Friday, 10 May 2024
ชิป

‘พงษ์ภาณุ’ อดีตรองปลัดคลังฯ วิเคราะห์ ‘จีน’ ผลิตชิปเองทั้งระบบ อ้างเหตุ ด้านความมั่นคง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า มนุษย์ผลิต ทรานซิสเตอร์ ชิป กันอย่างมากมายมหาศาล และราคาของชิปนั้น ก็ถูกมาก หาซื้อได้ง่าย ชิปนั้นมีความสำคัญกับมนุษย์มาก ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้า จะต้องมีชิปเป็นส่วนประกอบ จุดเริ่มต้นของการผลิตชิปนั้น ก็ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศอเมริกา มีผู้ผลิตวงจรทรานซิสเตอร์ได้สำเร็จ เริ่มต้นนั้น ชิป ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา นำไปใช้ในขีปนาวุธเพื่อนำวิถี เริ่มใช้ในสงครามเวียดนาม แต่มาประสบผลสำเร็จอย่างมากก็ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้โครงการอพอลโล ที่เดินทางไปดวงจันทร์ ก็ใช้ชิปเหล่านี้ โดยมีการพัฒนาให้ชิปมีขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งต้องชื่นชมการประสานงานการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆในอเมริกา ที่ร่วมกันทำงานอย่างไร้รอยต่อ ซี่งหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิป ให้ขยายออกไปในวงกว้าง เพื่อทำตลาดขายให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งมีฐานการผลิตที่กระจายออกไปยังประเทศตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำชิปมาผลิตเป็นเคื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เป็นการกระจาย เอาท์ซอร์ท ซัพพลายเชนท์ ออกไปทั่วโลก รวมทั้งกระจายมายัง ไทย เวียดนาม

แต่ในปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน กลับเน้นที่จะผลิตชิปเองภายในประเทศ เพราะเหตุผลทางด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันการผลิตชิป รวมทั้งสงครามทางการค้า ซึ่งก่อให้เกิดการตึงเครียด ไปถึงความมั่นคง

แต่ในขณะเดียวกัน อเมริกา ในฐานะต้นกำเนิดของผู้ผลิตชิปนั้นก็ยังคงเป็นผู้นำทางด้านความไฮเทคในการผลิตชิปต่างๆ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับจีน ในการที่จะทำสงครามเรื่องชิปกับประเทศที่ไฮเทคอย่างอเมริกา

‘ไทย-ไต้หวัน’ จับมือพัฒนาหลักสูตร ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เร่งผลิตบุคลากร ตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมชิป

‘เซมิคอนดักเตอร์’ (Semiconductor) คือ ‘สารกึ่งตัวนำ’ หรือ ‘ชิป’ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านชิปในไทยยังอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีการลงทุนในส่วนของการออกแบบ (IC Design) แต่ยังขาดในส่วนของภาคการผลิต (Foundry) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ระหว่างหน่วยงานของไทยและไต้หวัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิป

โดยมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไต้หวัน 6 แห่ง และบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ร่วมมือวิจัยและผลิตบุคลากร โดยจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าให้มีนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโครงการไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและ packing เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง

'ตะวันตก' กรี๊ด!! จีนเบรกส่งออก 2 แร่หายาก ตอบโต้มาตรการคุมส่งออก 'ชิปชั้นสูง' ของสหรัฐฯ

สงครามชิงเจ้าแห่งอุตสาหกรรมผลิตชิป ยังคงเดือดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางการจีนออกกฎหมายใหม่ จำกัดการส่งออกแร่หายาก Gallium และ Germanium หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิป เพื่อใช้ในอุปกรณ์สื่อสารล้ำสมัย แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์เรดาร์ อุปกรณ์ไฟเบอร์ออพติค เลนส์กล้องอินฟาเรด ที่ช่วยส่งผ่านข้อมูลได้เร็วขึ้น โดยกฎหมายนี้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในสหรัฐฯ และ ยุโรป

ทางการจีนระบุว่า จำเป็นต้องจำกัดการส่งออกแร่หายากทั้ง 2 ชนิด เพื่อความมั่นคงของชาติ โดยบริษัทผู้ส่งออกต้องได้รับ Licence จากกระทรวงพาณิชย์จีนเท่านั้น จึงสามารถส่งออกได้ และต้องแจ้งรายละเอียดของผู้ซื้อปลายทาง รวมถึงระบุวัตถุประสงค์ที่นำแร่ไปใช้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการส่งออกด้วย ซึ่งกฎหมายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป 

เชื่อว่ากฎหมายจำกัดการส่งออกแร่ Gallium และ Germanium เป็นการตอบโต้มาตราการควบคุมการส่งออก ชิปชั้นสูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีล้ำสมัย และ เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่นำมาใช้กับจีนมาก่อน 

โดยรัฐบาลสหรัฐฯ เคยออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันในช่วงเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว (2022) ว่า บริษัทใดที่ส่งออกชิปชั้นสูง ระบบซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ไฮเทคไปจีนต้องได้รับ Licence จากรัฐบาลเสียก่อน ไม่ว่าอุปกรณ์ หรือชิปนั้น จะผลิตจากใน หรือ นอกสหรัฐก็ตาม ซึ่งนอกจากสหรัฐแล้ว ยังมีเนเธอร์แลนด์ และ ญี่ปุ่น กระโดดมาเข้าร่วมกับสหรัฐ แบนการส่งออกชิปไปจีนกับเขาเหมือนกัน 
.
'ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย' จีนเลยยกระดับการโต้กลับบ้าง ด้วยการระงับการส่งออก 2 แร่หายากไปต่างประเทศ หรือจะพูดให้ตรงก็คือ ห้ามส่งไปประเทศที่ผลิตชิปเป็นหลัก และ คว่ำบาตรจีนนั่นแล

ซึ่งแร่หายากทั้ง 2 ชนิดนี้ อยู่ในหมวด 'โลหะรอง' ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการถลุงโลหะพื้นฐาน อาทิ สังกะสี และ อลูมิเนียม และผลิตออกมาได้น้อยมาก และนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิปประมวลผลความเร็วสูง เลนส์กล้องส่องทางไกล และอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ 

และในแต่ละปี สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าแร่ Gallium และ Germanium ราวๆ 225 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7.84 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการผลิตเทคโนโลยีด้านกลยุทธ์ หรือพูดง่ายๆคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอาวุธทางทหารนั่นแล ดังนั้นการตัดกำลังการส่งออกแร่หายากของจีนอาจไม่ส่งผล กระทบต่อตลาดผู้บริโภคเท่าไหร่นัก ยกเว้น บริษัทผลิตขีปนาวุธ และเครื่องบินรบชั้นนำของสหรัฐอย่าง Lockheed Martin 

พอล ทริโอโล นักวิเคราะห์จากสถาบันด้านยุทธศาสตร์ และการต่างประเทศของสหรัฐมองว่า ยิ่งจีนพยายามที่จะตัดห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีกับทั้งสหรัฐ EU และเอเชีย ที่จะเริ่มพึ่งพาจีนน้อยลงเท่านั้น 

ดังนั้น แบนได้ แบนไป ใช่ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตแร่หายากเจ้าเดียวในโลกเสียเมื่อไหร่ 

ซึ่งจะว่าไปก็ถูกต้อง เพราะจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถผลิต Gallium และ Germanium ได้ แค่ในตอนนี้ 94% ของแร่ Gallium และ 83% ของ แร่ Germanium ในตลาดโลกตอนนี้ มาจากจีนเท่านั้นเอง ด้วยปริมาณการผลิตที่มากขนาดนี้ทำให้แร่หายากทั้ง 2 ชนิดที่ผลิตจากจีน มีราคาถูกที่สุดในท้องตลาด 

ส่วนประเทศอื่น ที่สามารถผลิต Gallium และ Germanium ในปริมาณที่ส่งออกได้ และมีราคาพอรับได้ ก็คือ รัสเซีย และ ยูเครน ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าง เพราะกำลังรบกันอยู่ 

สงครามเซมิคอนดัคเตอร์เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น มีอะไรให้ตกใจอีกเยอะต่อจากนี้

