Thursday, 9 May 2024
มาครง

ฝรั่งเศสเมินกระแสแบนโอลิมปิกจีนตามสหรัฐฯ ขอเอาเวลาไปแก้ปัญหาอย่างอื่นดีกว่า

หลังจากที่​ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแบนงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ด้วยการไม่ส่งคณะฑูต และตัวแทนรัฐบาลไปร่วมในงานพิธีเปิดตามธรรมเนียมงานกีฬาระดับโลก เป็นการประท้วงจีน ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ และการกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง จนมีชาติพันธมิตรยักษ์ใหญ่อีกหลายชาติ ทั้ง อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย ตัดสินใจร่วมแบนเจ้าภาพจีนตามสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกันนั้น

ทว่า ฟากฝั่ง​ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสกลับออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเสียงดังฟังชัดว่า ฝรั่งเศสจะไม่ตามกระแส แบนโอลิมปิกฤดูหนาวของจีนตามสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลว่า การแบนด้วยการไม่ส่งตัวแทนรัฐบาลไปร่วมพิธีเปิด ไม่ได้สร้างนัยสำคัญอะไรเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มันสร้างสรรค์และตรงจุดกว่านี้น่าจะดีกว่า

มาครงเน้นย้ำว่า "งานโอลิมปิก เป็นงานกีฬา ไม่ควรเอาเรื่องการเมืองมายุ่ง ถ้าจะต้องการชูประเด็นทางการเมือง ผมจะไปหาทำเรื่องอื่นที่มันสร้างกระแสที่ชัดเจนกว่านี้"

ซึ่งมาครงยังกล่าวถึงกลยุทธ์การแบนโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกาว่า "ผมขอพูดตรง ๆ​ นะ ถ้าคุณจะแบนเจ้าภาพงานโอลิมปิก ด้วยการแค่ไม่ส่งคนของรัฐบาลไปร่วมในพิธีเปิด แต่ยังส่งนักกีฬาไปแข่ง เป็นแค่การแบนเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าจะแบนทั้งที ก็ไม่ควรทั้งไปร่วมงาน หรือแม้แต่ส่งนักกีฬาไปแข่ง ถึงจะเป็นการแสดงออกที่มีความหมาย และเป็นที่จดจำอย่างแท้จริง"

และก็ไม่ใช่ว่าทางฝรั่งเศสไม่สนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพียงแต่เลือกที่ผลักดันในวิธีการที่แตกต่าง และตรงจุดกว่า อย่างเช่นประเด็นของ เผิง ฉ่วย นักเทนนิสสาวชาวจีน ที่มีประเด็นอื้อฉาวว่าเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยอดีตรองนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งฝรั่งเศสได้ทำงานผ่านทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลอย่างเต็มที่เพื่อคุ้มครองนักกีฬา

เลือกตั้งปธน.ฝรั่งเศส สูสี! ผู้สมัครต้าน 'นาโต' เบียด 'มาครง' คาด!! หากคว้าชัย อาจถอนตัวจากสหภาพยุโรป

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และผู้ท้าชิงอย่าง มารีน เลอ แปง ผ่านเข้าไปชิงชัยในรอบ 2 ของศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส หลังมีคะแนนเบียดกันคู่คี่สูสีในศึกเลือกตั้งรอบแรก กลายเป็นการเชผิญหน้าโดยตรงระหว่างฝ่ายฝักใฝ่เสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับฝ่ายชาตินิยมขวาจัด ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านการเป็นสมาชิกอียู และนาโต้

จากการที่ มาครง มีคะแนนนำหน้า เลอ แปง หลังผ่านพ้นศึกเลือกตั้งรอบแรกในวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) ทำให้ผู้สมัครคนสำคัญอื่นๆ ต่างพากันออกยอมรับความพ่ายแพ้ ยกเว้นแต่ เอริค เซมมูวร์ ผู้สมัครฝ่ายขวาจัดอีกคน ทั้งหมดเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกลับมาลงคะแนนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพล Ifop พบว่า คะแนนนิยมของทั้งคู่เป็นไปอย่างสูสี โดย มาครง ได้แรงหนุน 51% ส่วน เลอ แปง มีคะแนนนิยม 49% และด้วยขอบเขตความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดังนั้นชัยชนะจึงสามารถออกไปทั้ง 2 ทาง

