Friday, 17 May 2024
รวมไทยสร้างชาติ

‘ลอรี่’ ชี้!! ‘สส.อัครเดช’ อภิปรายตามกฎ-กรอบเวลา ซัด!! ‘รองอ๋อง’ เจตนาตัดบท-ขัดขวาง-ละเมิดสิทธิ์ชัดเจน

(23 ก.พ. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ลอรี่ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กรณีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ใช้อำนาจแทรกตัดบทไม่ให้นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติอภิปรายลงรายละเอียด ระหว่างตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร และการบริหาร การจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึง ทั้งที่กำลังอภิปรายตามกรอบเวลา ถูกต้องตามข้อบังคับ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ถูกต้องและไม่เคยมีประธานในที่ประชุมคนใดเคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์

นายพงศ์พล กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่อเข้าข่ายผิดข้อบังคับการประชุมข้อ 9 วรรค 1 ที่ระบุไว้ชัดว่าประธานฯ ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ แต่นายปดิพัทธ์กลับใช้อำนาจกลั่นแกล้งปิดปาก อ้างผู้อภิปรายพูดร่ายยาวซ้ำซาก

“เท่าที่ผมเปิดเทปฟังการอภิปรายย้อนหลัง นายอัครเดชอภิปรายย้ำถึงการนำสายไฟสื่อสารลงใต้ดินประหยัดงบประมาณได้หลายสิบล้านพูดตัวเลข 70-80 ล้านบาทไม่กี่ครั้ง เพราะเป็นตัวเลขสำคัญชี้ให้ประชาชนเห็นถึงการประหยัดงบประมาณของรัฐได้จำนวนมาก ขณะนั้นผู้อภิปรายใช้เวลาไปยังไม่ถึง 10 นาที จากสิทธิอภิปรายเต็ม 15 นาที ถูกหลักเกณฑ์ทุกอย่าง แต่ไม่เข้าใจเหตุใดประธานที่ประชุมจึงใช้อำนาจตัดบทเช่นนี้” นายพงศ์พล กล่าว

รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตำแหน่งประธานที่ประชุม คือ ผู้อำนวยการเอื้อการประชุมให้ราบรื่น (moderater) ไม่มีอำนาจมาออกความเห็นแทรกแซงเนื้อหาของผู้อภิปราย หรือเซนเซอร์นู่นนี่ หรือคิดแทนแต่อย่างใด ส่วนตัวแนะนำว่า ถึงจะมีเรื่องติดใจส่วนตัวกับนายอัครเดชมาก่อนจากการอภิปรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่ควรนำอารมณ์ส่วนตัวมาลงตรงนี้ เพราะทำให้สภาฯ สูญเสียความน่าเชื่อถือ และประชาชนถูกปิดกั้นจากการได้รับข้อมูลรอบด้านทั้ง 2 ฝ่าย

“เมื่อมานั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ แล้ว จงวางหมวกนักการเมืองทิ้งไว้นอกห้องประชุม แล้วจงวางตัวทำหน้าที่ให้เป็นกลาง ถ้าทำไม่ได้ลงไปนั่งข้างล่าง แล้วให้คนมีวุฒิภาวะดีกว่าขึ้นมาทำแทนดีกว่า” รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

ผลงานจาก 'ลุงตู่' ถึง 'พีระพันธุ์' พากระแสมวลชนคนไทยตีกลับ ความเจริญที่ผู้คนเริ่มโจษขาน อาจดับฝัน 'ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน'

(23 ก.พ. 67) จากช่องติ๊กต็อก @fhakram.chavit หรือ ‘คุณฟ้าคราม’ โพสต์คลิปวิดีโอแสดงความคิดเห็นต่อผลงานของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่ท่านได้ทำมาโดยตลอดระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ในมุมที่หลายคนอาจจะไม่รู้ข้อมูลมาก่อน ก่อนถึง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ และคนอื่น ๆ ที่สามารถสานต่อโครงการเหล่านี้ได้ในอนาคต โดยระบุว่า…

ที่บอกว่าก้าวไกลทั้งแผ่นดินเนี่ย…ไม่ต้องไปกลัวหรอก ยังไงสีเหลืองก็ชนะ ซึ่งทุกคนจะไปกลัวอะไร ก็ในเมื่อขนาดช่วง ‘พิธาฟีเวอร์’ ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เลย และนับภาษาอะไรกับตอนนี้ ส่วนอันต่อมาคือช่วงก่อนนี้ ‘สีเหลือง’ ยังเป็น ‘พลังเงียบ’ อยู่เลย แต่ขอโทษนะพิธาฟีเวอร์ก็สู้ ‘ลุงตู่องคมนตรีฟีเวอร์’ ไม่ได้

แล้วเพิ่งช่วงหลังเลือกตั้งนี่เอง ที่ประชาชนเพิ่งรู้ในเรื่องของม.112 เกี่ยวกับเยาวชนทะลุวังหรือใครคิดยังไงกับสถาบัน เพราะฉะนั้นสถานการณ์ต่างกันมาก ต่อมาประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน สังคมอย่าไปให้ค่าเจเนอเรชันใหม่จนเยอะลิมิต เพราะวัยรุ่นที่ดีและสง่างามจริง ๆ ในหัวใจควรจะเป็นคนที่นอบน้อมกับผู้ใหญ่ รวมถึงเรื่องสถาบันด้วย เพราะว่าวัยรุ่นต้องมีความสํานึกรู้คุณกตัญญูกตเวทีในหัวใจ มันถึงจะสง่างาม และตอนนี้อินฟลูเอนเซอร์ฝั่งเหลืองเยอะมากและเยอะที่สุดแล้ว

