นายกฯ กำชับ หน่วยงานส่วนกลาง-ภูมิภาค เตรียมแผนบริหารจัดการ เตียง ยา เวชภัณฑ์ แพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข ให้พร้อมใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19  พร้อมติดตามสถานการ์วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน ย้ำ ทุกส่วนราชการ ติดตามผลกระทบต่อไทย

นายกฯ กำชับ หน่วยงานส่วนกลาง-ภูมิภาค เตรียมแผนบริหารจัดการ เตียง ยา เวชภัณฑ์ แพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข ให้พร้อมใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19  พร้อมติดตามสถานการ์วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน ย้ำ ทุกส่วนราชการ ติดตามผลกระทบต่อไทย

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในไทยวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มรวม 25,615 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 25,449 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 166 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 621,462 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยหายป่วยกลับบ้านแล้ว 14,641 ราย ทำให้หายป่วยสะสมอยู่ 452,510 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 201,044 ราย และเสียชีวิต 40 ราย ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19  ของประเทศไทย ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 - 25 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ได้รับวัคซีน สะสมรวม  123,355,359 โดส 

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการ์"โควิด-19 ในไทย" อย่างใกล้ชิด กำชับทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เตรียมแผนบริหารจัดการ เตียง ยา เวชภัณฑ์  แพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข ให้พร้อมใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมและเพียงพอ จากมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และ นายกรัฐมนตรี ยังขอทุกคนเคร่งครัดในการปฏิบัติตน ตามมาตรการด้านสาธารณสุข และรีบฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็ว 

นอกจากนี้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการ์ "วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน" อย่างใกล้ชิด นายกฯย้ำทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ติดตามผลกระทบต่อประเทศไทย จากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะราคาพลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ สินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมทั้งผลกระทบจากเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีผลต่อราคาสินค้าภายในประเทศ ที่อาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยต้องกำหนดแผนและมาตรการรองรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด ขณะที่ไทยยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้ติดตามข่าวสารทั่วโลก เพื่อวางแผนชีวิตและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลก