Saturday, 11 May 2024
ตำรวจไซเบอร์

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย วันฮาโลวีน (Halloween Day) อ้างแจกของฟรี หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หลอกโอนเงินค่าประกัน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้า และบริการออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ซึ่งในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันฮาโลวีน (Halloween) นั้น เหล่ามิจฉาชีพมักฉวยโอกาสใช้ช่วงวันสำคัญดังกล่าวจัดโปรโมชันต่างๆ เพื่อหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพจร้านค้าปลอม หรือเพจที่พักปลอม โดยจะมีการขายสินค้า หรือบริการในราคาต่ำกว่าปกติอ้างเป็นโปรโมชันในช่วงดังกล่าว กระทั่งเมื่อหลอกลวงได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ก็จะปิดเพจ หรือบล็อกบัญชีผู้เสียหายหลบหนีไป รวมไปถึงการใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมโพสต์ข้อความ หรือส่งข้อความไปยังอีเมลในลักษณะในสิทธิพิเศษเช่น เป็นผู้โชคดีได้รับโทรศัพท์ฟรีวันฮาโลวีน Halloween Get Free เป็นต้น พร้อมแนบลิงก์ให้เหยื่อติดต่อ หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านเว็บไซต์อันตราย ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต รหัสหลังบัตร รหัสใช้ครั้งเดียว (OTP) เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือนำข้อมูลไปสุ่มแฮ็กเข้าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่างๆ นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินค่าประกันสินค้าก่อนอีกด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 25 ต.ค.66 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 140,045 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.27% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,041 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน และการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center)

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวังตรวจสอบให้ดี ตระหนักถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้ความโลภของเหยื่อเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ใช้สถานการณ์สำคัญๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามวันเวลาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมไปถึงการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญๆ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง รวมถึงการจองที่พักควรจองผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือบริการที่ราคาถูกกว่าปกติ หรือมีการจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม
3.หากจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงจะได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน มีผู้ติดตามสูงกว่าเพจปลอม สร้างมาเป็นเวลานาน และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
4.ระวังการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ใดๆ ขอให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง
5.ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ไม่ทราบเเหล่งที่มาและไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่เป็นการสำรวจข้อมูล กรอกแบบสอบถามต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ

'สำนักพุทธฯ' ประสาน 'ตร.ไซเบอร์' จัดการเพจดัง ใช้ AI ทำภาพพระ 'เล่นกีตาร์-แข่งจยย.' ไม่เหมาะสม

(7 พ.ย. 66) นายสุพัฒน์ เมืองมัจฉา ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ทำหนังสือถึงตำรวจไซเบอร์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อมูล หลังจากที่ พศ.ตรวจพบมีเพจเฟซบุ๊กนำเสนอรูปภาพที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นมาจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นภาพพระภิกษุกำลังเล่นดนตรี 9 ภาพ โดยอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของทางคณะสงฆ์ และอาจทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความไม่สบายใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า พศ.จึงขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบข้อมูล เพื่อดำเนินการนำภาพที่ไม่เหมาะสมออกไป พร้อมกันนี้พศ.กำลังตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพเอไอ พระสงฆ์แข่งจักรยานยนต์ เพื่อประสานตำรวจไซเบอร์ดำเนินการต่อไปด้วย

โฆษกพศ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบว่ามีผู้ใช้เอไอไปสร้างภาพที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่พบเห็นภาพดังกล่าวได้ และถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่มีการนำเอไอมาใช้สร้างภาพของพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียแล้วนำส่งต่อในโลกออนไลน์ หากพบภาพที่สงสัยว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียจริงหรือไม่ สามารถแจ้งมาได้ที่เบอร์โทร 0-2441-7992

ตำรวจไซเบอร์รวบขบวนการหลอกทำภารกิจ เหยื่ออยากหารายได้ กลายเป็นสูญเงินเฉียดแสน

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ผู้เสียหายต้องการหารายได้พิเศษ จึงได้ค้นหาบนอินเตอร์เน็ต พบเว็บไซต์ชื่อ “หางานพาร์ทไทม์” จึงได้สนใจและสมัครทำงาน ต่อมาเว็บดังกล่าวได้ให้ผู้เสียหาย แอดไลน์ชื่อ “ฝ่ายบริการพลอย” แล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล จากนั้นไลน์ดังกล่าวได้ให้ผู้เสียหายเริ่มทำภารกิจกับบริษัท Asset shop online โดยอ้างว่ามีค่าตอบแทนให้ประมาณวันละ 500 - 3000 บาท โดยการกดจองออเดอร์สินค้าในแพลตฟอร์มชื่อดังต่างๆ เช่น Shopee Lazada และอีกหลายแพลตฟอร์ม

ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้ทดลองทำภารกิจโดยเริ่มต้นจากการโอนเงิน 50 บาท เข้าบัญชีธนาคารคนร้าย ต่อมาปรากฏเป็นภาพบัญชีกระเป๋าตังค์ของผู้เสียหายในเว็บไซต์ของ Asset shop online พบยอดเงินในบัญชี 50 บาท ผู้เสียหายจึงได้กดเข้าไปที่ร้านค้า Shopee ผ่านทางกระเป๋าตังค์และจากนั้นพบว่ามีผลตอบแทนในกระเป๋าตังค์ของผู้เสียหายเพิ่มมาจำนวน 15 บาท แล้วมีการเงินตอบแทนมายังบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย จำนวน 65 บาท ผู้เสียหายจึงมั่นใจว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจริง จึงโอนเงินเพื่อลงทุนเพิ่มอีกเรื่อยๆ ตั้งแต่ 300 - 500 บาท โดยยังคงได้รับผลตอบแทนกลับมาจริง

ต่อมาผู้เสียหายจึงโอนเงินเพื่อลงทุนเพิ่มอีกเรื่อยๆ อีกหลายครั้ง ตั้งแต่ 800 - 3,500 บาท เมื่อโอนเสร็จผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ทำไม่ได้ อ้างว่าภารกิจยังไม่สำเร็จ ต้องโอนเงินเพิ่มอีก ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปอีก 12,000 บาท เมื่อทำภารกิจเสร็จ มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายทำภารกิจผิดพลาด ต้องติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อทำการแก้ไขแผนลงทุน จึงให้โอนเงินเพิ่มอีก 32,520 บาท เมื่อโอนเสร็จยังถอนไม่ได้ ต้องโอนเพิ่มอีก 32,520 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป แต่คนร้ายแจ้งว่าดำเนินการไม่สำเร็จ ให้โอนเงินเพิ่มอีกจำนวน 99,907 บาท แต่ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกแน่นอน จึงได้แจ้งความกับตำรวจไซเบอร์เพื่อดำเนินคดี โดยผู้เสียหายโดนหลอกโอนเงินไปทั้งสิ้น จำนวน 82,190 บาท 

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ บก.สอท.3 โดย กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3  ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า นายบุลากร อายุ 23 ปีชาวบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ในกลุ่มขบวนการดังกล่าวที่ถูกออกหมายจับ จึงทำการวางแผนเข้าจับกุม จนสามารถเข้าจับกุมตัวได้ขณะเดินอยู่ริมถนนหน้าบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ ม.8 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงแจ้งข้อหา“ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จึงนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.,พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.๓,พ.ต.อ.พงศ์นรินทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.๓ สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, ร.ต.อ.อาณัติ เข็มทอง รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันจับกุม

‘ดีอี’ ผนึกกำลัง ‘ตำรวจไซเบอร์’ เดินหน้าปราบอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด จับ 4 คดีรวด รวบ ‘มิจฉาชีพหลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า - ราชาแอบถ่าย - เว็บพนันออนไลน์ - ยูทูปเบอร์อาวุธปืน’ พบของกลางเพียบ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ซึ่งนำมาขับเคลื่อนโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. หรือ ตำรวจไซเบอร์ เฝ้าระวังการเกิดอาชญากรรมกับกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการหลอกให้ลงทุน หลอกเปิดบัญชีม้า หรือ แม้กระทั่งการพนันออนไลน์ และนำมาสู่ปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมมิจฉาชีพออนไลน์ 4 คดี ทั้งกรณี 2 ผัวเมียหลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า การทลาย 2 เว็บพนันออนไลน์ ตรวจยึดเงินสดและทรัพย์สินกว่า 150 ล้านบาท แล้วยังพบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี  รวมไปถึง การจับกุมตัว KINGSPY ราชาแอบถ่าย” พบภาพและคลิปแอบถ่ายกว่า 60,000 ไฟล์ รวมกว่า 1.41 TB และ จับยูทูปเบอร์ Tacticool BoB พร้อมยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนหลายรายการ 

