Saturday, 11 May 2024
ตำรวจไซเบอร์

ตำรวจไซเบอร์รวบสาวน้อยร้อยประวัติฉ้อโกง หลอกกู้เงินออนไลน์ เสียหายรวมกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากผู้เสียหายต้องการสินเชื่อเงินกู้ ต่อมาได้พบโฆษณาให้กู้ยืมเงินผ่านช่องทางออนไลน์ชื่อ 
“RK COMPANY ฝ่ายบริการสินเชื่อ ฝ่ายสินเชื่อออนไลน์” จึงได้ติดต่อไป โดยแอดมินใช้โปรไฟล์ของบุคคลอื่นนำมาแอบอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วใช้กลอุบายหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินไปก่อนทำสินเชื่อ โดยอ้างเป็นค่าดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าทำสัญญา ค่าค้ำประกัน สร้างเครดิต แต่ก็ไม่เคยได้รับเงินกู้ดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายเริ่มสงสัย ก็อ้างว่าผู้เสียหายทำผิดเงื่อนไข แล้วหลอกล่อให้โอนเงินเพิ่มอีกเพื่อปลดล็อคเงื่อนไขดังกล่าว
 
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ บก.สอท. 5 เร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง ต่อมา จากการสืบสวนพบว่า มีผุ้เสียหายในลักษณะดังกล่าวอีกหลายราย แต่ละรายโอนเงินให้คนร้าย 4-7 ครั้งต่อราย ผ่านหลายบัญชีธนาคาร แต่ไม่เคยรับเงินสินเชื่อดังกล่าว ความเสียหายตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน  รวมความเสียหายมากกว่า 2 ล้านบาท  ตำรวจไซเบอร์จึงรับแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ thaipoliceonline.com แล้วได้ทำการสืบสวนสอบสวน จนนำไปสู่การขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาหลายราย

กระทั่ง กก.1 บก.สอท.5 ได้สืบสวนจนทราบข้อมูลหนึ่งในผู้ต้องหาของขบวนการนี้ พบมีหมายจับของตำรวจไซเบอร์ 3 หมายจับ และยังพบประวัติฉ้อโกงผู้เสียหายอีกหลายรายการ จึงนำกำลังร่วมกันเข้าจับกุม น.ส.ไพลิน อายุ 19 ปี ตามหมายจับ ศาลอาญา จำนวน 3 หมายจับในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  โดยควบคุมตัวได้บริเวณหน้าห้องพักแฟลตปลาทอง อ.เมือง จ.ปทุมธานี
       
เบื้องต้นผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงนำตัวนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.สอท.5 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ  พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 และ พ.ต.อ.ศุภกร ธัญญกรรม ผกก.1 บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ท.ปริพล  นาคลำภา, พ.ต.ท.หญิง ธรา เมืองแก้ว สว กก.1 บก.สอท 5, พ.ต.ท.อุดม อิสโร  สว.ฯ ปรก.กก.1 สอท.5 และ พ.ต.ต.สุธี บุดดีคำ สว.ฯ ปรก.กก.1 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันจับกุม

ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปดูดเงิน

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 , พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 , พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 นำกำลังตำรวจไซเบอร์ร่วมกันเปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน 

สืบเนื่องจากการขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการเครื่องกระจายสัญญาณ ที่ใช้อุปกรณ์ส่งข้อความ SMS ให้ประชาชนกดลิงก์ จากนั้นคนร้ายเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินในบัญชีธนาคารที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยตำรวจ สอท.ได้รวบรวมหลักฐานขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นขบวนการในระดับสั่งการจัดหาชุดอุปกรณ์เครื่องกระจายสัญญาณ ในความผิดฐาน "ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเห็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกัน นำ มีใช้นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต , ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และเป็นอั้งยี่และหรือซ่องโจร”ต่อมาศาลอาญาธนบุรีได้อนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ตำรวจไซเบอร์ชุดปฏิบัติการจึงได้วางแผนเข้าจับกุมในคราวเดียวกันทุกจุด เพื่อตัดวงจรของกลุ่มขบวนการดังกล่าว

