Tuesday, 16 April 2024
THE STUDY TIMES STORY

คุณจ๊อบ ศรัณย์ กาญจนาภาส | THE STUDY TIMES STORY EP.48

บทสัมภาษณ์ คุณจ๊อบ ศรัณย์ กาญจนาภาส นักเรียนทุนปริญญาโท คณะ IMBA มหาวิทยาลัย National Taipei University of Technology
โอกาสมีอยู่รอบตัว เพียงแค่ต้องพยายามค้นหาและคว้าเอาไว้

คุณจ๊อบปัจจุบันกำลังทำเพจ Saran In Taiwan และเป็นนักเรียนทุนปริญญาโท คณะ IMBA  มหาวิทยาลัย National Taipei University of Technology

คุณจ๊อบเรียนปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์การบิน สถาบันการบินพลเรือน เป็นนักวิศวะซ่อมเครื่องบิน ตอนนั้นคุณจ็อบคิดว่าชอบเรื่องเครื่องบินและชอบเกี่ยวกับวิศวะเลยเลือกที่จะเรียนสาขานี้ มีความยากง่ายแตกต่างกันไป และเป็นการเรียนภาคภาษาอังกฤษ 

ก่อนหน้าจะไปเรียนต่อที่ไต้หวัน ช่วงปี 4 คุณจ๊อบได้ไป Work and Travel ที่สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็น Lifeguard ตามหมู่บ้านที่ Washington D.C และ Boston ในระยะเวลา 4 เดือน ทำงานจริง 3 เดือนไปเที่ยวได้อีก 1 เดือน ซึ่งก่อนที่จะได้ทำงานจริงต้องมีการฝึกฝนก่อน ถือว่าการไปอเมริกาครั้งนี้เป็นความประทับใจและเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของคุณจ๊อบ จึงอยากแนะนำให้ทุกคนที่มีโอกาส ทั้งไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนหรือไปทำงานในโครงการนี้ลองตัดสินใจไป

หลังกลับมาจาก Work and Travel คุณจ๊อบเข้ารับปริญญาที่สถาบันการบินพลเรือนและได้ทำงาน 4 – 5 เดือน หลังจากนั้นรู้สึกอยากพัฒนาตนเอง ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจย้ายมาเรียนต่อปริญญาโทเพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด และคิดว่าที่ประเทศไทยน่าจะเริ่มมีปัญหา จึงตัดสินใจหาข้อมูลเรื่องทุน สุดท้ายแล้วก็มาจบที่ไต้หวันเพราะว่าอยากจะเรียนทั้งภาษาจีนและปริญญาโทด้วย 

ปัจจุบันคุณจ๊อบเป็นนักเรียนทุนปริญญาโท คณะ IMBA  มหาวิทยาลัย National Taipei University of Technology ในประเทศไต้หวัน เรียนเกี่ยวกับบริหารธุรกิจภาคอินเตอร์ เริ่มจากเลือกดูมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน หลังจากหาข้อมูล เตรียมเอกสาร ได้ยื่นทุนไปประมาณ 15 มหาวิทยาลัยด้วยตนเอง และได้การตอบรับมาประมาณ 12 มหาวิทยาลัย จนมาเลือกที่นี่ เพราะตรงกับความต้องการมากที่สุด โดยทุนที่ไต้หวันเป็นทุนให้เปล่า ไม่ต้องกลับมาชดใช้ทุน นอกจากนี้คุณจ๊อบยังบอกอีกว่าตัวเองโชคดีที่มีสังคมดี เพื่อนดี ทำให้สนุกกับการเรียน 

สำหรับประสบการณ์ที่ได้จากการมาเรียนที่ไต้หวัน คุณจ๊อบให้คำจำกัดความสั้นๆ คือ Part time Traveler Full Time Student การเรียนที่ไต้หวันคุณจ๊อบเล่าว่า ไม่ได้เรียนหนักมาก ถ้าอยากมาเรียนสามารถมาเริ่มเรียนภาษาจีนที่นี่ได้เลย ภาษาจีนเป็นสิ่งที่ยาก แต่หากมีความตั้งใจและพยายาม ได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมก็สามารถพัฒนาภาษาได้เร็ว 

คุณจ๊อบเองก็ใช้แอพช่วยและไปลงเรียนเพิ่มทำให้ได้ภาษาเร็ว มีเหตุการณ์หนึ่งคือ คุณจ๊อบลืมของไว้บนรถเมล์ เลยโทรหาที่ศูนย์ของรถเมล์ ภาษาจีนตอนนั้นยังไม่แข็งแรง แต่เตรียมคำศัพท์ที่อยากจะพูดไว้แล้ว มีการคุยโต้ตอบจนสามารถไปรับของคืนมาได้ คุณจ๊อบมองว่า หากเรามีการเตรียมตัวที่ดี อยากที่จะฝึกภาษาให้เก่ง ควบคู่ไปกับกำลังใจที่ดี เราก็จะสามารถพัฒนาตนเองได้เร็ว    

สำหรับเพจเฟซบุ๊ก Saran in Taiwan คุณจ๊อบเปิดขึ้นมา เพราะเป็นคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ เริ่มจากความสงสัยที่ไม่มีใครมาบอก จึงอยากแชร์ประสบการณ์ของตัวเองในการหาทุนที่ไต้หวัน การใช้ชีวิตที่ไต้หวัน และหัวใจหลักในการทำเพจและการทำคลิปคือ  อยากทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำที่ประเทศไทยได้ อย่างเช่น การเล่นสงกรานต์ S2O ที่ประเทศไต้หวัน การไปเล่นหิมะที่ไทเป และยังมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย สำหรับใครที่สนใจสามารถไปติดตามคุณจ๊อบได้
.

.

.

.

คุณนัชชี่ นัทธ์ชนัน กัลปนา | THE STUDY TIMES STORY EP.47

บทสัมภาษณ์ คุณนัชชี่ นัทธ์ชนัน กัลปนา ไอดอล วง AKIRA-KURO, ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไอดอลสาวนักสู้ ผู้มีความคิดชีวิตเกิดมาครั้งเดียว ต้องใช้ให้สุด

คุณนัชชี่เรียนชั้นมัธยมที่เรียนโรงเรียนหอวัง ในสายศิลป์-คำนวณ เพราะมีความถนัดทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ จึงเลือกเรียนสายนี้ ซึ่งกิจกรรมช่วงมัธยมปลายเคยทำชมรม มีงานเขียนบ้าง และอยู่ในห้องเรียนของประธานนักเรียน 

เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย คุณนัชชี่เลือกเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชา การจัดการเพื่อการประกอบธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปเรียนก็รู้สึกชอบ เนื่องจากตนเองก็มีกิจการของครอบครัว คิดว่าการเรียนตรงนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจของครอบครัวให้เจริญเติบโตขึ้นได้ ระหว่างเรียนคุณนัชชี่ได้มีการทำกิจกรรมและทดลองเปิดร้านจริง ได้ลงมือทำ เปิดแบรนด์เกี่ยวกับเครื่องประดับ ซึ่งการเรียนลักษณะนี้ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจมากขึ้น
 
จุดเริ่มต้นเส้นทางสายไอดอลของคุณนัชชี่ เพราะมีความชื่นชอบในไอดอลญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเรียน มีความฝันว่าอยากจะอยู่ในจุดนั้น จึงไปออดิชั่นเข้าวง Akira – Kuro โดยคุณนัชชี่เล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นศิลปินไอดอลของวงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวงดนตรีของแต่ละวง ด้วยความที่วง Akira – Kuro เป็นวงไอดอลสายร็อค คุณนัชชี่เองเป็นคนเต้นไม่เป็น แต่มีใจที่จะมาอยู่ตรงนี้จริงๆ จึงได้รับการคัดเลือกเข้ามาและต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เพราะไม่ได้อยู่ค่ายใหญ่ ความท้าทายคือต้องฝึกเต้นเอง แกะท่าเอง และกำหนด Performance เอง 

โดยคุณนัชชี่ก็เคยเผชิญกับความรู้สึกท้อ เพราะตัวเองก็โดนคอมเมนต์ในเชิงลบ แต่มีความคิดคือ ถ้าโดนคอมเมนต์ก็ปล่อยให้ตัวเองเสียใจ ร้องไห้ และต้องพยายามให้ดีที่สุดเพื่อลบคำสบประมาท โดยวง Akira – Kuro เป็นวงที่จะต้องคุมคนดูให้อยู่ เป็นวงแนวร็อคๆ เพราฉะนั้นการ Performance จะต้องดี  

นอกจากจะเป็นสมาชิกในวงแล้ว คุณนัชชี่ยังมีความสามารถในการเขียนเพลง และมีการกำกับ MV เพลงด้วยตัวเอง อย่างการเขียนเพลงคือ มีการแก้เนื้อเพลงให้มีความหมายลึกซึ้งและเข้าถึงคนฟังได้ง่ายขึ้น ส่วนในเรื่องของการกำกับ MV เพลง มีจุดเริ่มต้นมาจากที่คุณนัชชี่และคนในวงตัดสินใจในการทำคอนเซ็ปและปรึกษากับทางผู้ใหญ่ ทางผู้ใหญ่ได้ให้โอกาสคุณนัชชี่ในการเป็นผู้กำกับ ซึ่งคุณนัชชี่ไม่เคยทำมาก่อน ถือว่าค่อนข้างยากมาก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้กำกับคือการตัดสินใจที่เด็ดขาด 

นอกจากนี้คุณนัชชี่ได้มีโอกาสเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้น “ให้ทุกวันไม่เหมือนเดิม / What’s going inside my head” ซึ่งเป็น การรวบรวมเรื่องสั้น 30 วันว่าในแต่ละวันทำอะไรบ้าง คุณนัชชี่พยายามขยายความในเรื่อง ๆ หนึ่ง เป็นเรื่องตลก ๆ เรื่องแปลก ๆ 

สุดท้ายนี้คุณนัชชี่ได้ให้แรงบันดาลใจว่า ถ้าเราอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้ลงมือทำเลยดีกว่า ไม่เช่นนั้นเราจะเสียดายทีหลัง อย่ากลัวที่จะลงมือทำ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ปัญหาที่เราพบเจอเราก็จะสามารถแก้ไขให้สำเร็จจนได้ ซึ่งทุกวันนี้คุณนัชชี่รู้สึกว่าตัวเองได้ทำหลายๆ อย่างทำให้ตัวเองเป็นคนเก่งมากยิ่งขึ้น 

.

.

.

.

คุณอันอัน อภิญญา วีระพลชัย | THE STUDY TIMES STORY EP.46

บทสัมภาษณ์ คุณอันอัน อภิญญา วีระพลชัย เกียรตินิยมอันดับ 2 ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน
นักกิจกรรมผู้เรียนในสิ่งที่รัก และทำในสิ่งที่ชอบ

ย้อนกลับไปช่วงมัธยม คุณอันอันเรียนอยู่ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ในแผนการเรียนวิทย์ - คณิต แต่เนื่องจากการเรียนสายวิทย์ค่อนข้างเครียดจึงพยายามหากิจกรรมทำ อย่างเช่น การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ร้องเพลงประสานเสียง เล่นวอลเลย์ ครั้งที่ประทับใจที่สุดคือไปประกวดร้องเพลงประสานเสียงที่พารากอน คนมาดูเยอะมาก และได้รับรางวัลชมเชยมา 