1. ‘ปฏิบัติการ FAKE PROFILE จับ 2 สามีภรรยา หลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า’ ซึ่งผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิการถูกหลอกจากบัญชีเฟซบุ๊กอวตารอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ ขอนัดสัมภาษณ์งานกับผู้เสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน และจับกุมนางสาวบุสราภรณ์ อายุ 28 ปี ชาวอุดรธานี และ นายประมวล อายุ 36 ปี ชาวบึงกาฬ ซึ่งเป็นสามี ทำหน้าที่คอยขับรถพาผู้ต้องหาไปหลอกลวงเหยื่อตามสถานที่ต่างๆ  พร้อมกับดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันเอาไปเสีย ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง, นำบัตรของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตร

2. จับกุม 2 เว็บไซต์พนันออนไลน์ พร้อมยึดทรัพย์กว่า 150 ล้านบาท ได้แก่ ufabet-jc.com และ play.beer777.com ซึ่งพบว่ามียอดเงินหมุนเวียนรวมกันกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลออกหมายค้นและหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 เว็บไซต์ รวมทั้งสิ้น 20 รายทั้งกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ เจ้าของเว็บไซต์ โปรแกรมเมอร์ พนักงาน ผู้ดูแลเรื่องการเงินและบัญชีม้า 

3. จับกุมผู้ใช้แอปพลิเคชัน X (twitter) ที่ชื่อ ‘Kingspy’ หรือ ‘ราชาแอบถ่าย’ ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารกว่า 60,000 ไฟล์ ซึ่งได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำผิดจาก The Scientia Program (โปรแกรมซายเอนเทีย) ซึ่งขับเคลื่อนโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ดำเนินการในประเทศไทย ให้ตรวจสอบบัญชีบนแอปพลิเคชัน X  ที่มักโพสต์เชิญชวนให้เข้ากลุ่มชื่อ ‘KING SPYCAM’ ใน LINE Official Account มีผู้ติดตามจำนวน 596 คน มีระบบตอบรับอัตโนมัติเพื่อยืนยันการเข้ากลุ่มและต้องเสียบริการจำนวน 150 บาทต่อคน ซึ่งได้มีการสอบสวนจนพบว่า นายณัฐพร คือผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน X ชื่อบัญชี ‘ราชาแอบถ่าย’ ซึ่งต่อมาได้ถูกระงับบัญชีจึงสร้างบัญชี X (twitter) ขึ้นมาอีกบัญชีหนึ่งชื่อบัญชี CODE มี ID:@CODE1380077 สำหรับโพสต์เชิญชวนให้เข้ากลุ่มลับโดยแนบลิงก์ไลน์และเรียกเก็บเงินจากสมาชิก และจากการจับกุมยังตรวจสอบพบภาพสื่อลามกอนาจารทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในลักษณะแอบถ่าย รวมไฟล์ที่ตรวจพบจำนวน 62,773 ไฟล์ รวมความจุประมาณ 1.4 เทราไบต์ หรือ 1,400 จิกะไบต์

4. จับกุมยูทูปเบอร์Tacticool BoB พร้อมยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนหลายรายการ โดยพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ ‘Pun Tacticool Bob’ และ ‘Tacticool Bob แทคติคูลบ็อบ’ เป็นเพจที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการยิงปืน การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับอาวุธปืน โดยมีนายตฤณสิษฐ์ อายุ 33 ปี เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแฟนเพจและ YouTube ช่อง ‘Tacticool BoB แทคติคูลบ็อบ’ ที่มีผู้ติดตามประมาณ 1.95 หมื่นราย และจากการสืบสวนยังพบว่านายตฤณสิษฐ์ มีพฤติการณ์ในการดัดแปลงอาวุธปืนอีกด้วย ซึ่งผลการตรวจค้น พบอาวุธปืน 85 กระบอก และเครื่องกระสุนกว่า 6,000 นัด รวมทั้งหมดกว่า 95 รายการ

กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการเร่งรัดการป้องกันปราบปรามภัยออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยจากอาชญกรออนไลน์ รวมทั้งป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนรวมทั้งกลุ่มเปราะบางต่างๆ ขณะเดียวกันก็ได้มีการเร่งรรัดการปราบปรามเว็บพนันออนไลน์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องด้วย 