นอกจากนี้ เดี๋ยวนี้เขายังมีการจัดโพลกันแบบกลัว ‘ท่านพีระพันธุ์’ กันแล้วนะ ถ้าเขาไม่กลัวเขาไม่ขัดขาหรอก อย่างโพลของ Line Today ที่ได้สร้างผลสำรวจคะแนนความนิยมของนักการเมืองที่คุณชื่นชอบ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งคุณรู้ไหมว่าโพลนี้มีนักการเมืองแทบทุกคนเลยนะ อย่างอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร, พิธา, เศรษฐา, หมอชลน่าน, รัชนก ศรีนอก หรือ รังสิมันต์ โรม ก็มา แต่กลับไม่มีท่านพีระพันธุ์ โอ้โห…กลัวอะไรขนาดนั้นใจเย็น ๆ 

ถัดมายังมีอีกโพลกับหัวข้อ ‘ถ้าท่านต้องเลือกตั้งวันนี้จะเลือกพรรคใด’ ซึ่งมีให้ 2 พรรค ก็คือ เพื่อไทยและก้าวไกล แต่ของเพื่อไทยมีรูปอิโมจิหน้าตกใจประกอบ แต่ถ้าเป็นก้าวไกลก็เป็นหัวใจแทน และก็ไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นเดิม ก็คิดดูว่าจัดโพลแบบกลัวอะไร? 

ซึ่งอย่างที่เคยบอกไปว่าสามกีบหลาย ๆ คนเนี่ยไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วก็ชอบบอกว่าส้มทั้งแผ่นดินอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ต้องอะไรมากหรอก ความจริงคือความจริง ความดีคือความดี เดี๋ยวผู้คนเขาก็จะเห็นเอง อย่างเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ก็ต่างผุดผลงานลุงตู่ออกมาเพียบ แล้วผู้คนก็จะได้เห็นผลงานลุงตู่ที่ทะลุมิติ ทะลุมัลติเวิร์ส เรียกได้ว่าเป็น S Curve ของเมืองไทยเลยก็ได้

เพราะที่ผ่านมาลุงตู่ได้สร้าง EEC : Eastern Economic Corridor ที่มีรถไฟฟ้าตัดผ่าน 3 สนามบินอย่าง ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ แล้วก็ไปถึงอู่ตะเภาด้วย แล้วก็มีการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย โดยทั้งหมดนี้สร้างมา 5 ปีแล้ว ซึ่งเสร็จปี 70 ซึ่งก็อีกแค่ 3 ปีเท่านั้น จากสนามบินดอนเมือง-บางอู่ตะเภา ใช้เวลาไม่ถึง 60 นาที โคตรสุดยอด นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องนั่นก็คือ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ที่กําลังจะยกระดับประเทศไทยของเราให้เป็น Smart City ซึ่งมันสุดยอดมาก มันคือ Smart Innovative แพลตฟอร์มดี ๆ นี่เอง และยังเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะทางเทคโนโลยี ซึ่งในนั้นมีเรื่องของการวิจัย การพัฒนา การทดลอง พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก หรือเกี่ยวกับเรื่องของหุ่นยนต์ (Robotics) ต่าง ๆ อย่างด้าน AI และยังสามารถรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีทําให้การเป็นอยู่ของผู้สูงอายุสบายขึ้น

อีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของการวิจัยพัฒนาอีวี เกี่ยวกับเรื่องของรถอีวี แบตเตอรี่ และมีโรงเรียนที่น่าเข้าไปมาก ๆ อย่าง ‘โรงเรียนกำเนิดวิทย์’ (kvis) ซึ่งเป็นโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยี โดยจะได้เรียนเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เอไอ หุ่นยนต์ ทั้งนี้ EEC และ วังจันทร์วัลเลย์ ที่อยู่ในนั้น อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของลุงตู่

กลับมาเรื่องรถไฟฟ้า 10 กว่าสายในกรุงเทพมหานคร และภาคอีสานความเจริญสุด ๆ กําลังจะไปถึงแล้ว เพราะลุงตู่ทําให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงลากไปตั้งแต่ดอนเมือง สระบุรี อยุธยา อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย ส่วนภาคเหนือรถไฟฟ้าไปตั้งแต่ ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลําปาง ลําพูน เชียงใหม่ ส่วนสายใต้ฝั่งท่องเที่ยวก็จะมี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หัวหิน ประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ พัทลุง หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช เยอะแยะไปหมด

