Wednesday, 24 April 2024
THE STUDY TIMES STORY

คุณเบล ศุภนุช ชือรัตนกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.24

บทสัมภาษณ์ คุณเบล ศุภนุช ชือรัตนกุล ประถมศึกษา โรงเรียน Tampines Secondary School, สิงคโปร์ 
ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิชาชีววิทยา Mahidol University International College (MUIC)
ปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT)
เพราะความประทับใจระบบการศึกษาวัยเด็ก สานฝันแนะแนวเด็กไทยเรียนสิงคโปร์

ครูเบลได้ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์ ตั้งแต่ช่วงชั้นประถม แรกเริ่มเข้า ป.4 จนกระทั่งจบชั้นม. 4 การเรียนการสอนที่สิงคโปร์จะมีเรียนเพียงครึ่งวัน อีกครึ่งวันจะมีกิจกรรมให้เลือกทำ เลิกเรียนก็จะกลับบ้านมาอยู่กับโฮสแฟมิลี่ ที่สิงคโปร์มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย แต่บุคลิกอาจแตกต่างกันบ้าง เช่น คนสิงคโปร์เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ทั้งการเดินและการพูด 

ที่สิงคโปร์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก บางครั้งมีการผสมภาษาจีนเข้ามาในการสื่อสารด้วย ตอนไปครั้งแรกครูเบลยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้เลย ช่วงสามเดือนแรกครูเบลแทบไม่คุยกับใคร เพราะพูดไม่รู้เรื่อง ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ กลัวเขาฟังไม่เข้าใจ ถึงขนาดไม่กล้าสั่งข้าวในโรงเรียน หลังจากนั้นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์บังคับให้ฟังออกและพูดได้ 

ครูเบลเล่าว่า ช่วงป.4 ผลการเรียนถือว่าแย่มาก เป็นช่วงแห่งการปรับตัวและเริ่มเรียนภาษาจีนอย่างจริงจัง กระทั่งช่วงปิดเทอมม.1 กลับมาที่ไทย คุณแม่ได้ส่งไปเข้าค่ายยุวพุทธ 3 วัน 2 คืน ฝึกนั่งสมาธิ ฝึกการโฟกัส สอนให้มีสติกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้นำตรงนั้นมาใช้หลังกลับมาเรียนที่สิงคโปร์ จนสามารถทำผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ที่โรงเรียน Tampines Secondary School 

ครูเบลเล่าว่า การเรียนที่สิงคโปร์จะสอนว่าทุกอย่างที่เรียนจะนำมาใช้ได้อย่างไร เน้นที่การประยุกต์ใช้เป็นหลัก เมื่อกลับมาเรียนที่เมืองไทยเลยค่อนข้างง่าย เพราะถูกสอนมาอย่างดี

หลังจากจบการศึกษาที่สิงค์โปร์ ครูเบลได้กลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Mahidol University International College (MUIC) สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT) เรียนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม

ครูติวสอบการเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย
เนื่องจากช่วงที่ครูเบลกลับมาจากสิงคโปร์ เป็น TA ช่วยสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นมีรุ่นน้องที่อยู่สิงคโปร์มาขอให้ช่วยติวข้อสอบ เป็นจุดเริ่มต้นการสอนมาตั้งแต่สมัยเรียน จนถึงปัจจุบัน

การสอบ AEIS
Admission Examination for International Students (AEIS) คือ ข้อสอบสำหรับนักเรียนทุกคนที่ต้องการสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์

ครูเบลเล่าว่า สมัยก่อนการไปเรียนสิงคโปร์ยังไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ จนกระทั่งจีนเปิดประเทศมากขึ้น คนจึงอยากส่งลูกเข้าไปเรียนที่สิงคโปร์ ทำให้การเรียนของสิงคโปร์ดรอปลง จึงยกระดับการศึกษาด้วยการจัดสอบ AEIS สำหรับเด็กต่างชาติโดยเฉพาะ ความยากคือต้องแข่งขันกับเด็กต่างชาติทั่วทุกมุมโลก

การสอบ AEIS สามารสอบได้ตั้งแต่ระดับป.2 จนถึง ม.3 จะสอบไม่ได้ช่วงป.6 และ ม.4 เพราะเป็นช่วงที่มีข้อสอบใหญ่ ยิ่งระดับโตขึ้นการสอบจะยิ่งยากขึ้น 

ครูเบลกล่าวว่า ผู้ปกครองส่งเด็กไทยไปเรียนสิงคโปร์กันเยอะ มีเหตุผลอยู่ 4 ข้อ คือ 
1.) ใกล้ 
2.) ระบบการศึกษาดี 
3.) ปลอดภัย และ
4.) ได้ภาษาจีน ที่สำคัญสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาเหมาะกับเด็กเล็ก

สำหรับเด็กที่อยากไปเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ คุณเบลแนะนำว่า ต้องฝึกวิชาภาษาอังกฤษและเลข เพราะวิชาที่ต้องสอบมีเพียงสองวิชานี้ ให้เตรียมตัวในระบบของสิงคโปร์ ติวข้อสอบของสิงคโปร์ไว้ได้เลย


.

.

.

คุณป๊อป ณัฐพงศ์ นำศิริกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.23

บทสัมภาษณ์ คุณป๊อป ณัฐพงศ์ นำศิริกุล ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท หลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ภาค International สาธารณรัฐประชาชนจีน
ครูสอนภาษาจีนเพื่อใช้ได้จริง และอุทิศตนเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

คุณป๊อปหรือครูพี่ป๊อป เรียนจบมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เน้นภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมีความใฝ่ฝันและชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังไว้ว่าสายวิทย์มีทางเลือกมากกว่า ครูป๊อปมองว่าคณะสถาปัตย์เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสายวิทย์และสายศิลป์ คือใช้วิทย์-คณิตในการสอบเข้า และต้องมีทักษะการวาดรูปด้วย เมื่อได้เข้าไปเรียนถือเป็นคณะที่ตอบโจทย์ครูป๊อปทุกอย่าง

เพราะครูป๊อปมีความชอบหลายอย่าง ทั้งวาดรูป ฟังเพลง กีฬา ภาษา เมื่อเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังคงฟังเพลงเพื่อชีวิต ดูหนังฝรั่ง ฟังเพลงฝรั่ง แต่ครูป๊อปพยายามมองหาอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น จึงเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศจีน

ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ประเทศจีนไม่ได้เป็นที่นิยมเรียนต่อมากขนาดนี้ คุณป๊อบตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท หลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ภาค International ประเทศจีน โดยเรียนเป็นภาคภาษาอังกฤษ 100% เนื่องจากไม่มีทักษะภาษาจีนมาก่อน แต่ข้างนอกห้องเรียนจะพูดคุยกันเป็นภาษาจีนทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่บีบให้ครูป๊อปได้ใช้ทั้งสองภาษาโดยอัตโนมัติ 

หลังเรียนจบ เมื่อมีทักษะภาษาจีน และได้ภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม ครูป๊อปเลือกเป็นสถาปนิก ทำงานต่อ ณ ประเทศจีน โดยเจ้านายคนแรกเป็นชาวบรูไน พบเจอกันจากการไปเดินชมย่านเมืองเก่าในประเทศจีน เจ้านายนำวัดเก่ามารีโนเวทให้เป็นออฟฟิศสถาปนิก มีพนักงานเป็นคนจีนทั้งหมด ถือว่าเป็นพื้นที่ในฝันของครูป๊อป จึงได้เข้าไปพูดคุย ด้วยความที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และเจ้านายเป็นคนต่างชาติที่ทำงานในประเทศจีน เกิดความถูกใจรับเข้าทำงาน 

เคล็ดลับในการฝึกภาษาจีนของครูป๊อป คือ ช่วงที่เรียนอยู่ประเทศจีน หากได้ยินคำไหนที่ไม่รู้จะจดไว้เป็นภาษาคาราโอเกะทันที ได้ยินยังไงก็พิมพ์ไปแบบนั้น แล้วนำมาถามเพื่อนคนจีน เทคนิคสำคัญขอเพียงแค่กล้าพูดและนำมาแก้ไข

