Sunday, 12 May 2024
ตำรวจไซเบอร์

ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ ตรวจยึดและอายัดทรัพย์สิน มูลค่าร่วมกว่า 30 ล้านบาท

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา  ผบช.สอท. ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและดำเนินการจับกุม การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ในทุกรูปแบบ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.สอท.3 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ประชาชนแจ้งการกระทำผิดกฎหมาย กรณีกรณีมีเว็บไซต์พนัน https://www.richawinvip.com/ซึ่งได้เปิดให้มีการเล่นการพนันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้เข้าตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าวปรากฏว่าเว็บดังกล่าว ได้มีการเปิดให้เล่นพนันออนไลน์จริง จึงได้ส่งสายลับเข้าไปทำการไปเล่นการพนันในเว็บดังกล่าวจนได้ทราบถึงข้อมูล บัญชีที่ใช้ในการ ฝาก-ถอน ของเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.3  จึงได้ขออนุมัติศาลจังหวัดขอนแก่น ออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวนหลายราย รวมทั้งได้สืบสวนหาข่าว เพื่อจับกุมบุคคลในขบวนการและผู้เกี่ยวข้อง โดยในปฏิบัติการครั้งนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 4 ราย ดังนี้

1.นายดนุพงษ์ อายุ 41 ปี ชาวตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
2.นายสถาพร อายุ 33 ปี ชาวตำบลโคกสูง อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์
3.น.ส.ขจีวรรณ อายุ 32 ปี ชาวตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
4.น.ส.บุษกร อายุ 27 ปี ชาวตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์

โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้สืบทราบว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ได้มาพักอาศัย
ในพื้นที่ หมู่บ้านพฤกษานารา ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้นำหมายค้นของศาลอาญา เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ปรากฏว่าพบ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น และบุคคลภายในบ้านอีก 2 คน คือ ผู้ต้องหาที่ 2 และผู้ต้องหาที่ 3 กำลังนั่งทำงานอยู่ภายในบ้าน จากการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ในบ้านหลังดังกล่าว พบว่าผู้ต้องหาที่ 2 ทำหน้าที่เป็นแอดมิน คอยตอบคำถามทางแอบพลิเคชันไลน์ และ ผู้ต้องหาที่ 3 ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีการเงิน และจากการสอบถามผู้ต้องหาที่ 1 ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริงและไม่เคยถูกจับตามหมายจับนี้มาก่อน จึงได้แจ้งให้ผู้ถูกจับทั้ง 3 คน ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต” , “ ร่วมกันหรือสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปช่วยเหลือหรือสนับสนุน ในการกระทำความผิดอันเป็นการฟอกเงิน”

และในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้สืบทราบว่า ผู้ต้องหาที่ 4  
ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลจังหวัดขอนแก่น เลขที่ 238/2566  ลงวันที่ 27 เม.ย.66 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันกับผู้ต้องหาข้างต้น มาปรากฏตัวที่บริเวณริมถนนสาธารณะหน้าธนาคารธนาคารทหารไทยธนชาต ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น จึงได้เดินทางมาตรวจสอบ พบผู้ต้องหาอยู่บริเวณดังกล่าว จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแสดงบัตรข้าราชการและได้แสดงหมายจับพร้อมอ่านข้อความในหมายจับ รวมทั้งได้ให้ผู้ต้องหาตรวจสอบหมายจับและอ่านหมายจับเอง ซึ่งผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริงและไม่เคยถูกจับตามหมายจับนี้มาก่อน จึงได้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต” , “ร่วมกันหรือสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปช่วยเหลือหรือสนับสนุน ในการกระทำความผิดอันเป็นการฟอกเงิน” จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่ง พนักงานสอบสวน บก.สอท.3 (ส่วนภูมิภาคขอนแก่น) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการปฏิบัติการครั้งนี้สามารถตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิด อาทิเช่น เงินสด,ทองคำ,โฉนดที่ดิน,บัญชีธนาคาร,บ้าน,ยานพาหนะ มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท จึงได้ทำการตรวจยึดและนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.3 เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.ธีระ เชื้อสุวรรณ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้ฝากเตือนพี่น้องประชาชนกลุ่มผู้เล่นการพนัน นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกเข้าถึงข้อมูล Privacy Data (ข้อมูลส่วนตัว) ที่ให้กับเว็บไซต์การพนันซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม และถูกโกงเงินไม่สามารถถอนเงินคืนจากเว็บไซต์พนันได้

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท.,พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.ธีระ เชื้อสุวรรณ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.วริศพันธ์ เขมสิริเมธีกุล รอง ผกก4 บก.สอท.3 พ.ต.ท.ภูวสิษฐ์  เจริญธนะฐิตฺโชติธเนตร สว.กก.4 บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

‘ตร.ไซเบอร์’ ร่อนหมายเรียก ‘4 อินฟลูเอนเซอร์’ รับทราบข้อหา เหตุชักชวนเล่นพนันออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

(16 ก.ค. 66) มีรายงานว่า พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.สอท พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สพฐ.ตร. ปฎิบัติราชการบช.สอท และพล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ผบก.สอท.2 ได้สั่งการให้ชุดสืบสวนบช.สอท.สืบสวนหาข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เกี่ยวกับความผิดในเรื่องของการพนันออนไลน์ เบื้องต้นพบมีเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ได้ประกาศโฆษณาชักชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าเล่นการพนันออนไลน์ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ในลักษณะการประกาศจูงใจเพื่อให้มีผู้เข้าไปเล่น จัดโปรโมชันให้เครดิตต่าง ๆ 

ทางพนักงานสอบสวนบช.สอท. ได้ออกหมายเรียกอินฟลูเอนเซอร์ มาแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งประกอบไปด้วย นายนิพนธ์ หรือ ปอน จิตกล้า ศิลปินเจ้าของเพลงดัง Timemachine ซึ่งมียอดวิวในยูทูปกว่า 129 ล้านวิว หลังโพสต์เฟซบุ๊กเปิดสาธารณะชวนแอดไลน์พนัน @sboteam และ @sbopremier, น.ส.จิรนันท์ หรือ ปู ทองเกลี้ยง แฟนปอน นิพนธ์ อินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กกว่า 4 แสนคน และยังมียอดวิวติดตามการคัฟเวอร์เพลงหลายล้านวิว หลังโพสต์เฟซบุ๊กเปิดสาธารณะชวนแอดไลน์พนัน @sure999 และ @htk999 

นอกจากนี้ยังมี น.ส.ปภาวี ชัยมงคล หรือ ออย รอยจูบ หลังโพสต์เฟซบุ๊กเปิดสาธารณะชวนแอดไลน์พนัน @htk999 และ @bz888 รวมทั้งนายกฤษดา ชนะขันธ์ ผู้จัดการของ น.ส.ลฎาภา รัชตะอมรโชติ หรือ เชอร์รี่ สามโคก ซึ่งได้ดูแลเฟซบุ๊ก ‘เชอร์รี่ สามโคก official’ โพสต์เฟซบุ๊กเปิดสาธารณะชวนแอดไลน์พนัน @sbopremier 

อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนบช.สอท.ได้ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ม.12 พรบ.การพนัน พ.ศ.2478 "ผู้ใดช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันฯ ระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" ที่ บช.สอท. ในเวลา 10.00 น. 

ตำรวจไซเบอร์ เตือนบุคคลมีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ โฆษณาเว็บพนันออนไลน์มีโทษหนัก ที่ผ่านมามีผู้กระทำผิดซ้ำถูกศาลสั่งจำคุก 10 เดือน ไม่รอลงอาญา

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ในปัจจุบันเว็บไซต์การพนันออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ และแฝงมาในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะแฝงมากับเว็บไซต์ภาพยนตร์เถื่อนผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ เว็บไซต์ลามกอนาจาร หรือมาจากข้อความสั้น(SMS) หรือจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) รวมไปถึงการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีอิทธิพลตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ประกาศโฆษณาชักชวนประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Line, Facebook, Instagram, TikTok เป็นต้น มีการโฆษณามีโปรโมชันเล่นเสียคืนเงิน หรือให้เครดิตจูงใจเพื่อให้มีคนเข้าไปเล่นการพนัน ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งระดมกวาดล้างปราบปรามการลักลอบเปิดเว็บไซต์ออนไลน์ มีการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องหลายราย พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้ประกาศโฆษณาชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าเล่นการพนันออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ ล่าสุดมีการจับกุมตัวผู้ต้องหา 4 ราย และที่ผ่านมามีการดำเนินคดีในภาพรวมกว่า 10 ราย

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ช่วยประกาศโฆษณา หรือชักชวนโดยทางตรง หรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478  มาตรา 4 ทวิ, 12 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเล่นการพนันออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝากไปยังบุคคลที่มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ที่ยังมีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวอยู่ ให้หยุดการกระทำนั้นเสีย จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นความผิดไม่ได้ จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย ไม่มีละเว้นอย่างเด็ดขาด และผู้นั้นอาจจะถูกยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกด้วย นอกจากนี้แล้วการโฆษณาต่างๆ ยังทำให้ผู้ที่หลงเชื่อเข้าเล่นการพนันอาจจะถูกกลโกงของมิจฉาชีพหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือเสี่ยงถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางทุจริต ซึ่งปรากฎเป็นข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สอท.5 บช.สอท. ได้จับกุมผู้ต้องหาประกาศขายฐานข้อมูลส่วนบุคคลจากเว็บไซต์พนันออนไลน์กว่า 2 ล้านรายชื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากผู้นั้นเคยกระทำผิดมาแล้ว และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลย โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ก่อน แต่ผู้นั้นได้มากระทำความผิดในคดีนี้ซ้ำอีกภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด โทษจำคุกที่รอการลงโทษจะถูกนำมาบวกเข้ากับโทษในดังกล่าวด้วย ซึ่งปรากฎเป็นอุทาหรณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ผู้ต้องหารายหนึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกกว่า 10 เดือน ไม่รอลงอาญาแต่อย่างใด

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัย!! เพจโรงแรม-ร้านอาหารปลอมระบาดหนัก หลอกเหยื่อโอนเงินค่าจองโต๊ะอาหาร เสียหายกว่า 140 ล้านบาท

(6 ก.ค. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (บช.สอท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรองบุฟเฟต์ (Buffet) ผ่านเพจ facebook ของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันสำคัญต่างๆ จะมีการหลอกลวงจัดโปรโมชันราคาพิเศษ หรือหากมาหลายท่านทานฟรี 1 ท่าน เป็นต้น

ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ คือ สร้างเพจ facebook โรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจ facebook เดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจให้เหมือนกับเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ค้นหาร้านอาหารให้พบเพจปลอมเป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดีก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 – 31 ก.ค.66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวัง ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามิจฉาชีพก็ได้ปลอมเพจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานเอกชนหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ที่พักหลอกลวงให้สำรองค่าที่พัก ร้านค้าหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ เหมือนหรือคล้ายเพจจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาในเว็บไซต์ทั่วไป หรือพบเจอในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้

1.) โรงแรม หรือร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น

2.) ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

3.) หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจ facebook ใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่

4.) เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงไปถึงไลน์ทางการต้องเครื่องหมายโล่สีฟ้า หรือสีเขียวเช่นเดียวกัน (Verified Account)

5.) เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อ

6.) เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน

7.) ระมัดระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชันต่างๆ

8.) ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

9.) ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่

ตำรวจไซเบอร์ ตัดวงจรค้ากามเด็กผันตัวจากผู้ขายเป็นนายหน้า นำเด็ก ๑๔ ค้าบริการ ผ่านทวิตเตอร์

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้มีตรวจสอบการกระทำความผิดตามสื่อสังคมออนไลน์ ต่าง ๆ ที่สร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนให้ถึงต้นตอของขบวนการอย่างจริงจัง

สืบเนื่องจากกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. ได้รับแจ้งจาก 
มูลนิธิพิทักษ์สตรี (Alliance Anti Trafic หรือ AAT) กรณีพบการโพสต์ลักษณะเชิญชวนให้ซื้อบริการทางเพศ ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โพสต์โดยผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ที่มีชื่อว่า you @you๐๙๖๕๔๓ โดยให้ QR Code สำหรับเพิ่มเพื่อนไว้เป็นช่องทางสำหรับติดต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้สายลับสแกน QR Code จากทวิตเตอร์ เพื่อใช้ในการติดต่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ จากนั้นจึงได้รับข้อมูลจากนายหน้าว่ามีหญิงสำหรับขายบริการ ในราคา ๑,๑๐๐ บาท และมีการส่งภาพหญิงขายบริการดังกล่าวมาให้จำนวน ๔ ภาพ โดยเงื่อนไขต้องมีการโอนมัดจำก่อนใช้บริการจำนวน ๒๐๐ บาท โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารออมสินของ น.ส.เอ (นามสมมติ) ส่วนอีก ๙๐๐ บาท นัดจ่ายหลังจากส่งหญิงขายบริการที่โรงแรม โดยได้ข้อมูลจากหญิงขายบริการว่าได้รับส่วนแบ่ง ๖๐๐ บาทต่อครั้ง จากนายหน้าหรือผู้เป็นธุระจัดหา

