Saturday, 11 May 2024
ตำรวจไซเบอร์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้โทรได้ ไม่ต้องลงทะเบียน

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.2 บก.สอท.3 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งมีการโพสต์ขายซิมการ์ดมือหนึ่งพร้อมใช้งานโดยไม่ต้องลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนพร้อมรวบรวมพยานหลักฐานจนทราบตัวเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวและมั่นใจว่าได้กระทำความผิดจริง จึงได้วางแผนเข้าล่อซื้อซิมผีและนัดรับสินค้าดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 15 พ.ค.66 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์จึงได้ปลอมตัวเข้ารับซิมดังกล่าวที่ได้สั่งซื้อไว้ จากนั้นได้แสดงตัวพร้อมจับกุมนายปัฐวิกรณ์ อายุ ๒๙ ปี ชาวอุบลราชธานี ในข้อหา “เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566" โดยควบคุมตัวได้บริเวณ ริมถนนสาธารณะธรรมวิถี ๔ ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี พร้อมด้วยของกลางเป็นซิมการ์ดที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วจำนวน 4 ชุด โดยเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาไปตรวจค้นบริเวณบ้านพักในพื้นที่ หมู่ที่ ๒๐ ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี พบซองใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์พร้อมหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ของเครือขายดีแทค จำนวน 33 ซอง ซึ่งผู้ต้องหารับว่าเป็นซองใส่ซิมการ์ดที่ผู้ต้องหาได้ลงทะเบียนไว้และจำหน่ายให้กับลูกค้ารายอื่นไปแล้วก่อนหน้านี้

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผกก.2 บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการ

ตำรวจไซเบอร์ ทลายแหล่งผลิตซิมผีชายแดนแม่สอด ส่งออกแล้วกว่าหมื่นซิม ก่อนเตรียมย้ายรังหนี

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.,พล.ต.ต.วิวัฒน์  คำชำนาญ รอง ผบช.สอท.,พล.ต.ต.อำนาจ 
ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. ได้สั่งการให้ให้มีตรวจสอบการกระทำความผิดตามสื่อสังคมออนไลน์ ระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการซื้อขายซิมผีบัญชีม้า สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก

สืบเนื่องจากการจับกุมนายสมชาย ศิริเดชไพบูลย์ อายุ 59 ปี พร้อมลูกจ้างชาวเมียนมาอีก 2 คน เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2566 พร้อมของกลางซิมการ์ดที่ได้ลงทะเบียนแล้วพร้อมใช้งานกว่า 346 ซิม เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 จึงได้ขยายผลไปถึงตัวการใหญ่ในการส่งซิมการ์ดโทรศัพท์ที่พร้อมใช้งานขายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จากสืบสวนทราบว่าเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “นู๋นุช ธรรศธนพร” มีผู้ติดตามกว่า 3.5 พันคน โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพขายซิมการ์ดโทรศัพท์พร้อมใช้งาน และยังโพสต์ภาพขณะที่กำลังนั่งลงทะเบียนเปิดใช้งาน (Activate) 

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.๔ ยังกล่าวอีกว่า จากการสืบสวนเจ้าของบัญชีเฟสบุ๊คดังกล่าว
คือ น.ส.ธรรศธนพร โชคสกุลอมรกิจ อายุ 38 ปี ชาวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีพฤติกรรมในการนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อื่นและบัตรบุคคลต่างด้าว (บัตรสีชมพู) มาลงทะเบียนซิมการ์ดเปิดใช้งาน (Activate) เพื่อส่งขายแก่ผู้ที่สนใจและขายให้แก่บุคคลทั่วไปหรือพวกมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ที่กบดานอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้าน นำไปใช้โทรหลอกกลวงประชาชนในประเทศไทย หรือพวกที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์นำไปใช้ติดต่อในการชักชวนให้ประชาชนทั่วไปมาเล่นพนันออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ นำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล

ตำรวจไซเบอร์ จับขบวนการหลอกให้ติดตั้งแอพสรรพากรหลอกให้ติดตั้งดูดเงินออกจากบัญชี ความเสียหายร่วม 5 แสนบาท

