Sunday, 19 May 2024
GoodVoice

ประชาธิปัตย์ปลื้มนโยบายประกันรายได้โดนใจชาวนา

'อลงกรณ์' ขอบคุณผู้นำสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเชียร์ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือนกาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เผยทีมเศรษฐกิจปชป.เตรียมเปิดตัวนโยบายเกษตรทันสมัย 26-26 แก้หนี้ แก้จนแบบเต็มคาราเบล  27 เม.ย.นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้(26 เม.ย)ว่า ขอขอบคุณ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยที่ออกมาประกาศสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยขอให้ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน กาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เพราะชาวนาได้รับการดูแลช่วยเหลือและได้ประโยชน์จากผลงานและนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์

การบินไทยฟื้นตัว คงสถานะสายการบินแห่งชาติ คาด!! พร้อมกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปี 67

(16 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อย่างคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งฝากดูแลเจ้าหน้าที่พนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ

สำหรับมติที่สำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการดำเนินการปรับโครงสร้างทุน การแปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดย การบินไทย จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 28,685 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมโดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ 

ทั้งนี้ยังคงสถานะสายการบินแห่งชาติ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 83.93% ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ

นอกจากนี้ในการติดตามหนี้สินที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อธนาคารต่อไป

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 15-16 พ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 22-26 พ.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอยและถูกลดความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) ระหว่างพรรค Democrat และพรรค Republican ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ หลังวันที่ 1 มิ.ย. 66

อย่างไรก็ดี การเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden (พรรค Democrat) และประธานสภาผู้แทนราษฎร นาย Kevin McCarthy (พรรค Republican) มีความคืบหน้า และทั้ง 2 ฝ่ายใกล้จะบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยมีนัดหารือกันอีกในวันที่ 22 พ.ค. 66

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

• กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ประกาศเข้าซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบภายในเดือน ส.ค. 66 หลังระบายน้ำมันจาก SPR ปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ในปี 2565 เพื่อบรรเทาสภาวะน้ำมันตึงตัว หลังผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

• รายงานฉบับเดือน พ.ค. 66 ของ  International  Energy Administration  (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน)

• สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 18.9% จากปีก่อน อยู่ที่ 14.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อเตรียมรองรับอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

• ผู้บริหารของบริษัทและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ 150 ราย อาทิ Goldman Sachs และ JP Morgan ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานรัฐสภา เตือนว่าหากการเจรจาเพดานหนี้ไม่ได้ข้อสรุปทันเวลา สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้สถานะของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลกอ่อนแอลง กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ เป็นการส่งคำเตือนที่หนักแน่นที่สุดจากภาคธุรกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา บ่งชี้ความสำคัญของการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ 

• Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.6 ล้านบาร์เรล

ให้จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 13-14 มิ.ย. 66 ซึ่งล่าสุด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่า FOMC อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 5.0-5.25% หากอัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% สัปดาห์นี้คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘WHAUP’ ดีล ‘ปริ๊งซ์ เฉิงซาน ไทร์’ เซ็นติดตั้ง ‘โซลาร์รูฟท็อป’ เฟส 2 เร่งเพิ่มกำลังผลิต ตอกย้ำศักยภาพการเป็นผู้นำโซลาร์บนหลังคา

(29 พ.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘WHAUP’ เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงงาน ปริ๊งซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) เฟสที่ 2 ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 4.80 เมกะวัตต์ รวมเป็น 24.24 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 3 บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ด้าน นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ในโครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) เฟสที่ 2 ที่มีขนาดการผลิตไฟฟ้า 4.80 เมกะวัตต์ ต่อกับ ปริ๊นซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 โดยเฟสที่ 2 มีการติดตั้ง Solar Rooftop บนพื้นที่หลังคาโรงงานขนาด 40,000 ตารางเมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ WHAUP นับตั้งแต่ที่ได้ย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 3 บนพื้นที่ 285 ไร่ เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา และยังเป็นพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินการโครงการโซลาร์บนหลังคาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 24.24 เมกะวัตต์ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการให้บริการติดตั้ง Solar rooftop แบบครบวงจรของ WHAUP โดยโครงการทั้ง 2 เฟสนี้สามารถช่วยให้ลูกค้าลดการปล่อย CO2Offset ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 445,251 ตัน ตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 22 – 26 พ.ค. 66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ วันที่ 26 พ.ค. 66 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 76.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาวันที่ 26 พ.ค. 66 อยู่ที่ 76.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

วันที่ 28 พ.ค. 66 นาย Joe Biden ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และนาย Kevin McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 พ.ค. 66 ส่งสัญญาณบวกต่อราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่ม OPEC+ แสดงความเห็นต่อนโยบายแนวทางการผลิตน้ำมันขัดแย้งกัน รมว.กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman กล่าวในงานสัมมนา Qatar Economic Forum เตือนนักลงทุนที่เปิดสถานะ Short Position (เก็งกำไรโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลง) ให้ระวังการขาดทุน ส่งสัญญาณว่าหากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง กลุ่ม OPEC+ อาจพิจารณาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. 66 ทั้งนี้ในการประชุมวันที่ 3 เม.ย. 66 กลุ่ม OPEC+ มีมติลดการผลิตปริมาณรวม 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่ากลุ่ม OPEC+ ไม่น่าจะมีมาตรการใหม่ในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. นี้ เพราะหลายประเทศได้สมัครใจลดการผลิตน้ำมันไปแล้ว ในการประชุมครั้งก่อน และมองว่าราคา Brent จะสูงกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ภายในปี 2566 สอดคล้องกับประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ซึ่งกล่าวก่อนหน้าว่าราคาน้ำมันกำลังเข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ (Economically Justified) ส่งสัญญาณรัสเซียไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิต

สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางตึงเครียด หลังอิหร่านทดสอบการยิงจรวดขีปนาวุธ (Khoramshahr 4) แบบพื้น-สู่-พื้น รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผลิตในประเทศ โดยใช้ชื่อ Kheibar ซึ่งมีพิสัย 2,000 กม. และบรรทุกหัวรบได้ 1,500 กก. จึงสามารถโจมตีครอบคลุมฐานทัพของอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังการเจรจาขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น และติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

• บริษัท Equinor ของนอร์เวย์เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบแหล่ง Johan Sverdrup ในทะเลเหนือจาก 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 66 สู่ระดับ 7.55 แสนบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

• สำนักสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Federal Statistical Office) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ -0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า หดตัวต่อเนื่อง หลังไตรมาส 4/65 อยู่ที่ -0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า กล่าวคือเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

• Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค. 66 ลดลง 5 แท่น WoW อยู่ที่ 570 แท่น

• สำนักสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (Office for National Statistics) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ +8.7% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 65

‘ทางหลวงหมายเลข 12’ ผลงานความสำเร็จจากรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’  เชื่อมโยงระเบียง ศก.ตะวันออก-ตะวันตก กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

ผลงานความสำเร็จ!! ยุทธศาสตร์รัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ถนนสายเศรษฐกิจเส้นประวัติศาสตร์ ‘ทางหลวงหมายเลข 12’ เชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียน เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสำเร็จจากยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน คู่ไปกับการพัฒนาตามแนวทางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใช้จุดแข็งและความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางคมนาคม เพิ่มโอกาส ช่องทางการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทย ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และทั่วโลกชื่นชมความสำเร็จผลงาน

ถนนสายเศรษฐกิจเส้นประวัติศาสตร์ ทางหลวงหมายเลข 12 สายกาฬสินธุ์-บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) - อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง รองรับการเดินทางในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร และส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Corridor)

รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเชื่อมโยง โดยทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่นี้ยังเชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านไปยังจังหวัดมุกดาหารเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในขณะที่อีกฝั่งสามารถวิ่งไปยังเมียนมาได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันอีกด้วย ถือเป็นทางเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งยังเป็นทางลัดเชื่อมจังหวัดกาฬสินธุ์-มุกดาหาร ให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก และลดระยะการในการเดินทาง

ทางหลวงหมายเลข 12 ยังเป็นเส้นทางสนับสนุน และรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor–EWEC) ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอีกด้วย

จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีการดำเนินการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 392 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯจาก BOI 5 โครงการ วงเงิน 2,102 ล้านบาท และมีธุรกิจตั้งใหม่ 868 ราย วงเงิน 1,655 ล้านบาท

OMD2-DITP’ จัดสัมมนา ‘เปิดประตูสู่โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก’ เสริมศักยภาพการค้าให้ผู้ประกอบการไทย ผ่านระบบ ZOOM 7-8 มิ.ย.นี้

(7 มิ.ย. 66) สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 (สพต.2) ภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ ‘OMD2’ ขอเชิญชวนเข้าร่วมสัมมนาการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด ‘เปิดประตูสู่โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก’ (The Keys to Connext)

ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ส่งออกไทยด้วยข้อมูลการค้าตลาดภูมิภาคอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป และ CIS แอฟริกา และตะวันออกกลาง โดยการสัมมนาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถ่ายทอดผ่านระบบโปรแกรมผ่านระบบ ZOOM Application โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 และครั้งที่ 2 วันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ส่งออกไทยในการค้าระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย และผลักดันการขยายการค้าและการลงทุนของไทย ดำเนินการโดยสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 (OMD 2) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพการค้าไทยในตลาดโลก โดยปีนี้ มีเป้าหมายคือการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาคหรือรายใหม่ ให้ใช้ข้อมูลการค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ผู้ประกอบการได้ใช้ข้อมูลการค้าสำหรับการเจาะตลาดการค้า หรือวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด

การสัมมนาในครั้งนี้ อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ และเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้และต่อยอดได้จริง ครั้งที่ 1 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 1 มิถุนายน 2566 ในวันแรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในหัวข้อ ‘การเสริมสร้างศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศ’ หัวข้อ ‘การเจรจาการค้าออนไลน์’, ‘การเตรียมตัวเจรจาการค้าออนไลน์ให้ประสบผลสำเร็จ’, หัวข้อ ‘การนำเสนอเรื่องราวและความน่าสนใจของสินค้า (Story Telling)’ และหัวข้อ ‘การเลือกรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับการเจรจาการค้าแบบออนไลน์’

การสัมมนาในครั้งที่ 2 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 ในวันแรกจะเป็นการเสริมเทคนิคให้กับผู้ประกอบการ ในหัวข้อ ‘การคาดการณ์ความต้องการตลาด’ เพื่อให้กลยุทธ์การต่อยอดการค้าที่วางไว้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด, หัวข้อ ‘การวางแผนและวิเคราะห์โอกาสในการพัฒนาการค้า’, หัวข้อ ‘การนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์และสินค้าแก่กลุ่มเป้าหมาย’, หัวข้อ ‘การนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์และสินค้าแก่กลุ่มเป้าหมาย’ และหัวข้อ ‘การนำเสนอสินค้าแก่ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า’ เพื่อการเตรียมตัวเจรจาการค้าโดยการสัมมนาในครั้งนี้ร่วมถ่ายทอดผ่านวิทยากรที่มากด้วยความรู้และความรู้ รวมถึงประสบการณ์การทำงานจริงในวงการธุรกิจ เพื่อเป็นการติดปีกให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด ‘เปิดประตูสู่โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก’ (The Key to Connext) ได้แล้วที่ www.ditp-overseas.com ตั้งแต่วันนี้ - 28 มิถุนายน 2566

‘PLANET’ ผนึกกำลังขาใหญ่ ‘จีน-สิงคโปร์’ ลุยธุรกิจรถยนต์ EV-สถานีชาร์จในไทยเต็มรูปแบบ

วันที่ (7 มิ.ย. 66) นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ว่า บริษัท Singapore Electric Vehicles Pte (SEV) ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในสิงคโปร์

ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการตลาดและจัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ SOKON right-hand drive ในสิงคโปร์และประเทศไทย ได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บริษัท แพลนเน็ต อีวี จำกัด (Planet EV) ซึ่งบริษัทย่อยของบริษัทฯ คิดเป็น 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังการเพิ่มทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งการผลิต ซื้อขาย ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ตลอดจนธุรกิจให้บริการสถานี สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวง

สำหรับ Planet EV และ SEV ในฐานะ Joint venture ยังได้ลงนามกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% รายใหญ่จากจีน คือ Sokon motors chongqing group เพื่อเป็นตัวจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ไฟฟ้าประเภท ประเภทรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก มินิแวนบรรทุกไฟฟ้า ยี่ห้อ SOKON ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ในเบื้องต้น Planet EV และ SEV จะร่วมกันนำรถยนต์ไฟฟ้า 100% ยี่ห้อ Sokon มาทำการตลาดในประเทศไทย ในรูปแบบของการขายและให้เช่า โดย Planet EV จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

นายประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินการธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปอย่างครบวงจร Planet ยังลงนามความร่วมมือกับบริษัท Beep technologies (Voltality) ผู้ให้บริการโซลูชั่น plug-and-play ชั้นนำจากประเทศสิงคโปร์ ในการติดตั้งอุปกรณ์ POS สำหรับเชื่อม EV charger ทุกชนิด เข้าในระบบการชำระเงินเดียวกัน (Single payment platform) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขยายธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
 

