Thursday, 16 May 2024
ยูเครน

‘ยูเครน’ ดี๊ด๊า!! ประกาศชัยเหนือรัสเซีย หลัง ‘ซุปบอร์ช’ กลายเป็นมรดกของยูเครน

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา องค์การ UNESCO (ยูเนสโก) แห่งสหประชาชาติ ได้ขึ้นทะเบียนซุปผัก ที่เรียกว่า ‘Borscht Soup’ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเครน ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเหตุปัจจัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้ ซุปบอร์ช ต้นตำรับดั้งเดิมของยูเครนสูญหายไป 

ข่าวนี้สร้างความยินดีแก่ชาวยูเครนเป็นอย่างมาก โดยนาย โอเล็กซานเดอร์ ทคาเชงโก้ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของยูเครนได้ออกมาประกาศว่า “ชัยขนะในสงครามซุปบอร์ชเป็นของพวกเราแล้ว!”

ขณะที่ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้ออกมาตอบโต้ว่า ซุปบอร์ชเป็นของรัสเซียและไม่จำเป็นต้องให้ใครมาปกป้อง

สำหรับ ซุปบอร์ช นั้น เป็นซุปผักชนิดหนึ่งที่ทำจากบีทรูท เคี่ยวจนได้เป็นน้ำซุปสีแดงเข้ม แต่บางครั้งก็พบซุปบอร์ชที่ทำจากมันฝรั่ง และกะหล่ำปลี ที่ทำให้น้ำซุปมีสีเขียว หรือขาวได้เช่นกัน มักนิยมบริโภคในกลุ่มประเทศฝั่งยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เคยอยู่ในเครือสหภาพโซเวียต ที่หล่อหลอมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และอาหารการกินซึ่งกันและกัน จนยากที่จะแยกได้อย่างชัดเจนว่าถิ่นกำเนิดที่แท้จริงมาจากไหน 

อย่างไรก็ตาม ซุปบอร์ช ได้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงมาหลายปีระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่ต่างก็ต้องการอ้างสิทธิ์ว่าซุปดังกล่าวเป็นอาหารประจำชาติของตน 

โดยยูเครนเคยอ้างสิทธิ์การเป็นต้นกำเนิดของซุปบอร์ช ที่มีแพร่หลายไปทั่วทุกบ้านของชาวยูเครน ที่มีแม้แต่เมืองชื่อ ‘บอร์ช’ และยูเครนยังเป็นแหล่งปลูกบีทรูทที่ใช้เป็นวัตถุดิบพื้นฐานของการทำซุปบอร์ช และเชื่อว่าซุปบอร์ชเผยแพร่เข้าไปในรัสเซียตั้งแต่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีการอ้างถึงตำราทำอาหารในยุคสมัยของผู้นำ โจเซฟ สตาลิน ยังเคยเรียกมันว่า ‘ซุปยูเครน’ 

แต่การอ้างอิงต้นกำเนิดของสิ่งใด ด้วยชื่อเมือง หรือความเป็นแหล่งปลูกวัตถุดิบอาจไม่เพียงพอเสมอไป โดยฝ่ายรัสเซียค้านว่า ซุปบอร์ช ก็มีสูตรเฉพาะของรัสเซียเหมือนกัน และมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว และมีประวัติศาสตร์ย้อนไปไกลถึงสมัยยุคกลาง ที่ได้เชื่อว่าเป็นอาหารของชาวบ้านรากหญ้าทั่วไป และมีความผูกพันกับชาวรัสเซียจนสามารถยกให้เป็นอาหารประจำชาติได้ 

‘ปูติน’ ไฟเขียว!! ขยายสถานะพลเรือนรัสเซีย แก่ชาวยูเครนทุกคนที่ยื่นขอ ได้อย่างรวดเร็ว

‘ปูติน’ ลงนามผ่านกฎหมายขยายการให้สถานะพลเรือนรัสเซียด้วยวิธีรวดเร็ว ไปถึงชาวยูเครนทั้งประเทศแล้ว

เมื่อ 11 ก.ค. 65 ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ลงนามผ่านกฎหมายขยายการให้สถานะพลเรือนรัสเซีย ‘ด้วยวิธีรวดเร็ว’ หรือ Fast Track ให้แก่ชาวยูเครนทุกคน หรือต่อจากนี้ไป ชาวยูเครนทุกคนจะมีสิทธิ์ยื่นคำขอเป็นพลเรือนรัสเซียด้วยวิธีรวดเร็วได้นั่นเอง 