สืบเนื่องจากการที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้ติดตั้งแอฟสรรพากรแล้วดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร อ้างว่าเป็นกรมสรรพพากรบอกว่าให้คุณยกเลิกโครงการคนละครึ่ง ส่งลิ้งค์ดาวน์โหลดแอป Revenue มาให้แล้วผู้แจ้งดาวน์โหลด หลังจากนั้นเครื่องไม่สามารถใช้การและไม่สามารถปิดเครื่องได้ พอเปิดดูแอพธนาคารพบว่าเงินหายไป จำนวน 499,900 บาท

กระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลังจากสืบสวนจนทราบตัวผู้กระทำความผิด เจ้าที่ตำรวจ กก.4. บก.สอท.3 บช.สอท. สืบสวนติดตาม นายรัทพล โครตติ อายุ 25 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี จนพบตัว ณ บริเวณไหล่ทางขาเข้าวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี จึงได้นำหมาย ศาลจังหวัดนครราชสีมา ที่ จ.130/2566 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 แจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน”
ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ  ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.คัมภีร์ พรหมสนธิ รอง ผบก.สอท.3,พ.ต.อ.ธีระ เชื้อสุวรรณ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.ธีรศักดิ์ นราศรี สว.กก.4 บก.สอท.3,

พ.ต.ต.ณัฐพล เสียมไหม สว.กก.4 บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม
 

ตำรวจไซเบอร์ ขยายผลขุดรากถอนโคน อ้างเป็นสรรพากรหลอกดูดเงินจากบัญชีเกือบ 5 แสน

สืบเนื่องจากกรณีขบวนการหลอกให้ติดตั้งแอฟสรรพากรแล้วดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร อ้างว่าเป็นกรมสรรพพากรบอกว่าให้คุณยกเลิกโครงการคนละครึ่ง ส่งลิ้งค์ดาวน์โหลดแอป Revenue มาให้แล้วผู้แจ้งดาวน์โหลด หลังจากนั้นเครื่องหมุนไม่สามารถทำอะไรได้ ปิดเครื่องไม่ได้ พอเปิดดูแอปธนาคารพบว่าเงินหายไป จำนวน 499,900 บาท
.
ต่อมาวันนี้ 21 พ.ค.66 พ.ต.อ.ธีระ เชื้อสุวรรณ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้สั่งการให้มีการเร่งรัดสืบสวนติดตามขยายผลจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดมาดำเนินคดีโดยเร็ว จนสืบทราบว่า นางสาวอุมารินทร์ อินทนัย อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดกำแพงเพชร และเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลจังหวัดนครราชสีมา ที่ จ.132/2566 ลง 5 เมษายน 66 โดยได้หลบหนีการจับกุมมาพักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี พ.ต.ต.ธีรศักดิ์  นราศรี พร้อมด้วย พ.ต.ต.ณัฐพล  เสียมไหม สว.กก.4 บก.สอท.3 จึงนำทีมสืบสวนติดตาม และจับกุมผู้ต้องหาได้ขณะนั่งอยู่ร้านขายของริมถนนเศรษฐกิจ ขาออกชลบุรี หมู่ 1 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม จึงได้แสดงตัวพร้อมแสดงหมายจับให้ นางสาวอุมารินทร์ ฯ ดูและให้อ่านเองจนเป็นที่พอใจ โดยแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน” สอบถามนางสาวอุมานรินทร์ ฯ รับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง อยู่ระหว่างพิจารณาคดีอื่นของศาลจังหวัดนครราชสีมาและยืนยันไม่เคยถูกจับกุมตามหมายจับมาก่อน จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
.
ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ,พ.ต.อ.คัมภีร์  พรหมสนธิ รอง ผบก.สอท.3 ,พ.ต.อ.ธีระ เชื้อสุวรรณ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.ธีรศักดิ์  นราศรี สว.กก.4 บก.สอท.3 ,พ.ต.ต.ณัฐพล  เสียมไหม สว.กก.4 บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตำรวจไซเบอร์ แนะนำประชาชนสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนที่สถาบันการเงิน ตัดวงจรภัยออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนให้ดำเนินการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพ ป้องกันภัยทางการเงินออนไลน์ ดังนี้

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน คุ้มครองประชาชนซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน ผ่านทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จากมิจฉาชีพ โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น สถาบันการเงินมีอำนาจและหน้าที่ยับยั้งธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด  ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารเพื่ออายัดเงินในบัญชีด้วยความรวดเร็ว  ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทั่วราชอาณาจักร และมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก รวมไปถึงการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปฏิบัติที่สำคัญเข้าทำการตรวจค้นทั่วประเทศกว่า 40 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย ตรวจยึดซิมโทรศัพท์ของกลางได้รวมกว่า 110,000 ซิม เพื่อตัดวงจรการครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือของมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงประชาชน

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ทำสถาบันการเงินปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้มาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ลดช่องทางของมิจฉาชีพที่ใช้ในการเข้าถึงประชาชน ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ คือ 1.มาตรการป้องกัน 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมที่ต้องสงสัย 3.มาตรการตอบสนองและรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมาตรการป้องกัน เช่น การยกเลิกการแนบ link ทางข้อความสั้น (SMS) และอีเมล  การปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้เป็นปัจจุบัน และการให้ประชน หรือลูกค้าทำการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking ในกรณีการเปิดบัญชีแบบไม่เห็นใบหน้า (non-face-to-face)  กรณีการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง กรณียอดรวมของการโอนเงินทุก 200,000 บาทต่อวัน และกรณีการเปลี่ยนวงเงินในการทำธุรกรรม ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.66 นั้น  

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์โดยผิดกฎหมาย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงมุ่งหน้าปราบปรามจับกุมอาชญากรไซเบอร์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของการหลอกลวงออนไลน์ ทำให้ภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการเข้าไปยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าที่สถาบันการเงิน หรือธนาคารสาขาต่างๆ หรือตามช่องทางที่ธนาคารนั้นได้กำหนดเอาไว้ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินไม่ติดขัด เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพก่อนจะนำเอาทรัพย์สินของประชาชนหลบหนีไป

ตำรวจไซเบอร์ภูเก็ต รวบ! ผู้ขายซิมม้าออนไลน์กว่า 500 ซิมต่อวัน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 พ.ค.66 เจ้าพนักงานตำรวจ กก.1 บก.สอท.5 ได้รับแจ้งว่ามีบุคคลลักลอบประกาศ และโฆษณาขาย ซิมโทรศัพท์มือถือผ่านเฟสบุ๊ค ชื่อว่า“นาย'ย เอ็ม'ม” เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ตรวจสอบพบว่าเฟสบุ๊คดังกล่าว ชื่อบัญชี “นาย'ย เอ็ม'ม” เลขไอดี “100071837096787”
https://www.facebook.com/profile.php?id=100071837096787 ได้โพสต์ประกาศในเพจเฟสบุ๊ค ชื่อว่า “ซื้อขายซิม ไม่ลงทะเบียน และ ลงทะเบียน AIS DTAC TRUE”  ด้วยข้อความว่า “ Ais TheOneSIM 39.- 100เบอร์, “Dtac 20ซิม 35.- ลงทะเบียน&ไมลงทะเบียน ”, Dtac 39.- มีเงินในซิม  เป็นการขายซิมในราคาต่างๆ ทั้ง 3 เครือข่ายจริง

ต่อมาวันที่ 23 พ.ค.66 เจ้าพนักงานตำรวจ กก.1 บก.สอท.5 ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดระนองเพื่อเข้าค้น บ้านเลขที่ 176/9 ถ.ท่าเมือง ซ.2 ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จว.ระนอง พบนายนรทัต สีนามบุรี 
อายุ 17 ปี ยืนอยู่หน้าบ้าน โดยนายนรทัตฯ ได้นำตรวจค้นภายในบ้าน ผลการตรวจค้นพบซิมโทรศัพท์ซึ่งถูกลงทะเบียนแล้วจำนวนมาก 

