ฝรั่งเศสเมินกระแสแบนโอลิมปิกจีนตามสหรัฐฯ ขอเอาเวลาไปแก้ปัญหาอย่างอื่นดีกว่า

หลังจากที่​ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแบนงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ด้วยการไม่ส่งคณะฑูต และตัวแทนรัฐบาลไปร่วมในงานพิธีเปิดตามธรรมเนียมงานกีฬาระดับโลก เป็นการประท้วงจีน ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ และการกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง จนมีชาติพันธมิตรยักษ์ใหญ่อีกหลายชาติ ทั้ง อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย ตัดสินใจร่วมแบนเจ้าภาพจีนตามสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกันนั้น

ทว่า ฟากฝั่ง​ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสกลับออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเสียงดังฟังชัดว่า ฝรั่งเศสจะไม่ตามกระแส แบนโอลิมปิกฤดูหนาวของจีนตามสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลว่า การแบนด้วยการไม่ส่งตัวแทนรัฐบาลไปร่วมพิธีเปิด ไม่ได้สร้างนัยสำคัญอะไรเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มันสร้างสรรค์และตรงจุดกว่านี้น่าจะดีกว่า

มาครงเน้นย้ำว่า "งานโอลิมปิก เป็นงานกีฬา ไม่ควรเอาเรื่องการเมืองมายุ่ง ถ้าจะต้องการชูประเด็นทางการเมือง ผมจะไปหาทำเรื่องอื่นที่มันสร้างกระแสที่ชัดเจนกว่านี้"

ซึ่งมาครงยังกล่าวถึงกลยุทธ์การแบนโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกาว่า "ผมขอพูดตรง ๆ​ นะ ถ้าคุณจะแบนเจ้าภาพงานโอลิมปิก ด้วยการแค่ไม่ส่งคนของรัฐบาลไปร่วมในพิธีเปิด แต่ยังส่งนักกีฬาไปแข่ง เป็นแค่การแบนเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าจะแบนทั้งที ก็ไม่ควรทั้งไปร่วมงาน หรือแม้แต่ส่งนักกีฬาไปแข่ง ถึงจะเป็นการแสดงออกที่มีความหมาย และเป็นที่จดจำอย่างแท้จริง"

และก็ไม่ใช่ว่าทางฝรั่งเศสไม่สนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพียงแต่เลือกที่ผลักดันในวิธีการที่แตกต่าง และตรงจุดกว่า อย่างเช่นประเด็นของ เผิง ฉ่วย นักเทนนิสสาวชาวจีน ที่มีประเด็นอื้อฉาวว่าเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยอดีตรองนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งฝรั่งเศสได้ทำงานผ่านทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลอย่างเต็มที่เพื่อคุ้มครองนักกีฬา

นอกจากนี้ เอมานูเอล มาครง ยังกล่าวว่า แค่เฉพาะในสหภาพยุโรป ก็กำลังประสบปัญหาหลายด้านที่ทุกชาติสมาชิกควรเร่งแก้ไข โดยเฉพาะ ปัญหาเรื่องการป้องกันชายแดน การปฏิรูปข้อตกลงเชงเก้น ปัญหาผู้ลี้ภัย และย้ายถิ่นฐานที่ยังไม่มีระบบ ปัญหา Covid-19 และยังแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลอังกฤษที่ไม่รักษาคำพูดตามข้อตกลง Brexit ซึ่งนั่นต่างหากที่อังกฤษควรใส่ใจ

แต่ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่งของผู้นำฝรั่งเศส ประเทศที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งต่อไปในปี 2024 ที่กรุงปารีส ซึ่งจากใจคนเป็นเจ้าภาพ ก็ปรารถนาให้ทุกชาติในโลกมาร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน

สำหรับปรากฏการณ์ การคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิกครั้งใหญ่ที่สุด หากย้อนไปแล้วจะเกิดขึ้นเมื่อปี 1980 ที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ เป็นช่วงที่เกิดสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน โดยทางสหรัฐอเมริกาก็เป็นแกนนำในการประกาศคว่ำบาตรการเป็นเจ้าภาพของโซเวียตด้วยการไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในงานเลย และได้พาประเทศพันธมิตรอีกกว่า 63 ประเทศร่วมแบนงานโอลิมปิกในครั้งนั้นด้วย

แต่ฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ยังเหลือ และส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโควตามปกติ ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันคือ งานกีฬา และการเมืองควรแยกออกจากกัน และเป็นการรักษาโอกาสของนักกีฬาในชาติที่ฝึกซ้อมมาเพื่อแข่งขันในงานระดับโลกเช่นนี้


เรื่อง: ยีนส์​ อรุณรัตน์
อ้างอิง: BBC / 24 Happenings / Wikipedia