นอกจากนี้ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 คุณอันอันยังได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ช่วงกีฬาสี มีการฝึกซ้อมที่ค่อนข้างหนัก ดูทั้งทักษะการเต้น ความพร้อมเพรียง การเป็นเชียร์ลีดเดอร์อาจจะมีช่วงที่กระทบผลการเรียน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการแบ่งเวลาในการเรียน ขอให้เพื่อนช่วยทบทวนและช่วยสอน ต้องหมั่นทบทวนอยู่เสมอ

หลังเรียนจบระดับชั้นมัธยม คุณอันอันเบนเข็มจากสายวิทย์มาสายศิลป์ เนื่องจากช่วงม.4-6 เป็นช่วงที่ยังไม่รู้ตัวแน่ชัด ยังลองผิดลองถูก จนมารู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบเพียงไม่กี่วิชา ที่เหลือสามารถเรียนได้ แต่ถ้าจะไปประกอบอาชีพจริงๆ อาจยังไม่ใช่ทาง และด้วยความที่ชอบพูด ชอบคุย ชอบเขียน เลยลองมองหาสายนิเทศหรือสายสื่อสารมวลชน จนเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งวิชาที่คุณอันอันเรียนจะเรียนเกี่ยวกับการพูด การเขียนบทความ ทำสื่อสิ่งพิมพ์ 

ในระดับมหาวิทยาลัยช่วงปี 1 คุณอันอันได้เข้าร่วมการแข่งเชียร์ลีดเดอร์ของเอก ในงานกีฬาของคณะ มีการซ้อมที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งคุณอันอันได้อยู่ในตำแหน่งยอด ที่ต้องมีการซ้อมให้ดีและมั่นคง และเมื่อมีการแข่งขันกีฬาของคณะ คุณอันอันก็เลือกลงแข่งวอลเลย์บอล แชร์บอล เพราะชื่นชอบในการทำกิจกรรม ทำให้ตอนเรียนช่วงปี 1 นั้นต้องมีการปรับตัวและแบ่งเวลาอย่างดี เพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 

ตั้งแต่ช่วงป.4 คุณอันอันเป็นเด็กในโรงเรียนประจำ อยู่หอมาตั้งแต่ชั้นประถมปลาย ทำให้เป็นเด็กที่ฝึกฝนและมีการเตรียมตัวตลอดเวลา สิ่งนี้ทำให้คุณอันอันเป็นเด็กที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและเพื่อนๆ ในสังคมทำให้ไม่เหงา มีช่วงเวลาที่คิดถึงบ้านบ้าง ก็ใช้วิธีโทรศัพท์คุยกับพ่อแม่เอา

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน แต่คุณอันอันก็สามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 มาได้ ซึ่งคุณอันอันมองว่า การเรียนไม่ได้เป็นอะไรที่ง่ายไปหมดทุกอย่าง แต่หากเราได้เรียน ได้ทำในสิ่งที่เรารัก จะทำให้เราทุ่มเทกับมันและประสบความสำเร็จได้ เพราะคุณอันอันชื่นชอบการเขียน การอ่าน การพูด จึงเลือกเรียนจากสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด ทำให้สามารถทำงานออกมาได้ดี 

คุณอันอันเริ่มต้นทำงานจากการเขียนคอนเทนต์ลงช่องทางต่าง กระทั่งปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Social Media Marketing Strategy วางแผนกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า การทำงานใช้ทั้งความรู้ที่เรียนมา 50% และมาเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่อีก 50% 

คุณอันอันฝากทิ้งท้ายสำหรับเด็กที่ชอบทำกิจกรรมไว้ว่า หากเรารักในการทำกิจกรรม ให้เราคิดว่า เราจะสามารถต่อยอดในการใช้ชีวิตในอนาคตได้ไหม ถ้าเราชอบแล้วเราทำได้ดี ในอนาคตเราก็สามารถต่อยอดให้กับตัวเองได้ การแบ่งเวลาทุกอย่าง ถ้าเราแบ่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปก็จะไม่ดี การเรียนเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้อยู่แล้ว ไม่อยากให้น้องๆ ละทิ้งจากการเรียน 

.

.

.

.

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่สิบเอ็ด พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้

????วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน - วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง

พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.51 วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน

คุณแนน ทิวาภรณ์ กาญจนมยูร ปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ

????EP.52 วันอังคารที่ 29 มิถุนายน

คุณไอซ์ ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

????EP.53 วันพุธที่ 30 มิถุนายน

คุณนาดา นาดา ไชยจิตต์ ปริญญาโท ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ LL.M International Human Rights Law, School of Law, University of Essex, ประเทศอังกฤษ

????EP.54 วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม

คุณฟ้า ฟ้าฤดี ทรงลักษณ์ Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS), Georgetown University Law Center, สหรัฐอเมริกา, นิติกรชำนาญการ

????EP.55 วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม

คุณป้อง จิรพัชร พูลสุวรรณ ปริญญาโท Public Policy, University of Bristol, สหราชอาณาจักร

✅ดำเนินรายการโดย เจ THE STATES TIMES

????ช่องทางรับชม

Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

คุณโอ๊ต วินิจพรรษ กันยะพงศ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.45

บทสัมภาษณ์ คุณโอ๊ต วินิจพรรษ กันยะพงศ์ ปริญญาตรี-โท นิติศาสตร์, อาจารย์ (พิเศษ) คณะนิเทศศาสตร์ (วิชาการออกแบบและสร้างสรรค์รายการ)
การปรับตัว คือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

ด้านการศึกษา คุณโอ๊ตเรียนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียนจบปริญญาตรีอีก 1 ใบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