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่าเรือแหลมฉบังมาบตาพุด ท่าเรือน้ำลึก ให้ไทยเราเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการส่งออกของโลก ซึ่งสิ่งที่เราจะได้ก็คือการเกิดงานและเงินให้กับลูกหลานของเราที่ต้องออกไปทํามาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัว และก็มีรายได้ต่อหัวที่สูงมากขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะจะใช้เทคโนโลยีนี้ผ่านการควบคุมจากสมาร์ทโฟนได้ และจะมีรายได้เข้าประเทศมหาศาล…ซึ่ง ‘แลนด์บริดจ์’ จะดูเล็กไปเลย เพราะว่าไทยกําลังจะเป็น Spider Web ซึ่งก็คือใยแมงมุมของด้านการคมนาคม ที่เชื่อมโยงกันทั่วทั้งประเทศ จนทะลุไปถึงประเทศจีน ทั้งนี้ EEC ได้เสร็จไปแล้วเฟสแรก มีเงินเข้ากระเป๋าประเทศไปแล้ว 80- 90%

ทั้งนี้ ในวังจันทร์วัลเลย์ พัฒนากลุ่มอวกาศ มีดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยซึ่งก็คือ THEOS 2 ซึ่งคุณเศรษฐาก็ออกมาพูดว่าไทยเราจะเป็นจุดศูนย์กลางของโลก แล้วก็ตื่นเต้นมากเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาอีวี หรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจริง ๆ มันเจริญมามากแล้วคุณเศรษฐาก็รู้ แต่เป็นผลงานลุงตู่นะ คุณต้องให้เครดิตมาก ๆ หน่อย แล้วก็ค่อย ๆ สานต่อไป ซึ่งไม่สานต่อไม่ได้เพราะมันอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี…

นอกจากนี้ยังมี โครงการเรื่องเครื่องกําเนิดแสง, เมืองนวัตกรรมอาหาร, เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ, การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชน, มีเงินสํารอง, มีทองสํารอง, แอปกระเป๋าตังค์ที่เยียวยาฟื้นฟูในช่วงโควิด-19 เป็นต้น และด้วยทั้งหมดนี่คือการหาเงินเข้าประเทศอย่างแท้จริง รวมถึงในอนาคตที่กำลังจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยวของโลก 

แต่ต่างจากนโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งเรือธงของเขาก็คือ ‘รัฐสวัสดิการ’ ตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิต คำถามคือ เอาเงินมาจากไหน? ต้องกู้ไหม? แค่เงินของผู้สูงอายุก็หลายแสนล้านแล้ว และจะให้จะแจกตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิตเลยเหรอ ฟังดูแล้วมันก็เคลิ้ม ๆ นะ แต่ว่าประเทศพังแน่…แล้วหาเงินเข้าประเทศยังไง จะไปตัดรถตัดทอนความมั่นคงก็ระวังประเทศมันจะพังเอา และจะมาแก้ไขม. 112 อีก ซึ่งไม่ได้เลยนะ เพราะความมั่นคงของใครที่เขามาลงทุน ก็เพราะพระมหากษัตริย์ ทําให้ไทยเรามีความมั่นคง ไม่โดนแทรกแซงจากต่างชาติ 

ดังนั้น อย่าไปโดนใครกล่อมเรื่องประชาธิปไตย มันไม่ได้ดีไปซะทั้งหมดทุกอย่าง มันพังกันมาแล้วก็หลายประเทศ อย่าปล่อยให้ประชาธิปไตยมันครอบงําสมองเราขนาดนั้น ดูที่ข้อเท็จจริงและความเป็นจริง ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนทําจริงเราเห็นอยู่ดี เขาไม่ได้คิดแต่พูด แต่เขาจะทําให้เราเห็น…

ต่อมาคําถาม ‘ถ้าดีขนาดนี้แล้วทําไมคนไม่เลือก?’ สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมด คุณคิดว่ามีคนรู้เรื่องแบบผมสักกี่คน ซึ่งหลาย ๆ คนไม่รู้เรื่องนี้เลย ดังนั้นคุณไม่ควรถามผมเลยนะว่าทําไมดีแล้วคนไม่เลือก ซึ่งคําตอบมันมีอยู่แล้ว ก็ถ้ามันดีแล้วคุณไม่เลือกก็แปลว่าคุณ (โดนหลอกแล้ว) … ซึ่งอาจจะไม่มากนัก แต่เปลี่ยนใจกันได้ไม่เป็นไร หลงผิดไปยินดีกลับมาสู้ด้วยกันใหม่ ยินดีเสมอ…

