‘พงษ์ภาณุ’ อดีตรองปลัดคลังฯ วิเคราะห์ ‘จีน’ ผลิตชิปเองทั้งระบบ อ้างเหตุ ด้านความมั่นคง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า มนุษย์ผลิต ทรานซิสเตอร์ ชิป กันอย่างมากมายมหาศาล และราคาของชิปนั้น ก็ถูกมาก หาซื้อได้ง่าย ชิปนั้นมีความสำคัญกับมนุษย์มาก ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้า จะต้องมีชิปเป็นส่วนประกอบ จุดเริ่มต้นของการผลิตชิปนั้น ก็ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศอเมริกา มีผู้ผลิตวงจรทรานซิสเตอร์ได้สำเร็จ เริ่มต้นนั้น ชิป ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา นำไปใช้ในขีปนาวุธเพื่อนำวิถี เริ่มใช้ในสงครามเวียดนาม แต่มาประสบผลสำเร็จอย่างมากก็ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้โครงการอพอลโล ที่เดินทางไปดวงจันทร์ ก็ใช้ชิปเหล่านี้ โดยมีการพัฒนาให้ชิปมีขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งต้องชื่นชมการประสานงานการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆในอเมริกา ที่ร่วมกันทำงานอย่างไร้รอยต่อ ซี่งหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิป ให้ขยายออกไปในวงกว้าง เพื่อทำตลาดขายให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งมีฐานการผลิตที่กระจายออกไปยังประเทศตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำชิปมาผลิตเป็นเคื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เป็นการกระจาย เอาท์ซอร์ท ซัพพลายเชนท์ ออกไปทั่วโลก รวมทั้งกระจายมายัง ไทย เวียดนาม

แต่ในปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน กลับเน้นที่จะผลิตชิปเองภายในประเทศ เพราะเหตุผลทางด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันการผลิตชิป รวมทั้งสงครามทางการค้า ซึ่งก่อให้เกิดการตึงเครียด ไปถึงความมั่นคง

แต่ในขณะเดียวกัน อเมริกา ในฐานะต้นกำเนิดของผู้ผลิตชิปนั้นก็ยังคงเป็นผู้นำทางด้านความไฮเทคในการผลิตชิปต่างๆ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับจีน ในการที่จะทำสงครามเรื่องชิปกับประเทศที่ไฮเทคอย่างอเมริกา