Sunday, 6 October 2024
THE STUDY TIMES STORY

คุณโอ สุพิชญา ณ สงขลา | THE STUDY TIMES STORY EP.40

บทสัมภาษณ์ คุณโอ สุพิชญา ณ สงขลา ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ เอกคหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักแสดงอิสระ 
ความสุุขจากการเป็นจิตอาสา คือการได้รับรอยยิ้มกลับมาจากการให้

ช่วงมัธยมคุณโอเรียนอยู่ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ในสายวิทย์-คณิต เรียกได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ทั้งเป็นตัวแทนหัวหน้าห้องเข้าสภานักเรียน เป็นตัวแทนในการทำกิจกรรมของโรงเรียนอยู่ตลอด รวมทั้งทำกิจกรรมอาสาร่วมกับมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด

คุณโอเลือกเข้าเรียนระดับปริญญาตรี ในคณะวิทยาศาสตร์ เอกคหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ เป็นสาขาที่เกี่ยวกับคหกรรมศาสตร์ แบ่งได้เป็นสามสาขา คือ อาหารและโภชนาการ การกำหนดอาหารและโภชนาการ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งสาขาอาหารและโภชนาการที่คุณโออยู่ เน้นไปที่การทำอาหารและมีวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง สาขานี้จะคล้ายนักโภชนาการ ทำอาหารให้ผู้ป่วย โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความชื่นชอบในการทำอาหารและขนมมาตั้งแต่วัยเด็ก เข้าชมรมทำอาหารมาตลอด จึงตัดสินใจเข้าเรียนในคณะที่เกี่ยวกับการทำอาหารตามความชอบส่วนตัว 

นอกจากด้านการเรียนแล้ว ความเป็นเด็กกิจกรรมก็เด่นไม่แพ้กัน เพราะคุณโอเข้าร่วมเป็นสันทนาการประจำคณะ คอยเต้นเฮฮา ให้ความสุขกับน้องๆ เวลาที่น้องเครียดจากห้องเชียร์  อีกทั้งยังขึ้นชื่อว่าเป็นนักจิตอาสา อาสาสมัครตัวยง โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงมัธยม เนื่องจากที่โรงเรียนจะมีกลุ่มรุ่นพี่ศิษย์เก่าจัดกิจกรรมอาสาช่วยเหลือชุมชน ให้ความรู้ผู้คนในชุมชน ทำกิจกรรมกับน้องๆ นักเรียนในโรงเรียน คุณโอเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมกิจกรรมมาตั้งแต่ตอนนั้น จนเกิดเป็นความรู้สึกชอบในงานจิตอาสา จากนั้นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย หากมีเวลาว่างก็จะหากิจกรรมจิตอาสาเพื่อเข้าร่วมมาโดยตลอด เรียกได้ว่า มีที่ไหนไปที่นั่น 

สำหรับคุณโอความสุขของการทำกิจกรรมจิตอาสาคือ การที่ได้รับรอยยิ้ม คำขอบคุณ และพลังบวกกลับมา ทำให้รู้สึกมีความสุขที่ได้มอบความรู้ให้กับน้อง และการเป็นจิตอาสายังทำให้ได้เห็นความเป็นจริงของสังคม เหมือนเป็นการเปิดประสบการณ์ตัวเองว่าเราไม่ได้มีโลกแค่ในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย คุณโอกล่าวว่า คนที่ลำบากกว่าเราก็ยังมี ถ้าได้ช่วยเขาไม่มากก็น้อย เราก็ดีใจ เพื่อให้เขาดีขึ้นสักวันสองวันก็ยังดี ดีกว่าเขาไม่มีเลย

ปัจจุบันคุณโอเป็นนักแสดงอิสระ มีจุดเริ่มต้นมาจากตอนเรียนจบมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นต้องไปดูแลคุณพ่อที่ไม่สบาย เลยไม่มีเวลามากพอที่จะไปหางานประจำทำ จึงเริ่มจากการไปถ่ายรูป Portrait จนมีคนชักชวนไปถ่ายโฆษณา รู้สึกว่าเหมาะกับชีวิต ณ ตอนนั้น เมื่อได้เข้าไปทำรู้สึกรักและชื่นชอบในงานแสดง อีกทั้งยังมีเวลาว่างแบ่งมาดูแลคุณพ่อ จึงตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้

คุณโอชอบการได้สวมบทบาทต่างๆ เพราะบทบาทแสดงถึงลักษณะนิสัยและความเป็นอยู่ของคน การได้สวมบทบาทไปตามแต่ตัวละครทำให้สนุกกับการได้เรียนรู้ตรงนั้น 

คุณโอมีความสามารถพิเศษ คือการสื่อสารภาษามือ เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน ทำให้วิธีการสื่อสารเดียวที่ทำได้คือ ภาษามือ ในงานจิตอาสาต่างๆ คุณโอก็ได้ใช้ความสามารถในการสื่อสารภาษามือ เป็นตัวกลางในการสื่อสารบอกความต้องการระหว่างผู้พิการหูหนวกและทีมงานได้ 

สุดท้ายคุณโอฝากถึงคนที่มีความฝันอยากเป็นนักแสดงว่า ทุกคนสามารถเป็นได้ ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตา หรือลักษณะเป็นยังไง แค่มีใจรักที่อยากจะเป็น ช่องทางการโปรโมทตัวเองมีเยอะ ไม่ต้องกลัวไม่ต้องอายว่าเราจะเป็นไม่ได้ แค่ลองทำเท่านั้นก็สามารถเป็นได้

.

.

.

คุณนุ่น บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.39

บทสัมภาษณ์ คุณนุ่น บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ประกาศข่าว Thai PBS
สื่อมวลชนผู้มีเป้าหมายใช้พื้นที่สื่อเพื่อผลักดันสังคมให้ดีขึ้น

ปัจจุบันคุณนุ่นเป็นผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศข่าวที่ช่อง Thai PBS และ Content Creator ให้กับเพจ The Active

คุณนุ่นเริ่มสังเกตตัวเองตั้งแต่ช่วงมัธยม ด้วยความที่เรียนวิทย์-คณิต มีความฝันอยากเป็นนักธุรกิจและนักจิตวิทยา แต่ค้นพบว่าตัวเองมีบุคลิกนิ่งๆ และชอบสังเกตพฤติกรรมของคน จึงตัดสินใจเลือกสามคณะแรกเป็นจิตวิทยาทั้งหมด จนสุดท้ายติดที่คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความน่าสนใจคือ ปริญญาที่ได้มาจะจบด้วยคำว่าวิทยาศาสตร์บัณฑิต (จิตวิทยา) หมายความว่า ในเวลาเรียน 4 ปี จะได้เรียนทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สรีระร่างกายของมนุษย์ รวมทั้งได้สังคมผนวกเข้ามาอีก จากนั้นนำไปรวมกับจิตวิทยาแขนงต่างๆ 

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คุณนุ่นมีความรู้สึกว่าจิตวิทยาไม่ได้กว้างมากพอ จึงตัดสินใจจะเรียนต่อในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานราชการแทน กระทั่งเลือกเรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับสังคม การบริหารคน การบริหารองค์กร รวมถึงนโยบายสาธารณะ ทำให้เห็นวิธีคิดของรัฐ และวิธีคิดของภาคประชาชนชัดเจนมากขึ้น

คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนจิตวิทยาและรัฐศาสตร์มีส่วนช่วยในการทำงานข่าวอย่างมาก เพราะงานข่าวต้องเจอคนเยอะ ทั้งในการสัมภาษณ์หรือลงพื้นที่ ต้องดูพฤติกรรมการสื่อสารต่างๆ ส่วนด้านรัฐศาสตร์ ด้วยความที่อยู่ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายทางสาธารณะ จึงต้องทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ทำให้สามารถผสมผสานการเรียนเข้ากับการทำงานได้เลย คุณนุ่นฝากไว้ว่า บางทีระหว่างทางที่เรียนมา เราไม่รู้ว่าจะมาบรรจบที่ตรงไหน แต่การเก็บเล็กผสมน้อยให้เต็มที่ พอถึงจุดหนึ่ง สามารถเอามาใช้ได้ทุกอย่าง อยู่ที่ว่าเราจะหยิบมาใช้หรือเปล่า

เริ่มแรกคุณนุ่นไม่ได้มีเป้าหมายชัดว่าอยากจะเป็นผู้ประกาศข่าว/ ผู้สื่อข่าว แต่เพราะได้ทำงานฟรีแลนซ์กับกองที่ Thai PBS ช่วงแรกโดนว่าเยอะเรื่องการท่องจำบท พูดผิดๆ ถูกๆ แต่พอได้ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกสนุกกับงานหน้าจอ จนลองคิดไปอีกสเต็ปว่าถ้าไม่พูดตามสคริปต์ แต่ได้ออกไปหาข้อมูลแล้วนำสิ่งนั้นมานำเสนอ จะท้าทายกว่านี้ไหม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักข่าว 

เทคนิคการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่อยากเป็นผู้ประกาศข่าว/ ผู้สื่อข่าว นั้น คุณนุ่นแนะนำว่าให้อ่านข่าว มีทักษะในเรื่องการเขียน การวิเคราะห์ การเล่าเรื่องเพื่อเชื่อมโยงปรากฏการณ์ 

เส้นทางกว่าจะมาเป็นนักข่าวที่ Thai PBS คุณนุ่นเล่าว่า เริ่มแรกต้องเขียนเรียงความว่าทำไมอยากเป็นนักข่าว จากนั้นจะมีการคัดเข้ามาเพื่อสอบข้อเขียน ในวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน ช้อยส์เกี่ยวกับข่าวความรู้ทั่วไป และข้อเขียนเชิงวิเคราะห์ รอบสามคือการสัมภาษณ์ ทดสอบรายงานข่าวสดต่อหน้ากรรมการ หลังจากผ่านเข้ารอบแล้วต้องมาฝึกอีกเยอะพอสมควร ทั้งการทำข่าวภาคสนามและการนั่งอ่านข่าวในสตู

งานสื่อสารมวลชน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เป้าหมายสำคัญในอาชีพผู้สื่อข่าวของคุณนุ่นนับจากนี้ คืออยากเป็นคนที่ใช้ศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่ พัฒนาข่าวให้ไปถึงจุดที่สามารถเป็นนักวิเคราะห์ข่าว และมองปรากฏการณ์ในสังคมทุกมิติได้ขาด เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ 

คุณนุ่นฝากทิ้งท้ายเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่รู้สึกว่าเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ บางครั้งการคิดใหญ่มันทำให้เราท้อ ลองกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำอะไรให้กับตัวเองได้บ้าง เราอยากจะทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เพราะอะไร เพราะใคร เท่านั้นพอ ไม่จำเป็นต้องเอาความใหญ่ ความหนักมากดดันหรือแบกเอาไว้จนเราไม่กล้าทำอะไร 
.

.

.

.

คุณจ๋า สุจิตรา มหาคุณ | THE STUDY TIMES STORY EP.38

บทสัมภาษณ์ คุณจ๋า สุจิตรา มหาคุณ เจ้าของ StudyWiz สถาบันแนะแนวการศึกษานานาชาติ
สถาบันแนะแนวการศึกษานานาชาติ เปิดโอกาสทางการศึกษา ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคม

ปัจจุบันคุณจ๋าเป็นผู้อำนวยการสถาบันแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ StudyWiz ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และยังเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ

คุณจ๋าจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะอักษรศาสตร์ เอกวรรณคดีอังกฤษ โทฝรั่งเศส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นนั้นคุณจ๋าเล่าว่า ในสมัยก่อนตัวเลือกไม่ได้เยอะเหมือนปัจจุบัน เริ่มแรกอยากเรียนมัณฑณศิลป์ แต่ด้วยความที่เรียนศิลป์ภาษาฝรั่งเศสมา และมีคะแนนค่อนข้างดี แต่คิดว่าหากเรียนมัณฑณศิลป์อาจจะตามเด็กที่มีพื้นฐานศิลปะไม่ทัน จึงตัดสินใจเบนสายมาเรียนอักษรศาสตร์ 

โดยส่วนตัวคุณจ๋าเป็นคนชอบอ่าน อ่านหนังสือทุกประเภทมาตั้งแต่ยังเด็ก ตอนเรียนเอกวรรณคดีอังกฤษ รู้สึกว่าเป็นวิชาที่เรียนแล้วมีความสุข ได้อ่านทั้งบทประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรองของอังกฤษในหลายๆ ยุค เกิดเป็นความชอบจึงต่อยอดไปเรียนปริญญาโท สาขาวรรณคดีภาษาอังกฤษ ที่สหรัฐอเมริกา