เบื้องต้น โดยก่อนจะถูกจับกุมตนประกอบอาชีพขายของออนไลน์ และตนได้สั่งซื้อซิมโทรศัพท์มือถือที่ยังไม่ลงทะเบียนมาจากร้านเทเลวิช สาขาระนอง จากนั้นตนก็นำมาโพสต์ขายผ่านเฟสบุ๊คของตนเองชื่อบัญชี “นาย'ย เอ็ม'ม” เลขไอดี “100071837096787” https://www.facebook.com/profile.php?id= 100071837096787 ลงในกลุ่มเฟสบุ๊คซื้อขายซิม เมื่อมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อซิมโทรศัพท์มือถือจากตน ตนก็จะลงทะเบียนใช้งานให้ โดยใช้ข้อมูลจากลูกค้าที่เคยซื้อขายซิมโทรศัพท์มือถือจากตน เมื่อลงทะเบียนเสร็จก็จะส่งให้ลูกค้าตามที่สั่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งให้ ทราบว่าเป็นการกระทำความผิดฐาน “เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ หรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียน ผู้ใช้ บริการในนาม ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้” จากนั้นจึงนำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ  ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 ,พ.ต.อ.เอกวีร์ พงศ์สร้อยเพ็ชร รอง ผบก.สอท.5 ,พ.ต.อ.บัญชา ศรีสุข รอง ผบก.สอท.5,พ.ต.อ.อรรถพล มีเสียง รอง ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.ศุภกร ธัญญกรรม ผกก.1 บก.สอท.5 ได้สั่งการว่าที่ พ.ต.ต.สุธี บุดดีคำ ปรก.กก.1 บก.สอท.5, ร.ต.อ.ขวัญชัย ปานคง รอง สว.กก.1 บก.สอท.5, ด.ต.พลชัย  พรหมทองรักษ์  ผบ.หมู่ กก.1 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตำรวจไซเบอร์รวบสาวใหญ่เครือข่าย Romance Scam ปลอมเป็นลูกครึ่งเกาหลี แชทลวงเงินเกือบ 3 แสน

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.สอท.2 ทราบว่า นางสาวดารัตน์  อายุ 36 ปี ชาวอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ผู้ต้องหาตามหมายจับของ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งพฤติการณ์ในคดี ผู้ต้องหารายนี้อยู่ในแก๊งขบวนการ หลอกให้รักออนไลน์ (romance scam) ซึ่งได้สร้างความเสียหายและยังมีเหยื่อหลงเชื่อส่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

กล่าวคือ เมื่อประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผู้เสียหายได้แชตคุยกับบคคลที่แสดงตัวเป็นชายลูกครึ่งสัญชาติอเมริกัน-เกาหลี หน้าตาดีมีฐานะดี ติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น อินสตราแกรม ต่อมาคนร้ายได้ชักชวนและหลอกมาคุยกันใน Whatapp โดยคนร้ายได้อ้างว่าได้เดินทางไปทำงานในประเทศไทย และอ้างว่าติดปัญหาเรื่องเงินเนื่องจากว่าใช้สกุลเงินต่างกัน บัญชีธนาคารถูกระงับการใช้งานคนร้ายได้ขอให้จ่ายค่าปลดล็อคแทนโดยจะคืนให้ในภายหลังผู้เสียหายได้หลงเชื่อได้โอนเงินไป จำนวน 5 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 266,710 บาท ซึ่งผู้ต้องหารายนี้เป็นเจ้าของบัญชีที่รับเงินที่ได้จากการหลอกลวงจากผู้เสียหาย 

ต่อมา 25 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับมาซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านพักหลังหนึ่งในพื้นที่ตำบลตีนเป็ด เมืองฉะเชิงเทรา จึงนำกำลังไปตรวจสอบพบบุคคลตำหนิรูปพรรณตรงกับบุคคลตามหมายจับ จึงทำการตรวจสอบโดยบุคคลดังกล่าวรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริงและไม่เคยถูกจับในคดีนี้มาก่อน จึงได้แจ้งให้ทราบว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่จะเกิดความเสียหาย” จึงจับกุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 

เบื้องต้น ผู้ต้องหายังปฏิเสธ โดยอ้างว่าตนได้ให้หมายเลขบัญชีธนาคารของตนเองไปกับเพื่อนที่รู้จักกันทางเฟสบุ๊คเพื่อไปใช้ในการรับเงินโอน 

เตือนภัย “หลอกให้รักออนไลน์ ด้วยรูปภาพบุคคลหน้าตาดี ใช้ชีวิตหรูหรา ร่ำรวย แล้วบอกว่าโอนเงินมาให้ ส่งของมีค่ามาให้ แต่ต้องเสียภาษี ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางศุลกากร นั่นคือ การหลอกลวง Romance scam”
ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., 
พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ณัฐกรณ์ ประภายนต์ ผบก.สอท.2 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ปกรณ์กิตติ์ ธนวรินทร์กุล ผกก.3 บก.สอท.2 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตำรวจไซเบอร์ รวบสาวใหญ่เครือข่ายแก๊ง Hybrid Scams เอเยนต์จัดหาบัญชีม้ารายใหญ่ภาคใต้ ดีกรีความสามารถสื่อสาร 4 ภาษา หนีคดีกบดาน พื้นที่จังหวัดเชียงราย

