'โบว์ ณัฏฐา' แสดงมุมมองต่อกรณี นักแสดงสาว 'แตงโมนิดา' จมน้ำเสียชีวิต พร้อมเตือนสติสื่อ อย่า 'โยนขยะเข้าสู่สังคม' แล้วหวังให้ชาวบ้านใช้วิจารณญาณ

จากกรณี ‘แตงโม นิดา’ หรือ ‘ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์’ อายุ 38 ปี ดารานักแสดงสาวชื่อดังที่พลัดตกแม่น้ำเจ้าพระยาจมหายไป ขณะล่องเรือสปีดโบ๊ตไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนชาย-หญิง รวม 6 คน กว่า 38 ชั่วโมง จนกระทั่งพบร่างของนักแสดงสาวลอยขึ้นมาใกล้กับโป๊ะเรือในจุดที่จมหายไป ซึ่งกรณีนี้ก็ได้กลายเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง และในเกือบทุกแวดวง ซึ่งรวมไปถึงวงการกฎหมายนั้น

ทางด้าน ‘คุณโบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา’ ได้ให้ความเห็นในมุมมองที่น่าสนใจ ผ่านรายการ MEET THE STATES TIMES เดอะ ดีเบต โดยยกกรณีของดาราสาวมาเป็นบทเรียนว่า...

“โบว์ ได้มีโอกาสฟังข่าววิทยุ โดยได้มีสื่อไปสัมภาษณ์ทนายความท่านหนึ่ง ซึ่งบางทีรายการข่าวชอบโทรสัมภาษณ์ทนายเวลาที่มีเคสอะไรขึ้นมา เหมือนเป็นแหล่งอ้างอิง แล้วก็จะใช้ทนายซ้ำๆ อยู่ไม่กี่คน 

“แต่ประเด็น คือ การตอบคำถามของทนายบางครั้งจะเกินเลยไป จนเป็นการสร้างจำเลยสังคมขึ้นมา ซึ่งโบว์บอกเลยในฐานะที่พอรู้กฎหมายบ้าง ถ้าคุณไปถามทนาย 10 คน บางทีก็ตอบไม่เหมือนกันหรอก อีกทั้งความรู้ก็ไม่เท่ากัน อคติต่อแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน แล้วก็ความเชี่ยวชาญต่างกัน”

“ดังนั้นเรื่องนี้ที่ยกขึ้นมาพูดในวันนี้ เพราะอยากจะแนะนำสื่อตรงๆ ว่า ไม่ควรไปยึดทนายคนใดคนหนึ่งมาเป็นสรณะ แล้วชี้นำสังคมผ่านการสัมภาษณ์แบบนี้ โดยที่เขาไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวกับคดี เพราะเขาอาจจะมโนไป พูดกันเป็นละคร วางเป็นพลอตเรื่องเองกันหมด มันแย่มาก กลายเป็นว่าไม่ใช้ปัญญา ไม่ได้ตั้งอยู่บนความรู้อะไร แต่อยากจะสร้างความบันเทิงจากสิ่งนี้”

“ถ้าคุณอยากสัมภาษณ์ทนายหรือนักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีจริงๆ ควรมีมากกว่าหนึ่งคน ต้องมี Second Opinion แล้วให้สังคมใช้วิจารณญาณ”

ทั้งนี้ คุณโบว์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลิตบัณฑิตในสาขานิติศาสตร์อีกด้วยว่า “สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าอาจจะหายไปในการสอนนิติศาสตร์ในบางสถาบันในปัจจุบัน คือ วิชา ‘นิติปรัชญา’ พอไม่ได้เรียนลึกซึ้ง ถึงระดับปรัชญาของกฎหมาย มันก็จะมีการตีความอะไรทื่อๆ ไปตามตัวอักษร และท้ายที่สุดแล้วจะไม่นำไปสู่ความยุติธรรม” 

“อย่างไรก็ตามการเสพสื่อต้องใช้วิจารณญาณ แต่ที่มันยากเพราะแม้แต่สื่อมวลชนบ่อยครั้งก็ยังไม่ใช้วิจารณญาณกลั่นกรองขั้นต้นให้ กลายเป็นว่าสื่อได้ ‘โยนขยะเข้าสู่สังคม’ แล้วหวังให้ชาวบ้านใช้วิจารณญาณ มันค่อนข้างยากที่จะ maintain สังคมที่ดี” คุณโบว์ทิ้งท้าย

ในขณะเดียวกัน ด้าน ‘หยก THE STATES TIMES’ เองก็ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า “โดยส่วนตัวก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าต้องสัมภาษณ์นักกฎหมาย เพราะเอาเข้าจริงนักกฎหมายบางคนก็ไม่ใช่คำตอบของทุกเรื่อง อย่างเช่น คุณลุงของผมที่เป็นทนาย ท่านก็เคยได้สอนว่า เราไม่ใช่ผู้พิพากษา เราไม่สามารถที่จะบอกว่าเราจะผดุงความยุติธรรมได้ภายใต้ฐานะของการเป็นทนาย เพราะบางครั้งลูกความของเราเองก็อาจจะทำผิดได้เช่นกัน 

“อารมณ์เดียวกันกับการถามทนายสัก 10 คน การฟันธงของทนาย มันก็เปรียบเทียบได้เหมือนกับการตีกอล์ฟ อาจตีออกซ้ายของธงก็ได้ ตีออกขวาของธงก็ได้ แต่ถ้าตีตรงประเด็นบางทีคนก็อาจจะไม่ฟัง เพราะมันไม่โดนใจคน ฉะนั้นถาม 10 คน มันก็จะได้ 10 เรื่องที่ต่างกันไป

“ฉะนั้นการถามทนายในเรื่องของสิ่งที่ยังไม่เกิดคดีขึ้น ผมมองว่ามันเป็นการ ‘ชี้นำสังคม’ และกลายเป็นว่าทุกคนจะเชื่อทนาย ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ ก็น่าห่วง เพราะในปัจจุบันมีทนายที่ออกมาเพื่อมาสร้างชื่อเยอะ สื่อไปจับเขามาคุยมากๆ คนก็จ้างงานเขามากขึ้น เมื่อคนจ้างเขามาก เขาก็จะรายได้มาก เป็นต้น”

“สรุปแล้ว จึงอยากฝากบอกคุณผู้ชมว่า อย่าไปเชื่อกับคำชี้นำเหล่านี้ โดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณ เพราะทนายทุกคนมีมุมที่ไม่เหมือนกัน ความคิดเห็น/การฟันธงของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขนาดแต่ละสถาบันสอนทนายมายังไม่เหมือนกันเลย แล้วคุณจะไปเอาอะไรกับทนายที่อยู่ในสังคมในห้วงเวลาที่มีสถานการณ์ซับซ้อนแบบนี้”