Saturday, 20 April 2024
THE STUDY TIMES STORY

คุณแอล ทักษ์ดนัย นิลกำแหง | THE STUDY TIMES STORY EP.4

บทสัมภาษณ์ คุณแอล ทักษ์ดนัย นิลกำแหง ปริญญาตรี Portland States University สหรัฐอเมริกา 
ติวเตอร์ภาษาอังกฤษ ผลักดันเด็กไทย ให้กล้าพูดภาษาอังกฤษ

คุณแอลไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะได้รับทุนจากคุณแม่ที่อาศัยอยู่อเมริกา เมื่อจบม.4 ที่เทพศิรินทร์ร่มเกล้า จึงได้มีโอกาสไปเรียนต่อเกรด 11 ที่อเมริกา ช่วงแรกมีการเกิด Culture Shock ที่ต้องพยายามสื่อสารกับเพื่อนและครูให้ได้ ตอนนั้นคุณแอลใช้วิธีดูข่าวต่างประเทศ สื่อ CNN BBC ระยะเวลาหนึ่งปี จนพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง 

คุณแอลแนะนำสำหรับคนที่อยากฝึกภาษาอังกฤษ ให้ฟังสถานีวิทยุข่าว VOA ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยในเนื้อหาจะมีช่วงหนึ่งเป็นช่วง Learning English มีการสอนทักษะ ฟัง พูด อ่านเขียน ภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน แบบฟรี ๆ 

หลังจากจบไฮสคูล คุณแอลใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง นักการทูต จึงตัดสินใจเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ สาขาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ  ที่ Portland State University ที่มีเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืนอยู่ด้วย โดยเรียนทั้งหมดที่เป็นองค์รวมของสาขารัฐศาสตร์ในยุคนั้น 

คุณแอลอยู่อเมริกาเกือบ 6 ปี พบว่าเมือง Portland มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมและผู้คนในเมือง Portland ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกันเหมือนเมืองไทย คุณแอลเคยปั่นจักรยานจากบ้านไปพื้นที่ชนบทของ Portland พบวัฒนธรรมอีกแบบ เป็นออริกอนดั้งเดิม พื้นที่ Portland ล้อมรอบด้วยต้นไม้ ภูเขา ป่าสีเขียว แม่น้ำลำธารจะเย็นทั้งปี ถ้าชอบสายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน คุณแอลขอแนะนำเมือง Portland เลย

หลังจากเรียนจบได้ 1 เดือน คุณแอลสามารถผ่านเข้ารอบโครงการที่มีชื่อว่า ผู้นำไทย-อเมริกา เป็นโครงการที่ให้เยาวชนไทยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ระดับไฮสคูลถึงปริญญาตรี มีโอกาสเข้าไปศึกษารูปแบบการทูตแบบไทย โดยโครงการนี้จะเปิดทุกปี เป็นรูปแบบการทูตระดับตัวน้อย เฟ้นหาเด็กและเยาวชนไทยในสหรัฐฯ ที่มีความสนใจสังคม วัฒนธรรมไทย เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตของประเทศไทย 

หลังจากกลับมาเมืองไทย คุณแอลยังคงสนใจในเรื่องของการขับเคลื่อนสังคม การพัฒนาประเทศ  และถึงแม้เป็นติวเตอร์ แต่ความเป็นการเมืองยังติดตัวอยู่ โดยมุ่งเน้นไปยังนโยบายที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับประทศ ตามด้านที่เรียนจบมาโดยตรง 

หากให้เปรียบเทียบมุมมองต่อระบบการศึกษาไทยและอเมริกา คุณแอลมองว่า ระบบการศึกษาแต่ละประเทศมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ไม่ได้มีแต่ปัญหาเสมอไป ยอมรับว่าของไทย มีจุดเด่น ในเรื่องของการสอนให้เด็กรู้จักเรื่องของความดี คุณธรรม จิตสำนึกในการทำเพื่อส่วนรวม ความรักเพื่อน การเสียสละและแบ่งปัน รวมทั้งเรื่องของการออมเงิน ขณะที่สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นความรักชาติ การสร้างความคิดสร้างสรรค์ในระดับเยาวชน การเปิดใจซึ่งกันและกัน 

