Monday, 29 April 2024
เลือกตั้ง

ปชป. กางยุทธศาสตร์ 3 ส. 'สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ' ย้ำ!! เจตนารมณ์พรรค 70 ปี มุ่งทำงานเพื่อชาติเป็นหลัก

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ประกาศความพร้อมแบบ 'เต็มอัตราศึก' พร้อมลุยทุกสนามเลือกตั้ง ในทุกกระบวนท่า พร้อมทั้งในแง่นโยบาย ในแง่บุคลากร โดยจะส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกเขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน ครบ 500 คน

การประกาศความพร้อมในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นความพยายามในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ การคิดนโยบายใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบต่อปัญหาของประชาชน

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ อันเป็นการ 'ปูพรม' กับการเปิดยุทธศาสตร์ 3 ส. คือ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ

โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้อำนวยการเตรียมการเลือกตั้ง อธิบายขยายความกับเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ 3 ส. ว่า นอกจากการเตรียมผู้สมัครในแต่ละเขตแล้ว เรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงก็เป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน ซึ่งการจัดทำนโยบายของพรรคนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุก ๆ ด้าน ทั้งเรื่องความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ กรอบงบประมาณที่ต้องใช้ภายใต้นโยบายที่จัดทำ ระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดต่อประชาชน และประเทศชาติ ทั้งด้านการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องดีขึ้น 

ซึ่งขณะนี้ หลักคิดเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นทั้ง มาสเตอร์แพลน (Master plan) หรือแผนแม่บทของพรรคในการวางอนาคตของประเทศชาติและประชาชน ที่จะใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงครั้งนี้คือ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ โดยมีแนวทางที่สำคัญของทั้ง 3 ส. ดังนี้  

1.สร้างเงิน โดยการแยะเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ สร้างเงินให้ประเทศ และสร้างเงินให้ประชาชน

2.การสร้างคน ที่พรรคจะสนับสนุนและส่งเสริมดูแลคนตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนส่งสู่เชิงตะกอน ทั้งสร้างสวัสดิการเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้น เพราะพรรคเชื่อว่าเมื่อเราสร้างคนให้มีความความรู้และความมั่นคงในชีวิต จะแปรเปลี่ยนพลังของประชาชนให้เป็นพลังในการสร้างประเทศชาติได้อย่างมั่นคง 

3.สร้างชาติ ด้วยระบบประชาธิปไตย ที่สุจริต ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจมุ่งสู่สร้างเมืองมหานคร พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมเพื่อเชื่อมประเทศไทยกับโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ มีความคืบหน้าจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งท่านหัวหน้าพรรค 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' และท่านเลขาฯ จะแถลงเปิดนโยบายฯ อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมกราคมนี้ และในขณะนี้พรรคได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว

ส่องความเคลื่อนไหว สมรภูมิเลือกตั้ง ‘ภูเก็ต’ เวทีนี้ไม่มีหน้า ‘เก่า-ใหม่’ วัดใจที่นโยบายล้วนๆ

สมรภูมิแข่งขันทางการเมืองที่ดุเดือดอีกสนามหนึ่งทางภาคใต้ คงหนีไม่พ้นจังหวัดภูเก็ต ที่แต่เดิมมีเขตเลือกตั้ง เพียง 2 เขต และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 นี้ภูเก็ตจะมี 3 เขต จากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของ กกต. ให้แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปี พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูสถิติของการเลือกตั้งจังหวัดภูเก็ตทั้ง 2 ครั้ง จะพบรายละเอียดดังนี้...

>> จังหวัดภูเก็ต เขต 1 
(3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
- นางอัญชลี เทพบุตร พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไป 52,921 คะแนน
- นายวิสิษฐ์ ใจอาจ พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนไป 16,573 คะแนน
- วีรศักดิ์ วรเนติวงศ์ พรรคแทนคุณแผ่นดิน ได้คะแนนไป 281

(24 มีนาคม พ.ศ. 2562) 
- นายสุทา ประทีป ณ ถลาง พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนไป 32,338 คะแนน
- นายเรวัติ อารีรอบ พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไป 25,194 คะแนน
- นายวิศิษฐ์ อนันต์ศิริภัณฑ์ พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนไป 22,599 คะแนน

(ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2562 )

>> จังหวัดภูเก็ต เขต 2
(3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
- นายเรวัติ อารีรอบ พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไป 52,585 คะแนน
- นายจิรายุส ทรงยศ พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนไป 28,252 คะแนน
- นายสมาน เก็บทรัพย์ พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนไป 8,206 คะแนน