ตำรวจไซเบอร์นำโดย พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 และ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผกก.2 บก.สอท.3 นำกำลังตรวจค้น 4 จังหวัด 5 จุด ภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว และกรุงเทพมหานคร สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี 5 คน ได้แก่

1. น.ส.พรรธช์ธนกรณ์ จับกุมที่บ้านเลขที่ 28/2 ถ.อุบลนุสรณณ์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง 
2. นายชิษณุพงษ์ จับกุมที่หอพักนักศึกษาชาย ห้อง 103 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี หมู่ 10 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 
3. นายศุภชัย จับกุมที่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 3 ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
4. น.ส.บุญรอด จับกุมที่บ้านเลขที่ 55/5 ถ.บ้านวังปาตอง ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
5. นายภูริช จับกุมที่บ้านเลขที่ 18/108 ซอยประชาอุทิศ 60 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาในขบวนการแก๊งค์เครื่อง Stingray 6 ราย พร้อมยึดของกลางรถยนต์ 4 คัน ที่มีการติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการ จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาระดับสั่งการเป็นผู้ว่าจ้าง จัดหาและขนส่งเครื่อง Stingray และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท.จะร่วมกันสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการที่เหลือมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้หมดทั้งขบวนการต่อไป

‘ตร.ไซเบอร์’ เผย 3 ภัยออนไลน์ที่คนร้ายนิยมใช้หลอกเหยื่อ เตือน!! ข้าราชการวัยเกษียณ-ปชช. ระวังกลลวงมิจฉาชีพ

(24 ก.ย. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ตามที่ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีข้าราชการต่างๆ ครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือที่เรียกว่า ‘เกษียณอายุราชการ’ นั้น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงประชาชน หรือนำมาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบสถิติผ่านระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ที่ผ่านมานั้น พบ 3 เรื่องที่มิจฉาชีพนำมากล่าวอ้าง หรือแอบอ้างในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

1.) หลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิจฉาชีพจะสร้างช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แอบอ้างบุคคล หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการลงทน หลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยมีการใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างว่าเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินหลักพันบาท แต่ได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว

2.) หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หรือกำลังจะเกษียณอายุราชการ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอทำการตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญให้ทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตน หรือแจ้งว่าจะได้รับเงินประกันบำนาญ ให้ทำการอัพเดตข้อมูล จากนั้น หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมบัญชีกลางปลอม ‘Digital Pension’ ผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือลิงก์ที่ส่งให้ จากนั้น ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินสแกนใบหน้า และให้สิทธิการเข้าถึง และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ กระทั่งมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

3.) หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์เป็นชาวต่างชาติ เป็นข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ ต่อมาอ้างว่าจะส่งสิ่งของมาให้ แต่ภายในกล่องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินจ่ายค่าขนส่ง ค่ารับรองต่อต้านการฟอกเงิน ค่าภาษี ไปให้กับมิจฉาชีพ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 17 ก.ย.66 การหลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 จำนวน 26,827 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.18% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 14,313 ล้านบาท การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 มีจำนวน 8,158 เรื่อง หรือคิดเป็น 2.49% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 862 ล้านบาท และการหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 12 มีจำนวน 2,621 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.80% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

โฆษก บช.สอท.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังคงพบว่า มีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา หรือสถานการณ์ในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แอบอ้างโครงการของรัฐฯ การหลอกลวงให้อัปเดตข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคล หรือหลอกลวงสร้างสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อาศัยความความโลภ ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวดัง ต่อไปนี้

1.) ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน

2.) มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อ

3.) หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน” และ “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ”

4.) ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst

5.) ระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือช่องทางที่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานนั้นๆ

6.) ระวังการรับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง

7.) การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ป้องกันมิจฉาชีพสร้างแอปพลิเคชันปลอมนั้นขึ้นมา

8.) ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์

9.) หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ

‘ตร.ไซเบอร์’ บุกค้นบ้าน-คุมตัวหนุ่มแฟนเก่า ‘เบียร์ เดอะวอยซ์’ ยึดอุปกรณ์ไอทีทุกชิ้น พร้อมสอบปากคำ ปมภาพหลุดว่อนเน็ต

(24 ก.ย. 66) จากประเด็นร้อนของนักร้องสาว เบียร์ ภัสรนันท์ หรือ ‘เบียร์ เดอะวอยซ์’ ที่ก่อนหน้านี้เจอเพจหนึ่ง ได้ออกมาเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมของของเบียร์ ด้านแฟนคลับและชาวเน็ตออกโรงปกป้องเธออย่างเต็มที่ เนื่องจากเธอนั้นตกเป็นผู้เสียหาย และเมื่อวันที่ 23 กันยายน เบียร์ได้อกอมาโพสต์ชี้แจงประเด็นนี้อย่างละเอียดยิบในพื้นที่โซเชียลของตนเอง โดย เบียร์ ยอมรับว่าภาพและคลิปที่ออกมาเป็นเธอเอง และ เบียร์ ได้เผยว่าแฟนเก่านอกวงการของเธอนั้นเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ เบียร์ ยังทิ้งท้ายว่าต่อจากนี้จะปล่อยให้ทางต้นสังกัด ผู้จัดการ และเป็นให้เป็นเรื่องกฎหมายต่อไป

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เบียร์ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน หลังจากที่สอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว จากความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 22 ก.ย. ทางด้านพนักงานสอบสวนได้ทำการออกหมายค้นบ้าน และทำการเข้าคุมตัวแฟนเก่าคนดังกล่าว พร้อมยึดอุปกรณ์ไอทีทุกชนิด เพื่อให้ทาง บก.ตอท.ตรวจสอบ และหาหลักฐาน จากนั้นจึงได้ทำการนำตัวมาสอบปากคำในฐานะพยานซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยทางอดีตคนรักของ เบียร์ ได้เผยเบื้องต้นว่า “ตนไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวนั้นหลุดออกไปได้อย่างไร” ในส่วนรายละเอียดต่างๆ อยู่ในสำนวน และอยู่ในระหว่างการดำเนินการขั้นต่อไป

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ฝากประชาสัมพันธ์ประเด็นดังกล่าวถึงผู้คนทั่วไปว่า เมื่อพบเห็นการกระทำในลักษณะนี้อย่าเข้าไปดู เข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือแชร์ออกไป เพราะนั้นอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิด เพราะเมื่อยิ่งส่งต่อ ยิ่งเป็นการตอกย้ำผู้เสียหายและส่งเสริมการกระทำอันไม่เหมาะสม และยังบอกว่าอีกว่า การกระทำลักษณะนี้แม้จะเกิดความยินยอม ไม่มีการบังคับ แต่หากมีการเผยแพร่ออกไป ก็สามารถส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและหน้าตาของบุคคลนั้น และมันจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

‘บิ๊กโจ๊ก’ ปัดเอี่ยวเครื่อข่ายพนันออนไลน์ หลังตร.ไซเบอร์บุกค้น ส่วนที่ออกหมายจับลูกน้อง กร้าว!! หากทำผิดไม่มีการละเว้น

(25 ก.ย. 66) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ภายหลังพาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ตรวจค้นบ้านพักภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซอยวิภาวดี 60 อ้างเกี่ยวข้องเว็บพนันออนไลน์ว่า ในการออกหมายค้นวันนี้ผมนำตรวจค้นเอง ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ส่วนที่ออกหมายจับลูกน้องผม ใครที่ถูกออกหมายจับก็ต้องไปชี้แจง

เมื่อถามว่าเห็นว่ามีเกี่ยวข้องกับเว็บพนันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผมเกี่ยวข้องกับการปราบปรามอย่างเดียว แต่ไม่เป็นไรเมื่อวันนี้มีหมายค้นหมายจับก็ให้ความร่วมมือปฎิบัติตามหมาย

