คุณตอง ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา | THE STUDY TIMES STORY EP.37

บทสัมภาษณ์ คุณตอง ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา ปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยา สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
นักอาชญาวิทยา ผู้ตัดสินใจศึกษาต่อด้านอาชญาวิทยา เพื่อต่อยอดความรู้ในศาสตร์ที่สนใจ

ปัจจุบันคุณตองเป็นนักอาชญาวิทยาและอาจารย์พิเศษสอนวิชาอาชญาวิทยาและปรัชญา 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากธรรมศาสตร์มีการเปิดสาขาการวิจัยทางสังคมขึ้นมาเป็นปีแรก ซึ่งงานวิจัยในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย จึงเกิดความคิดว่าน่าจะเป็นการดีถ้าเป็นรุ่นแรกที่ได้เรียน เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณตองเข้าเรียนปริญญาตรี ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาการวิจัยทางสังคม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

หลังจบปริญญาตรี คุณตองได้ไปลองสอบตำรวจ เป็นได้ประมาณ 6-7 ปี หลังจากนั้นรู้สึกว่าภาพตำรวจที่วาดฝันกับงานที่ได้ทำจริงมีความแตกต่างกันมาก เกิดความรู้สึกว่านี่อาจจะไม่ใช่ทางของเรา จากนั้นสนใจอยากศึกษาเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมเพิ่ม เพื่อนำมาพัฒนางานตำรวจ ซึ่งศาสตร์อาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก จึงตัดสินใจไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

คุณตองเล่าว่า ศาสตร์อาชญาวิทยามีมานาน 200 กว่าปี แต่มีชื่อเสียงอยู่ในฝั่งยุโรป แทบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษจะมีคณะอาชญาวิทยา แต่ในประเทศไทยมีแค่ 1-2 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในปัจจุบัน ซึ่งการเรียนปริญญาโทที่อังกฤษใช้เวลาเรียนแค่ 1 ปีเท่านั้น แต่ช่วงเวลาที่เข้า Coursework จริงเพียงแค่สี่เดือน ส่วนเวลาที่เหลือต้องมานั่งทำวิทยานิพนธ์เอง อยู่อังกฤษรวมๆ แล้วเกือบสองปี จนสามารถจบการศึกษา Graduated M.Sc. Criminology and Criminal Justice ที่ University of Portsmouth มาได้

คุณตองเล่าว่า ด้วยความที่ไม่เคยเรียนอาชญาวิทยามาก่อน การไปเรียนที่อังกฤษเหมือนกับการปูพื้นฐานใหม่ เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาชญาวิทยาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคล่าแม่มด วิธีการค้นหาบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นแม่มด กระบวนการลงโทษคนผิดเมื่ออดีต ต่อมาคือเรียนวิชาทฤษฎีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทั้งหมด สาเหตุใดบ้างที่ทำให้คนๆ นึงก่ออาชญากรรม หรือเป็นอาชญากร 

สำหรับนักอาชญาวิทยาในประเทศไทย จะไปช่วยอยู่ในหลายเซคชั่นของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นไกด์แนวทางตำรวจ ศึกษาไปถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของอาชญากร และการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้สามารถหวนคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ

หลังเรียนจบปริญญาโทที่อังกฤษ คุณตองเริ่มรู้สึกอยากเรียนลึกไปถึงสาเหตุและจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของอาชญากรรม จึงเข้าเรียนต่อปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยา สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นได้เป็นอาจารย์พิเศษรับสอนวิชาอาชญาวิทยา วิชาทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม 

ความแตกต่างด้านการเรียนอาชญาวิทยาที่ไทยกับอังกฤษนั้น คุณตองเล่าว่า ของอังกฤษจะเน้นสอนอะไรที่เป็นทั่วไป แต่ที่ประเทศไทยจะลงลึกในกระบวนการยุติธรรม หรือสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การดัดแปลงความรู้จากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทย ความแตกต่างจะอยู่ที่การปรับใช้ได้จริง 

คุณตองแนะนำสำหรับคนที่สนใจศึกษาอาชญาวิทยา ว่า อาชญาวิทยา เป็นสหวิทยาการ คือไม่ใช่ศาสตร์ที่มีความเข้นข้นในตัวเอง เป็นสหวิชาที่ต้องอาศัยความรู้ในหลายๆ ด้านมาบูรณาการ จะเรียนปริญญาตรีอะไรมาก่อนก็ได้ จากนั้นค่อยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งมหาวิทยาลัยในไทยที่เปิด ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรังสิต 

คุณตองฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อาวุธของเราทุกวันนี้ อยู่แค่ในมือของเรา ความรู้ทุกอย่าง หนังสือเป็นล้านเล่ม สามารถเข้าถึงได้ผ่านมือถือ ไม่จำเป็นว่าอยากมีความรู้อะไรต้องดั้นด้นบินไปถึง คณาจารย์หลายๆ ท่านที่เป็นนักอาชญาวิทยาได้เขียนบทความไว้ให้น้องๆ ได้ศึกษาเบื้องต้น มือถือเป็นเหมือนอาวุธอย่างดีในการหาความรู้ 

.

.

.

.