวมทั้ง เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนติดตามกระแสการท่องเที่ยว สกัดเอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม มาประกอบกับแนวทางการท่องเที่ยวสมัยใหม่ ปรับตัวและออกแบบบริการการท่องเที่ยวให้สอดคล้อง และตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง

เปิด 3 เหตุผลดัน ‘อีสาน’ ศูนย์กลาง BCG อาเซียน ทรัพยากรสมบูรณ์-พร้อมต่อยอดการวิจัย-เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

(19 มิ.ย. 66) นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการขับเคลื่อน ‘ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค’ จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศและเป็นผู้นำในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ทำให้มียอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร

โดยมี 3 เหตุผลที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่

1.) ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ หรือกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน ทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 43% ของประเทศ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากพืชเหล่านี้ จะกลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

2.) มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ภาคอีสานเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก 

3.) ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี 

จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน 

“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” 

โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

ดีขึ้นทุกด้าน!! ‘IMD’ เผย อันดับขีดสามารถในการแข่งขันไทย ปี 66 ดีขึ้น ไต่จากอันดับที่ 64 มาอยู่ที่ 30 ของโลก ที่ 3 ของอาเซียน

ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก ในปี 2566 IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (ประเทศรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ร่วมการจัดอันดับในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศคูเวต ได้เข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เป็นปีแรก) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2565 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ภาพรวมของผลการจัดอันดับในปี 2566 นี้ พบความแตกต่างของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการค้าเสรี (Open-trade economies) และเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionist economies) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง (Politics) ด้านเศรษฐกิจ (Economics) และด้านสังคม (Social) ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่จะสามารถนำพาธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบันได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเงินเฟ้อ (Inflation) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และโลกที่มีความแบ่งแยกแตกต่างกัน (Fragmented world) มากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาของปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้ จากการกลับมาเปิดประเทศ หลังดำเนินนโยบายปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างยาวนาน

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 เดนมาร์กยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากความแข็งแกร่งในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงการปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ไอร์แลนด์ อันดับ 2 ในปีนี้ ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว จากความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว (Resilient economies) สูง อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ จากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ปรับอันดับดีขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่อันดับ 18 จากอันดับ 30 ในปีก่อน
.
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) ที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี รวมถึงมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาด (Access to markets) และพันธมิตรทางการค้า (Trading partners) ได้ดี เช่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในอันดับ 4-10 ตามลำดับ ในปี 2566 ได้แก่ อันดับ 4 สิงคโปร์ ซึ่งหล่นจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 6 ไต้หวัน ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 7 ฮ่องกง ปรับอันดับลง 2 อันดับจากปีก่อน อันดับ 8 สวีเดน ร่วงลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง (Stable indigenous energy production) ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust supply chains) และดุลการค้าที่ดี (Favorable trade balances) เป็นของตนเอง เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะสามารถรักษาหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ได้ จากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
.
ผลการจัดอันดับของไทย


ปี 2566 ในภาพรวม ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้

เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 18 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ที่ต่างขยับอันดับดีขึ้น 7 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ขยับดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ จากการที่ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติ มีการลงทุนในไทยรวม มูลค่ากว่า 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 56 โดยมีการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดถึง 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 เนื่องจากตัวชี้วัด 1.2.12 Exports of commercial services ($bn) และ 1.2.13 Exports of commercial services (%) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการขนส่ง เดินทาง รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จากการที่ไทยกลับมาเปิดประเทศ หลังวิกฤตโควิด 19 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว

- ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 41 และ 38 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้ โดยในปีนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.3.02 Cost of capital อันดับ 11 และตัวชี้วัด 2.3.05 Central bank policy อันดับ 11 และภายใต้ปัจจัยย่อยกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.4.16 Labor regulations อันดับ 6 ตัวชี้วัด 2.4.17 Unemployment legislation อันดับ 12 และตัวชี้วัด 2.4.06 Investment incentives อันดับ 14

- ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
(Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 47 ในปี
2565 มาอยู่ที่อันดับ 38 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด 3.1.08 Large corporations อันดับ 11

- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): ภาพรวมอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological
Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่
อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
(Technological Infrastructure) ได้แก่ ตัวชี้วัด 4.2.08 Internet bandwidth speed และตัว
ขี้วัด Investment in Telecommunications ที่ต่างอยู่ในอันดับ 5 ตัวชี้วัด 4.2.15 High-tech
exports (%) อันดับ 11 ตัวชี้วัด 4.2.03 Mobile telephone costs อันดับ 15 ตัวชี้วัด 4.2.04
Communications technology อันดับ 15 และตัวชี้วัด 4.2.11 Public-private partnerships
อันดับ 18

มีรายละเอียดของผลการจัดอันดับในแต่ละปัจจัย ดังนี้

สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)


ในปี 2566 ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทย มีพัฒนาการของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมากจากปีก่อนถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 จากอันดับที่ดีขึ้นของทุกปัจจัยย่อย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่อันดับดีขึ้น 7 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 44 ในปีนี้ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่อันดับดีขึ้น 8 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 การจ้างงาน (Employment) ที่อันดับดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 3 และระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 27

DELTA ร่วง 15% หลัง ตลท. จับติด Cash Balance โบรกฯ ชี้!! เสี่ยงหลุด SET50 ของรอบครึ่งแรกปี 67

(20 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ล่าสุด ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 100.00 บาท ลบไป 17.50 บาท หรือ 14.89% สูงสุดที่ระดับ 103.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 99.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 805.66 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้น DELTA ปรับตัวลงเกิดจากแรงเทขายทำกำไร หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้หลักทรัพย์ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 : ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2566 สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ค. 66

ขณะที่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า วานนี้ตลาดประกาศให้ติด Cash Balance มีผล 20 มิ.ย. - 10 ก.ค. 66 ทำให้ DELTA เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุด SET50 สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 67  เพราะถ้าตั้งแต่เกิดกรณี ในเดือน ส.ค. -พ.ย. 66 ไปติด Cash Balance อีก 1 ครั้ง จะทำให้หลุด SET50 รอบที่จะมีผล 1 ม.ค. 67 ทันที

 

กรมโรงงานฯจับมือ UNIDO จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้..พาสุข” รอบชิงชนะเลิศ กิจกรรมภายใต้ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ

เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” (Capacity Building to Support the Business Model Competition and Implementation) ตามหลักแนวคิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน มุ่งสร้างมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน โดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี

พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท โดยมี นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการแข่งขันดังกล่าว ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
  
นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ‘พลอยได้..พาสุข’ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ (Industry-urban Symbiosis) อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเกิดของเสียและการลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ BCG Model ที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy และ Green Economy

อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ในการส่งเสริมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน การนำสินค้า/บริการ/หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นจากของเหลือภาคอุตสาหกรรมมาร่วมแข่งขันแบบจำลอง ธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สร้างมูลค่า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกทาง เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง” 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบสุดท้าย รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานบ้านท่าตะคร้อ, ทีมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตรกรบ้านอ้ออีเขียว, ทีมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรท่าโรงช้าง, ทีมวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าหนองนาก และทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม

โดยมีเวลาให้ทั้ง 5 ทีมนำเสนอแผนธุรกิจ 30 นาที สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับเงินทุนต่อยอดธุรกิจมูลค่า 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ทีมละ 50,000 บาท โดยหลังจากนี้ 6 เดือน มีการติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจไปปฏิบัติ และนำมาจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ต่อไป  

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” มีการทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย พัฒนาโทนสีให้เหมาะกับยุคสมัย มีการจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุด จำหน่ายแบบ DIY มีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด ปัจจุบันมีให้เลือก 108 สี

โดยจัดจำหน่ายตามฤดุการ ครั้งละ 24-36 สี ผลิตภัณฑ์: สีธรรมชาติจากของเหลือภาคเกษตรและพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (สีผง สีย้อม/เพนท์ผ้า สีสกรีน) วัสดุหลัก: กากน้ำตาล,  กากอ้อย – นำ waste ไปหมัก แช่ ต้ม บ่ม กรอง เพื่อเป็นสารช่วยย้อม วัสดุประกอบอื่น: ดินแร่ ยางพารา คราม

“ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดการณ์ว่าในการจัดกิจกรรมในอนาคต จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปีและได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน เกิดนวัตกรรมจากวัสดุเหลือจากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายณัฏฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top