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การใช้ชีวิตก็ดีขึ้น เพราะมีคมนาคมที่ทำให้เราเดินทางไปทำงานสะดวก จึงอยากให้ทุกคนลองปรับตัวกันบ้าง ไปทำงานกันบ้าง หรือใครที่รู้สึกว่าปรับตัวในโลกดิจิทัลมันยากและปรับไม่ทัน อันนี้ผมเข้าใจ แต่พวกที่ด่าอย่างเดียวเลยว่าไม่มีเงิน เศรษฐกิจแย่ ประเทศชาติแย่ ระบบแย่ อยากจะเปลี่ยนแปลงและให้ประเทศมันดีขึ้นกว่านี้ คำถามคือประเทศมันยังไม่ดีพออีกหรอทุกวันนี้… ‘ลุงตู่’ ท่านทำ S Curve สร้างไว้ให้ขนาดนี้ คุณไม่คิดจะพัฒนาและปรับตัวเลย คุณจะรอแต่รัฐสวัสดิการและขอเงินอย่างเดียว แล้วคุณจ่ายภาษีกันเท่าไหร่…อย่างสวิตเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, เยอรมัน เขาจ่ายภาษีกันประมาณ 40-50% เลย จะเอาประชานิยมที่เขาแจกอย่างเดียว จะให้รอเอาเงินมาให้ เอาสวัสดิการดี ๆ มาให้ แต่ต้องมากู้สาธารณะ ทีนี้ลุงตู่กู้มาล้นเพดาน แถมเงินทุกบาททุกสตางค์ของที่กู้มา มันก็เต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบที่ได้พูดไป เพื่อให้พวกคุณไง ด่าเช้าด่าเย็นแต่ก็ใช้ถนน ด่าว่า 8 ปีไม่ทําอะไรเลย แต่ก็ใช้รถไฟฟ้า เรียกร้องจะเอาวัคซีนที่ดีที่สุดอย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา แล้วตอนนี้เป็นไงเสียชีวิตกันเป็นแถบ… ดังนั้นลุงตู่ไม่ใช่เทพที่ไหน ไม่ใช่คนเลวจากการรัฐประหาร แต่เป็นคนดีที่ตั้งใจทําผลงานสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และสร้าง S Curve ให้กับประเทศไทยได้อย่างน่ามหัศจรรย์

แล้วล่าสุดท่านพีระพันธุ์คุยกับผู้ว่าการมณฑลยูนนานของจีน สร้างสัมพันธไมตรีอันดี ซึ่งความพีกก็คือเขาก็มาคุยกันเรื่องของการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจ พวกโครงสร้างพื้นฐานที่มันเชื่อมกันพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว และก็อุตสาหกรรมสีเขียว แล้วก็แลกเปลี่ยนความรู้ด้านพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน นี่แหละ…มันเป็นความสําเร็จทั้งหมดแล้วมาเชื่อมโยงกันได้ดีมาก สุดท้าย…สีเหลืองคนละไม้คนละมือ จะไม่ชนะได้ยังไงโครงการดี ๆ ขนาดนี้ สู้ไปด้วยกัน…

'รทสช.' มีมติรับหลักการ 'ร่างพ.ร.บ.กลุ่มชาติพันธุ์' ที่เสนอโดย ครม. แต่ปัดตก 3 ร่างเสนอประกบ ที่มีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ไม่นานมานี้ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานการประชุม สส.ของพรรค โดยมี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ประธาน สส. และเลขาธิการพรรค รวมทั้ง สส.ของพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยหารือถึงประเด็นการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ...ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคได้พิจารณารายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่เสนอโดย ครม. รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะเดียวกันที่เสนอโดยพรรคการเมืองและเสนอโดยภาคประชาชนอีก 3 ร่าง โดยที่ประชุมพรรค ได้อภิปรายเนื้อหากันอย่างกว้างขวาง และมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยครม. ส่วนอีก 3 ร่าง พรรคพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงต่อประเทศไทยในอนาคตแน่นอน จึงไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ของพรรคการเมืองและภาคประชาชนอีก 3 ร่างกำหนดให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมือง จึงทำให้พรรคมีความห่วงใยในเรื่องภัยความมั่นคงของชาติในอนาคต เพราะการตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมือง จะเป็นปัญหาในด้านการปกครองตนเองในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่พรรคไม่เห็นด้วย

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า สาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฉบับของคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้สิทธิในด้านต่าง ๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีกว่า 60 ชาติพันธุ์ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งสิทธิที่ดินทำกิน สิทธิความเป็นคนไทย สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิต่าง ๆ ทางกลุ่มจะได้รับเหมือนกับเป็นคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้เรียกร้องและต้องการ โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้

“พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการเฉพาะในส่วนร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาล เพราะให้สิทธิทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนอีก 3 ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอให้สภาฯ พิจารณาโดยมองว่า จะกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคตแน่นอน เพราะจะมีการแบ่งแยกการปกครอง ขณะเดียวกันประเทศไทยเราได้เคยไปแถลงที่องค์การสหประชาชาติว่า ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยมีแต่กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ได้ให้ความคุ้มครองความเป็นคนไทย ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหนจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ” นายอัครเดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 ก.พ.67 สภาก็ได้มีมติรับร่างหลักการกฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 5 ฉบับ ที่มาจาก สภาชนเผ่าฯ, กระทรวงวัฒนธรรม, พีมูฟ, พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เพื่อนำไปสู่การเสนอชื่อกรรมาธิการต่อไป โดยทั้ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย…

1.ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าฯ
2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย ศมส. กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล
3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ
4.ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพรรคเพื่อไทย
5. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพรรคก้าวไกล

โดยภายหลังจากที่ได้รับฟังการนำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ก็มีสมาชิกในที่ประชุมได้แสดงความประสงค์ร่วมอภิปรายทั้งสิ้น 25 คน ประกอบด้วย สส. ฝ่ายรัฐบาล 21 คน และพรรคฝ่ายค้านอีก 5 คน ถึงแม้ว่าในช่วงท้ายก่อนจะมีการลงมติ เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ยื่นญัตติขอให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงมติจากเดิมที่จะลงมติรวมทั้ง 5 ฉบับ เป็นการลงมติรายฉบับ แต่ในท้ายที่สุดสภาก็มีเสียงส่วนใหญ่รับร่างหลักการทั้งหมด และนำไปสู่การเสนอชื่อกรรมาธิการต่อไป