จากกรณี กก.4 บก.สอท.4 ได้ทำการสืบสวนจับกุม แก๊งหลอกให้รักและชักชวนลงทุน (Hybrid Scams) ผ่านแอพพลิเคชั่น BITSTAMP  ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพ ได้สร้างแอพพลิเคชั่นเทรดเงินสกุลดิจิตอลหลอกเหยื่อให้ร่วมลงทุนโดยใช้รูปโปรไฟล์หล่อสวยชวนคุยจนสนิทใจ แล้วหลอกให้ร่วมลงทุนเทรดเหรียญสกุลดิจิตอล  จนเกิดความเสียหายกับเหยื่อเป็นวงกว้าง  มูลค่าความเสียหายกว่า 9 ล้านบาท ซึ่งได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้เสียหายเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2564 นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ กก.4 บก.สอท.4 ชุดจับกุม 
นำโดย พ.ต.ท.สายชล ผาแก้ว สว.กก.4 บก.สอท.4, พ.ต.ต.ณวดล ภาโส สว.กก.4 บก.สอท.4, พ.ต.ต.วิสุทธิ์ ครุฑจันทร์ สว.กก.4 บก.สอท.4 นำกำลังเข้าจับกุม นางสาวฉัตรดาว อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”  และ         นางบังอร อายุ 55 ปี  ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานความผิดเดียวกัน  โดยจับกุมได้ในพื้นที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พฤติการณ์กระทำความผิดของ นางสาวฉัตรดาว ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมบัญชีธนาคาร จ้างบุคคลอื่นให้เปิดบัญชีธนาคาร โดยเป็นผู้รับซื้อขายบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) รายใหญ่ในพื้นที่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จากนั้นรวบรวมบัญชีธนาคารที่หามาได้ส่งให้กลุ่มแก๊งนายจ้าง เพื่อไว้ใช้ในการรับโอนเงินจากเหยื่อ ส่วนด้านนางบังอร นำบัญชีของตนเองให้ นางสาวฉัตรดาว เช่า นำไปใช้กระทำความผิดเพื่อรับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ต่อมาผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ทราบว่าตนมีหมายจับ จึงหลบหนีจากพื้นที่จังหวัดสงขลา มาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่คาดคิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตามเจอ จนกระทั่งถูกจับกุมตัวได้ดังกล่าว 

พ.ต.อ.คมสัน มีภักดี ผกก.4 บก.สอท.4 เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาให้การว่า เนื่องจากตนเองมีความสามารถพูดได้หลายภาษา และเคยมีสามีเป็นคนจีน ถูกชักชวนไปทำงานต่างประเทศ จึงได้เดินทางไปทำงานเป็นลูกจ้างของกลุ่มแก๊งคนจีนในประเทศมาเลเซีย ในช่วงแรกทำงานดูแลเกี่ยวกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ และตนก็เริ่มจัดหาบัญชีธนาคารเพื่อนำเอาไปให้นายจ้างใช้ในกิจการต่างๆ  ต่อมานายจ้างได้เริ่มจ้างโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมเกี่ยวกับการลงทุนเทรดเงินสกุลดิจิตอลขึ้นมา เพื่อหลอกลวงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนไทย ให้ลงทุนเทรดเงินดิจิตอล ตนจึงรับหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) รวมถึงจัดหากระเป๋าเงินอิเลคทรอนิคซึ่งมีการลงทะเบียนยืนยันตัวบุคคลโดยบุคคลอื่น เพื่อนำมาใช้ในการหลอกลวงรับโอนเงินจากเหยื่อ ซึ่งมีการแบ่งหน้าที่กันทำเป็นระบบ ในแบบองค์กรอาชญากรรม

ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับ กสทช. สรรพสามิต ปูพรมค้นห้างดังกลางกรุง ยึดมือถือ และอุปกรณ์สื่อสารผิดกฎหมาย จำนวนมาก

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ กรมสรรพสามิต ร่วมกันตรวจค้นแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมาย ภายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านปทุมวัน เพื่อป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้ก่อคดีออนไลน์ โดยสามารถตรวจยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวนมาก 

