คุณโอ๊ต วินิจพรรษ กันยะพงศ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.45

บทสัมภาษณ์ คุณโอ๊ต วินิจพรรษ กันยะพงศ์ ปริญญาตรี-โท นิติศาสตร์, อาจารย์ (พิเศษ) คณะนิเทศศาสตร์ (วิชาการออกแบบและสร้างสรรค์รายการ)
การปรับตัว คือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

ด้านการศึกษา คุณโอ๊ตเรียนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียนจบปริญญาตรีอีก 1 ใบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

จุดเริ่มต้นในการเรียนคณะนิติศาสตร์ ในช่วงปี 2549 – 2550 ในช่วงนั้นยังไม่ค่อยรู้จักคณะอื่นๆ มากนัก ตอนช่วงมัธยมปลาย คุณโอ๊ตได้เรียนสายวิทย์-คณิต แต่กลับรู้สึกไม่ค่อยชอบในสิ่งที่เรียน จึงเบนมาทางสายศิลป์ เกิดความลังเลระหว่าง นิติศาสตร์และนิเทศศาสตร์ แต่ทุกคนรอบตัวคัดค้านนิเทศ เพราะกลัวจบมาจะไม่มีงานทำ ไม่มั่นคง จนท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเรียนในคณะนิติศาสตร์ 

คุณโอ๊ตเล่าว่า ด้วยความที่เป็นคนเรียนไม่เก่ง ไม่ได้เรียนดี แต่เป็นคนที่เรียนได้และชอบทำกิจกรรมหลากหลาย และมีการดรอปในระหว่างเรียนด้วย คุณโอ๊ตมีเคล็ดลับในการเรียนคือ สนใจในสิ่งที่เราอยากเรียน รวมทั้งการเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกชอบและสนใจ จะเน้นการอ่านหนังสือ ถึงเวลาสอบก็ไปสอบ พยายามเก็บหน่วยกิต   

ในช่วงที่เรียนปี 3 ในคณะนิติศาสตร์ คุณโอ๊ตรู้สึกว่าด้านกฎหมายยังไม่ใช่แนวทาง อยากที่จะทำงานในด้านสื่อ จึงได้ส่งอีเมลไปทางคุณวู้ดดี้ ใน วู้ดดี้ทีวี เพราะอยากได้ประสบการณ์ และอยากที่จะคว้าโอกาสในการทำงานด้านสื่อไว้ พอเรียนจบในคณะนิติศาสตร์ คุณโอ๊ตรู้สึกสนุกกับการทำงานในด้านสื่อมากกว่า จึงได้ลองไปสมัครงานในช่อง GMM TV ในสมัยนั้นก็ใช้วิชาและสิ่งที่ฝึกงานมาสมัครงาน ได้ทำรายการแรกคือ รถโรงเรียน คุณโอ๊ตรู้สึกชอบในบรรยากาศ การออกกอง 

เมื่อทำงานเก็บประสบการณ์ได้สักพัก คุณโอ๊ตก็ออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ในด้านสื่อ ทำให้มีเวลาได้ไปเรียนต่อปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เลือกเรียนในสายนิเทศศาสตร์เพราะรู้สึกว่า ประสบการณ์อาจจะยังไม่เท่ากับคนที่เรียนและทำงานในด้านนี้อย่างจริงจัง

สิ่งที่ได้จากการเรียนนิติศาสตร์ คือ วิธีการคิด วิธีการมอง  และวิธีการให้เหตุผล สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานในด้านสื่อ  ตัวเราอาจจะเป็นส่วนผสมที่มีหลักการและเหตุผล ช่วยหาแนวทางเพื่อค้นพบกับทางออก 

ช่วงที่คุณโอ๊ตทำงานด้านสื่อในบริษัท GMM TV โดยช่วงนั้น ถือเป็นช่วงวัยเด็กที่สุด ทำให้ได้ประสบการณ์ และเรียนรู้การทำงานจากผู้ใหญ่ มีโอกาสได้เรียนรู้เร็วมาก เนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ ทำให้ได้ทดลอง เขียนแผนงาน จากตอนแรกที่ไม่เป็นเลย เพราะไม่ได้เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์โดยตรง ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคที่จะต้องผ่านมันให้ได้ 

แต่หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิยาลัย พบว่าความรู้เปลี่ยนไปตลอดเวลา สิ่งที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยคือ การคิด วิเคราะห์ ต้องเรียนรู้ กระตือรือร้นตลอดเวลา ต้องพยายามฝึกฝน หาข้อมูล ในสมัยก่อน Social Media ไม่ได้มีมาก คุณโอ๊ตต้องหาข้อมูลในนิตยสารและอ่านหนังสือหาข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูล ต้องศึกษาให้ทัน 

คุณโอ๊ตกล่าวว่า ปัญหาบางอย่างคือการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา การแก้ปัญหาที่เกิดจากตัวเรา ไม่มีใครที่จะสอนเรา เราจะต้องเรียนรู้และยอมรับกับตัวเอง ถ้าเราเจอปัญหาหลายๆ ครั้งซ้ำๆ กันเราก็จะได้เรียนรู้ปัญหา หาวิธีแก้ไขได้ ทำให้เรามีสติได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  

หลังจากนั้น คุณโอ๊ตได้รับคำเชิญชวนจากรุ่นพี่ให้เป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่คณะนิเทศศาสตร์ ในด้านวิชาการออกแบบและสร้างสรรค์รายการ โดยที่คุณโอ๊ตได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานจริงมาสอนนักศึกษา เป็นการสอนในเชิง Creative ทั้งการเขียนบทรายการ บทนิตยสาร ฯลฯ คุณโอ๊ตกล่าวว่า ในปัจจุบันเราทุกคนจะต้องมีการปรับตัว รู้ให้ลึกและต้องรู้ทุกรอบด้าน ต้องปรับตัวให้รวดเร็วรับกับปัจจุบัน ความคิดจะต้องถูกปรับเปลี่ยน ปรับตัว จะต้องรู้ทั้งด้านลึกและด้านกว้าง   

คุณโอ๊ตฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่เราต้องทำคือการฝึก การทำให้แตกต่าง เราคิดว่าเราอาจจะเก่ง แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่เก่งที่สุดก็ได้ ซึ่งคุณโอ๊ตได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานคือ ในช่วงที่เราเรียนจบและก้าวเข้าสู่การทำงานจริง เราควรแบ่งเป็น 3 ปีเพื่อเป็นการฝึกฝน ในปีแรกเป็นปีแห่งการเรียนรู้ ปีที่สองคือปีแห่งการแก้ไข และปีที่สามคือปีที่ต้องรู้ว่าเราจะออกแบบชีวิต ออกแบบการทำงานอย่างไร

.

.

.

.