ในปี 2017 มาครง คว้าชัยชนะไปด้วยคะแนนโหวต 66.1%

อย่างไรก็ดี เลอ แปง ทำคะแนนตีตื้นขึ้นมา หลังจากมีคะแนนนิยมตามหลัง มาครง ห่างถึง 10 จุด ในผลสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลจากการรณรงค์หาเสียงที่มุ่งเน้นประเด็นค่าครองชีพ โดยเธอบอกว่าเธอเป็นคนเดียวที่ปกป้องผู้อ่อนแอและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ที่เหนื่อยหน่ายกับบรรดาผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองทั้งหลาย

มาครง รวบรวมคะแนนเสียงได้ราว 28.1-29.5% ในศึกเลือกตั้งรอบแรก ส่วนเลอ แปง มีคะแนนราว 23.3-24.4% จากการคาดการณ์ของสำนักโพล Ifop, OpinionWay, Elabe และ Ipsos ขณะที่ผลอย่างเป็นทางการคาดหมายว่าจะมีการยืนยันออกมาหลังจากนี้ในวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น

ทั้งนี้ เป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษแล้วที่ไม่มีประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใดที่ชนะเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัย 2

ไม่ถึง 1 เดือนก่อน มาครง อยู่บนเส้นทางกลับสู่เก้าอี้อย่างสบายๆ จากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลต่างๆ ผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และบทบาทรัฐบุรุษของเขาในความพยายามหลีกเลี่ยงสงครามในยูเครน บนปีกตะวันออกของยุโรป

อย่างไรก็ตาม เขามาเสียท่าเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของหาเสียง และถูก เลอ แปง ลดช่องว่างลงมาเรื่อยๆ

เลอ แปง ซึ่งเคยชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อย่างเปิดเผย จนกระทั่ง ปูติน รุกรานยูเครน ได้เดินทางเยี่ยมเยือนเมืองและหมู่บ้านต่างๆ เป็นเวลานานหลายเดือน เธอมุ่งเน้นประเด็นค่าครองชีพที่ก่อปัญหาแก่ประชาชนหลายล้านคน และฉวยประโยชน์จากความขุ่นเคืองที่มีต่อคณะผู้ปกครองประเทศ

'มาครง' ชี้!! อีกหลายสิบปียูเครนถึงจะได้เข้าสหภาพยุโรป แนะตั้ง 'ประชาคมการเมืองยุโรป' รับรองแทนอียู

เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า คงต้องใช้เวลา "นานหลายทศวรรษ" สำหรับผู้สมัครหนึ่งๆ อย่างเช่นยูเครน จะได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป ดังนั้นแนะนำให้จัดตั้งประชาคมทางการเมืองที่ครอบคลุมและมีขอบเขตนอกเหนือจากกลุ่มอียูขึ้นมา ในนั้นอาจรวมถึงสหราชอาณาจักร

แนวคิดนี้ได้รับการขานรับในแง่บวกทันทีจาก โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งระบุว่ามันเป็น "คำแนะนำที่น่าสนใจ" และบอกว่าเขา "มีความยินดียิ่ง" ที่จะหารือในเรื่องนี้กับผู้นำฝรั่งเศส

ยูเครน ซึ่งกำลังต่อสู้ต้านทานการรุกรานกับรัสเซีย กำลังหาทางเป็นสมาชิกอียู และทางคณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่าจะตอบกลับคำร้องขอในเดือนหน้า ก้าวย่างสำคัญก่อนนำประเด็นนี้สู่การพิจารณาของบรรดารัฐสมาชิกต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาครง กลบฝังความหวังของยูเครนในการรับเป็นสมาชิกอียูอย่างรวดเร็ว และแนะนำว่าการพิจารณาสร้างชมรมทางการเมืองนอกเหนืออียูอาจมีประสิทธิผลมากกว่า

"ผมขอพูดเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ ด้วยความสัตย์จริงที่เรามีต่อชาวยูเครน" มาครงกล่าว "เราสามารถมีกระบวนการที่รวดเร็ว ในการตอบรับสถานะรัฐผู้สมัครของยูเครน แต่เรารู้ว่าด้วยมาตรฐานและบรรทัดฐานของเรา บางทีมันอาจใช้เวลาหลายทศวรรษสำหรับยูเครน ในการได้เข้าร่วมสหภาพยุโรปจริงๆ"

อย่างไรก็ตาม มาครง เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ยุโรปต้องความสำคัญกับยูเครนและผู้หวังเป็นสมาชิกอียูรายอื่นๆ อย่างเช่นมอลโดวาและจอร์เจีย โดยเขาเรียกร้องให้จัดตั้ง "ประชาคมการเมืองยุโรป" ขึ้นมา

มาครงกล่าวระหว่างต้อนรับการมาเยือนของโชลซ์ ว่าสหราชอาณาจักรก็อาจเข้าร่วมในประชาคมนี้เช่นกัน "สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป แต่พวกเขาอาจมีที่ว่างในประชาคมทางการเมืองนี้"

รู้จัก ‘มาครง’ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2 สมัย ชีวิต - ความรัก - การงาน - การเมือง

Bonjour … comment allez-vous? สวัสดี...สบายดีมั้ย นี่เป็นคำทักทายในภาษาฝรั่งเศส ที่ใครมีโอกาสได้พบกับผู้นำสุดหล่อแห่งฝรั่งเศสสามารถเตรียมไว้ทักทายกันได้ หลังจากในการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้ถูกรับเชิญเป็นแขกพิเศษในการประชุมครั้งนี้ และผู้ที่มาร่วมประชุม ก็คือ แอมานุแอล ฌ็อง-มีแชล เฟรเดริก มาครง (Emmanuel Jean-Michel Frédéric Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางกาเตอรีน โกลอนนา (Catherine Colonna) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส 

ทว่าก่อนที่จะได้ทราบกันว่าสาระสำคัญของไทย-ฝรั่งเศสใน APEC 2022 นี้ จะมีมิติใดอัปเดตบ้างนั้น THE STATES TIMES ก็ขออนุญาตพาทุกท่านไปรู้จักกับประธานาธิบดีท่านนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ 

Emmanuel Jean-Michel Frédéric Macron เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ 2520 ที่เมืองเอเมียงส์ ประเทศฝรั่งเศส โดยครอบครัวทำงานอยู่ใวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มาครงได้ศึกษาระดับประถม-มัธยมศึกษาที่โรงเรียนในเมืองเอเตียง ก่อนย้ายไปศึกษามัธยมปลายที่โรงเรียน อองรีที่ 4 (Lyeeé Henri-IV) เป็นโรงเรียนมัธยมชั้นสูงเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปารีส เมื่อเขาจบมัธยมปลาย เขาได้ศึกษาต่อด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปารีส น็องแตร์ (Université Paris Ouest Nanterre La Dèfense) และศึกษาต่อในด้านการบริหารกิจการสาธารณะ สถาบันซีอองซ์ โป (Science Po - The Institut d études politiques de Paris) มาครงมีความชื่นชอบและสนใจด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา และ ศิลปะ 

มาครง เข้าทำงานในแวดวงการเงิน การธนาคาร โดยทำงานให้กับบริษัท Rothschild บริษัททรงอิทธิพลที่เป็นเจ้าของเครือข่ายธนาคารหลายแห่งในยุโรป ตั้งแต่ปี 2551 และเคยทำหน้าที่ในกระทรวงการคลัง โดยเป็นผู้ช่วยในทีมของ ฌากส์ อัตตาลี นักการเมืองผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี มิต เตร็อง และได้ลาออกไปทำงานให้กับบริษัท ร็อธส์ไซลด์ ในปี 2551 และได้เข้ามาทำงานการเมืองอย่างจริงจัง โดยเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้เสนอชื่อเขาขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ในปี 2557 

ด้านความรัก: ความรักของมาครง เมื่อเขาอายุ 17 ปี เขาเปิดเผยกับคุณครูผู้เป็นที่รักว่า เขาอยากแต่งงานกับเธอ ถึงแม้ว่าเขาจะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม แต่มาครงบอกกับเธอว่า "ผมจะกลับมาหาคุณ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ผมก็จะแต่งงานกับคุณให้ได้" หลังจากเวลาผ่านไปนานหลายปี ความรักที่มาครงมีให้คุณครูก็ไม่เคยจืดจางลงไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 ขณะที่มาครงอายุได้ 29 ปี บริจิตต์ก็หย่าขาดจากสามี และมาครงก็ได้แต่งงานกับเธอดังที่เขาปรารถนามาตลอด โดยไม่สนคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จากสังคม 

ด้านการเมือง: เขาได้ก้าวทำงานด้านการเมืองแบบจริงจัง โดยเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้เสนอชื่อเขาขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจในปี 2557 โดยเขาได้ร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นผลักดันให้รัฐบาลมีความเป็นมิตรกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสภา และถูกตัดลงไป ไม่ผ่านการอนุมัติ

