‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น TSMC เกลี้ยง  หวั่นปัญหาจีน-ไต้หวัน เตรียมเบนเข็มไปที่ ญี่ปุ่น

ความตึงเครียดระหว่าง จีน - ไต้หวัน ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

และสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้ง ของบัฟเฟตต์ ได้เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปในสัดส่วน 86% ของมูลค่ารวม 4,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากได้เข้าซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ผิดกับวิสัยการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่มักจะลงทุนและถือครองหุ้นนั้นในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้ชี้แจงในบทสัมภาษณ์ Nikkei เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ว่า การเทขายหุ้น TSMC ออกไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความกังวลในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐต่อกรณีไต้หวัน ซึ่งบริษัท TSMC ก็เป็นบริษัทในไต้หวันและมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ไต้หวันด้วย 

บัฟเฟตต์ ยอมรับว่า TSMC เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม มีคนเก่ง ๆ อยู่มาก และบริหารจัดการดี และโดยส่วนตัวก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC แต่ก็โชคร้ายมีชัยภูมิแย่เพราะดันตั้งอยู่ไต้หวัน ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้ จะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปออกไป และกลับไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ตนเองคุ้นเคย

ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของ Berkshire Hathaway ณ สิ้นเดือนมี.ค. 66 พบว่า กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) นั้น จะประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐเพียง 5 ตัวเท่านั้น ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

ทั้งนี้ นอกจากเทขายหุ้น TSMC ออกไปแล้ว ยังพบว่า Berkshire Hathaway ได้ซื้อหุ้น Apple เพิ่มขึ้นอีก 20.8 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 5.8% 

และแม้ว่า บัฟเฟตต์ จะทยอยขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ในจีน และไต้หวันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการลงทุนในเอเชียเสียทีเดียว แต่เริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ

แหล่งลงทุนที่ บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ เอาไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'ห้ากลุ่มบริษัท' ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ Berkshire Hathaway ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์ อีกด้วย

แม้ว่า การลงทุนในญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่หวือหวาได้เช่นเดียวกับ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นหัวใจหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แต่บัฟเฟตต์มองว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์ มีความชื่นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากการซื้อคืนหุ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายเงินลงทุนออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากสำหรับ บัฟเฟตต์ เพราะไม่ต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แถมยังได้ลงทุนในตลาดที่ตรงตามสไตล์ที่มองถึงความมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง