Friday, 4 July 2025
POLITICS NEWS

“ประวิตร” เร่ง แก้ปัญหาจราจรทั้งระบบ เชื่อมต่อ “ล้อ ราง เรือ” เพิ่มขนส่งทางน้ำ ให้คนริมคลอง สัญจรสะดวก

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)ครั้งที่1/2565 

โดยที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ รายงานความคืบหน้าการศึกษา แก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในภาพรวมทั้งระบบ แบ่งเป็น แผนการแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน 21 โครงการ และโครงการทางพิเศษเพิ่มเติมอีก 11 โครงการ ซึ่ง กทพ.ได้จัดทำแผนปฎิบัติการ เรียบร้อยและเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป 

นอกจากนี้ เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินทาง ทางน้ำในเขตกทม.ปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทาง เพิ่มการบริการขนส่งในแม่น้ำลำคลอง และลดปริมาณการจราจรบนถนน ซึ่งมีคลองที่มีศักยภาพในการเดินเรือ เบื้องต้น12 คลอง ที่จะมุ่งเน้นให้พัฒนาการเดินทาง ทางน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นได้ โดยสนข.จะผลักดันเข้าสู่การปฏิบัติในแผนระดับที่ 3 ต่อไป

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการที่สำคัญ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน เช่น โครงการ ขอนแก่น สมาร์ท ซิตี้ มีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ และโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.ขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ,การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต (ระยะที่1) ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ ภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ,แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่ม จ.ฉะเชิงเทรา ,ชลบุรี ,ระยอง เพื่อรองรับ EEC และการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ซึ่งดำเนินการแล้ว10 เส้นทาง

และรับทราบความคืบหน้าระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง(สถานีรังสิต) และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่ง เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตกทม./ปริมณฑล โดย พล.อ.ประวิตร ได้มอบ กทม.,กรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบท,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมการขนส่งทางบก เชื่อมต่อข้อมูลจากกล้อง CCTV และ GPS ในพื้นที่ กทม.ปริมณฑลให้กับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เพื่อดำเนินการศึกษาและรายงานผลให้ คจร. ทราบ ต่อไป

“สุรเชษฐ์” ชี้ M-Flow ดี แต่ออกแบบไม่ดี แนะ ดึงฐานผู้ใช้ M-Pass-Easy Pass มาร่วมระบบ แก้รถติดหน้าด่าน อัด ค่าปรับ 10 เท่าโหด ควรใช้กับผู้จงใจฝ่าฝืนเท่านั้น 

ที่รัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นปัญหาเรื่อง M-Flow ระบบผ่านทางอัตโนมัติ ว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่า M-Flow มีปัญหา ทั้งรถติดมากขึ้น ระบบค่าปรับมึนงง ต้องเสียค่าปรับแพงสิบเท่า ฉะนั้น เวลาที่เราดำเนินการนโยบายที่มีผลกระทบกับประชาชนจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น อาจจะทดสอบ 1 ด่านก่อนว่าแบบไหนดี ขณะเดียวกันในเชิงระบบก็สามารถแก้ปัญหาได้ ในเชิงสื่อสารประชาชนก็สามารถรับรู้รับทราบด้วยรูปแบบการใช้งานจริง

ประเด็นสำคัญที่ตนคิดว่าเป็นการออกแบบที่ไม่ดี คือ M-Flow เป็นเทคโนโลยีใหม่ยังไม่มีฐานผู้ใช้ การออกแบบที่ดีจะต้องคิดว่าฐานผู้ใช้ปัจจุบันคืออะไร นั่นคือ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ใช้เงินสด และ 2.กลุ่มผู้ใช้ระบบอัตโนมัติเอ็มพาสและอีซีพาส ฉะนั้น การออกแบบเทคโนโลยีจะต้องดึงฐานผู้ใช้เอ็มพาสกับอีซีพาสมาใช้ระบบ M-Flow กล่าวคือกลุ่มผู้ใช้เอ็มพาส อีซีพาส และผู้ลงทะเบียนใหม่ M-Flow ควรจะได้ใช้สิทธิระบบอัตโนมัติ แต่การแบ่งแยก M-Flow ออกมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าด่าน 

เมื่อถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัวระบบอาจจะดี แต่รัฐมนตรีหรือการบริหารจัดการอาจจะไม่ดี นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ระบบนี้ดี เพราะเมื่อพูดถึงช่องเงินสดจะมีความสามารถในการไหลผ่าน เพราะคนต้องชะลอเพื่อจ่ายเงินอยู่ที่ประมาณ 350-450 คันต่อชั่วโมงต่อช่อง แต่ถ้าเป็นระบบอีซีพาสหรือเอ็มพาสจะเพิ่มความสามารถในการไหลผ่านในระบบประมาณ 3 เท่า แต่ถ้าเป็น M-Flow รถสามารถวิ่งผ่านได้เลยก็จะสามารถเพิ่มความสามารถในการไหลผ่านอยู่ที่ประมาณ 2,000-2,200 คันต่อชั่วโมงต่อช่องจราจร

ดังนั้น ในเชิงระบบดีแน่นอน สมควรทำ แต่จะทำอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่ตนบอกว่ารัฐมนตรีห่วยเพราะไม่ได้ถูกวางแผนมาให้ดี ทุกครั้งเร่งทำแต่ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด เรื่องกลุ่มผู้ใช้สำคัญมาก ตกลงเราจะแบ่งเป็นสามกลุ่มจริงหรือ เพราะจะมีปัญหาแน่นอน ในเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน รัฐมนตรีอยากได้สามกลุ่มแต่ทางเทคนิคบอกว่าสองกลุ่ม ก็ควรนำมาทดลองว่าแบบไหนดีกว่ากันสัก 1 ด่าน แต่ถ้ารัฐมนตรีไม่เข้าใจเนื้อหาเทคโนโลยีแต่พยายามเร่งเอาให้เสร็จ มันก็เละอย่างที่ได้กล่าวไปและคนที่เดือดร้อนคือประชาชน