“ส่วนเงินที่เข้าบัญชีต่างๆ ไม่มีหรอกผมมั่นใจ เมื่อมีหมายก็ต้องชี้แจงข้อกล่าวหา เมื่อลูกน้องทำผิดก็ต้องไม่ละเว้น”

ตำรวจไซเบอร์จับเครือข่ายแก๊งสรรพากรปลอม โทรถ่วงเวลาสูบเงินเกลี้ยงบัญชีเกือบ 2 แสน

สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 ม.ค.66 ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากหญิงปริศนา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรจังหวัดนนทบุรี สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการร้านค้าคนละครึ่งของผู้เสียหาย จากนั้นออกอุบายว่าผู้เสียหายได้ส่วนลดในการชำระภาษี จากนั้นจึงให้ผู้เสียหายแอดไลน์กรมสรรพากรปลอม พร้อมกับทำการโอนสายไปให้ชายอีกคน ระหว่างคุยสายก็ให้ผู้เสียหายทำการกดลิงก์พร้อมกรอกข้อมูลต่างๆ ตามขั้นตอนที่แจ้งจนเสร็จสิ้น หลังจากวางสาย ผู้เสียหายพบว่าเงินในบัญชีธนาคารถูกโอนออกไป จำนวน 171,112 บาท จึงเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี 

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนเพื่อจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีโดยเร็ว จนสามารถขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย

ต่อมา กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า น.ส.ธัญญากร อายุ 27 ปี ชาวจังหวัดนนทบุรี หนึ่งในผู้ร่มขบวนการ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดมหาสารคาม พักอาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จว.นนทบุรี จึงทำการวางแผนเข้าจับกุม จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวได้ริมถนนตรงข้าม ซอยแก้วอินทร์ 25 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จว.นนทบุรี

โดยได้แจ้งในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงเป็นเจ้าพนักงาน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน” จากนั้นจึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บกสอท. 3 ต่อไป           

กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา  ผบช.สอท.  พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.พงศ์นรินทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะข่าวฯ บก.สอท.3 สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.ขจร แย้มชม สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ

ตำรวจไซเบอร์ เปิดเผย 7 รูปแบบ เพจเฟซบุ๊กปลอม ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media หรือ Social Network ) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การทำกิจกรรม หรือการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจากการตรวจสอบจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าสามารถแบ่งรูปแบบของเพจ เฟซบุ๊กปลอมที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกลวงประชาชนได้ จำนวน 7 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

1.เพจหน่วยงานราชการปลอม แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นข้าราชการระดับสูง สามารถช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางคดี ให้บริการรับแจ้งความ หรือร้องทุกข์ออนไลน์ รวมถึงการรับทำเอกสารราชการออนไลน์ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น

2.เพจบริษัท ตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวม หุ้นปลอม ชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เงินดิจิทัล เงินสกุลต่างประเทศ หุ้นพลังงาน เป็นต้น โดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรือลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนมาก การันตีผลกำไร แอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุน

3.เพจสถาบันการเงิน หรือธนาคารปลอม ชักชวนให้กู้เงิน ปล่อยสินเชื่อ บริการกู้เงินฉุกเฉินในวงเงินสูง โดยอ้างว่า สมัครง่ายอนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่ตรวจสอบเครดิต มีกฎหมาย PDPA คุ้มครอง เป็นต้น มักให้โอนเงินค่ามัดจำ เงินค่าค้ำประกันไปก่อน

4.เพจโรงแรม หรือที่พักปลอมในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ หลอกลวงให้โอนเงินเป็นค่าจองที่พัก เงินประกันต่างๆ

5.เพจห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าออนไลน์ปลอม หลอกขายสินค้าออนไลน์ โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า แม้ว่าความเสียหายจะไม่มาก แต่ผู้เสียหายมีจำนวนสูงเป็นอันดับที่ 1

6.เพจหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนปลอม  รับสมัครทำงานออนไลน์ มักเป็นงานง่ายๆ กดไลก์ กดแชร์ รีวิวสินค้า ที่พัก กดออเดอร์สินค้าเป็นต้น โดยจะให้โอนเงินเข้าไปในระบบให้เพียงพอก่อนถึงจะทำกิจกรรม หรือทำภารกิจได้ เริ่มแรกได้เงินคืนจริงภายหลังถอนเงินไม่ได้

7.เพจปลอมแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลธรรมดา โดยใช้เหตุการณ์สำคัญๆ เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติธรรมชาติ กิจกรรม โครงการต่างๆ หลอกลวงรับเงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากประชาชนผู้ใจบุญ

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานต่างๆ หลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมายังคงตรวจสอบพบเพจเฟซบุ๊กในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้แล้วสิ่งที่สำคัญกว่าการดำเนินการปิดเพจปลอมเหล่านี้ คือ การที่ประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ แม้ว่ามิจฉาชีพจะเปิดเพจใหม่มาหลอกลวงอย่างไร ถ้ามีประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อ ตรวจสอบอย่างรอบคอบเสียก่อน ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันเพจเฟซบุ๊กปลอม ดังนี้
1.ประชาชนที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com เท่านั้น โดยสามารถโทรสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแชทบอท @police1441 ที่เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
2.โดยปกติหน่วยงานของรัฐจะไม่มีนโยบายในการติดต่อ หรือทำธุรกรรมกับประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบนโยบายของหน่วยงานนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน
3.เพจเฟซบุ๊กปลอมมักมีการซื้อโฆษณาเพื่อการเข้าถึงเหยื่อ และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มักแอบอ้างข้าราชการระดับสูง หรือบุคคลสำคัญๆ และหากตรวจสอบให้ดีจะพบว่ามีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องกันกับเพจ
4.เพจเฟซบุ๊กปลอม หากตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ จะพบว่าสร้างขึ้นมาได้ไม่นาน และอาจเคยเปลี่ยนชื่อมาจากเพจอื่นที่น่าสงสัย หรือมีผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย
5.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
6.เพจเฟซบุ๊กจริง มักจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป
7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเด็ดขาด
8.หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา เพราะมักจะเป็นบัญชีม้าที่มิจฉาชีพเตรียมเอาไว้
9.ตรวจสอบให้แน่ใจ โดยการติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์โดยตรง เพื่อสอบถาม หรือแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที

ตำรวจไซเบอร์จับขบวนการแก๊งแอปกรมที่ดินปลอม หลอกสแกนใบหน้าดูดเงินหายกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อ ต้นเดือน ก.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ว่า มีมิจฉาชีพโทรหาผุู้เสียหายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน อ้างว่าเคยส่งหนังสือเรื่องการขอให้ปักหมุดพิกัดที่ดินที่ผู้เสียหายครอบครองอยู่ โดยส่งหาผู้เสียหาย 2 ครั้งแล้วแต่ผู้เสียหายไม่ติดต่อกลับ มิจฉาชีพจึงแนะนำให้ผู้เสียหายดำเนินการปักหมุดพิกัดที่ดินออนไลน์ อีกทั้งมิจฉาชีพยังสามารถแจ้งข้อมูลที่ดินของผู้เสียหายได้ถูกต้อง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อ 

ต่อมา มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ที่ปลอมขึ้นมาแล้วให้ผู้เสียหายโหลดแอปกรมที่ดินปลอม จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายทำการสแกนใบหน้าหลายครั้ง ระหว่างที่คุยกับมิจฉาชีพและทำตามขั้นตอนที่ปลายสายบอก ผู้เสียหายสังเกตเห็นข้อความแจ้งเตือนเงินออกจากบัญชี ผู้เสียหายตกใจจึงพยายามกดออกจากแอป ดังกล่าวแต่ปรากฎว่าโทรศัพท์มือถือค้าง ไม่สามารถดำเนินการใดใดได้ จึงถอดซิมออกแล้วทุบโทรศัพท์ตนเองทิ้ง สุดท้ายเมื่อมาตรวจสอบบัญชีธนาคาร พบว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชี จำนวน 4 ครั้ง รวมสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จึงได้ทำการแจ้งความผ่าน www.thaipoliceonline.com

พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ออกสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้อง จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้หลายราย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ลงพื้นที่สืบสวนหาข้อมูลจนทราบว่ามีผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ ม.5 ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี จึงนำหมายจับศาลจังหวัดบัวใหญ่เข้าจับกุมตัว น.ส.พึงชญา อายุ 37 ปี ชาวอุดรธานี ในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.3 ดำเนินการต่อไป

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 และ พ.ต.อ.พงศ์นริทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3, ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ และ พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยผู้สูงอายุระวังถูกมิจฉาชีพใช้คำหวานหลอกลวงให้ลงทุน ฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องการใช้เงินที่ผิดปกติ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีบุตรชายพาผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา อายุ 75 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงชักชวนให้ร่วมลงทุนในทองคำ ความเสียหายกว่า 18 ล้านบาท นั้น

การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ มิจฉาชีพจะเริ่มจากการมองหาเหยื่อที่ค่อนข้างมีอายุ หรือมีฐานะการงานดี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook Instagram รวมถึงแอปพลิเคชันหาคู่รักต่างๆ สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลเพศตรงข้ามหน้าตาดี แล้วติดต่อขอเป็นเพื่อนกับเหยื่อ หรือขอเป็นเพื่อนกับเพื่อนของเหยื่อก่อน เมื่อเหยื่อไม่ทันระวังตัวรับมิจฉาชีพเป็นเพื่อน เนื่องจากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมกันหลายท่าน จะเริ่มติดต่อทักทายเหยื่อ เพื่อพูดคุยเรื่องทั่วไป สอบถามกิจวัตรประจำวัน หรือถ่ายภาพทำกิจกรรมต่างๆ ส่งมาให้ ต่อมาก็จะขอพูดคุยกับเหยื่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อเริ่มสนิทสนมกับเหยื่อ หรือเหยื่อไว้ใจมากขึ้นแล้ว จะบอกเหยื่อว่าตนมีรายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินดิจิทัล เงินสกุลต่างประเทศ ทองคำ หุ้น เป็นต้น หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หวังดีอยากให้เหยื่อมีรายได้เพิ่ม จากนั้นจะชักชวนให้ลองลงทุนผ่านเว็บไซต์ หรือเเพลตฟอร์มการลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งในช่วงเเรกๆ ที่เหยื่อลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก เหยื่อมักจะได้รับผลตอบเเทนจริงเสมอ เเต่เมื่อเหยื่อใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถถอนเงิน หรือถอนกำไรออกมาใช้ได้ โดยมิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น แจ้งว่าอย่าเพิ่งถอนเงินรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน และหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือหากจะถอนเงินดังกล่าวจะต้องโอนเงินค่าภาษี ค่าค้ำประกันต่างๆ เป็นต้น กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็จะปิดช่องทางการติดต่อแล้วหลบหนีไป

จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 30 ก.ย.66 พบว่า การหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 27,509 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และหลอกให้กู้เงิน โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 13,952 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 1 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า กรณีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะมีผู้เสียหายในจำนวนที่น้อยกว่าการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยังคงสูงเป็นอันดับแรกเสมอ ฝากไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการรับเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ หากไม่ได้รู้จักผู้นั้นจริงอย่าได้รับเป็นเพื่อน หรือติดต่อพูดคุยเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลเพศตกข้ามติดต่อมาพูดคุยตีสนิท แล้วชักชวนให้นำเงินมาลงทุน โดยมิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้คำหวานเพื่อหลอกลวงเหยื่อ ใช้ประโยคสนทนาในการพูดคุยที่ผิดปกติ เหมือนมีการใช้โปรแกรมแปลภาษามาก่อน และมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดกล้องเพื่อให้เห็นใบหน้าแต่อย่างใด รวมถึงอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องบุคคลในครอบครัวว่ามีการใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติหรือไม่ เพื่อป้องกันและยับยั้งความการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากท่านตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ โดยการแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย 66 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 66 เวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายรวมกว่า 600 ล้านบาท