‘ดีอี’ ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ แถลงปฏิบัติการณ์ทลาย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ รายใหญ่ ยึดทรัพย์สินนับพันล้าน

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวปฏิบัติการยึดทรัพย์เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอรร์ายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด ยึดทรัพย์สินได้มูลค่ารวมกว่า 281.5 ล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้จัดตั้งศูนย์ AOC 1441 ขึ้นมาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากภัยอออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามอาญชากรรมออนไลน์และขยายผลการจับกุม เพื่อเร่งรัดติดตามทรัพย์สินประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหาย ไปจนถึงการดำเนินการปกป้องความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน นำมาซึ่งปฏิบัติการจับกุมคดีสำคัญในครั้งนี้ คือ คดีของนางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีพฤติการณ์แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ในรูปแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างกลโกงหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมหาศาล   

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นผลจาก การบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์รายคดี นางสาวธารารัตน์  กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนัน โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีในรายคดีดังกล่าว

อีกทั้งจากข้อมูลของ บก.ปอศ. พบว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะ ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำและหลอกลวงผู้เสียหายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไป แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน แอปพลิเคชั่น Facebook ในลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจานวนมาก 

จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มของนางสาวธารารัตน์ กับพวก มีการโอนเงิน มากกว่า 3 พันล้านบาท ไม่สอดคล้องกับอาชีพรายได้ รวมทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวมีการโอนเงิน ไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิดอำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย 

โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท 

สำหรับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้คณะพนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับคณะพนักงานสืบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีในการลงพื้นที่ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน หลายรายการ เช่น ธนบัตร ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ นาฬิกาแบรนด์เนม รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท และตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป 

เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายคดีโดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกันถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหาย ในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

ตำรวจไซเบอร์ รวบขบวนการปล่อยกู้ดอกโหด ยึดรถโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก

ตำรวจไซเบอร์ แถลงจับกุมเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ในอัตราร้อยละ 60 ต่อปี และบังคับลูกหนี้ทำสัญญาอำพรางซื้อขายรถไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ หากผิดนัดชำระหนี้ ยึดรถโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก

ตามนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้นอกระบบ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้เร่งระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และการรับจำนำรถยนต์รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย 

ต่อมาวันนี้ 18 มกราคม 2567 พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 แถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหาปล่อยเงินกู้นอกระบบ ในพื้นที่ จ.กระบี่ โดยชุดสืบสวน กก.1 บก.สอท.5 จ.กระบี่ ได้สืบสวนทราบว่า นายประภาส (สงวนนามสกุล) อายุ 49 ปี ผู้ต้องหา มีพฤติการณ์เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ ลูกหนี้ที่จะกู้ต้องนำรถยนต์รถจักรยานยนต์มาเป็นหลักประกัน พร้อมทั้งทำสัญญาซื้อขายทิ้งไว้ในลักษณะเป็นการอำพราง เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็จะนำรถออกประกาศขายผ่านทางเฟซบุ๊ก ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2567 พ.ต.ท.อุดม อิสโร และ พ.ต.ท.อสวรรธน์ ศิระเวรินทร์ สว.กก.1 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนได้เข้าตรวจค้นบ้านของนายประภาส ใน ต.พรุดินนา อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พบรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดเรียงรายอยู่ โดยเป็นรถยนต์กระบะ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 4 คัน พบสัญญาซื้อขายรถที่ลูกหนี้โอนลอยไว้ สอบถามนายประภาส ให้การรับสารภาพว่าได้ปล่อยเงินกู้มาแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะปล่อยกู้ให้กับคนในพื้นที่ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 60 ต่อปี ซึ่งลูกหนี้จะต้องนำรถมาเป็นหลักประกันเงินกู้ พร้อมทั้งเซ็นโอนลอยไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เชิญเจ้าของรถมาพบ ให้การสอดคล้องกันว่าได้กู้เงินกับนายประภาสจริง และได้นำรถมาเป็นหลักประกันเงินกู้ไว้ แต่นายประภาสได้ให้โอนลอยไว้โดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า “ให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยมีลักษณะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้” และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองท่อม จ.กระบี่ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
    
พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ฯ ยังได้ประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถลงทะเบียนขอความช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ได้ทางเว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th/ หรือที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ

ดีอี-ตำรวจไซเบอร์ จับกุมเว็บพนันออนไลน์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท

พร้อมทลายแหล่งบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี พร้อมขยายผลข้ามแดน ควบคุมตัวคนไทย 154 รายในเมียนมา โยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.ฯ ปฏิบัติราชการ บช. สอท. , พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. , พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายสุริยน ประภาสะวัต ตําแหน่งอัยการพิเศษ ฝ่ายการสอบสวน 1 , เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (AIS) โดย นายศรัณย์ ปรีชา ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงผลการจับกุม “JOINT CYBER OPERATION”  ใน 3 ปฏิบัติการ ดังนี้ 

1. ครั้งแรกเก็บพยานหลักฐานนอกประเทศ ขยายผลข้ามแดนจับกุมคนไทย 154 ราย ถูกควบคุมตัวในเมียนมา โดยได้ประสานความร่วมมือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเครือข่ายการพนันออนไลน์ใน จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้เข้าปราบปรามบ่อนการพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จ.ท่าขี้เหล็ก โดยจัดตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนและขยายผลการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อร่วมขยายผลเก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ซักถามคัดกรองปากคำบุคคล รวมทั้งการตรวจสอบพยานหลักฐานทางดิจิทัล และรายละเอียดต่าง ๆ สำหรับแนวทางการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หลังจากได้รับโทษตามกฎหมายแล้ว จะส่งตัวกลับมาดำเนินนคดีในประเทศไทย

2. ทลายแหล่งลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ ใกล้สถานศึกษาดัง จ.ชลบุรี โดยเข้าตรวจค้นและจับกุมตัว นายหัถตชัยฯ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ได้ที่บ้านไม่มีเลขที่ ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า รวม 370 ชิ้น มูลค่าของกลางประมาณ 50,000 บาท พร้อมขยายผลการจับกุมถึงแหล่งที่มา จุดกระจายสินค้า และผู้ทำหน้าที่ค้าส่งหรือส่งสินค้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จึงขออนุมัติหมายจับและหมายค้นนายรัชชานนท์ฯ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี โดยเป็นผู้จำหน่ายและผู้จัดส่งบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยจะเป็นแหล่งเก็บ ซุกซ่อนและจําหน่าย บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 2 จุด 

โดยจุดที่ 1 ภายในซอยบางทราย 63 หมู่ที่ 5 ต.บางทราย อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บ ซุกซ่อน สถานที่แพ็คของ จากการตรวจค้นพบนายรัชชานนท์ฯ อายุ 25 ปี แสดงตนเป็น ผู้ดูแล/เจ้าของบ้าน ตรวจยึดของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 12 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 1,560 บาทและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และ จุดที่ 2 ในพื้นที่ ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสถานศึกษาชื่อดังของจังหวัดชลบุรี เพียง 300 เมตร ตรวจยึดของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวนกว่า 5,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000,000 บาท 

ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคและประชาชนว่า การจำหน่าย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า การลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองที่ 9/2558 เรื่อง  “ห้ามขายหรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่ เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย หรือรับไว้โดยประการใดโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคา สินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. จับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ slotpgthai.net และ uwin9.com พบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวม 25 เครือข่าย ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท พบยอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 500 ล้านบาท โดยได้ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหารวม 7 ราย กลุ่มผู้รับ ผลประโยชน์จำนวน 1 ราย กลุ่มผู้ดูแลการเงิน 1 ราย และบัญชีม้า 5 ราย ทั้งนี้ยังตรวจสอบพบเครือข่ายพนัน อื่น ๆ รวม 25 เครือข่าย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 200,000 คน โดยดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกันทาง อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน” 

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดน ในการดำเนินการขยายผลจับกุมทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ ซิมผี บัญชีม้า  โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 - 5 มี.ค. 67 กระทรวงดีอีดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันออนไลน์ จำนวน 25,571 รายการ  เพิ่มขึ้น 13 เท่าตัวจาก 2,059 เว็บ ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ในการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

“ตำรวจไซเบอร์ เปิดนาทีบุกบ้านทรัพย์มั่งคั่ง รวบเจ้ามือหวยลาวรายใหญ่ ผงะ! ลูกทีมกระจายทั่วประเทศ”