จุดเปลี่ยนในการจัดตั้งพรรคการเมือง … เขาเล็งเห็นว่า แนวคิดของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่สามารถไปกันได้กับนโยบายของพรรคสังคมนิยม ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี ออลลองด์ มาครงจึงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี และออกมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ในปี 2559 ในชื่อ ‘ออง มาร์ช (En Marche)’ มีชื่อทางการว่า สมาคมเพื่อการฟื้นฟูชีวิตการเมือง (Association pour le renouvellement de la vie politique) ซึ่งมีความหมายตรงตัวถึงการเคลื่อนไหว เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเสรีนิยมสายกลาง ที่มีเป้าหมายปฏิรูปการเมืองของฝรั่งเศสให้ก้าวไปข้างหน้า และให้ความเคารพกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนในประเทศ ซึ่งการจัดตั้งพรรคการเมืองของมาครง เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของฝรั่งเศส และเขาคือ 1 ในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในการเลือกตั้ง ในปี 2560 โดยผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 (อย่างไม่เป็นทางการ) รอบแรก พบว่า แอมานุแอล มาครง มีคะแนนเสียงอันดับ 1 คิดเป็น 24.01% แซงมารีน เลอ แปน จากพรรคแนวร่วมสร้างชาติ 21.30% ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 มีการเลือกตั้งรอบที่ 2 ระหว่าง แอมานุแอล มาครง จากพรรคอ็องมาร์ช และ มารีน เลอแปน จากพรรคแนวร่วมสร้างชาติ ผลการเลือกตั้งรอบที่ 2 ปรากฎว่า แอมานุแอล มาครง มีคะแนนคิดเป็น 66.10% ในขณะที่มารีน เลอ แปน มีคะแนนคิดเป็น 33.90% ทำให้มาครงกลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และเป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส และเป็นประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่สมัยโบเลียน

คาดเดาบทบาท ‘มาครง’ ในเวที APEC 2022 ผูกมิตรกล่อม ‘จีน’ ด้วยท่าทีที่สวนทาง ‘ทรูโด’

แม้เป้าประสงค์หลักของการประชุมเอเปคจะอยู่ที่การส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคี หรือการร่วมพูดคุยกันหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก 

แต่ด้วยสมาชิกที่หลากหลาย และครอบคลุมมหาอำนาจโลกหลายแห่ง ซึ่งรวมไปถึง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้นั้น มันก็คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจที่มารวมตัวกัน จะช่วงชิงอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลก ตามสถานการณ์และวิกฤตโลกที่เกิดขึ้น 

ยกตัวอย่างในปีนี้กับความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งเรื่องการค้า และประเด็นไต้หวัน รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ลามผลกระทบไปสู่เรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังต่อประเทศคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวพันในห่วงโซ่นี้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามใน ‘ทางแจ้ง’ ใครจะวัดพลังกันบนเวที ก็ทำกันไป แต่ใน ‘ทางลับ’ ก็มีเรื่องให้น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะหากสังเกตให้ดีบนเวทีประชุมใหญ่ ๆ ระดับโลกเช่นนี้ ก็มักจะมีท่าทีให้สอดรู้จากผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งในกลุ่มเขตเศรษฐกิจ และแขกรับเชิญพิเศษของเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้ไทยเราเชิญมาทั้งสิ้น 3 ชาติ ได้แก่ ฝรั่งเศส, ซาอุดีอาระเบีย และกัมพูชา ที่พร้อมจะใช้เสี้ยวเวลาในการพูดคุย เจรจา หรือปิดดีลบางเรื่องในช่วงเวลาแค่ชั่วพบปะ แล้วเรื่องแบบนี้ก็ไม่ค่อยจะหลุดรอดไปสู่ตาเหยี่ยวสื่อสักเท่าไรด้วย

กลับกันการพูดคุยลับ ๆ ที่ถูกทำให้ไม่ลับ ก็อาจจะทำให้เกิดความแคลงใจกันในภายภาคหน้า เหมือนกับกรณี สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน แหกหน้า จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระหว่างการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พูดคุยกับนายทรูโด ด้วยรอยยิ้มผ่านล่าม ตำหนิในกรณีที่นายทรูโดระบุว่า จีนแทรกแซงการเลือกตั้งของแคนาดา โดยสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ทุกอย่างที่เราได้พูดคุยกันถูกรั่วไหลไปถึงสื่อ และนั่นไม่เหมาะสม” ซึ่งท่าทีของผู้นำแคนาดารายนี้ก็รู้กันอยู่ว่าแทบจะเป็นเงาพี่เงาน้องของลูกพี่แซมอยู่แล้ว ก็ได้แต่พยักหน้า ขณะที่ ผู้นำจีน กล่าวต่อว่า “นั่นไม่ใช่วิธีการที่ควรจะเป็น หากมีความจริงใจต่อกัน เราจะร่วมหารือด้วยทัศนคติที่เคารพซึ่งกันและกัน มิเช่นนั้น ผลที่ตามมาจะคาดเดาไม่ได้”

นี่คือตัวอย่างไม่ดี ที่เด็ก ๆ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง!!