คุณจ๋าเล่าว่า ช่วงที่ไปเรียนต่อต่างประเทศในสมัยก่อน ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต พบว่าการหาข้อมูลค่อนข้างยาก ข้อมูลตรงน้อย ใช้ความพยายามและเวลาเยอะมากในการค้นหาข้อมูล  การส่งเอกสารต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลายาวนาน ช่วงที่เรียนภาษาเพิ่มเติมอยู่ที่ศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจไปคุยกับผอ. ว่าสนใจจะมีสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยไหม จะช่วยเป็นศูนย์ประสานงานให้ เพื่อที่น้องๆ รุ่นต่อไปจะได้รับข้อมูลที่ง่ายดายและเที่ยงตรงขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ตอบรับ

หลังจากนั้นคุณจ๋าได้กลับมาเปิดสำนักงานตอนอายุ 21 ปี และกลับไปเรียนหนังสือต่อ โดยที่มีสำนักงานอยู่ที่ไทย ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของบริษัทแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ 

นอกจากนี้ คุณจ๋าไม่ได้ทำเรื่องการศึกษาต่อต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่มีความสนใจที่หลากหลาย หลังจบปริญญาโทสองใบที่อเมริกา ได้กลับไปที่มหาวิทยาลัยเดิมเพื่อไปทำงานในแผนกการศึกษาต่อเนื่อง ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ จึงเกิดความสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากเรื่องการศึกษาต่อในระดับปริญญา เมื่อกลับมาได้เป็นนักเขียนให้สำนักพิมพ์ที่ฮ่องกงอยู่สักพัก หลังจากนั้นได้ก้าวเข้ามาในสาขาอื่นๆ ของการศึกษา มีความเห็นว่านักเรียนไทยใช้หลักสูตรต่างประเทศที่มีบริบทไม่ตรงกับวัฒนธรรมและชุดความรู้ของเอเชีย เกิดความสนใจที่จะผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่มีพื้นฐานจากสิ่งที่อยู่รอบตัว เป็นบริบทอาเซียนและไทย ทำให้ตัดสินใจสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาเอก EdD ที่ Durham University, สหราชอาณาจักร

ซึ่งระหว่างที่เรียนก็ได้นำชุดทฤษฎีของตะวันตกมาผนวกเข้ากันกับบริบทไทยๆ ทำให้เด็กของเราสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เหมือนเจ้าของภาษา โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นไทย บริษัทในเครือจึงได้เริ่มคิดและผลิตชุดแบบเรียนภาษาอังกฤษสำหรับภูมิภาคเอเชียขึ้นชื่อว่า Can Do เป็นชุดแบบเรียนที่ใช้กันในหลายประเทศแถบ ASEAN

ปัจจุบันแนวทางของ StudyWiz สถาบันแนะแนวการศึกษานานาชาติ คือ มีทุกสิ่งสำหรับทุกคน คุณจ๋าแนะว่า อย่าเพิ่งถอดใจไปก่อนว่าเราไม่สามารถไปเรียนต่างประเทศได้ ลองปรึกษามาก่อน นักศึกษาบางคนยังรับข้อมูลไม่เพียงพอ ขาดโอกาส เพราะคิดว่าการเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง แต่มีหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ค่าเทอมและค่าที่พักราคาถูก 

นอกจากนี้ StudyWiz ยังบุกเบิกการเรียนต่อแพทย์ที่ประเทศจีนและรัสเซีย ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษาไทยให้ความสนใจไปเรียนกันยอะมาก อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาภาคอินเตอร์หลากหลายสาขาในประเทศโปแลนด์ ซึ่งค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับไทย แต่มาตรฐานการเรียนการสอนแบบยุโรป 

คุณจ๋าทิ้งท้ายคำแนะนำและการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศไว้ว่า นอกจากการหาข้อมูลให้ครบถ้วน การคำนวณงบประมาณ สิ่งที่อยากเรียนใช่สิ่งที่ชอบไหม เรื่องของการเตรียมตัวก่อนไปก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทุกที่ใช้ภาษาอังกฤษ การเตรียมตัวไม่ใช่เฉพาะการทำคะแนนให้ถึงเพียงอย่างเดียว ไปเรียนกับตัวถึงเข้าใจว่าการได้คะแนนภาษาดีไม่มีความหมายเท่าไหร่ การมีชุดคำศัพท์ที่ดี มีแกรมม่าที่ถูกต้อง แต่หากไม่รู้การเรียบเรียงความคิดแบบคนตะวันตก อาจทำให้การสื่อสารออกไปอาจารย์อ่านแล้วไม่เข้าใจ เกิดเป็นอุปสรรค ถ้านักศึกษามีโอกาส และพอจะมีกำลังทรัพย์ แนะนำให้ลงเรียนภาษาอังกฤษ เพราะจะช่วยทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น 

.

.

.

.

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่เก้า พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้ 

????วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน - วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง 

พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.41 วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน
คุณต่าย วลินญา พรมขอนยาง Bachelor of Business Administration, AIMS INSTITUTES-Bangalore University, ประเทศอินเดีย

????EP.42 วันอังคารที่ 15 มิถุนายน
คุณนโม ปรมัตถ์ สมุทรสินธุ์ Gifted Math โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา GPA 4.00, นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ประจำปี 2564

????EP.43 วันพุธที่ 16 มิถุนายน
คุณโอ๊ค คณิต คล้ายแจ้ง วิทยาศาสตร์บัณฑิต (กายภาพบำบัด) เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

????EP.44 วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน
คุณแพท พัฒนพงศ์ แสงธรรม อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

????EP.45 วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน
คุณโอ๊ต วินิจพรรษ กันยะพงศ์ ปริญญาตรี-โท นิติศาสตร์, อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ (วิชาการออกแบบและสร้างสรรค์รายการ)

✅ดำเนินรายการโดย เจ THE STATES TIMES

????ช่องทางรับชม 
Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

คุณตอง ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา | THE STUDY TIMES STORY EP.37

บทสัมภาษณ์ คุณตอง ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา ปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยา สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
นักอาชญาวิทยา ผู้ตัดสินใจศึกษาต่อด้านอาชญาวิทยา เพื่อต่อยอดความรู้ในศาสตร์ที่สนใจ

ปัจจุบันคุณตองเป็นนักอาชญาวิทยาและอาจารย์พิเศษสอนวิชาอาชญาวิทยาและปรัชญา 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากธรรมศาสตร์มีการเปิดสาขาการวิจัยทางสังคมขึ้นมาเป็นปีแรก ซึ่งงานวิจัยในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย จึงเกิดความคิดว่าน่าจะเป็นการดีถ้าเป็นรุ่นแรกที่ได้เรียน เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณตองเข้าเรียนปริญญาตรี ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาการวิจัยทางสังคม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

หลังจบปริญญาตรี คุณตองได้ไปลองสอบตำรวจ เป็นได้ประมาณ 6-7 ปี หลังจากนั้นรู้สึกว่าภาพตำรวจที่วาดฝันกับงานที่ได้ทำจริงมีความแตกต่างกันมาก เกิดความรู้สึกว่านี่อาจจะไม่ใช่ทางของเรา จากนั้นสนใจอยากศึกษาเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมเพิ่ม เพื่อนำมาพัฒนางานตำรวจ ซึ่งศาสตร์อาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก จึงตัดสินใจไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

คุณตองเล่าว่า ศาสตร์อาชญาวิทยามีมานาน 200 กว่าปี แต่มีชื่อเสียงอยู่ในฝั่งยุโรป แทบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษจะมีคณะอาชญาวิทยา แต่ในประเทศไทยมีแค่ 1-2 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในปัจจุบัน ซึ่งการเรียนปริญญาโทที่อังกฤษใช้เวลาเรียนแค่ 1 ปีเท่านั้น แต่ช่วงเวลาที่เข้า Coursework จริงเพียงแค่สี่เดือน ส่วนเวลาที่เหลือต้องมานั่งทำวิทยานิพนธ์เอง อยู่อังกฤษรวมๆ แล้วเกือบสองปี จนสามารถจบการศึกษา Graduated M.Sc. Criminology and Criminal Justice ที่ University of Portsmouth มาได้

คุณตองเล่าว่า ด้วยความที่ไม่เคยเรียนอาชญาวิทยามาก่อน การไปเรียนที่อังกฤษเหมือนกับการปูพื้นฐานใหม่ เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาชญาวิทยาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคล่าแม่มด วิธีการค้นหาบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นแม่มด กระบวนการลงโทษคนผิดเมื่ออดีต ต่อมาคือเรียนวิชาทฤษฎีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทั้งหมด สาเหตุใดบ้างที่ทำให้คนๆ นึงก่ออาชญากรรม หรือเป็นอาชญากร 

สำหรับนักอาชญาวิทยาในประเทศไทย จะไปช่วยอยู่ในหลายเซคชั่นของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นไกด์แนวทางตำรวจ ศึกษาไปถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของอาชญากร และการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้สามารถหวนคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ

หลังเรียนจบปริญญาโทที่อังกฤษ คุณตองเริ่มรู้สึกอยากเรียนลึกไปถึงสาเหตุและจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของอาชญากรรม จึงเข้าเรียนต่อปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยา สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นได้เป็นอาจารย์พิเศษรับสอนวิชาอาชญาวิทยา วิชาทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม 

ความแตกต่างด้านการเรียนอาชญาวิทยาที่ไทยกับอังกฤษนั้น คุณตองเล่าว่า ของอังกฤษจะเน้นสอนอะไรที่เป็นทั่วไป แต่ที่ประเทศไทยจะลงลึกในกระบวนการยุติธรรม หรือสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การดัดแปลงความรู้จากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทย ความแตกต่างจะอยู่ที่การปรับใช้ได้จริง 

คุณตองแนะนำสำหรับคนที่สนใจศึกษาอาชญาวิทยา ว่า อาชญาวิทยา เป็นสหวิทยาการ คือไม่ใช่ศาสตร์ที่มีความเข้นข้นในตัวเอง เป็นสหวิชาที่ต้องอาศัยความรู้ในหลายๆ ด้านมาบูรณาการ จะเรียนปริญญาตรีอะไรมาก่อนก็ได้ จากนั้นค่อยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งมหาวิทยาลัยในไทยที่เปิด ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรังสิต 

คุณตองฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อาวุธของเราทุกวันนี้ อยู่แค่ในมือของเรา ความรู้ทุกอย่าง หนังสือเป็นล้านเล่ม สามารถเข้าถึงได้ผ่านมือถือ ไม่จำเป็นว่าอยากมีความรู้อะไรต้องดั้นด้นบินไปถึง คณาจารย์หลายๆ ท่านที่เป็นนักอาชญาวิทยาได้เขียนบทความไว้ให้น้องๆ ได้ศึกษาเบื้องต้น มือถือเป็นเหมือนอาวุธอย่างดีในการหาความรู้ 

.

.

.

.

คุณเบลล์ ณิชาธร ตั้งคุปตานนท์ | THE STUDY TIMES STORY EP.36

บทสัมภาษณ์ คุณเบลล์ ณิชาธร ตั้งคุปตานนท์ นักเรียนหญิงไทยคนแรกที่ได้รับเข้าศึกษาต่อที่ UC  Berkeley M.E.T. Program 
สาวน้อยมหัศจรรย์ นักดนตรีและนักกีฬา ครบเครื่องทั้งเรียนและกิจกรรม

ปัจจุบันคุณเบลล์ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี เรียน EP Program หลักสูตรที่เรียนจะเรียนเหมือนกับระดับวิทยาลัย ซึ่งจะขั้นสูงกว่ามัธยมทั่วไป ซึ่งผลการสอบ EP ก็สามารถนำไปยื่นเทียบวิชาในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งตอนนี้คุณเบลล์ยื่นเทียบได้ 13 วิชา

ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี คุณเบลล์ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ ตอนเกรด 8 (ม.2) ทำกิจกรรมเป็นสภานักเรียน เกรด 9-10 เป็นประธานนักเรียนหรือประธานรุ่น และในเกรด 12 ซึ่งคือปีนี้ เป็นรองประธานของเครือโรงเรียนมัยธยมนานาชาติ 

นอกจากนี้ในกิจกรรม National Honor Society ของปีนี้ คุณเบลล์เองก็ได้เป็นประธาน สิ่งที่ทำคือ ส่งเสริม 4 ด้าน 1.) ทุนการศึกษา 2.) ความเป็นผู้นำ 3.) การบริการ 4.) การพัฒนาตัวเอง 