โดยครูแอลในฐานะติวเตอร์ได้นำหลักการประนีประนอมระหว่างครูกับนักเรียนมาใช้ รวมทั้งบาลานซ์การเรียนวิชาการและการเรียนที่เรียกว่า Play&Learn เข้าด้วยกัน 

ด้านปัญหาการพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทยส่วนใหญ่ จากประสบการณ์ที่พบ ครูแอลมองเห็นว่า เกิดจากการไม่กล้า อาย กลัวที่จะสื่อสาร ไม่กล้าถามครูผู้สอน โดยครูแอลก็มีแนวทางที่จะให้เด็กกล้าถามได้ 

ครูแอลมีวิธีการสอนแบบขั้นบันได ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มีการนำสื่อ การ์ดเกม เข้ามาใช้ แต่มีข้อตกลงระหว่างกัน ว่าเล่นได้แต่ก็ต้องทำงานของตัวเองด้วย จะได้มีความรู้ทุกมิติ 

คำแนะนำสำหรับครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ ครูแอลมองว่า สำหรับเด็กเล็ก การเรียนภาษาอังกฤษควรเริ่มจากการฝึกพูด การออกเสียง ตัวสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ  สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และสามารถนำไปใช้ในขีวิตประจำวันได้ โดยตรงจุดนี้หากทางกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง สามารถปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับเด็กเล็ก ให้เป็นในเรื่องของ conversation หรือ communication สิ่งนี้จะทำให้การเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

.

.

.

คุณยีนส์ อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ | THE STUDY TIMES STORY EP.3

บทสัมภาษณ์ คุณยีนส์ อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ คอลัมนิสต์อิสระ, นักแปล เรียนต่อออสเตรเลียและจีน (The University of Queensland,  Shanghai Normal University) 
แนะเคล็ดลับ บริหารเงินอย่างคุ้มค่า เรียนต่อออสเตรเลียและจีน

คุณยีนส์เรียนจบปริญญาตรีและโทที่ประเทศไทย ก่อนหน้าที่คุณยีนส์จะเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศ ได้ทำงานหน้าที่แนะแนว ให้คำปรึกษา ทำวีซ่าให้กับนักเรียนที่ต้องการไปเรียนต่อ คุณยีนส์ตัดสินใจไปเรียนต่อเพราะต้องการประสบการณ์เพื่อกลับมาทำงานและแชร์ประสบการณ์ให้กับนักเรียนไทยที่สนใจ

ครั้งแรกที่ไป เนื่องจากคุณยีนส์จบด้านภาษาอังกฤษมา เลยอยากจะได้วุฒิที่เกี่ยวข้องกับด้านการสอนภาษาอังกฤษ จึงตัดสินใจลง Graduate Certificate in TESSOL University of Queensland-Australia ที่เกี่ยวกับวิชาด้านการสอนภาษาอังกฤษ จากนั้นได้ลงเรียนด้านวิชาบริหารธุรกิจเพิ่ม เพื่อจะนำมาต่อยอด ซึ่งก็คือ Graduate Diploma in Business เท่ากับไปอยู่ออสเตรเลียรวม 2 ปี 

วิธีบริหารจัดการงบประมาณเรียนต่อต่างประเทศ
เรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณในการไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณยีนส์แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ค่าเล่าเรียน ที่เป็นงบตายตัว เปลี่ยนไม่ได้ เป็นงบส่วนที่ผู้ปกครองหรือนักเรียนต้องแบ่งไว้ ส่วนที่สอง คือ ค่ากินอยู่ ควรเตรียมเป็นงบขวัญถุงไว้ประมาณ 2-3 เดือน เมื่อไปถึงทางออสเตรเลียจะให้สิทธิในการทำงานพิเศษได้ ช่วงที่คุณยีนส์ไป ตามวีซ่าสามารถทำงานพิเศษได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นักเรียนหลายคนต่างก็มีวิธีที่จะไปหางานพิเศษทำเพื่อช่วยในการลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะทำงานตามร้านอาหารไทย ร้านกาแฟ ช่วยงานมหาวิทยาลัย ช่วยอาจารย์ งานห้องสมุด 