ต่อมาวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๖ พ.ต.ท.วิสุทธิ์  ขุนพิลึก สว.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท., พ.ต.ท.วิเชียร  คำชุมภู สว.ฯ, พ.ต.ท.ธนพงศ์ธัช  อ่อนชูเหมรัต สว.ฯ, พ.ต.ต.เขมอธิษฐ์  ทองคำ สว.ฯ, ว่าที่ ร.ต.ท.ชัยวัฒน์  ตั้งใจเพียร รอง สว.ฯ  พร้อมชุดสืบสวน ร่วมกับ ศพดส. ภ.๖, กก.สส.ภ.จว.พิษณุโลก, กก.สส.ภ.จว.กำแพงเพชร และ สภ.เมืองกำแพงเพชร เข้าดำเนินการจับกุม โดยเมื่อเวลา ๐๙.๒๗ น. สายลับตกลงใช้บริการและได้โอนเงินมัดจำเป็นจำนวนเงิน ๔๐๐ บาท เข้าบัญชีผู้ต้องหา จากนั้นเวลา ๑๓.๐๐ น. จึงนัดหมายส่งตัวหญิงสาวผู้ขายบริการที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร และส่งมอบเงินส่วนที่เหลือจำนวน ๔,๐๐๐ บาท

ต่อมาเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. น.ส.เอ (นามสมมติ) ขับ รถจักรยานยนต์ Honda Wave I สีน้ำเงินดำพาหญิงสาวผู้ขายบริการที่นัดหมายไว้มาส่งให้กับสายลับเข้ามาภายในโรงแรม ที่ห้องพักหมายเลข ๐๑, ๐๒, ๐๓ และ ๐๔ สายลับจึงได้ชำระเงินส่วนที่เหลือให้กับ น.ส.เอ (นามสมมติ) ภายในห้องพักหมายเลข ๐๑ เป็นเงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท เมื่อ น.ส.เอ (นามสมมติ) รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว จึงออกมาจากห้องหมายเลข ๐๑ เดินออกมาบริเวณถนนหน้าห้องเตรียมที่จะขี่รถจักรยานยนต์กลับไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้แสดงตัวและเชิญตัว น.ส.เอ (นามสมมติ) และหญิงสาวผู้ขายบริการทางเพศมาตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร

จากการตรวจสอบข้อมูลบุคคลหญิงสาวผู้ขายบริการทางเพศ ทราบชื่อ ด.ญ.บี (นามสมมติ) อายุ ๑๔ ปี, ด.ญ.ซี(นามสมมติ) อายุ ๑๕ ปี และ น.ส.ดี (นามสมมติ) อายุ ๑๖ ปี จึงได้ประสาน เจ้าหน้าที่ พม. เข้าร่วมคุ้มครองคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยทีมสหวิชาชีพ ได้ร่วมกันสัมภาษณ์เด็กหญิงผู้ขายบริการทางเพศและมีการประชุมร่วมกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ พม., พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม ผลการประชุมมีความเห็นว่าผู้ให้สัมภาษณ์ ราย ด.ญ.บี , ด.ญ.ซี และ น.ส.ดี เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 

จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและร่วมกันจับกุม น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ ๑๖ ปี อาศัยอยู่ ต.ในเมือง อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ความผิดฐาน “กระทำการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี, เป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม, เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม, ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด”

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท., พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทาง อินเทอร์เน็ต บก.ตอท. สั่งการ พ.ต.ท.วิสุทธิ์ ขุนพิลึก สว.ฯ, พ.ต.ท.วิเชียร คําชุมภู สว.ฯ, พ.ต.ท.ธนพงศ์ธัช อ่อนชูเหมรัต สว.ฯ, พ.ต.ต.เขมอธิษฐ์  ทองคำ สว.ฯ พร้อมทีมสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตำรวจไซเบอร์ ตามรวบเอเย่นต์รับซื้อบัญชีม้า ตุ๋นเหยื่อสูญเงินกว่า 2.5 ล้าน

กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 จับกุมเอเย่นต์รับซื้อบัญชีม้า ในขบวนการแอบอ้างเป็นหญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทผ่านโลกออนไลน์ ลวงเหยื่อลงทุนเทรดเงินดิจิทัล ผลตอบแทนสูงร้อยละ 50 สูญเงินรวมกว่า 2.5 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีประชาชนซึ่งตกเป็นผู้เสียหาย จากการถูกกลุ่มขบวนการ Hybrid Scam หลอกให้รักแล้วลงทุน ใช้โปรไฟล์หญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาทักทายตีสนิทผ่านทางเฟสบุ๊ค จากนั้นได้มีการพูดคุยติดต่อกันทางแอปพลิเคชั่น ไลน์ และได้เริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนเทรด ซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล USDT ซึ่งมีผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 50 ของเงินลงทุน เมื่อผู้เสียหายสนใจ คนร้ายได้ส่งแพลตฟอร์ม Bidget-coins เพื่อให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิกเข้าไปลงทุน ซึ่งในช่วงแรกสามารถทำกำไรและเบิกถอนเงินได้ตามปกติ จนกระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีคนร้าย จำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 2,588,000 บาท ต่อมาไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยคนร้ายใช้ข้ออ้างต่างๆ เช่น ต้องชำระค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียม หรือ ต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น จึงจะถอนเงินได้ เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้มาร้องทุกข์กับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 จึงได้สั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว จนกระทั่งต่อมาชุดสืบสวน กก.4 บก.สอท.1  สามารถจับกุมขบวนการนี้ไว้ได้ ซึ่งได้ให้การรับสารภาพและซัดทอดว่า นายธานุศักดิ์ฯ หรือเกมส์ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นผู้ว่าจ้างให้เปิดบัญชี จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหานี้ไว้

ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2566 พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบก.สอท.1 พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวน กก.4 บก.สอท.1 นำกำลังเข้าจับกุมตัว นายธานุศักดิ์ หรือ เกมส์ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี ผู้ต้องหา ซึ่งทำหน้าที่ชักชวนและว่าจ้างให้เปิดบัญชี เพื่อรวบรวมบัญชีม้าไปส่งให้นายทุนใหญ่อีกทอดหนึ่ง ได้ที่ บริเวณบ้านเอื้ออาทร ซอยรังสิตนครนายก 24 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” นอกจากนี้จากการตรวจสอบประวัติยังพบว่า ผู้ต้องหามีประวัติพัวพันกับยาเสพติดก่อนหน้านี้เคยถูกจับกุมตัวมาแล้วหลายครั้ง

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ กล่าวว่า “จากการจับกุมบัญชีม้าก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลจนทราบว่า นายธานุศักดิ์ ทำหน้าที่ชักชวนคอยหาบัญชีม้าให้กับกลุ่มมิจฉาชีพโดยว่าจ้างให้เปิดบัญชีธนาคาร และลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์ (บัญชีม้า ซิมม้า) โดยให้ค่าตอบแทนบัญชีละ 700 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ขยายผลไปยังนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังต่อไป”

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ ผบก.สอท.1 ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่าอย่าได้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อ โดยไม่ควรรับแอดเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่รู้จัก หากจะรับขอให้ตรวจสอบข้อมูลในบัญชีให้ดี และหากมีการชักชวนลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนอีกด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาสอบถาม สายด่วน ตำรวจไซเบอร์ 1441 ได้ทันที

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์แอดมิน แอบอ้างเป็นครูอาจารย์หลอกลวงนักศึกษาที่อยู่ภายในกลุ่ม Line Open Chat แจ้งว่าให้ผู้กู้รายใหม่ปี 2566 มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 310 บาท พร้อมกับให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสถานะแอปพลิเคชันของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านบัญชีไลน์ชื่อ “งานลงทะเบียน” ตามลิงก์ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว คนร้ายจะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินผ่านบริษัทที่ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบบัญชี โดยจะแจ้งผลให้ผู้เสียหายทราบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ต่อมาคนร้ายจะแจ้งผู้เสียหายว่าธุรกรรมดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินอีกครั้ง จำนวน 1,310 บาท ผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว 

