รู้จัก ‘มาครง’ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2 สมัย ชีวิต - ความรัก - การงาน - การเมือง

Bonjour … comment allez-vous? สวัสดี...สบายดีมั้ย นี่เป็นคำทักทายในภาษาฝรั่งเศส ที่ใครมีโอกาสได้พบกับผู้นำสุดหล่อแห่งฝรั่งเศสสามารถเตรียมไว้ทักทายกันได้ หลังจากในการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้ถูกรับเชิญเป็นแขกพิเศษในการประชุมครั้งนี้ และผู้ที่มาร่วมประชุม ก็คือ แอมานุแอล ฌ็อง-มีแชล เฟรเดริก มาครง (Emmanuel Jean-Michel Frédéric Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางกาเตอรีน โกลอนนา (Catherine Colonna) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส 

ทว่าก่อนที่จะได้ทราบกันว่าสาระสำคัญของไทย-ฝรั่งเศสใน APEC 2022 นี้ จะมีมิติใดอัปเดตบ้างนั้น THE STATES TIMES ก็ขออนุญาตพาทุกท่านไปรู้จักกับประธานาธิบดีท่านนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ 

Emmanuel Jean-Michel Frédéric Macron เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ 2520 ที่เมืองเอเมียงส์ ประเทศฝรั่งเศส โดยครอบครัวทำงานอยู่ใวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มาครงได้ศึกษาระดับประถม-มัธยมศึกษาที่โรงเรียนในเมืองเอเตียง ก่อนย้ายไปศึกษามัธยมปลายที่โรงเรียน อองรีที่ 4 (Lyeeé Henri-IV) เป็นโรงเรียนมัธยมชั้นสูงเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปารีส เมื่อเขาจบมัธยมปลาย เขาได้ศึกษาต่อด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปารีส น็องแตร์ (Université Paris Ouest Nanterre La Dèfense) และศึกษาต่อในด้านการบริหารกิจการสาธารณะ สถาบันซีอองซ์ โป (Science Po - The Institut d études politiques de Paris) มาครงมีความชื่นชอบและสนใจด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา และ ศิลปะ 

มาครง เข้าทำงานในแวดวงการเงิน การธนาคาร โดยทำงานให้กับบริษัท Rothschild บริษัททรงอิทธิพลที่เป็นเจ้าของเครือข่ายธนาคารหลายแห่งในยุโรป ตั้งแต่ปี 2551 และเคยทำหน้าที่ในกระทรวงการคลัง โดยเป็นผู้ช่วยในทีมของ ฌากส์ อัตตาลี นักการเมืองผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี มิต เตร็อง และได้ลาออกไปทำงานให้กับบริษัท ร็อธส์ไซลด์ ในปี 2551 และได้เข้ามาทำงานการเมืองอย่างจริงจัง โดยเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้เสนอชื่อเขาขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ในปี 2557 

ด้านความรัก: ความรักของมาครง เมื่อเขาอายุ 17 ปี เขาเปิดเผยกับคุณครูผู้เป็นที่รักว่า เขาอยากแต่งงานกับเธอ ถึงแม้ว่าเขาจะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม แต่มาครงบอกกับเธอว่า "ผมจะกลับมาหาคุณ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ผมก็จะแต่งงานกับคุณให้ได้" หลังจากเวลาผ่านไปนานหลายปี ความรักที่มาครงมีให้คุณครูก็ไม่เคยจืดจางลงไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 ขณะที่มาครงอายุได้ 29 ปี บริจิตต์ก็หย่าขาดจากสามี และมาครงก็ได้แต่งงานกับเธอดังที่เขาปรารถนามาตลอด โดยไม่สนคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จากสังคม 

ด้านการเมือง: เขาได้ก้าวทำงานด้านการเมืองแบบจริงจัง โดยเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้เสนอชื่อเขาขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจในปี 2557 โดยเขาได้ร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นผลักดันให้รัฐบาลมีความเป็นมิตรกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสภา และถูกตัดลงไป ไม่ผ่านการอนุมัติ

จุดเปลี่ยนในการจัดตั้งพรรคการเมือง … เขาเล็งเห็นว่า แนวคิดของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่สามารถไปกันได้กับนโยบายของพรรคสังคมนิยม ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี ออลลองด์ มาครงจึงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี และออกมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ในปี 2559 ในชื่อ ‘ออง มาร์ช (En Marche)’ มีชื่อทางการว่า สมาคมเพื่อการฟื้นฟูชีวิตการเมือง (Association pour le renouvellement de la vie politique) ซึ่งมีความหมายตรงตัวถึงการเคลื่อนไหว เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเสรีนิยมสายกลาง ที่มีเป้าหมายปฏิรูปการเมืองของฝรั่งเศสให้ก้าวไปข้างหน้า และให้ความเคารพกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนในประเทศ ซึ่งการจัดตั้งพรรคการเมืองของมาครง เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของฝรั่งเศส และเขาคือ 1 ในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในการเลือกตั้ง ในปี 2560 โดยผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 (อย่างไม่เป็นทางการ) รอบแรก พบว่า แอมานุแอล มาครง มีคะแนนเสียงอันดับ 1 คิดเป็น 24.01% แซงมารีน เลอ แปน จากพรรคแนวร่วมสร้างชาติ 21.30% ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 มีการเลือกตั้งรอบที่ 2 ระหว่าง แอมานุแอล มาครง จากพรรคอ็องมาร์ช และ มารีน เลอแปน จากพรรคแนวร่วมสร้างชาติ ผลการเลือกตั้งรอบที่ 2 ปรากฎว่า แอมานุแอล มาครง มีคะแนนคิดเป็น 66.10% ในขณะที่มารีน เลอ แปน มีคะแนนคิดเป็น 33.90% ทำให้มาครงกลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และเป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส และเป็นประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่สมัยโบเลียน

>> การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สมัยที่ 1
มาครงเป็นนักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุดเมื่อปี 2017 หลังตั้งพรรคการเมืองใหม่สายกลางได้เพียงไม่ถึงปี การแจ้งเกิดของเขานั้นไม่ต่างจากการท้าทายพรรคการเมืองหลักที่อยู่ในอำนาจมานาน โดยในสายตาของผู้ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก เขาไม่ใช่พวก "ชนชั้นปกครอง" เหล่านั้น จึงทำให้คว้าคะแนนเสียงไปได้ถึง 66% เอาชนะนางมารีน เลอ แปน คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคฝ่ายขวาสุดขั้วไปได้อย่างขาดลอย

อุปสรรค: ตลอดการดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยแรก 5 ปีที่ผ่านมา นายมาครงต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ซึ่งทำให้รัฐนาวาของเขาแล่นไปโดยไม่ราบรื่นนัก ส่วนใหญ่แล้วเขาต้องอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา ผลักดันนโยบายปฏิรูปด้านต่างๆ ที่พบกับการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง

ผลงานเด่น: ผลงานของนายมาครง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ได้แก่ การลดอัตราภาษีและการแก้กฎหมายให้บริษัทต่างๆ ปลดพนักงานออกได้ง่ายขึ้น เขายังออกกฎหมายด้านความมั่นคงที่เข้มงวดกว่าเดิมเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย แต่ในปี 2018 เขากลับต้องยอมถอยเรื่องการเก็บภาษีเชื้อเพลิง หลังเกิดการประท้วงอย่างรุนแรง

>> การดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี สมัยที่ 2 
การกลับมาอีกครั้งกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน และวันที่ 24 เมษายนในวันปีเดียวกันนั้น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากผลสำรวจความนิยมผู้สมัครล่าสุด จากโพลของ Ipsos Sopra Steria Cevipof ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ พบว่า นายมาครงจะเอาชนะนางเลอแปนได้ แม้ว่านักการเมืองหญิงฝ่ายขวาเริ่มมีกระแสโกยคะแนนนิยมมากขึ้นช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโพลดังกล่าวชี้ว่า นายมาครงจะเฉือนชนะนางเลอแปนในการเลือกตั้งรอบแรกวันที่ 10 เม.ย. ที่ 26.5% ต่อ 21.5% ช่องว่างแคบลงจากโพลครั้งก่อน วันที่ 21-24 มี.ค. ที่ 28% ต่อ 17.5% ส่วนการเลือกตั้งรอบตัดสิน นายมาครงจะเอาชนะนางเลอเปน วันที่ 24 เม.ย. ที่ 54% ต่อ 46% 

