Sunday, 12 May 2024
SPECIAL

"คำรณวิทย์" ห่วงใยเด็กปทุมธานี วางยุทธศาสตร์การศึกษาให้มีที่เรียนระดับมหาลัยจบมามีงานทำ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10:00 น. ที่โรงเรียนสามโคก ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการเข้าเยี่ยมชมและมอบนโยบายในการดำเนินงานเเนวทางการบริหารของโรงเรียนสามโคก สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี

โดยมี นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน รร.สามโคกให้การต้อนรับ โดยพล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายเสวก ประเสริฐสุข นายเวนิต วัฒนธำรงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายยุทธนา แสงพงศานนท์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ชมนักเรียนแสดงความสามารถ ทางด้านภาษาต่างประเทศ การแสดงรำไทย โขน กลองยาว โปงลาง รวมถึงด้านกีฬา และมีการจัดบูธนิทรรศการผลงานนักเรียนที่ได้รางวัลในการแข่งขันต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากนั้นได้เขียนบันทึกในสมุดเยี่ยมแสดงความชื่นชม ร.ร.สามโคกทุกด้านที่พัฒนาไปมาก และต้องพัฒนาต่อไป ลูก ๆ ร.ร.สามโคกต้องสู้ได้และชนะในทุกเวที

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ผมได้เชิญ ผอ.กิจจา ชูประเสริฐ , ผอ.อารีวรรณ เอมโกษา , ผอ.สมชาย ฟักทอง , ผอ.วรพันธ์ แก้วอุดม , ผอ.วีระพงษ์ ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาทางการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี มาเพื่อระดมความคิดในการทำงานร่วมกับ นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก เราต้องการให้โรงเรียนสามโคกสามารถพัฒนาเด็กให้สู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ทุกเวที แต่ถ้าหากเรารับเด็กทั้งหมดโดยไม่ผ่านการคัดกรองก็จะไม่มีการแข่งขัน โดยมาร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาที่เดี่ยว ก็จะส่งผลกระทบให้โรงเรียนอื่นๆในพื้นที่เช่นจากที่เคยมีเด็กเกือบ 1,000 คน ทำให้เหลือเพียง 200 คน จึงต้องมีการแก้ไขทั้งระบบให้เด็กนักเรียนในจังหวัดปทุมธานีต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งจังหวัด อย่างเท่าเทียม

ซึ่งวันนี้ได้เห็นความสามารถการแสดงออกของเด็กพบว่าดีมากและไม่แพ้ใครเลย เพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์รวมถึงไม่ได้สัมผัสกับอีก 22 โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอื่น ๆ ภายในจังหวัดปทุมธานี เบื้องต้นได้ประสาน ผอ.เขตการศึกษา เพิ่มโรงเรียนสามโคกเป็นโรงเรียนที่ 23 เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันกับโรงเรียนอื่น  นอกจากนี้ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 จะมีการ MOU กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อให้เด็กที่จบ ม.6 มีการต่อยอดการศึกษาหลากหลายด้านในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งทางตนเองและคณะที่ปรึกษาทางการศึกษากำลังวางแผน ยุทธศาสตร์ทางการศึกษาให้เด็กนักเรียนปทุมเรียนจนจบ ระดับมหาวิทยาลัยและมีงานรองรับทำงานเลี้ยงชีวิตและครอบครัวต่อไป ไม่ใช่เรียนจนจบแต่ไม่มีงานทำ

ส่วน นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก กล่าวว่า เนื่องจากลูก ๆ นักเรียนโรงเรียนสามโคกที่ได้เข้ามาเรียนก็มีความคาดหวังในการที่จะดูแล และสนับสนุน ในเรื่องของวิชาการ ทักษะอาชีพ ศีลปะ ดนตรี และกีฬา ถือว่าเป็นทักษะชีวิตสำหรับเขาที่จะออกไปเป็นคนที่มีคุณภาพ รวมถึง คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ให้นโยบายมาเพื่อสร้างเครือข่ายทางการศึกษาร่วมกับ สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดและเขต

รวมถึงสถาบันระดับอุดมศึกษาเพื่อเติมเต็ม ซึ่งทางโรงเรียนให้ความร่วมมือ ถือว่าคุณครูของโรงเรียนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ รวมถึงนักเรียนจะได้มีเวทีแสดงออกพบปะกับสังคมเพื่อการเรียนรู้ที่มากขึ้น และคาดหวังว่าลูก ๆ นักเรียนจะได้รับการสานต่อความรู้ความสามารถให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนำกลับมาตอบแทนท้องถิ่นให้จังหวัดปทุมธานีมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

"ผู้ว่าฯ ปทุมธานี" ประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ตลาดเก่า 100 ปี คลองสิบสอง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา  

โดยมี นายสุทัศน์  คงแย้ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี นายรนัชถ์ชัย พุ่มเจริญ นายอำเภอลำลูกกา  นางสาวธนียา นัยพินิจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวพิมพกานต์  พิพิธธนานันท์ ผอ.ททท.สำนักงานกรุงเทพ นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี  ผศ.ดร.ดรุณศักดิ์ ตติยะลาภะ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์  ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชนพัฒนาตลาดเก่า ชุมชนตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา

พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดเก่าร้อยปี คลอง 12 หกวา เพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลตลาดเก่าร้อยปีให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว


ภาพ/ข่าว : ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

"ศรชล.(MECC)" จัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน

วันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น  ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมพรคาบาน่า หมู่ที่ 8 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร  นาวาเอก กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิด - ปิด กิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดชุมพร ได้รับความสนใจจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมรับฟังจำนวน 80 คน

นาวาโท กรภัทร ศรีพิพัฒน์ กล่าว่า ด้วยศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร บรรยายถึงแนวทางการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ศรชล 2562 จากวิทยากร ศณชล จังหวัดชุมพร ได้รับรู้ถึงเรื่อง กฎ ระเบียบเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีการประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้าน จากวิทยากร ทช.  วิทยากรสำนักงานประมงจังหวัดชุมพร และวิทยากรจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมพรคาบาน่า และจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต่อไป

นาวาเอก กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง เปิดเผยว่า ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเข้าร่วมกิจกรรม สร้างการตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านด้วยศูนย์อำนวยการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร กำหนดจัดกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร  และจะได้นำไปประกอบการใช้ชีวิตในการทำประมงพื้นบ้านอย่างถูกต้องต่อไป


ภาพ/ข่าว : ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทาน มอบแก่ราษฎรกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 จ.ยะลา พร้อมกับเยี่ยมและให้กำลังใจ

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 18 มี.ค.63  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี  และคณะฯ เดินทางไปยังวัดพุทธาธิวาส ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อนำเครื่องไทยธรรมพระราชทานไปถวายแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โอกาสนี้ พระสงฆ์สวดมนต์ถวายพระพรชัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียนนักศึกษา ประชาชน เข้าร่วม

วัดพุทธาธิวาส สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2460 เดิมชื่อ “วัดเบตง”  ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา มีพระธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรม ตั้งโดดเด่นมองเห็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์สวยงามมาก โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฎีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานนาม และเสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนยอดฉัตรเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2536

นอกจากนั้นยังมีพระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และวิหารพระครูพิศิษฐ์อรรถการ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพุทธาธิวาสเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2546

จากนั้น องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังบ้านปิยะมิตร 1 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 60 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ในความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทยเสมอมา

บ้านปิยะมิตร 1 ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านยุทธศาสตร์แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531 ด้วยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 และกรมป่าไม้ ให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเบตง ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเบตง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ 3,250 ไร่ โดยจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ราษฎรครอบครัวละ 1 ไร่ ที่ทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ ส่วนที่เหลือไว้เป็นที่ป่าชุมชุนส่วนรวมของหมู่บ้าน มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี และตั้งชื่อว่า หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ปัจจุบันมีจำนวนประชากรรวม 305 คน ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มสมุนไพรปิยะมิตร 1 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531