เท่าพิภพ’ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล โพสต์ภาพคู่ ‘ต๊อด ปิติ’ ร่วมถกกฎ-ข้อบังคับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้อนรับสุราก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 66 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ‘สุราก้าวหน้า’ โพสต์ภาพกับนายปิติ ภิรมย์ภักดี หรือ ‘ต๊อด’ ทายาทของตระกูลภักดี ผู้ผลิตเบียร์รายแรกของประเทศไทย ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุข้อความว่า…

" เท่าต๊อด ดีลรักที่ไม่ลับ "

หากท่านได้ติดตามผมมาก่อน จะเห็นว่าในการดำเนินนโยบาย #สุราก้าวหน้า ผมมีความพยายามที่จะวางตัวเป็นคนกลางระหว่าง กลุ่มรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ และกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผมเริ่มตะเวนพบปะตัวแทนของทั้งสองฝั่งอยู่บ่อยครั้ง หรือก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพูดคุยของเหล่า brewer เพื่อหาข้อสรุป ‘ตรงกลาง’ ของสายพานธุรกิจ #สุรา #คราฟท์เบียร์ #ไวน์ #สุราแช่ และครั้งนี้ ก็เป็นคิวของ #บุญรอด เป็นเพราะผมจะได้ทราบว่าเขาคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ กฎของบ้านเก่าหลังนี้

ซึ่งเนื้อหาการพูดคุยสรุปได้ดังนี้ 
บทสนทนาเริ่มขึ้นถึงเรื่องของหน่วยงานบางหน่วยงานทันที หน่วยงานที่ออกกฎมาด้วยตัวเองและตั้งให้ตัวเองเป็นผู้บังคับบังคับใช้กฎนั้น หลังจากสิ้นสุดการกล่าวถึงนั้น เราต่างสบถออกมาพร้อมเพรียงกันว่า “นี่มันประเทศอะไรวะเนี่ย” เพราะมันเป็นเรื่องแปลกมาก ๆ ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน 

การพูดคุยจุดประสงค์คือการแลกเปลี่ยนจากมุมมองที่ต่างกัน โดยที่ทั้งคู่มาเพื่อจะรับฟังและโต้แย้งกันด้วยเหตุผล เพราะเราทั้งคู่เริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาจเป็นเพราะพวกเราไม่ใช้กำแพง แต่คือกังหันลม ที่พร้อมโอบรับความเปลี่ยนแปลง

การบริหารหลังบ้าน จากมุมมองนักธุรกิจอย่างพี่ต๊อด เขามองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรก ๆ ถ้าหากมีไอเดียดีแค่ไหน ถ้าคนทำไม่ทำ ค่าก็เท่าเดิม

ต่อมาเรื่องผลิตภัณฑ์ของ SME เรามองตรงกันว่าควรมีการควบคุมคุณภาพ ด้วยกฎเกณฑ์ที่จำเป็นและไม่ยากจนเกินไป แต่ต้องสามารถบังคับใช้ได้จริง เพื่อควบคุม ‘ความปลอดภัย’ ของผลิตภัณฑ์ เพราะนั่นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรได้รับ

ต่อมาในระดับผู้บริโภค ปัญหาที่คนธรรมดาไม่ได้มีผลประโยชน์โดนฟ้อง เพราะเผยแพร่สิ่งที่ตนเองชอบและให้ความสนใจ ซึ่งมันควรเป็นสิทธิของบุคคลนั้นๆ มากกว่า

สุดท้ายนี้ผมขอเปรียบพี่ต๊อด เป็นหนึ่งในผู้อาศัยที่อยู่บ้านหลังนี้มานานตั้งแต่รุ่นพ่อ และรับรู้ถึงปัญหามาอย่างยาวนาน 

พี่ต๊อดจึงเป็น ‘หนึ่งคน’ ที่สามารถชี้จุดปัญหาใหญ่ ๆ ในวงการนี้ได้เป็นอย่างดีและสมควรที่เราจะต้องรับฟัง

ผมก็คือผู้รับเหมา ที่หวังจะมาปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ให้ทันสมัยขึ้น เหมาะสมกับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีวุฒิภาวะ การที่ผมได้มาถามข้อมูลจากผู้ที่เคยอาศัยอยู่มาก่อน ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ภายในบ้านที่สมควรได้รับการปรับปรุงหลังนี้

