Wednesday, 15 May 2024
ยูเครน

'มาครง' ชี้!! อีกหลายสิบปียูเครนถึงจะได้เข้าสหภาพยุโรป แนะตั้ง 'ประชาคมการเมืองยุโรป' รับรองแทนอียู

เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า คงต้องใช้เวลา "นานหลายทศวรรษ" สำหรับผู้สมัครหนึ่งๆ อย่างเช่นยูเครน จะได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป ดังนั้นแนะนำให้จัดตั้งประชาคมทางการเมืองที่ครอบคลุมและมีขอบเขตนอกเหนือจากกลุ่มอียูขึ้นมา ในนั้นอาจรวมถึงสหราชอาณาจักร

แนวคิดนี้ได้รับการขานรับในแง่บวกทันทีจาก โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งระบุว่ามันเป็น "คำแนะนำที่น่าสนใจ" และบอกว่าเขา "มีความยินดียิ่ง" ที่จะหารือในเรื่องนี้กับผู้นำฝรั่งเศส

ยูเครน ซึ่งกำลังต่อสู้ต้านทานการรุกรานกับรัสเซีย กำลังหาทางเป็นสมาชิกอียู และทางคณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่าจะตอบกลับคำร้องขอในเดือนหน้า ก้าวย่างสำคัญก่อนนำประเด็นนี้สู่การพิจารณาของบรรดารัฐสมาชิกต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาครง กลบฝังความหวังของยูเครนในการรับเป็นสมาชิกอียูอย่างรวดเร็ว และแนะนำว่าการพิจารณาสร้างชมรมทางการเมืองนอกเหนืออียูอาจมีประสิทธิผลมากกว่า

"ผมขอพูดเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ ด้วยความสัตย์จริงที่เรามีต่อชาวยูเครน" มาครงกล่าว "เราสามารถมีกระบวนการที่รวดเร็ว ในการตอบรับสถานะรัฐผู้สมัครของยูเครน แต่เรารู้ว่าด้วยมาตรฐานและบรรทัดฐานของเรา บางทีมันอาจใช้เวลาหลายทศวรรษสำหรับยูเครน ในการได้เข้าร่วมสหภาพยุโรปจริงๆ"

อย่างไรก็ตาม มาครง เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ยุโรปต้องความสำคัญกับยูเครนและผู้หวังเป็นสมาชิกอียูรายอื่นๆ อย่างเช่นมอลโดวาและจอร์เจีย โดยเขาเรียกร้องให้จัดตั้ง "ประชาคมการเมืองยุโรป" ขึ้นมา

มาครงกล่าวระหว่างต้อนรับการมาเยือนของโชลซ์ ว่าสหราชอาณาจักรก็อาจเข้าร่วมในประชาคมนี้เช่นกัน "สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป แต่พวกเขาอาจมีที่ว่างในประชาคมทางการเมืองนี้"

'ยูเครน' ไฟเขียว!! ยึดทรัพย์สิน ‘รัสเซีย’ หวังใช้เป็นทุนหลักฟื้นฟูประเทศ

(11 พ.ค. 65) รายงานจากสำนักข่าวซินหัวเผย เดนิส ชมีฮัล นายกรัฐมนตรียูเครน กล่าวว่า รัฐบาลยูเครนได้อนุมัติการยึดทรัพย์สินของรัสเซียในยูเครนแล้ว

“วันนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเอกสารที่กำหนดการถ่ายโอนทรัพย์สินของรัสเซียในยูเครนมาเป็นของรัฐ หรือไปยัง ‘กองทุนเพื่อการลงทุนแห่งชาติ’ ของภาครัฐวิสาหกิจ” ชมีฮัล เผยผ่านเทเลแกรม

ชมีฮัล กล่าวว่า ทรัพย์สินของรัสเซียจะอยู่ภายใต้การจัดการโดยกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งชาติยูเครน และจะถูกใช้เสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพยูเครน สนับสนุนประชาชน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่

'สหรัฐฯ' ส่อหยุดชะงักส่งอาวุธช่วยเหลือ 'ยูเครน' เหตุ ต้องรอสภาคองเกรสอนุมัติงบก่อน

การส่งอาวุธของสหรัฐฯ ให้ยูเครนอาจถูกตัด อย่างน้อยๆ ก็ชั่วคราว จนกว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติงบประมาณใหม่เกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับช่วยเหลือยูเครนสกัดการรุกรานของรัสเซีย จากคำเตือนของกระกรวงกลาโหมอเมริกาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

"19 พฤษภาคมคือวันนั้น หากปราศจากอำนาจเพิ่มเติม เราจะเริ่มไม่มีศักยภาพส่งมอบอาวุธใหม่ๆ เข้าไป" จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (13 พ.ค.) "ในวันที่ 19 พฤษภาคม มันจะเริ่มส่งผลกระทบต่อความสามารถมอบความช่วยเหลือโดยไม่ติดขัด"

การส่งมอบอาวุธไปยังยูเครนจะไม่หยุดลงในทันทีในวันที่ 20 พฤษภาคม แม้ปราศจากงบประมาณดังกล่าว เพราะว่ายังคงเหลืออาวุธบางส่วนที่จัดซื้อภายใต้อำนาจการใช้จ่ายราว 100 ดอลลาร์สหรัฐในงบประมาณช่วยเหลือยูเครนของเพนตากอนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เคอร์บี ยอมรับว่าเพนตากอนอาจต้องหยุดนิ่งเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง หากการอนุมัติเห็นชอบแพกเกจช่วยเหลือยูเครนรอบใหม่ล่าช้าเป็นเวลานาน

แพกเกจช่วยเหลือยูเครนรอบใหม่ของวอชิงตัน มูลค่า 39,800 ล้านดอลลาร์ ผ่านความเห็นชอบอย่างท่วมท้นจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในคืนวันอังคาร (10 พ.ค.) แต่วุฒิสภาสหรัฐฯ ล้มเหลวในความพยายามเร่งรัดให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.)

แม้ร่างงบประมาณดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แต่มันจำเป็นต้องได้ไฟเขียวอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 2 พรรค สำหรับลงมติโดยไม่จำเป็นต้องอภิปรายใดๆ ทว่าความพยายามดังกล่าวถูกยับยั้งด้วย 1 เสียงค้านของ ส.ว.แรนด์ พอล จากเคนทักกี พรรครีพับลิกัน ซึ่งยืนกรานให้มีการแต่งตั้ง “ผู้ตรวจสอบ” เพื่อติดตามการใช้จ่ายเงินก้อนนี้ว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

พอล เรียกร้องให้แก้ข้อความในร่างกฎหมายเพื่อกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบพิเศษ (inspector general) คอยกำกับการใช้เงิน และยังตั้งข้อสังเกตว่า เงินที่จะช่วยยูเครนนั้นมากกว่างบประมาณที่สหรัฐฯ ใช้จ่ายกับหลายๆ โครงการในประเทศเสียอีก และยังมากพอๆ กับงบป้องกันประเทศที่รัสเซียจัดสรรตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และกระพือปัญหาเงินเฟ้อ

“ไม่ว่าเราจะเห็นอกเห็นใจพวกเขาขนาดไหน แต่ผมได้ให้สัตยาบันตอนเข้ารับตำแหน่งว่าจะปกป้องความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา” พอล กล่าว “เราไม่สามารถปกป้องยูเครนด้วยการทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองได้”

เคอร์บี เน้นย้ำว่า เพนตากอนร้องขอให้มอบงบประมาณใหม่สำหรับช่วยเหลือยูเครน ให้ทันสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม "แน่นอน เราเรียกร้องวุฒิสภาดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราไม่สามารถปล่อยให้ผ่านไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยปราศจากอำนาจใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ"

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติร่างงบประมาณช่วยเหลือยูเครนมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 368 ต่อ 57 แต่ด้วยทุกเสียงที่โหวต “ไม่เห็นด้วย” ล้วนมาจากพรรครีพับลิกันนั้น มันบ่งชี้ว่าฝ่ายรีพับลิกันนั้นมีความเห็นแตกแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นนี้

ตุรกียื่นข้อเสนอ รับสวีเดนและฟินแลนด์เข้า NATO หากหยุดสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในตุรกี | NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช EP.52

✨ ตุรกียื่นข้อเสนอ รับสวีเดนและฟินแลนด์เข้า NATO หากหยุดสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในตุรกี

✨ เสียสละซะ!! ‘ทูตยูเครน’ ชี้!! ชาติยุโรปควรเสียสละทางเศรษฐกิจ เพื่อกดดันการคว่ำบาตรรัสเซีย

✨ จีนฟาดกลับแรง!! บอก G7 ควรใส่ใจปัญหาของตน หยุดบังคับชาติอื่นคว่ำบาตรตามคำสั่ง

NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช

โดย อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

.

.

'ฝรั่งเศส' ชี้!! ยูเครนสมัครเข้าอียู ต้องใช้เวลา 15-20 ปี หากใครบอกทำได้เร็วกว่านี้ ถือว่า 'พูดไม่จริง'

เคลมองต์ โบน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปของฝรั่งเศส เตือนว่า กระบวนการพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียู อาจใช้เวลา 15-20 ปี โดยเรื่องนี้ต้องพูดกันอย่างจริงใจ แต่ถ้าใครบอกว่าใช้เวลา 6 เดือน หนึ่งปี หรือ สองปี ถือว่ากำลังพูดไม่จริง 

พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อเสนอของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เพื่อตั้งประชาคมการเมืองขึ้นมา และจะสามารถรวมเอายูเครนเข้าร่วมกลุ่มได้เร็วกว่า ที่พูดเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการเสนออะไรที่เป็นภาพมายา หรือคำโกหกกับยูเครน ข้อเสนอของผู้นำฝรั่งเศสไม่ใช่ทางเลือก และยูเครนยังสามารถยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียูภายหลังได้อีก

ความเห็นของโบน ถือเป็นการทำลายความหวังของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เพื่อเร่งเข้าเป็นสมาชิกอียู ในช่วงที่มีปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน 

อดีตทูตสหรัฐฯ หลุดปาก! อเมริกาโกหกยูเครน รู้ทั้งรู้ไม่มีโอกาสเข้าร่วมนาโต้

วอชิงตัน จงใจโกหกเกี่ยวกับโอกาสของยูเครนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ทั้งที่รู้ดีว่าอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ไม่ใช่ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จากคำพูดของ ไมเคิล แม็คฟอล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย

อดีตทูตระดับอาวุโสรายนี้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเวทีอภิปรายด้านนโยบายสาธารณะ Munk Debates ในโทรอนโต เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

แม็คฟอล จับคู่กับ ราโดสลาฟ ซิคอร์สกี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโปแลนด์ ถกเถียงกับ สตีเฟน วอล์ท ศาสตราจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจอห์น เมียร์ไชเมอร์ นักรัฐศาสตร์ ในประเด็นความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดย 2 คนหลังอ้างว่าความขัดแย้งสามารถหลีกเลี่ยงได้และมีบ่อเกิดจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสหรัฐฯ และนาโต้ ส่วน แม็คฟาล และซิคอร์สกี มองว่ามีเพียงรัสเซียและความทะเยอทะยานของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เท่านั้น ที่ควรถูกกล่าวโทษ

วอล์ท ตั้งถามว่าทำไมวอชิงตันถึงได้เดินหน้าผลักดันอย่างไม่ลดละให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ แม้มอสโกแสดงความกังวลด้านความปลอดภัย "ในปี 2021 เราพูดย้ำมาตลอดว่ายูเครนกำลังเข้าร่วมนาโต้" เขากล่าว "เราพูดแบบนั้น อีกครั้งและอีกครั้ง"

‘เซเลนสกี’ เยือนแนวหน้าครั้งแรกนับแต่เกิดสงคราม พร้อมไล่ออก ผบ.ความมั่นคงฐานไม่ปกป้องเมือง

เมื่อวันอาทิตย์ (29 พ.ค.) ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เดินทางเยือนภาคตะวันออกของประเทศ ที่ถูกสงครามฉีกเป็นชิ้นๆ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียรุกราน ในขณะที่กองกำลังรัสเซียรุกคืบเมืองสำคัญต่างๆ ในภูมิภาคดอนบาส

หลังจากเดินทางเยือนเมืองคาร์คิฟ เซเลนสกีแถลงว่าเขาได้ไล่ออกผู้บัญชาการความมั่นคงของเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้ ในการตำหนิต่อหน้าสาธารณะอย่างที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก

เซเลนสกี ระบุว่า ผู้บัญชาการความมั่นคงท้องถิ่นรายนี้ถูกปลด "โทษฐานที่ไม่ทำงานเพื่อปกป้องเมืองตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ และคิดถึงแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น"

แม้ประธานาธิบดีไม่ได้เอ่ยชื่อเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว แต่สื่อมวลชนยูเครนระบุว่า บุคคลรายนั้นคือนายโรมัน ดูดิน หัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง SBU ประจำแคว้นคาร์คิฟ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานของเซเลนสกี โพสต์วิดีโอหนึ่งลงบนเทเลแกรม เป็นภาพประธานาธิบดีสวมเสื้อเกราะกันกระสุน ระหว่างเดินตรวจสอบอาคารต่างๆ ที่ถูกทำลายในเมืองคาร์คิฟ และพื้นที่โดยรอบ