จุดเริ่มต้นในการเรียนคณะนิติศาสตร์ ในช่วงปี 2549 – 2550 ในช่วงนั้นยังไม่ค่อยรู้จักคณะอื่นๆ มากนัก ตอนช่วงมัธยมปลาย คุณโอ๊ตได้เรียนสายวิทย์-คณิต แต่กลับรู้สึกไม่ค่อยชอบในสิ่งที่เรียน จึงเบนมาทางสายศิลป์ เกิดความลังเลระหว่าง นิติศาสตร์และนิเทศศาสตร์ แต่ทุกคนรอบตัวคัดค้านนิเทศ เพราะกลัวจบมาจะไม่มีงานทำ ไม่มั่นคง จนท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเรียนในคณะนิติศาสตร์ 

คุณโอ๊ตเล่าว่า ด้วยความที่เป็นคนเรียนไม่เก่ง ไม่ได้เรียนดี แต่เป็นคนที่เรียนได้และชอบทำกิจกรรมหลากหลาย และมีการดรอปในระหว่างเรียนด้วย คุณโอ๊ตมีเคล็ดลับในการเรียนคือ สนใจในสิ่งที่เราอยากเรียน รวมทั้งการเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกชอบและสนใจ จะเน้นการอ่านหนังสือ ถึงเวลาสอบก็ไปสอบ พยายามเก็บหน่วยกิต   

ในช่วงที่เรียนปี 3 ในคณะนิติศาสตร์ คุณโอ๊ตรู้สึกว่าด้านกฎหมายยังไม่ใช่แนวทาง อยากที่จะทำงานในด้านสื่อ จึงได้ส่งอีเมลไปทางคุณวู้ดดี้ ใน วู้ดดี้ทีวี เพราะอยากได้ประสบการณ์ และอยากที่จะคว้าโอกาสในการทำงานด้านสื่อไว้ พอเรียนจบในคณะนิติศาสตร์ คุณโอ๊ตรู้สึกสนุกกับการทำงานในด้านสื่อมากกว่า จึงได้ลองไปสมัครงานในช่อง GMM TV ในสมัยนั้นก็ใช้วิชาและสิ่งที่ฝึกงานมาสมัครงาน ได้ทำรายการแรกคือ รถโรงเรียน คุณโอ๊ตรู้สึกชอบในบรรยากาศ การออกกอง 

เมื่อทำงานเก็บประสบการณ์ได้สักพัก คุณโอ๊ตก็ออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ในด้านสื่อ ทำให้มีเวลาได้ไปเรียนต่อปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เลือกเรียนในสายนิเทศศาสตร์เพราะรู้สึกว่า ประสบการณ์อาจจะยังไม่เท่ากับคนที่เรียนและทำงานในด้านนี้อย่างจริงจัง

สิ่งที่ได้จากการเรียนนิติศาสตร์ คือ วิธีการคิด วิธีการมอง  และวิธีการให้เหตุผล สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานในด้านสื่อ  ตัวเราอาจจะเป็นส่วนผสมที่มีหลักการและเหตุผล ช่วยหาแนวทางเพื่อค้นพบกับทางออก 

ช่วงที่คุณโอ๊ตทำงานด้านสื่อในบริษัท GMM TV โดยช่วงนั้น ถือเป็นช่วงวัยเด็กที่สุด ทำให้ได้ประสบการณ์ และเรียนรู้การทำงานจากผู้ใหญ่ มีโอกาสได้เรียนรู้เร็วมาก เนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ ทำให้ได้ทดลอง เขียนแผนงาน จากตอนแรกที่ไม่เป็นเลย เพราะไม่ได้เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์โดยตรง ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคที่จะต้องผ่านมันให้ได้ 

แต่หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิยาลัย พบว่าความรู้เปลี่ยนไปตลอดเวลา สิ่งที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยคือ การคิด วิเคราะห์ ต้องเรียนรู้ กระตือรือร้นตลอดเวลา ต้องพยายามฝึกฝน หาข้อมูล ในสมัยก่อน Social Media ไม่ได้มีมาก คุณโอ๊ตต้องหาข้อมูลในนิตยสารและอ่านหนังสือหาข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูล ต้องศึกษาให้ทัน 

คุณโอ๊ตกล่าวว่า ปัญหาบางอย่างคือการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา การแก้ปัญหาที่เกิดจากตัวเรา ไม่มีใครที่จะสอนเรา เราจะต้องเรียนรู้และยอมรับกับตัวเอง ถ้าเราเจอปัญหาหลายๆ ครั้งซ้ำๆ กันเราก็จะได้เรียนรู้ปัญหา หาวิธีแก้ไขได้ ทำให้เรามีสติได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  

หลังจากนั้น คุณโอ๊ตได้รับคำเชิญชวนจากรุ่นพี่ให้เป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่คณะนิเทศศาสตร์ ในด้านวิชาการออกแบบและสร้างสรรค์รายการ โดยที่คุณโอ๊ตได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานจริงมาสอนนักศึกษา เป็นการสอนในเชิง Creative ทั้งการเขียนบทรายการ บทนิตยสาร ฯลฯ คุณโอ๊ตกล่าวว่า ในปัจจุบันเราทุกคนจะต้องมีการปรับตัว รู้ให้ลึกและต้องรู้ทุกรอบด้าน ต้องปรับตัวให้รวดเร็วรับกับปัจจุบัน ความคิดจะต้องถูกปรับเปลี่ยน ปรับตัว จะต้องรู้ทั้งด้านลึกและด้านกว้าง   

คุณโอ๊ตฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่เราต้องทำคือการฝึก การทำให้แตกต่าง เราคิดว่าเราอาจจะเก่ง แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่เก่งที่สุดก็ได้ ซึ่งคุณโอ๊ตได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานคือ ในช่วงที่เราเรียนจบและก้าวเข้าสู่การทำงานจริง เราควรแบ่งเป็น 3 ปีเพื่อเป็นการฝึกฝน ในปีแรกเป็นปีแห่งการเรียนรู้ ปีที่สองคือปีแห่งการแก้ไข และปีที่สามคือปีที่ต้องรู้ว่าเราจะออกแบบชีวิต ออกแบบการทำงานอย่างไร

.