ส่วนใหญ่สมาชิกไม่รู้หนังสือและพูดไทยไม่ได้ อาศัยอยู่ในป่าทำให้มีความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดี จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นศูนย์รวมการรับซื้อสมุนไพรของสมาชิก และทำสมุนไพรขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ปัจจุบันมีสมาชิก 210 ครัวเรือนและมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตร 1 เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ มีอุโมงค์ ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สร้างขึ้นเป็นฐานปฏิบัติการ  ประกอบกับชาวบ้านมีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า จึงระดมทุนจากสมาชิกในชุมชนมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปลูกผักน้ำ เนื่องจากชุมชน ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำและมีอากาศเย็น มีแหล่งน้ำสะอาดเหมาะกับการปลูกผักน้ำ ชาวบ้านจึงได้ทดลองปลูกซึ่งได้ผลดี ต่อมาในปี 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ จำนวน 450,000 บาท เพื่อดำเนินการสร้างบ่อปลูกผักน้ำในพื้นที่ใหม่และให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ราษฎรในชุมชนอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนจวบจนถึงปัจจุบัน

จากนั้น องคมนตรี ได้พบพี่น้องประชาชนและเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มบ้านปิยะมิตร 1 อาทิ การปลูกผักน้ำ การบริหารจัดการด้านการค้าขาย และการดูแลรักษาป่าในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์ของอุโมงค์ปิยะมิตร


ภาพ/ข่าว : ธานินทร์ โพธิทัพพะ ปื๊ดเบตง

ร.13 พัน 3 ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ที่ตั้งใกล้หน่วย บรรเทาความเดือดร้อน ห้วงโควิดระบาด

กำลังพลจาก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13  ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการช่วยเก็บถั่วฝักยาว ขนถ่ายผลผลิต และรับซื้อถั่่วฝักยาว ที่เป็นผลผลิตของเกษตรกร ไปประกอบเลี้ยงกำลังพล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณใกล้ที่ตั้งหน่วย โดยรับซื้อถั่วฝักยาวจาก นายพงษ์ศักดิ์ หยงเมือง บ้านเลขที่ 209 หมู่ที่ 13 บ้านหมูม่น ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 กก.เป็นเงิน 1,200 บาท

พ.ท.บริสุทธิ์ สุจินพรหม ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 กล่าวว่า กรมทหารราบที่ 13 โดย พ.อ.มงคล หอทอง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 สั่งการให้หน่วย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 นำกำลังพลเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณรอบที่ตั้งหน่วย ห้วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำมาประกอบเลี้ยงให้กับกำลังพลภายในหน่วยได้รับประทานพืชผักสดใหม่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังการสร้างขวัญ กำลังใจ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

นายพงษ์ศักดิ์ หยงเมือง เกษตรกร กล่าวว่า ขอขอบคุณทางกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 เป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนในครั้งนี้ เพื่อได้เป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกร รายได้ที่ได้ ก็จะได้เอามากไว้จุนเจือครอบครัวต่อไป

จังหวัดราชบุรี แถลงสถานการณ์โควิด-19 หลังพบผู้ป่วยเพิ่มจากคลัสเตอร์ตลาดบางแค

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมแพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ แพทย์ประจำสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และนายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ร่วมกันแถลงรายงานสถานการณ์ โควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดราชบุรี

โดยสถานการณ์ โควิด-19 จังหวัดราชบุรีช่วงวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2564 จังหวัดราชบุรีพบผู้ป่วยยืนยัน รายใหม่ 12 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันระลอกใหม่ปัจจุบัน จำนวน 46 ราย ขณะนี้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รักษาหาย 33 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใหม่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดที่เขตบางแค จากการตรวจเชิงรุกของ กทม. พบเป็นชาวจังหวัดราชบุรี  4 ราย และมีผู้สัมผัสสี่ยงสูงในครอบครัว พบไทม์ไลน์ไปหลายพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี จนขยายวงเชื่อมโยงไปถึงบุคคลในโรงเรียนเอกชน สถานที่ราชการ

ประกอบด้วย รายที่ 35 เพศชาย อายุ 28 ปี ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง อาชีพค้าขายที่ตลาดวันเดอร์ บางแค

รายที่ 36,37,38 เพศชาย จำนวน 1 คน  อายุ 49 ปี เพศหญิง จำนวน 2 คนอายุ 47 ปี และ อายุ 41 ปี อาศัยที่ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง อาชีพค้าขายที่ตลาดวันเดอร์ บางแค กทม. รักษาที่ รพ.ราชบุรี 

รายที่ 39,40 เป็นเพศหญิงอายุ 24 ปี และอายุ18 ปี เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของรายที่ 36,37 อาชีพรับราชการ และนักเรียนตามลำดับ รักษาที่ รพ.ราชบุรี

รายที่ 41,42.43 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายที่ 37 เพศชาย อายุ 48 ปี เพศหญิง อายุ 39 ปี เด็กหญิง อายุ 7 เดือนอาศัยที่ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง มีอาชีพรับราชการ รักษารพ.ราชบุรี

รายที่ 44 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายที่ 40 เพศหญิง อายุ 18 ปี ตำบลป่าไก่ อำเภอปากท่อ เป็นนักเรียน รักษาที่ รพ.ปากท่อ

รายที่ 45 เป็นผู้สัมผัสเสียงสูงรายที่ 40 เพศหญิง อายุ 18 ปี ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา เป็นนักเรียน รักษาที่ รพ.บ้านคา

รายที่ 46 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงซึ่งทำงานที่เดียวกันกับรายที่ 42 เพศหญิง อายุ 34 ปี อาชีพรับราชการ รักษา รพ. ราชบุรี

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งหมดได้รับการตรวจแล้ว อย่างไรก็ดีหากสงสัยว่าสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายใหม่ หรือมีประวัติเดินทาง ไปตลาด ทั้ง 6 แห่ง ย่านบางแค ให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการคัดกรอง ประเมินความเสี่ยงและพิจารณาตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลีกเสี่ยงเดินทางไปในชุมชนแออัด


ข่าว/ภาพ : สุพจน์ วรสหวัฒน์ จ.ราชบุรี รายงาน

ศรีสะเกษ สั่งปิดโรงเรียนดัง หวั่นมีการแพร่เชื้อโควิด-19 หลัง Timeline ลูกของผู้ป่วยติดเชื้อนั่งรถตู้ไปเรียนหนังสือ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 64 ที่ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายยิ่งยง นันทวณิชชากร ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ได้ลงนามในประกาศ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย เรื่องแจ้งปิดสถานศึกษากรณีพิเศษ หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ศรีสะเกษ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จังหวัดศรีสะเกษ ได้แจ้งประชาสัมพันธ์พบผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ จ.ศรีสะเกษ เพศหญิง อายุ 49 ปี อาชีพค้าขาย ที่ตลาดบางแควันเดอร์ กรุงเทพมหานคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ และมีความเกี่ยวข้องเป็นผู้ปกครอง น.ร.ของ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย ทาง ร.ร. ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงได้ประกาศปิดสถานศึกษา ด้วยเหตุพิเศษ อาศัยอำนาจตามความในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549 ข้อ 9 วรรค 1 (4) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (2558) ว่าด้วยการเปิดและปิดสถานศึกษา

ผอ.ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย กล่าวว่า ตนจึงได้สั่งปิด ร.ร.ด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 17- 23 มีนาคม 2564 และปิด ร.ร.ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2564 เนื่องจาก ร.ร.เป็นสนามสอบโควตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปิด ร.ร.ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เนื่องจากเป็นสนามสอบ O-Net ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  รวมปิด ร.ร. พร้อมวันหยุดตั้งแต่วันที่ 17-29 มี.ค.64 ทั้งนี้ ร.ร. จะเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ ในวันที่ 30 มีนาคม 2564

ในช่วงปิด ร.ร.นี้ ทาง ร.ร.มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Google Classroom , Line , Facebook , 200m หรืออื่น ๆ น.ร. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ขอให้งดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ น.ร. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงทุกคนต้องแจ้งข้อมูลการเดินทางตามความจริง โดยไม่ปิดบังข้อมูลต่อ ผอ.ร.ร. หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกัน ตนได้สั่งการให้นักการภารโรงทุกคนร่วมกันใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดบริเวณอาคาร สถานที่และเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ส่วนรวม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

 

ด้าน นายธรรมรักษ์ จิตรดิษฐ์สกุล ผอ.ร.ร.นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 1 อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เนื่องจากลูกของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 นั่งรถตู้ไปเรียนที่ ร.ร.มารีวิทยาและ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย โดยรถตู้ดังกล่าวมารับเด็กที่บ้านนิคมหมู่ 11 ด้วย และเด็ก น.ร.ที่อยู่บ้านนิคมเป็นเพื่อนบ้านของ น.ร. ที่ ร.ร.นิคม 1 มีการคลุกคลี รับประทานอาหารด้วยกัน เล่นด้วยกันกับเด็ก น.ร. ที่ ร.ร.นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 1 จำนวน 4 คน ส่วนผู้ปกครองของ น.ร.ได้ไปร่วมงานกับกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโรค covid-19 ที่ อ.วังหินจำนวนหลายรายด้วยกัน จึงมีความจำเป็นต้องปิดเรียนเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ตามมาตรการป้องกันโรค covid-19 ของ จ.ศรีสะเกษ ตนจึงได้สั่งปิดเรียนเป็นเวลา 5 วันตั้งแต่วันที่ 17- 21 มีนาคม 2564 ด้วยเหตุพิเศษ ทั้งนี้ทาง ร.ร. จะดำเนินการเปิดสอนชดเชย ให้ครบ 200 วันในโอกาสต่อไป


ภาพ / ข่าว : ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ.ศรีสะเกษ

“นายไพร” ยันศาลชี้ชัด โครงการจัดหาทุนซื้อทองคำ ไม่ใช่เรื่องทุจริต เป็นเรื่องของระเบียน ลั่น ทำไปโดยสุจริตใช้เงินส่วนตัวไปช่วยโครงการหลายล้าน เป็นการปิดทองหลังพระ พร้อมเป็นทน.หาดใหญ่

ที่บ้านพักเขตเทศบาลนครหาด นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้กล่าวเปิดใจกับทีมข่าวสื่อมวลชน ที่มาร่วมทำข่าว ถึงกรณีในเรื่องของการถูกกล่าวหาว่า กระทำการโดยทุจริต เกี่ยวกับโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระพุทธมงคลมหาราช พระประจำเมืองหาดใหญ่

โดยกล่าวว่า ผมมีความตั้งใจที่จะบูรณะพระพุทธมงคลมหาราช องค์พระยืน เนื่องจากตอนผมเข้าไปองค์พระมันมีรอยรั่ว จึงตั้งใจบูรณะให้ดีขึ้น  เมื่อมีเงินแล้วจึงค่อยปิดทอง จึงคิดจะสร้างหลวงปู่ทวดขึ้นมาเพื่อให้คนเช่า ร่วมทำบุญเป็นการหาเงินสัก 60 - 70 ล้านบาทมาบูรณะ  ดังนั้นก็คือจากมูลนิธิสิรินธร ในพระบาทราชูปถัมภ์ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพ  ถ้าจะทำขนาดนี้เทศบาลก็ต้องลงทุนถึงเกือบ 40 ล้านถึงจะพอ เพื่อทำพระขึ้นมาชุดหนึ่ง และเมื่อขายแล้วหักต้นทุน ก็จะเหลือให้กำไรประมาณ 70 ถึง 80 ล้าน โดยเห็นว่าถ้าเอามา 30 - 40 ล้านมันดูเยอะ ก็จึงตกลงเอามาเพียงครึ่งเดียวพอ และอีกครึ่งหนึ่งจะไปหาจากยอดจองพระ จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยผ่านสภา และผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นก็ให้การอนุมัติ และดำเนินการตามระเบียบถูกต้องทุกอย่าง

เรื่องนี้ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามร้องเรียนแล้วป.ป.ช.ก็ชี้ว่าผิด ส่งเรื่องให้อัยการและบอกว่าตนดำเนินการโดยทุจริต เพราะไม่จัดประมูล ซึ่งผมก็สู้กันในชั้นศาลว่า เงินอุดหนุนมันไม่ต้องประมูล คนรับเงินอุดหนุนสามารถรับไปได้เลยและทำตามระเบียบของเขา ทั้งเงิน ทั้งของ เป็นของเขาหมด เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น เพียงแต่ส่งรายละเอียดว่าใช้จ่ายอะไรบ้างเท่านั้นพอ เช่นเดียวกับการอุดหนุนการจัดงานตรุษจีนให้แก่องค์กรต่าง ๆ ก็ไม่ต้องประมูล ซึ่งศาลวิเคราะห์ทุกอย่างแล้วดูรายละเอียด ศาลบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีทุจริต เพราะเงินก็ไม่อยู่ที่นายกไพร พระก็ไม่อยู่ที่นายกไพร เงินก็ส่งให้มูลนิธิสิรินธร ซึ่งก็ทำไปตามนั้นเพียงแต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับบัญชีจองพระนั้น ศาลบอกทำไมไม่ทำตามระเบียบเสีย แล้วขออนุมัติเข้าสภา เลยลงโทษ 157 ซึ่งก็ต้องอุทธรณ์ เงินจองพระ พระก็ยังไม่มีเป็นการจองก่อนล่วงหน้า เงินบัญชีก็ไม่ใช่ของเทศบาลยังไม่ถือว่าเป็นรายได้ของเทศบาล เราจึงประมูลจัดซื้อ จัดจ้างไม่ได้

ดังนั้นต้องชี้แจงและอุทธรณ์เรื่องนี้ไปว่า อย่างนี้มันสุดวิสัย ตรงนี้มันเป็นเพียงเรื่องระหว่างดำเนินการ และต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายอีกหลายเรื่องเช่นค่าจัดทำพระให้เพียงพอต่อการคุ้มค่าและได้กำไรตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ เกี่ยวกับการโฆษณา ค่าพิธีกรรม ค่าแพ็คกิ้งก็ดี และยังมีค่าอื่นๆอีกหลายล้าน  เอามาจากยอดจอง เทศบาลให้มา เพียง 20 ล้านเท่านั้น ยังมีหนี้สินจากการดำเนินโครงการอีกมาก และทำพระได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยอดจองนี้ที่ศาลบอกว่าทำไมไม่ทำแบบเดียวกันกับเงินก้อนแรกจากเทศบาล เลยลงโทษว่าผมไม่ปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วน เพราะตรงนี้ทำไมไม่ทำโครงการขึ้นมาไม่จัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งมันทำไม่ได้ และตรงนี้มันเงินข้างนอกไม่ใช่เงินของเทศบาล จึงต้องชี้แจงไปในชั้นอุทธรณ์ต่อไป  .

เพราะเงินยังอยู่กลางอากาศ เงินนี้เมื่อเคลียร์บัญชีกันเสร็จ เหลือพระเท่าไหร่ เหลือเงินเท่าไหร่ มูลนิธิก็จะส่งให้เทศบาลทั้งหมด พระนี่ก็จะเป็นของเทศบาลคนเดียวโดยไม่มีภาระผูกพันใด ๆ อีก ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ส่งเงินไปได้ 10 กว่าล้าน จาก 20 ล้าน  เท่ากับว่าเทศบาลลงทุนเพียง 5 ล้านบาท และยังมีพระรอจำหน่ายอีกเกือบ 100 ล้าน ดังนั้นจึงไม่เสียหายเลย แต่เขาบอกว่าผิดที่ระเบียบ ผิดที่ขั้นตอนการปฏิบัติซึ่งความจริงแล้วขั้นตอนก็ไม่ผิด ระเบียบก็ไม่ผิด และผมก็ไม่ทุจริต ผมได้ทำอย่างดีที่สุด ซึ่งผมเองก็ช่วยด้วยเงินส่วนตัวไปหลายล้านบาท โดยถือว่าเป็นการร่วมทำบุญเป็นการปิดทองหลังพระโดยไม่เคยบอกใครและไม่เคยไปอวดอ้างความดีอะไรกับใคร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผมผิดทั้ง ๆ ที่ผมกล้าเสียสละขนาดนี้ และผมก็หมดไปหลายล้าน ผมจึงไม่ทุจริตแน่นอน และศาลก็บอกแล้วว่าไม่ทุจริตจึงยกฟ้องในข้อกล่าวหาว่าทุจริต นอกจากในเรื่องของระเบียบ

ที่สำคัญที่สุด เทศบาลก็ไม่ได้เสียหาย ซ้ำยังได้ประโยชน์มาก และอีกประเด็นหนึ่งผมยืนยันได้ว่าไม่ผิดระเบียบแน่นอน ดังนั้นการที่ผมจะลงสมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ครั้งนี้จึงมั่นใจว่า ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกแน่นอน

ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าเทศบาลนครหาดใหญ่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ตนก็จะต้องชี้แจงข้อกฎหมายที่เราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นการทุจริต แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งก็ยืนยันว่าดำเนินการโดยถูกต้อง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ เทศบาลไม่เสียหายแต่ยังได้ประโยชน์ และได้กำไรจากโครงการนี้มหาศาล


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

นายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ ผวาโควิด-19 สั่งงดจัดงานสงกรานต์ ปี 64 ส่วนงานเทศกาลดอกลำดวนบาน ไม่หวั่นเดินหน้าจัดงานชูการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 ที่สำนักงานเทศบาลเมืองศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ น.ส.ศรีเสงี่ยม ณูรักษา ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ ได้ลงนามในหนังสือประกาศยกเลิกโครงการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2564 โดยมีข้อความระบุว่า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชน เป็นการเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโค-19 เทศบาลเมืองศรีสะเกษ จึงขอประกาศยกเลิกการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ปี 2564 ดังกล่าว

แม้ว่าขณะนี้มีแม่ค้าขายผักชาว อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ติดเชื้อโควิด-19 มาจากตลาดบางแควันเดอร์ กรุงเทพฯ จากการระบาดรอบ 2 เป็นรายแรกของ จ.ศรีสะเกษ โดยได้พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีสะเกษ แต่ว่า จ.ศรีสะเกษ ยังคงเดินหน้าจัดงาน “เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ” ประจำปี 2564 ที่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 17 - 21 มี.ค.64 นี้ เช่นเคย

โดยยังคงมีการแสดง แสง สี เสียง เรื่อง อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร ตอนสืบราชมรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7 ซึ่งจะเปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 17 มี.ค. 64 นี้ เวลา 19.00 น. และจะทำการแสดงให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้ารับชมรอบแสดงจริง ในวันที่ 19 - 21 มี.ค.นี้ เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะมีประชาชนมาร่วมชมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก


ภาพ / ข่าว : ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน มาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ประเทศเมียนมาร์ ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก นำคณะผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ประกอบไปด้วย พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการกองทัพบก ,พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยก 1 ค่ายรัตนรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตามสายงาน ผลการปฏิบัติงานความรับผิดชอบตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งเมียนมาร์ และประชุมสรุปแผนการเตรียมการปฏิบัติในการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้ทุกส่วนได้เตรียมความพร้อม รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เมียมาร์ ตามหลักมนุษยธรรมโดยใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นพื้นที่แรกรับ คัดแยก และดูแลจนกว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลักดันกลับประเทศตามช่องทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ กรณีมีผู้ได้รับผลกระทบอพยพจากสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาร์เข้ามายังฝั่งไทย ว่ากองทัพภาคที่ 4 ด้วยความรับผิดชอบของกองกำลังเทพสตรี ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งทุกพื้นที่ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมา โดยได้มีการจัดเตรียมพื้นที่แรกรับและพื้นที่พักรอชั่วคราวไว้ในพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ของจังหวัดระนอง และชุมพร พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ‘โลก - ไทย’

นับจากเดือนธันวาคม 2019 ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวลง หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จนหลายคนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1930

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อพิชิตไวรัสดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กว่า 300 ล้านโดสให้กับประชากรทั่วโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในช่วงกลางปี 2021 นี้

ประเด็นที่น่าสนใจจากการใช้ประโยชน์จากวัคซีนโควิดที่มีการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น คือ การนำไปสู่ความปกติใหม่ หรือ ’New Normal’ ของการใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ซึ่งเป็นหลักฐานการได้รับวัคซีนสำหรับผู้ต้องการเดินทางระหว่างประเทศทั้งเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนา ‘แอปพลิเคชันพาสปอร์ตวัคซีน’ อาทิเช่น…

...แอปพลิเคชัน IATA Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ

...แอปพลิเคชัน CommonPass เพื่อใช้ในสายการบิน Jet Blue, Lufthansa และ United

...แอปพลิเคชัน IBM Digital Health ของบริษัท IBM

...และแอปพลิเคชัน iProov แพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการจัดการวิกฤตสุขภาพของประเทศอังกฤษ

เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมสำคัญในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติได้เหมือนเดิมอีกครั้ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า หากวิกฤติโรคระบาดคลี่ ‘คลายลง’ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 5.8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและอินเดียที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.3

ในส่วนของประเทศไทย ภายหลังจากการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ล็อตแรก 2 แสนโดส (จากทั้งหมด 2 ล้านโดส) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อีกทั้งการยื่นขออนุญาตจาก อย. ของภาคเอกชนจาก 4 โรงพยาบาลใหญ่ ‘ธนบุรี - รามฯ - กรุงเทพ - เกษมราษฎร์’ นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก และโนวาแวกซ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ขณะเดียวกันมติเห็นชอบการใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีนของไทย’ จากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น เชื่อได้ว่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลบวกและกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% – 3.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3% – 5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% - 1%

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้านี้ จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่...

1.) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ

2.) การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3.) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ตามในปี 2021 แนวโน้มเศรษฐกิจของโลก และของไทย กำลังจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุด ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกที่ผ่านมา แต่จะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติแค่ไหน จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของระบบเศรษฐกิจอย่างเฉิดฉายเพียงใด อีกไม่ช้านี้ คงได้ทราบกัน...


แหล่งที่มา

https://www.bbc.com/thai/international-52291254

https://www.jsccib.org/th/news/view/350

https://www.prachachat.net/economy/news-623456

https://www.prachachat.net/marketing/news-623170

สัญญาณ 'กู้ชีพ' ครั้งใหม่

แม้จะมีการโยกสับเปลี่ยนขยับคนใหม่ ไถคนเก่าออกเป็นระลอกคลื่นในวิก 3 พระราม 4 ตลอดร่วมครึ่งทศวรรษ

แต่ดูเหมือน สัญญาณแห่งการ ‘ฟื้นคืนชีพ’ และสร้างความยิ่งใหญ่แบบในอดีต อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดในช่วงนี้นัก

เพราะส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าช่อง 3 เป็นสินค้าที่อยู่ในตลาดที่ยากและท้าทายมาก แถมตอนนี้จังหวะของธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้สวยหรูอะไรนัก เพราะโซเชียลมีเดียก็มีข่าวสารให้เสพแบบไม่ต้องง้อทีวี หรือแม้แต่คอนเท้นท์อื่น ๆ ก็มีให้เลือกมากถึงมากที่สุดในโลกออนไลน์

ภาพความลำบากของช่อง 3 จึงเริ่มเห็นได้ชัด จากธุรกิจที่ไม่เคยขาดทุน จนได้สัมผัสกับคำว่าขาดทุนครั้งแรกในช่วงปี 2561

ปี 2560 รายได้ 11,226 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 10,504 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้ 8,779 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่อง 3 แบกต้นทุนทำทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่องมาตลอด แม้เดือนกันยายน 2562 ได้ตัดสินใจคืนใบอนุญาต 2 ช่อง (ช่อง 3SD / ช่อง 3Family) แต่ก็ไม่ช่วยให้ผลประกอบการกระเตื้องขึ้นมาก เต็มที่ก็คือการคงผลขาดทุนให้ลดลง

อีกส่วนหนึ่ง คือ การจากลาหน้าจอของ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ แห่ง ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ (เรื่องเด่นเย็นนี้ / เรื่องเล่าเสาร์ - อาทิตย์) หลังจากเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกตัวเขาในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง ที่โยงคดีทุจริตค่าโฆษณาส่วนเกิน อสมท. 138 ล้านบาทเป็นเวลา 6 ปี 24 เดือน

อย่างไรก็ตาม เสียง ‘สัญญาณกู้ชีพ’ ครั้งใหม่ ที่เหมือนจะถูกฝากความหวังไว้ ก็เริ่มก่อเค้าลางๆ หลังจากอีกไม่นานอดีตพิธีกรข่าวชื่อดังแห่งช่อง 3 จะได้ก้าวออกสู่โลกแห่งอิสรภาพ พร้อมการคัมแบ็คช่อง 3 ในรายการข่าวเรียกแขกแบบเร็ววันพ่วงกำไล EM ให้ดราม่ากันเบา ๆ

