Monday, 29 April 2024
TSMC

‘อดีต จนท.มะกัน’ ชี้ เทคโนโลยีชิปทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบ หาก ‘สหรัฐฯ’ ทำลายโรงงานชิปไต้หวัน ก่อน ‘จีน’ บุกยึดสำเร็จ

(14 มี.ค. 66) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เผย วอชิงตันอาจตัดสินใจ ‘ทำลาย’ โรงงานชิปของไต้หวัน ในกรณีที่จีนส่งทหารรุกราน เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีในการผลิตชิประดับก้าวหน้าตกไปอยู่ในมือของปักกิ่ง

‘โรเบิร์ต โอไบรเอน’ (Robert O’Brien) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นของของทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าว Semafor ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตร ‘ไม่มีทางปล่อยให้โรงงานชิปเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือจีนอย่างแน่นอน’

บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดชิปประมวลผลก้าวหน้าถึง 90% โดยชิปที่ TSMC ผลิตนั้น ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ตั้งแต่สมาร์ทโฟน รถยนต์ เรื่อยไปจนถึงขีปนาวุธนำวิถี

โอไบรเอน ชี้ว่า หากบุกเกาะไต้หวันและสามารถยึดโรงงานของ TSMC ได้ จีนจะกลายเป็นเสมือน ‘OPEC ของซิลิคอนชิป’ และจะสามารถควบคุมระบบเศรษฐกิจโลกได้เลยทีเดียว

อดีตที่ปรึกษาผู้นี้เปรียบเทียบความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะทำลายโรงงานของ TSMC ว่าไม่ต่างอะไรกับตอนที่นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ สั่งทำลายกองเรือรบฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อเยอรมนี

แอปเปิล (Apple) ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ TSMC ในปัจจุบัน และ TSMC ยังเป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลให้สมาร์ทโฟนที่จัดส่งทั่วโลกราว 1.4 พันล้านเครื่องในแต่ละปี ขณะที่ค่ายรถยนต์อีกราว 60% ของโลกใช้ชิปจาก TSMC เช่นกัน

โอไบรเอน ไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดเรื่องการทำลายโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันในกรณีที่จีนบุก ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิชาการสหรัฐฯ 2 คนเอ่ยถึงความเป็นไปได้นี้มาแล้วในรายงานที่ตีพิมพ์โดย US Army War College เมื่อปี 2021

“เริ่มแรกเลย สหรัฐฯ และไต้หวันต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้เกาะไต้หวันไม่เพียงกลายเป็นดินแดนที่ไม่น่าดึงดูดใจ (unattractive) หากถูกยึดด้วยกำลัง แต่ยังเป็นดินแดนที่จีนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการรักษาไว้ วิธีที่ได้ผลที่สุด ก็คือขู่ทำลายโรงงานของ TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกและเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ของจีน” รายงานดังกล่าวระบุ

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น TSMC เกลี้ยง  หวั่นปัญหาจีน-ไต้หวัน เตรียมเบนเข็มไปที่ ญี่ปุ่น

ความตึงเครียดระหว่าง จีน - ไต้หวัน ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

และสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้ง ของบัฟเฟตต์ ได้เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปในสัดส่วน 86% ของมูลค่ารวม 4,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากได้เข้าซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ผิดกับวิสัยการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่มักจะลงทุนและถือครองหุ้นนั้นในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้ชี้แจงในบทสัมภาษณ์ Nikkei เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ว่า การเทขายหุ้น TSMC ออกไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความกังวลในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐต่อกรณีไต้หวัน ซึ่งบริษัท TSMC ก็เป็นบริษัทในไต้หวันและมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ไต้หวันด้วย 

บัฟเฟตต์ ยอมรับว่า TSMC เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม มีคนเก่ง ๆ อยู่มาก และบริหารจัดการดี และโดยส่วนตัวก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC แต่ก็โชคร้ายมีชัยภูมิแย่เพราะดันตั้งอยู่ไต้หวัน ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้ จะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปออกไป และกลับไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ตนเองคุ้นเคย

ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของ Berkshire Hathaway ณ สิ้นเดือนมี.ค. 66 พบว่า กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) นั้น จะประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐเพียง 5 ตัวเท่านั้น ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

ทั้งนี้ นอกจากเทขายหุ้น TSMC ออกไปแล้ว ยังพบว่า Berkshire Hathaway ได้ซื้อหุ้น Apple เพิ่มขึ้นอีก 20.8 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 5.8% 