‘รทสช.’ รับฟังปัญหา ‘สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย’ ให้คำมั่น!! พร้อมสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมให้เกิดผลสำเร็จ

(1 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา น.ส.นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้นำตัวแทนสภาเด็กฯ กว่า 20 คน เข้าพบสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รศ.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค เพื่อร่วมพูดคุยและรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากตัวแทนสภาเด็กฯ ที่มาขอให้พรรคช่วยสนับสนุนการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

โดย นายเอกนัฏ เสนอว่า การที่สภาเด็กฯ เข้าพบผู้แทนของพรรครวมไทยสร้างชาติในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่ากลัวฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองไม่ได้น่ากลัว กฎหมายสภาเด็กฯ ก็ออกจากฝ่ายการเมือง ตนเชื่อว่า สส.ทุกคนยินดีให้การสนับสนุน เพื่อให้การทำงานของสภาฯ เด็กบรรลุจุดประสงค์

“ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ สิ่งไหนที่ช่วยเหลือได้ยินดีสานต่อ ไม่ใช่คุยแล้วจบแค่วันนี้ แต่จะต้องพูดคุยติดตามงานกันตลอด โดยมอบหมายให้ คุณพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค เป็นผู้ประสานงานต่อ” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้าน น.ส.นดา เปิดเผยภายหลังร่วมหารือว่า สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับข้อเสนอของสภาเด็กฯ เป็นอย่างดี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้เสนอให้สภาเด็กฯ คัดเลือกตัวแทน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการ หรืออนุกรรมาธิการของสภาฯ ถือเป็นข้อเสนอที่ดีมาก และเป็นมิติใหม่ในการทำงาน หลังจากนี้ทางสภาเด็กฯ จะกลับไปคิดโครงการเพื่อมาขับเคลื่อนงานร่วมกับทางพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป

สำหรับ สิ่งที่สภาเด็กนำเสนอคือ ประเด็นการมีส่วนร่วมของเยาวชน ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นเศรษฐกิจ ประเด็นความรุนแรง และประเด็นสุขภาพ 

“ทางพรรค ก็ตอบรับที่จะนำไปขับเคลื่อน แต่ในส่วนที่ขับเคลื่อนได้เลยคือ ประเด็นด้านเศรษฐกิจการมีงานทำ และประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาพรวมพอใจมากที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ เพราะทางพรรครวมไทยสร้างชาติ รับปากจะสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กฯ อย่างเต็มที่” น.ส.นดา กล่าว

เธอกล่าวต่อว่า สภาเด็กฯ เดินสายพบทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะเราต้องการทำงานในเชิงรุก แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าพรรคไหนเป็นพรรคที่ทำได้จริงตามที่รับปาก 

“จากการมาคุยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีความหวัง จากการที่จะได้ฟังพี่สส.ให้คำแนะนำ จะกลับไปทำการบ้าน โดยเฉพาะการให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในชั้นกรรมาธิการ หรือคณะอนุกรรมาธิการของสภาฯ” น.ส.นดากล่าว

‘อัครเดช รทสช.’ ซัด!! ‘รองอ๋อง’ ควรวางตัวเป็นกลาง หลังถูกเบรกอภิปรายยืดเยื้อ

ย้อนความเดือด!! ‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์’ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ฉะ!! ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในการประชุมสภาฯ พิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่องติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 

นายอัครเดช ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบสายไฟในจังหวัดราชบุรีสามารถจัดการได้จนได้ฉายาว่า ราชบุรีโมเดล แต่ในจังหวัดอื่นไม่สามารถจัดการได้ อภิปรายวนไปวนมากว่า 10 นาที แต่ยังไม่ได้ถามคำถาม นายปดิพัทธ์ ประธานในที่ประชุมทักท้วงว่า ใช้เวลาเกือบ 10 นาทีแล้วขอให้ถามคำถามได้แล้ว ทำให้นายอัครเดช กล่าวว่า กระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุเวลา ตนรู้ข้อบังคับดี ท่านประธานอย่าทำตัวเอียง ต้องวางตัวเป็นกลาง วินิจฉัยอะไรต้องรับผิดชอบ

นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวว่า ตนให้โอกาสในการอภิปราย แต่นายอัครเดชพูดวนเวียนแล้ว และคิดว่าเราได้ประเด็นของเนื้อหาจึงอยากให้ช่วยบริหารเวลาเท่านั้น และไม่ได้ห้ามอภิปราย

ทำให้นายอัครเดช กล่าวว่า กระทู้ถามสดมีเวลาถาม และตอบ 15 นาที ตนเพิ่งถามไป 10 นาที ท่านมาเบรกตน ท่านมีอะไรกับตนไหม ตั้งแต่ครั้งที่แล้ว นายปดิพัทธ์จึงตอบกลับว่า ไม่มี แต่ตนต้องบริหารเวลา วันนี้ตนให้อภิปรายเกิน 10 นาทีได้ เพราะวันนี้มีกระทู้ของนายอัครเดชคนเดียวที่เหลือเป็นการเลื่อนกระทู้ และตนแค่บอกว่าตอนนี้ต้องถามได้แล้ว เพราะเป็นการอภิปรายที่มากพอแล้ว ตนไม่มีอะไรกับนายอัครเดช ขอให้เข้าสู่เนื้อหาเลย คิดว่ามันเสียเวลาของสภาฯ ขอเข้าสู่กระทู้ต่อ