ครูสอนภาษาจีน แห่งสถาบัน Chinese Pop-up 
เมื่อครูป๊อปเดินทางกลับมาประเทศไทย เริ่มเป็นพิธีกรภาคภาษาจีนและรู้สึกว่าตัวเองสามารถสอนได้ ได้เริ่มสอนที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากนั้นอยากเปิดหลักสูตรเป็นของตัวเอง จึงได้เปิดสถาบัน Chinese Pop-up ขึ้นมา ใช้ชื่อหลักสูตรว่า ‘จีนจำเป็น’ จะสอนเฉพาะสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพราะสิ่งที่ครูป๊อปสอนมีความลัด สั้น ตรง และใช้ได้จริง

บทบาทที่หลากหลาย (อาจารย์พิเศษ, พิธีกร / ผู้ประกาศ / นักจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ)
นอกจากจะเป็นติวเตอร์สอนภาษาจีนแล้ว ครูป๊อปยังเป็นทั้งพิธีกร อาจารย์พิเศษ และนักจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ ทุกวันนี้การสอนเป็นพาร์ทที่เล็กมากสำหรับครูป๊อป เนื่องจากหันมาผลิตรายการที่เป็นภาษาจีนซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเล็งเห็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่หาพิธีกรพูดภาษาจีนไม่ได้เลย อีกทั้งการฟังภาษาจีนรู้เรื่องทั้งหมด ทำให้สามารถสร้างมูลค่าได้ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

ความฝันของครูป๊อป คือ อยากเป็นสะพานพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ผลักดันให้สองประเทศมีความสัมพันธ์อันดียิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยภาษา พยายามสร้างให้คนไทยได้ภาษาจีน และให้คนจีนรู้เรื่องเมืองไทย มีทัศนคติที่ดีระหว่างกัน

สิ่งที่อยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย
ในด้านการศึกษาในประเทศไทย ครูป๊อปมองว่า ต้องขุดไปแก้เยอะมาก หลายสิ่งที่อยากทำไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ เราอยู่ในสังคมที่มีกรอบเยอะ เราเปลี่ยนอะไรในประเทศนี้ยาก ขณะที่โลกทั้งใบการศึกษากำลังเปลี่ยนไป คนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยลดลงทั่วโลก เพราะเขารู้สึกว่าไม่จำเป็น  ระบบการศึกษาไทยต้องมีความครีเอทีฟมากกว่านี้ ถ้ามีระบบการศึกษาที่ดี เฉียบขาด เด็กไทยจะไม่อยากย้ายประเทศมากขนาดนี้

.

.

.

คุณครีม ณัชชารีย์ สมศิริมงคล | THE STUDY TIMES STORY EP.22

บทสัมภาษณ์ คุณครีม ณัชชารีย์ สมศิริมงคล คณะ Business English- IBM, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 
เรียนภาษาจีน University of International Business and Economics, ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
จากคนที่ไม่เคยเรียนต่อต่างประเทศ ฝึกภาษาอังกฤษเอง คว้าตำแหน่งแฮร์โอสเตสสายการบินเอมิเรตส์

คุณครีม จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) คณะ Business English- IBM และยังไม่เคยไปเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองนอกมาก่อน แต่สามารถพูดได้ตามมาตรฐานผ่านการฝึกของตัวเอง 

หลังจบการศึกษาจาก ABAC คุณครีมมีโอกาสได้ไปทำงานเป็น Promoter กับ Qatar Airways หลังจากนั้นรู้สึกว่าภาษาจีนมีความสำคัญ จึงตัดสินใจไปเรียนภาษาจีนที่ University of International Business and Economics ( 对外经贸大学, Beijing, China) ระยะเวลาหนึ่งปี

การฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ
คุณครีมแนะนำว่า หากจะฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ ต้องฝึกจากการฟัง พยายามพูดตาม การดูหนัง ฟังเพลง ฟังข่าวภาษาอังกฤษ จะทำให้ซึมซับไปในตัว สำหรับคุณครีมถ้าอยากได้สำเนียงแบบไหน จะเลียนแบบและฟังการพูดแบบนั้นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที 

จุดเริ่มต้นอาชีพ แอร์โฮสเตส
สำหรับคุณครีม อาชีพแอร์โฮสเตสจุดประกายมาจากการทำงานที่ Qatar Airways เพราะความฝันที่จะได้เที่ยวรอบโลก เปิดโลกกว้าง เงินเดือนเยอะ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ดูยูนิฟอร์มของแอร์เอมิเรตส์แล้วเกิดความชื่นชอบ ตั้งเป้าไว้ว่าวันหนึ่งต้องได้ใส่ชุดนี้ 

คุณครีมเล่าว่า ขั้นตอนการคัดเลือกแอร์เอมิเรตส์มีประมาณ 6 ด่าน ด่านแรก pre-screen ดูความพร้อมตั้งแต่ การแต่งตัว หน้าผม บุคลิก ภาษา บางคนแต่งหน้าทำผมอย่างดี ยื่นเรซูเม่ไม่ถึงห้าวินาที ได้กลับบ้านก็มี การเป็นแอร์แต่ละสายการบินจะมีจุดแข็งจุดดีแตกต่างกัน การเตรียมตัวพร้อมยังไงก็ดีกว่าการไม่เตรียมตัวเลย

การจะเป็นแอร์โฮสเตสของสายตะวันออกกลาง ต้องสอบภาษาอังกฤษของสายการบินด้วย แต่ถ้าสายในไทยจะใช้ TOEIC นอกจากนี้ยังมีการทดสอบพูด Public Speaking ต่อหน้ากรรมการ โดยที่ไม่มีโจทย์มาให้ก่อน 

คุณครีมคิดว่า สิ่งที่ทำให้คุณครีมได้รับการคัดเลือก น่าจะเป็นเพราะเรื่องของทีมเวิร์ค การตอบคำถาม การแก้ปัญหา ซึ่งทุกด่านใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด

ประสบการณ์เป็นแอร์เอมิเรตส์ กว่า 5 ปีที่ผ่านมา คุณครีมเล่าว่า ได้ครบทุกรสชาติ สิ่งที่ดีที่สุด มีทั้งการได้เป็น Dubai influencer ได้ทำหน้าที่รีวิวตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะไม่ใช่แอร์ทุกคนจะได้รับโอกาสนี้ ดูไบมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เจออย่างน้อย 6 สัญชาติต่อวัน ฉะนั้นที่ดูไบจะต้องการ influencer ที่หลากหลาย การเป็นแอร์เอมิเรตส์  มีข้อดีคือเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักกันทั่วโลก นอกจากนี้คุณครีมยังเคยเป็นล่าม ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวไทยในดูไบ 

ถึงวันหนึ่งที่ต้องมีการคัดคนออก เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 คุณครีมเป็นล็อตสุดท้ายที่โดนจ้างออก และเที่ยวสุดท้ายที่ได้บินมีผู้โดยสารติดโควิด ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกแย่อยู่บ้าง

Flywithcream Academy สอนภาษาอังกฤษและพัฒนาบุคลิกภาพ  
หลังจากช่วงที่โดนจ้างออก คุณครีมได้ไปลงเรียนเพื่อรับใบรับรองการสอนภาษาอังกฤษ Cambridge Certificate in teaching English (CELTA) เป็นโปรแกรมอบรมการสอน 2 เดือนเต็มทางออนไลน์ 

สืบเนื่องจากตอนที่อยู่ดูไบ คุณครีมได้ทำทั้ง YouTube Instagram Facebook TikTok  มีฐานผู้ติดตามกว่าสองแสนคน ที่สนใจในเรื่องของการเป็นแอร์โฮสเตส และการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ จึงเป็นจุดต่อยอดในการเปิด Flywithcream Academy สอนภาษาอังกฤษและพัฒนาบุคลิกภาพ  

ตัวอย่างเทคนิคในการสอนภาษาอังกฤษ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษประกอบด้วย การฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ไม่จำเป็นต้องสอนทั้ง 4 ทักษะในคลาสเดียว ให้ทำเป็นการจับคู่แทน เช่น Listening คู่กับ Specking  ต้องฟังก่อน ค่อยฝึกพูดตาม หรือ Reading คู่กับ Writing ซึ่งในเรื่องของการเขียนต้องได้แกรมม่า

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากติดตามรีวิวสาระน่ารู้ เกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส สจ๊วต การบิน เครื่องบิน รวมทั้งสอดแทรกการสอนภาษาอังกฤษ สามารถติดตามได้ทาง Youtuber, Facebook fanpage : flywithcream 

สำหรับคนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส คุณครีมแนะนำว่า ตอนนี้สายการบินเริ่มกลับมาบินเยอะแล้ว เอมิเรตส์เองได้นำ Airbus A380 เครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาใช้ ตอนนี้ใครที่อยากเป็นแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตให้เตรียมตัว เพราะมีการคัดลูกเรือออกไปเยอะ ตอนที่รับก็อาจจะรับเข้ามาเยอะเช่นกัน

.