หลังจากเกิดวิกฤตการณ์รัสเซีย–ยูเครน (พ.ศ. 2564–2565) แอมานุแอล มาครง จากพรรคอ็องมาร์ช ! ได้รับคะแนนนิยมต่ำลง เนื่องมาจากนโยบายสนับสนุนสหภาพยุโรป จนกลายเป็นการต่อต้านประเทศรัสเซีย ทำให้  มารีน เลอ แปน จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ที่มีแผนในการเป็นพันธมิตรของรัสเซียในช่วงหลังวิกฤติ จึงประกาศนโยบายที่เรียกร้องที่อาจส่งผลให้มีการขัดขวางการทำงานของสหภาพยุโรป ไปจนถึงทำให้ฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเธอมองว่าเพื่อให้ฝรั่งเศสนั้นสงบ และเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง แต่ผลการเลือกตั้งจากครั้งที่ 1  มาครงมีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเป็นอันดับที่หนึ่ง อยู่ที่ 27.85% และการเลือกตั้งครั้งที่ 2 อยู่ที่ 58.5% ทำให้ชนะเลอ แปน ที่ได้คะแนนเสียง 41.5% และได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นสมัยที่ 2 ในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ฌัก ชีรัก จากพรรครวมพลเพื่อสาธารณรัฐ ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ใน ค.ศ. 2002

พอพูดถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ก็พลันนึกถึงระบบและรูปแบบที่อาจจะไม่คุ้นเคยสำหรับคนไทยไปบ้าง THE STATES TIMES เลยถือโอกาสนี้ พาไปรู้จักกับระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสกันเลยทีเดียวค่ะ 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส (Élection présidentielle en France) เป็นการเลือกตั้งเพื่อหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ 2002 เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านี้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ภายหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ 2008 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส สามารถดำรงตำแหน่งกี่วาระก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้กำหนดไว้เพียง 2 วาระเท่านั้น และมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 5

“ประธานาธิบดีดูแลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเพื่อให้การทำงานขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐดำเนินไปด้วยดี รวมทั้งให้มีความต่อเนื่องของรัฐ ประธานาธิบดีเป็นหลักประกันความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพของดินแดน และการปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่างๆ” เขาเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรีตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้าประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งในสภา ผู้นั้นก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อสภาไม่ให้ความไว้วางใจ

เมื่อสิบปีก่อน ชาวฝรั่งเศสเลือกผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยมเป็นประธานาธิบดี และด้วยตรรกะของพวกเขา เมื่อถึงคราวเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประมาณสองเดือนถัดไป ก็เลือกให้พรรคสังคมนิยมมีเสียงข้างมากในสภา เมื่อห้าปีก่อน ชาวฝรั่งเศสผิดหวังจากการบริหารงานของประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยม เลยหันมาเลือกมาครงเป็นประธานาธิบดี ระหว่างนั้น มาครงกับผู้สนับสนุนได้ตั้งพรรคใหม่ ชื่อ La Republique En Marche แปลตรงตัวว่า ‘สาธารณรัฐเดินหน้า’ ชาวฝรั่งเศสก็ทำตามตรรกะเดิม คือเลือกสมาชิกของพรรคที่ตั้งใหม่นี้เข้าสู่สภาเป็นเสียงข้างมาก ถึง 309 เสียงจากจำนวนรวม 577 เสียง ประธานาธิบดีจึงสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคของตนมาบริหารได้สองคนในห้าปี ไม่ต้องพึ่งระบบ ‘อยู่อาศัยร่วมกัน’ ดังกล่าว

ในครั้งนี้ มาครง เป็นประธานาธิบดีรอบ 2 จึงเป็นธรรมดาที่การใช้อำนาจมา 5 ปีย่อมทำให้มีคนไม่พอใจเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ที่พรรคทั้งขวาและซ้ายที่ชูนโยบายประชานิยม (Populaire ไม่ใช่ Populist) จะเร่งหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงนี้ ทำให้บางคนคิดเลยไปว่า ชาวฝรั่งเศสจะให้อาณัติแก่มาครงโดยเลือกสมาชิกจากพรรคของเขาให้มามีเสียงข้างมากอีกครั้งในสภา หรือจะแบ่งคะแนนให้แก่พรรคของเมลังช็องและเลอแปน มากพอที่รัฐบาลต่อไปของฝรั่งเศสเป็นรัฐบาลผสมและเข้าสู่ระบบอยู่อาศัยร่วมกัน ที่คราวนี้อาจมีเสถียรภาพน้อยกว่าครั้งก่อนๆ ก็เป็นได้


ที่มา: https://www.prachachat.net/world-news/news-905524
https://earthsunun.blogspot.com/2017/09/emmanuel-macron.html
https://www.prachachat.net/world-news/news-908403
https://www.matichon.co.th/columnists/news_3319554
https://th.wikipedia.org/wiki/การปกครองประเทศฝรั่งเศส
https://www.bbc.com/thai/international-60427647 
https://th.wikipedia.org/wiki/การเมืองฝรั่งเศส
https://th.wikipedia.org/wiki/แอมานุแอล_มาครง
https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส_ค.ศ._2017