ก่อนหน้านี้รัสเซียจะให้สถานะพลเรือนรัสเซียด้วยวิธีรวดเร็วแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดโดเนตสก์และลูฮันสก์ ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครนเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ต่อมาได้ขยายไปถึงผู้อยู่อาศัยในเมืองซาปอริซเซีย และเมืองเคอร์ซอน ทางใต้ของยูเครนด้วยเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ หลังจาก 2 เมืองนี้อยู่ใต้การควบคุมของรัสเซีย 

ทว่าในส่วนของการลงนามผ่านกฎหมายรอบล่าสุดนี้ จะมีผลขยายไปถึงชาวยูเครนทั้งประเทศด้วย!!

'เซเลนสกี้' เร้ายุโรปยกระดับคว่ำบาตร แก้แค้นสงคราม 'ก๊าซ' ของรัสเซีย

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ในวันจันทร์ (25 ก.ค. 65) เรียกร้องยุโรปแก้เผ็ด "สงครามก๊าซ" ของรัสเซีย ด้วยการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานมอสโก

"สิ่งที่เราได้ยินในวันนี้ก็คือคำขู่รอบใหม่เกี่ยวกับการจ่ายก๊าซสู่ยุโรป มันคือสงครามก๊าซอย่างเปิดเผยที่รัสเซียกำลังทำกับความเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป" เซเลนสกีกล่าว ตอบสนองต่อถ้อยแถลงของก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานของรัสเซีย ที่ประกาศลดจ่ายก๊าซป้อนยุโรปรอบใหม่

ก่อนหน้านี้ ก๊าซพรอม เผยว่าจะปรับลดการส่งมอบก๊าซไปยังยุโรป ผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม เหลือเพียง 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือราว 20% ของความจุ เริ่มตั้งแต่วันพุธ (27 ก.ค. 65) เป็นต้นไป

ถ้อยแถลงของก๊าซพรอมระบุว่า จำเป็นต้องระงับปฏิบัติการของกังหันแปลงก๊าซ 1 ใน 2 ตัวสุดท้าย สืบเนื่องจากสภาพทางเทคนิคของเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลเยอรมนีบอกว่าพวกเขาไม่เห็นเหตุผลทางเทคนิคใด ๆ สำหรับการปรับลดจ่ายก๊าซล่าสุด 

ยุโรป พึ่งพิงทรัพยากรทางพลังงานของรัสเซียเป็นอย่างมาก และตะวันตกกล่าวหามอสโกกำลังใช้พลังงานเป็นอาวุธ ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้ หลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน

‘ยูเครน’ เล็งลงโทษหนัก ‘ชาวยูเครน’ หากขอสิทธิพลเมืองสหพันธรัฐรัสเซีย

ไม่นานมานี้ อนาโตลี สเตลมัคช์ (Anatoly Stelmakh) รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านผนวกคืนดินแดนที่ถูกยึดครองชั่วคราว เปิดเผยเมื่อ (25 ก.ค. 65) ว่า ‘ยูเครน’ กำลังหาทางกำหนดบทลงโทษหนักหน่วงสำหรับพลเรือนที่กำลังได้รับสิทธิพลเมืองสหพันธรัฐรัสเซีย โดยเวลานี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเสนอโทษปรับและจำคุกเป็นเวลานาน สำหรับบุคคลที่กำลังทำเช่นนั้น 

“เวลานี้เราอยู่ระหว่างพิจารณากฎหมาย ในบางมาตรากำหนดบทลงโทษต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่โทษปรับเงินไปจนถึงจำคุก 15 ปี” สเตลมัคช์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ยูเครน

แนวคิดของการกำหนดให้การได้รับสิทธิพลเมืองรัสเซียเป็น ‘อาชญากรรม’ ได้รับการสนับสนุนจาก ไอรินา เวเรสชุค (irina vereşuk) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงผนวกคืนดินแดนที่ถูกยึดครองชั่วคราว ซึ่งยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ร่างกฎหมายนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าทางกฎหมาย

