‘ไทย-ไต้หวัน’ จับมือพัฒนาหลักสูตร ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เร่งผลิตบุคลากร ตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมชิป

‘เซมิคอนดักเตอร์’ (Semiconductor) คือ ‘สารกึ่งตัวนำ’ หรือ ‘ชิป’ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านชิปในไทยยังอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีการลงทุนในส่วนของการออกแบบ (IC Design) แต่ยังขาดในส่วนของภาคการผลิต (Foundry) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ระหว่างหน่วยงานของไทยและไต้หวัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิป

โดยมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไต้หวัน 6 แห่ง และบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ร่วมมือวิจัยและผลิตบุคลากร โดยจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าให้มีนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโครงการไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและ packing เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.salika.co/2023/07/03/salika-news-vol-184-4/

Knowledge Sharing Space | www.salika.co