นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก พร้อมด้วยนางสาวภรณี วัฒนโชติ รองโฆษกพรรคฯ เข้า ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ จันทร์นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ในวงกว้าง และด้วยมาตรการที่ครอบคลุม โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
โดยนายวรวุฒิ ได้ระบุถึงข้อเสนอในหนังสือ ว่า สืบเนื่องจากการประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 มีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน รวมกลุ่มสังสรรค์ งานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศดังกล่าว ในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ด้วยหลักการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้างกิจการก่อสร้างและร้านอาหารใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างในระบบประกันสังคมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต่อคน กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ช่วยเหลือจ่ายผ่านแอปฯ ถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง รายละ 3,000 บาท

ทั้งนี้พรรคกล้าได้ทำการสำรวจสถานการณ์ผลกระทบและความต้องการความช่วยเหลือจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงบุคคลในอาชีพที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ทำให้สามารถสรุปความจำเป็นในการขยายมาตราการเยียวยาให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนให้มากขึ้น และครอบคลุมทั่วประเทศ จึงขอเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือดังนี้
1.) ขยายเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ จากประกาศฯ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และปทุมธานี ให้ครอบคลุมจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในระดับเดียวกัน เช่น พัทยา ภูเก็ต สงขลา หาดใหญ่ สมุย เป็นต้น นอกจากนี้ควรขยายวงเงินช่วยเหลือจาก 2,000 บาท นาน 1 เดือน เป็น 5,000 บาท นาน 3 เดือน
2.) เพิ่มการเข้าถึงเงินกู้ในระบบ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจสำหรับสภาวะวิกฤตของผู้ประกอบการขนาด Micro ที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ และพิจารณาการให้สินเชื่อในรายที่เป็นหนี้เสีย (NPL) อันเกิดมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด
3.) เยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ให้บริการในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานตาม
ประเพณี งานรื่นเริง ทั้งห่วงโซ่ เช่น ผู้จัดการการจัดงาน ผู้วางแผนงาน ช่างแต่งหน้า นักร้องนักดนตรี ผู้ให้บริการเช่าชุด ช่างจัดดอกไม้ ผู้ให้บริการเครื่องเสียงและแสงสว่าง เป็นต้น ด้วยเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านอาหารและลูกจ้างร้านอาหาร
4.) รัฐฯ ออกสัดส่วนเงินประกันสังคมให้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน และรักษาสภาพการประกันตนไม่ให้หลุดออกจากระบบ
5.) ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ลง 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ครัวเรือนของประชาชน
6.) กำกับการเรียกเก็บค่า GP ที่ร้านอาหารจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการส่งอาหาร ที่ไม่เกิน 15% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถเปิดจำหน่ายให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้ตามปกติและต้องปรับรูปแบบการให้บริการด้วยการส่งอาหารแทน
นอกจากนี้ยกเลิกการกำหนดขั้นต่ำของการสั่งซื้ออาหารในแต่ละครั้ง เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสั่งอาหาร ในขณะกักตัวอยู่ที่พักอาศัยเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด และ
7) เริ่มใช้มาตรการวัคซีนพาสพอร์ตภายในประเทศ อนุญาตให้มีการจัดงานด้วยมาตรการตรวจสอบการได้รับวัคซีน ทั้งผู้ให้บริการในงานและผู้เข้าร่วมงาน เพื่อนำผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกลับเข้าระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้รองหัวหน้าพรรคกล้า ยังกล่าวย้ำด้วยว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการจ้างงานในประเทศ และเป็นตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด รัฐฯ ยังมีความจำเป็นต้องมีแผนเยียวยา เพื่อพยุงและฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านมาตรการผ่อนปรนทางภาษีและสินเชื่อ ดังนี้
1.) งดเว้นการเรียกเก็บภาษีป้าย ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ที่ระบุว่าหากไม่ได้ประกอบกิจการแต่ยังมีป้ายโฆษณาให้เห็นอยู่ เจ้าหน้าที่จะต้องทำการจัดเก็บภาษีตามหน้าที่
2.) ค่าธรรมเนียมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พรบ. สาธารณสุข เช่น ร้านเสริมสวย ร้านขายยาฆ่าหญ้า ร้านซ่อมรถ ฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องหยุด หรือ ปิดกิจการชั่วคราว เพื่อทำตามมาตรการรัฐฯ

3.) นโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำส่ง โดยคำนวณคืนจากยอดนำส่งภาษีของผู้ประกอบการแต่ละราย ร้อยละ 50 เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการแต่ละราย โดยเร็ว
4.) การลด ยกเว้น หรือยืดระยะเวลาการจ่ายชำระ ภาษีเงินรายได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพื่อช่วยรักษาเงินทุนหมุนเวียนในสภาวะวิกฤตให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาสภาพคล่องได้มากขึ้น
5.) เงินกู้ยืมระยะยาวเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนกิจการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถดำรงกิจการต่อได้ โดยใช้ข้อมูลประวัติการชำระภาษีจากกรมสรรพกรร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาให้สินเชื่อด้วย ผ่านธนาคาร SME Bank เป็นสินเชื่อแบบปลอดดอกเบี้ยในช่วงวิกฤตโควิด-19 และปรับเป็นดอกเบี้ยขั้นต่ำหลังจากสภาวะการขาดทุนสะสมลดลง เพื่อลดอัตราการปิดกิจการอย่างถาวรของผู้ประกอบการรายย่อย และ
6.) สินเชื่อระยะสั้นเพื่อกลับมาเปิดกิจการ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพาศ กล่าวภายหลังการรับเรื่องว่า จะเร่งนำข้อเสนอดังกล่าว นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป