ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย โดยแบ่งตามสาขาวิชาจาก QS University Ranking by Subject 2022 น่าจะช่วยให้ผู้สนใจเรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลก ภายใต้ ‘การรับรู้’ คุณสมบัติ ดีกรี ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยดังๆ ในโลก ได้เปิดใจมองเห็นภาพที่แตกต่างว่า เราควรเลือกเรียน เพราะ ‘อยากรู้’ ในศาสตร์หรือสาขาที่เยี่ยมยอดแค่ไหนมากขึ้น ภายหลังจาก ‘วิทยาลัยดุริยางคศิลป์’ (College of Music) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับเข้า Top 50 เป็นครั้งแรก
ผมกำลังหมายถึงอะไร?
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในโลกนั้น ใช้ตัวแปรหลายอย่าง ทั้งจำนวนสาขาวิชาที่เปิด / ความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยี / อัตราส่วนอาจารย์และนักศึกษา / จำนวนงานวิจัย / บัณฑิตในระดับปราชญ์ชั้นสูงที่ผลิตได้ / ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และอีกหลายมิติ นั่นจึงทำให้บรรดาสถาบันที่ทำการจัดอันดับ จึงมักจะประกาศผลการจัดอันดับที่ไม่ตรงกันเท่าไรนัก
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในทุกประเทศทั่วโลก ที่มีมากกว่า 31,097 แห่งนั้น จะมีวิธีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ด้วยการประกาศอันดับที่ Top 500 หรือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 500 อันดับแรก และมหาวิทยาลัยที่ ไม่ติดอยู่ใน Top 10 หรือ Top 20 ก็อาจถูกมองว่า ‘ไม่ดีจริง’ ในสายตาของผู้ที่คุ้นเคยกับการจัดอันดับที่ใช้แค่หลักสิบ
อย่างไรก็ตาม จำนวนมหาวิทยาลัย 500 แห่ง ก็ถือว่าเป็นดีกรีที่ไม่เลว เพราะถือเป็นสัดส่วนราว 1.6% หากวัดจากจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 3 หมื่นแห่ง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจในระดับหนึ่ง
แต่ผมก็ไม่อยากให้พวกท่าน ถูกลวงด้วยเลข 500 โดยไม่ดูมวลรวมทั้งหมดของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วโลกนะ!!
ที่ผมว่าเช่นนั้น เพราะการจัดอันดับมหาวิทยาลัย 500 อันดับแรก ยังถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยมาก และควรมีการขยายการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยให้มากกว่าหลักร้อย ไปสู่อย่างน้อยก็หลักพัน เพราะในการจัดอันดับเป็นหลักร้อยนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะได้ ‘จำนวน’ มหาวิทยาลัยเข้าอันดับครบ เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยที่ได้คะแนนเสมอกันอยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นอันดับที่คะแนนเท่ากัน จะทำให้อันดับที่ตามมาหายไป เช่น อันดับ 50 มี มหาวิทยาลัยได้คะแนนเท่ากัน 10 แห่ง จะทำให้ไม่มีอันดับ 51-60 อันดับ เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น หากหันไปมอง มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ระดับโลก และเป็นที่ยกย่องยอมรับกัน ทั้งในวงการวิชาการระดับสูง และโดยประชาคมโลกมานานหลายทศวรรษ/ศตวรรษนั้น ล้วนรักษาคะแนนรวม (Overall) จนรักษาอันดับของตนเองไว้ได้ในอันดับต้นๆ จะมีเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ้างเล็กน้อยในแต่ละปี ส่งผลให้อันดับที่แตกต่างนั้น ไม่ได้มหาศาล แต่ต่างกันเพียงแค่หลัก ‘ทศนิยม’ เช่น Harvard อันดับ 5 (คะแนนรวม 98), Stanford และ Cambridge อันดับ 3 ทั้งคู่ (คะแนนรวม 98.7), California Institute of Technology ในเมืองพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย อันดับที่ 6 (คะแนน 97.4), Imperial College ลอนดอน อันดับที่ 7 (คะแนน 97.3) หรือจากมหาวิทยาลัย ในอันดับช่วง Top 20 เช่น Nanyang Technological University (NTU) สิงคโปร์ อันดับที่ 12 (คะแนน 90.8), ส่วน University of Pennsylvania อันดับที่ 13 (คะแนน 90.7) แต่ University of Pennsylvania ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Penn เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League และมีความเก่าแก่ 282 ปี ส่วน NTU แม้เปิดมาได้เพียง 40 ปี แต่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และอยู่ในอันดับ Top 80 ตลอดมา
สังเกตได้ว่า ปัจจัยในการเลือก ไม่สามารถจะมองเพียงตัวเลขที่เรียงอันดับ 1-2-3 แบบไร้มิติได้ เพราะคะแนนที่ต่างกันเป็นจุดทศนิยม ในแต่ช่วงอันดับ ยังบ่งบอกถึงมาตรฐานสูงในระดับเดียวกันอยู่
สิ่งที่ผมกำลังจะบอก คือ หากผู้เรียน ไม่ได้ติดตามคุณภาพของสถาบัน และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในโลก ด้วยข้อมูลเชิงลึก ก็จะยึดติดกับอันดับของมหาวิทยาลัย หรือคำบอกเล่าแบบต่อๆ กันมา กลับกันผู้ที่เรียนเก่ง หรือมีความจริงจังทางด้านวิชาการ ไม่ว่าสาขาใดก็ตาม พวกเขามักจะศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมีมิติ มากกว่ามองแค่ Top 10, Top 50 หรือ Top 200
ถึงกระนั้นเรื่องของอันดับ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลต่อการประเมินคุณภาพ มันยังสำคัญ!! และสะท้อนถึงความก้าวหน้าของมิติด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนั้นๆ จนถีบตัวเข้าสู่ทำเนียบแห่งความเป็นสากล!!
อย่างการเข้าอันดับ Top 50 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขาการแสดงทางศิลป์และดนตรี ในปี 2022 นี้ ภายใต้ QS University Ranking by Subject ก็ยืนยันถึงความก้าวหน้าของ College of Music (CMMU) หรือ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชัดเจน เพราะหากวัดระยะเวลาเพียง 28 ปี นับจากวันสถาปนาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในปี 2537 แล้วนั้น CMMU ได้แสดงตัวตนให้แวดวงการศึกษาดนตรี รับรู้ได้ถึงการมีตัวตน มีเสียง และมีพลัง จนโลกได้รู้จักวิทยาลัยด้านดนตรี จากประเทศเล็กๆ และเป็นประเทศที่ประชาคมโลกจำนวนมาก มองไม่เห็นถึงความเป็นสากลทางด้าน Performing Arts นั้นต้องหันมาเหลียว!!
ทั้งนี้ หากมองอันดับ Top 10 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ในสาขา Performing Arts รายชื่อสถาบันและมหาวิทยาลัย เช่น Royal College of Music (ลอนดอน), The Juilliard School (นิวยอร์ค), Royal Academy of Music (ลอนดอน), Curtis Institute of Music (ฟิลาเดลเฟีย) หรือ University of Music and Performing Arts Vienna (เวียนนา) ล้วนเป็นสถาบันทางดนตรี และการแสดง ที่อยู่ในระดับศักดิสิทธิ์ มีความขลังสูงสุด และผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าไปเรียนในสถาบันเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นหัวกะทิ หรืออัจฉริยะทั้งสิ้น ไม่ต่างจาก หัวกะทิในสาขาแพทย์, กฎหมาย, วิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยอันดับต้นของโลก
ส่วนในอันดับ Top 30 ของมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในสาขาการแสดงและดนตรี ยังเป็นสถาบันอันเก่าแก่ เช่น Royal Academy จากซาลซ์บูร์ก ออสเตรีย, สถาบันจากเดนมาร์ก, จากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, จากสวีเดน, จากมอสโก และมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ต่อด้วย Cambridge, Oxford, Yale, Columbia, UCLA มหาวิทยาลัยเหล่านี้ มีชื่อเสียงมานับร้อยปี อีกทั้งอยู่ในประเทศที่พลเมืองมีดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เยาวชนเติบโตมาด้วยโอกาสทางดนตรีและการแสดง ที่มีทั่วไป ชนชั้นกลางสืบทอดทักษะทางดนตรีให้กับลูกหลาน และทำให้เยาวชนพัฒนาทักษะจนสามารถแข่งขันเข้าเรียนในสถาบันอันมีชื่อเสียงได้