กลับกันกับท่าทีของอีกหนึ่งผู้นำ ที่เชื่อว่าพญามังกรคงรอดูท่าที คือ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายฝ่ายเชื่อว่า การมาเอเปค 2022 ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่มาสานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไทย-ฝรั่งเศส, ด้านความมั่นคง, หรือ BCG ที่สอดคล้องแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU หรือแค่หนุนประเด็นที่ไทยผลักดันในเวทีเอเปคเท่านั้น 

หากแต่นี่ก็คือเวทีที่ มาครง จะได้มีโอกาสใช้จังหวะ ‘ที่ไม่เป็นทางการ’ คุย ‘ประเด็นทางการ’ ต่อ สีจิ้นผิง สืบเนื่องต่ออีกคำรบจากเวที G20 ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นที่จะคุย ก็คงไม่พ้นความคาดหวังที่จะให้จีนเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการคลี่คลายปัญหาด้านพลังงานในยุโรป และการขาดแคลนชิปของจีน เป็นต้น

‘นันทิวัฒน์’ ยกไทยเจ้าภาพ ‘เอเปค’ สมบูรณ์แบบ แถมได้พรีเซ็นเตอร์ระดับผู้นำ ชวนทั่วโลกตามรอย

(21 พ.ย.65) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า... 

เอเปกสมบูรณ์แบบ การจัดประชุมเอเปกสำเร็จเสร็จสิ้นลงเรียบร้อย ได้รับคำชมมากมายจากผู้นำทุกประเทศที่มาร่วมประชุม 

งานนี้ ประเทศไทยมีพรีเซนเตอร์ระดับผู้นำโลก ทั้งประธานาธิบดีมาครง ที่ไปชมมวยไทยที่สนามมวยราชดำเนิน เดินชิมอาหารที่สตรีทฟู้ดเยาวราช และพาชมวัดโพธิ์

รองประธานาธิบดีกมลา ไปวัดราชบพิตร เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช และเดินซื้อของที่ตลาดนัดจตุจักร ได้พริกแกงกลับบ้าน และนายกฯ ลีเซียนลุง โพสต์อาหารที่เสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ 

เชื่อได้เลยว่า นับจากนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเดินตามรอยผู้นำเหล่านี้ 

'บิ๊กตู่' จัดงานเฉลิมฉลอง 'ปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศสปี 2566' ตอกย้ำ!! ความร่วมมือ 'นวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส' เป็นรูปธรรม

(26 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและฝรั่งเศสขับเคลื่อนความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดงานเฉลิมฉลอง ‘ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศสปี 2566 (2023 Thailand - France Year of Innovation)’ ในวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร

นายอนุชา กล่าวว่า ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมายาวนาน และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายมิติ ซึ่งความร่วมมือด้านนวัตกรรมก็เป็นอีกมิติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายได้กำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส เป็นการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องมาจากการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เมื่อเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยและฝรั่งเศส ได้ประสานความร่วมมือกัน และมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในมุมมองที่ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันของทั้งสองประเทศ

‘มาครง’ โทษโซเชียลปลุกกระแสจลาจลในฝรั่งเศส เตรียมใช้อำนาจรัฐ ‘จัดการคอนเทนต์’ ปลุกปั่น!!