ตำรวจไซเบอร์ นำกำลังบุกรวบเจ้ามือหวยรายใหญ่ “บ้านทรัพย์มั่งคั่ง” ชักชวนเล่นพนันแทงหวยออนไลน์ ทั้งหวยไทย หวยลาว หวยใต้ดิน เบอร์เงิน เบอร์ทอง รับสมัครแม่ทีมลูกทีมไม่อั้น ยอดเงินสะพัดในบัญชีกว่า 10 ล้าน
ตามนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ความสำคัญในการปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลักลอบเล่นการพนันออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการมอมเมาประชาชน พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้เร่งรัดสืบสวนดำเนินคดีกับเจ้ามือ นายทุน และผู้เกี่ยวข้องทุกรายอย่างเด็ดขาด

ต่อมาวันนี้ 10 เมษายน 2567 พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก. พ.ต.ท.วีระ หอมเย็น พ.ต.ท.ปภาณ บุตรดีขันธ์ พ.ต.ท.สุธี บุดดีคำ สว.สส.ฯ และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน ได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นที่บ้านหลังหนึ่งใน ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากสืบทราบมาว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่พักของ นางเริ่ม (นามสมมติ) และสามี เจ้ามือหวยออนไลน์รายใหญ่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านทรัพย์มั่งคั่ง” ซึ่งมีการโพสต์ชักชวนทาง Facebook ให้บุคคลทั่วไปเข้าเล่นการพนันประเภทหวยออนไลน์ หวยลาว เบอร์เงิน เบอร์ทอง โดยใช้ชื่อแอคเคาท์ต่างๆ เช่น “บ้านทรัพย์มั่งคั่ง” “บ้านทรัพย์มั่งคั่ง 915” “บ้านร่ำรวยเงินทอง” พร้อมทั้งประกาศเปิดรับตัวแทน แม่ทีม หรือผู้ที่จะนำใบหวยไปกระจายขายให้กับประชาชนทั่วไปจำนวนมาก โดยจะมีสวัสดิการต่างๆ ให้ตัวแทน เช่น วันเกิดตัวแทน วันเกิดลูก ค่าคลอดบุตร หรือโบนัสสะสม ทั้งนี้เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาสมัครเป็นตัวแทนขายหวยเพื่อเป็นการเพิ่มยอดขาย ตรวจค้นภายในบ้านพบของกลางและทรัพย์สินจำนวนมาก ประกอบด้วย บัตรเบอร์หวย “บ้านทรัพย์มั่งคั่ง 915” งวดวันที่ 16 เมษายน และวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 รวมจำนวน 19,500 ใบ , สมุดจดหวย “บ้านร่ำรวยเงินทอง” จำนวน 100 เล่ม , สมุดจดเบอร์ทอง และสมุดจดหวยใต้ดิน จำนวน 2 เล่ม , เงินสดจำนวน 600,000 บาท , โทรศัพท์มือถือและแท็ปเลต จำนวน 4 เครื่อง , คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค จำนวน 2 เครื่อง , กล่องพัสดุและซองกันกระแทกสำหรับส่งเบอร์หวยจำนวนมาก จากการสอบถามนางเริ่มและสามีให้การรับสารภาพว่า ได้ผันตัวมาเป็นเจ้ามือหวยออนไลน์ หวยลาว เบอร์เงิน เบอร์ทอง มาประมาณปีเศษ โดยจะใช้วิธีการชักชวนบุคคลทั่วไปผ่านทาง Facebook ซึ่งในแต่ละงวดจะพิมพ์เบอร์หวยออกมา 10,000 ใบ แจกจ่ายให้กับตัวแทนหรือแม่ทีมทั่วประเทศรับไปจำหน่ายต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้ง ข้อกล่าวหาให้ทราบว่า “จัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณา หรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อม     ให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตฯ (ขายหวยออนไลน์) พร้อมทั้งควบคุมตัว นางเริ่มและสามี พร้อมทั้งของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางพลี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ฯ ผบก.สอท.5 กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องหารายนี้ถือได้ว่าเป็นเจ้ามือหวยออนไลน์รายใหญ่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบยอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 13,400,000 บาท มีตัวแทนหรือแม่ทีมที่คอยรับเบอร์หวยกระจายส่งขายทั่วประเทศประมาณ 200 คน ซึ่งขณะนี้ตำรวจไซเบอร์ อยู่ระหว่างขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และในขณะนี้ยังพบความเคลื่อนไหวในกลุ่มเจ้ามือหวยใต้ดิน หวยออนไลน์ ต่างๆ ได้พากันแจ้งเตือนให้ระวังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เอาจริงเอาจังในการกวาดล้างจับกุมการพนันออนไลน์ทุกรูปแบบ ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี “ฝากเตือนไปยังผู้ที่ชอบการเสี่ยงโชคทุกรูปแบบ ให้หยุดการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งเจ้ามือและผู้เล่น หากพี่น้องประชาชนทราบแหล่งที่มาหรือต้นตอของหวยลาว หรือหวยใต้ดินทุกรูปแบบ สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ” พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ฯ กล่าว
 

