Thursday, 16 May 2024
ยูเครน

'สหรัฐฯ' ปราม 'ยูเครน' ไม่หนุนโจมตีภายในแผ่นดินรัสเซีย หลังฐานทัพเขตชั้นในรัสเซียถูกถล่ม คาดฝีมือเคียฟ

เมื่อวันอังคาร (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ระบุไม่สนับสนุนยูเครน ในการโจมตีเข้าใส่ดินแดนรัสเซีย หลังเกิดเหตุยิงถล่มฐานทัพหลายแห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของรัสเซียลึกเข้าไปจากชายแดนหลายร้อยกิโลเมตร และถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นฝีมือของเคียฟ

"เราทั้งไม่สนับสนุนและไม่ได้เปิดทางให้ยูเครนโจมตีภายใต้ดินแดนของรัสเซีย" แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว "แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่ายูเครน ใช้ชีวิตผ่านพ้นไปทุกๆ วันกับการรุกรานของรัสเซีย" เขากล่าว โดยกล่าวหารัสเซียกำลังใช้ฤดูหนาวเป็นอาวุธ ผ่านการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน

บลิงเคน ประกาศว่า "เรามีความมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจว่าพวกเขา เช่นเดียวกับพันธมิตรอื่น ๆ มากมายทั่วโลก จะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับป้องกันตนเองอยู่ในมือ เพื่อปกป้องดินแดนของพวกเขา เพื่อปกป้องเสรีภาพของพวกเขา"

พวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายูเครนเจาะน่านฟ้าของรัสเซียด้วยโดรนดั้งเดิมยุคสมัยสหภาพโซเวียต ไม่ใช่อาวุธใด ๆ จากความช่วยเหลือด้านการทหารหลายพันล้านดอลลาร์ที่ได้รับมอบจากตะวันตก นับตั้งแต่ถูกมอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ด้าน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ บลิงเคน หลังพูดคุยหารือกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย ว่าวอชิงตันจะไม่ห้ามยูเครนจากการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลด้วยตนเอง "คำตอบสั้น ๆ คือ ไม่ แน่นอนว่าเราจะไม่ทำเช่นนั้น เราจะไม่หาทางขัดขวางยูเครนจากการพัฒนาศักยภาพของตนเอง"

รัสเซียเผยว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และเครื่องบินได้รับความเสียหาย 3 ลำในเหตุโจมตีฐานทัพ 3 แห่งที่อยู่ลึกภายในดินแดนของพวกเขาเมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.)

ก่อนหน้านี้ เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับเหตุโดรนโจมตีในดินแดนรัสเซีย โดยเขาไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ จัดหาโดรนเหล่านั้นแก่ยูเครนหรือไม่ ซึ่งเคียฟเองก็ไม่ได้กล่าวอ้างความรับผิดชอบใด ๆ ต่อเหตุโจมตีดังกล่าว

"เราจัดหาแก่ยูเครน ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับใช้ในดินแดนอธิปไตยของพวกเขา ในแผ่นดินยูเครน เพื่อจัดการกับผู้รุกรานรัสเซีย" ไพรซ์กล่าว ขณะเดียวกันเขาก็ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวหนึ่งของวอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่อ้างว่าอเมริกาปรับแก้ระบบ HIMARS ที่ส่งมอบแก่ยูเครน ระบบจรวดที่ถูกมองว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกมในสมรภูมิรบ เพื่อปกป้องไม่ให้เคียฟยิงเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย

ที่ผ่านมา ประธานาธบดีโจ ไบเดน พูดต่อสาธารณะว่าวอชิงตันจะไม่มอบขีปนาวุธพิสัยไกลแก่ยูเครน ด้วยกังวลว่ามันอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย และผลักให้สหรัฐฯ เผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ มีขึ้นในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารที่อยู่ใกล้แนวหน้าทางตะวันออกของประเทศในวันอังคาร (6 ธ.ค.) พร้อมแสดงความขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความพยายามสู้รบต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย เนื่องในวันกองทัพของประเทศ

