‘วิชัย ทองแตง’ เผยแผนดำเนินชีวิตในวัย 76 ปี ทิ้งฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ สู่นักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป

ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบหายไป จากอดีตที่เคยโด่งดังในยุคของการเป็นทนายมือทอง และเข้าสู่แวดวงตลาดหุ้น มีการ ‘เทกโอเวอร์กิจการ’ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง

มาถึงวันนี้ ในวันที่หันหลังให้กับฉายา ‘เจ้าพ่อตลาดหุ้น’ แล้ว ฉากและชีวิตจะก้าวไปอย่างไร มาลองฟังมุมมองและแพชชันใหม่ ๆ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ ตั้งใจผลักดันกัน

>> ลุยปั้นคน-ไม่เน้นสร้างเวลท์
“new chapter ของผมต่อจากนี้ คือ สร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนก่อนแล้ว” อดีตเจ้าพ่อตลาดหุ้น ประกาศจุดยืนใหม่ของตัวเอง

วิชัยบอกว่าปัจจุบันตนไม่ใช่เซียนหุ้นแล้ว และไม่อยากจะให้ภาพตัวเองเป็นพ่อมดตลาดหุ้น หรือเป็นนักลงทุนขาใหญ่เหมือนในอดีต เพราะตนคิดว่าก้าวข้ามจากส่วนนั้นมาแล้ว โดยปัจจุบันได้โอนทรัพย์สินแบ่งให้ลูก ๆ ไปเกือบหมดแล้ว และวางมือจากธุรกิจเดิม ลาออกจากประธานกรรมการโรงพยาบาลพญาไท เพื่อขอออกมาทำตาม ‘passion’ ของตัวเอง นับตั้งแต่ตอนอายุ 70 ปี หรือตั้งแต่ราว 6 ปีก่อน ปัจจุบันรับบทเป็นเพียงที่ปรึกษาในแต่ละธุรกิจเท่านั้น

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
“ตอนนี้ new chapter ของผมเป็นคนเก่าในชีวิตใหม่ ที่เริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 70 ปี คือ ผมอยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า” วิชัยบอก พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว” วิชัยกล่าว

โดยที่ผ่านมา ได้เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความกระหายอยากทำธุรกิจ แต่ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งตรงนี้นับเป็นข้อกำหนดที่ร่วมธุรกิจกับทาง ‘บิทคับ’ ด้วย ว่าตนขอทำแค่ส่วนที่เกี่ยวกับบล็อกเชน และดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเท่านั้น ส่วนที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี พวกการเทรดต่าง ๆ จะไม่ยุ่ง

>>โฟกัสธุรกิจ ‘เมกะเทรนด์’
สำหรับประเภทธุรกิจที่ให้ความสำคัญ วิชัยกล่าวว่าจะเป็น ‘เมกะเทรนด์’ นอกจากเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ก็ยังมีธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1.) เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2.) กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัปรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก

“ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าคนไทยทั้งประเทศใช้ไฟพร้อมกัน หม้อแปลงจะอยู่ได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครคิด แต่ผมไปเจอสตาร์ตอัปเด็กไทยคนหนึ่ง ไปประกวดระดับโลกได้ที่ 29 เขาทำสิ่งนี้อยู่ ผมพาเขา เข้าไปพรีเซนต์กับการไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจพวกนี้คอยไม่ได้ เพราะกระแสอีวีเข้ามาเร็ว” วิชัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังสนใจเกี่ยวกับ smart farmer โดยกำลังปั้นบริษัทบริหารฟาร์ม สร้างโมเดลเกษตรกรหัวขบวนอยู่ โดยสตาร์ตอัปรายนี้นอกเหนือบริหารฟาร์มแล้วยังสามารถค้นหาดีมานด์และซัพพลายให้มาเจอกันได้ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปได้

“ตอนนี้บริษัทที่ว่านี้ เพิ่งทำ ‘กระดานเทรดข้าว’ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เสร็จเรียบร้อยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน” วิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาโรงพยาบาลพญาไท ย้ำว่า ตนและลูก ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งธุรกิจด้านสุขภาพ (healthcare) เพราะเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงสูงมาก

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
สำหรับปีนี้วิชัยคาดว่าจะผลักดันบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้นได้ ประมาณ 2 บริษัท โดยตนจะไม่ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% อาจจะถือหุ้นแค่ 20-30% และไม่เข้าไปบริหาร

“ผมต้องการให้สตาร์ตอัปเกิด ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเทกโอเวอร์” วิชัยกล่าว

>>สูตรเลือกสตาร์ตอัป
วิชัยกล่าวว่า การเลือกสตาร์ตอัปที่จะนำมาปั้นนั้น ตนมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัปเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัป คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

“ผมมีสูตรเลือกสตาร์ตอัป คือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดี ถ้ามี 2G แล้ว ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย” วิชัยกล่าว

“นอกจากนี้ ทุกคนที่เข้ามา ต้องปฏิญาณ 3 ข้อ คือ 1. ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม และ 3. แบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า” เดอะ ก็อด ฟาร์เธอส์ นักปั้นสตาร์ตอัปกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: prachachat