ส่วนของชมรมที่เข้าร่วม 1.) นวัตกรรมและการออกแบบ มีการออกแบบเครื่องมือการทำงานโดยใช้  Design Thinking (ความคิดแบบสร้างสรรค์) ในการแก้ปัญหา มีการทำกิจกรรมต่างๆ ระดมทุน เพื่อบริจาคให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส 2.) การเงินและการลงทุน สอนเรื่องของการเล่นหุ้น ปกติจะมีไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์การลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงไม่ได้ไป
 
ในส่วนของกิจกรรมที่นอกเหนือจากเรื่องการเรียน คุณเบลล์ยังเป็นทีมกัปตัน Soccer และเคยเข้าร่วมกิจกรรมการโต้วาทีภาษาอังกฤษ ได้รับรางวัล รวมทั้งขึ้นเวที TEDx Talks 

เทคนิคการเรียนและการจัดสรรเวลาของคุณเบลล์ อยู่ที่การจัดตารางให้ดี แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.) การเรียน 2.) โปรเจคและชมรมในโรงเรียน 3.) โปรเจคและชมรมนอกโรงเรียน 4.) อื่น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี 

คุณเบลล์แนะนำแอพที่มีชื่อว่า todoist สำหรับทำ To do list จัดตารางเวลาสิ่งที่ต้องทำ ส่วนในคาบเรียนแนะนำให้จดและเขียนชีทให้มาก ในการติวสอบ ข้อไหนผิดคุณเบลล์จะลิสต์มาและทำใหม่ทั้งหมด พร้อมแนะนำว่า เราควรโฟกัสข้อที่ผิด หรือข้อที่ไม่แน่ใจให้เยอะที่สุด และทำซ้ำๆ ซึ่งการทำซ้ำเป็นสิ่งที่ดีมาก 

ขณะนี้คุณเบลล์ตอบรับเข้าศึกษาต่อ UC Berkeley MET Program ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง MET เป็นโปรแกรม ที่ร่วมกันระหว่างหลักสูตรวิศวกรรม และธุรกิจ และเมื่อจบแล้วจะได้รับปริญญาทั้ง 2 สำหรับคุณเบลล์เน้นเรียนระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและสายการผลิตเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจ 

เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกที่นี่ เพราะคุณเบลล์เคยไปเรียนซัมเมอร์ที่ UC Berkeley มาก่อน มีความชื่นชอบ อีกทั้งไม่ชอบเรียนเฉพาะทฤษฎีเพียงอย่างเดียว อยากเรียนโดยการทำกิจกรรม ซึ่ง UC Berkeley MET Program ตอบโจทย์ นอกจากนี้ คุณเบลล์ถือเป็นนักเรียนหญิงคนแรกที่ได้เข้าเรียนใน MET Program

คุณเบลล์คิดว่าโปรแกรมนี้น่าจะทำให้คุณเบลล์มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ เพื่อในอนาคตจะได้เป็นนักธุรกิจได้ด้านเทคโนโลยีอย่างที่ฝันไว้ แล้วการที่มหาวิทยาลัยนี้อยู่ใกล้กับ Silicon Valley ยิ่งตอบโจทย์ เพราะเป็นโอกาสดีที่จะเรียนรู้เรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

สำหรับเทคนิคการเตรียมตัวเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระดับโลกของคุณเบลล์ มองว่า การเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ เราอาจเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่ง ต้องนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่าและลักษณะเฉพาะ บางครั้งการเก่งทุกเรื่องอาจจะทำให้ดูเหมือนไม่มีโฟกัส สำหรับตัวคุณเบลล์ที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง แต่ว่าสุดท้ายแล้วทุกๆ อย่างสามารถไปด้วยกันได้ผ่านการเขียน Essay ให้ชัดเจนว่าแต่ละกิจกรรมมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร นอกจากนี้คะแนนต่างๆ ต้องอยู่ในระดับสูง ส่วนการเขียน Essay ต้องมี personal story ที่จริงใจ ไม่ได้แต่งขึ้นมาเอง

คุณเบลล์เล่นเครื่องดนตรีฮาร์ป โดยมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจมาจาก เมื่อ 5 - 6 ปีที่แล้ว ได้เดินทางไปที่โรสการ์เด้น รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา และได้พบกับนักเล่นดนตรีพิณ รู้สึกว่ามีออร่าออกมาเหมือนนางฟ้า เสียงไพเราะ ทุกอย่างดูดีไปหมด หลังจากกลับมาเมืองไทยจึงได้เริ่มต้นเรียนฮาร์ป และมาเรียนแบบส่วนตัวกับอาจารย์ Tong Juan Wang ซึ่งที่ผ่านมาคุณเบลล์เคยแสดงเดี่ยวฮาร์ปในงานเลี้ยงภายในของบริษัท OMEGA นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลและได้รับคำเชิญไปเล่นที่งานต่างๆ มากมาย 

ถึงแม้ว่าการเล่นฮาร์ปจะได้ไปแสดงหลายที่และได้รับรางวัลมากมาย แต่คุณเบลล์อยากสร้างเรื่องของ Social impact ให้มากขึ้น จึงนึกถึง Harp Therapy การใช้ดนตรีบำบัด ซึ่งจากการทำโครงการในโรงพยาบาลมา มีผลว่า ความเครียดของผู้ป่วยลดลงมากถึง 78%  หลังได้รับฟัง Harp Therapy คุณเบลล์เองดีใจมากที่มีส่วนช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูทางความรู้สึกและสุขภาพจิต

สุดท้ายหากมีน้องๆ คนไหนอยากติดตามหรือสอบถามเรื่องเรียน สามารถติดตามคุณเบลล์ได้ทาง Instagram: @bbellebellexx หรือ อีเมลล์ [email protected] 

.

.

.

.
 

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่แปด พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้ 

????วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน - วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง 

พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.36 วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน
คุณเบลล์ ณิชาธร ตั้งคุปตานนท์ นักเรียนหญิงไทยคนแรกที่ได้รับเข้าศึกษาต่อที่ UC  Berkeley M.E.T. Program

????EP.37 วันอังคารที่ 8 มิถุนายน
คุณตอง ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา ปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยา สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

????EP.38 วันพุธที่ 9 มิถุนายน
คุณจ๋า สุจิตรา มหาคุณ เจ้าของ StudyWiz สถาบันแนะแนวการศึกษานานาชาติ

????EP.39 วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน
คุณนุ่น บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ประกาศข่าว Thai PBS

????EP.40 วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน
คุณโอ สุพิชญา ณ สงขลา ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ เอกคหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักแสดงอิสระ

✅ดำเนินรายการโดย เจ THE STATES TIMES

????ช่องทางรับชม 
Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

คุณไบร์ท ชนปทิน พลาพิภัทร | THE STUDY TIMES STORY EP.35

บทสัมภาษณ์ คุณไบร์ท ชนปทิน พลาพิภัทร ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง 2 ใบ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ GPA 4.00 The University of Texas at Austin, สหรัฐอเมริกา
เมื่อทำเหตุผลถูก ผลก็จะถูกตาม เรียนในสิ่งที่รัก แล้วเราจะทำได้ดี

ปัจจุบันคุณไบร์ทเป็นผู้บริหารบริษัท Premier Education ทำในหลายยูนิตที่เกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการไปเรียนต่อต่างประเทศ (อเมริกา, อังกฤษ) โรงเรียนกวดวิชา Premier Prep ช่วยนักเรียนชิงทุนการศึกษา เรียนต่อโปรแกรมอินเตอร์ในประเทศไทย เป็นต้น

ย้อนกลับไปสมัยมัธยม คุณไบร์ทเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นตัวแทนฟิสิกส์โอลิมปิกระดับนานาชาติ และระดับเอเชีย ได้ประสบการณ์ที่ดี เพราะได้เจอเพื่อนที่มีความสนใจในวิชาคล้ายๆ กันจากประเทศต่างๆ มีคอนเนคชั่นกับเพื่อนในหลายประเทศ การเป็นตัวแทนฟิสิกส์โอลิมปิก ใช้เวลาเตรียมตัวกว่า 3 ปี มีทั้งการเข้าค่าย เก็บตัว เข้าเรียน และฝึกทำโจทย์

คุณไบร์ทเป็นนักเรียนทุน ปตท. สผ. ได้ทุนเรียนในระดับปริญญาตรี การตัดสินใจชิงทุนมาจากความสนใจในวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ทำให้รู้ตัวว่าอยากเรียนในแนวทางของวิศวะ จนพบว่า ปตท. สผ. ให้ทุนไปเรียนต่อวิศวกรรมด้านปิโตรเลียม ซึ่งใช้ความรู้ด้านฟิสิกส์ค่อนข้างเยอะ คิดว่าน่าจะเหมาะกับความสนใจและศักยภาพ จึงตัดสินใจเลือกสาขานี้

ปกติแล้วการให้ทุนรูปแบบนี้จะเป็นการให้ทุนร่วมกับก.พ. การสอบและรับสมัครจะผ่านก.พ. ทั้งหมด โดยเลือกสมัครได้สองทุน การสอบของสายวิทย์ จะสอบในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) ภาษาอังกฤษ ไทย และสังคม แนวข้อสอบจะเป็นแนวเขียน จำเป็นต้องอ่านข่าว และใช้การอ่าน การวิเคราะห์เขียนลงไป เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในการคิด และการใช้ Critical Thinking

คุณไบร์ทเลือกเรียนวิศวกรรมปิโตรเลียม ที่ The University of Texas at Austin ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นอันดับ 1 ในสายวิศวกรรมปิโตรเลียม จากนั้นได้ศึกษาข้อมูลพบว่า คณะเศรษฐศาสตร์มี coursework หลายตัวที่ทับซ้อนกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใน 4 ปี คุณไบร์ทสามารถเรียนจบครบ requirement ของทั้งสองเมเจอร์ ทำให้ได้ปริญญาตรีสองใบ คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง  GPA 4.00 อีกด้วย

คุณไบร์ทเล่าว่า ด้วยความที่หอพักอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยมาก ทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมทั้งอาศัยการวางแผนล่วงหน้า จัดตารางดีๆ ซึ่งตอนนั้นคุณไบร์ทก็ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เช่น เป็นประธานสมาคมนักเรียนไทย แต่สามารถบาลานซ์การเรียนและกิจกรรมได้ 

สำหรับเทคนิควิธีคิดที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ คุณไบร์ทกล่าวว่า ถ้าเราทำเหตุให้ถูก เดี๋ยวผลดีๆ จะตามมาแน่นอน การทำเหตุให้ถูก หมายความว่า เราตอบตัวเองให้ได้ว่าเราทำไปทำไม เพราะอะไร เกียรตินิยมหรือ GPA 4.00 ไม่ใช่เป้าหมายที่คิดว่าต้องทำให้ได้ แต่พยายามจัดตารางให้ดี พยายามหาทาง หาวิธี คิดว่าตอนนั้นมีแรง มีกำลังใจที่จะทำ เพราะมันมาจากเหตุที่ถูกต้องว่าอยากเรียนเพื่อความรู้จริงๆ   

ข้อดีของการเรียนในระบบอเมริกาที่คุณไบร์ทชื่นชอบคือ จะมีส่วนของคะแนนเก็บ และคะแนนสอบย่อยค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่สามารถทิ้งวิชาไหนได้ ต้องทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ผลที่ตามมาคือไม่ต้องไปอ่านหนังสืออัดเยอะในช่วงท้าย 

เคล็ดลับในการเรียนของคุณไบร์ท คือ ต้องรู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง ใช้ให้ถูกจุด หลายๆ อย่างจะง่ายขึ้นเยอะ อาศัยการเรียนและการถามในห้อง ไม่ทิ้งหัวข้อที่ไม่เข้าใจไว้จนเป็นดินพอกหางหมู เคลียร์ความไม่เข้าใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

หลังกลับมาเมืองไทย ปัจจุบันคุณไบร์ทเป็นผู้บริหารบริษัท Premier Education ทำในหลายยูนิตที่เกี่ยวกับการศึกษา จากประสบการณ์ของคุณไบร์ท พบว่า ผู้ปกครองและน้องๆ หลายคน มักจะมองหาบริการทางการศึกษาระยะสั้น บริษัทของคุณไบร์ทจึงพยายามทำสิ่งที่มีผลดีระยะยาวต่อเด็ก เช่น กลุ่มของมัธยมปลาย ทำออกมาเป็นสองโปรแกรมหลัก คือ EduSmith  ที่จะช่วยให้เด็กไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของตัวเอง และ Premier Prep เน้นเรื่องของการปูพื้นฐานภาษาอังกฤษ พร้อมๆ กับการให้ Critical Thinking 

ทิ้งท้ายสิ่งที่อยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย ภาพปัญหาหลักที่คุณไบร์ทมองเห็นคือ มหาวิทยาลัยกับภาคมัธยม หรือประถม บางทีอาจไม่ได้มีการประสานงานกันมาก มหาวิทยาลัยอยากได้นักเรียนที่มีทักษะแบบหนึ่ง ขณะที่ชั้นมัธยมเรียนมาอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น หลักสูตรมัธยมไม่รองรับกับการสอบกลุ่มที่มหาวิทยาลัยต้องการ กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับนักเรียน 

ภาพที่อยากเห็นคือ การสื่อสารที่ชัดเจนว่าอยาจะให้เด็กเติบโตมาโดยมีทักษะอะไรบ้าง การรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยควรจะสอดคล้องกันกับการพัฒนานักเรียนในระดับมัธยม เพื่อเป็นการลดภาระให้กับนักเรียน เพราะเวลาว่างนอกเหนือจากการเรียน นักเรียนควรมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองในด้านอื่นๆ ที่สนใจด้วยเช่นกัน


.

.

.
 

คุณปิ่น ธัญชนก ปการัตน์ | THE STUDY TIMES STORY EP.34

บทสัมภาษณ์ คุณปิ่น ธัญชนก ปการัตน์ ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไอดอลและนักแสดงวัยรุ่น

การเรียนรัฐศาสตร์ทำให้การมองโลกเป็นระบบมากขึ้น เอามาใช้กับการทำงานในวงการบันเทิงได้เป็นอย่างดี

คุณปิ่นเรียนจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ มาจากช่วงม.ปลายเรียนสายวิทย์-คณิต เป็นคนเรียนดีปกติ แต่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ จนได้ไปเข้าค่ายค้นหาตัวตน ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เมื่อไปพบสิ่งที่ได้เรียนกลับรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ จึงตัดสินใจไม่เลือกคณะวิทยาศาสตร์แน่ๆ จากนั้นได้ไปอ่านวิชาเรียนของรัฐศาสตร์ รู้สึกอยากเข้าไปเรียน อยากรู้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจแอดมิดชันเข้าคณะรัฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เพราะคำพูดของอาจารย์ที่กล่าวว่า “คนเรียนแพทย์ จบไปเป็นหมอรักษาคน แต่คนเรียนรัฐศาสตร์ จบไปเป็นหมอรักษาสังคม” เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้คุณปิ่นตั้งใจเรียนในสายสังคมวิทยา เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ส่งผลกระทบทั้งกับตนเอง ระดับสังคม ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับทวีป สิ่งที่เรียนสามารถนำไปคิดต่อยอดได้เยอะมาก

เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งของคุณปิ่น คือ พยายามตั้งใจในหัวข้อที่สำคัญ อ่านชีทล่วงหน้า ตั้งคำถามไว้ก่อนที่อาจารย์จะสอน การบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนการทวนไปในตัว สิ่งไหนที่ไม่รู้สามารถไปหาเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ คุณปิ่นจะมีเช็คลิสต์จัดลำดับสิ่งที่ต้องทำทุกวัน และพยายามทำให้ครบตามที่วางแผนไว้

คุณปิ่นแนะหลักในการทำข้อสอบของรัฐศาสตร์ คือ ต้องมองมุมกว้าง อธิบายถึงสิ่งที่เป็นหลักก่อน แล้วค่อยย่อยหัวข้อออกมา พร้อมทั้งยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม มาเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผล

คุณปิ่นกล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนรัฐศาสตร์ คือ การมองโลกเปลี่ยนไป ไม่ตัดสินอะไรง่ายๆ มองทุกอย่างในมุมกว้างมากขึ้น พยายามตั้งคำถามกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น มีทักษะ Critical Thinking เพิ่มขึ้น สามารถนำจุดนี้มาใช้ได้กับทุกเรื่อง

นอกจากนี้คุณปิ่นยังได้ทำกิจกรรมมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมค่ายสอนหนังสือเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ให้กับนักเรียนมัธยมที่ต่างจังหวัด การทำกิจกรรมครั้งนั้นพบว่า โรงเรียนที่ไปมีความกันดารมาก น้องๆ มีความรู้พื้นฐานไม่ตรงตามระดับชั้นที่เรียน ไม่มีความฝัน พี่ๆ ในค่ายจึงต้องพยายามสอนน้อง ปรับ mindset ใหม่ จนจบค่ายน้องมาขอบคุณพี่ๆ และบอกว่าตัวเองมีความฝันแล้วว่าอยากจะเข้าเรียนต่อในคณะอะไร ทำให้คุณปิ่นเกิดความตื้นตันใจมาก

จากความเหลื่อมล้ำที่พบเจอมา ทำให้คุณปิ่นอยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยมองว่า การศึกษาควรเริ่มที่บุคลากร คุณครูผู้สอน นอกจากสอนในเรื่องเนื้อหาแล้ว ควรสอนในเรื่องของการใช้ชีวิต สอนให้เด็กสามารถนำเนื้อหาที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้

คุณปิ่นเคยอยู่ในวงดนตรีไอดอล ตำแหน่งมือกีตาร์ไฟฟ้า เนื่องจากมีความสนใจ อยากมีงานแสดงเป็นของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีคนมาชักชวนจึงตกลง ซึ่งต้องไปฝึกเล่นกีตาร์ไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด โดยประสบการณ์ที่ได้ คือ เรื่องของการแบ่งเวลา ต้องแบ่งเวลาซ้อมและเวลาเรียน และอย่าลืมที่จะพักผ่อน คุณปิ่นกล่าวว่า ส่วนใหญ่เวลาที่ทำอะไรหลายๆ อย่าง เราต้องตั้งเป้าหมายที่ต้องการไว้ ว่าเราทำไปเพื่ออะไร นอกจากนี้ การเป็นไอดอลจะมีกลุ่มแฟนคลับที่คอยสนับสนุน สอนให้รู้จักการวางตัว และต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ 

ปัจจุบันคุณปิ่นมุ่งสู่สายอาชีพนักแสดง มีความตั้งใจอยากแสดงซีรีส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการถ่ายทำ รวมทั้งยังเป็นสตรีมเมอร์ เล่นเกมให้คนอื่นเข้ามาดู ซึ่งแต่ละคนจะมีสไตล์การเล่นที่แตกต่างกัน คุณปิ่นมองว่า เกมเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ได้ติดต่อกับคนที่มีความชื่นชอบเหมือนกัน มีคนคอยแนะนำ เหมือนได้เล่นเกมกับเพื่อน ไม่ได้เล่นอยู่คนเดียว

.

.

.

คุณเจน ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช | THE STUDY TIMES STORY EP.33

บทสัมภาษณ์ คุณเจน ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช ปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ Roosevelt University, สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม Brunel University, สหราชอาณาจักร
เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ใช่ขาวและดำ แต่เป็นสีเทา สีที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

ปัจจุบันคุณเจนเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการเลือกเรียน ‘จิตวิทยา’ มาจากตอนแรกคุณเจนสนใจเรื่องสืบสวน วิทยาศาสตร์ ร่างกายมนุษย์ ตอนนั้นเรียนอยู่ที่อเมริกา เริ่มจากเรียนคณะ Biology เพราะอยากเป็นหมอ แต่เมื่อเรียนได้ 1 ปีรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง มีโอกาสได้เรียนจิตวิทยาตอนไฮสคูล ทำให้รู้สึกชอบความเป็นจิตวิทยาที่ไม่มีคำตอบผิดถูกตายตัว สนใจความเป็นเทาของมนุษย์ ที่บางทีก็มีด้านดี บางทีก็มีด้านลบ เลยเบนสายย้ายคณะมาเรียนจิตวิทยาตอนปี 2

สำหรบคุณเจน มองว่าเสน่ห์ของจิตวิทยา คือการตกหลุมรักการวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่มีความสิ้นสุด ทำให้ตั้งคำถามต่อไปได้เรื่อยๆ 

คุณเจนเรียนปริญญาตรี จิตวิทยา ที่ DePaul University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ไปอยู่หอ เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง อยู่กับเพื่อนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ปรับตัวค่อนข้างเยอะ แต่รู้สึกสนุกที่ได้ใช้ชีวิตที่นั่น 

การเรียนจิตวิทยาที่ DePaul University เน้นที่การตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ทำงานวิจัย และเน้นการ Discussion ค่อนข้างเยอะ สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ การไม่อายที่จะตั้งคำถาม ในส่วนของอาจารย์ จะให้ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เช่น วิชาการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ได้เป็นอาสาสมัครทำงานกับคนไร้บ้านทั้งเทอม ต้องคอยอัพเดทให้อาจารย์ฟังตลอด มีการพูดคุยและช่วยให้มองต่างมุม และสรุปว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

หลังจากจบปริญญาตรี คุณเจนตัดสินใจเรียนต่อด้านจิตวิทยาจนจบปริญญาเอก เหตุผลคือ ด้วยสายของจิตวิทยาเป็นอาชีพที่ต้องลงลึก ต้องมีความเชี่ยวชาญมาก จึงเหมือนการบังคับให้ต่อปริญญาโทในสาขาที่สนใจ เพื่อที่จะได้ออกมาทำงานที่ต้องการได้ และด้วยความรู้สึกสนุกในการทำงานวิจัย อยากได้คำตอบของคำถามที่มี หลังจากนั้นจึงเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ

คุณเจนเรียนปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ ที่ Roosevelt University ประเทศสหรัฐอเมริกา สนใจเรื่องของบุคลากรในองค์กร ทำอย่างไรให้คนทำงานมีความสุข มีแรงจูงใจในการทำงาน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนของปริญญาเอก จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม ที่ Brunel University สหราชอาณาจักร สนใจว่าคนในแต่ละประเทศมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างไร มีวัฒนธรรมอะไรที่มาอธิบายการกระทำของคนได้บ้าง ถ้าเราย้ายประเทศไปทำงานหรือไปเรียนที่อื่นจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไร

การได้ไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ทำให้คุณเจนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ทำอะไรจะพยายามด้วยตัวเองก่อน ส่วนตัวคุณเจนชอบสภาพแวดล้อมที่ชิคาโก เพราะมีความหลากหลาย คนเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับแคลิฟอร์เนียร์ อังกฤษก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับบริบทของรัฐในประเทศนั้นๆ 

หลังเรียนจบกลับมาเมืองไทย คุณเจนสอนอยู่ที่ มศว. ก่อนหนึ่งปีครึ่ง ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดเริ่มต้นมาจาก หลังกลับมาด้วยความที่เรียนจิตวิทยาในการทำงาน วางแผนอยากทำงานในบริษัท Consult แล้วค่อยทำงานพาร์ทไทม์เป็นอาจารย์ แต่พบว่าอาจารย์พาร์ทไทม์หายากมาก จึงตัดสินใจเป็นอาจารย์ประจำ

การสอนจิตวิทยาในประเทศไทย คุณเจนเล่าว่า สิ่งแรกที่ต้องปรับตัวคือเรื่องของภาษา เพราะเรียนเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษมาทั้งหมด แต่ต้องมาสอนเป็นภาษาไทย ต้องทำการบ้านหนักมากในตอนเริ่ม ในส่วนของเนื้อหา การเรียนที่ต่างประเทศอาจจะลงลึกกว่า แต่ที่ไทยด้วยความที่เรียนจบ 4 ปีสามารถไปทำงานได้เลย จึงอาจจะไม่ลงลึกเท่าของอเมริกา 

คุณเจนกล่าวว่า จิตวิทยามีสองส่วน ส่วนแรกคือศึกษาพฤติกรรมและวิธีคิดของมนุษย์ อีกส่วนหนึ่งคือใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการศึกษาพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์ 

คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงจิตวิทยามักนึกถึงโรคทางจิตก่อน คุณเจนอยากจะสร้างความเข้าใจให้คนส่วนใหญ่ ว่าจิตวิทยาสามารถทำอะไรได้มากมาย อย่างเช่น นักข่าวก็สามารถใช้จิตวิทยาได้ การพัฒนาการมนุษย์ การเลี้ยงดูเด็ก เรียกง่ายๆ ว่าจิตวิทยาอยู่รอบตัวเรา จิตวิทยาอธิบายว่าทำไมคนถึงทำแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าทำไม สิ่งที่ตามมาคือ เราสามารถปรับเปลี่ยน พัฒนา หรือลดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้

.

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top