โดย เวเรสชุค ได้โพสต์ข้อความบนเทเลแกรมเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ค.) ระบุว่า “ความพยายามรับสิทธิความเป็นพลเมืองรัสเซีย อาจเป็นความผิดทางอาญาในยูเครนเร็ว ๆ นี้ เพราะถึงแม้พาสปอร์ตของผู้รุกรานจะช่วยชาวบ้านทั่วไปให้อยู่รอดระหว่างการรุกรานได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เราจะอธิบายกับพลเมืองของเราอย่างไร พลเมืองที่สู้รบจนตัวตายในแนวหน้า? ฉะนั้นพาสปอร์ตรัสเซียจะต้องไม่มีทางเกิดขึ้นกับผู้คนในดินแดนของเรา”

เวเรสชุค เปิดเผยอีกว่า ประเด็นนี้เคยถูกหยิบยกมาหารือกันระหว่างการประชุมลับระหว่างหน่วยงานในกระทรวงฯ เพียงแต่ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎหมาย ที่จะมีการพูดคุยหารือกัน แต่ถึงนั้นแนวทางก็ได้ข้อสรุปแล้ว

เธอยอมรับอีกว่า การพูดคุยหารือ อาจต้องใช้เวลานานและยุ่งยากซับซ้อน ทั้งเกี่ยวกับแง่มุมทางกฎหมายของการถือครองพาสปอร์ตรัสเซีย เกี่ยวกับสิทธิมนุษชนและความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดภายใต้การรุกราน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า เลือดของชาวยูเครนจำนวนมากเปื้อนอยู่บนพาสปอร์ตสีแดงของรัสเซีย ทั้งเลือดของทหาร พลเรือน เลือดของผู้หญิง และเด็ก 

แฟนบอลตุรกี ตะโกนชื่อ 'ปูติน' เย้ยทีมยูเครน ระหว่างศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบคัดเลือก

ทูตยูเครนประจำตุรกีเมื่อวันพฤหัสบดี (28 ก.ค.) แสดงความรู้สึก 'เศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง' ต่อเหตุการณ์แฟนบอลของสโมสรเฟเนร์บาห์เชของตุรกี ตะโกนเรียกชื่อ 'วลาดิมีร์ ปูติน' ก้องสนาม เย้ยหยันทีมเยือน ระหว่างศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบคัดเลือก ระหว่างเจ้าถิ่นกับดีนาโม เคียฟ ของยูเครน ในอิสตันบูล

ในภาพที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ พบเห็นแฟนบอลบางส่วนที่อัดแน่นอยู่ในสนามเหย้าของเฟเนร์บาห์เช ตะโกนร้องเพลงเรียกชื่อประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบโต้หลังถูกทีมเยือนยิงออกนำไปก่อนในเกมการแข่งขันเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) ก่อนเกมจบลงด้วยการที่ ดีนาโม เคียฟ เป็นฝ่ายเอาชนะไป 2-1 และผ่านเข้าสู่รอบต่อไป หลังจากนัดแรกที่ ดีนาโม เคียฟ เป็นเจ้าบ้าน แต่ต้องย้ายไปแข่งที่โปแลนด์ สืบเนื่องจากการรุกรานของรัสเซีย ลงเอยด้วยการเสมอกัน 0-0

ผลในนัดนี้ทำให้ ดีนาโม เคียฟ ผ่านเข้าสู่รอบ 3 ของศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ส่วน เฟเนร์บาห์เช ต้องจอดป้ายเพียงเท่านี้

"มันน่าเศร้าอย่างยิ่งที่ได้ยินถ้อยคำสนับสนุนฆาตกรรัสเซียและผู้รุกรานที่ทิ้งระเบิดใส่ประเทศของเรา จากแฟนบอลของเฟเนร์บาห์เช" วาซีล บอดนาร์ เอกอัครราชทูตยูเครนประจำตุรกีเขียนบนทวิตเตอร์ ส่วนทางสโมสรเฟเนร์บาห์เช เผยแพร่ถ้อยแถลงว่าพฤติกรรมของแฟนบอล "ไม่ได้เป็นตัวแทนของจุดยืนและค่านิยมของสโมสร"

อย่างไรก็ตาม ทางเฟเนร์บาห์เช โต้แย้งว่าแฟนบอลส่งเสียงตะโกนชื่อปูติน "เป็นเวลาแค่ 20 วินาที" และไม่เผยแพร่ถ้อยแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการใดๆ

สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) เปิดเผยว่าพวกเขากำลังแต่งตั้งคณะผู้สืบสวนด้านจริยธรรมและระเบียบวินัย เข้าตรวจสอบคำกล่าวหาแฟนบอลของเฟเนร์บาห์เชแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ชื่อของ ปูติน มีความเกี่ยวข้องกับเคียฟ ทั้งในเรื่องการรุกรานที่ยืดเยื้อมานาน 5 เดือนและความขัดแย้งกับกบฏแบ่งแยกดินแดนที่เครมลินให้การสนับสนุน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน มากกว่า 14,000 คน นับตั้งแต่ปี 2014

มีร์เซีย ลูเชสคู ผู้จัดการทีมชาวโรมาเนียของดีนาโม ปฏิเสธเข้าร่วมแถลงข่าวหลังจบเกม เพื่อประท้วงเหตุตะโกนเรียกชื่อปูติน "ผมไม่คาดคิดเลยว่าจะมีการตะโกนแบบนี้ มันน่าเศร้ามาก" เขาระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ถึงสื่อมวลชนตุรกี

โดยทั่วไปแล้ว ตุรกี เป็นที่ชื่นชมในหมู่ประชาชนชาวยูเครนจำนวนมาก สืบเนื่องจากพวกเขาให้การสนับสนุนทางทหารแก่รัฐบาลเคียฟที่ได้รับการหนุนหลังจากตะวันตก

'แสนยากรณ์' ชื้ หากสภาเสียเวลาแก้ระบบเลือกตั้งนานไป จะทำให้ญัตติประชาชนแก้ รธน. ม.272 ห้าม ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่ทันสมัยประชุมนี้

นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งจากระบบหาร 500 กลับไปใช้ระบบหาร 100 ว่า เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภา เห็นชอบให้ใช้การคำนวณแบบหาร 500 ไปแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้อง แล้วลงมติวาระ 3 แต่บางฝ่ายที่อยากได้ระบบหาร 100 ส่งสัญญาณใช้แท็กติกทางการเมือง ยื้อเวลาให้การแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พิจารณาไม่ทันกรอบ 180 วัน คือวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้รัฐสภาผ่านกฎหมายไม่ได้แล้ว ยังส่งผลกระทบทำให้ญัตติสำคัญหลายญัตติ โดยเฉพาะญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อาจไม่ทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้

'เซเลนสกี' เผย อยากคุยกับ 'สี จิ้นผิง' หวังให้ช่วยเจรจากับ 'รัสเซีย' ยุติสงคราม

(4 ส.ค. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนเปิดโอกาสในการเจรจาโดยตรง พร้อมทั้งระบุว่า จีนไม่เคยตอบรับคำขอดังกล่าวมาตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อ 5 เดือนก่อน

ประธานาธิบดีเซเลนสกี ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ในฮ่องกงผ่านแอปพลิเคชันซูมเป็นเวลา 40 นาที ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อเอเชียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามว่า จีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลมาก สามารถมีอิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย นอกจากนี้จีนยังเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย เขาจึงอยากสนทนาโดยตรงกับประธานาธิบดีสี หลังจากที่เคยสนทนากัน 1 ครั้งเมื่อหนึ่งปีก่อน เพราะยูเครนได้แจ้งอย่างเป็นทางการกับจีนแล้วตั้งแต่รัสเซียเริ่มการรุกรานครั้งใหญ่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่ยังไม่มีโอกาสจนถึงขณะนี้ทั้งที่น่าจะเป็นประโยชน์

สื่อรัสเซียตีข่าว!! 'ผู้นำเกาหลีเหนือ' เสนอส่งทหาร 1 แสนนาย ช่วย 'ปูติน' ทำสงครามในยูเครน

สถานีโทรทัศน์แห่งชาติรัสเซีย เผยรัฐบาลเกาหลีเหนือเสนอที่จะส่งทหารอาสา 100,000 นาย เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

แม้ข้อเสนอที่ว่านี้จะยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันว่าจริงหรือไม่ แต่ อิกอร์ โกร็อตเชนโก (Igor Korotchenko) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในมอสโก ได้ออกมายุผ่านสื่อโทรทัศน์ว่า “เราไม่ควรเก้อเขินที่จะยอมรับน้ำใจของ คิม จองอึน”