นายอัครเดช กล่าวว่า เป็นสิทธิของส.ส. ตนยังอยู่ในเวลาที่ใช้สิทธิตามระยะเวลาที่มีอยู่คือ 15 นาที เพราะการอภิปรายของตนก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรี ในการให้ข้อมูลรัฐมนตรีไปบริหารประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ตนจึงบอกว่า 70 ล้านกับ 10 ล้านมันต่างกัน สิ่งที่ตนอภิปรายดีกว่าที่จะอภิปรายที่ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา แล้วท่านวินิจฉัยกลายมาเป็นประเด็นที่ทะเลาะกัน ตนว่าแบบนั้นเสียเวลามากกว่า ขอให้ทำตามข้อบังคับและเคารพสิทธิของสภาฯ ด้วย

นายปดิพัทธ์ จึงชี้แจงว่า ข้อบังคับระบุว่าต้องไม่เป็นลักษณะการอภิปราย หากนายอัครเดชไม่ถามกระทู้ ขออนุญาตว่าจะไม่ถามก็ได้ แต่ตอนนี้นายอัครเดชใช้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่ไม่อยู่ในกระทู้

นายอัครเดช สวนทันควันว่า อยากให้นายปดิพัทธ์ใช้ดุลพินิจอยู่ในข้อบังคับ และรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนด้วย ตนกำลังอภิปรายประเด็นนี้และตนถามกระทู้มาตั้งแต่สมัยที่นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาฯ ตนไม่ได้ถามกระทู้นี้กระทู้แรก และตนไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้เพราะตนรู้ข้อบังคับ ทำให้นายปดิพัทธ์ ทักท้วงขึ้นว่า ขอให้เข้าเรื่องได้แล้ว ไม่เช่นนั้นตนไม่อนุญาตให้พูดและคำวินิจฉัยของประธานเป็นที่สิ้นสุด

นายอัครเดช กล่าวว่า หากท่านประธานวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอให้สภาฯ แห่งนี้บันทึกไว้ว่าส.ส.ที่นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายตามข้อบังคับ แต่ท่านใช้ดุลพินิจให้ส.ส.หยุดอภิปราย จึงขอให้สภาฯ บันทึกไว้ว่าตนมีความตั้งใจที่จะถามกระทู้นี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ หากท่านวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอไม่ถามกระทู้ต่อ

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องบริหารเวลาและข้อบังคับให้ชัดเจน ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถาม ขอให้ท่านอภิปรายและเข้าสู่คำถามเพราะเห็นว่าอภิปรายได้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งก็รอคำถามจากท่านอยู่ ตนเคารพท่านและสภาฯ ก็บันทึกไว้ได้ว่าตนวินิจฉัยเช่นนี้

นายอัครเดช ลุกขึ้นทักท้วงอีกรอบว่า ท่านประธานไม่จบ นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวขึ้นว่า ตนจบแล้ว และไม่อนุญาตให้พูด ขอบคุณรัฐมนตรี ซึ่งผู้ถามไม่ได้ใช้สิทธิ์ถามแล้ว และเจ้าหน้าที่ที่บันทึกการประชุมว่า นายอัครเดชทำผิดข้อบังคับ ไม่เคารพคำวินิจฉัย ตนไม่สามารถให้อภิปรายตัวตนได้เพราะนี่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทำให้นายอัครเดช ลุกขึ้นประท้วงว่า ตนไม่ได้อภิปรายและขอประท้วงว่าประธานทำผิดข้อบังคับ ท่านเป็นประธานต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าเอาอารมณ์ เมื่อครั้งที่แล้วมาทำเช่นนี้กับสมาชิก ไม่ถูกต้อง ท่านเป็นประธาน ตนและส.ส.เคารพท่านเพราะตำแหน่งท่านแต่การที่ท่านวินิจฉัยและมาขัดการอภิปรายเช่นนี้ ตนถือว่าเป็นสิ่งที่ประธานไม่ควรทำและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง

นายปดิพัทธ์ ได้ย้ำอีกครั้งถึงเรื่องข้อบังคับสภาฯ ในการถามกระทู้และไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถามกระทู้แต่อย่างใด จากนั้นจึงเข้าสู่วาระถัดไป

'รทสช.' ยัน!! รัฐพร้อมแจงฝ่ายค้านทุกเรื่อง แม้จะยังไม่ได้ใช้งบฯ-ไร้ปมทุจริต ขอแค่อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ไม่หวังใช้เวทีตีกินทางการเมืองเป็นพอ 

(7 มี.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านมีมติยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อซักถามการทำงานของรัฐบาล ว่า ตนมั่นใจรัฐบาลพร้อมชี้แจงและตอบทุกคำถามของฝ่ายค้าน และถือเป็นโอกาสที่จะอธิบายการทำงานของรัฐบาลให้กับประชาชนได้เข้าใจ 