.

.

.

คุณโอ๊ค คณิต คล้ายแจ้ง | THE STUDY TIMES STORY EP.43

บทสัมภาษณ์ คุณโอ๊ค คณิต คล้ายแจ้ง วิทยาศาสตร์บัณฑิต (กายภาพบำบัด) เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
อาการเจ็บป่วยที่ดีขึ้นของคนไข้ คือกำลังใจของนักกายภาพบำบัด

คุณโอ๊คจบการศึกษา วิทยาศาสตร์บัณฑิต (กายภาพบำบัด) เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

แรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นในการเลือกเรียน ‘กายภาพบำบัด’ นั้น คุณโอ๊คเล่าว่า ตนเองเกิดในครอบครัวของข้าราชการ พ่อแม่รับราชการครูทั้งคู่ เริ่มแรกยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองชอบอะไร ด้วยความที่เรียนสายวิทย์มา ลองยื่นคะแนนเข้าคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โดยที่ยังไม่รู้ข้อมูลมากเท่าไหร่ เมื่อติดเลยหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ก่อนตัดสินใจเข้าไปลองเรียน

คณะกายภาพบำบัดเรียน 4 ปี ปีแรกต้องไปรวมกันอยู่ที่วิทยาเขตศาลายา คุณโอ๊คขอพ่อแม่ไปอยู่หอ เนื่องจากปี 1 มีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ ได้พบเจอเพื่อนต่างคณะ มีการปรับตัวจากมัธยมเข้าสู่มหาวิทยาลัย

ช่วงปี 2 แต่ละคณะจะแยกย้ายไปตามวิทยาเขตของตัวเอง ของคณะกายภาพเรียนที่ศิริราชสลับกับคณะกายภาพบำบัดตรงเชิงสะพานปิ่นเกล้า ได้เรียนกายวิภาค ผ่าอาจารย์ใหญ่เหมือนเรียนหมอ เพราะกายภาพบำบัดต้องรู้เรื่องกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก และมีวิชาด้านการแพทย์ต่างๆ ในช่วงปี 3-4 เริ่มได้ไปฝึกงาน ทั้งตามโรงพยาบาล คลินิก และชุมชน ซึ่งช่วงที่ได้ไปลงพื้นที่ช่วยเหลือคนตามชุมชน ทำให้คุณโอ๊ครู้สึกว่าอาชีพนี้มีคุณค่า ได้ช่วยเหลือคน ทำให้สุขภาพของพวกเขาดีขึ้น เพราะในบางพื้นที่ที่ไปการแพทย์สาธารณสุขยังเข้าไม่ถึง เกิดเป็นความรู้สึกปลื้มใจ

เทคนิคเรียนดีจนสามารถคว้าเกียรตินิยมของคุณโอ๊ค คือ พยายามตั้งใจขณะที่เรียนในคลาส ยกมือถามเมื่อสงสัย วิชาส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติ เพราะฉะนั้นต้องเน้นการลงมือทำจริงๆ  ฝึกซ้อม และหมั่นทำบ่อยๆ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆ ช่วยกันเรียน ช่วยกันติว 

นักกายภาพบำบัดเมื่อเรียนจบ 4 ปี ทุกคนต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์ที่ถูกกำหนดมาของสภากายภาพบำบัด ใครที่สอบผ่านจึงจะสามารถออกไปสมัครงานตามที่ต่างๆ ได้ จะทำที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนก็ได้ หรือหากเลือกเรียนต่อก็สามารถไปได้หลากหลายทาง ทั้งคณะกายภาพบำบัดในระดับปริญญาโท-เอก ในและต่างประเทศ หรือนำปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตไปต่อยอดเรียนคณะอื่น หรือเป็นผู้ประกอบการเปิดคลินิกเอง

ปัจจุบันคุณโอ๊คเป็นนักกายภาพบำบัด ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่โรงพยาบาลศิริราช การทำงานต้องอาศัยประสบการณ์ และเรียนรู้จากรุ่นพี่ที่ทำงาน ต้องมีเทคนิคการสื่อสาร พูดเพื่อโน้มนาวใจคนไข้

คุณโอ๊คเล่าความประทับใจที่มีต่ออาชีพนักกายภาพบำบัดไว้ว่า อาชีพนักกายภาพบำบัดแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ตรงที่เหมือนได้ทำบุญตลอดเวลา เพราะผู้ที่มาโรงพยาบาลทุกคน ล้วนมาด้วยความทุกข์ ความเจ็บความปวด แต่นักกายภาพบำบัดมีส่วนช่วยให้บุคคลเหล่านั้นกลับบ้านไปด้วยความเจ็บปวดน้อยลง กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างดีมากขึ้น การได้เห็นผู้ป่วยดีขึ้นทำให้รู้สึกปลื้มใจ 

คุณโอ๊คฝากทิ้งท้ายสำหรับใครที่มีความชื่นชอบในการได้ช่วยเหลือผู้ป่วย หรือการดูแลด้านสุขภาพ ชื่นชอบที่จะอยู่กับคน ชื่นชอบด้านการสื่อสาร ให้มองอาชีพนักกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก นอกจากนี้ยังสามารถไปทำงานต่อยอดได้หลากหลาย ที่สำคัญคือได้บุญ
.

.

.

.