‘Nvidia’ พัฒนา ‘H200’ ชิป AI รุ่นใหม่เร็วแรงกว่าเดิม เด่นด้านการประมวลผล ‘Google-Microsoft’ จ่อใช้ปีหน้า

(14 พ.ย. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ยักษ์ผู้ผลิตการ์ดจอในสหรัฐฯ ‘เอ็นวิเดีย’ (Nvidia) ได้เพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้กับชิปรุ่นล่าสุดที่ใช้สำหรับการพัฒนา AI

ทั้งนี้ ชิปดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ‘H200’ ซึ่งจะมีคุณสมบัติแซงหน้า ‘H100’ ที่เป็นชิปเรือธงรุ่นปัจจุบันของ Nvidia โดยส่วนที่ได้รับการอัปเกรดเป็นหลัก คือหน่วยความจำที่มีแบนด์วิธสูงขึ้น ถือเป็นหนึ่งในส่วนที่แพงที่สุดของชิป เพราะมีผลต่อความเร็วในการประมวลผลข้อมูล

ชิป H200 มีหน่วยความจำแบนด์วิธสูงถึง 141 กิกะไบต์ เพิ่มขึ้นจาก 80 กิกะไบต์ในชิป H100 รุ่นก่อน ซึ่ง Nvidia ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อซัพพลายเออร์สำหรับการพัฒนาชิปตัวใหม่ แต่รายงานข่าวจาก Micron Technology ระบุว่าบริษัทกำลังดำเนินการเพื่อเป็นซัพพลายเออร์ของ Nvidia รวมถึง Nvidia ยังซื้อหน่วยความจำจาก SK Hynix ผู้จัดจำหน่ายชิปในเกาหลีใต้ด้วย

นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุด้วยว่า ชิป H200 จะเริ่มใช้กับผู้ให้บริการคลาวด์ เช่น Amazon Web Services, Google Cloud, Microsoft Azure และ Oracle Cloud เป็นรายแรก ๆ ในปีหน้า นอกเหนือจาก CoreWeave, Lambda และ Vultr ที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ AI โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม Nvidia ยังคงครองตลาดชิปสำหรับการพัฒนา AI ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ Nvidia เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริการของ ChatGPT และโมเดล AI อื่น ๆ โดยการเพิ่มหน่วยความจำให้มีแบนด์วิธสูงขึ้น จะช่วยให้การประมวลผลของชิปเร็วขึ้นด้วย

‘Intel’ เตรียมตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในเยอรมนี ผลิตชิปขนาด 1.5 nm แม่นยำ-ก้าวหน้าที่สุดในโลก

(23 ม.ค. 67) Pat Gelsinger CEO ของ Intel ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่าโรงงานที่ Intel กำลังสร้างในเมือง Madeburg ประเทศเยอรมนี จะเป็นโรงงานที่มีกระบวนการผลิตชิปก้าวหน้าที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จ ผลิตชิปที่ความแม่นยำระดับ 1.5 นาโนเมตร ซึ่งไปไกลกว่ากระบวนการผลิตชิป 18A (sub-2nm) ของ Intel ที่เคยประกาศเอาไว้

Gelsinger ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของกระบวนการผลิตชิปยุคถัดจาก 18A ในตอนนี้ (เคยมีข่าวลือว่ามันจะเรียก 16A หรือ 14A) แต่ถ้าแผนการของอินเทลเป็นไปตามที่คิด โรงงานแห่งนี้จะทำให้ยุโรปกลายเป็นจุดผลิตชิปที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

สิ่งสำคัญคือ Intel มุ่งมั่นที่จะนำการผลิตระดับแนวหน้ามาสู่ยุโรป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปัจจุบัน Fab 34 ของ Intel ใกล้กับเมือง Leixlip ประเทศไอร์แลนด์ กำลังผลิตชิปบนเทคโนโลยีการประมวลผลระดับ 4 นาโนเมตรของ Intel และคาดว่าจะเริ่มสร้างโปรเซสเซอร์ระดับ 3 นาโนเมตรของ Intel ในไตรมาสต่อ ๆ ไป