(24 มีนาคม พ.ศ. 2562)
- นายนัทธี ถิ่นสาคู พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนไป 27,267 คะแนน
- นายชัยยศ ปัญญาไวย พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไป 23,958 คะแนน
- นายศุภณัฐ เลื่องลือ พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนไป 19,963 คะแนน

(ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2562)

จะเห็นว่าเมื่อการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 พรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต ทั้งเขต 1 และ เขต 2 เป็นที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีคะแนนทิ้งห่างจากลำดับที่ 2 อยู่หลายหมื่นคะแนน ส่วนการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่ง ส.ส.เดิม คือ นายเรวัติ อารีรอบ จากเขต 2 แต่ไปลงชิงคะแนนในเขต 1 ซึ่งก็แพ้คะแนนให้กับ นายสุทา ประทีป ณ ถลาง จาก พลังประชารัฐ ไปหลายพันคะแนน ส่วนเขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งนายชัยยศ ปัญญาไวย ท้าชิงกับนายนัทธี ถิ่นสาคู จากพลังประชารัฐ คะแนนของนายชัยยศตามหลังห่างกันเพียง 3,000 กว่าคะแนนเท่านั้น ทำให้พลังประชารัฐยึดที่นั่ง ส.ส.ภูเก็ตได้สำเร็จ แต่ที่น่าสังเกตในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 คือ พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเกิดใหม่ แต่ชูลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรี อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมในภูเก็ตเทคะแนนให้แบบหมดหน้าตัก 

ด้านพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นก็สร้างปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ โดยได้รับคะแนนนิยมมาเป็นอันดับที่ 3 ของทั้ง 2 เขต ซึ่งคะแนนห่างจากลำดับที่ 2 ไม่กี่พันคะแนนซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่โดยคนรุ่นใหม่ และถ้ามาพิจารณาคะแนนของผู้ที่ได้ลำดับหนึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 มีคะแนนสูงถึง 5 หมื่นกว่าคะแนน เนื่องจากมีพรรคที่ลงแข่งไม่มาก ประมาณ 3-4 พรรคที่รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น 

ส่วนในปี พ.ศ. 2562 คะแนนของผู้ที่เป็นลำดับหนึ่งลดน้อยลงไป เนื่องจากมีพรรคการเมืองลงแข่งขันจำนวนมากกว่า 26 พรรค ทำให้คะแนนถูกกระจายไปยังพรรคอื่นๆ ซึ่งต้องมาพิจารณากันว่าในปี พ.ศ. 2566 จะมีพรรคการเมืองลงแข่งขันกันมากน้อยขนาดไหนและคะแนนจะเป็นอย่างไร ส่วนการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 จากข้อมูลสถิติข้างต้น สามารถบอกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นหน้าใหม่หรือหน้าเก่า ก็สามารถแทรกตัวเป็น ส.ส. อันดับหนึ่งได้ อยู่ที่นโยบายของพรรค แคมเปญที่สามารถครองใจชาวภูเก็ตได้ หรือมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนชาวบ้านไว้วางใจ เรามาดูว่ามีพรรคการเมืองไหนได้เปิดตัวว่าผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ภูเก็ต เป็นใครกันบ้าง ดังนี้...

>> พรรคประชาธิปัตย์ 
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2565 จ.สงขลา 
- ภายใต้แนวทางรวมพลัง 30 เลือดใหม่ ทวงปักษ์ใต้คืน (สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ) 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 นายกวี ตันสุคตานนท์, เขต 2 นายชัยยศ ปัญญาไวย, เขต 3 นางสาวพลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์

>> ก้าวไกล 
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2565 จ.ภูเก็ต 
- ภายใต้แนวทางก้าวไกล Next x ปักษ์ใต้ 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 ว่าที่ ร.ต. สมชาติ เตชถาวรเจริญ, เขต 2 นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล, เขต 3 รอการประกาศที่ชัดเจนจาก กกต.

>> ไทยสร้างไทย 
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 จ.ภูเก็ต 
- ภายใต้แนวทางคนใต้ต้องกินดีอยู่ดี สร้างรายได้ ปลดหนี้ มีบำนาญ 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 ยังไม่ส่งผู้สมัครในขณะนี้, เขต 2 มณีรัตน์ วิชัยดิษฐ-สุขยิรัญ, เขต 3 ยังไม่ส่งผู้สมัครในขณะนี้

>> ชาติพัฒนากล้า 
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 จ.ภูเก็ต 
- ภายใต้แนวทางคนรุ่นใหม่ รู้ลึกพื้นที่ รู้จริงปัญหาภูเก็ต 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 ยังไม่ส่งผู้สมัครในขณะนี้, เขต 2 นางสาวอรทัย เกิดทรัพย์, เขต 3 นายเทมส์ ไกรทัศน์

>> พลังประชารัฐ 
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 65 กรุงเทพมหานคร 
- ภายใต้แนวทางเราคือพลังประชารัฐ เคียงข้างชาวใต้ 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 นายจิรายุส ทรงยศ, เขต 2 นายนัทธี ถิ่นสาคู, เขต 3 นายสุธา ประทีป ณ ถลาง

>> ภูมิใจไทย
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 65 จ.ภูเก็ต 
- ภายใต้แนวทางภูเก็ตต้องผลัดใบ ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 นายนิพนธ์ เอกวานิช, เขต 2 นายวิวัฒน์ จินดาพล, เขต 3 นายวงศกร ชนะกิจ

>> เพื่อไทย 
- เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 65 จ.นครศรีธรรมราช 
- ภายใต้แนวทางครอบครัวเพื่อไทย แหลงจริง ทำได้ คนใต้หรอยแรง 
- โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ดังนี้ เขต 1 นายวัชรพงษ์ อนันตกูล, เขต 2 นายสนธยา หลาวหล้าง, เขต 3 นายอาวุธ หนูเซต

(ข้อมูล ณ วันที่ 8 ม.ค.2566 ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังไม่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ภูเก็ต)

ในส่วนของยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน เริ่มที่พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ภาคใต้ภายใต้แคมเปญ รวมพลัง 30 เลือดใหม่ ทวงปักษ์ใต้คืน โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ น้ำตาซึมอ้อนชาวใต้บอกว่าเป็นพรรคของคนใต้อย่างแท้จริง เชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงชาวใต้คงให้โอกาสผู้สมัครของพรรคให้ได้มากกว่า 35 ที่นั่ง ส่วนเลขาธิการพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน ประกาศว่าถ้าได้ ส.ส. น้อยกว่าครั้งก่อนคือ 52 ที่นั่ง จะขอเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ส่วนยุทธศาสตร์สำคัญของพรรค คือ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ทุกจังหวัดในภาคใต้ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

‘สันติ’ เผย ไม่ง้อ หาก ส.ส.ย้ายพรรค ลั่น!! พรรคมีตัวสำรองที่มีความตั้งใจเยอะ

วันนี้ (10 ม.ค. 66) เวลา 09.07 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงประเด็นการเช็กลิสต์ ส.ส.ย้ายไปยังพรรคอื่นว่า ส.ส.เมื่อเขาจะไป แล้วตนจะทําอย่างไรได้ ตนในฐานะเลขาพรรคก็ทําหน้าที่ หาดูคนดี ๆ มาสํารองเอาไว้ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนดีมีความตั้งใจ เราจึงนำมาสํารองเอาไว้ นี่ก็เป็นตัวหนึ่งที่จะเป็นหลักประกัน ว่าส.ส. ที่คิดจะย้ายไปย้ายมา ก็ต้องคิดให้ดี

ด้านอนาคตทางการเมืองสองพรรคในระหว่างรวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐ จะจับมือกันได้ไหม สันติกล่าวว่า ให้ทุกคนดูว่าหัวหน้าพรรคนั้นคือพลเอกประวิตร เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน ทุกพรรค ฉะนั้นเรื่องที่จะไปรังเกียจ พรรคนี้ รังเกียจ ส.ส.ของพรรคนี้ มันจะรังเกียจได้ยังไง ในเมื่อพี่น้องประชาชนเลือกมา

ม็อบหนุนอดีตประธานาธิบดี บุกทำเนียบ ค้านผลเลือกตั้ง

(10 ม.ค. 66) กลุ่มผู้สนับสนุนนายฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตประธานาธิบดีบราซิล ได้บุกรุกเข้าไปในสภาคองเกรส, ทำเนียบประธานาธิบดี และศาลสูงของบราซิลในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 ม.ค.) เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

หลังจากนายลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในเดือนต.ค. 2565 ด้วยคะแนนโหวต 59.8 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 50.86% แซงหน้านายโบลโซนารู ปธน.บราซิลในเวลานั้น ซึ่งได้รับคะแนนโหวต 57.8 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 49.14% เป็นเหตุให้กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตปธน.โบลโซนารูซึ่งเป็นอดีตผู้นำขวาจัดของบราซิล ได้แสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แถลงว่าทางรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในกรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิล และจะทำการควบคุมสถานการณ์ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. หลังจากเบื้องต้นกองกำลังความมั่นคงของเมืองหลวงแห่งนี้ไม่สามารถรับมือกับพวกผู้บุกรุกได้

ในระหว่างการแถลงข่าวครั้งนี้ ปธน.ลูลาได้กล่าวโทษนายโบลโซนารู ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์จลาจล และยังตำหนิเกี่ยวกับมาตรการความมั่นคงที่ไม่เพียงพอในเมืองหลวง โดยกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยให้กลุ่มคนที่ฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายและและกลุ่มคนหัวรุนแรงสร้างความเสียหายร้ายแรง

'ภูมิใจไทย' เปิดฉาก!! ขอ ส.ส.เมืองหลวงไว้เป็นฐานเสียง เปลี่ยนภาพลักษณ์พรรค ไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคภูธร

ขณะที่ระหว่างกำลังรอการโปรดเกล้าฯ ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ และร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในส่วนของการเตรียมการเลือกตั้ง พบว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่รับผิดชอบภารกิจควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมรับกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตลอดเวลา

อย่างเรื่องของ การแบ่งเขตเลือกตั้ง พบว่า หลังสำนักงาน กกต.ได้รับข้อมูลฐานจำนวนประชากรประเทศไทย ที่เป็นข้อมูลล่าสุดสิ้นสุดเมื่อ 31 ธ.ค. 2565 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ขณะนี้ฝ่าย กกต.เริ่มขยับเตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 400 เขต ที่จะต้องมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ขึ้นมา 50 เขต โดย กกต.ได้นำฐานข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศการแบ่งเขตอย่างเป็นทางการออกมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าว กกต.จะทำได้ต้องรอให้มีการประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ กรุงเทพมหานคร ที่จะมี ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 เพิ่มมา 3 เก้าอี้ รวมเป็น 33 เก้าอี้ จากเดิม 30 ที่นั่ง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าจะทำให้การแบ่งเขตของ กกต.จะออกมาอย่างไร จะส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในสนามเลือกตั้งเมืองหลวงนี้หรือไม่?

หลังพบว่า หลายพรรคการเมืองต่างก็หมายมั่นปั้นมือจะคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้ง กทม.ให้ได้ ทั้งพรรคปีกฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และพรรคตั้งใหม่

อย่างหนึ่งในพรรคที่ก็ต้องการมี ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้ นั่นก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่ชูสโลแกนการหาเสียงในพื้นที่ กทม.ไว้ว่า ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7

ที่หมายถึงการสื่อกับคน กทม.ว่า ภูมิใจไทยขออาสาทำงานเพื่อคน กทม. 24 ชั่วโมง 7 วัน สำหรับคน กทม.ทุกกลุ่ม

ส่วนว่าแคมเปญดังกล่าวจะซื้อใจคน กทม.จนทำให้ภูมิใจไทยสามารถปักธง มี ส.ส.เขต กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ ต้องดูกระแสตอบรับจากคน กทม.ว่าคิดอย่างไรกับนโยบายที่ภูมิใจไทยนำมาเสนอ รวมถึงต้องดูตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของภูมิใจไทยทั้ง 33 เขตว่า สู้กับพรรคการเมืองอื่นมีลุ้นหรือไม่ อีกทั้งต้องดูกระแสพรรคใน กทม.เมื่อเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้งเต็มตัวว่า กระแสภูมิใจไทยใน กทม.เป็นอย่างไร ทั้งหมดคือองค์ประกอบสำคัญที่จะมีผลอย่างมากแน่นอน สำหรับภูมิใจไทย ในการหวังปักธง ส.ส.เขต กทม.ให้ได้

หลังก่อนหน้านี้ ภูมิใจไทย ในตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และตอน 2562 กระแสพรรค-ตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เป็นรอง หลายพรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวสู้กันดุเดือดใน กทม.อยู่หลายขุม จนทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่มีลุ้นในการเลือกตั้งสองครั้งข้างต้นตั้งแต่ลงสนามเลยด้วยซ้ำ แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น แกนนำภูมิใจไทย ทั้งอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ หมายมั่นปั้นมืออย่างมากว่ารอบนี้พรรคต้องปักธงใน กทม.ให้ได้