ตามที่ปัจจุบันได้มีการลักลอบนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยผิดกฎหมาย และลักลอบจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางของกลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้ก่อคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและการขออนุญาตได้ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.วิวัฒน์  คำชำนาญ และ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้สืบสวนปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง โดยประสานข้อมูลกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภายใต้การอำนวยการของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. และ กรมสรรพสามิต ภายใต้การอำนวยการของ นายพยุง บุญสมสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปราม

โดยในวันนี้ (26 พฤษภาคม 2566) เวลา 12.00 น. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.4 บก.สอท.1 ร่วมกับนายจาตุรนต์ โชคสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และ นายวิโรจน์รัตน์ แจ่มวรรณา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการตรวจสอบสรรพสามิต และฝ่ายป้องกันและปราบปราม 4 สำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม ได้ร่วมกันนำหมายค้นศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าตรวจค้นบริเวณชั้น 4 ของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งย่านปทุมวัน ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์มือถือและอุปกรณ์โทรคมนาคมขนาดใหญ่ โดยพบว่ามีการนำสินค้าเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน (Type Approval Test) เช่น โทรศัพท์มือถือ , เครื่องติดตาม (GPS Tracker) , อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณ Wifi , เครื่องดักฟัง , วิทยุสื่อสาร , โดรนถ่ายภาพ มาวางจำหน่ายจำนวนมาก

โดยผลการตรวจค้น ได้ทำการจับกุมร้านค้าจำนวน 9 แห่ง  และตรวจยึดเครื่องโทรคมนาคมผิดกฎหมายจำนวนมากกว่า 157 รายการ มูลค่ากว่า 707,000 บาท

ทั้งนี้ร้านค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมแต่อย่างใด เป็นการกระทำความผิดในข้อหา “มี และ ค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับจึงได้ทำการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดนำส่งพนักงานสอบสวน   สน.ปทุมวัน ดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน “เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพมีการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม ตลอดจนซิมการ์ดโทรศัพท์ผิดกฎหมายเป็นช่องทางในการหลอกลวงประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กสทช. และ กรมสรรพสามิต จะมีการออกตรวจตรา และกวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบในการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ทางราชการกำหนด”

ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนมีปัญหาข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้วิทยุโทรคมนาคม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงาน กสทช. Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1200

ตำรวจไซเบอร์ รวบแล้ว!! ขบวนการสินเชื่อทิพย์ กู้เงิน 2 ล้าน แต่เสียเงิน 3 ล้าน

สืบเนื่องจากกรณีขบวนการหลอกให้กู้เงินออนไลน์สินเชื่ออนุมัติไว หลอกลวงผู้เสียหายซึ่งแอบอ้างว่าเป็นกลุ่มนายทุนที่เปิดเพลทฟอร์มบริการให้กู้เงินผ่านระบบกู้เงินออนไลน์ ผู้เสียหายซึ่งกำลังต้องการเงินกู้ 2 ล้านบาท จึงตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าว

โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จผ่านในระบบคอมพิวเตอร์ ผู้เสียหายยินยอมให้ข้อมูลและปฏิบัติตาม เพราะเชื่อว่าจะได้รับเงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ เป็นเหตุให้หลงเชื่อโอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร ไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มร้าย รวม 4 บัญชี รวมการโอนทั้งหมด 23 ครั้ง ได้รับความเสียหายกว่า 3,500,0000 บาท

ต่อมาวันที่ 13 มิ.ย. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.5 สืบสวนติดตามจนทราบว่า ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีดังกล่าวกำลังเดินทางมาด้วยรถไฟขบวน 171 ปลายทางลงสถานีรถไฟยะลา จึงได้ร่วมกันวางแผนและเดินทางไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุได้พบ นางดวงดาว อายุ 45 ปี บุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดกระบี่ จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งข้อกล่าวหา ให้ทราบว่ากระทำความผิดฐาน

“ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยจับกุมได้ที่ สถานีรถไฟยะลา ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย การเงินมีปัญหา ปรึกษาสถาบันการเงินแหล่งสินเชื่อที่มีตัวตน น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ  ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.ศุภกร ธัญญกรรม ผกก.1 บก.สอท.5, ได้สั่งการ ว่าที่ พ.ต.ต.ญาณศักดิ์ บุญสนอง สว.กก.1 บก.สอท.5, พ.ต.ท.ปริพล นาคลำภา สว.กก.1 บก.สอท.5, พ.ต.ท.หญิง ธรา เมืองแก้ว สว.กก. 1 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top