หลังจากนั้น เซเลนสกี ได้กล่าวปราศรัยถึงกำลังพล จากทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเคียฟ โดยเผยว่าเขาใช้เวลาร่วมกับบรรดาทหารในดอนบาส สมรภูมิที่มีการสู้รบหนักหน่วงที่สุด และในแคว้นคาร์คิฟ พื้นที่ที่ยูเครนสามารถทวงดินแดนอย่างกว้างขวางคืนมาจากกองกำลังผู้รุกรานยูเครน

เขากล่าวว่า "ชาวยูเครนหลายพันคนเสียสละชีวิตตนเองเพื่อให้วันนั้นมาถึง วันที่จะไม่เหลือทหารผู้รุกรานในดินแดนของเราแม้แต่คนเดียว และวันที่ประชาชนของเราทั้งหมดจะได้รับการปลดปล่อย" เซเลนสกี ระบุ

‘อิหร่าน’ สวน!! ไม่เคยส่งออกโดรนพลีชีพไปยังรัสเซีย หลังยูเครนอ้าง แต่ไม่เผยหลักฐานที่รัสเซียใช้งาน

เมื่อ (13 ธ.ค. 65) สำนักข่าวแทสนิม (Tasnim) อ้างอิงโมฮัมหมัดเรซา อัชเตียนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิหร่าน ระบุว่ายูเครนไม่ได้แสดงหลักฐานอันใด สำหรับสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ารัสเซียใช้โดรนทางทหารของอิหร่านในสงครามยูเครน

อัชเตียนี ระบุว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจากอิหร่านและยูเครนจัดการประชุม เพื่อหารือถึงข้อกล่าวหาดังกล่าวเมื่อไม่นานนี้ โดยในการประชุมทางเทคนิค ฝ่ายยูเครนไม่ได้เสนอเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวพันกับกรณีดังกล่าว

นอกจากนั้นอัชเตียนี ยังปฏิเสธกรณีชาติตะวันตกกล่าวหาอิหร่านในประเด็นนี้ว่าเป็น “ข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง” พร้อมชี้ว่าความร่วมมือทางทหารของอิหร่านและรัสเซียนั้นดำเนินมาอย่างช้านานและอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์เฉพาะ

'ยูเครน' ซัดเดือด!! หลัง FIFA เมินฉายคลิป ‘เซเลนสกี’ ก่อนบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ ทั้งที่รัฐบาลกาตาร์หนุน

ทำเนียบประธานาธิบดียูเครนออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หลังถูกปัดตกข้อเรียกร้องให้ฉายคลิปเรียกร้องสันติภาพของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ก่อนศึกฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศเมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.)

ทำเนียบ ปธน.ยูเครนระบุในคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรถึง CNN เมื่อวันเสาร์ (17) ว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวซึ่งบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ มีจุดประสงค์เพื่อ 'เรียกร้องให้เกิดสันติภาพ'

“รัฐบาลกาตาร์สนับสนุนแนวคิดริเริ่มของประธานาธิบดี (เซเลนสกี) ทว่า FIFA ปิดกั้นมัน และไม่ยินยอมให้มีการเปิดคลิปคำแถลงของประธานาธิบดีก่อนการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ”

ทางการยูเครนยืนยันว่าจะยังคงเผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านช่องทางอื่น ๆ พร้อมเตือนว่าการที่ FIFA ไม่ยอมออกอากาศให้นั้นแสดงให้เห็นว่าองค์กรแห่งนี้ “สูญเสียความเข้าใจอันมีค่าของกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นเกมที่หลอมรวมผู้คนเข้าด้วยกัน ไม่ใช่สนับสนุนให้เกิดความแตกแยก”

ทั้งนี้ FIFA พยายามใช้ทุกมาตรการเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ถูกใช้เป็นเวทีแสดงจุดยืนทางการเมืองของฝ่ายใด ขณะที่รัฐบาลกาตาร์เองก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของยูเครน

‘ไบเดน’ เปิดทำเนียบต้อนรับ ‘เซเลนสกี’ พร้อมให้คำมั่น สหรัฐฯ จะหนุนยูเครนสู้รบรัสเซีย

(22 ธ.ค. 65) หลังจากที่มีข่าวลืออกมาว่า โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน กำลังเดินทางไปสหรัฐฯ เตรียมเข้าพบประธานาธิบดีโจ ไบเดน และแถลงต่อที่ประชุมสภาคองเกรส ซึ่งจะเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกเท่าที่รู้นับตั้งแต่เกิดสงคราม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ร้องขอขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในระหว่างพบกันที่ทำเนียบขาว ก่อนที่ระบบป้องกันชุดแรกจะเดินทางถึงยูเครน โดยย้ำในระหว่างการแถลงข่าวว่า "เราอยู่ในสงคราม"

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้นำยูเครนว่า สหรัฐจะยังคงให้ความช่วยเหลือยูเครนตราบนานเท่านานในสงครามกับรัสเซีย และยูเครนจะไม่มีวันถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย พร้อมยืนยันเรื่องที่สหรัฐจะมอบความช่วยเหลือครั้งใหม่มูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 69,308 ล้านบาท) ให้แก่ยูเครนเพื่อนำไปใช้ป้องกันประเทศจากการโจมตีของรัสเซีย และให้สัญญาว่าจะมอบความช่วยเหลืออีกราว 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.56 ล้านล้านบาท) 

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังกล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีเซเลนสกีว่า เขาไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลเลยแม้แต่น้อยเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมนานาชาติที่เป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อช่วยเหลือยูเครน ทั้งยังระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังคงไม่มีความคิดที่จะหยุดการทำสงครามอันโหดร้ายในครั้งนี้

ยูเครน VS รัสเซีย สงครามยืดเยื้อ ที่ยังไม่รู้วันจบ

ปี 2565 กำลังจะจากไป ชาวโลกได้เห็นความยืดเยื้อของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียข้ามปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด ซ้ำยังจะรุนแรงในช่วงปีใหม่ซึ่งยังเป็นฤดูหนาวในสองเดือนแรก ความหนาวเย็นได้เป็นอาวุธของรัสเซีย

เหยื่อของสงครามที่ต้องทนทุกข์อย่างมากคือชาวยูเครนที่ยังติดอยู่ในประเทศและเจอกับความยากลำบากเพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา และความสะดวกด้านสาธารณูปโภคซึ่งถูกทำลายโดยกองทัพรัสเซีย

และผู้นำยูเครนอดีตตัวตลกยังคงโลดแล่น อาบแสงสีเพื่อความโดดเด่นในฐานะเป็นวีรบุรุษสงครามในสายตาของโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งใช้ยูเครนเป็นตัวแทนทำสงครามเพื่อบั่นทอนแสนยานุภาพของรัสเซีย

ยูเครนจึงต้องเป็นสมรภูมิสำหรับอาวุธจากโลกตะวันตกและของรัสเซียซึ่งสร้างความพินาศย่อยยับให้กับหลายเมือง แม้กระทั่งเมืองหลวงกรุงเคียฟก็ยังไม่ปลอดภัย ทั้งยังขาดแคลน ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบขนส่งโทรคมนาคมที่เดี้ยง

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ชอบกับการถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษสงครามสวมเสื้อยืดตัวเดียวเป็นผู้นำยูเครนท่ามกลางความพินาศของบ้านเมือง และความทุกข์ยากของชาวยูเครนซึ่งมองไม่เห็นอนาคตว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะทุ่มอาวุธและเงินช่วยเหลือยูเครนรบกับรัสเซียให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เหลือเพียงชาวยูเครนคนสุดท้ายก็จะต้องทำ

และคนสุดท้ายน่าจะเป็นตัวตลก เซเลนสกี้ ที่ถูกมองว่ากำลังกอบโกยความมั่งคั่งจากสงครามร่วมกับพวกพ่อค้าทรงอิทธิพลที่แอบยักยอกเอาอาวุธ จากนาโตไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋า ผู้ก่อการร้ายในแอฟริกาอ้างว่ามีอาวุธสมัยใหม่จากสงครามยูเครน

ถ้าจะประเมินว่าใครอยู่ในสภาพที่ดีกว่าด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ต้องบอกว่ายุโรปและอังกฤษกำลังทุกข์ระทมกับวิกฤตที่เกิดจากพลังงานราคาแพง อัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง

ชาวอังกฤษหลายล้านคนกลายเป็นผู้ดีตกยาก ต้องเก็บออมเงินไว้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ มาตรฐานการครองชีพต่ำลง ต้องอดมื้อกินมื้อ อาหารที่เคยมีคุณภาพต้องงด พวกรายได้น้อยไม่ต้องพูดถึง อยู่ในสภาพทุกข์ยาก โดยรัฐบาลไม่มีทางช่วยเหลือได้

พยาบาล พนักงานองค์กรต่าง ๆ ได้นัดหยุดงานประท้วง เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม แต่รัฐบาลไม่มีเงิน ต้องกู้กว่า 2.6 หมื่นล้านปอนด์เพื่อใช้จ่าย

เยอรมนีอยู่ในสภาพที่กำลังจะสิ้นความเป็นชาติอุตสาหกรรม พลังงานจากรัสเซียที่เคยทำให้ประเทศเป็นขุมพลังของยุโรปไม่มีต่อไปอีกแล้ว ท่อก๊าซใต้ทะเลทั้งสองถูกก่อวินาศกรรมโดยฝีมือของสหรัฐฯ และอังกฤษตามหลักฐานที่ไม่เปิดเผยได้

เท่ากับว่าเป็นการตัดหนทางที่จะให้เยอรมนีได้หวนคืนไปรับก๊าซจากรัสเซียในราคาถูก ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯ ในราคาที่แพงกว่า 4 เท่าตัว

กลุ่มประเทศยุโรปต้องขออาวุธไปให้ยูเครน เมื่อคลังแสงพร่อง ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำ และกำหนดมาตรฐานอาวุธของนาโต เท่ากับว่าสหรัฐฯ มีแต่ได้กับได้ จากการขายพลังงานและอาวุธ ยุโรปกลายเป็นเหมือนเมืองขึ้น

ยุโรปไม่มีทางถอนตัวออกจากการนำของสหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแต่จะทรุด

เยอรมนีต้องกู้เงินมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยไม่มีโอกาสจะเห็นวันฟื้นตัวจากภาวะถดถอย ตราบใดที่ราคาพลังงานยังแพง ธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงรายย่อยต่างเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ลดการผลิตหรือปิดตัวลง

ฝรั่งเศสและอิตาลีก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันมากนัก ต้องเร่งหาพลังงานทดแทน ฟื้นโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานนิวเคลียร์ บางประเทศต้องหันไปใช้ถ่านหิน ทำให้แผนที่จะลดภาวะโลกร้อนต้องชะลอตัว ประเทศยุโรปอื่น ๆ ก็เดือดร้อนเช่นกัน

ชาวอเมริกัน เซ็ง!! ผู้นำละเลยปัญหาในประเทศ หลังเห็น ‘ไบเดน’ โผล่ไป Surprise Visit ที่ยูเครน

เมื่อวันจันทร์ (20 ก.พ. 66) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เดินทางไปพบ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนถึงกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นการเดินทางไปเยือนแบบไม่แจ้งกำหนดการณ์ล่วงหน้า หรือ Surprise Visit และกลายเป็นกระแสฮือฮาไปทั่วโลก ที่เห็นผู้นำสหรัฐสวมหัวใจเด็ด เดินทางไปเยือนประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ที่มีขีปนาวุธของรัสเซียล็อกเป้าจ่ออยู่หน้าบ้าน 