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 – 31 ส.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,578 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.97% สูงเป็นลำดับที่ 3 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ และมีความเสียหายรวมกว่า 70.6 ล้านบาท บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วก่อเหตุตามแผนประทุษกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่ม Line Open Chat ซึ่งผู้ใช้หรือสมาชิกจะสามารถตั้งชื่อหรือใช้ภาพโปรไฟล์ใดก็ได้ มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แอดมินของกลุ่ม ที่ผ่านมานอกจากการหลอกลวงในเรื่องเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังคงพบว่ามิจฉาชีพมักส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มแจ้งเตือนว่าจะลบกลุ่มเดิม ให้สมาชิกย้ายหรือติดตามไปยังกลุ่มใหม่ผ่านลิงก์ที่แนบมาให้ เมื่อเข้าไปในกลุ่มของมิจฉาชีพแล้วจะมีบัญชีอวตารหลายบัญชีทำหน้าที่พูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายที่เข้ากลุ่มมา ในลักษณะว่าทำงานเสริมออนไลน์แล้วได้รับเงินจริง อย่างไรก็ตามการหลอกลวงให้กู้ยืมเงิน มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงเหยื่อผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ผ่านข้อความสั้น (SMS) และผ่านการโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองนั้นโชคดี

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1.หากผู้ให้บริการเงินกู้รายใด แจ้งให้ผู้กู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใด หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
2.ระวังบัญชี Line Open Chat แอดมินปลอม บัญชีแอดมินจริงจะมีไอคอนวงกลมมงกุฎขาวพื้นสีน้ำเงิน หรือมงกุฎน้ำเงินพื้นขาว อยู่ด้านล่างขวาของรูปโปรไฟล์ 
3.บัญชีแอดมินจริงจะอยู่เป็นชื่อลำดับแรกๆ ต่อจากชื่อบัญชีของเราเสมอ 
4.ระวังบัญชีไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่ 

5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง
7.ช่วยกันแจ้งเตือนผู้อื่น และกดรายงานบัญชีสแปมที่น่าสงสัย โดยการกดรายงานที่รูปโปรไฟล์ของสมาชิกนั้นๆ แล้วกดปุ่ม รายงานปัญหา 

ตำรวจไซเบอร์ จับแก๊งคอลฯ อ้างสรรพากร หลอกกดลิงก์ สูญเงินเกือบ 2 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีผู้เสียหายซึ่งตกเป็นเหยื่อของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร โทรศัพท์มาแจ้งให้ผู้เสียหายส่งงบการเงินประจำปี ที่ยังค้างชำระและให้อัพเดทข้อมูลส่วนตัวให้เป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งใช้แอปพลิเคชั่น Line ชื่อ กระทรวงพาณิชย์ ส่งลิงก์มาให้ผู้เสียหายโดยแจ้งว่าเป็นลิงก์เว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อให้ผู้เสียหายกดเข้าไปตรวจสอบว่ามีการค้างภาษีหรือไม่ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงกดเข้าไปจากนั้นโทรศัพท์มือถือได้ค้างและดับไป ต่อมาปรากฏว่ามีการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย ผ่าน Mobile Banking จำนวน 2 บัญชี รวมเป็นเงิน 1,968,049 บาท ผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้มาร้องทุกข์กับ บช.สอท. เพื่อให้ช่วยติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พ.ต.อ.ศรายุทธ จุณณวัตต์ และ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น
รอง ผบก.สอท.1 ได้สั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว ต่อมาพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.1 ได้สืบสวนสอบสวนจนทราบตัวผู้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าว และได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหานี้ไว้

ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2566 พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น
รอง ผบก.สอท.1 พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวน กก.4 บก.สอท.1 นำกำลังเข้าจับกุมตัว นายกำชัย หรือ ปุ๊ (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ได้ที่ บริเวณบ้านพัก ในซอยเทศบาลบางปู 91 อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน , ร่วมกันโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และ ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์” นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและเคยถูกจับกุมตัวมาก่อน

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ กล่าวว่า “ผู้ต้องหาให้การรับว่า ก่อนหน้านี้มีหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งรู้จักกันได้มาขอ
บัตรประจำตัวประชาชนไป โดยไม่ได้แจ้งว่าจะนำไปทำอะไร พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนมาเป็นจำนวนเงิน 200 บาท จึงเชื่อว่าจะมีการนำบัตรประชาชนของตนไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์ (บัญชีม้า ซิมม้า) เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของผู้ต้องหา และกำลังขยายผลไปยังผู้ที่อยู่เบื้องหลังและขบวนการทั้งหมด”

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่าอย่าได้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อ โดยไม่ควรรับแอดเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่รู้จัก หากจะรับขอให้ตรวจสอบข้อมูลในบัญชีให้ดี รวมทั้งไม่ควรกดลิงค์จากคนแปลกหน้าหรือผู้ที่ไม่รู้จัก เมื่อมีการติดต่อจากผู้ที่อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ ควรตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ และหากมีการชักชวนลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนอีกด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาสอบถาม สายด่วน ตำรวจไซเบอร์ 1441 ได้ทันที

ตำรวจไซเบอร์รวบมือขวาเอเย่นต์หลอกเปิดบัญชีม้าในชลบุรี พบเหยื่อนับร้อย เสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานว่า มีขบวนการกว้านซื้อบัญชีม้าจำนวนมาก ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.2 บก.สอท.1 ได้ทำการลงพื้นที่เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีนี้ดังกล่าวแล้วพบว่า
มีการซื้อบัญชีม้าจำนวนมากจริง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบได้ว่าผู้ใดทำหน้าที่เป็นมือขวาของเอเย่นต์ชาวจีนที่ทำหน้าที่รวบรวมบัญชีม้าภายในประเทศไทย สำหรับใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งพบมูลค่าความเสียหายจำนวนมากในสังคมขณะนี้

ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2566 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สอท.1 ได้ทำการลงพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง
จ.ชลบุรี และได้ทำการค้นหาติดตามตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการรับซื้อบัญชีม้า จนกระทั่งพบ นายสุริยา (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดชลบุรี และ นางสาวปาริชาต (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดจันทบุรี ผู้ซึ่งเป็นมือขวาคนสำคัญของเอเย่นต์ชาวจีน ที่บริเวณริมถนนภายใน ซ.เขาตาโล 14 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จึงได้แสดงหมายจับและทำการจับกุมตัวบุคคลทั้ง 2 ราย ในข้อหา “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น”

ในเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และให้การว่า หลังจากรวบรวมบัญชีม้าและข้อมูลของชาวบ้านที่รู้จัก จึงส่งต่อให้กับเอเย่นต์ชาวจีนอีกที โดยเอเย่นต์กลุ่มนี้ จะมีลักษณะการติดต่อโดยการ ใช้เบอร์โทรศัพท์ของผู้อื่นติดต่อมายังผู้ต้องหา และนัดหมายเวลาและสถานที่เพื่อขอข้อมูลบัญชีและเอกสารในการทำธุรกรรมในการเปิดบัญชี ที่ผู้ต้องหาหามาได้ และหลังจากนั้นจะทำการตัดช่องทางการติดต่อดังกล่าวทันที และจะติดต่อกลับมาใหม่โดยเบอร์โทรศัพท์ของผู้อื่น ที่เชื่อว่าได้ถูกหลอกให้เปิดซิมโทรศัพท์เพื่อใช้ในการติดต่อมายัง นายสุริยาฯ และ นางสาวปาริชาตฯ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่ามีผู้ถูกหลอกให้เปิดบัญชีในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มากกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท

เตือนภัยสังคม
1. รับจ้างเปิดบัญชี หากบัญชีถูกนำไปใช้ในทางทุจริต อาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน อัตราโทษจำคุกตั้งแต่
1-10 ปี ปรับ 10,000 -200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผลของกฎหมายยังมีผลให้เจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้ามีโทษอาญาหนักจำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น อย่า! ขายบัญชีธนาคารของตนเองให้กับคนอื่นเด็ดขาด อย่า! รับจ้างเปิดบัญชี อย่า! ยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชี

ตำรวจไซเบอร์เฝ้าระวังตรวจสอบ การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ชักจูงส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้กระทำผิด

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอเด็กหรือเยาวชนซึ่งมีอาการมึนเมาคล้ายเสพสารเสพติดภายในงานเลี้ยงสังสรรค์แห่งหนึ่ง โดยมีผู้ใหญ่จำนวนมากอยู่ด้วย เป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายว่าเหตุใดผู้ใหญ่จึงปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนตกอยู่ในสภาพดังกล่าวนั้น ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้สั่งการให้ทุกกองบังคับการในสังกัด เฝ้าระวัง และตรวจสอบการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว หากพบการกระทำผิดให้เร่งดำเนินการปราบปรามจับกุม พิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีอัตราโทษสูงแล้ว ผู้ปกครองยังอาจจะมีความผิดฐาน บังคับขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ม.26 (3), 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรหลาน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง พร้อมกับตรวจสอบดูแลพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ควรใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และมีประโยชน์ต่อสังคม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top