ที่ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปหาที่ต๊อดและบุญรอดในวันนี้ เพราะผมอยากแสดงให้เห็นว่า ผมไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อทุบบ้านหลังนี้ทิ้ง แต่ไม้เก่าผุพัง ถึงเวลารื้อ เราก็ต้องทำ รีบปรับเปลี่ยนเป็นวัสดุอย่างอื่น ก่อนที่มดปลวดจะกัดกินจนบ้านนี้ไม่เหลืออะไร

เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ผมอยากจะขอยืนยันว่าบทสนทนาระหว่างเราในวันนี้ ไม่มีคำว่า “ขอ” ออกจากปากใครสักครั้ง เพราะจุดประสงค์ในการพูดคุยครั้งนี้ ไม่มีสิ่งที่เราต้องร้องขอกันเลย และคำพูดที่ถูกใช้มากที่สุดคือ “ผมเจอแบบนี้ คุณเจอมาแบบไหน? เพื่อนผมเจอมาแบบนี้ เพื่อนคุณเจอมาแบบไหน?” ซะมากกว่า โดยผมยืนยันได้ว่าพวกเราไม่ได้มีผลประโยชน์ #ใต้โต๊ะ มอบให้แก่กันแต่อย่างใด แต่สิ่งที่มอบให้กันคือมุมมองของแต่ละคนเสียมากกว่า”

เน็กซ์ พอยท์’ ทุ่ม 1 พันล้าน!! ตั้งโรงงานมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งแรกในไทย เร่งตอกเสาเข็มภายในปี 66 หวังลดนำเข้าชิ้นส่วนรถอีวีจากต่างประเทศ

‘เน็กซ์ พอยท์’ ทุ่มงบ 1 พันล้านบาท สร้างโรงงานผลิตมอเตอร์ไฟฟ้ารถ EV แห่งแรกในไทย หวังลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ เร่งตอกเสาเข็มภายในปี 66 เตรียมมาตรการอุ้มลูกค้านำรถเก่าแลกรถใหม่ การันตีราคาสูงแตะ 20%

เมื่อไม่นานนี้ นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในการก่อตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่ใกล้เคียงกับ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแบตเตอรี่ ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่มีปัญหาก็น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 66

สำหรับการก่อตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์รถ EV ขึ้นในประเทศไทยนั้น บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพยายามใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากที่สุด ในการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันบริษัทฯ จะมีสัดส่วนในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศอยู่แล้วประมาณ 50% ก็ตาม แต่หากมีโรงงานมอเตอร์ในประเทศไทย ก็จะสามารถลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศลงได้อีก และช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถ EV ต่อคันลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคารถ EV ลดลงตามไปด้วย เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงาน ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป หันมาเปลี่ยนรถจากรถน้ำมันมาเป็นรถ EV มากขึ้น

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นในระยะแรกมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานมอเตอร์รถ EV ดังกล่าว จะนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในไทยก่อน และในระยะถัดไปหากมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้วก็วางแผนที่จะส่งออกมอเตอร์รถ EV ไปจำหน่ายยังประเทศในกลุ่มอาเซียน และส่งออกไปขายทั่วโลกตามลำดับ เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตมอเตอร์รถ EV ของโลกให้ได้

“เวลานี้ถือว่าเป็นโอกาสดีเพียงครั้งเดียว ที่เราจำเป็นต้องเร่งมือสร้างโรงงานมอเตอร์รถ EV เพราะหากเราไม่ทำแล้วมีประเทศเพื่อนบ้านชิงทำก่อนก็อาจจะเสียโอกาส และทำให้ประเทศอื่นในแถบภูมภาคนี้แซงเราจนเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าไปก่อนได้”

นอกจากนี้ บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ หรือหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องมีรถอยู่ในฟีดจำนวนมาก เมื่อใช้งานไปครบอายุการใช้งานตามมาตรฐานสากลประมาณ 7-8 ปี ก็อาจต้องเปลี่ยนรถเพื่อประสิทธิภาพการใช้งานที่สมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงวางแผนไว้เบื้องต้นว่า หากใช้งานรถของเน็กซ์ผ่านไป 7 -8 ปีแล้วต้องการนำรถเก่ามาเปลี่ยนฝูงรถใหม่ก็สามารถนำมาตีเทิร์นได้ ซึ่งบริษัทฯจะการันตีให้สูงถึง 15-20 % ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้เกิดความมั่นใจในการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่องต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top