(3 ก.ค. 66) เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเดือดจัด ออกมากล่าวโทษสื่อโซเชียล อาทิ Tiktok, Snapchat และอื่นๆ เป็นตัวการสุมเชื้อไฟความรุนแรงในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่มีต้นเหตุจากคดีตำรวจฝรั่งเศสยิงนาย นาเฮล เอ็ม วัยรุ่นชายเชื้อสายแอลจีเรียวัย 17 ปีเสียชีวิต

โดยคลิปข่าว และการปลุกระดมจากคดีของ นาเฮล ถูกส่งต่อจนกลายเป็นไวรัลทั่วโลกโซเชียลในฝรั่งเศส ก่อให้เกิดความไม่พอใจในชุมชนคนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้อพยพ ลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นาเฮล จนกลายเป็นจลาจลวุ่นวายไปทั่วประเทศ

และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'พฤติกรรมเลียนแบบ' ชักชวนกันออกมาป่วนตามกระแสจากโซเชียล รวมถึงเกมออนไลน์ที่แฝงความรุนแรง เป็นแรงเสริมให้เกิดพฤติกรรมป่วนบ้าน ป่วนเมืองในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น

มาครง ถึงขั้นใช้คำว่า เด็กๆ พวกนี้ โดน "ล้างสมอง" จากการเสพคอนเทนต์ หรือ เกมออนไลน์ ที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาสังคม เห็นทีต้องเร่งประสานงานกับเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลให้กำจัด "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" และขอให้ระบุตัวตนของผู้ใช้ที่เผยแพร่ ปลุกระดม ให้เกิดความรุนแรงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้

ซึ่งผู้นำฝรั่งเศสไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ ว่า "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" ที่ว่านี้หมายถึงอะไร แต่เรียกร้องถึงสปิริตในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลมีเดีย และไม่เพียงแค่นั้น ตอนนี้รัฐบาลได้เรียกตัวแทนผู้ดูแลสื่อโซเชียลในฝรั่งเศสมาหารือแล้ว โดยเริ่มที่แพลทฟอร์ม Snapchat และ Twitter ให้ทำการลบคอนเทนต์ที่รุนแรง และให้หาตัวผู้ที่ปล่อยคลิป และภาพลงในโซเชียลด้วย

เจรัลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ออกมายืนยันคำสั่งของรัฐบาล โดยเขาเป็นคนฝากคำเตือนถึงทีมสื่อโซเชียลในที่ประชุมว่า รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางการปลุกระดมไปสู่ความรุนแรง จึงอยากเตือนให้รู้ไว้ว่าฝรั่งเศสมีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดทางโซเชียลเช่นกัน 

ที่ฝรั่งเศส มีกฎหมายต่อต้านการคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นคดีอาญาหากมีการข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย ฆ่า ข่มขืน หรือแม้แต่ด่าทอ ดูหมิ่นกันในออนไลน์ ถือเป็นความผิดทั้งสิ้น และในปี 2020 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายควบคุมสื่อโซเชียล และ search engine ให้นำคอนเทนต์ต้องห้ามออกภายใน 24 ชั่วโมง 

แต่ทว่า เท่าที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายในคดีคุกคามทางโซเชียลมักไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่นักในฝรั่งเศส แต่มาคราวนี้ มาครงจะเอาจริงแล้ว เพราะเชื่อว่าความอลหม่านในรอบ 4-5 วันที่ผ่านมาเกิดจากการปลุกปั่นในโซเชียล ไม่ผิดแน่

จากข้อมูลของตำรวจ พบว่าในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมจากการก่อเหตุจลาจลป่วนเมืองนั้น 1 ใน 3 เป็นเพียงเด็ก และเยาวชน หลายคนยังเด็กมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าออกมาก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไม่รู้สึกผิด ผู้นำฝรั่งเศสจึงฝากไปถึงพ่อแม่ ให้ดูแลลูกหลานของตัวเองให้ดีหน่อย 

"เพราะเป็นหน้าที่พ่อแม่ที่กันลูกตัวเองให้อยู่ในบ้าน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะไปตามจับตัวลูกคุณข้างนอกนะครับ"

เชื่อแล้วว่า เอมานูเอล มาครง ฉุนขาดจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสวันนี้ แต่ที่แปลกใจคือ ทางฝรั่งเศสเพิ่งจะตาสว่างหรือ? ว่าช่องทางโซเชียลถูกใช้ปลุกระดมให้เกิดม็อบจลาจลได้? เมื่อก่อนเห็นปกป้องตลอดเลยว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ตอนนี้แสดงออกไม่ได้แล้วนะ แถมยังใช้อำนาจรัฐบีบให้บริษัทโซเชียลส่งข้อมูลผู้ใช้ที่เข้าข่ายสร้างคอนเทนต์ปลุกระดมให้รัฐได้ด้วย 

ไฟไหม้บ้านคนอื่นไม่เดือดร้อนเท่าไฟไหม้บ้านตัวเองเช่นนี้แล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top