ในขณะที่สงครามทำลายพื้นที่อันกว้างขวางในประเทศของเขา ประธานาธิบดียูเครนรายนี้มีกำหนดพูดคุยกับพวกผู้นำสหภาพยุโรปผ่านวิดีโอลิงก์ ในบรัสเซลล์ ในวันจันทร์ (30 พ.ค.) ในขณะที่อียูกำลังหาทางผ่าทางตันคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย

นับตั้งแต่ล้มเหลวการยึดกรุงเคียฟในช่วงต้นๆ ของสงคราม และจากนั้นก็ล่าถอยออกจากพื้นที่คาร์คิฟ รัสเซียเปลี่ยนเป้าหมายไปที่ภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน
 

ปูตินเตือน!! รัสเซียจะโจมตีหนักขึ้น หากตะวันตกส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน

สำนักข่าว TASS รายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า หากมีการจัดหาขีปนาวุธดังกล่าวปูตินกล่าวว่า "เราจะโจมตีเป้าหมายที่เรายังไม่ได้โจมตี" ปูตินในระหว่างการสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ Rossiya-1

ปูตินไม่ได้ระบุเป้าหมายที่รัสเซียวางแผนจะติดตามหากประเทศตะวันตกเริ่มส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้กับยูเครน เขากล่าวว่า "ความยุ่งยาก" เกี่ยวกับการจัดหาอาวุธของชาติตะวันตกที่ส่งไปยังยูเครน ถูกวางแผนมาเพื่อทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อออกไป

ยูเครนกำลังค้นหาระบบปล่อยจรวดหลายเครื่อง (MLRS) เช่น M270 และ M142 HIMARS เพื่อโจมตีกองทหารและคลังอาวุธที่ด้านหลังของกองกำลังรัสเซีย

'ทรัมป์' เตือน!! อาวุธที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครน อาจบานปลายสู่ 'สงครามโลกครั้งที่ 3'

ความช่วยเหลือด้านการทหารอันมากมายเกินขอบเขตที่ทางสหรัฐฯ มอบแก่เคียฟ อาจก่อผลลัพธ์ลากความขัดแย้งในยูเครนลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 จากคำเตือนของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีอเมริกา

"เรามีสงครามในยูเครน และบางทีมันอาจกำลังมุ่งหน้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 สืบเนื่องจากแนวทางที่เรากำลังบริหารจัดการมัน" ทรัมป์พูดเตือนระหว่างกล่าวปราศรัยกับที่ประชุมหนึ่งในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี เมื่อวันศุกร์ (17 มิ.ย.)

"เราเพิ่งมอบเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจาก 16,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นเราทุ่มเงินไปทั้งหมด 56,000 ล้านดอลลาร์" ทรัมป์กล่าวพาดพิงถึงแพกเกจช่วยเหลือของรัฐบาลไบเดน ที่อนุมัติมอบแก่ยูเครน ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซีย

"แต่หากคุณมองไปที่ยุโรป เยอรมนี ฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ เหล่านั้นทั้งหมด พวกเขามอบเงินแค่เศษเล็กๆ เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรากำลังมอบให้ เรากำลังมอบความช่วยเหลือ 56,000 ล้านดอลลาร์ พวกเขาให้เงินช่วยเหลือแค่ไม่กี่พันล้านดอลลาร์ และพวกเขาก็เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน"

‘ไบเดน’ เชื่อ!! ยูเครนจะได้เข้าเป็นสมาชิกอียู ปัดแวะยูเครนระหว่างเยือนยุโรปปลายเดือนนี้

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวานนี้ (20 มิถุนายน) ว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ยูเครน จะได้เข้าเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู

ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่จะถึง คาดว่า ผู้นำอียู จะตัดสินใจมอบสถานะผู้สมัครสมาชิกอียูอย่างเป็นทางการให้แก่ยูเครน และหากเป็นเช่นนั้นจริง จะถือเป็นชัยชนะของยูเครน หลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

อย่างไรก็ตาม หากยูเครนได้รับสถานะผู้สมัครอียู ก็ยังเป็นเพียง ‘ก้าวแรก’ ของกระบวนการอันยาวนาน ก่อนที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกอียูเท่านั้น และกระบวนการดังกล่าว อาจใช้เวลาได้นานถึงหลายทศวรรษ 

ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงการเยือนยูเครน ไบเดนก็กล่าวด้วยว่า ยังเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเดินทางเยือนยูเครนในระหว่างที่เขาจะเยือนยุโรปในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมระบุว่า การเยือนยูเครนของเขา ยังเป็นประเด็นในการพิจารณา 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top