ต่อมาคือค่าที่พัก หากทางผู้ปกครองมีงบประมาณพอ อาจจะให้อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บางคนก็อาจจะแยกมาอยู่เอง เช่าอพาร์ทเม้นกับเพื่อน ซึ่งส่วนนี้ต้องดูตามความเหมาะสม หากนำงบประมาณเป็นที่ตั้ง อยากได้ที่พักราคาถูก ก็อาจต้องไปอยู่ที่พักโซนที่ไกลมาก เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลาเพิ่มขึ้น 

ค่าเรียนของคุณยีนส์ที่จ่ายไป 2 ปีประมาณ 5-6 แสน ค่ากินอยู่ เดือนแรกประมาณ 30,000 แต่หลังจากได้งานพิเศษก็ตัดเงินส่วนนี้อออก ทำงานหาเงินมาดูแลตัวเอง   

ตอนเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศครั้งแรก คุณยีนส์เล่าว่า มีเรื่องที่ทำให้กังวลใจอยู่บ้าง ในเรื่องตารางรถเมล์ที่มาชั่วโมงละคัน ทำให้ไปเข้าเรียนไม่ทัน และช่วงแรกที่ยังไม่มีงานพิเศษทำ ต้องตีราคาของทุกอย่างเป็นค่าเงินไทย ความเครียดที่เกิดเป็นธรรมดาของนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อ การอยู่เมืองนอกคือการที่ต้องปรับตัวไปอีกระดับหนึ่ง ต้องคิด วางแผนล่วงหน้า แบ่งเวลาทำงานและเรียน 

หลังจากผ่านไป 1 เดือน คุณยีนส์ได้เจอเพื่อนคนไทย เพื่อนต่างชาติ เพื่อนออสเตรเลีย นัดปรึกษาอาจารย์ถึงปัญหาการเรียน กล้าเปิดใจ และปรับวิถีชีวิตตัวเอง จัดตารางเวลาชีวิตใหม่ เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เมื่อปรับตัวได้หลังจากนั้นเริ่มสนุก

เมื่อไปถึงออสเตรเลียครั้งแรก สิ่งที่ควรทำ คุณยีนส์แนะนำว่า ทางเจ้าหน้าที่แนะแนวจะแนะนำมาก่อนว่าช่วงเดือนแรกให้อยู่กับโฮมสเตย์ครอบครัวชาวออสเตรเลียไปก่อน เพื่อปรับตัว ให้พวกเขาช่วยแนะนำเรื่องการใช้ชีวิต การขึ้นรถเดินทาง สำหรับเด็กเล็กจะมีครูพี่เลี้ยง รุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนไทยที่อยู่มาก่อน จะมาช่วยแนะนำเรื่องสถานที่ซื้อของใช้ เรื่องทั่วไปต่างๆ ถ้าเป็นเด็กมหาวิทยาลัยจะมี Student Union หรือสโมสรนิสิต ซึ่งในช่วงการเปิดภาคเรียน ส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมปฐมนิเทศ นำเสนอชมรม จะมีชมรมนักเรียนไทย ชมรมวัฒนธรรม ให้ได้เข้าไปทำความรู้จัก การเรียนในระดับปริญญาตรี-โท เรียนคนเดียวไม่ได้ ต้องเรียนเป็นทีม 

คุณยีนส์เล่าให้ฟังว่า คอนเซปต์ในการเรียนที่ออสเตรเลียจะไม่เหมือนของไทย ของไทยจะมีอาจารย์ป้อนข้อมูลความรู้เข้ามาให้ ขณะที่ทางออสเตรเลียคุณจะต้องเตรียมความรู้มาก่อน เมื่อเข้าชั้นเรียนต้องมีองค์ความรู้พร้อมที่จะไปแชร์กับคนอื่น โดยอาจารย์จะให้แค่โครงตามหลักทฤษฎีที่ถูกต้อง หรือประสบการณ์ที่อาจารย์เคยทำงานมา สุดท้ายทำให้เกิดการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ 

