คิกออฟ !! อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพลเพิ่มรอยยิ้มเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันประเทศไทยในหลายพื้นที่ ต้องพบกับปัญหา ขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ในบางช่วงเวลา โดยมีหนึ่งในสายน้ำที่เป็น ‘คอขวด’ ของปัญหาหนักแทบทุกปี บนช่วงพิกัดของ ‘แม่น้ำปิง’
ปัจจุบัน แม่น้ำปิง มีสภาพตื้นเขิน มีปัญหาตะกอนทรายเกาะแก่งอยู่ในลำน้ำ ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนทิศทาง ส่งผลให้เกษตรกรสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรไม่ได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ รวมถึงโรงสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค การประปาของเทศบาลและท้องถิ่น ต้องเจอปัญหาการสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาสำหรับชุมชนเมือง
เหตุผลหลักๆ มาจากระดับน้ำในแม่น้ำปิง ณ ปัจจุบันต่ำมาก เนื่องจากการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล อยู่ในเกณฑ์น้อยในแต่ละวัน ซึ่งปัจจัยหลักๆ ก็มาจากปริมาณน้ำในอ่างฯ ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยลงนั่นเอง ปัญหาดังกล่าว ทางกรมชลประทาน ได้นำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดแนวคิดแก้ไขผ่านโครงการหนึ่ง ภายใต้ชื่อ ‘อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดกำแพงเพชร’
โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับเสียงตอบรับดีหลังร่างแผนโครงการขึ้นมา ทั้งจากภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคการเกษตร ภาคประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม หอการค้า คณะกรรมการภาครัฐและเอกชน โดยแต่ละภาคส่วนต่างต้องการให้มีการศึกษาและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำปิง ในบริเวณที่เหมาะสม เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเล็กน้อย สามารถชะลอน้ำไว้ เพื่อยืดระยะเวลาการสูบน้ำส่งให้กับพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ช่วยเรื่องของการอุปโภคบริโภค การเกษตร การประมง และส่งเสริมการท่องเที่ยว หากโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำดังกล่าวดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ . สำหรับแผนการดำเนินการคัดเลือกโครงการฯ เบื้องต้นมีการเลือกพิกัดจำนวน 3 แห่ง เพื่อนำไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
• โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก พื้นที่รับประโยชน์ 32,500 ไร่
• โครงการอาคารบังคับน้ำวังยางหนองขวัญ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่รับประโยชน์ 601,585 ไร่
• และโครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถินอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่รับประโยชน์ 112,500 ไร่
โดยทั้ง 3 โครงมีลักษณะเป็นฝายคอนกรีตพร้อมบานระบาย
ทั้งนี้ โครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดกำแพงเพชร คาดว่า จะต้องดูรายละเอียดทั้งหมด พอทุกอย่างผ่านจะออกแบบให้แล้วเสร็จในปี 2565 จากนั้นก็จะเสนอไปกระทรวงการเกษตร เพื่อส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณาต่ออีกที โดยคาดว่าหากโครงการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ ครม. ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 คาดสร้างเสร็จก็จะปี 2568
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันทางกรมฯ มีการลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดกำแพงเพชร โดยเดินทางไปยังบริเวณพื้นที่ศึกษาโครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถิน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ และบริเวณพื้นที่ศึกษาโครงการอาคารบังคับน้ำหนองขวัญ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมพบปะพูดคุยรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้แทนประชาชนในพื้นที่
ซึ่งโครงการดังกล่าวหากสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้จนแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค และควบคุมการส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับ ‘โครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล’ จังหวัดตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ นั้น ทางกรมชลประทาน ได้เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำประชา กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง และประชาชน บริเวณพื้นที่ศึกษาโครงการอาคารบังคับในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงผลกระทบจากฝุ่นต่างๆ หากเริ่มก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อย
ส่วนบ้านเรือนใดที่มีส่วนติดกับพิกัดที่จะไปก่อสร้างอาคาร ก็จะมีการดูแล จ่ายค่าทดแทน ค่าผลอาสิน อย่างเป็นธรรม รวมถึงงบประมาณที่ดิน ค่าชดเชย ตอบแทน จะมาควบคู่ก่อนการก่อสร้างแก่ผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมเช่นกัน โดยชาวบ้านในพื้นที่รอบเขตก่อสร้างที่ีทางกรมชลประทานได้เข้าไปประชาสัมพันธ์ ต่างเข้าใจ เพราะมองว่านี่คือแผนระยะยาว เพื่อแก้แล้ง-อุทกภัย ช่วยเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน”
.