“มีรายงานว่า อาสาสมัครชาวเกาหลีเหนือ 100,000 นาย พร้อมที่จะเข้าร่วมในการสู้รบครั้งนี้” เขาบอกผ่านสถานีโทรทัศน์ Channel One

โกร็อตเชนโก ยังเอ่ยชมกองทัพเกาหลีเหนือว่า “มีประสบการณ์เหลือล้นในด้านการยิงตอบโต้ (counter-battery warfare)” ซึ่งเป็นคำพูดที่มีนัยสำคัญพอควร ท่ามกลางกระแสข่าวว่ายูเครนเริ่มที่จะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการรบ หลังได้ระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ของสหรัฐฯ มาใช้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.

“หากเกาหลีเหนือแสดงความปรารถนาที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยการต่อสู้กับระบอบฟาสซิสต์ในยูเครน เราก็ควรอนุญาตให้พวกเขาทำ” โกร็อตเชนโก กล่าว

คำกล่าวอ้างเรื่องทหารอาสาเกาหลีเหนือมีขึ้น ในขณะที่บรรดาชาติพันธมิตรรัสเซียเริ่มมีการส่ง 'กองกำลังอาสาสมัคร' ไปช่วยเสริมทัพมอสโกมากขึ้นเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์ข่าวกรองตะวันตกมองว่า นี่คือสัญญาณบ่งชี้ว่าประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน อาจไม่มีต้นทุนทางการเมืองมากพอที่จะเรียกระดมพลชาวรัสเซียครั้งใหญ่ให้มาเป็นทหารต่อสู้เพื่อชาติ

รัสเซีย จัดทำประชามติผนวกดินแดน 'ซาปอริซห์เซีย' เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในเร็วๆ นี้

ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซห์เซียของยูเครน เตรียมจัดประชามติ ผนวกดินแดนกับรัสเซีย

รัสเซียเตรียมเดินเกมสุดซอยอีกครั้ง เมื่อเยฟเกนี บาลิทสกี ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซห์เซีย (Zaporizhzhia) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลรัสเซีย ได้ออกกฎหมายให้จัดทำประชามติในการผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในเร็ว ๆ นี้

ซาปอริซห์เซีย เป็นหนึ่งในแคว้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน อยู่ระหว่างแคว้นโดเนสค์ และเคอร์ชอน และยังติดกับทะเลอาซอฟด้วย เศรษฐกิจหลักของเมืองนี้ คือการผลิตอลูมิเนียม เหล็ก เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องยนต์อากาศยาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาปอริซห์เซีย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป 

และเช่นเดียวกันกับแคว้นโดเนสค์ และเคอร์ชอน ซาปอริซห์เซียเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่อยู่ในแผนการบุกของรัสเซียตั้งแต่เริ่มเปิดศึก และยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองไว้ได้ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย และทางรัสเซียก็ได้จัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนเข้าไปดูแลแทน ซึ่ง เยฟเกนี บาลิทสกี ได้รับเลือกให้ดูแลพื้นที่ส่วนยึดครองของรัสเซีย

แต่ทั้งนี้การตัดสินใจที่จะเร่งให้มีการผนวกดินแดน ซาปอริซห์เซีย เกิดขึ้นหลังจากที่มีการโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย ซึ่งทั้งฝ่ายยูเครน และรัสเซีย ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่ายเป็นผู้โจมตี 

เรื่องร้อนถึง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ส่งหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบให้ และหลังจากมีข่าวว่าทาง UN จะส่งคนเข้ามา จึงมีข่าวลือว่าฝ่ายรัสเซียจะทำประชามติเพื่อผนวกดินแดนโดยเร็ว

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน จึงออกมาแถลงออกสื่อว่า หากรัสเซียจะทำประชามติเพื่อผนวกดินแดนในพื้นที่ยึดครองของกองกำลังรัสเซียเมื่อใด ก็จะไม่มีการเจรจาเพื่อยุติสงครามใดๆ อีก ซึ่งเซเลนสกี้ย้ำว่า ยูเครนจะไม่ยอมยกดินแดนที่เป็นของเราให้ใครเป็นอันขาด  

