หากนึกถึงนครพนม เชื่อว่าใครหลายคนคงนึกถึงพระธาตุพนม ที่ใครมาเยือนนครพนมแล้วต้องไปไหว้พระธาตุกันสักครั้งในชีวิต หรือแม้แต่นึกถึงประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ ยึดถือกันมานานตั้งแต่โบราณ
แต่ถ้าถามคนนครพนมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะนึกถึงและให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ‘ครูแก้ว’ ศุภชัย โพธิ์สุ
นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือ ‘ครูแก้ว ผู้นำนครพนม’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย นักการเมืองผู้เป็นที่รักของคนในพื้นที่ และถือเป็นที่พึ่งของชาวนครพนมมาตลอดหลาย 10 ปี
และนี่คือเรื่องราวจากเด็กกำพร้า ลูกชาวนา สู่ชายคาเสนาบดีแห่งประเทศไทย ภายใต้บทบาทของการเป็น ส.ส. และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่เคยคิดว่าตำแหน่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว และไม่ใช่ความภูมิใจส่วนบุคคล แต่เป็นของพี่น้องประชาชนชาวนครพนม ที่ตนอยากแบกรับหน้าที่ในการเป็นที่พึ่งแบบทุ่มสุดตัว
Q: จังหวัดนครพนมเปลี่ยนไปแค่ไหน ในวันที่ ‘ครูแก้ว’ ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำนครพนม?
ครูแก้ว: นครพนมในอดีต เป็นเมืองชายแดนเล็กๆ อยู่กันอย่างสงบ อยู่ไกลสุดเขตประเทศไทย ติดกับแขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของผู้คนมากมายนัก จนกระทั่งผมได้เข้ามาเป็น ส.ส. แต่ต้องออกตัวก่อนว่า ไม่ได้หมายความถึงผลงานทั้งหมดมาจากผมคนเดียว แต่เป็นผลงานของเพื่อน ส.ส.นครพนมทั้งหมด ที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดสะพานข้ามแม่น้ำโขง หรือ สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 ที่ถือว่าเป็นสะพานสุดงดงาม มีพระธาตุประจำวันเกิด เกิดขึ้นเรียงรายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ซึ่งเป็นพระธาตุบริวารขององค์พระธาตุพนม พร้อมทั้งมีพระธาตุประจำวันเกิดที่ใครมาก็เดินทางไปกราบไหว้สักการะบูชาตามวันเกิดของตนเอง นี่คือส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเส้นทางปั่นจักรยานเลียบริมฝั่งโขงที่ยาว แล้วก็มีองค์พญาศรีสัตตนาคราชเกิดขึ้น มีพระหยกด้านหน้าวัดพระอินทร์แปลง แล้วก็มีส่วนประกอบใหม่ๆ ที่กลายเป็นแลนด์มาร์กเกิดขึ้นมากมาย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเราเป็น ส.ส. พูดง่ายๆ ว่าผมเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาเกือบ 4 ปี คนนครพนมสัมผัสได้ว่า จังหวัดนครพนมมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องถนนหนทาง เรื่องการพัฒนาอาชีพ เรื่องการพัฒนาระบบชลประทาน รวมถึงประโยชน์จากโครงการของภาครัฐที่ส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนชาวนครพนม
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นครพนมได้รับงบประมาณโดยเฉพาะจากกระทรวงคมนาคมลงไปพัฒนาหลายพันล้านบาท เกิดถนนสี่เลนจากอำเภอเมืองถึงอำเภอบ้านแพง ซึ่งปีหน้าก็เสร็จเรียบร้อย เกิดถนนสี่เลนจากบ้านท่าดอกแก้ว อำเภอท่าอุเทนไปจนถึงอำเภอสีม่วงครามบ้านเพ ซึ่งเริ่มต้นไปแล้วหนึ่งปีและปีหน้าคิดว่าจะเสร็จ เกิดโครงการถนนเชื่อมระหว่างบายพาสของจังหวัดนครพนม จากสนามบิน-เมืองนครพนม
อีกทั้งเดิมรถใหญ่ๆ ที่มาจากสกลนคร หรือมาจากต่างจังหวัด ที่จะไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขง เพื่อไปยังฝั่งประเทศลาว-ไปเวียดนาม-ไปจีนนั้น ปกติก็จะวิ่งเข้าเมือง แต่ตอนนี้กระทรวงคมนาคมอนุมัติงบประมาณให้กรมทางหลวงชนบท 1,600 ล้านบาท สร้างถนนสี่ช่องจราจรเชื่อมตั้งแต่เลยสนามบินนครพนมไปจนถึงหัวสะพานข้ามแม่น้ำโขง และอีกไม่นานนี้รถไฟรางคู่จากอำเภอบ้านไผ่ ผ่านมหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, มุกดาหารและตรงดิ่งมาที่หัวสะพานข้ามแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม งบประมาณ 6 กว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างที่การรถไฟจ่ายค่าเวนคืนสองข้างทาง ส่วนผู้รับเหมาก็คงจะมีการวางศิลาฤกษ์เพื่อปักหมุดในการสร้างสถานีรถไฟ ที่จะเชื่อมจากอำเภอบ้านไผ่มาถึงจังหวัดนครพนมภายในปลายปีนี้อย่างแน่นอน
แต่นอกจากนั้นผมเองในฐานะที่เป็น ส.ส. ก็ไปร่วมมือกับทางท่านนายก อบจ.นครพนม ร่วมมือกับนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพนม ซึ่งเราก็มีแผนที่จะสร้างร่วมกับกรมโยธาธิการ กำลังเร่งออกแบบและสร้างหอชมโขงให้กับจังหวัดนครพนม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดนครพนมอีกมากมาย ขณะเดียวกันก็ยังมีโครงการที่จะปรับปรุงบริเวณห้าแยกในเมืองนครพนมให้เป็นวงเวียนขนาดใหญ่ที่มีความสวยสดงดงามที่จะรองรับแขกต่างบ้านต่างเมืองมาเที่ยวชมจังหวัดนครพนมของเราอีกด้วย
Q: ขอย้อนอดีต ‘ครูแก้ว’ เหตุผลใดที่ทำให้ก้าวเข้ามาอยู่บนเส้นทางการเมือง?
ครูแก้ว: ถ้าพูดถึงเหตุผลที่ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง ความจริงผมมีจิตวิญญาณของความเป็นนักสู้มาตั้งแต่เด็กฐานะครอบครัวเป็นคนยากจน เป็นเด็กกำพร้าลูกชาวนา แล้วก็ต่อสู้กับชีวิต ถูกดูถูกเหยียดหยาม เป็นสภาพที่ห่างไกลความเจริญมากๆ เป็นสิ่งที่กดดันเรา ส่วนหนึ่งทำให้เราต้องมาคิดว่า ทำไมตัวเราถึงยากลำบากขนาดนี้ พอมองออกมาข้างนอกเห็นคนที่เขารวย บางคนรวยล้นฟ้าแต่คนจนหาข้าวจะกรอกหม้อก็ไม่มี มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องแสวงหาคำตอบให้กับตัวเอง แล้วจะทำยังไงถึงจะช่วยเหลือแก้ปัญหา ทั้งเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาตัวเอง เริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนสังคม ในหมู่บ้านตัวเองซึ่งเป็นบ้านนอก นี่คือจุดเริ่มต้นจุดแรก ที่มาก็คือว่าผมต้องการหาแนวทางช่องทางในการที่จะช่วยเหลือญาติพี่น้องของผมที่มีฐานะยากจน ที่มีความเดือดร้อน หาแนวทางช่วยเหลือชนบท ทำยังไงจะเจริญทัดเทียมใกล้เคียงกับเมือง นี่คือจุดเริ่มต้นของความคิดทางการเมือง
จนในที่สุดมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ท่านก็ยังมีบารมีในนครนครพนมอยู่ ท่านก็ให้คนมาติดต่อทาบทาม ท่านก็มองเห็นว่าถ้าเขตเล็ก อย่างไรก็สู้ครูแก้วไม่ได้ เพราะผมทำพื้นที่มายาวนาน ปี 2544 ผมก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกในนามพรรคความหวังใหม่ รวมเวลาที่ผมรอคอยตั้งแต่ผมสมัคร ส.ส. ครั้งแรกปี 2535 ใช้เวลา 9 ปี ในการทำงานการเมืองจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้เป็น ส.ส.
เมื่อเป็น ส.ส. สมัยที่ 1 ปี 2544 เป็นสมัยที่ 2 แล้วก็เป็นสมัยที่ 3 พอเป็นสมัยที่ 3 ความหวังใหม่ยุบไปรวมกับพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นมาพรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบมาตั้งเป็นพรรคพลังประชาชน ต่อมาสักระยะพรรคพลังประชาชนถูกยุบอีก กลุ่มท่านเนวินกับพวกผมที่เคยทำงานเคลื่อนไหวในพลังประชาชนด้วยกัน ทำงานกิจกรรมเสื้อแดงด้วยกัน เคลื่อนไหวทางการเมืองช่วยท่านทักษิณมาโดยตลอด ก็หารือกันว่าถ้าเรายังทำเสื้อแดงต่อมันก็คงจะสู้ไม่มีที่สิ้นสุด สู้ไม่มีวันจบสิ้น และสุดท้ายมันก็จะทำให้ประเทศชาติเรามีปัญหา ก็เลยตัดสินใจไม่ไปร่วมตั้งพรรคเพื่อไทยกับเพื่อน พวกผมก็ออกมาตั้งพรรคภูมิใจไทย
Q: ทำไมถึงบอกว่าการตั้งพรรคภูมิใจไทย เริ่มจากความน้อยเนื้อต่ำใจ?
ครูแก้ว: ภาคอีสานเป็นภาคที่กว้างใหญ่ไพศาล จำนวน ส.ส. ก็เยอะนะครับ เมื่อก่อนร้อยยี่สิบกว่าคน ตอนนี้รู้สึกจะประมาณร้อยสามสิบกว่าคน หลังจากที่เราเพิ่ม ส.ส.เขตขึ้นมาจาก 350 เป็น 400 แต่ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งๆ ที่จำนวน ส.ส. มากกว่าเพื่อน แต่เราก็ไม่สามารถที่จะผลักดันให้คนอีสานขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เลย อย่าว่าแต่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้แต่อยู่ในพรรคการเมืองบางพรรค ไม่ได้จะโจมตีกันนะครับ คือมี ส.ส.อีสานมากที่สุด แต่ว่าพอจะเอาตำแหน่งสำคัญๆ แม้แต่ในพรรค อย่าว่าแต่รัฐมนตรี พรรคนั้นได้ ส.ส. 126 คน ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย ซึ่งไม่สำคัญเลยแค่ 4 ตำแหน่ง แต่อีกพรรคนั้นได้ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เพียงคนเดียวกลับได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการถึง 9 ตำแหน่ง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราน้อยเนื้อต่ำใจที่ตัดสินใจออกมาตั้งพรรคภูมิใจไทย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้จากการไม่ให้เกียรติคนอีสาน แม้แต่ทุกวันนี้เพื่อนฝูงอยู่ในพรรคนั้นก็ยังคุยกับผมนะว่า ท่านควรจะเป็นหัวหน้าพรรคได้แล้วนะ แต่ถ้าเทียบกับคนที่เขาเอาขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค กับนักการเมืองของพรรคในภาคอีสาน มันต่างกันมาก แต่ว่าเจ้าของพรรคเขาไม่เอา ก็ไม่รู้เป็นยังไง ทั้งๆ ที่ ส.ส.อีสานเยอะ แล้วก็มีคนเก่งๆ เยอะแต่ก็เป็นได้แค่ประธานกรรมาธิการฯ จะเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เป็นหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้ อย่างมากก็เป็นรองหัวหน้าพรรค
ฉะนั้น ถ้าคนอีสานเราคิดในเรื่องนี้กันหน่อย ให้พรรคการเมืองที่เป็นพรรคของคนอีสานจริงๆ ได้คะแนนได้เสียงมาเป็นกอบเป็นกำ หรือได้ ส.ส.เป็นคนอีสานจริงๆ ขึ้นมา ได้นายกรัฐมนตรีเป็นคนภาคอีสาน งบประมาณของประเทศก็จะลงไปดูแลพัฒนาภาคอีสานมาก เราไม่ต้องการมากกว่าภาคอื่นหรอก แต่เราต้องการตามสัดส่วนของจำนวนประชากร ตามสัดส่วนของพื้นที่ ไม่ใช่ว่าให้ภาคใต้ห้า ให้ภาคกลางก็ห้า ให้ภาคตะวันตกก็ห้า ให้ภาคเหนือก็ห้า ให้ภาคอีสานก็ห้า มันจะไปเทียบกันอย่างนั้นได้ยังไง ในเมื่ออีสานเป็นภาคที่กว้างใหญ่ไพศาล อีสานเป็นภาคที่มีจำนวนประชากรมากกว่าเพื่อน อีสานเป็นภาคที่มีความทุรกันดาร ความแห้งแล้ง ความเดือดร้อน ความยากลำบากมากกว่าเพื่อน การดูแลประเทศชาติ การบริหารมันต้องทุ่มเทลงมาใส่จุดที่มีปัญหา มันต้องเป็นอย่างนั้น
Q: ว่ากันว่าช่วงที่สอบตก ‘ครูแก้ว’ ก็ยังทำงานช่วยชาวบ้านต่อ ทำไปทำไม?
ครูแก้ว: ประชาชนมวลชนที่รักเราอยู่แล้วเขาไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจเขาก็ปฏิเสธเรา พอปฏิเสธเรามันก็ทำให้เราสอบตก ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง และการตัดสินใจออกมาจากเพื่อนที่ไปตั้งพรรคเพื่อไทย การที่เรามาตั้งภูมิใจไทยทำให้ประชาชนไม่เข้าใจก็สอบตกกันระนาว แต่ว่าผมใช้เวลาทั้งหมด 7 ปีในการทำกิจกรรมทุกอย่างทำหนักกว่าการเป็น ส.ส.อีก ตอนที่ผมแพ้พรรคเพื่อไทยในพื้นที่ ผมสอบตก ผมแพ้ด้วยคะแนน 12,000 คะแนน แต่ 7 ปีต่อมาผมลงแข่งกับเพื่อไทยคนเดิมอีก ผมชนะผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย 38,900 กว่าคะแนน คือชาวบ้านกลับมาเข้าใจ กลับมาเห็นใจเรา แล้วก็มาเลือกเรา ถึงแม้ตอนนั้นอาจจะไม่ค่อยชอบพรรคภูมิใจไทย แต่ว่าเขาก็ถือว่ามันจำเป็นต้องเลือกครูแก้วเพราะสงสารครูแก้ว แล้วครูแก้วก็สู้จริงทำจริงดูแลพี่น้องประชาชนจริง ดังนั้นจึงได้กลับมาเป็น ส.ส. อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ได้รับการเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาลให้ลงสมัครแข่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผมก็ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนในสภาให้ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
Q: คิดอย่างไรกับคำว่านักการเมืองน้ำดี?