และนั่นก็ทำให้ 'อดมโน' ไม่ได้ว่า สรยุทธ กับรายการ (ที่อาจจะเป็น) เรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งยังมีหน้าตาของเขาเป็นโลโก้แม้วันที่เจ้าตัวไม่อยู่ จะมีส่วนทำให้ช่อง 3 กลับมาผงาดได้เหมือนแต่ก่อน

ความคิดและคำพูดเช่นนี้อาจจะดูเว่อร์ไปนิด แต่ถ้ามองตามตรรกะ ต้องยอมรับว่า ‘ฝีปาก’ ของสรยุทธนั้น พร้อมฉุดให้ทุก ๆ คอนเท้นท์ที่รันบนแพลตฟอร์มของช่อง 3 มีคนดูได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข่าว, ละคร, อีเว้นท์ หรือผลงานต่าง ๆ ของทางช่อง และต่างค่ายที่อยากมาโปรโมท แต่พอไม่มีสรยุทธ ทุกอย่างก็ดูดรอปลงตามสภาพ

ลองเทียบดูได้จากแค่รายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ ที่ไร้สรยุทธ ที่พอจะทำให้เห็นภาพความดรอป โดยอ้างอิงข้อมูลจาก TV Digital Watch พบว่า เรตติ้งรายการเรื่องเล่าเช้านี้ มีแต่ลดฮวบ ๆ ตั้งแต่ที่เริ่มมีกรณีคดีไร้ส้มเข้ามาเอี่ยว และสรยุทธเริ่มเฟดตัวออกจากช่อง 3

...2557 = 2.852

...2558 = 2.139

...2559 = 1.545

...2560 = 1.101

...2561 = 0.945

โดยเรตติ้งเฉลี่ยของภูมิภาคที่ตกแบบเด่นชัด คือ กรุงเทพและปริมณฑล ที่ตกมาตั้งปี 2557 ซึ่งเดิมมีอยู่ 4.794 ลดลงเหลือเพียง 1.881 ในปี 2561 ซึ่งไอ้ที่แย่ คือ ภูมิภาคนี้ คือ ฐานที่ช่อง 3 มีไว้กำราบช่อง 7 ที่ควบคุมตลาดภูธรนี่น่ะสิ

อันที่จริงแล้ว หากตัดปัญหาเรื่องเงินโฆษณา 138 ล้านบาท (กับ อสมท.) ที่ถือเป็นสึนามิครั้งใหญ่ของชีวิต สรยุทธ เชื่อว่าช่อง 3 อาจจะยังมีสถานภาพที่งดงามในโลกดิจิทัลคอนเท้นท์บูม เพราะจะตั้งธงให้พี่ยุทธไปรุกช่องทางไหน หรือชี้บวกชี้ลบคอนเท้นท์ทุกสไตล์ ในวันที่เขาเป็นเหมือนไอดอลของคนทุกรุ่น มันก็ไม่ได้ยากมากเท่าไร

แต่การจากหน้าจอไป ในยุคที่ใคร ๆ ก็ลืมง่าย มันคือช่องว่างที่ยากลำบากแก่การอุด

แถมตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่อง 3 หรือจะบอกว่าพี่ยุทธและไร่ส้มก็ได้นั้น แทบไม่ได้สร้างนักเล่าข่าวชายเพื่อมารองรับกรณีที่แกจะถอยออกไปเป็นเถ้าแก่ หรือแม้แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ต้องเว้นวรรคด้วยแม้แต่น้อย ทำให้ช่อง 3 และรายการข่าวไม่มีตัวแทน พอไม่มีตัวแทนภาพก็เป็นเช่นนี้

ที่บอกว่าไม่มีตัวแทน ไม่ใช่ว่าไม่มีคนมาเล่าข่าวแทน แต่คนที่มีเขี้ยวเล็บแบบนี้ ในปฐพีก็มีน้อย หรือถึงแม้จะมีอยู่ ก็ใช่ว่ามาแทรกปุ๊บจะแทนที่พี่ยุทธได้ทันที และที่สำคัญก็ไม่รู้พี่ยุทธอยากให้มาแทนด้วยรึเปล่านิสิ

อย่างไรก็ตาม ในการกลับมาของ สรยุทธ ที่ว่ากันว่าช่วงอยู่ในเรือนจำ ก็ปั๊มฐานออนไลน์ไว้เพียบ จากแฟนคลับที่ติดตาม ‘เรื่องเล่าชาวเรือนจำ’ หลักล้านคน น่าจะเป็นแรงส่งช่วยดันยอดชมเหวี่ยงมาประคองช่อง 3 ได้ระดับนึง

แต่มันจะถึงขั้นทำให้ช่อง 3 เติบโตเปรี้ยงปร้างได้จริงแค่ไหน? อันนี้น่าคิด เพราะในยุคที่ข่าวกลายเป็นเรื่องที่ ‘คนธรรมดา’ ก็สามารถแจ้งความคืบหน้าได้ แถมตอนนี้ยูทูบเบอร์ หรือบล็อกเกอร์บางราย มีอิทธิพลสูงส่งเสียยิ่งกว่าคนหน้าจอแก้วซะอีก

การพูดให้เชื่อ การโหนให้เฮ!! จะยังเป็นได้เช่นเคยหรือไม่? จึงต้องดู...

ยิ่งไปกว่านั้น การห่างหายจากหน้าจอไปนานของพี่ยุทธ จะยังแรงพอโกยคนที่มีการรับชมคอนเท้นท์แบบ ‘ส่วนตัวสไตล์’ มากขึ้นให้ ‘คืนกลับมาหา’ เพียงเพราะมีชื่อ ‘สรยุทธ’ คนเดียวแล้วกู้สถานการณ์ได้หรือไม่นั้น มันก็อดคิดไม่ได้ว่าจะง่ายได้ขนาดนั้นเลยหรือ?

ยกเว้นแต่ช่อง 3 พลิกคิดคอนเท้นท์ใหม่ แบบที่ ‘น้าเน็ก’ แกออกไปทำเอง แนวๆ คุยให้เด็กมันฟัง เอ้อ!! แบบนั้นอะ!! เข้าที แล้วหลังจากนั้นโมเดลด้านคอนเท้นท์ของช่อง 3 ก็อาจจะต้องรื้อใหม่หมด (หรือไม่?) ละครตบตี กระทำชำเรา ที่ทำให้โซเชียลด่ากันระงม หรือรายการวาไรตี้เดิม ๆ อาจต้องปัดฝุ่นไหม หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนทิ้ง เพื่อเสริมแรงแบบ 2 ทาง (สรยุทธ + ช่อง 3 New Model)

เหล่านี้แลดูน่าสนในเชิงขององค์รวม!!

เพียงแต่ผลลัพธ์ของมันจะปังแค่ไหน ในวันที่มือปืนเก่ายังโบกมือลา ส่วนมือปืนใหม่ ๆ ที่หวังจะเข้ามาช่วยกอบกู้ช่อง 3 ก็ยังอยู่ยาก เพราะวัฒนธรรมหรืออะไรก็ตามมันค้ำสถาบันนี้ไว้

สรุปแล้ว พี่ยุทธ!! อาจเป็นไอดอลของวันนั้น ส่วนวันนี้อาจแค่ ‘หวังได้’ ก็ต้องเผื่อใจไว้นิดสำหรับมวลชนคนวิก 3

คิดไกลไปเกินละ...อย่าคิดตามล่ะ


อ้างอิง:

https://www.posttoday.com/social/think/419034

https://www.tvdigitalwatch.com/news-ch3-reunglow-choanee-21-1-63/

นาทีนี้ ชื่อ 'สรยุทธ' ยังขายได้?