เมื่อถามว่า 6 เดือนของการทำงานรัฐบาล มองว่าเร็วไปหรือไม่ ที่ถูกอภิปรายฯ? นายธนกร กล่าวว่า ถือเป็นการใช้เวทีสภาซักถามการทำงานตามขั้นตอนถือเป็นความชอบธรรมตามกลไกรัฐสภา แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่งเริ่มเดินหน้าทำงานเข้าสู่เดือนที่ 6 ที่สำคัญร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังไม่ผ่านวาระ 2-3 ยังไม่ได้ใช้งบฯ และยังไม่มีข้อมูลการทุจริตเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐบาลออกมา 

"ฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายรัฐบาลได้ทุกเมื่อ หากเห็นว่ามีความบกพร่อง แต่ผมมองว่าร่างพ.ร.บ.งบฯ ยังไม่ผ่านสภา รัฐบาลจึงยังไม่ได้ใช้งบประมาณ จึงคิดว่าฝ่ายค้านคงยังไม่มีข้อมูลหลักฐานเรื่องการทุจริต จึงขอให้ใช้เวทีสภาในการอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้อย่างสร้างสรรค์ หวังว่าจะไม่ใช้โอกาสนี้ สร้างวาทกรรมเพื่อโจมตีทางการเมืองเช่นเดิม" นายธนกร กล่าว

‘พีระพันธุ์’ มั่นใจ!! ค่าไฟรอบใหม่ (พ.ค. - ส.ค.) จะไม่สูงกว่ารอบปัจจุบัน

(7 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ถึงกรณีตรวจเยี่ยมแท่นขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทย และราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่ (พฤษภาคม - สิงหาคม) ระบุว่า…

หลังจากที่ไปตรวจการผลิตก๊าซกลางอ่าวไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีก๊าซมากพอเพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของการยันราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่นี้ 

ต่อมาผมได้หารือกับท่านเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และท่านปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ และล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ. เพื่อขอให้ช่วยกันดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้เต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาระค่าไฟฟ้ามากไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านทุกฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะทาง กฟผ. พร้อมที่จะแบกรับภาระหลายอย่างเพื่อประชาชน 

ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไป (พฤษภาคม - สิงหาคม) จะไม่สูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ขอให้มั่นใจครับว่าผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

6 เดือน ‘รมช.กฤษฏา’ ปลดแอกหนี้ครัวเรือนไทย

‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ สางหนี้ครัวเรือนไทย - กลุ่มเปราะบาง - ล้างหนี้เสีย - แก้กฎหมายเครดิตบูโร

📌สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid 19 (รหัส 21)
🟢ช่วยเหลือให้หลุดจากการเป็นหนี้เสีย พักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระชั่วคราว และลูกหนี้ SMEs ที่เข้าเงื่อนไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 3 เดือน จะได้รับการพักชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี และได้ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ต่อปี

📌กลุ่มมีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก
🟢ช่วยลดดอกเบี้ยให้สมความเสี่ยง ถ่ายโอนหนี้ไว้ที่เดียว และผ่อนปรนการชำระ ทางด้าน ธปท. และเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่ ร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาคำนวณตารางผ่อนใหม่ ยาว 10 ปี พร้อมลดดอกเบี้ย 75% ส่วน ธ.ออมสิน เข้าสนับสนุนสภาพคล่องแเก่สหกรณ์ เพื่อปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และการ Re-Finance

📌กลุ่มมีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง
🟢พักชำระหนี้ชั่วคราว ลดเงินงวดให้สอดคล้องกับรายได้ที่ผันผวน กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม กำกับดูแลการให้สินเชื่อ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรได้เริ่มดำเนินการ โดยลูกหนี้เกษตรกรที่มีเงิน (Principle) รวมหนี้คงเหลือทุกสัญญาไม่เกิน 300,000 บาท พักชำระตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567

📌กลุ่มเป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันทางการเงินมาเป็นเวลานาน
🟢ช่วยให้หลุดพ้นจากหนี้เสีย พักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนระหว่าง SFIs และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดย ธปท. อยู่ระหว่างหารือกับ ก.การคลัง และ SFIs เพื่อช่วยเหลือปิดจบหนี้ของลูกหนี้ได้คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ 'พรรครวมไทยสร้างชาติ' ยื่นเสนอกฎหมายฉบับแรกต่อสภาฯ แก้ไข 'พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. 2545' หรือ 'เครดิตบูโร' ซึ่งส่งผลเดือดร้อนแก่ประชาชน เพราะหลังสถานการณ์โควิด เกิดวิกฤตเกี่ยวกับบัตรเครดิต และหนี้สินภาคธุรกิจ ทำให้คนจำนวนมากมีปัญหาด้านการเงิน จนต้องหนีไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ

‘รวมไทยสร้างชาติ’ รับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฟาก ‘อัครเดช’ ยัน!! ไม่มีใครอยากเป็นชนกลุ่มน้อย เชื่อ!! ทุกคนอยากเป็น ‘คนไทย’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 67 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.. ระบุว่า…

“พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีมติในการประชุม สส.ของพรรค ว่า เราจะสนับสนุนเพียงร่างเดียว คือร่างของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอเข้ามาให้สภาฯ พิจารณา เหตุผลที่พรรครับเพียงร่างเดียว และทำไมอีก 3 ร่าง พรรคถึงไม่รับ ในส่วนร่างของ ครม. จะเห็นว่าไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในร่าง พ.ร.บ. แต่ใช้คำว่า พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีอยู่ 30-60 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย”