'ตะวันตก' หวั่น!! รัสเซียส่งดาวเทียมอิหร่านขึ้นสู่อวกาศ คาด!! อาจใช้เล็งเป้าหมายทางทหารในยูเครน

กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่ามอสโกอาจใช้ดาวเทียมสอดแนมเป้าหมายทางทหารต่างๆ ในยูเครน หลังจากที่ไม่นานมานี้ รัสเซีย ได้ส่งดาวเทียม Khayyam (คัยยาม) ของอิหร่าน ทะยานขึ้นจากคาซัคสถานเมื่อวันอังคาร (9 ส.ค. 65) ที่ผ่านมา

ยูริ โบริซอฟ หัวหน้าขององค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) กล่าวที่ศูนย์ปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์ คอสโมโดรม ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งบริหารงานโดยมอสโก ยกย่องว่า "นี่คือหลักชัยแห่งประวัติศาสตร์ในความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน เปิดทางสู่การเกิดโครงการใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งโครงการที่ใหญ่กว่านี้"

ขณะที่ อิสซา ซาเรปูร์ รัฐมนตรีคมนาคมของอิหร่าน ซึ่งร่วมเป็นสักขีพยานการปล่อยดาวเทียม Khayyam เรียกมันว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และจุดเปลี่ยนสำหรับการเริ่มต้นการปฏิสัมพันธ์ใหม่ ๆ ในขอบเขตทางอวกาศระหว่าง 2 ประเทศ

ด้าน นาสเซอร์ คานานิ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ได้เขียนบนทวิตเตอร์ว่า "มันคือเส้นทางอันน่าอัศจรรย์แห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตรและแรงกดดันขั้นสูงสุดของศัตรู" ซึ่งข้อความนี้แสดงถึงความสัมพันธ์กับมอสโก ที่เลือกละเว้นวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน พร้อมกลบความสงสัยต่าง ๆ หลังจากมีหลายฝ่ายกังวลว่ามอสโกอาจใช้ Khayyam สอดแนมยูเครนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในฟากของ วอชิงตัน พูดถึงการปล่อยจรวดครั้งนี้ว่า ความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน สามารถถูกมองในฐานะเป็นภัยคุกคาม "เราทราบรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่รัสเซียปล่อยดาวเทียมลูกหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพอันสำคัญในการสอดแนมในนามของอิหร่าน" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวและว่า "ความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน เป็นสิ่งที่ทั่วทั้งโลกต้องจับตามองและมองมันในฐานะภัยคุกคาม"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างบรรดาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองตะวันตกที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่า รัสเซียมีแผนใช้ดาวเทียมดวงนี้เป็นเวลานานหลายเดือนหรือนานกว่านั้น เพื่อช่วยทำสงครามในยูเครน ก่อนส่งมอบการควบคุมให้แก่อิหร่าน พร้อมระบุอ้างว่า ไม่ถึง 2 ชั่วโมง หลังดาวเทียมถูกส่งขึ้นสู่อากาศด้วยจรวด Soyuz-2.1b ทางหน่วยงานอวกาศของอิหร่าน (ไอเอสเอ) เผยว่าทางสถานีภาคพื้นของหน่วยงานอวกาศอิหร่านได้รับข้อมูลเทเลเมติกส์ชุดแรกมาแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันอาทิตย์ (7 ส.ค.) พวกเขาเน้นย้ำว่าอิหร่านจะเป็นผู้ควบคุมดาวเทียม "ตั้งแต่วันแรก" ความเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนเป็นการตอบโต้รายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์

"ไม่มีประเทศที่ 3 ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ส่งมาโดยดาวเทียม สืบเนื่องจากใช้อัลกอริทึมในการเข้ารหัส" หน่วยงานอวกาศของอิหร่านกล่าว พร้อมระบุว่าจุดประสงค์ของ Khayyam คือเฝ้าระวังชายแดนของประเทศ เพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร สังเกตการณ์ทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ Khayyam ไม่ใช่ดาวเทียมดวงแรกของอิหร่านที่รัสเซียเป็นผู้ดำเนินการส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยในปี 2005 ดาวเทียม Sina-1 ของอิหร่าน ถูกส่งขึ้นวงโคจรจากศูนย์ปล่อยอวกาศยานเพลเซ็ตสก์ คอสโมโดรม ของรัสเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top