'ดีอี - ตำรวจไซเบอร์' ทลายเว็บพนันออนไลน์ เงินหมุนเวียนกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมรวบบริษัทบัญชีม้า สร้างความเสียหายนับพันล้านบาท

10 เมษายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ
และสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการราชการแทน ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.ฯ ช่วยราชการ บช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 และ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงผลการจับกุม “ปฏิบัติการ Cyber Strike” ใน 2 ปฏิบัติการ 

1. ทลายบริษัทบัญชีม้าที่สร้างความเสียหายนับพันล้านบาท โดยตำรวจไซเบอร์ได้รับข้อมูลจากระบบแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.go.th ว่าคนร้ายหันมาใช้บัญชีธนาคารในชื่อนิติบุคคลในรูปแบบบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและเกิดความไว้ใจว่าไม่น่าจะเป็นบัญชีธนาคารของกลุ่มมิจฉาชีพ และได้เข้าตรวจสอบ พบผู้เสียหายจำนวน 153 ราย (เคสไอดี) มีมูลค่าความเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 897,253,861 บาท และมีผู้เสียหายที่ยังไม่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายแล้วนับพันล้านบาท จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องได้จำนวน 19 ราย กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่ บจก. และ หจก. จำนวน 43 จุดทั่วประเทศ อาทิพื้นที่ กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ อ่างทอง สุพรรณบุรี ราชบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี พิษณุโลก ขอนแก่น เป็นต้น และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 12 ราย พร้อมส่งดำเนินการตามกฎหมายในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยปราการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด

2. ทลายเว็บพนันออนไลน์ huayland.net พร้อมเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี สามารถยึดของกลางและทรัพย์สินมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท โดยได้สืบสวนทราบว่า มีผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเครือข่าย “หวยแลนด์” พบเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 เครือข่าย ได้แก่ 1.jaywii , 2.jaywiiplus , 3.jay1000 , 4.Ih69 , 5.rachahuay , 6.huayland , 7.kerry899 , 8.linetang88 และ 9.huay1plus ซึ่งมีสมาชิกผู้เล่นกว่า 59,000 คน ต่อมาได้มีการขออนุมัติหมายจับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวม 29 ราย และกระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหายจำนวน 17 จุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 จุด, จ.ชุมพร จำนวน 3 จุด และ จ.กาญจนบุรี จำนวน 1 จุด จากการกระจายกำลังเข้าตรวจค้นทั้ง 17 จุด สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้รวมทั้งสิ้น 17 ราย และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เช่น เงินสด 47 ล้านบาท อายัดเงินในบัญชีธนาคารกว่า 20 ล้านบาท นาฬิกาหรู (Patek Philippe, Rolex, TAG Huer) จำนวน 6 เรือน โฉนดที่ดิน 26 ชุด รถยนต์ Porsche Cayenne จำนวน 1 คัน เป็นต้น 

“ตามนโยบายของรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดกับการปราบปรามความผิดที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ ที่หลอกลวงเหยื่อในรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก และได้สั่งการให้กระทรวงดีอี  สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีผลชัดเจนใน 30 วัน ซึ่งกระทรวงดีอีได้มีการผนึกกำลังหลายภาคส่วน และเร่งดำเนินการการทำงานให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดน ในการดำเนินการขยายผลจับกุมทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ ซิมผี บัญชีม้า โดย บช.สอท. ได้แจ้งให้ กระทรวงดีอีดำเนินการปิดเว็บพนันออนไลน์ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 9 เม.ย. 67 จำนวน 7,612 URLs และตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 - 9 เม.ย. 67 กระทรวงดีอีดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย พนัน ไปแล้ว 31,503 URLs เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ในการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top