.

.

คุณกวาง อรอนงค์ วงษ์ประเสริฐ | THE STUDY TIMES STORY EP.21

บทสัมภาษณ์ คุณกวาง อรอนงค์ วงษ์ประเสริฐ Inclusive Educator (นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม) ในโรงเรียนเอกชนนานาชาติ
นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม ค้นพบจิตวิญญาณของความเป็นครู จากการอยู่กับตัวเอง

ปัจจุบันครูกวางทำงานอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางทองหล่อ ในตำแหน่ง Inclusive Educator มุ่งเน้นที่ Self-Regulation ช่วยให้เด็กเรียนร่วมกับผู้อื่นได้ 

ครูกวางเป็นคนที่พยายามศึกษาตัวเองตั้งแต่ชั้นมัธยม ที่ผ่านมาเลือกเรียนตามความถนัด ความสนใจ และสิ่งที่ทำได้ดี แต่สิ่งที่ทำให้มีความสุขกลับได้ค้นพบหลังจากนั้น 

งานที่ครูกวางทำอยู่ในปัจจุบัน ให้ความรู้สึกว่า ในทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาอยากไปทำงาน มีความหมายที่จะได้ไปโรงเรียน ไปเจอนักเรียน ความสำเร็จของครูกวางไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ที่สำเร็จทุกวัน

ย้อนกลับไป ครูกวางเลือกเรียน ปริญญาตรีมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย (วิชาโท วาทการ) มศว. (ประสานมิตร) ด้วยความตั้งใจครั้งแรกอยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วมีความรู้สึกว่าไม่อยากพูดในสิ่งที่รู้ไม่จริง เลยฉีกไปเป็น พูดในสิ่งที่รู้ รู้ในสิ่งที่พูด ทำให้ตัดสินใจเลือกเอกภาษาไทย กระทั่งได้รับโอกาสเป็นครูภาษาไทยในเอกชนนานาชาติ จนมีจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าความพยายามไม่พอ ความสามารถไม่พอ และความถนัดไม่พอ หลังจากนั้นยอมรับความจริงว่าตัวเองยังไม่พอ จึงเลือกไปเรียนต่อ 

การเตรียมตัวด้านภาษา ก่อนเริ่มเรียนปริญญาโท ครูกวางเลือกไปฝึกภาษาอยู่โซนต่างจังหวัดของอังกฤษ เพราะอยากเห็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนอังกฤษ หลังจากนั้นได้มาฝึกภาษาอังกฤษที่ลอนดอน มุ่งไปที่ IELTS จริงจังมากขึ้น จนเข้าปีที่สามก็ยังเน้นเรื่องภาษาอยู่ 

เพราะคุยกับตัวเองไว้ว่าจะไม่ทิ้งการสอน ในขณะที่ทำงานในร้านอาหาร ช่วงกลางวันหลังเรียนภาษา คุณกวางก็จะไปสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติที่สถาบัน เช่น นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ  

กระทั่งศึกษาต่อปริญญาโท ด้านการศึกษา ที่ Goldsmiths, University of London เรียนเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์” (Identity) เมื่อเรียนจบมาทำให้มองคอนเซ็ปต์ของ “อัตลักษณ์” (Identity) เปลี่ยนไป เกิดความคิดขึ้นมาว่า ในฐานะของผู้สอนและความเป็นครู เราควรสอนให้เด็กเบ่งบานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเติบโตและเบ่งบาน

หลังเรียนจบ ครูกวางยังอยู่ทำงานที่ประเทศอังกฤษต่ออีกสองปี รวมอยู่อังกฤษนานถึง 6 ปี 7 เดือน สิ่งที่ชื่นชอบคือเรื่องของทางเท้า เพราะเป็นคนชอบเดิน รัฐบาลที่นั่นให้ความสำคัญกับการสร้างสาธารณูปโภคเบื้องต้น อีกสิ่งที่ชื่นชอบคือ ลอนดอนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ถ้าอยากจะเห็นความเป็นอังกฤษจริง ๆ ครูกวางแนะนำว่าต้องไปในโซนต่างจังหวัด

เหตุผลที่ครูกวางอยู่อังกฤษนาน เพราะให้ความสำคัญกับพื้นฐาน ทักษะ และการรู้จักตัวเอง โดยเป็นคนที่ทำงานหนักมากและทำงานที่หลากหลาย มีคอนเซ็ปต์ในการใช้ชีวิต คือ ให้โอกาส อย่างน้อยให้โอกาสตัวเองได้ลองทำ จะรู้ว่าสิ่งไหนชอบ สิ่งไหนยังต้องเรียนรู้อยู่

สิ่งที่ทำให้ครูกวางประทับใจในการศึกษาที่อังกฤษ คือ ความเป็นครูผู้ผลักดัน ครูที่ต้องการดันเพดานของเด็ก ด้วยความที่เห็นตัวอย่างสิ่งนี้จาก Professor ของตัวเอง ครูกวางจึงได้ถ่ายทอดสิ่งนี้ส่งต่อไปยังเด็ก ๆ ที่อยู่ในมือ โดยดึงศักยภาพของพวกเขาออกมา สิ่งที่ให้ไปคือเครื่องมือ โดยหวังว่าวันหนึ่งเขาจะนำเครื่องมือไปต่อยอดเอง หรือทำอะไรได้มากกว่านี้

บทบาทการสอน ณ ปัจจุบัน ครูกวางเป็น Inclusive Educator (นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม) ในโรงเรียนเอกชนนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงที่ครูกวางยื่นสมัครงาน มีที่หนึ่งเรียกไปสัมภาษณ์ โดยผู้ใหญ่แจ้งเหตุผลที่เลือกครูกวางไว้ว่า เพราะใน CV ระบุว่าชอบวิ่ง เนื่องจากงานที่ทำต้องมีการวิ่งเล่นกับเด็ก มีความสุขในการขยับตัว งานนี้น่าจะเหมาะ 

สิ่งที่ครูกวางต้องทำในแต่ละวันคือ เด็กจะต้องรู้ Routine ของตัวเอง และการใช้สายตา ต้องมีการวางแผนว่าเด็กแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือด้านใด บางคนต้องการความช่วยเหลือด้านพฤติกรรม ด้านภาวะอารมณ์ ด้านพัฒนาการ แต่ในบริบทของการทำงานในห้องเรียนสิ่งที่ต้องทำให้แม่นที่สุด คือ Routine ของเด็ก ๆ เช่น ถ้าเด็กเสียงดัง เราจะสอนเขายังไงให้ใช้เสียงระดับเบาลงมา การทำงานแบบนี้จะทำงานเป็นทีม มีนักบำบัดหลายท่าน ตัวงานต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณเพื่อที่จะอธิบาย

สำหรับครูกวาง เป้าหมายของการทำงานร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือ วันใดที่เขาไม่ต้องการเราแล้ว นั่นคือความสำเร็จ จุดมุ่งหมาย คือ สร้างพื้นฐานให้เด็กแต่ละคน เพื่อที่จะให้เขาไปต่อ

ในปัจจุบัน จากคำว่า เด็กพิเศษ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ถูกเปลี่ยนเป็น เด็กผู้มีสิทธิพิเศษในการเรียนรู้ ครูกวางปรารถนาให้ Inclusive Education เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แม้ว่าเด็กจะมีความแตกต่าง แต่เขาสามารถเรียนร่วมกับคนอื่นได้ เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านเพื่อนและมิตรภาพ

สุดท้ายครูกวางฝากไว้ว่า ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเรา ว่าเราถนัดอะไร ชอบอะไร มีความสนใจอะไร โอกาสที่เปิด ณ ตอนนี้คืออะไร สิ่งเหล่านี้แต่ละคนใช้เวลาในการเรียนรู้ได้ แต่อีกมุมหนึ่ง ให้ลองใช้เวลาเงียบ ๆ อยู่กับตัวเองบ้าง โดยที่ไม่ได้เปิดรับสารอะไรเข้ามา และให้ความจริงบางอย่างที่อยู่ในใจของเราได้คลี่คลาย

.