คุณแพท พัฒนพงศ์ แสงธรรม | THE STUDY TIMES STORY EP.44

บทสัมภาษณ์ คุณแพท พัฒนพงศ์ แสงธรรม อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จุดเริ่มต้นการเรียนภาษา เกิดได้จากสภาพแวดล้อมที่ปลูกฝังจากครอบครัว

ปัจจุบันคุณแพทหรือครูแพทเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) 

จุดเริ่มต้นความสนใจในภาษาอังกฤษของครูแพท ย้อนไปก่อนยุคดิจิตอล ผู้คนแต่ละมุมโลกไม่ได้มีโอกาสรับรู้หรือเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ แต่ด้วยความที่คุณแม่ของครูแพทเป็นครู โตมากับการได้รับรู้วัฒนธรรมและภาษาอังกฤษ ครูแพทจึงเติบโตมาในบ้านที่คุณแม่จะฟังเพลงฝรั่ง ดูหนังฝรั่ง ทำให้ครูแพทซึมซับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก จนเกิดการพัฒนาระหว่างความหมายของภาษากับเสียงที่ได้ยินโดยอัตโนมัติ รวมทั้งการได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่พ่อแม่หามาให้ พอโตขึ้นเริ่มเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือแปล มาเป็นหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ พอถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะเรียนอะไร ด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือ เลยอยากเรียนในสาขาของภาษาเพื่อจะได้อ่านหนังสือและพัฒนาในเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วย

ในระดับมหาวิทยาลัยครูแพทเรียนในคณะสังคมวิทยา ว่าด้วยเรื่องของสังคม พฤติกรรม และวัฒนธรรม และลงเมเจอร์เป็นเอกอังกฤษควบจิตรกรรม เพราะมีความชอบอ่านหนังสือทั้งวรรณคดีอเมริกัน วรรณคดีอังกฤษ วรรณคดีร่วมสมัย เป็นความเพลิดเพลินส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่สอดแทรกอยู่ในงานวรรณกรรมหนังสือที่อ่าน

ปัจจุบันครูแพทเป็นอาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รูปแบบวิชาที่สอน อย่างเช่น Creative writing การเขียนงานวรรณกรรม นวนิยาย นิทานเด็ก รวมไปถึงการเขียนชุดคำสำหรับการโฆษณา และวิชาการเขียนในเชิงนิเทศศาสตร์ ได้แก่ การเขียนข่าว บทความ คอลัมน์ และในโปรแกรมอินเตอร์ สอนวิชาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม การอพยพในสหรัฐอเมริกา และวิชาการเขียนงานในเชิงวิชาการ รวมทั้งสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อินเตอร์ ในวิชา Art History

นอกจากนี้ ด้วยความที่ซึมซับอยู่กับเสียงเพลงและดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็ก ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกา สภาพแวดล้อมก็ยังเต็มไปด้วยดนตรีทุกชนิด ครูแพทจึงเป็นคนที่คลั่งไคล้ในเพลงมาก เมื่อกลับมาเมืองไทย เพราะมีความรู้เรื่องเพลงอยู่มาก จึงได้ทำงานเป็นนักจัดรายการวิทยุ และมีโอกาสได้เข้าไปทำงานบริหารค่ายเพลงสากลในประเทศไทย 

เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตที่ค่อนข้างเยอะ ครูแพทยังทำงานด้าน Broadcasting ทั้งเป็นนักจัดรายการวิทยุ และ TV Commentator มีรายการวิทยุที่พูดถึงเรื่องของสังคม วัฒนธรรม การเมือง รายการที่พูดถึงเรื่องบันเทิง เช่น เพลงฮิตน่าสนใจ รางวัลต่างๆ ความเป็นไปในสังคม รวมทั้งรายการเพลงแจ๊ส ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่ครูแพทชื่นชอบมาก

ปัจจุบันครูแพทยังเป็นนักแปลบทความ บทสารคดีและภาพยนตร์ หนังสือและรายงานขององค์กรต่างๆ โดยครูแพทมองว่า การแปลเป็นการท้าทายทักษะการแกะรหัส ได้อ่านเนื้อเรื่องเพิ่มความรู้ไปในตัว การแปลเป็นศาสตร์ ไม่ใช่แค่เก่งภาษาแล้วจะแปลได้เลย หลักการแปลต้องมีความแม่นยำในความหมาย ทั้งระดับคำ ระดับวลี และระดับประโยค ต้องแปลแล้วชัดเจน  ทุกคนอ่านแล้วไม่กังขา มองเห็นร่องรอยของศาสตร์เดิม มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งปกติแล้วคนแปลเก่งมีเยอะ แต่หากได้มาเรียนในเชิงของวิชาการ ได้มาเรียนศาสตร์ต่างๆ ที่ปรมาจารย์ได้กลั่นกรองมาแล้ว การแปลจะคล่องลื่นไหลมากขึ้น

ครูแพทฝากทิ้งท้ายเทคนิค คำแนะนำ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและอยากฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษไว้ว่า การดูหนัง ฟังเพลง เป็นแรงบันดาลใจขั้นต้นในการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ แต่หากอยากให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ครูแพทแนะนำให้อ่านวรรณกรรม เช่น วรรณกรรมคลาสสิค  เพราะการอ่านไม่พัฒนาเพียงแค่ภาษา แต่พัฒนาจินตนาการ และให้ความรู้ของสังคม ดึงเราเข้าไปสู่ความสนใจเฉพาะตัว การอ่านจะทำให้เราค้นพบตัวตนของเรา ว่าเราชอบอะไร นอกเหนือจากความอิ่มเอิบในจิตใจที่ได้อ่านเนื้อเรื่อง

.

.

.

.
 