ซึ่งการมาเยือนยูเครน ของผู้นำสหรัฐในวันนี้ มีนัยทางการเมืองที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากใกล้วันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียเริ่มแผนปฏิบัติการทหารในยูเครนวันแรก - 24 กุมภาพันธ์ 2565 - โดยฝ่ายกลาโหมของยูเครนเคยออกมารายงานว่า รัสเซียมีแผนที่จะโจมตีครั้งใหญ่อีกครั้งในวันครบรอบ 1 ปีสงครามในยูเครน อ้างอิงจากข้อมูลการเกณฑ์กำลังพลเพิ่มจากทั่วประเทศ และการเร่งยึดครองพื้นที่ในเขตยูเครนตะวันออก  

การมาเยือนของไบเดน จึงเป็นการสื่อสารโดยตรงกับฝ่ายรัสเซีย และพันธมิตรชาติตะวันตกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2 สหรัฐอเมริกายังคงอยู่สนับสนุนยูเครนต่ออย่างเปิดเผย และไบเดนยังประกาศอีกด้วยว่า สหรัฐจะอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือยูเครนเพิ่มให้อีก 500 ล้านดอลลาร์ จากงบเดิมที่เคยอนุมัติมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่ส่งทั้งเงิน และ ยุทโธปกรณ์สนับสนุนฝ่ายยูเครนมากที่สุด และมากกว่ากลุ่มพันธมิตรชาติยุโรปรวมกันเสียอีก 

แต่ทว่า การที่โจ ไบเดน เลือกที่จะมาเยือนยูเครนในวันนี้ ก็มีนัยยะบางอย่างกับชาวอเมริกันเหมือนกัน เนื่องจากว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นั้นตรงกับวันสำคัญที่เรียกว่า ‘วันประธานาธิบดี’ ของสหรัฐฯ วันที่ระลึกถึง จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ผู้นำกองทัพเอาชนะสงครามปฏิวัติอเมริกา และสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ 

แต่โจ ไบเดน กลับเลือกเอาวันนี้มา Surprise Visit ที่ยูเครนแทน จึงทำให้ชาวอเมริกันบางส่วนมองว่าโจ ไบเดน เลือกให้ความสำคัญกับยูเครนมากกว่าชาวอเมริกันเสียแล้ว 

สมาชิกสภาผู้แทนจากพรรครีพับลิกันหลายคนออกมาโจมตี โจ ไบเดน ว่าผู้นำสหรัฐฯ ละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง อีสต์ ปาเลสไตน์ ในรัฐโอไฮโอ เมืองที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสารเคมีตกรางกว่า 10 ขบวน และปัญหาอีกมากมายที่เกิดขึ้นในเขตชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยเลือกที่จะเดินทางไปยูเครนแทน ในวันประธานาธิบดีแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญกับชาวอเมริกันเช่นกัน

‘ลัตเวีย’ ผ่าน กม. ยึดรถพวกเมาแล้วขับ แยกชิ้นส่วน-อะไหล่ บริจาคให้กองทัพยูเครน

รัฐสภาลัตเวียผ่านร่างกฎหมายฉบับแก้ไข ในด้านให้การสนับสนุนพลเมืองยูเครน เปิดทางยึดรถยนต์ที่ริบมาจากพวกเมาแล้วขับ แล้วส่งยานพาหนะเหล่านั้นให้แก่รัฐบาลยูเครน ตามรายงานของ Delfi เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่น

"เราสามารถนำรถยนต์จากพวกเมาแล้วขับ นำไปขาย ทำให้มันเป็นเศษเหล็ก หรือแยกชิ้นส่วนเป็นอะไหล่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน พวกมันน่าจะมีประโยชน์มากกว่าในการสนับสนุนประเทศยูเครน" ไรมอนด์ เบิร์กมานิส สมาชิกสภาระดับอาวุโสกล่าว

รัฐบาลลัตเวียจะตัดสินใจเป็นรายกรณีไป ว่ารถยนต์ที่ยึดมานั้นควรนำไปบริจาคหรือไม่ ขณะที่รถยนต์เหล่านั้นจะเป็นการส่งมอบผ่านองค์กรหนึ่ง ๆ ที่ประสานงานความร่วมมือกับรัฐบาลยูเครน และได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือ

รัฐมนตรีคลังของลัตเวียเป็นผู้ผลักดันข้อเสนอส่งมอบรถยนต์ให้แก่กองทัพยูเครน และต่อมามันได้รับแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากพันธมิตรในรัฐสภา

ก่อนหน้านี้รัฐบาลผสม ก็เห็นพ้องต้องกันว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมอบรถยนต์ที่ยึดจากพวกเมาแล้วขับให้กองทัพยูเครน Delfi รายงาน

‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครน เผย อยากพบ ‘สี จิ้นผิง’ หารือช่วยเจราสงบศึก หวัง จีนไม่ส่งอาวุธช่วย ‘รัสเซีย’

(25 ก.พ. 66) ‘ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ แห่งยูเครนประกาศวานนี้ (24 ก.พ.) ว่า อยากจะพบ’ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง’ ของจีน หลังปักกิ่งออกมาเสนอ ‘แผนสันติภาพ 12 ข้อ’ เพื่อนำไปสู่การยุติสงครามยูเครนโดยด่วน

“ผมมีแผนที่จะพบกับ สี จิ้นผิง” เขาให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงเคียฟในวาระครบรอบ 1 ปีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาตนพยายามอย่างยิ่ง ที่จะขัดขวางไม่ให้จีนส่งอาวุธช่วยรัสเซีย เพราะอาจนำไปสู่ ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ ได้

“มันสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของโลก” เซเลนสกี กล่าว

ผู้นำยูเครนไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าจะพบกับ สี ที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่แสดงความคาดหวังให้ปักกิ่งช่วยสนับสนุนยูเครน และ ‘สันติภาพที่เป็นธรรม’ (just peace)

“ผมอยากจะเชื่อจริง ๆ ว่า จีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย นี่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผม” เขากล่าว

เซเลนสกี ยังระบุด้วยว่า ตนเชื่อว่าประเทศที่ถูกรุกรานเท่านั้นที่มีสิทธิ ‘เสนอแผนริเริ่มเพื่อสันติภาพ’

กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่แผน 12 ข้อ เพื่อยุติสงครามและฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน แต่ปรากฏว่า โดนชาติตะวันตกวิจารณ์แหลก ว่าเป็นข้อเสนอที่เอื้อประโยชน์ให้รัสเซียมากกว่า แถมยังส่งสัญญาณปรามปักกิ่งว่า อย่าได้ส่งอาวุธให้มอสโกเป็นอันขาด

สำหรับแผนสันติภาพที่กระทรวงการต่างประเทศจีน เผยแพร่เมื่อเช้าวันศุกร์ (24 ก.พ.) มีใจความสำคัญเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหยุดกระพือความขัดแย้งและความตึงเครียด เพื่อไม่ให้สงครามยูเครนทวีความรุนแรงหรือลุกลามจนไม่อาจควบคุมได้ โดยรายละเอียดของแผนทั้ง 12 ประการ มีดังต่อไปนี้

‘เซเลนสกี’ เอ่ยปากเชิญ ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำจีน เยือนยูเครน เย้ย ‘ปูติน’ ไร้พันธมิตร - สูญเสียทุกอย่างเพราะสิ่งที่ตัวเองก่อ

(29 มี.ค. 66) ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ออกปากเชื้อเชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไปเยือนกรุงเคียฟเพื่อร่วมหาทางออกให้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากที่ผู้นำจีนเพิ่งจะเดินทางไปเยือนมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าว AP บนขบวนรถไฟจากเมืองซูมี (Sumy) ‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครน ได้เอ่ยย้ำคำเชิญไปยัง ‘สี จิ้นผิง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำชาติมหาอำนาจที่ยังไม่เคยไปเยือนกรุงเคียฟ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว

“เราพร้อมที่จะพบกับท่านที่นี่” เซเลนสกี กล่าว

“ผมอยากจะพูดคุยกับท่าน ผมเคยติดต่อท่านก่อนที่สงครามจะปะทุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ตลอดช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ผมยังไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย”

จีนมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ทั้งในทางเศรษฐกิจการเมืองมานานหลายสิบปี และแม้รัฐบาล สี จิ้นผิง จะประกาศจุดยืน ‘เป็นกลาง’ ในสงครามครั้งนี้ ทว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงให้การสนับสนุนทางการทูตต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย

การเยือนมอสโกของ สี จิ้นผิง ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ทำให้ชาติตะวันตกหวาดระแวง ว่าจีนอาจตัดสินใจส่งอาวุธและเครื่องกระสุนไปช่วยเติมเต็มคลังแสงของรัสเซีย ที่ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ ทว่าสุดท้ายแล้วการเยือนก็จบลงแบบไม่มีคำแถลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญ

หลายวันต่อมา ปูติน ประกาศจะส่งขีปนาวุธทางยุทธวิธีไปประจำการที่เบลารุส ซึ่งเท่ากับว่า ‘คลังแสงนิวเคลียร์’ ของรัสเซียกำลังจะถูกลำเลียงเข้าใกล้แผ่นดิน ‘นาโต’ มากขึ้นอีก

เซเลนสกี มองว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ปูติน น่าจะเป็นความพยายาม ‘แก้เก้อ’ จากการที่ผู้นำจีนไม่ได้รับปากมอบความช่วยเหลือทางทหารอย่างเป็นรูปธรรม และอาจเป็นการตอบโต้ที่อังกฤษจะส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium ammunition) ให้กับยูเครนด้วย

‘รัสเซีย’ เผย ยินดีส่งเด็กยูเครนกลับประเทศ  หากครอบครัวพวกเขาร้องขอ แนะ ให้ผู้ปกครองเขียนอีเมลส่งมา

(5 เม.ย.66) กล่าวว่า มาเรีย โลววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศพร้อมส่งเด็กยูเครนกลับประเทศ หากครอบครัวของพวกเขาร้องขอ

โลววา-เบโลวา เป็นผู้ดูแลเด็กยูเครนที่ถูกส่งตัวจากประเทศมาอยู่ใต้การปกครองของประเทศรัสเซีย และเธอเป็นหนึ่งในผู้ถูกหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในข้อหาลักพาตัวเด็กยูเครนไปยังประเทศรัสเซียอย่างผิดกฏหมาย

ยูเครนกล่าวหารัสเซีย ว่า ขโมยเด็กกว่า 16,000 คนออกจากประเทศ นับตั้งแต่เริ่มบุกรุกเมื่อปีที่แล้ว แต่ฝั่งรัสเซียกล่าวว่าเป็นการช่วยชีวิตเด็ก ๆ จากเขตสู้รบ และมีขั้นตอนรองรับเพื่อรอเวลาให้พวกเขาได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง

ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร มาเรีย โลววา-เบโลวากล่าวว่า เธอไม่เคยได้รับการติดต่อจากตัวแทนของทางการยูเครนเกี่ยวกับเด็กที่ถูกเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศตั้งแต่เริ่มการสู้รบ และเธอยินดีให้ผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นสามารถเขียนอีเมลถึงเธอเพื่อตามหาลูกหลานของพวกเขาได้

"เขียนถึงฉัน...เพื่อตามหาลูกของคุณ" โลววา-เบโลวากล่าว แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อเด็กยูเครนทั้งหมดที่ถูกนำตัวมายังรัสเซีย

ตามรายงานล่าสุดที่เผยแพร่โดยสำนักงานของเธอ ระบุว่า เด็ก 16 คนจาก 9 ครอบครัวได้กลับไปอยู่ร่วมกับญาติชาวยูเครนตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมแล้ว

รายงานยังระบุอีกว่าเด็กกำพร้าชาวยูเครน 380 คนถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในรัสเซีย รวมถึงผู้เยาว์ 22 คนที่ถูกทิ้งในเมืองมารีอูโปล เมืองท่าที่ถูกถล่มจนราบเป็นหน้ากอง ก่อนที่กองกำลังรัสเซียจะเข้ายึดเมื่อปีที่แล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top