หลังได้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดีอีเอส อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่รับผิดชอบพื้นที่กทม. ให้พลังประชารัฐรอบที่แล้ว มาเป็นกัปตันทีม พาภูมิใจไทยเข้าสู่สนามเลือกตั้ง กทม. ที่รู้กันดีว่าเป็น สนามปราบเซียน คาดเดาได้ยากว่าผลเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน อีกทั้งเป็นสนามเลือกตั้ง ที่ กระแส ทั้งกระแสพรรค กระแสผู้สมัคร มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการชี้ขาดผล แพ้-ชนะ  

กระนั้น แม้จะเป็นงานยาก แต่ทั้งอนุทินและเนวินรู้ดีว่า ในเป้าหมายการเมืองของภูมิใจไทยที่ต้องการดีดตัวขึ้นไปจากพรรคขนาดกลาง พรรคร่วมรัฐบาล ขึ้นมาเป็นพรรคขนาดใหญ่ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หลังภูมิใจไทยเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันจำเป็นมาก ที่ ภูมิใจไทยต้องมี ส.ส.เมืองหลวง ของพรรคที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้

เพราะแม้ตอนนี้ ภูมิใจไทย จะมี ส.ส.เขต กทม.อยู่สองคนคือ โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี กับมณฑล โพธิ์คาย แต่ทั้งสองคนเป็นส.ส.เขต กทม.อนาคตใหม่ ที่เข้ามาภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ทำให้ยังไม่ถือว่า ภูมิใจไทยมี ส.ส.เขต กทม.ของตัวเองแต่อย่างใด

มันจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ภูมิใจไทยต้องการให้พรรคมี ส.ส.กรุงเทพมหานคร ยิ่ง กทม.มี ส.ส.มากถึง 33 คน ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ทางการเมือง ที่หากพรรคไหนมี ส.ส.กทม. ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว ถ้ามี ส.ส.เมืองหลวงไว้เป็นฐานเสียง และทำให้ภาพลักษณ์พรรคไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคภูธร

ทั้งหมดจึงทำให้ภูมิใจไทยพร้อมสู้เต็มที่ เพื่อทำให้พรรคมี ส.ส.กทม.รอบนี้

ยิ่งเมื่อภูมิใจไทยได้อดีต ส.ส.กทม. จากทั้งพลังประชารัฐและเพื่อไทยหลายคนเข้ามา เสริมทีม อาทิ จากพลังประชารัฐ จักรพันธ์ พรนิมิตร - กษิดิ์เดช ชุติมันต์ - พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ - ภาดา วรกานนท์ - กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และจากเพื่อไทยคือ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ซึ่งทางการเมือง อดีต ส.ส.รอบล่าสุด ย่อมถือว่าเป็นระดับเกรดเอ มันก็ยิ่งทำให้พรรคมั่นใจมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ของภูมิใจไทยก็ไม่ง่าย เพราะ 33 เก้าอี้ในสนาม กทม. มันทำให้หลายพรรคใส่กันเต็มที่ ทำให้การแข่งขันจึงมีสูง สู้กันดุเดือดเลือดพล่าน

‘กานต์กนิษฐ์’ เปิดใจหลังย้ายซบ ‘เพื่อไทย’ ชี้!! ขอเลือกทำงานกับพรรคที่สบายใจ

(16 ม.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีตส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้ซึ่งประสงค์ลงสมัครส.ส.กทม.เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดใจที่ย้ายมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยว่า ตนเลือกอยู่กับพรรคที่ทำงานแล้วสบายใจ มองว่าที่พื้นที่กทม.เขต 1 เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีพ่อค้าแม่ค้าทำธุรกิจค้าขายเป็นจำนวนมาก นโยบายของพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะช่วยพี่น้องประชาชนได้ เศรษฐกิจในพื้นที่จะดีขึ้น 

ทั้งนี้ การย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่รู้สึกสับสน แต่ก็พยายามทำความเข้าใจและชี้แจงแนวทางที่ตัดสินใจมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.ก็ทราบเรื่องที่ตนย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทยแล้ว ซึ่งพล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ว่าอะไร ยืนยันว่าจะรักษาเก้าอี้ในพื้นที่ไว้ได้ เนื่องจากตนเป็นนักการเมืองมานาน ที่ผ่านมาก็ทำพื้นที่มาตลอด ขอให้ประชาชนมั่นใจ จะทำให้ดีที่สุด

กกต. ทดสอบจัดหน่วยเลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ-คนพิการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนทุกกลุ่ม ให้ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