แม้ว่าตอนนี้ Intel 4 และ Intel 3 จะเป็นโหนดที่ทันสมัยที่สุดของบริษัท แต่ก็ยังตามหลัง N3 (ระดับ 3 นาโนเมตร) ของ TSMC ในทางตรงกันข้าม Intel คาดหวังว่า 18A และผู้สืบทอดจะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมต่อไป

จับตากฎใหม่ของจีน คาด!! สะเทือนวงการชิปโลก หลังแบน ‘Intel’ และ ‘AMD’ หนุนชิปเมดอินไชน่า

ทางการจีนออกแนวทาง โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาซีพียูจากสหรัฐอเมริกามีผลให้ทั้ง Intel และ AMD ตลอดจนครอบคลุมถึงระบบปฏิบัติการ Windows และโปรแกรมฐานข้อมูลที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติด้วย

ไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนประกาศแนวทางการปฏิบัติงานที่มีจุดประสงค์เพื่อหยุดการใช้ชิปประมวลผลความจำซึ่งผลิตโดยบริษัทอินเทล (Intel) และบริษัท AMD ของสหรัฐฯ ในคอมพิวเตอร์และระบบเซิร์ฟเวอร์ของรัฐ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยรัฐบาลจีน เผยว่า หน่วยงานรัฐบาลที่สูงกว่าระดับเมือง จะต้องระบุเงื่อนไขการจัดซื้อชิปประมวลผล รวมถึงระบบปฏิบัติการที่ 'ปลอดภัยและไว้วางใจได้' ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่นี้ไปด้วย

ทั้งนี้ หากย้อนเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2023 กระทรวงอุตสาหกรรมจีนได้ออกแถลงการณ์พร้อมรายชื่อของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ระบบประมวลผลและระบบฐานข้อมูลส่วนกลาง ที่ถูกระบุว่า 'ปลอดภัยและไว้วางใจได้' เป็นระยะเวลานาน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการเผยแพร่ออกมา โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทจีนทั้งหมด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รอยเตอร์ได้ส่งแฟกซ์ไปยังสำนักงานสารสนเทศสภาแห่งรัฐ (State Council Information Office) ซึ่งรับผิดชอบการติดต่อของสื่อกับคณะรัฐมนตรีจีน เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะเดียวกัน ก็จัดทำรายงานข่าวนี้ ไปยัง Intel และ AMD ซึ่งก็ไม่ได้ตอบกลับคำขอความเห็นของผู้สื่อข่าวเช่นกัน

สำหรับพัฒนาการที่ทำให้จีนออกประกาศดังกล่าวขึ้นมานั้น เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ เดินหน้าความพยายามยกระดับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศและลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนและไต้หวัน ภายใต้กฎหมาย CHIPS and Science Act ปี 2022 ที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผ่านออกมาบังคับใช้

อีกทั้งยัง สกัดกั้นการพัฒนาชิปเอไอของฝั่งจีน ด้วยการห้ามส่งออกชิปไฮเทคไปยังจีน ภายใต้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ

ขณะเดียวกัน ผลพวงแห่งความตึงเครียดในศึกเทคโนโลยีระหว่าง 'สหรัฐฯ' กับ 'จีน' ที่เข้มข้นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งมีรายงานข่าวว่า สหรัฐฯ มีแผนจะขึ้นบัญชีดำบริษัทในเครือข่ายของ 'หัวเว่ย เทคโนโลยีส์' นั้น

ก็ถือเป็นปมสำคัญที่เร่งให้เกิดการตอบโต้จากจีน ด้วยการแบนชิป Intel และ AMD เร็วขึ้นด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทชิปอเมริกันอย่างหนัก โดยเฉพาะ Intel เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของอินเทลด้วยสัดส่วนถึง 27% ของยอดขายทั้งหมด 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ AMD มียอดขายในจีน 15% ของยอดขายทั้งหมด 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์  

ขณะเดียวกัน กรุงปักกิ่ง ก็หวังกำจัดระบบปฏิบัติการวินโดว์ส (Windows) ของบริษัทไมโครซอฟท์ รวมทั้งซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยประเทศอื่น ๆ ออกไป เพื่อจะเปิดทางให้กับผลิตภัณฑ์ในประเทศมาเป็นตัวเลือกหลักแทนอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top