โลกการศึกษาเริ่มผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องเรียนและการเรียนทางไกลผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ปัจจุบันโลกการศึกษาเริ่มผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องเรียนและการเรียนทางไกลผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หลังจากที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเชื่อมต่อชีวิตผู้คน เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ที่น้อยคนจะไม่มีติดตัว
การเรียนการสอนแบบออนไลน์ จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายคนเริ่มจะคุ้นเคยมากยิ่งขึ้น แต่จะมีก็แค่เรื่องของการสอบเท่านั้น ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะการจะจัดสอบออนไลน์ จำเป็นต้องพัฒนาระบบเครือข่าย อินเตอร์เน็ต-อุปกรณ์การสื่อสารของนักศึกษา และความสามารถในการตรวจสอบความโปร่งใส ที่ต้องซักซ้อมกันหนักพอดู
ทว่าเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการจัดสอบออนไลน์ขึ้น โดยทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นสถาบันแนวรุกที่พัฒนาการสอบออนไลน์อย่างจริงจังมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนของตน
รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการเปิดสอบออนไลน์ว่า การเปิดสอบออนไลน์เป็นประโยชน์ในอนาคตต่อระบบการศึกษาไทย หากเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ โดยพบว่านักศึกษามากกว่า 80% ที่เข้าร่วมสอบให้การตอบรับเป็นอย่างดี...
"มหาวิทยาลัยสุโขทัยฯ ได้มีการจัดสอบออนไลน์มาแล้วถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 และล่าสุดในช่วงระหว่างวันที่ 30 - 31 ม.ค.2564 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 7 ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี และพิเศษอย่างมากต่อทางมหาวิทยาลัย เพราะรอบนี้มีจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนสอบออนไลน์มากถึง 41,716 คน จนเรียกว่าเป็นการจัดสอบออนไลน์ที่มีจำนวนนักศึกษามากที่สุดในประเทศเลยก็ว่าได้"
"แน่นอนว่าการสอบออนไลน์เป็นเรื่องใหม่ ทำให้ทุก ๆ ครั้งที่มีการจัดสอบ จะต้องมีการจัดฝึกอบรมและซักซ้อมบุคลากรในการปฏิบัติงานคณะกรรมการคุมสอบให้มีศักยภาพและเป็นมาตรฐาน รวมถึงมีการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารพิเศษในช่วงเวลาที่มีการสอบออนไลน์ ผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์, ไลน์แอด และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบปัญหาในการสอบออนไลน์"
"ขณะเดียวกัน เรายังได้มีการจัดซ้อมการสอบเสมือนจริงให้กับนักศึกษาเพื่อทดลองใช้งานกับอุปกรณ์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับระบบการสอบออนไลน์ด้วย"
ทั้งนี้ จากการประเมินนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมสอบออนไลน์ในแต่ละครั้ง มีจำนวนมากกว่า 80% ที่สามารถส่งคำตอบให้แก่คณาจารย์ได้แบบไม่ติดขัด ส่วนที่เหลือจะพบปัญหาด้านเทคนิค เช่น ระบบการลงทะเบียน นักศึกษายืนยันตัวตนไม่ผ่าน การหยุดชะงักของระบบระหว่างที่ทำข้อสอบ
รวมถึงปัญหาส่วนบุคคลที่เกิดจากคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กที่ใช้ในการสอบ ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กล้อง ไมค์ ของนักศึกษา รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมในการสอบไม่เหมาะสม จนส่งผลต่อการก่อเสียงรบกวนให้ผู้สอบขาดสมาธิเอง
ทว่าทางมหาวิทยาลัย ก็ได้ติดตาม ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทันที อาทิ ได้ขยายเวลาในการสอบเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับเวลาที่สูญเสียไป และอื่น ๆ
"ทุกๆ ครั้งของการสอบออนไลน์ ทางมหาวิทยาลัยจะติดตามช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบกับปัญหา อุปสรรคหรือเหตุขัดข้องในการสอบออนไลน์ อย่างกรณีรอบ 30 - 31 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสอบที่มีจำนวนผู้เข้าสอบมากที่สุด และเกิดปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ทางฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ก็ได้เร่งจัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาทางชดเชยและเยียวยาโดยเร็วที่สุด"
"โดยขอความร่วมมือให้นักศึกษาที่ไม่สามารถเข้าสอบได้หรือมีปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการสอบได้สำเร็จแจ้งปัญหาที่พบระหว่างการสอบออนไลน์ พร้อมทั้งส่งหลักฐานภาพบันทึกหน้าจอผ่านทางแบบฟอร์มรายงานปัญหาของการสอบออนไลน์ของนักศึกษาที่หน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย
ซึ่งในเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมมาตรการจัดสอบทดแทนที่สนามสอบให้กับนักศึกษาที่เข้าระบบการสอบออนไลน์ไม่ได้หรือเข้าสอบได้แต่ไม่สามารถดำเนินการทำข้อสอบได้สำเร็จด้วยสาเหตุของระบบขัดข้อง ส่วนกำหนดการสอบที่สนามสอบมหาวิทยาลัยประกาศแจ้งให้นักศึกษาทราบผ่านทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยภายหลังจากนี้"
ทั้งนี้แนวคิดในการริเริ่มรูปแบบการสอบออนไลน์มาจากนโยบายของสภามหาวิทยาลัยและฝ่ายบริหารที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบการศึกษาทางไกลให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล ยิ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการที่จะเข้าสอบออนไลน์มีมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยและความสะดวกที่ไม่ต้องเดินทางไปในสถานที่สอบ
และประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น กลุ่มนักศึกษาที่อยู่ต่างประเทศและกลุ่มที่ไม่สะดวกเดินทางไปยังสนามสอบ ทำให้ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เดินหน้าจัดสอบออนไลน์และเชื่อมั่นว่าจะสามารถดูแลนักศึกษาได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีความโปร่งใสควบคู่กันไป
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีนักศึกษาปริญญาตรีราว 7 หมื่นคน ปริญญาโท 4 พันคน และปริญญาเอก 3 ร้อยกว่าคน ซึ่งในส่วนของการสอบออนไลน์ของชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกในช่วงที่ผ่านมา ประสบปัญหาเพียงเล็กน้อย เช่น การส่งกระดาษคำตอบที่ต้องใช้เวลาในบางราย