และแม้ว่า บัฟเฟตต์ จะทยอยขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ในจีน และไต้หวันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการลงทุนในเอเชียเสียทีเดียว แต่เริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ

แหล่งลงทุนที่ บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ เอาไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'ห้ากลุ่มบริษัท' ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ Berkshire Hathaway ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์ อีกด้วย

แม้ว่า การลงทุนในญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่หวือหวาได้เช่นเดียวกับ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นหัวใจหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แต่บัฟเฟตต์มองว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์ มีความชื่นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากการซื้อคืนหุ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายเงินลงทุนออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากสำหรับ บัฟเฟตต์ เพราะไม่ต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แถมยังได้ลงทุนในตลาดที่ตรงตามสไตล์ที่มองถึงความมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง

‘ไทย-ไต้หวัน’ จับมือพัฒนาหลักสูตร ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เร่งผลิตบุคลากร ตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมชิป

‘เซมิคอนดักเตอร์’ (Semiconductor) คือ ‘สารกึ่งตัวนำ’ หรือ ‘ชิป’ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านชิปในไทยยังอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีการลงทุนในส่วนของการออกแบบ (IC Design) แต่ยังขาดในส่วนของภาคการผลิต (Foundry) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ระหว่างหน่วยงานของไทยและไต้หวัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิป

โดยมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไต้หวัน 6 แห่ง และบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ร่วมมือวิจัยและผลิตบุคลากร โดยจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าให้มีนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโครงการไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและ packing เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง

โอกาส ‘ไทย’ หลังขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ ‘ไต้หวัน’ ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘BOI News’ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ในไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนตั้งฐานการผลิต ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า…

เมื่อพูดถึงผู้นำใน ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ของโลก 🌏

ประเทศไต้หวัน คือคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วปัจจัยใดที่ผลักดันให้ไต้หวันผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดผู้ผลิตชิปของโลก?

ย้อนไปในปี 2516 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งสถาบัน ‘Industrial Technology Research Institute’ (ITRI) โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงจากต่างประเทศ ทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปได้เป็นของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับไต้หวันได้อย่างมั่นคงในระยะต่อมา

🔹 โดยในปี 2530 มีการก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิป ‘Taiwan Semiconductor Manufacturing Company’ หรือ ‘TSMC’ ขึ้น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบสาธารณูปโภค การสุขาภิบาล ระบบพลังงาน และการคมนาคม ในไต้หวันขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนี้ส่งผลให้การผลิตชิปเช็ตของไต้หวันมีคุณภาพสูง จนทำให้ไต้หวันก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกของอุตสาหกรรมผลิตชิป

ในช่วงเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2530-2543 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไต้หวัน เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือการผลิตชิปซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างก้าวกระโดด 💻

กลยุทธ์ของผู้ผลิตชิปจากไต้หวันนั้นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่บริษัทของไต้หวันจะเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง หรือเป็นที่รู้จักในรูปแบบที่เรียกว่า ‘OEM’ เนื่องจากการลงทุนในโรงงานผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทเลือกทำเพียงขั้นตอนการออกแบบชิปแล้วมอบหมายให้กับ TSMC หรือบริษัทอื่นในไต้หวันทำหน้าที่ผลิตแทน

🔹 ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่

‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งความต้องการใช้งานชิปก็ยังเพิ่มขึ้นในอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เน้นการผลิตยานพาหนะที่มีความสามารถด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) และความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) ส่งผลให้ความต้องการชิปขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ประเทศไทยขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของไทยมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก อีกทั้งบุคลากรยังมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือการที่ไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร รวมไปถึงการที่ภาครัฐมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก 

🔹 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทจากไต้หวันยังถือเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 35% 

โดยปัจจุบัน ผู้ผลิต PCB ของไต้หวันรายใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB และถ้ารวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น ๆ อย่างจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกันด้วยแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นี่คือสัญญาณแห่งโอกาสในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค แต่ยังเป็นการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยานยนต์, ดิจิทัล, อุปกรณ์การแพทย์, ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยยกระดับ Supplier ไทยให้ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain อิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยเช่นกัน

🎗️ บีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ หรืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษี และสิทธิประโยชน์และบริการด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาให้สามารถก้าวพร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกได้ต่อไป