(17 ม.ค. 66) คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ทดสอบจัดตั้งหน่วยเลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่บ้านพักคนชราบางแค 2 กรุงเทพฯ โดยมีการถ่ายทำขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อใช้อบรม และส่งให้เจ้าพนักงานได้รู้ถึงขั้นตอน และเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

โดยนายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในการอำนวยความสะดวก ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาพรวม ซึ่งเป็นนโยบายของ กกต. เพื่อสามารถอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งให้กับทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ แม้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะไม่สะดวกในการเดินทาง

‘โรม’ หวั่น ‘บิ๊กตู่’ ยุบสภาฯ หนีศึกซักฟอก หลังให้เวลาฝ่ายค้านเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ

(17 ม.ค. 66) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวยุบสภาก่อนการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลกที่การอภิปรายในครั้งนี้ รัฐบาลดูจะให้เวลาฝ่ายค้านได้เตรียมตัวมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ในการอภิปรายที่ผ่านมา รัฐบาลจะพยายามทำให้ฝ่ายค้านมีเวลาเตรียมตัวน้อยที่สุด เพื่อที่การอภิปรายจะออกมาไม่มีคุณภาพมาก แต่รอบนี้กลายเป็นว่าฝ่ายค้านมีเวลาถึงเดือนกว่าในการเตรียมตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้กังวลกับการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้เท่าไรนัก

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อาจมองได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่เพิ่งเปิดตัวเข้าพรรคการเมืองใหม่ กำลังให้ความสนใจกับการสร้างตัวตนทางการเมือง จนไม่ได้สนใจปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน ขณะเดียวกันงานในความรับผิดชอบหลายอย่างของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะงานตำรวจก็ทำได้เลวร้ายมาก เห็นได้จากการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับดูจะไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ แต่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องเดียวเท่านั้น คือจะทำอย่างไรให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะเกิดข่าวลือขึ้นหนาหูในช่วงนี้ ว่าจะเกิดการยุบสภาเพื่อหนีการซักฟอกของฝ่ายค้านหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาเพื่อหนีการซักฟอกของฝ่ายค้าน ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยอมรับโดยปริยายว่าข้อกล่าวหาต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องจริง

'ประชาธิปัตย์' เล็งกวาด 3 ที่นั่งในพื้นที่สกลนคร หลังอดีต 'ส.ส.สาคร' มั่น!! นโยบายพรรคโดนใจปชช.

อดีต ส.ส.สกลนคร 'สาคร พรหมภักดี' มั่นใจ ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะปักธงได้ถึง 3 คน หลังพรรคประกาศ 8 นโยบายโดนใจประชาชน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 66) นายสาคร พรหมภักดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จังหวัดสกลนคร กล่าวเปิดใจถึงการสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และประสงค์ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคฯ ว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ พบปะ พูดคุยกับประชาชน ได้เห็นถึงการตื่นตัว และพึงพอใจในนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย เพื่อมาลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรในนามพรรคประชาธิปัตย์

“ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กับการเดินสายพบปะประชาชนพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพรรคประกาศนโยบาย 8 ด้านออกมานั้น โดยเฉพาะนโยบายชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี และการออกกรรมสิทธิ์ทำกิน ให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ รวมทั้งธนาคารหมู่บ้าน - ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ที่มีความชัดเจนขึ้นนั้น เป็นที่พึงพอใจของประชาชนอย่างมาก และเชื่อว่าผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 คน จะสามารถปักธงในพื้นที่จังหวัดสกลนครได้อย่างแน่นอน หลังพรรคประกาศนโยบายที่โดนใจประชาชน” นายสาครฯ กล่าว

วัยรุ่นเลือกตั้งครั้งแรก ต้องทำยังไงนะ? | THE STATES TIMES Y WORLD EP.55

เพิ่งจะได้อายุ18ปีเป็นครั้งแรกก็ได้เลือกตั้งซะแล้ว ต้องเตรียมตัวอย่างไรหรือต้องรู้อะไรบ้าง ไปชมกันเลย....
.
ติดตามได้ใน THE STATES TIMES Y World x ELECTION TIME
และสามารถรับชมคลิปอื่น ๆ ได้ที่ : https://youtube.com/playlist?list=PLvNTQ_fOAFugvfiWfiUXJ8JJYho1ADnG8
.
#THESTATESTIMES
#THESTATESTIMESYWORLDxELECTIONTIME
#เลือกตั้ง
#เข้าคูหา
#วิธีไปเลือกตั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top