ตำรวจไซเบอร์ เตือนประชาชน CF สินค้าผ่านไลฟ์สดเฟซบุ๊ก ระวังถูกเพจปลอมสวมรอยหลอกให้โอนเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากการถูกหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า เนื่องจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพใช้เพจร้านค้าปลอมที่สร้างเลียนแบบเพจร้านค้าจริงติดต่อมาหลังจากที่ผู้เสียหายได้ทำการสั่งซื้อสินค้าในระหว่างการไลฟ์สดของเพจร้านค้าต่างๆ โดยผู้เสียหายจะพิมพ์รหัสสินค้าที่ต้องการจะจองสั่งซื้อ (CF, Confirm) หากผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสิทธิในการซื้อสินค้าดังกล่าว จะมีข้อความจากระบบตอบรับอัตโนมัติของเพจจริงแจ้งมายังกล่องข้อความ (Inbox) บัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อสินค้า แจ้งรหัสการสั่งซื้อ ราคา และช่องทางการชำระเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้มิจฉาชีพได้แฝงตัวอยู่ในเพจจริงดังกล่าว เมื่อเห็นผู้เสียหายสั่งซื้อสินค้าแล้วจะฉวยโอกาสใช้เพจปลอมติดต่อไปยังบัญชีเฟซบุ๊กผู้เสียหาย โดยแอบอ้างเป็นร้านค้าจริง ส่งหมายเลขบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่เตรียมไว้ให้ผู้เสียหายทำการโอนเงิน เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่าเป็นชื่อเพจ รูปโปรไฟล์เพจใกล้เคียงหรือเหมือนกับเพจจริง จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเพจร้านค้าจริง จึงทำการโอนเงินชำระค่าสินค้าไปให้มิจฉาชีพ กระทั่งภายหลังทราบว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 14 ต.ค.66 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 137,719 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.12% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) และการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. โดยกำชับการขับเคลื่อนนโยบายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพมักจะมองหาเพจขายสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก แล้วคัดลอกภาพโปรไฟล์ ตั้งชื่อเลียนแบบ หรือตั้งชื่อคล้ายกับเพจจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง มีคดีสำคัญๆ หลายคดี สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลายราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.พึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.ระวังการได้รับแจ้งว่าเป็นผู้โชคดี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับรางวัลต่างๆ แต่มีการให้โอนเงินไปก่อนถึงจะได้รับสินค้า โดยมีการอ้างว่าเป็นค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ อย่าได้โอนเงินเด็ดขาด
3.ระวังช่องทางขายสินค้าปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้
4.หากต้องการซื้อสินค้ากับเพจเฟซบุ๊กใด ให้ไปที่ความโปร่งใสของเพจ เพื่อตรวจสอบก่อนว่าเพจนั้นมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ มีผู้จัดการเพจ หรือผู้ดูแลอยู่ในประเทศหรือไม่
5.เมื่อสนใจต้องการซื้อสินค้ากับเพจใดๆ ควรจะส่งข้อความไปยังเพจจริงนั้นก่อน ระหว่างหรือหลังการไลฟ์สดหากมีเพจใดๆ ติดต่อมาแล้วไม่มีประวัติการสนทนา เชื่อได้ว่าเป็นเพจปลอมของมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
6.ทุกครั้งก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่าเป็นช่องทางการรับเงินจริงหรือไม่ มีประวัติไม่ดีหรือไม่ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป เช่น Google, Blacklistseller เป็นต้น
7.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top