นายอัครเดช เสริมต่อว่า “ทั้งนี้ พรบ.ฉบับ ครม.ตอบโจทย์ความต้องการของทุกชาติพันธุ์ทั้งในสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติสิทธิในการมีส่วนร่วม และสิทธิการรับบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เปรียบเสมือนเป็นคนไทยอยู่แล้ว”

“ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เขาอยากเป็นคนไทย เขาไม่ได้อยากเป็นชนกลุ่มน้อย หรือเป็นชนเผ่า ซึ่งเมื่อได้รับรองเป็นคนไทยจะได้สิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทุกคนต้องการจะเป็นคนไทยมีชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์จีน ชาติพันธุ์อินเดีย ชาติพันธุ์แขก ชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์ม้ง ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทุกคนถือว่าเป็นคนไทย ตามแต่ละหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรี ที่ได้เสนอเข้ามาในสภาฯ มีการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้” นายอัครเดชกล่าว

นายอัครเดช กล่าวเพิ่มเติมกรณีไม่สนับสนุนอีก 3 พ.ร.บ. ว่า “เหตุผลที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่สนับสนุนอีก 3 พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่ง 2 ฉบับนี้เสนอมาในกลุ่มภาคประชาชน ส่วน พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคก้าวไกล 1 ฉบับ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติจะไม่ลงมติในการรับหลักการ เนื่องจากทั้ง 3 ฉบับมีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง” 

นายอัครเดช อธิบายต่อว่า “อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้ไปแถลงที่สหประชาชาติว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ที่ไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองเพราะว่า ประเทศไทยของเรามีเผ่าพันธุ์เดียวคือเผ่าพันธุ์ไทย เรามีกลุ่มชาติพันธุ์ 30-60 ชาติพันธุ์ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เรามีเผ่าพันธุ์ไทย คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในหลักสากลในความหมายของสหประชาชาติก็คือชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่ของตนเอง แล้วโดนรุกรานมายึดพื้นที่ เช่นที่อเมริกาอินเดียแดงถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองโดนคนผิวขาวมายึดพื้นที่แล้วตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา อันนี้คือตัวอย่างในนามของสหประชาชาติคือชนเผ่าพื้นเมือง แต่ประเทศไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง”

“ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เรามีเผ่าพันธุ์ไทยมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่ก่อตั้งชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นชาติพันธุ์ ใครที่เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนอย่างตนก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนมีความภูมิใจในความเป็นคนไทย แต่เราเชื้อสายจีนเป็นชาติพันธุ์จีน หลายท่านในที่นี้ก็มีหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาติพันธุ์แขก ชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์ม้ง ชาติพันธุ์ลาว รัฐธรรมนูญมาตรา 70 ให้ความคุ้มครองในความเป็นชาติพันธุ์ ในรัฐธรรมนูญเราก็ไม่ได้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ดังนั้นการที่เราจะรับรอง 3 พ.ร.บ.ดังกล่าวก็เสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญถ้าเราจะใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง” นายอัครเดชกล่าว

นายอัครเดช กล่าวต่อไปว่า “นอกจากนั้น ประเทศไทยเราไปรับปฏิญญาว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง เพราะประเทศไทยเราเคยประกาศแล้วไปแถลงว่า เราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ถ้าเราไปรับว่าเรามีชนเผ่าพื้นเมืองในปฏิญญาสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง สามารถแยกไปปกครองตนเองได้ ถ้าเรารับว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในอนาคตอาจปกครองลำบากเพราะบางพื้นที่อาจขอไปปกครองตนเองได้ อันนี้คือสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเป็นห่วงในประเด็นนี้ การที่เรามีชนเผ่าพันธุ์เดียวคือเผ่าพันธุ์ไทยมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์นี่คือความภาคภูมิใจในความเป็นไทย แต่เรายอมรับในความหลากหลาย เรามี 30-60 ชาติพันธุ์ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะทำให้เรารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นประเทศไทย”

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า “สส.รวมไทยสร้างชาติ ได้ลงไปสำรวจแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นคนชนเผ่า เพราะทุกคนอยากเป็นคนไทย ได้สิทธิเหมือนคนไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทย แต่ยังดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของแต่ละชาติพันธุ์ไว้ ขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้งดใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อความมั่นคงของประเทศ แล้วให้ใช้คำว่าชาติพันธุ์แทน ประเทศไทยเราจะได้เข้าสู่ความกลมเกลียว ว่าทุกคนนั้นอยากเป็นคนไทยแล้วก็ได้สิทธิในความเป็นไทยเหมือนกัน คือเหตุผลที่เราไม่รับหลักการในส่วนของ 3 พ.ร.บ.นี้”

นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐธรรมนูญมาตรา 70 ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เราไม่อยากจะเห็นการเอาประเด็นนี้มาหาเสียงทางการเมือง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคต สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงได้ประชุมกันแล้ว มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรี สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้ และไม่รับอีก 3 พ.ร.บ.ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และเสนอโดยภาคประชาชน เพราะเราเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรมีการใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ทุกคนเป็นคนไทย เคารพในความหลากหลายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติสืบต่อไปในอนาคต”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top