นาทีนี้ต้องเรียกว่าคนทำงานวงการสื่อสารมวลชน นั่งกันไม่ติด นอนคิดหลายตลบ นับคอยวันเวลาที่รุ่นใหญ่ ตำนานแห่งคนข่าวที่เปลี่ยนหน้าจอทีวี จากการนำเสนอข่าวแบบผู้ประกาศข่าวเป็นเหมือนเครื่องอ่านข่าว มาเป็นการเล่าข่าวแบบเข้าถึง จนกลายเป็นเพื่อนที่ต้องอยู่คู่กันทุกเช้า “สรยุทธ สุทัศนะจิดา” ที่มีกำหนดการพักโทษและจะออกจากเรือนจำในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ในแวดวงคนสื่อเอง ต่างก็คาดเดากันว่า หลังจากก้าวออกจากเรือนจำ อาจจะได้เห็น สรยุทธ ในหน้าสื่อกระแสหลักทันที แว่วๆมาด้วยซ้ำว่า ต้นสังกัดเดิม พร้อมลงหน้าจอทันทีไม่รีรอ

“สรยุทธ” กลับมาแบบนี้ ! สะเทือนข่าวผังรายการข่าวทีวีทั่วฟ้าเมืองไทยไม่น้อย โดยเฉพาะ “ข่าวช่วงเช้า” ที่แต่ละช่องมีการปรับแผน ยกผัง เปลี่ยนกลยุทธ์กันมาตั้งแต่ต้นปี หลายช่องเตรียมพร้อมรับมือการกลับมาของ “สรยุทธ” แต่ก็สุดจะคาดเดาว่ากลับมาครั้งนี้ จะงัดไม้ไหนออกมาให้ตะลึงกันอีก

ที่แน่ ๆ “สรยุทธ” ที่หลายคนคิดถึง คงมีแฟน ๆ รอการกลับมาของเขามากล้นเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับ ว่ายุคก่อน “สรยุทธ” เข้าเรือนจำ กับยุคปัจจุบัน ช่องทางสื่อเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จาก Digital Disruption การพุ่งพรวดของเทคโนโลยี ทำให้สื่อทีวี ไม่ใช่สื่อหลักอีกต่อไป ถ้ายอมรับความจริงข้อนี้ได้ สื่อออนไลน์ได้เข้ามาแทนที และไปไกลกว่าสื่อทีวีไปมากแล้ว ซึ่งคนในแวดวงสื่อเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้กันถ้วนหน้า ทั้งการปลดพนักงานออก หรือการขยับตัวของรุ่นใหญ่ลงมาหน้าสื่อออนไลน์เต็มสูบ อย่าง “สุทธิชัย หยุ่น” ถึงขนาดพยากรณ์ไว้ใน Clubhouse แอพลิเคชั่นสังคมออนไลน์สุดฮิตว่า “ในอีกไม่เกิน 5 ปี ข้างหน้า สื่อทีวีสุดท้ายจะกลายเป็นเพียงของหายาก แต่จะไม่มีใครต้องการอีกต่อไป”

รุ่นใหญ่อย่าง “สุทธิชัย หยุ่น” ลงมานำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์แล้ว ตามมาติดๆด้วยลูกรักศิษย์เนชั่น อย่าง “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร” ที่ฉีกสัญญาต้นสังกัดเดิม ลงมาเปิดหน้าในสำนักข่าวออนไลน์เต็มตัว ไม่เพียงเท่านั้น คนข่าวรุ่นใหม่หลายคนที่อายุงานยังไม่มาก บ้างก็ปรับตัวลงมาลุยสื่ออออนไลน์ควบสื่อทีวี บ้างก็ถอดใจย้ายเส้นทางชีวิต ไม่เดินเส้นทางสื่อทีวีต่อ ไปทำอย่างอื่นที่มีอนาคตกว่า

จึงน่าจับตาว่าคนที่เรียกตัวเองว่า “กรรมกรข่าว” อย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” บุคคลผู้ทรงอิทธิพล ผู้เปลี่ยนหน้าวงการสื่อทีวี กรุยทางให้กับคนข่าวทีวีเดินตาม จนบางคนโด่งดังสุดๆจากสไตล์เดียวกับสรยุทธ สุดท้ายแล้วเมื่อกลับมาใหม่ในครั้งนี้ จะมีแนวทางในการนำเสนอข่าวอย่างไร จะยังคงได้รับการตอบรับจากแฟนข่าวเดิมอยู่หรือไม่ แล้วจะดึงแฟนข่าวที่ย้ายไปภักดีกับสองช่องยักษ์ในตอนนี้กลับมาอย่างไร ท้าทายมากกว่านั้นกับคนรุ่นใหม่และสื่อออนไลน์ “สรยุทธ” จะเข้าไปสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งในสื่อเหล่านี้หรือไม่ การกลับมาครั้งนี้จะสร้างปรากฏการณ์รุ่งหรือร่วง อีกไม่นานคงได้รู้กัน

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า “จมูกไวต่อข่าว” ไม่ได้มีกันทุกคน แต่ “สรยุทธ” คือคนข่าวตัวจริงที่จมูกไวและประสบการณ์สูง ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ที่เน้นความไว แต่ไร้ซึ่งมิติและอ่อนประสบการณ์

“เนลสัน แมนเดลา” อดีตประธาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้นำการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสำนักหนึ่งกับคำถามที่ว่า “ท่านรู้สึกอย่างไรที่ติดคุกไปตั้ง 27 ปี? “ แมนเดลา ตอบติดตลกว่า “ใครว่าผมติดคุก ผมเรียนหนังสืออยู่ต่างหาก” ระยะเวลาหลายปีที่สรยุทธหายไปจากหน้าจอทีวี ไปอยู่กับการต่อสู้คดีและเรือนจำ อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ “สรยุทธ” เกิดการตกผลึกบางสิ่งในชีวิตและการทำงานมากขึ้นก็เป็นได้ และเราจะได้เห็น “ผลึก” นั้นผ่านงาน “ข่าว” รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแน่นอน น่าติดตามและตั้งตารอ

ทำไม? ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงเป็น ‘อินโดนีเซีย’

‘Startup’ ชื่อเท่ ๆ ของธุรกิจดิจิทัล และหรือธุรกิจแนวคิดใหม่ เย้ายวนให้บรรดาคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง สามารถทำเงินถึงหลักหมื่นล้านได้ภายในเวลาไม่กี่ปี (หากประสบความสำเร็จ)

แต่ทราบหรือไม่ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลกที่คนทั่วไปรู้จักกันดี อาทิเช่น Apple, Facebook, SpaceX, Amazon และ Alibaba ต่างก็เริ่มต้นจากกลุ่มคนทำงานไม่กี่คนในโฮมออฟฟิศเล็กๆ ที่บ้าน ก่อนที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโตจนกลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ในทุกวันนี้

ว่าแต่ ‘ยูนิคอร์น’ คืออะไร?

ยูนิคอร์น หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จเติบโตจนมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) โดยปัจจุบันมีธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 300 ล้านบริษัททั่วโลก แต่มีเพียง 556 บริษัทเท่านั้นที่สามารถเติบโตจนถึงระดับยูนิคอร์น ซึ่งในนั้นเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันมากที่สุดถึง 137 บริษัท รองลงมาคือจีน 120 บริษัท

ส่วนประเทศในย่านอาเซียนนั้น ก็มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอยู่ 11 บริษัท โดยประเทศอินโดนีเซียมีการผลิตสตาร์ทอัพสัญชาติอิเหนาได้มากถึง 6 บริษัท และทำให้อินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากเป็นอันดับ 9 ของโลก รวมถึงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

เพราะเหตุใดอินโดนิเซียถึงกลายเป็นเจ้าแห่งยูนิคอร์น ‘สตาร์ทอัพ’ อะไรเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์เชิงธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซีย วันนี้เรามาลองแอบส่องเหตุ ‘ปัจจัย’ ในการสร้าง ‘ลูกม้า’ ให้กลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ของเมืองอิเหนา ประเทศเพื่อนบ้านของเรากัน

จุดเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซียเกิดขึ้นในช่วงราว ๆ ปี 2009 จากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ได้เรียนรู้การทำธุรกิจในยุค ดอทคอมรุ่งเรืองและนำมาต่อยอด เพื่อสร้างธุรกิจในอินโดนิเซีย และตอนนี้ในอินโดนิเซีย ก็มีกลุ่มสตาร์ทอัพที่ยังคงอยู่ในธุรกิจมากถึง 2,000 บริษัท และเป็นถึงระดับยูนิคอร์น 6 บริษัท ได้แก่...

1.) Gojek ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2009 โดยนาเดียม อันวาร์ มาคาริม นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน เรียกรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่มีอยู่เพียง 20 คัน จนกลายเป็น Super App ที่มีบริการหลากหลายถึง 24 ประเภท และขึ้นแท่นยูนิคอร์นตัวแรกในอินโดนิเซียเมื่อปี 2017 แถมตอนนี้ก็ยกระดับธุรกิจขึ้นไปอีกขั้น จนกลายเป็น ‘ดีคาคอร์น’ ที่มีมูลค่าของบริษัทมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ (3 แสนล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2.) Tokopedia เว็บไซด์ e-Commerce ที่ก่อตั้งปีเดียวกับ Gojek โดยนักธุรกิจดาวรุ่ง วิลเลี่ยม ทานุวิชยา ที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์ม Customer-to-Customer เพื่อรองรับตลาดการค้าที่ใหญ่ และหลากหลายมากในอินโดนีเซีย จนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจระดับยูนิคอร์นได้ แถมยังได้รับทุนสนับสนุนจาก Alibaba, Google และ เทมาเส็ก

3.) Traveloka ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพัก โรงแรม และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างครบวงจร เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้อย่างแพร่หลายทั้งในอินโดนิเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยด้วย ที่หลายคนอาจไม่คิดว่าบริษัทแม่ของ Traveloka ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ต้า ในอินโดนิเซียนี่เอง แถมมีมูลค่าธุรกิจสูงกว่า 3 พันล้านเหรียญแล้วในปัจจุบัน

4.) Bukalapak เป็นอีกหนึ่ง e-Commerce ระดับยูนิคอร์นอีกเจ้าของอินโดนิเซีย แม้ว่าชาวอินโดฯ จะมี Tokopedia ไปแล้ว แต่ตลาดออนไลน์เจ้าเดียวคงไม่พอสำหรับประชากรที่มากถึง 270 ล้านคน ซึ่ง Bukalapak ก็มีจุดเริ่มต้นที่แสนจะคลาสสิค เนื่องจากทีมผู้ก่อตั้งบริษัท เกิดจากการรวมตัวของ เพื่อนร่วมสถาบัน 3 คนจาก Bandung Institute of Technology ที่ต้องการสร้างสตาร์ทอัพของตัวเองหลังเรียนจบ และมาลงตัวที่การสร้างมาร์เก็ตเพลส สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ของโชห่วย ไปจนถึงประกันชีวิต จนกลายเป็นแพล็ตฟอร์มตลาดนัดที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 70 ล้านคนต่อเดือน

5.) OVO ผู้ให้บริการด้านธุรกรรมออนไลน์ รายล่าสุดของอินโดนิเซียที่มาแรงมาก เกิดจากการร่วมทุนของบริษัทสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่อย่าง Grab Tokopedia ที่ทำให้ OVO ผู้ให้บริการ e-Payment ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีก็สามารถเติบโตจนกลายเป็น ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพได้ในปี 2019

6.) JD.id ธุรกิจสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวล่าสุดของอินโดนิเซีย ที่เป็นธุรกิจลูกของ JD.com จากประเทศจีน เป็นธุรกิจ e-Commerce ที่เน้นสินค้าเทคโนโลยี แก็ดเจททันสมัยที่หายากในท้องตลาด สินค้าพรีเมี่ยม เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มในอินโดนิเซีย แต่ก็สามารถสร้างมูลค่าธุรกิจระดับพันล้านเหรียญได้

หลายคนอาจมองว่าอินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด สตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น มากกว่าใครในย่านนี้ และหากคำนวนคร่าว ๆ แล้ว ก็เท่ากับว่าในอินโดนิเซียมีอัตราการเกิดสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น 1 บริษัทต่อประชากร 45 ล้านคน

แต่หากมองมาที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีประชากรเพียง 5.7 ล้านคน ที่มีธุรกิจระดับยูนิคอร์นแล้วถึง 4 บริษัท แล้วกับประเทศไทยที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน กลับไม่มีสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น เกิดเลยแม้แต่เจ้าเดียว ก็พอจะบอกได้ว่าปัจจัยเรื่องปริมาณของประชากรไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสร้างสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นได้

ดังนั้นสูตรสำเร็จของการแจ้งเกิดยูนิคอร์นของอินโดนิเซียนั้น มีความน่าสนใจมากกว่าขนาดของตลาดและประชากรในประเทศ

โดยมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดยูนิคอร์นน่าจะมาจาก…

ประชากรที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ จากการเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะน้อยใหญ่รวมกันมากกว่า 17,000 เกาะ จึงเป็นความท้าทายในเรื่องงานสร้างสรรค์บริการที่ต้องเข้าถึงคนในท้องถิ่น และการจัดการระบบขนส่ง

ขณะเดียวกันชาวอินโดนิเซียนิยมการใช้ ‘เงินสด’ มากกว่า ‘เครดิตการ์ด’ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้เงินสดในการซื้อขายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และนิยมใช้สินค้า/บริการจากคนในท้องถิ่น

จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า ชาวอินโดนิเซียมากถึง 60% นิยมใช้สินค้า/บริการจากผู้ให้บริการในประเทศ มากกว่าแบรนด์ต่างประเทศ และมักเลือกสินค้า/บริการจากความรู้สึกที่คุ้นเคย และเข้ากับวิถีชีวิตแบบอินโดนิเซีย แต่ก็รับเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ในอินโดนิเซียมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ 171 ล้านคน และมีสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟนถึง 45% ของจำนวนประชากรในอาเซียนทั้งหมด

ดังนั้นชาวอินโดนิเซีย จึงมีความพร้อมในการตอบรับธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ขอเพียงแค่คุณต้องเข้าใจความต้องการของคนอินโดนีเซียได้อย่างแท้จริง ซึ่งโจทย์นี้เองที่เป็นความหินของสตาร์ทอัพต่างชาติที่ต้องการตีตลาดในอินโดนิเซีย แต่ก็เป็นความได้เปรียบของนักธุรกิจในประเทศที่มีความรู้ ความเข้าใจผู้บริโภคในตลาดได้ดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่น Gojek ที่มีจุดมุ่งหมายในการสกัดการรุกคืบตลาดของ สตาร์ทอัพ Ride-sharing ระดับโลกอย่าง Uber ทั้งๆ ที่มีทุนต่างกันมาก แต่เพราะ Gojek เข้าใจวิถีการเดินทางของชาวอินโดนิเซีย ที่คุ้นเคยกับการใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างมากกว่าระบบ Ride-sharing ในโมเดลของตะวันตก ทำให้ Gojek ยังคงรักษามาร์เก็ตแชร์ในบริการเรียกรถขนส่งเป็นอันดับ 1 ไว้ได้ และยังกินส่วนแบ่งตลาดถึง 95% ของบริการส่งอาหาร จน Uber ต้องยอมล่าถอยจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด

นอกจากจะเข้าใจคนอินโดนิเซียแล้ว การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ก็ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของชาวอินโดนิเซีย ‘ได้ใจ’ ผู้ใช้ในประเทศอย่างมาก อย่างโมเดลการทำธุรกิจของ Bukalapak ที่ต้องการสร้างมาร์เก็ตเพลสที่ช่วยสนับสนุน SME รายย่อยในอินโดนิเซียที่มีอยู่กว่า 99% ของภาคธุรกิจทั้งหมดในประเทศ ที่อาจเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต หรือไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับธุรกิจค้าปลีกทุนหนาให้สามารถขายสินค้าได้อย่างหลากหลาย ทั้งของชำทั่วไป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ช่างทั่วไป จนถึงตั๋วรถไฟ หรือประกันชีวิต ทุกวันนี้จึงมี SME มากกว่า 4.5 ล้านราย นำเสนอสินค้าบน Bukalapak และมีการทำธุรกรรมซื้อขายไม่น้อยกว่า 2 ล้านครั้งต่อวัน

จอห์น ฟิทซ์แพทริค หัวหน้า Google Cloud Startup Program ในเขตเอเชียแปซิฟิค ได้ให้ความเห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ สตาร์ทอัพของอินโดนิเซียประสบความสำเร็จ คือ การมีฐานผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลอย่างมาก และมีกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ๆ ยังมีโอกาสโต แม้จะมีรุ่นพี่ระดับยูนิคอร์นเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ฟิทซ์แพทริค ยังเสริมว่า นักธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซียมี Mindset ที่ดีและพร้อมเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อโอกาสใหม่ๆเสมอ โดยไม่ยึดติดกับสูตรเดิม ๆ

"เราคงไม่เห็น Gojek ที่อัพเกรดจากแอปพลิเคชันที่มีเครือข่ายมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพียงแค่ 20 คัน กลายเป็น Super App ที่มีบริการให้ผู้ใช้งานได้เลือกถึง 24 ประเภทไม่ซ้ำกัน Traveloka คงอยู่ไม่รอดในวิกฤติ Covid-19 หากยังคงยึดติดเพียงแค่ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบิน และธุรกิจสตาร์ทอัพของอินโดนิเซียคงไม่เติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์นที่แข็งแกร่ง หากมองเพียงโอกาสแค่ตลาดในประเทศ"

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซีย จึงดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ ทั้ง Amazon, Alibaba, Tencent, Softbank หรือ Microsoft ที่มองเห็นโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจที่สามารถต่อ ยอดได้ไกลทั่วภูมิภาค และยิ่งส่งเสริมให้ระบบนิเวศน์ของธุรกิจสตาร์ทอัพของอินโดนิเซียยังสามารถโตได้อีกอย่างไม่จำกัด

จากทั้งหมดที่ว่ามานี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมอินโดนิเซียถึงได้กลายเป็นเซียนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในย่านอาเซียน และยังสามารถตีตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย และนี่แหละที่จะเป็นโจทย์สำคัญของไทยนับจากนี้ ในการเร่งพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของคนไทยให้เติบโต และก้าวไปไกลกว่าในประเทศตัวเอง


อ้างอิง:

https://www.mime.asia/6-startup-unicorn-indonesia-that-you-should-know/

https://techcollectivesea.com/2021/02/22/we-take-a-closer-look-at-the-indonesian-unicorn-startups/

https://techsauce.co/news/indonesia-the-startup-ecosystem-with-the-most-unicorns-in-southeast-asia

https://greenhouse.co/blog/how-do-unicorn-startups-grow-so-fast-in-indonesia/

https://www.techinasia.com/indonesias-unicorns-achieved-hyperscale

https://www.thejakartapost.com/travel/2020/06/30/from-cooking-to-art-traveloka-xperience-expands-to-live-content.html

การตัดสินใจรับคำพิพากษาแบบแมน ๆ ของ 'สรยุทธ' ที่น่านับถือ

“ยืนยันว่าไม่เคยคิดจะหนี เพราะถ้าจะหนีต้องหนีตลอดชีวิต….ถ้าอยู่ในเรือนจำยังมีจุดสิ้นสุด”

การตัดสินใจรับคำพิพากษาแบบ แมนๆ ของสรยุทธ ที่น่านับถือส่วนหนึ่งของคำพูดที่ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดังกล่าวไว้ในขณะที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิพากษาในชั้นศาลฏีกาของคดี “ไร่ส้ม” อันสั่นสะเทือนจริยธรรมของสื่อมวลชน แต่ด้วยความเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมและได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากเดิมที่ต้องโทษจำคุก 6 ปี 24 เดือน จึงลดเหลือ เพียง 3 ปี 6 เดือน 20 วัน และเมื่อหักวันต้องโทษจำคุกมาแล้วจึงเหลือโทษอยู่อีกเพียงแค่ 2 ปีเศษเท่านั้น ซึ่งเข้าข่ายหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยจะได้พักการลงโทษ ปล่อยตัวในวันที่ 13 มีนาคม 2564 นี้

แต่ต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM (Electronic Monitoring) และต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างครบถ้วน รวมไปถึงต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกเดือนจนกว่าจะพ้นโทษ นี่เป็นอิสรภาพในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่น่าติดตาม แม้ว่าการพักโทษครั้งนี้อาจยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดการต้องโทษของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา แต่เมื่อ “กรรมกรข่าว” comeback เมื่อ “คนเล่าข่าวอันดับหนึ่ง” กลับคืนหน้าจอ วงการจะสั่นสะเทือนมากน้อยแค่ไหน ?

บนสังเวียนข่าวกว่า 30 ปี สรยุทธ เริ่มต้นเส้นทางนี้ที่ The Nation ในปี 2531 มา MCOT ที่เขาและรายการของเขาเป็นรายการเดียวที่ได้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีทักษิณ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2549 ไล่เรียงมาจนถึงการเล่าข่าวและเป็นพิธีกรรายการข่าวถึง 4 รายการคือ เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเด่นเย็นนี้, เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์, จับเข่าคุย ทางช่อง 3 ซึ่งเป็นเขาที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมจากการรายงานข่าวอุทกภัยในปี 2554 อย่างเกาะติด พร้อมดึงเพื่อนในหลายแวดวงร่วมมือกันจนหาเงินบริจาคให้ชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนได้มากมาย โดยไม่เคยมีผู้สื่อข่าวคนไหนทำมาก่อน

วีรกรรมของเขาครั้งนั้นโด่งดังขนาดที่คนนึกถึงและเรียกหาชื่อเขาก่อนนายกรัฐมนตรีเสียอีก เรียกได้ว่า สรยุทธ คือจ้าวแห่งการสื่อสารด้วยคำพูด (Speech Communication) โดยเฉพาะเรื่องเล่าของเขาที่สามารถสื่อสารไปยังผู้ชม ผู้ฟัง ได้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวางและน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดจากเตรียมพร้อมและการย่อยข่าวอันเป็นพรสวรรค์ของเขา ว่ากันว่าการเตรียมพร้อมประจำวันของ สรยุทธ ตอนช่วงพีกสุด ๆ เขาต้องเดินทางมาถึงช่อง 3 ตั้งแต่ตี 4 กว่า เตรียมข้อมูลเพื่อออกอากาศ 6 โมงเช้า ช่วงบ่ายไปหาที่งีบหลับในตึกของช่อง พอบ่าย 2 โมงเริ่มเตรียมเนื้อหาข่าวเข้ารายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” วันหนึ่งเขานอนประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงเท่านั้น กิจวัตรนี้นับเฉพาะส่วนของงานข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ไม่รวมไปถึงผลงานการเขียนหนังสือและงานอื่น ๆ อีกมากมายของเขาในช่วงนั้น

โลกที่หมุนเร็วขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อกลับมาของสรยุทธมากน้อยแต่ไหน? การจะกลับมาอยู่บนจอท่ามกลางกระแสโซเชียลอันเชี่ยวกรากจะยากเกินไปไหม ? คำตอบคือไม่เป็นอุปสรรคและไม่ยาก หากดูจากเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ที่มีผู้ติดตามอยู่เกิน 1 ล้านคน เขายังคงเป็น Main Influencer ของประเทศนี้ บริษัทของเขาก็ยังมีกำไรต่อเนื่องในฐานะผู้ผลิตรายการ ปัญหาของเขาน่าจะอยู่ที่ช่อง 3 นั่นเอง

แม้ทีวีดิจิตอลในวันนี้จะมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่พอสมควรแต่การแข่งกันสร้างนักเล่าข่าวใหม่ ๆ ผนวกกับรายการข่าวที่พัฒนาทั้งรูปแบบและช่องทางเพื่อสนองต่อโลกที่ผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปสู่โลกวิถีใหม่ ก็ทำเอาทีวีดิจิตอลหลายช่องไปไม่เป็น โดยเฉพาะช่อง 3 ที่ประสบปัญหาขาดทุน มีการปรับเปลี่ยนและเลย์ออฟพนักงานอยู่หลายคราว

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่อุปสรรคจะทำให้เรารู้ว่า “ชีวิตที่แท้จริง” เป็นอย่างไร เชื่อว่าการกลับมาของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา จะเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญของวงการข่าว สมใจบรรดาแฟนข่าวของเขา แต่การจะกลับมายืนเป็นเบอร์หนึ่งและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจได้เหมือนเดิมหรือไม่ ? คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะหลายๆ ช่องทาง หลาย ๆ สื่อคงไม่มีใครอยู่นิ่ง ๆ แล้วให้รายการของสรยุทธกลับมากระชากเรตติ้งกลับไปเป็นของเขาเหมือนเดิมแน่ ๆ แต่ที่ได้ประโยชน์แน่ ๆ คงเป็นเรา ๆ ท่าน ๆ ผู้บริโภคข่าว เพราะต่อไปนี้รายการข่าวจะมีคุณภาพขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีสรยุทธอยู่แน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top