หากให้เปรียบเทียบความแตกต่างในเรื่องการศึกษาของไทยและออสเตรเลีย คุณยีนส์มองว่า การศึกษาของไทยที่เกริ่นว่า ครูเป็นผู้ให้ นักเรียนเป็นผู้รับ เหมาะกับการปูพื้นฐานในเรื่องของการเรียนรู้ เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ส่วนในเรื่องของวิชาการ องค์ความรู้ คุณยีนส์มองว่าไม่ได้ต่างกันมาก แต่จะต่างกันที่วิธีคิด เพราะของต่างประเทศจะเน้นที่การให้ทุกคนเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาองค์ความรู้ การเรียนต่างประเทศจึงทำให้เรามีรูปแบบการคิดที่หลากหลายขึ้น 

คนออสเตรเลียในมุมมองของคุณยีนส์ คือ เป็นคนสบายๆ ไม่ได้มีพิธีรีตองมาก อาจารย์เฟรนด์ลี่มาก คิดอะไรพูดเลย แต่ในเรื่องของกฎเกณฑ์ การรักษาเวลา เดดไลน์การส่งงานเป๊ะ ไม่มีการต่อรอง   

บรรยากาศการเรียน หลักสูตรอบรมภาษาจีนระยะสั้น Shanghai Normal University คุณยีนส์เผยว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ไปจะติดขัดในเรื่องของภาษา ต้องไปเรียนเพิ่ม และด้วยความที่จีนต้องการเปิดรับให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียน ทำให้เรื่องของหอพัก อุปกรณ์การเรียนเตรียมพร้อมไว้อย่างดี คนจีนมีความตรงเวลา บรรยากาศการเรียนก็สบายๆ มีกิจกรรมเยอะมากสำหรับการไปเรียนภาษาที่จีน เน้นเรื่องการใช้ภาษาควบคู่กับวัฒนธรรม

สำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อ คุณยีนส์แนะนำว่าสิ่งที่ควรทำ อันดับแรกคือต้องไปดูเรื่องของสังคม ไปดูในสิ่งที่บ้านเรายังไม่มี มีจุดไหนที่พัฒนาแล้วดีกว่าบ้านเรา เพื่อนำจุดนั้นกลับมาพัฒนาประเทศ ใช้ในการพัฒนาตัวเราและโอกาสในชีวิต หลังจากที่เรากลับมาที่เมืองไทย 

นอกจากนี้การได้เพื่อนต่างชาติก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะได้มุมมองที่กว้างขึ้น เราจะเป็นคนที่ทำงานที่ใดก็ได้ในโลกใบนี้ หากมีทัศนคติหรือไอเดียที่เปิดกว้าง และการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง 

.


.

.

.

คุณมี่ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ | THE STUDY TIMES STORY EP.2

บทสัมภาษณ์ คุณมี่ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และ ผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
เพราะนิสัยรักการอ่าน คือคลังความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้

โดยพื้นฐานแล้ว คุณมี่เป็นคนคลุกคลีหนังสือ หรือตัวอักษรมาตั้งแต่เกิด เพราะคุณพ่อทำสำนักพิมพ์มายาวนานกว่า 40 ปี เรียกได้ว่าวิ่งเล่นอยู่กับกองหนังสือ มีโอกาสได้ใกล้ชิดนักเขียน สัมผัสและอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก

“การอ่านทำให้การพูดและการเขียนเป็นระบบ สวยงาม ใช้ประโยชน์จากวงศัพท์ได้ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตในด้านการทำงานอย่างสูง”

คุณมี่เปรียบเทียบให้ฟังว่า หนังสืออยู่กับเราตั้งแต่ก่อนเกิด ไปจนกระทั่งเราหมดลมหายใจ นึกภาพก่อนเราเกิด ในคุณพ่อคุณแม่ที่ใส่ใจเลี้ยงดูบุตรหลาน ก็จะอ่านหนังสือให้ลูกฟังระหว่างที่ตั้งครรภ์ เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างลูกและพ่อแม่ เมื่อลูกเกิดมา คุณพ่อคุณแม่ก็จะยังเล่านิทาน มีการวิจัยว่า การที่พูดกับลูกในครรภ์ หรือเมื่อลูกเกิดมา แล้วมีการพูดคุย เล่านิทานให้ลูกฟัง จะทำให้การสื่อประสาทของเด็กไวขึ้น การพูดและการใช้ชีวิตของเด็กในช่วง 5 ขวบ การใช้สื่อที่สัมผัสได้ ที่ไม่ใช่เฉพาะดิจิทัล จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม 