คุณนโม ปรมัตถ์ สมุทรสินธุ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.42

บทสัมภาษณ์ คุณนโม ปรมัตถ์ สมุทรสินธุ์ Gifted Math โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา GPA 4.00, นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ประจำปี 2564
‘คณิตศาสตร์’ แม้มีสูตรที่ตายตัว แต่การแก้ปัญหาของโจทย์ที่หลากหลายคือความท้าทายของคณิตศาสตร์

คุณนโม นักเรียนไทยผู้กวาดรางวัลการประกวดคณิตศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ จบชั้นมัธยมจากรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ห้อง Gifted Math ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 และในการแข่งขันโอลิมปิกคณิตศาสตร์หรือ IMO เมื่อปี 2019 ได้รับรางวัลเหรียญเงินและ ปี 2020 ได้รับรางวัลเหรียญทอง นอกจากนี้ยังเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ประจำปี 2564 ซึ่งกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ช่วงที่เรียนมัธยมคุณนโมอยู่ห้อง Gifted Math ได้เรียนคณิตศาสตร์ที่มีระดับยากขึ้น ซึ่งเทคนิคในการเรียนให้ได้ 4.00 คือจะต้องไม่ทิ้งสักวิชา แบ่งการอ่านหนังสือตามความถนัดของแต่ละคน สิ่งที่ถนัดมากอาจจะอ่านน้อยหน่อย เพื่อนำเวลาไปอ่านในวิชาที่ไม่ถนัด รวมทั้งฝึกทำข้อสอบเก่าจากโจทย์ในหนังสือเรียน โดยจะต้องไม่ทิ้งหรือปล่อยผ่านในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ข้อสอบบางครั้งอาจจะมีโจทย์การประยุกต์กัน หากเราไม่เข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจจะทำให้เราเสียคะแนนในส่วนนั้นไปเลยก็ได้

คุณนโมมีความสนใจในวิชาคณิตศาสตร์มาตั้งแต่สมัยประถม เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจและง่ายกว่าวิชาอื่น ๆ ด้วยความที่คณิตศาสตร์ไม่ต้องตีความ มีทฤษฎีค่อนข้างตายตัว และรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี ทำให้คุณนโมชอบในวิชาคณิตศาสตร์เรื่อยมา ในตอนป.5 คุณนโมได้เริ่มเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์ที่ประเทศอินเดีย พบโจทย์ที่หลากหลายและท้าทาย มีการพลิกผันที่ต้องใช้ความคิดมากกว่า เกิดความรู้สึกชอบและอยากที่จะศึกษาคณิตศาสตร์ในแต่ละรูปแบบ จึงเริ่มเข้าค่ายแข่งขันมาตลอด ทำมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนี้ 

รางวัลเหรียญทอง IMO 2020 เป็นรางวัลที่คุณนโมภูมิใจมากที่สุด เพราะจะต้องเตรียมตัวตั้งแต่มัธยมต้นและมีการเตรียมตัวที่ค่อนข้างหนัก มีการคัดเลือกผู้ที่จะไปแข่งขันในต่างประเทศ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้เข้าร่วมการแข่งขัน 

โดยปกติแล้วคุณนโมไม่ได้ฝึกซ้อมวิชาคณิตศาสตร์หนักมากทุกวัน แต่จะมาฝึกทำและซ้อมกับตัวเองในช่วงเข้าค่ายเพื่อที่จะไปแข่งขันในต่างประเทศ นอกจากนี้ต้องแบ่งเวลาอ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้เสียการเรียนในห้อง

มีหลายครั้งที่คุณนโมรู้สึกท้อ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ไม่ผ่านในการเตรียมตัวไปแข่งในต่างประเทศ (ในค่ายของสอวน.) เพราะรู้สึกยาก แต่คุณนโมก็ไม่ยอมแพ้ พยายามอีกครั้งและฝึกฝนจนสามารถเป็นผู้แทนประเทศได้

คุณนโมเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ประจำปี 2564 ซึ่งทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนของก.พ. ให้สามสาย คือวิทย์-คณิต ศิลป์คำนวณ และศิลป์ภาษา เมื่อสอบผ่านแล้วจะเลือกเรียนอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปตามสายที่สอบ ซึ่งทุนนี้มีเงื่อนไขเพียงต้องกลับมาทำงานที่ประเทศไทยเท่ากับจำนวนเวลาที่เรียนในต่างประเทศ  

สำหรับการเตรียมตัวของคุณนโมในการสอบชิงทุน คือ ต้องทราบว่าตัวเองจะสอบอะไร ดูความถนัดของตัวเอง และต้องเตรียมตัว ต้องศึกษาให้ดีและฝึกอ่านความรู้รอบตัว อย่างด้านภาษา ประวัติศาสตร์ ถ้าเราอ่านเข้าใจก็จะทำให้เรามีความรู้รอบตัว อย่างภาษาอังกฤษก็ต้องฝึกทบทวน เข้าใจกับภาษา และการเขียน เพราะมีข้อกำหนดเรื่องเวลา อาจจะต้องฝึกเขียนให้พอรู้ พอเข้าใจ จะได้ไม่เสียเวลา ซึ่งทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับการฝึกฝน 

ในอนาคตคุณนโมอยากศึกษาต่อในด้าน Computer Science หรือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป้าหมายในอนาคตของคุณนโมคือการที่ได้ศึกษาในสิ่งที่ชอบ 
.


.

.

.

