'มาครง' ชี้!! อีกหลายสิบปียูเครนถึงจะได้เข้าสหภาพยุโรป แนะตั้ง 'ประชาคมการเมืองยุโรป' รับรองแทนอียู

เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า คงต้องใช้เวลา "นานหลายทศวรรษ" สำหรับผู้สมัครหนึ่งๆ อย่างเช่นยูเครน จะได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป ดังนั้นแนะนำให้จัดตั้งประชาคมทางการเมืองที่ครอบคลุมและมีขอบเขตนอกเหนือจากกลุ่มอียูขึ้นมา ในนั้นอาจรวมถึงสหราชอาณาจักร

แนวคิดนี้ได้รับการขานรับในแง่บวกทันทีจาก โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งระบุว่ามันเป็น "คำแนะนำที่น่าสนใจ" และบอกว่าเขา "มีความยินดียิ่ง" ที่จะหารือในเรื่องนี้กับผู้นำฝรั่งเศส

ยูเครน ซึ่งกำลังต่อสู้ต้านทานการรุกรานกับรัสเซีย กำลังหาทางเป็นสมาชิกอียู และทางคณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่าจะตอบกลับคำร้องขอในเดือนหน้า ก้าวย่างสำคัญก่อนนำประเด็นนี้สู่การพิจารณาของบรรดารัฐสมาชิกต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาครง กลบฝังความหวังของยูเครนในการรับเป็นสมาชิกอียูอย่างรวดเร็ว และแนะนำว่าการพิจารณาสร้างชมรมทางการเมืองนอกเหนืออียูอาจมีประสิทธิผลมากกว่า

"ผมขอพูดเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ ด้วยความสัตย์จริงที่เรามีต่อชาวยูเครน" มาครงกล่าว "เราสามารถมีกระบวนการที่รวดเร็ว ในการตอบรับสถานะรัฐผู้สมัครของยูเครน แต่เรารู้ว่าด้วยมาตรฐานและบรรทัดฐานของเรา บางทีมันอาจใช้เวลาหลายทศวรรษสำหรับยูเครน ในการได้เข้าร่วมสหภาพยุโรปจริงๆ"

อย่างไรก็ตาม มาครง เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ยุโรปต้องความสำคัญกับยูเครนและผู้หวังเป็นสมาชิกอียูรายอื่นๆ อย่างเช่นมอลโดวาและจอร์เจีย โดยเขาเรียกร้องให้จัดตั้ง "ประชาคมการเมืองยุโรป" ขึ้นมา

มาครงกล่าวระหว่างต้อนรับการมาเยือนของโชลซ์ ว่าสหราชอาณาจักรก็อาจเข้าร่วมในประชาคมนี้เช่นกัน "สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป แต่พวกเขาอาจมีที่ว่างในประชาคมทางการเมืองนี้"

สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้เริ่มออกเดินทางของเส้นทางแห่งการเป็นสมาชิกอียูและใกล้ได้เข้าร่วมแล้ว มาครงเชื่อว่าชาติเหล่านั้นควรเดินหน้าต่อไปจนสุดทาง แต่เขาบอกว่า "ประเทศอื่นๆ อย่างบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ซึ่งอยู่ไกลออกไปมากและชาติอื่นๆ ในทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่าน หรือบรรดาประเทศที่ได้ตอบแบบสอบถามแล้ว บางรายตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน อาจปรารถนาเข้าร่วมกับประชาคมที่กว้างขวางนี้แทน"

"องค์การใหม่ของยุโรปนี้จะเปิดทางให้บรรดาประเทศประชาธิปไตยยุโรป ค้นหาพื้นที่ใหม่สำหรับความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง ความร่วมมือทางพลังงาน การขนส่ง การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน และความเคลื่อนไหวของประชาชน"

รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนหนึ่งในการขัดขวางความทะเยอทะยานเข้าร่วมอียูและนาโตของยูเครน ในขณะที่ จอร์เจียและมอสโดวา ก็เคยถูกทหารมอสโกรุกรานบางส่วนเช่นกัน

ในเวลาต่อมา มาครงและโชลซ์ แสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนในวันจันทร์ (9 พ.ค.) ระหว่างเดือนทางเยือนประตูบรันเดินบวร์ค สัญลักษณ์สำคัญของเบอร์ลิน ซึ่งมีการส่องไฟเป็นสีธงชาติยูเครน


(ที่มา:เอเอฟพี)
https://mgronline.com/around/detail/9650000044140