#บีโอไอส่งเสริมการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติทุกขนาดการลงทุน
📱 0-2553-8111 
📧 [email protected]
🌐 www.boi.go.th
🔰ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ

‘อดีตบิ๊ก TSMC’ ชี้!! อุตสาหกรรมชิปจีน กำลังรุดหน้าแบบก้าวกระโดด แนะ ‘สหรัฐฯ’ รักษามาตรฐานตัวเองให้ดี อย่ามัวจ้องสกัดความก้าวหน้าของจีน

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ผู้เชี่ยวชาญเผย บริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเทอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน และ หัวเว่ย (Huawei) ยังคงรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่องในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูง แม้จะถูกสหรัฐฯ กีดกันทุกวิถีทาง และคาดว่าเครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML ที่ทาง SMIC มีใช้งานอยู่แล้วจะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตจีนรายนี้พัฒนาชิประดับ 5 นาโนเมตรได้สำเร็จในที่สุด

‘เบิร์น เจ. ลิน’ (Burn J. Lin) วิศวกรไฟฟ้าซึ่งเป็นอดีตรองประธานบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ให้สัมภาษณ์กับสื่อบลูมเบิร์ก โดยระบุว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะปิดกั้นอย่างสมบูรณ์แบบไม่ให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีชิปของตัวเอง”

แม้สหรัฐฯ จะทั้งคว่ำบาตรและควบคุมการส่งออกเพื่อสกัดการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน แต่มันกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ SMIC สำแดงความยืดหยุ่น (resilience) และความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น (ingenuity) ด้วยการพัฒนาชิป 7 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ออกมา และยังมีกำลังผลิตมากพอที่จะทำให้หัวเว่ยนำไปใช้เป็นขุมพลังให้กับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ได้ถึง 70 ล้านเครื่อง

ว่ากันว่า SMIC ใช้เครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML รุ่น Twinscan NXT:2000i ซึ่งมีเทคโนโลยี deep ultraviolet (DUV) และสามารถยิงชิปขนาด 7 นาโนเมตร และ 5 นาโนเมตรได้ ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพิ่งจะประกาศห้ามส่งออกเครื่องจักรดังกล่าวให้กับจีนเมื่อต้นปีนี้เอง

ทั้งนี้ ความละเอียดของเครื่อง Twinscan NXT:2000i นั้นอยู่ที่ระดับ ≤ 38nm ซึ่งดีพอที่จะใช้พิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์แบบ single-patterning สำหรับการผลิตชิป 7 นาโนเมตรในปริมาณมากๆ ได้ แต่หากจะก้าวไปถึงกระบวนการผลิตระดับ 5 นาโนเมตรนั้นจำเป็นต้องใช้ความละเอียดที่สูงขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้ผลิตชิปสามารถใช้กลวิธีที่เรียกว่า ‘การถ่ายแบบลายวงจรหลายครั้ง’ หรือ ‘multi-patterning’ เพื่อให้ได้ลวดลายจุลภาคระดับนาโนเมตรที่แม่นยำและละเอียดขึ้น แต่เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนทำให้ไม่เอื้อต่อการผลิตในปริมาณมากๆ

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ทำให้ SMIC ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้วิธี ‘multi-patterning’ เพื่อให้ได้ความละเอียดที่สูงขึ้น และก็ดูเหมือนว่ากำลังผลิตจะอยู่ในระดับสูงพอที่หัวเว่ยรับได้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่น่าคิดว่า มาตรการกีดกันของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนนั้น ‘เวิร์ก’ จริงหรือไม่?

“สิ่งที่สหรัฐฯ ควรจะทำก็คือ พยายามรักษาความเป็นผู้นำในด้านการออกแบบชิป มากกว่าพยายามสกัดกั้นความก้าวหน้าของจีน ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะจีนใช้ยุทธศาสตร์หลอมรวมทั้งประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิปของตัวเอง และ (สิ่งที่สหรัฐฯ ทำ) ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกด้วย” ลิน ระบุ

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับ SMIC โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการที่วอชิงตันออกข้อจำกัดต่างๆ จนทำให้ TSMC ไม่สามารถทำธุรกรรมกับองค์กรจีนบางแห่ง ส่งผลให้คำสั่งซื้อจำนวนมากตกไปอยู่ในมือของ SMIC แทน และเอื้อให้บริษัทแห่งนี้สามารถพัฒนาเทคนิคการผลิตและศักยภาพทางเทคโนโลยีมากขึ้นตามไปด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top