คุณต่าย วลินญา พรมขอนยาง | THE STUDY TIMES STORY EP.41

บทสัมภาษณ์ คุณต่าย วลินญา พรมขอนยาง Bachelor of Business Administration, AIMS INSTITUTES-Bangalore University, ประเทศอินเดีย
ความมุ่งมั่นและไม่ท้อถอย ทำให้ก้าวผ่านอุสรรคและนำไปสู่ความสำเร็จ

ช่วงระดับประถมศึกษา คุณต่ายเรียนที่โรงเรียนตชด. บ้านสวนเพชร จ.ชุมพร โรงเรียนตชด. เป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร สอนโดยตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนใหญ่เน้นการทำกิจกรรม สอนในเรื่องการเอาตัวรอด และพื้นฐานด้านการศึกษา เมื่อจบชั้นประถมได้เข้าเรียนโรงเรียนประจำอำเภอจนถึงชั้น ม.3 ก่อนไปสอบเข้าม.ปลาย สายวิทย์-คณิต ที่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี ที่พ่อแม่เห็นว่ามีชื่อเสียง เป็นทั้งโรงเรียนประจำและไป-กลับ จะได้ฝึกพึ่งพาตัวเอง 

ด้วยความที่เป็นโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ จะมีกลุ่มโรงเรียนในเครือและมีกิจกรรมให้ร่วมค่อนข้างเยอะ ในกลุ่มโรงเรียนจะมีการประกวด ที่เรียกว่า สุภาพสตรีเบญจวิถีกาญจนา คุณต่ายได้รับการคัดเลือกจากคุณครูและกรรมการที่โรงเรียน เนื่องจากเป็นนักเรียนที่มีความเป็นแบบอย่าง ทั้งจากผลการเรียน และการทำกิจกรรม จนได้รับรางวัล “นักเรียนต้นแบบ” โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย

คุณต่ายเป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษา ถึงระดับปริญญาตรี เป็นทุนให้เปล่า สำหรับเด็กจากโรงเรียนตชด. ที่ได้รับการคัดเลือก

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยม คุณต่ายเลือกเรียนต่อ Bachelor of Business Administration, AIMS INSTITUTES-Bangalore University ที่ประเทศอินเดีย เรียนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ

ประสบการณ์การเรียน กิจกรรม และการใช้ชีวิตที่ประเทศอินเดีย คุณต่ายเล่าว่า อินเดียเป็นประเทศที่น่าสนใจ มีความหลากหลายทางกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างในห้องเรียน ถึงแม้จะเรียนห้องเดียวกันแต่เพื่อนในห้องมาจากสถานที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมคนละขั้ว คนละภาษา ถือเป็นห้องเรียนที่มีความหลากหลายทั้งจากคนอินเดียด้วยกันเองและนักเรียนต่างชาติ 

ซึ่งการเรียนที่ประเทศอินเดีย จะมีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก คุณต่ายเองได้ร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในวันสำคัญต่างๆ เช่น เทศกาลโฮลี การสาดสีของอินเดีย คล้ายกับสงกรานต์ของบ้านเรา เพียงแต่ใช้สีแทนน้ำ รวมทั้งกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม

ในเรื่องอาหารการกิน คุณต่ายเล่าว่า ที่อินเดียอาหารค่อนข้างมีรสจัด เผ็ดร้อนจากเครื่องเทศอินเดียแท้ๆ แต่รสชาติอร่อยมาก ไม่มีการปรุงแต่งโดยใช้สารเคมี จะเน้นเครื่องเทศที่เป็นธรรมชาติจริงๆ

นอกจากนี้ ก่อนช่วงที่นักเรียนจะเรียนจบในแต่ละปี จะมีการจัดกิจกรรมมอบรางวัลด้านต่างๆ ให้กับนักเรียน คุณต่ายได้รับรางวัล Best International Student Award หรือนักเรียนต่างชาติต้นแบบ ซึ่งตัดสินจากผลการเรียน การร่วมกิจกรรม การเข้าห้องเรียน

ปัจจุบันคุณต่ายทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้า และประสานงานระหว่างโรงงานในต่างประเทศกับลูกค้าในบ้านเรา วัฒนธรรมการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นทุกอย่างต้องเป๊ะ ทุกคนรู้หน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง และยังช่วยซัพพอร์ตเพื่อนร่วมงานด้วยกัน เป็นสิ่งที่คุณต่ายประทับใจมาก แต่อาจมีติดขัดในเรื่องของภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นอยู่บ้าง 

คุณต่ายฝากทิ้งท้ายไว้ว่า เริ่มเรียน ตัวเองไม่ใช่เด็กที่เรียนดีหรือหัวกะทิ แต่ใช้ความอดทน ความขยัน และไม่ท้อแท้ การไปเรียนที่อินเดียไม่ง่าย ไม่ได้ภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่ไม่ยอมท้อถอย ทำให้สำเร็จการศึกษามาได้ สำหรับน้องๆ ที่เรียนอยู่ แล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรียนดีมาก ไม่อยากให้ท้อถอย อยากให้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่าหยุด

.

.

.

.

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่สิบ พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้ 

????วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน - วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง 

พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.46 วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน
คุณอันอัน อภิญญา วีระพลชัย เกียรตินิยมอันดับ 2 ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน

????EP.47 วันอังคารที่ 22 มิถุนายน
คุณนัชชี่ นัทธ์ชนัน กัลปนา ไอดอล วง AKIRA-KURO, ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

????EP.48 วันพุธที่ 23 มิถุนายน
คุณจ๊อบ ศรัณย์ กาญจนาภาส นักเรียนทุนปริญญาโท คณะ IMBA  มหาวิทยาลัย National Taipei University of Technology

????EP.49 วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน
คุณเน็กส์ ณัฐดนัย องอาจวาจา นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, นักเรียนทุนฟิสิกส์ พสวท.

????EP.50 วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน
คุณนีน่า ณัชชา ติรวัฒนกุล ทนายความอิสระ และติวเตอร์สอนกฎหมาย ที่สถาบัน Bangkok Law

✅ดำเนินรายการโดย เจ THE STATES TIMES

????ช่องทางรับชม 
Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top