ครูแก้ว: ถ้าพูดถึงนักการเมืองน้ำดี นิยามคำนี้ผมรู้สึกว่า ต้องเป็นนักการเมืองที่เอาใจใส่ในผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน คือต้องเป็นนักการเมืองที่เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวมาทำงานเพื่อส่วนรวม มาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก หมายว่าตลอดเวลาที่เป็นนักการเมืองอยู่ เขาจะต้องทุ่มเทดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะทั้งส่วนตัว ส่วนรวม ทั้งในภาพรวมอะไรต่างๆ การพัฒนาในพื้นที่ก็ตาม การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ หมายความว่าหายใจเข้าออกเป็นเรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของประเทศชาติ ไม่เอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมคิดว่านักการเมืองน้ำดีมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ผมก็ไม่อยากจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมืองน้ำดีนะครับ แต่ว่าพี่น้องประชาชนก็ให้ความไว้วางใจ
พี่น้องนครพนม เงินซื้อไม่ได้ ต้องยอมรับว่าพี่น้องชนบทเขายังเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมอะไรก็ตามของชาวบ้านของชุมชนของสังคม เขาคิดอะไรไม่ออกก็ต้องคิดถึง ส.ส. ที่บ้านผม ถ้ามีโอกาสได้ไปดูจะเห็นว่าผมมีโต๊ะเป็นกลุ่มเป็นชุดเอาไว้ พี่น้องประชาชนมาก็จะนั่งรอคิวเหมือนกับคนมาคลินิกหาหมอ สัก 7.00-7.30 น. ผมอาบน้ำแต่งตัวเสร็จพร้อมกับทีมงานที่เป็นข้าราชการ เป็นอดีตข้าราชการที่เกษียณแล้ว ชุดทนายความ ชุด สจ. ชุดนายก อบต. ก็จะมารอรับแขกร่วมกับผม พี่น้องประชาชนมีปัญหาอะไร ผมก็รับรู้รับทราบเสร็จ เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับอะไร เกี่ยวข้องกับส่วนราชการซึ่งจะต้องประสานให้อำเภอประสานผู้กำกับประสานผู้ว่าฯ เราก็ให้ฝ่ายประสานของเราประสานไป หรือบางทีเราก็ประสานเอง แต่ถ้าพี่น้องมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย อย่างเช่น เรื่องโอนที่ดิน เรื่องถูกจับกุมคุมขัง เรื่องความเดือดร้อนต่างๆ เราก็ต้องมีทนายความคอยให้คำแนะนำอีกทีหนึ่งว่าควรจะทำยังไง ควรจะเดินไปยังไง
ฉะนั้นแต่ละวันพี่น้องประชาชนจะมานั่งเรียงคิวเป็นกลุ่มไว้ บางวันมีถึงขนาดว่าสิบกว่ากลุ่มหรือยี่สิบกลุ่มก็ยังมี จาก 7.00 น. ถึง 9.00 น. ผมจะให้เวลากับพี่น้องที่มาร้องทุกข์มาปรึกษาหารือ หรือบางคนก็มาขอบคุณหลังจากที่เราช่วยเหลือประสบความสำเร็จแล้ว ก็เข้ามาหา เราก็ดูแลกัน ถ้ามาในเวลากินข้าว เรานั่งกินข้าวอยู่ เราก็เรียกมากินข้าวด้วยกันนั่งคุยกัน กว่าจะกินข้าวเสร็จเราก็จะได้แก้ปัญหาพี่น้อง 1-2 เรื่องแล้ว หรือพี่น้องไม่กินก็มานั่งดื่มน้ำมานั่งคุยกับเรา มันเกิดความเป็นกันเองสนิทสนม พี่น้องประชาชนก็จะมีความรู้สึกว่าครูแก้วพึ่งได้อาศัยได้จริงๆ ถ้าอะไรช่วยได้ช่วยทันที แก้ไขได้แก้ไขทันที ผมถือหลักอย่างนี้ ไม่ได้เก็บไว้ ไม่ได้บอกว่า เออเดี๋ยวจะดูให้ ไม่มีนะ ต้องบอกว่าทำทันทีเลย ซึ่งจะไม่ใช่ผมคนเดียว แต่เป็นทีมงานของเราทั้งกระบวนการ เราจะมีวิธีการทำงานแบบนี้กับพี่น้องประชาชน
Q: ครูแก้วคาดหวังจำนวน ส.ส.ภูมิใจไทย ในนครพนมกับการเลือกตั้งหนหน้าแค่ไหน?
ครูแก้ว: ในการเลือกตั้งเที่ยวหน้านี้ก็หวังอย่างนั้นนะครับ คือพูดง่ายๆ ว่า วันนี้ ผมกับพี่น้องนครพนมเป็นหนี้พรรคภูมิใจไทยค่อนข้างมาก ที่บอกว่าเป็นหนี้ก็เพราะว่าคราวก่อนมี ส.ส.ภูมิใจไทยคนเดียวตอนที่แยกมาตั้งพรรคภูมิใจไทย นครพนมก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไป คราวนี้เลือกตั้งนครพนมก็ได้ ส.ส.ภูมิใจไทยแค่คนเดียวคือผม ซึ่งผมก็ดูแลสกลนครด้วย มุกดาหารด้วย ทางพรรคก็ยังเมตตา ทั้งท่านหัวหน้า ท่านเลขา ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคส่งเข้าไปแข่งขันเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พอเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในสภา พวกเขาคงเห็นบทบาทที่ผมทำงาน ฉะนั้นเมื่อมีสถานะตรงนี้ ทางท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรีต่างๆ ท่านก็มีความเกรงอกเกรงใจกันอยู่พอสมควร ฉะนั้นเวลาเราเอาปัญหา เอาความเดือดร้อน เอาความทุกข์ยาก ความต้องการของพี่น้องนครพนมเสนอไปหาท่านต่างๆ เหล่านั้น ก็จะได้รับความเมตตาในการเอาใจใส่ อะไรที่ท่านผลักดันให้ได้ ท่านก็ผลักดันไป โดยเฉพาะรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย สามกระทรวงหลัก ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขโดยท่านหัวหน้าอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ กระทรวงคมนาคมโดยมีท่านเลขาธิการพรรคคือท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ นอกจากนั้นเรายังมี มท.2 ช่วยมหาดไทย ช่วยศึกษา ช่วยเกษตร ช่วยคมนาคม หมายความว่าตำแหน่งรัฐมนตรี 7 คนของพรรค ก็ได้ดูแลและตอบสนองปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดนครพนมเป็นอย่างดี
Q: มาที่ผลงาน ช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนงานด้านสาธารณสุขของนครพนมจะเป็นพระเอกพอสมควร?
ครูแก้ว: ผมสามารถช่วยดูแลพี่น้องนครพนมได้ในหลายๆ เรื่อง ฟอกไตฟรีทั่วประเทศก็เกิดมาจากแนวความคิดของผม เอาจากข้อมูลข้อเท็จจริงจากนครพนม ไปเรียนท่านหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เอาไปประชุมกระทรวงสาธารณสุข แล้วจากนั้นก็มีมติออกมาว่าให้ฟอกไตฟรีทั่วทั้งประเทศ ใครก็ตามที่เป็นโรคไต จะฟอกด้วยประเภทไหน ด้วยวิธีไหนก็ตามก็ให้ฟอกฟรี ผมสงสารพี่น้องคนที่ป่วยเป็นโรคไต คนหนึ่งป่วยเป็นโรคไตต้องฟอกไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เฉพาะค่าฟอกไตที่จ่ายให้โรงพยาบาล ครั้งละ 1,500 บาท ถ้าสามครั้งเป็นเงิน 4,500 บาท ยังไม่รวมค่าเหมารถ ยังไม่รวมค่าญาติพี่น้องเข้าไปดูแลกัน อาหารการกิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมจิปาถะเดือนหนึ่งสรุปแล้วรวมแล้วก็เกือบ 20,000 ต่อเดือน
ลองคิดดูสิว่าพี่น้องคนยากคนจนส่วนใหญ่เขาจะอยู่ได้ยังไง คนป่วยโรคไตไม่ตายทันทีนะ การฟอกไตก็ยืดอายุไป สุดท้ายถ้าหมดเงินเมื่อไรไม่สามารถฟอกไตได้ก็จะเสียชีวิต พอคนหนึ่งเสียชีวิต คนที่เหลือก็เหมือนกับตายทั้งเป็นเพราะไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะต้องขายสมบัติเพื่อไปดูแลกัน จะไปทิ้งกันเฉยๆ ก็ไม่ได้ เกิดมาร่วมกันแล้ว ผมเองสงสารมาก
เมื่อก่อนผมทำผ้าป่าได้เงิน 500,000 ร่วมกับโรงพยาบาล แล้วก็ขอเงินจากท่านหัวหน้าอนุทิน 500,000 ไปซื้อเครื่องฟอกไตให้กับโรงพยาบาลศรีสงครามเป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นมาโรงพยาบาลก็ได้งบประมาณบ้าง หาเงินมาซื้อเพิ่มเติม แต่ตอนหลังมันก็ไม่เพียงพอ เพราะ 6 อำเภอโซนเหนือ มีศูนย์ฟอกไตอยู่ที่อำเภอศรีสงครามที่เดียว
ผมเห็นในอินเทอร์เน็ตว่าทางคุณคีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของ BTS ท่านเคยป่วยโรคไตและได้เปลี่ยนไตแล้ว ท่านรู้ว่าเป็นโรคไตมันทรมานขนาดไหน ท่านบริจาคเงินสร้างศูนย์ฟอกไตแล้วก็ให้คนได้ฟอกฟรีอยู่หลายศูนย์ ผมก็ไปหาท่านเลย ไปกราบขอความเมตตา ท่านก็เมตตาให้ลูกน้องลงไปดูแล้วอนุมัติเงินไปสร้าง ปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นศูนย์ฟอกไตของมูลนิธิฟ้าสั่งทั้งหมด 15 เครื่อง เพื่อการฟอกไต ซึ่งจะสามารถฟอกไตพี่น้องประชาชนได้เครื่องละประมาณ 3 คน มาวันนึงก็ประมาณสี่สิบกว่าคน แต่ถ้าหากว่าฟอกทั้งเดือนก็จะได้รวมกันประมาณร้อยกว่าคน ก็สามารถช่วยพี่น้องร้อยกว่าคนที่ยากจน คัดเอาที่ยากจนจริงๆ เดือดร้อนจริงๆ ไม่มีเงินจริงๆ ให้เขาได้ฟอกไตฟรี
แต่ว่าฟอกไตฟรีได้แค่ปีเดียว มูลนิธิบอกว่าขาดสภาพคล่อง เกิดโควิดระบาดหนัก ก็มอบอุปกรณ์ทั้งหมดมูลค่า 25 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลศรีสงคราม แล้วโรงพยาบาลก็จำเป็นต้องเก็บเงินจากผู้ที่มาฟอกไต แต่ไม่ได้เก็บ 1,500 บาท เก็บแค่คนละ 1,000 บาท แต่คนละ 1,000 บาทก็เดือดร้อน โชคดีที่ท่านอนุทิน ชาญวีรกุลไปเยี่ยมเรื่องปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่บ้านผม ผมก็เล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง ท่านก็งงนะว่ามันมีจริงหรือ เพราะท่านเข้าใจว่าฟอกไตฟรี เถียงกันอยู่กับผม ในที่สุดท่านก็โทรถามปลัดกระทรวง ทางปลัดกระทรวงบอกว่า ฟอกฟรีเฉพาะคนที่ฟอกทางหน้าท้อง ซึ่งก็ไม่มีใครฟอก เพราะทำได้ 1-2 ครั้งก็อักเสบแล้ว แต่ถ้าฟอกผ่านทางเส้นเลือด จ่าย 1,500 บาท ท่านอนุทินก็ว่า โห ตายแล้วแบบนี้ ท่านก็เอาเข้าที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขไม่ถึงเดือน กระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศออกมาเลยว่า ต่อไปนี้ สปสช. จะรับเป็นเจ้าภาพในการจ่ายเงินแทนพี่น้องประชาชน จากวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ไม่ว่าฟอกไตด้วยวิธีไหน ก็ฟอกฟรีทั้งประเทศ นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นจากที่ผมพยายามต่อสู้ให้กับพี่น้องประชาชนมาตลอด