.

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่ห้า พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้

????วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม - วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง

พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.21 วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม

คุณกวาง อรอนงค์ วงษ์ประเสริฐ Inclusive Educator (นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม) ในโรงเรียนเอกชนนานาชาติ

????EP.22 วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม

คุณครีม ณัชชารีย์ สมศิริมงคล คณะ Business English- IBM, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เรียนภาษาจีน University of International Business and Economics, ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน

????EP.23 วันพุธที่ 19 พฤษภาคม

คุณป๊อป ณัฐพงศ์ นำศิริกุล ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโท หลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ภาค International สาธารณรัฐประชาชนจีน

????EP.24 วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม

คุณเบล ศุภนุช ชือรัตนกุล ประถมศึกษา โรงเรียน Tampines Secondary School, สิงคโปร์

ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิชาชีววิทยา Mahidol University International College (MUIC)

ปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT)

????EP.25 วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม

คุณแพรว สุพิชญา สุนทรจิตตานนท์ ปริญญาตรีเกียรตินิยมเกรด 4.00 และปริญญาโทเกรด 3.95 Portland State University, สหรัฐอเมริกา

✅ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

????ช่องทางรับชม

Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

คุณพัด ธนพัต รัตนศิริวิไล | THE STUDY TIMES STORY EP.20

บทสัมภาษณ์ คุณพัด ธนพัต รัตนศิริวิไล Master of Business Administration, Cornell University, สหรัฐอเมริกา 
เพราะการเขียน Essay เข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลก ต้องเขียนอย่างมี Critical Thinking

เทคนิคการเรียน BBA จุฬาฯ อินเตอร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง 
คุณพัดเรียนจบปริญญาตรี BBA คณะบัญชี ภาคอินเตอร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ในการเรียนที่จุฬาฯ สำหรับคุณพัดนั้นรู้สึกว่าไม่ยากมาก เพียงแค่เข้าห้องเรียน ตั้งใจฟังครูสอน ฟังเลคเชอร์ กลับมาอ่านทบทวนที่บ้าน มีอะไรไม่เข้าใจก็สามารถไปถามครูเพิ่มเติม การเรียน ณ ตอนนั้นรู้สึกว่าค่อนข้างง่าย

ได้รับเชิญพูดในงาน EdTex (Education Technology) ในหัวข้อการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย 
คุณพัดเคยได้รับเชิญจากกระทรวงศึกษาธิการให้ไปพูดในงาน EdTex (Education Technology) ในหัวข้อการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หัวข้อหลัก ๆ ที่พูด คือ เรื่องลำดับชั้นของความคิด โดยความคิดจะเริ่มตั้งแต่ระดับ Remember, Understand, Apply, Analyze, Evaluate และ Create พบว่าระบบการศึกษาของไทยมีการ สอนถึงแค่ขั้น Remember การท่องจำเท่านั้น เป็นพีระมิดฐานล่าง จึงต้องหาวิธีที่จะทำยังไงเพื่อยกระดับความคิดจากขั้น Remember ให้ไปถึงขั้นอื่นได้ อย่างข้อสอบ SAT วัดสกิลอยู่ที่ระดับ Analyze และ Evaluate  เด็กไทยที่ไม่ได้รับการเทรนด์มา อยู่ ๆ จะให้ไปสอบ ก็ทำไม่ได้

คุณพัดสังเกต 3 Skills ที่เด็กไทยขาด คือ 
1.) สกิลภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษที่ไม่ดีทำให้จำกัดความรู้ เพราะความรู้ทุกอย่างในโลกเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ 
2.) Critical Thinking การฝึกต้องมีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-Learning Skill) เด็กไทยชินกับการถูกป้อน มุ่งทำคะแนน ไม่ได้โฟกัสที่การเรียนรู้ ทำให้เด็กไม่สามารถคิดเองได้ เด็กที่ขาด Critical Thinking เพราะไม่ได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่ต้น การจะมี Critical Thinking ต้องสามารถตั้งคำถามได้ 
3.) Self-Learning Skill ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ประสบการณ์การเรียนที่ MBA Cornell University 
เพราะได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากจุฬาฯ คุณพัดจึงไม่ได้คิดว่าการเรียนที่ Cornell จะยาก แต่พอไปถึง พบว่าเทอมแรกยากมาก เลเวลคนละระดับ จุฬาฯ เหมือรวมเด็กเก่งจากประเทศไทย แต่ Cornell เป็นการรวมคนเก่งจากทั่วโลก และมีวิธีการเรียนที่คุณพัดไม่ถนัด ทั้งการใช้ Critical Thinking การทำรายงาน Big project และ Discussion ในคลาส ไม่เหมือนการเรียนเมืองไทยที่เน้นในเรื่องการสอบ และการท่องจำ แต่ละวิชาที่ Cornell ต้องอ่านหนังสือมาก่อนเข้าเรียน เพื่อเอาเนื้อหาที่อ่านมา Apply กับสิ่งที่เรียนในห้อง คุณพัดจึงเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมาตลอดทำไมใช้ไม่ได้ ซึ่งทำให้รู้สึกเฟลอยู่บ้าง แต่คุณพัดเชื่อว่า เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ ด้วยการเรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน 

เทคนิคการฝึกภาษา จนสามารถใช้ได้เหมือนเจ้าของภาษา
คุณพัดเรียนโรงเรียนไทยมา วิชาที่ถนัดคือภาษาไทย ไม่ได้ตั้งใจฝึกฝนภาษา จนกระทั่งย้ายไปโรงเรียนนานาชาติ ตอนเกรด 10-11 เพราะเป็นคนที่ทำอะไรแล้วอยากทำให้ดีที่สุด คุณพัดจึงมีความจริงจังในการเรียนภาษาอังกฤษมาก หลังเลิกเรียนจะไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม 

เทคนิคในการฝึกภาษาอังกฤษของคุณพัด คือการเตรียมสมุดเล็ก ๆ ไว้จดคำศัพท์ที่ไม่รู้ สิ่งที่อยากรู้ แกรมม่า แล้วนำสมุดเล่มนี้ติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อที่เวลาว่างจะหยิบขึ้นมาดู เป็นการทวนไปในตัว 

คุณพัดกล่าวว่า ไม่ใช่แค่เราต้องเหมือนเจ้าของภาษา แต่เราต้องเก่งกว่าเจ้าของภาษา ยิ่งเราเป็นคนเอเชีย เรายิ่งต้องทำให้เขามั่นใจว่าเรามีความสามารถและเก่งกว่าฝรั่ง 

แนะแนววิธีเขียน Essay ในการสมัครเข้า U Top 
เด็กและผู้ปกครองหลายคน จะมีความคิดว่าคะแนนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้โฟกัสที่คะแนน แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น ครูพัดกล่าวว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ Essay และการสัมภาษณ์ เพราะสุดท้าย Essay เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเรา ว่าทำไมเขาต้องเลือกเรา เรามีอะไรที่โดดเด่น เป็นส่วนที่เราแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมาได้ บอกเขาได้ว่าเรามีไอเดีย มีค่านิยมอย่างไร ต้องสื่อสารอย่างชัดเจน ตรงประเด็น มีไอเดียที่ดี แตกต่างจากคนอื่น เพราะผู้ตัดสินมีเวลาเพียง  50 วินาที จะทำยังไงให้ใน 50 วินาที เขาสนใจเรา ทำให้เขารู้สึกว่าคนนี้ไม่เลือกไม่ได้

โรงเรียนนานาชาติ THE IVY SCHOOL
เริ่มแรกคุณพัดเปิด Ivy Prep สถาบันสอนภาษาอังกฤษ เนื่องมาจากการย้ายจากจุฬาฯ มาเรียนที่ Cornell คุณพัดพบวิธีการเรียนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมองว่า Critical Thinking เป็นสกิลที่สำคัญมาก ที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยมีปัญหาเรื่อง Critical Thinking ทำให้ไม่สามารถทำข้อสอบในสถาบันของต่างประเทศได้ เป้าหมายคืออยากให้เด็กที่เรียนที่นี่ พอไปเมืองนอกแล้วเรียนได้โดดเด่น เก่งกว่าเจ้าของภาษา

ต่อมาเพราะรู้ว่าโรงเรียน ณ ปัจจุบันไม่ใช่ที่ที่จะเตรียมตัวเด็กให้พร้อมต่อศตวรรษที่ 21 หรือเข้ากับงานในอนาคต เพราะยังเป็นระบบที่ล้าสมัย จึงได้ดำเนินการเปิด โรงเรียนนานาชาติ THE IVY SCHOOL ที่เป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ เทคโนโลยีการศึกษาจะส่งผลต่ออนาคตของเด็ก ต้องการให้เด็กเรียนรู้ทฤษฎีเพื่อจะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ ซึ่ง THE IVY SCHOOL จะเปิดในเดือนกรกฎาคม ระดับเกรด 1 ถึง เกรด 12 ผู้ปกครองที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไลน์ @TheIvySchool หรือติดต่อที่เบอร์คุณพัด 062 798 2200

.

.

.
 

คุณบุ๋น พิมพ์บุญ สถิตมั่นในธรรม | THE STUDY TIMES STORY EP.19

บทสัมภาษณ์ คุณบุ๋น พิมพ์บุญ สถิตมั่นในธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ Peking University, สาธารณรัฐประชาชนจีน 
เตรียมตัวอย่างไร? พิชิตทุนรัฐบาลจีนเต็มจำนวน

คุณบุ๋นถือเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีมาตลอด ทุกคนเชียร์ให้เข้าสายวิทย์ ตอนนั้นตนก็คิดว่าสายวิทย์จะทำให้มีทางเลือกในอนาคตมากกว่า แต่ช่วงม.ต้น โรงเรียนมีกิจกรรมให้ค้นหาตัวเอง บวกกับได้เริ่มเรียนพิเศษวิชาต่าง ๆ และพบว่าตัวเองไม่ได้อินเท่าที่ควร เมื่อเรียนชั้นม.3 สังเกตตัวเองว่าเรียนได้กับเรียนอย่างมีความสุขไม่เหมือนกัน ค้นพบว่าตัวเองมีความสนใจด้านภาษา จึงขอคุณพ่อไปเรียนพิเศษที่เน้นวิชาที่สนใจจริง ๆ และหาข้อมูล จนตัดสินใจสอบเข้าสายศิลป์ภาษาที่เตรียมอุดมฯ
 
เหตุผลที่เลือกเรียนศิลป์ภาษาจีนของคุณบุ๋นนั้นมาจากเทรนด์ของสังคม ที่ในปัจจุบันพบว่าจีนเข้ามามีบทบาทมาก และด้วยความที่ตนเคยเรียนมาในช่วงวัยเด็ก อาจจะมีความรู้หลงเหลืออยู่ จนสุดท้ายคุณบุ๋นสามารถสอบเข้าศิลป์ภาษาจีน เตรียมอุดมศึกษา ได้ลำดับที่ 1 ซึ่งพอรู้ผลก็ช็อคมาก 

จนถึงวันนี้คุณบุ๋นก็ยังมั่นใจว่าถ้าตัวเองเลือกเรียนสายวิทย์ก็เรียนรอด แต่เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบดีกว่า และไม่เห็นด้วยว่าคนที่เรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ คนไหนจะเก่งกว่ากัน คุณบุ๋นมองว่า อยู่ที่ความถนัดส่วนบุคคล และเรื่องที่เขาเลือกจะทำมากกว่า 

เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาทุกคน มีความรู้สึกเหมือนกัน คือ  ไม่ใช่ทุกวิชาที่เราจะชอบ จะอยากเรียน แต่ด้วยระบบการศึกษา ทำให้จำเป็นต้องเรียนทุกวิชาที่อยู่ในหลักสูตร เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งวิชาที่ตอบโจทย์ และวิชาที่ไม่อยากเรียน 

นอกจากเรียนเก่งแล้ว เรื่องกิจกรรมก็ไม่น้อยหน้า เพราะช่วงที่เรียนอยู่เตรียมอุดมฯ คุณบุ๋นได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ เข้ากิฟต์ไทย ทำคณะกรรมการตึก ไปแข่งขันเล่านิทานภาษาจีน สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ คุณบุ๋นเล่าว่า แต่ก่อนคุณบุ๋นไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบทำงานเบื้องหน้า ชอบงานเบื้องหลังมากกว่า โดยกิจกรรมที่ชอบที่สุดคือการเป็นกรรมการตึก มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ของตึก เช่น งานกีฬาสี งานวันสำคัญต่าง ๆ ทำให้ได้ฝึกทักษะประสานงาน ได้เจอเพื่อนที่หลากหลาย

แรงบันดาลใจเลือกเรียนต่อนิติศาสตร์ 
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนต่อนิติศาสตร์ของคุณบุ๋ม มาจากความชื่นชอบดูหนังที่เกี่ยวกับนักกฎหมาย ทนายความ หนังสืบสวนสอบสวน รู้สึกอิน ทำให้เลือกนิติฯ ในทุกสนามที่ไปสอบ

ทุนรัฐบาลจีนเต็มจำนวน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 
คุณบุ๋นเล่าว่า จุดเริ่มต้นในการสมัครทุนเพราะมีครูมาแนะนำให้รู้จัก สิ่งที่ใช้สอบด่านแรก คือ การสอบข้อเขียน โดยมีศูนย์สอบที่ภาคต่าง ๆ จะทำการคัดเลือกเด็กที่สอบผ่านข้อเขียนจากทั่วประเทศ 40 คน ไปสอบสัมภาษณ์ต่อ 

ตอนแรกที่เดินทางไป คุณบุ๋นไม่ได้ไปด้วยทุนรัฐบาลจีน แต่ไปด้วยทุนโดยตรงของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยมหาวิทยาลัยมาตามหาเด็กแลกเปลี่ยนที่มีศักยภาพพอที่จะไปเรียนได้ เป็นที่รู้กันดีว่ามหาวิทยาลัยในจีนมีการแข่งขันที่สูงมาก 

สำหรับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักเรียนต่างชาติสามารถเข้ามาได้หลายวิธี หนึ่งคือ นักเรียนต่างชาติที่เรียนจบม.ปลายที่จีน โดยกลุ่มนี้จะได้รับข้อสอบอีกชุดที่ต่างจากคนจีน ใช้อัตราแข่งขันแยกกัน อีกกลุ่มคือแบบคุณบุ๋น เป็นเด็กที่ถูกคัดมาจากประเทศต่าง ๆ ต้องไปเรียน Pre-University ก่อนหนึ่งปี ซึ่งถ้าสามารถเรียนผ่าน สอบผ่าน ถึงจะได้ขึ้นมหาวิทยาลัย แต่หากไม่ผ่านก็ต้องไปตามทางของตัวเอง ซึ่งมีอัตราแข่งขันครึ่งต่อครึ่ง สอบร้อยคน ได้ขึ้นไปเรียนมหาลัยไม่เกิน 50 คน 

คุณบุ๋นเล่าประสบการณ์การเรียน Pre-University ว่าเป็นปีที่ลำบากที่สุด เป็นปีแห่งการปรับตัว ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียนที่หนักหน่วง การที่จะไปเรียนร่วมกับคนจีนได้ ต้องมีทักษะภาษาและความรู้พื้นฐานที่เพียงพอ โดยทักษะที่สำคัญคือต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ในเวลาจำกัดให้ได้

สิ่งที่คุณบุ๋นพบคือ ถึงแม้จะเรียนจบศิลป์จีนมา และมีความมั่นใจว่าภาษาจีนพัฒนาขึ้นมาก สอบ PAT7 ได้คะแนนดี มั่นใจว่าระดับนี้ไปจีนก็น่าจะสามารถสื่อสารได้แล้ว แต่ความจริงคือ ต่อให้ได้คะแนนสอบ HSK ได้ระดับ 5-6 แต่การไปใช้ชีวิตในจีนสุดท้ายก็ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างที่คิด วิธีเดียวที่ทำได้คือต้องขยัน ทริคในการพัฒนาด้านภาษาของคุณบุ๋น คือ ทำทุกอย่างทั้งอ่าน เขียน พูด ฟัง ท่องเที่ยว การอยู่ในประเทศของเจ้าของภาษาช่วยทำให้เรียนรู้ได้ง่าย 

ประสบการณ์เรียนต่อ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน 
คุณบุ๋นเล่าว่า ในเรื่องของตัววิชานิติศาสตร์ทั้งไทยและจีนไม่ได้ต่างกันมาก มีทั้งที่จีนทำได้ดีกว่า หรือไทยพัฒนาได้ดีกว่า ขึ้นอยู่กับแง่มุมที่ศึกษา แต่สุดท้ายสามารถเชื่อมโยงกันได้ ด้วยหลักทางกฎหมายที่ไม่ได้ต่างกันมาก สิ่งที่ท้าทายคือ การเรียนกฎหมายต้องอ่านและเขียนเยอะมาก ซึ่งคุณบุ๋นกังวลเพราะไม่สามารถทำได้เร็วเท่าคนจีน แต่คุณบุ๋นเชื่อว่า การที่เราเป็นคนที่ไม่ได้เก่งมาก ในกลุ่มคนที่เก่งมาก จะทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ

คุณบุ๋นเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาเหมือนกับทุก ๆ คน ช่วงที่ขึ้นปี 1 เข้าไปอยู่ในคณะนิติที่มีเด็กต่างชาติน้อยมาก แค่อ่านกฎหมายภาษาไทยก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งต้องอ่านเป็นภาษาจีนให้ทันที่จะสอบก็เกิดแรงกดดันตัวเองเป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยการร้องไห้ แล้วตั้งใจทำต่อ

ปัจจุบัน คุณบุ๋นกำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศจีนได้ ได้สมัครเรียนควบนิติรามคำแหงอีกหนึ่งปริญญา ส่วนในอนาคตต้องวางแผนอีกที ว่าจะเลือกเรียนต่อหรือทำงาน 

.

.

.

คุณอ๋อง พชรพล ชัฎอนันต์ | THE STUDY TIMES STORY EP.18

บทสัมภาษณ์ คุณอ๋อง พชรพล ชัฎอนันต์ Victoria Secondary School, St Andrew’s Junior College, สิงคโปร์
Computer Engineering, Nanyang Technological University, สิงคโปร์ 
เทคนิคเรียนอย่างไรให้ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ภายใน 3 ปีครึ่ง มหาวิทยาลัยชั้นนำสิงคโปร์

ปัจจุบันคุณอ๋องทำงานอยู่บริษัท Garena บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ตำแหน่งปัจจุบันคือ Management Associate

ก่อนไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ คุณอ๋องศึกษาระดับชั้นมัธยมต้น ณ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ภาคไทย เป็นเด็กเรียนดีปกติ ทำเกรดได้ 4.00 ไม่ได้เป็นเด็กแข่งขันทางวิชาการ แต่ที่บ้านสนับสนุน ทั้งการเรียนและกิจกรรม อาทิ ดนตรี เล่นเปียโน กีฬา ถ่ายภาพ 

จนกระทั่งครูประจำชั้น น้องสาวและคุณแม่ แนะนำให้ลองสมัครทุนที่ชื่อว่า ASEAN Scholarship เป็นทุนที่รัฐบาลไทยมอบให้กับเด็กนักเรียนในประเทศอาเซียน วิธีการสมัครคือ ให้ส่งใบสมัครเป็นโปรไฟล์ไปพิจารณาก่อน หากผ่านรอบโปรไฟล์จะต้องไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ สำหรับทุนนี้ ไม่ได้มองหาเฉพาะเด็กที่เก่งทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำได้ดีทั้งการเรียน กิจกรรม จิตอาสา มีความเป็นผู้นำ และมีศักยภาพ

จากนั้นคุณอ๋องได้รับเลือกเข้าไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ตอนนั้นภาษาอังกฤษไม่ได้แข็งแรง เพราะเรียนภาคไทยมาตลอด แต่คิดว่ากรรมการน่าจะเห็นบางอย่างจากการตอบคำถาม มีคำถามข้อหนึ่งถามว่า คิดว่าเด็กนักเรียนที่เรียนภาคไทย หรือภาค EP ใครจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่ากัน? ซึ่งคุณอ๋องตอบในเชิงว่า ขึ้นอยู่กับ individual มากกว่า ว่านักเรียนคนนั้นมีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหน กรรมการน่าจะเห็นการมี Critical Thinking จากคำตอบที่ไม่ได้ตัดสิน

ปีแรกที่สิงคโปร์ คุณอ๋องเริ่มเรียนในระดับชั้น ม.3 และ ม.4 ที่เรียนโรงเรียนชายล้วน Victoria Secondary School, St Andrew’s Junior College เป็นช่วงชีวิตการเรียนที่ยากลำบากที่สุด เพราะต้องปรับตัวทั้งภาษา วัฒนธรรม การออกจาก Comfort Zone และ อื่น ๆ 

คุณอ๋องเล่าว่า ปีแรกที่ไป สิ่งที่ยากที่สุดคือ วิชาภาษาอังกฤษและสังคม เพราะวิชาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ ไม่โฟกัสกันที่ Vocab หรือ Grammar เหมือนตอนเรียนที่ไทยแล้ว แต่จะสอนเกี่ยวกับ Writing และ Content ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เป็นการ discuss เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตอนนั้นเรียนหนักมาก ซึ่งช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียน คุณอ๋องต้องไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ห้องสมุด ท่องคำศัพท์ทุกวัน 

คุณอ๋องเคยเครียดมาก เพราะสอบตกในวิชาภาษาอังกฤษและสังคมตั้งแต่ครั้งแรก จากเคยเรียนที่ไทยได้ 4.00 มาตลอด เครียดมากจนร้องไห้ แต่โชคดีที่พ่อแม่ไม่กดดันและคอยช่วยเหลือ หาวิธีแก้ไข เมื่อแรงกดดันน้อยลง ความเครียดก็ลดลง ทำอะไรได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

ในเรื่องของกิจกรรม ที่สิงคโปร์นักเรียนทุกคนจะต้องเลือกชมรมของตัวเอง คุณอ๋องมีทั้งชมรมหลักและชมรมรอง ชมรมหลัก คือ เป็นสมาชิกวงขับร้องประสานเสียงของโรงเรียน เคยเข้าร่วมการแข่งขัน Singapore Youth Festival ได้รับ Gold with Distinction สิ่งที่ได้จากการอยู่ชมรมนี้คือ ความรับผิดชอบ ความเป็นผู้นำ และความพยายาม และมีชมรมรองคือ ชมรมคณิตศาสตร์ 

ความแตกต่างของระบบการศึกษาสิงคโปร์และไทย ที่แตกต่างกันชัดเจนคือ สิงคโปร์จะมีแผนการสอนที่ชัดเจนกว่า ข้อสอบเป็นไปตามแผน ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป สามารถแยกความแตกต่างของนักเรียนได้อย่างชัดเจน แต่เท่าที่คุณอ๋องเคยเรียนในระบบการศึกษาไทย พบว่า ข้อสอบในการสอบเข้าโรงเรียนแต่ละที่ยากเกินไป จนไม่สามารถประเมินนักเรียนได้ แยกนักเรียนเก่งออกไปจากนักเรียนที่ทำข้อสอบไม่ได้ เป็นเครื่องมือในการตรวจวัดนักเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
 
ผ่านไป 2 ปี คุณอ๋องต้องไปสอบ O level ซึ่งเป็น National exam ของสิงคโปร์เพื่อเข้าเรียน Pre University หรือ Junior College ระดับชั้น ม.5-ม.6 ได้เข้าโรงเรียนที่ชื่อว่า St Andrew’s Junior College โดยได้อยู่ห้อง Talent Development Program การเรียนที่นี่จะลดวิชาเรียนลงไปเยอะมาก เช่น วิทยาศาสตร์จะบังคับเรียนเคมี และให้เลือกอีกหนึ่งตัวระหว่างชีววิทยาและฟิสิกส์ 

หลังจากเรียนจบ 4 ปี มีการสอบ A level เป็น National exam เช่นกัน ใช้คะแนนยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์  โดยคุณอ๋องได้รับ Offer พร้อมทุน จาก Nanyang Technological University คณะ Computer Engineering

เทคนิคเรียนจบภายใน 3.5 ปี เกียรตินิยมอันดับ 1 
สิ่งที่ทำให้คุณอ๋องเรียนจบภายใน 3.5 ปี เพราะที่สิงคโปร์นักเรียนทุกคนจะมีโอกาสได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศครึ่งปี แต่คุณอ๋องเลือกที่จะไม่ไป ทำให้เรียนจบได้ไว อีกสิ่งหนึ่งคือการรู้จักตัวเอง รู้ความสามารถของตัวเอง 

คุณอ๋องเชื่อว่า เวลาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เรียนอย่างเดียว มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่จะทดลองสิ่งต่าง ๆ และทำข้อผิดพลาด เวลาส่วนใหญ่สามารถไปทดลองทำนู่นทำนี่ได้เยอะพอสมควร ซึ่งในช่วงปี 3 คุณอ๋องก็ได้มีโอกาสทำ Internship เป็น Full time developer ที่บริษัท Autodesk กว่า 6 เดือน

ปัจจุบันคุณอ๋องทำงานอยู่บริษัท Garena โดย base ที่สิงคโปร์ ทำอยู่สิงคโปร์ 3 เดือน ก่อนจะถูกส่งตัวมาช่วยงานที่สาขาในประเทศไทย คุณอ๋องเผยว่า สิ่งที่ Garena มองหาคือ ความฉลาด ความพยายาม และความสนใจในเกม

เป้าหมายในอนาคต
คุณอ๋องมีความสนใจในด้านการศึกษา นอกเหนือจากการทำงาน Full-time แล้ว เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ยังรับสอนพิเศษให้น้อง ๆ ที่จะเตรียมไปสอบทุนอาเซียน ในอนาคตอยากจะเปิดเป็นเซนเตอร์ที่จะซัพพอร์ตน้อง ๆ ที่ต้องการหาทุน หรือหาโอกาสเพื่อไปต่อยอด ดึงศักยภาพของน้อง ๆ ออกมา

.

.

.

คุณกิต กิตติพงษ์ ลุยวิกกัย | THE STUDY TIMES STORY EP.17

บทสัมภาษณ์ คุณกิต กิตติพงษ์ ลุยวิกกัย เรียนภาษาจีน Qingdao University, สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปริญญาโท Computer Science & Software Engineering, Monash University, ออสเตรเลีย

จากนักการเงินสู่เจ้าของธุรกิจศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN

ปัจจุบันคุณกิตทำงานอยู่ในศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN ซึ่งคุณกิตไม่ได้จบทางด้านการศึกษามาโดยตรง ก่อนหน้านี้ทำงานในเรื่องของการเงิน การธนาคาร และคอมพิวเตอร์

จุดเริ่มต้นทำงานด้านการศึกษา ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN

หลังจากจบมา คุณกิตได้ทำงานด้านการเงินการธนาคารอยู่สักพัก จากนั้นได้ไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Computer Science & Software Engineering ที่ออสเตรเลีย เพราะส่วนตัวมีความชอบเรื่องคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ยังเด็ก หลังจบปริญญาโท อยากเพิ่มสกิลภาษาขึ้นมา ซึ่งภาษาที่เลือกคือ ภาษาจีน จึงได้เลือกไปศึกษาต่อด้านภาษาที่ประเทศจีน ได้เจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง พบว่าระบบการรับนักศึกษาต่างชาติที่จีนยังไม่เฟื่องฟู การติดต่อค่อนข้างยาก ไม่มีบริษัทหรือศูนย์แนะแนวอย่างในปัจจุบัน จึงร่วมกับเพื่อนเปิดศูนย์แนะแนวเรียนต่อจีน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเด็กที่ไป

นักเรียนไทยคนแรกของเมืองชิงเต่า Qingdao University

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คุณกิตได้ข้อมูลเมืองชิงเต่ามาและมีศูนย์แนะนำอยากให้เด็กไทยไปเรียน ตอนแรกคิดว่าเป็นเมืองที่อยู่บนเกาะ เมืองนี้มีความน่าสนใจคือคนไทยอาจไม่เยอะมากเท่าเมืองอื่น เป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีบริษัทยักษ์ใหญ่มาตั้ง พอไปถึงวันแรก ต่อเครื่องบินที่ปักกิ่งเข้าชิงเต่า พบว่าทั้งลำไม่มีคนต่างชาติเลย เป็นคนจีนทั้งหมด พอเครื่องลงจอดทุกคนสลายตัว เหลือคุณกิตอยู่ที่สนามบินคนเดียว นั่งรออยู่สนามบินหลายชั่วโมงกว่าที่รถมหาลัยจะมารับ

วันแรกที่นั่งเรียน คุณกิตเป็นคนไทยคนเดียวในมหาวิทยาลัย พอเอาตัวรอดได้เพราะได้ภาษาจีนนิดหน่อย นักเรียนในโรงเรียนเกิน 50% เป็นคนเกาหลี เนื่องจากชิงเต่าใกล้กับเกาหลี มีชาวญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งชิงเต่าเคยเป็นอาณานิคมของเยอรมันมาก่อน คนเยอรมันเลยมาเรียนกัน

Culture Shock ที่พบคือ คำศัพท์ของจีนแทนคำศัพท์ต่างประเทศแทบทุกอย่าง ทุกคำศัพท์จากต่างประเทศถูกแปลงเป็นภาษาจีนทั้งหมด รวมทั้งชื่อคนไทยที่ไม่มีภาษาจีนก็จะถูกแปลงด้วย สิ่งที่งงที่สุดสำหรับคนต่างชาติ ณ ตอนนั้น คือการเปิดบัญชีธนาคาร เพราะคนจีนที่เมืองชิงเต่าไม่ค่อยได้เจอกับคนต่างชาติ คุณกิตเองใช้เวลาถึง 3 วันในการเปิดบัญชี

ประสบการณ์ที่ได้จากการไปเรียนภาษาจีนที่ชิงเต่า

ถ้าพูดถึงชิงเต่าแล้ว ในสมัยก่อนคนจะคิดว่าเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่ตอนที่ปักกิ่งจัดโอลิมปิกครั้งแรก ได้เลือกเมืองชิงเต่าในการจัดโอลิมปิกทางน้ำ ชิงเต่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญของจีน ในการขนถ่ายสินค้าจากฝั่งทางเหนือ รวมทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ มีกองเรือดำน้ำที่สำคัญ บริษัทสำคัญมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ชิงเต่า รวมทั้งเป็นเมืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑล

การใช้ชีวิตที่ชิงเต่า ในเทอมแรกด้วยความเป็นนักเรียนไทยคนเดียว คุณกิตรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวแทนของประเทศไทย หากเรามีพฤติกรรมอย่างไร คนจะตัดสินว่าคนไทยเป็นคนแบบนั้น คุณกิตจึงเป็นตัวแทนในการทำกิจกรรมทุกอย่าง เพราะทำให้ได้เรียนรู้ ได้แสดงออก ที่สำคัญคือมีโอกาสในการใช้ภาษาเยอะมาก ทำให้ภาษาจีนพัฒนาโดยอัตโนมัติ

ประสบการณ์เรียนต่อออสเตรเลีย ปริญญาโท ด้าน Computer Science & Software Engineering, Monash University Australia
คุณกิตไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Computer Science & Software Engineering, Monash University ที่ออสเตรเลีย  ได้อยู่กับ Host Family ที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณกิตเดินทางไปก่อนล่วงหน้าสามเดือนเพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ปรับพื้นฐาน เลือกไปอยู่กับแฟมิลี่เพราะอยากรู้วัฒนธรรมของคนออสเตรเลีย แฟมิลี่พยายามให้พูด ทำการบ้าน เขียนไดอารี่ทุกวัน เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ อีกทั้งลูกของแฟมิลี่กำลังเรียนคอมพิวเตอร์พอดี คุณกิตเลยมีโอกาสช่วยสอน 
 
คุณกิตไปทำงานในร้านอาหารไทย และด้วยความที่คุณกิตเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ จึงมีโอกาสไปทำงานออฟฟิศ ช่วยแผนกคอมพิวเตอร์ในบริษัทเล็ก ๆ 

คุณกิตแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อทางฝั่งตะวันตก หรือฝั่งจีน ไว้ว่า ฝั่งตะวันตกมีความเป็นระบบในการรับนักศึกษาต่างชาติมากกว่า ทั้งระบบโฮส การจัดการจองห้องพัก การเปิดบัญชี การติดต่อกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างสะดวก สิ่งที่อยากแนะนำคือ น้องที่อยากไปทำงานพาร์ทไทม์ ถ้ามีความรู้เฉพาะในส่วนของงานที่จะไปทำ หรือมีประสบการณ์มาก่อน จะทำให้ได้เปรียบกว่าคนอื่น ได้งานที่ดีกว่าคนอื่น เช่น การทำขนม บาริสต้า จะสามารถหางานได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์เลย และพยายามคลุกคลีกับชาวต่างชาติ เพราะจะได้เรียนรู้ ได้ฝึกภาษา ได้ประสบการณ์ที่มากกว่า

ขณะที่ทางฝั่งจีน การติดต่ออาจจะมีการใช้ภาษาท้องถิ่น ทำให้มีความติดขัดอยู่บ้าง อย่างการเปิดบัญชีธนาคาร การเข้าใจข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น จีนห้ามเล่นโซเชียลมีเดียของต่างชาติ 

สำหรับใครที่สนใจไปเรียนต่อในประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี  สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN ไลน์ @OREN

.

.

คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน | THE STUDY TIMES STORY EP.16

บทสัมภาษณ์ คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน นักศึกษาแพทย์ Medical University of Lublin, สาธารณรัฐโปแลนด์ 
นักเรียนแพทย์สายคอนเทนต์ เรียนที่โปแลนด์ให้อะไรมากกว่าที่คิด

ปัจจุบัน คุณนูปเป็นนักศึกษาแพทย์ อยู่ที่ Medical University of Lublin ประเทศโปแลนด์ 

จุดเริ่มต้นเรียนแพทย์ที่โปแลนด์ มหาวิทยาลัย Medical University of Lublin
คุณนูปมีความสนใจอยากเรียนหมออยู่แล้ว เพราะมีความฝันอยากเป็นหมอในค่ายผู้อพยพ จนได้พบเอเจนซี่ที่ส่งนักศึกษาไปเรียนที่โปแลนด์ จึงได้ตัดสินใจ ด้วยความที่ค่าเทอมไม่แพง และค่าครองชีพไม่สูง ที่คุณนูปเคยศึกษาเปรียบเทียบค่าเทอมเรียนหมอ 6 ปี พบว่า โปแลนด์มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาท ขณะที่เอกชนที่ประเทศไทยประมาณ 3 ล้านบาท 

การเรียนที่โปแลนด์จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ช่วง 4 เทอมแรกมีเรียนภาษาโปลิชด้วย ในคลาสเรียนมีทั้งนักเรียนจากไต้หวัน อเมริกัน ตะวันออกกลาง สแกนดิเนเวีย

คุณนูปสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิชาทางวิทยาศาสตร์และใช้คะแนน IELTS ปัจจุบันนักเรียนไทยที่มาเรียนแพทย์ที่ Lublin มีประมาณ 100 กว่าคน จุดเด่นที่ทุกคนเลือกมาเพราะค่าเทอมที่ถูก และค่าครองชีพที่ไม่แพง 

การเรียนที่โปแลนด์มีสอบทุกสัปดาห์ ต้องทำคะแนนสอบให้ได้มากกว่า 50% ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์สอบไฟนอล ต้องอ่านหนังสืออยู่เรื่อย ๆ  ปีแรกที่มาปรับตัวยากมาก เพราะคนไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อสารยาก

ด้วยความที่คนที่นี่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สำเนียงจะฟังยากมาก ทำให้มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เวลาเครียดคุณนูปก็จะมีออกไปกินข้าว ท่องเที่ยวกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งไปหานักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยที่มีให้บริการ

วิถีชีวิตนักเรียนไทยในโปแลนด์ ส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเตะฟุตบอล ทานข้าวด้วยกัน แต่ด้วยความที่สอบเยอะมากก็จะไม่ค่อยมีเวลา วิธีที่ทำให้คุณนูปผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ คือ การจดไดอารี่ไว้ 

สิ่งที่น่าสนใจในโปแลนด์ คุณนูปแนะว่า ถ้าชอบมิวเซียม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ดนตรีคลาสสิก โปแลนด์เป็นอีกตัวเลือกที่น่ามาเที่ยวมาก ด้วยความที่เป็นพื้นที่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน และมีอุทยานแห่งชาติกว่า 100 แห่ง

คุณนูปเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทั้งเล่นดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว ปีนผา คุณนูปเล่าว่า กิจกรรมปีนผา เริ่มทำช่วงกลับไทยเมื่อปีที่แล้วตอนสถานการณ์โควิดระบาดหนัก เจ้าของสำนักพิมพ์ที่คุณนูปเป็นนักเขียนอยู่ได้ชวนไปปีนผา ไปแล้วเกิดติดใจ เมื่อกลับมาโปแลนด์ก็ยังสนใจและทำต่อมาเรื่อย ๆ 

คุณนูปมีอุดมการณ์ คือ อยากเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ลี้ภัย เพราะมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ แล้วรู้สึกว่าเท่ดี ตอนย้ายมาอยู่โปแลนด์มีช่วงหนึ่งที่เขวไปบ้าง แต่มีโอกาสได้ทำเรื่องเกี่ยวกับอาหารกลางวันให้เด็กที่เคนย่า เลยสามารถดึงตัวเองกลับมาในความฝันที่เคยตั้งไว้ 

จุดเริ่มต้นอาชีพนักเขียน 
จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียนของคุณนูปเริ่มมาจากเป็นแฟนของสำนักพิมพ์ชี้ดาบ รู้จักกับพี่ที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ช่วงที่โปแลนด์มีโควิดระบาดหนักทำให้ออกไปไหนไม่ได้ เลยตัดสินใจทักไปคุยกับรุ่นพี่เจ้าของสำนักพิมพ์ พี่เลยได้ชวนมาเขียนหนังสือรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยที่เจอโควิดจากทั่วโลก คุณนูปจึงตัดสินใจเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า พังเรนเจอร์ : AGE OF CORONA

อีกเล่มมีชื่อว่า อยุติธรรม เจนเนอร์เรชั่น | พังเรนเจอร์ จูเนียร์ ซึ่งรวบรวมประสบการณ์ที่เจอมาแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตัวเรา 

การเขียนสำหรับคุณนูปเหมือนการปลดปล่อยอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยความที่กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำเพื่อปลดปล่อยความเครียด อาจจะทำไม่ได้ในช่วงโควิด จึงต้องหาวิธีอื่นในการปลดปล่อยออกมา
 
คุณนูปคิดว่า 'นักศึกษาแพทย์' และ 'นักเขียน' มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เช่น เรื่องเรียนทำให้ต้องอ่านหนังสือทุกวัน ส่วนการเขียนเป็นสิ่งที่เจอทุกวัน เป็นสิ่งที่สะสมทุกวันทั้งคู่ แต่ความต่าง คือ การเขียนเป็นประสบการณ์ตรงที่เราเจอเองจริง ๆ แต่การเรียนไม่ใช่สิ่งที่เราเจอมาด้วยตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่เราอ่านความรู้ที่คนอื่นเตรียมไว้แล้ว

แผนในอนาคตเมื่อเรียนจบของคุณนูป คือ กลับไทยเพื่อสอบใบประกอบเก็บไว้ ก่อนจะออกเดินทางไปตามค่ายผู้ลี้ภัยแล้วค่อยกลับมาเมืองไทย 

สุดท้ายคุณนูปฝากสำหรับคนที่อยากเรียนแพทย์ในโปแลนด์ไว้ว่า ข้อสอบเข้ายากขึ้นมาก ให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ ทำภาษาอังกฤษไว้ให้ดี


.

.


.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top