ตัวอย่างจากยุโรป อย่างนอร์เวย์และสวีเดน พยายามที่จะปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็น E-Classroom แต่ปรากฎว่าใช้ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ด้วยการใช้หนังสือที่เป็นเล่มประกอบกับคอนเท้นต์ที่เป็นดิจิทัลร่วมกัน ถึงจะได้ผลสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ อาจจะใช้หนังสือในการอ่าน ค้นคว้า ประกอบกันการอ่านออนไลน์ ใช้มัลติมีเดียเรียนรู้เรื่องเซลล์ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดมากขึ้น การอ่านหนังสือจะทำให้การจดจำของเด็กแม่นยำขึ้น และช่วยให้สารสื่อประสาทเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น

งานวิจัยที่ทาง TDRI ได้นำมาพูดคุยกับคนในวงการหนังสือ เผยว่า การเปิดหนังสือสักเล่มแล้วพลิกไปพลิกมา จะทำให้เราเห็นถึงการพลิกหน้าหนังสือ การอ่านแล้วจดจำจากความหนาของหนังสือ เรื่องราวประมาณไหน เป็นบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ซึ่งดีต่อการพัฒนาของสมอง 

ส่วนในช่วงวัยทำงาน ตัวหนังสือก็มีความจำเป็น อย่างตอนที่เราต้องการพัฒนาตัวเอง หรือต้องการพลิกวิกฤติช่วงเศรษฐกิจตก เช่น ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน แต่แวดวงของหนังสือกลับยอดโตขึ้น คุณมี่เผยว่า เพราะเป็นช่วงที่คนแสวงหาข้อมูลความรู้ใส่ตัวเอง ไม่ว่าจะมีสื่อเกิดขึ้นมากมายแค่ไหน แต่หนังสือก็ยังเป็นตัวเรื่องต้นทาง 

หรือแม้แต่วัยผู้สูงอายุเอง การมีเพื่อนเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะจากการอ่าน หรือ Audio Book หนังสือเสียง ก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้และมีความสุขกับมันได้

แม้กระทั่งในแง่ของการจัดงานอภิธรรมที่วัด ก็พบว่าของชำร่วยมักมาในรูปแบบของหนังสือ ถือเป็นการมอบปัญญาให้แก่กัน จะเห็นได้ว่าหนังสืออยู่กับเราทั้งชีวิต เป็นเพื่อนกับเรา เวลาเกิดเหตุอะไรก็ตาม หลายคนอยากจะผ่อนคลาย พลิกอะไรบางอย่าง ไม่หาเพื่อนคุย ก็มักจะหาหนังสือคุยกับตัวเอง และทั้งหมดนี้ก็พอจะตอบได้ว่าหนังสือมีประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างมหาศาล นิสัยรักการอ่าน จึงเปรียบเสมือนคลังความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้

.


.

.

.

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่สอง พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้

????วันจันทร์ที่ 26 เมษายน - วันศุกร์ที่ 30 เมษายน

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง

พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.6 วันจันทร์ที่ 26 เมษายน

คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ นักเรียนทุนรัฐบาล UIS ปริญญาโท Master of Public Administration, Cornell University, สหรัฐอเมริกา

????EP.7 วันอังคารที่ 27 เมษายน

คุณชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ประถมศึกษา Hughes School, ออสเตรเลีย

ปริญญาโททุน JASSO รัฐบาลญี่ปุ่น The University of Tokyo, ญี่ปุ่น

????EP.8 วันพุธที่ 28 เมษายน

คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ ตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer, เมืองซูริค, สวิตเซอร์แลนด์

????EP.9 วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน

คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล ปริญญาโท European Public Law Organization , กรีซ

กำลังศึกษาปริญญาเอก Université Toulouse Capitale , ฝรั่งเศส

????EP.10 วันศุกร์ที่ 30 เมษายน

คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล นักวิจัย Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา

✅ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

????ช่องทางรับชม

Facebook: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

YouTube: THE STATES TIMES

น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี | THE STUDY TIMES Story EP.1

บทสัมภาษณ์ น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา
สาวน้อยนักเรียนทุน มุ่งมั่นพัฒนาวิทยาศาสตร์ ด้วยฟิสิกส์ผสมผสานดาราศาสตร์

ปัจจุบันน้ำหวานอยู่ในช่วง Prep school ที่ New Hampton School สหรัฐอเมริกา เข้าอาทิตย์ที่สี่เริ่มปรับตัวได้แล้ว Prep school คือโรงเรียนเพื่อเตรียมตัว ปรับตัวรับกับวัฒนธรรมอเมริกา เตรียมพร้อมเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เสริมภาษาอังกฤษ ให้มีมาตรฐานที่ดีในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเงื่อนไขของเด็กทุน 

เนื่องจากน้ำหวานเคยมีประสบการณ์ในการไปดูงาน ทัศนศึกษาต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง มีการเตรียมตัวมาแล้ว ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก

ที่โรงเรียนมีกิจกรรม Project week เป็นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถเลือกทำได้ตามความสนใจ ไม่เฉพาะเชิงวิชาการเท่านั้น เช่น ออกไปปีนเขา ทำเส้นทางเดินเขา งาน Art การทำอาหาร โดยน้ำหวานเลือกไปทำอาสาสมัครเกี่ยวกับการศึกษาของยูกันดา ศึกษาวัฒนธรรม การเมือง ว่าส่งผลต่อยูกันดาอย่างไร พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

ในมุมมองความเสมอภาคทางการศึกษา น้ำหวานมองว่า เพราะตัวเองอาจไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมาก แต่เพราะอยู่ในสังคมที่มีโอกาสเข้าถึง น้ำหวานมองว่าโอกาสเหล่านี้คือโชค เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้รับ แต่น้ำหวานโชคดีที่ดันได้รับโอกาสนั้นมา แต่การศึกษาไม่ควรเป็นเรื่องของโชค การศึกษาเป็นพื้นฐานของทุก ๆ อย่าง ปัญหาใดๆ จะแก้ได้ ต้องเริ่มด้วยการศึกษา น้ำหวานเลยอยากให้การศึกษามีความเท่าเทียมกัน 

ก่อนเดินทางมาอเมริกา น้ำหวานย้ายจากกทม. ไปอยู่เชียงใหม่คนเดียว ไปเป็นจิตอาสาพาน้องเดินป่าที่เชียงดาว ที่นั่นน้ำหวานได้พบคำถามและคำตอบสุดเซอร์ไพรส์ของเด็กน้อยในค่ายอาสา เด็กคนหนึ่งมาถามน้ำหวานว่า “ถ้าเราไปดาวอังคาร เราจะหายใจยังไง” น้ำหวานให้ข้อมูลน้องไปว่า “นั่นน่ะสิ บนดาวอังคารมีแต่คาร์บอนไดออกไซด์เต็มไปหมด” ด้วยความคุ้นเคยกับป่าไม้ น้องๆ เลยตอบกลับมาว่า “ปลูกต้นไม้สิ ต้นไม้จะได้เปลี่ยนจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน” สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้ำหวานต่อยอดซื้อกล้องโทรทรรศน์ให้กับน้อง ๆ ที่บ้านเด็กกำพร้า พร้อมทั้งได้สอนดาราศาสตร์เพิ่มเติมให้กับน้อง ๆ อีกด้วย 

น้ำหวานเป็นผู้ที่ได้รับทุนพสวท. ตั้งแต่ระดับม.ปลาย ไปจนถึงระดับปริญญาเอก โดย พสวท. คือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

น้ำหวานแนะนำการเตรียมตัวสอบเข้าพสวท. ไว้ว่า ข้อสอบมีทั้งแบบอัตนัย และปรนัย สามารถเตรียมตัวจากหนังสือสสวท.ได้เลย หมั่นทำโจทย์ แต่สิ่งที่มากกว่าการทำโจทย์ หรือการอ่านหนังสือ คือนิสัยช่างสังเกต กระบวนการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้จะทำให้เข้าใจโจทย์ สามารถตอบตรงใจกรรมการได้มากขึ้น เพราะนอกจากข้อสอบอัตนัยปรนัย ยังมีข้อสอบเชิงความคิดสร้างสรรค์ ที่คะแนนจะขึ้นอยู่ที่การตอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ 

ความสนใจในฟิสิกส์ของน้ำหวานนั้น เริ่มมาจากการขี่จักรยานกับเพื่อนในซอยตอนเด็กๆ ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ยันค่ำ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสีของท้องฟ้า จากฟ้า เป็นส้ม บางวันก็ออกแดง ชมพู ตอนนั้นตนก็สงสัยว่าทุกเย็นมีใครต่อท่อส่งลาวาขึ้นไปบนฟ้ารึเปล่า บางวันฝนตกก็ได้เห็นสายรุ้ง ช่วงค่ำเวลาเดิมของแต่ละเดือน เกิดคำถามตามมาว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง จินตนาการ และความสนใจ ทำให้มุ่งหน้าสู่วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ 

น้ำหวานอธิบายว่า ฟิสิกส์ เป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ในจักรวาลของเรา ไม่ใช่ฉพาะเรื่องของสูตรการคำนวณ 

นอกจากนี้ น้ำหวานเล่าให้ฟังว่า ได้รับการตอบรับจาก University of California Santa Cruz หรือ UCSC แล้ว โดยเหตุผลที่เลือก UCSC เนื่องจากน้ำหวานให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตที่สุดและมีความสุขกับการอยู่ในป่าเขา UCSC มีความเป็นธรรมชาติสูง และมีโอกาสในการทำวิจัย 

ตัวน้ำหวานสนใจงานวิจัยเรื่อง Optics ทัศนศาสตร์ การมองเห็น  เรื่องของแสงสี และ UCSC อยู่ใกล้หอดูดาว ตอบโจทย์การพัฒนาในด้านดาราศาสตร์ที่สนใจ 

ในเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในไทย น้ำหวานมองว่า ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนดีกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม อยากให้การศึกษากระจายตัว ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาดีๆ ใกล้บ้าน ไม่ต้องห่างไกลครอบครัว ไม่ต้องเผชิญอยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขัน จนไม่มีเวลาสำรวจตัวเองว่าสนใจด้านไหนจริงๆ 

ส่วนในเรื่องของระบบการศึกษา น้ำหวานมองว่า ไม่อยากให้ครูเป็นเพียง Teacher แต่อยากให้ครูเป็น Facilitator สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีตัวตน คือความคิด ความสนใจของเรา เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนมีแก่นที่แตกต่างกันไป อยากให้มีครูที่เป็น Facilitator ที่สามารถดึงศักยภาพนักเรียนและช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาด้านที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ออกมาได้

.

.

.

.

THE STUDY TIMES STORY เปิดตัวสัปดาห์แรก พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY เปิดตัวสัปดาห์แรก 

????วันจันทร์ที่ 19 เมษายน - วันศุกร์ที่ 23 เมษายน 

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง 

พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.1 วันจันทร์ที่ 19 เมษายน
คุณน้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา

????EP.2 วันอังคารที่ 20 เมษายน
คุณมี่ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และ ผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

????EP.3 วันพุธที่ 21 เมษายน
คุณยีนส์ อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ คอลัมนิสต์อิสระ, นักแปล เรียนต่อออสเตรเลียและจีน 
The University of Queensland 
Shanghai Normal University 

????EP.4 วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน
คุณแอล ทักษ์ดนัย นิลกำแหง
ปริญญาตรี Portland States University สหรัฐอเมริกา

????EP.5 วันศุกร์ที่ 23 เมษายน
คุณเจน ณัฐภา กมลเศวตกุญ
นักธุรกิจด้านแฟชั่น เรียนต่อออสเตรเลียและอิตาลี
Melrose high school, Canberra Australia
Istituto Marangoni, Milan Italy

✅ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

????ช่องทางรับชม 
Facebook: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES
YouTube: THE STATES TIMES


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top