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ ‘บัตรใบเดียว’ ได้เปรียบ-เสียเปรียบ อยู่ที่มุมมอง ปัด ยูเทิร์นแก้กติกาอวย ‘ภูมิใจไทย’ แทนที่ ‘พปชร.’ ลั่น ถ้าพรรคแตกรัฐบาลล้มไปแล้ว  

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่มีการเสนอให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ว่า เรื่องนี้ในพรรค พปชร. ยังไม่มีการพูดคุยกัน ยังไม่ถึงเวลา เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกลับไปใช้บัตรใบเดียว นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เราเพิ่งจะแก้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบไป และตอนนี้ยังไม่มีใครยื่นให้แก้ไขกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีใครยื่นหรือไม่ และคงไม่เกี่ยวกับการกลับไปกลับมา เพราะบริบททางการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสิ่งที่รัฐสภาจะต้องพูดคุยกันว่าแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติจะเป็นอย่างไร 

เมื่อถามว่า หากมีคนยื่นจริงจะเป็นอย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็เพิ่งคุย เมื่อถามว่า มองความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างบัตรใบเดียว และบัตรสองใบว่าอย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็แล้วแต่คนมอง ก็มีทั้งชอบและไม่ชอบ ทั้งนี้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง คุยกับส.ส. 10 คนก็ได้ความคิด 10 แบบ เพราะแต่ละคนมีความเข้าใจ พื้นฐาน และเงื่อนไข ที่แตกต่างกัน แต่เราต้องเขียนกติกาหรือแนวทางที่เป็นธรรม โปร่งใส และทุกคนยอมรับ ที่สำคัญคือให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ มาทำงานให้ประชาชน และประเทศชาติ

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรค พปชร. มีปัญหาบ่อย และอาจจะไม่ได้เป็นพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงคิดว่าบัตรใบเดียวน่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่จะมาเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลแทน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การเป็นพรรคใหญ่พรรคเล็กไม่สำคัญ ต้องดูใกล้ๆ เลือกตั้งอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนคิดว่า พรรค พปชร. สามารถขับเคลื่อนการทำงานของพรรคได้ และทำให้รัฐบาลอยู่มา 3 ปี แล้ว ซึ่งตนว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพียงของคนบางคน และบางกลุ่ม แต่ในภาพรวมของพรรคไม่มีปัญหา ถ้ามีปัญหา รัฐบาลล้มไปแล้ว อยู่มาตั้ง 3 ปี จะมีปัญหาอะไร แต่เป็นธรรมดาทางการเมืองที่จะมีคนพูดอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกพรรคมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่าไปซีเรียส นักการเมืองจะคิดเหมือนกันหมดไม่ได้ ถือเป็นสีสันในระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าพรรค พปชร. แตก รัฐบาลล้มไปแล้ว“ นายชัยวุฒิ กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าทำไมประเด็นเรื่องบัตรใบเดียวจึงกลายมาเป็นประเด็นในช่วงที่กำลังจะมีการออกกฎหมายลูก นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องบัตรใบเดียวเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว เพราะวันนี้มีเข้ามาว่าจะแก้เป้นบัตรสองใบ ก็จะมีกติกาเงื่อนไขต่างๆ สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกัน บางคนก็มองอย่างนั้น เลยกลับมาคุยกันใหม่อีกครั้งเรื่องบัตรใบเดียว เมื่อถาม่วา ไม่มีความระหองระแหงกันในพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “ไม่มี๊ ความระหองระแหง ทุกคนแฮปปี้กันหมด และสมาชิกรัฐสภาก็แฮปปี้ และทำงานกันอย่างมีความสุข ผมไม่เห็นใครจะมีความทุกข์เลย”

“โฆษกรัฐบาล”ยัน "รัฐบาล" ดูแลผู้ติดโควิดรอบด้าน “นายกฯ” ย้ำ บริหารจัดการระบบ HI – CI เร่งทำความเข้าใจปชช.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญดูแลผู้ป่วยโควิด -19 รอบด้าน ทุกระดับอาการ ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จนถึงอาการรุนแรง เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ที่ผ่านมามีใช้จ่ายค่าบริการรักษาโควิด ปี 2563 จ่ายไป 3,841 ล้านบาท ปี 2564 จ่ายไป 97,747 ล้านบาท และปี 2565 จ่ายไปแล้ว 32,488 ล้านบาท  รวม  134,076 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบเพิ่มอีก 51,065 ล้านบาท

ขณะนี้โควิด 19 ยังเป็นโรคฉุกเฉินและยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ โดยนายกฯในฐานะผอ.ศบค. ทุ่มเทดูแลการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทย อยู่ในระดับควบคุม และมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่าน 652,938 ราย เสียชีวิต 348 ราย ญี่ปุ่น 572,555 ราย เสียชีวิต 1,462 ราย เวียดนาม 282,214 ราย เสียชีวิต 568 ราย มาเลเซีย 185,229 ราย เสียชีวิต 241 ราย อินเดีย 158,986 ราย เสียชีวิต 2,983 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24  ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล อย่างเคร่งครัด

'รัฐบาล' เปิดมหกรรม ไกล่เกลี่ยหนี้  25-26 ก.พ. ที่ไบเทค

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 65 น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการหรือจัดโครงการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนได้คล่องตัวมากขึ้น ในวันที่ 25-26 ก.พ. กระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวง อาทิ กรมสิทธิเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสถานบันการเงิน จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดในวันที่ 25 ก.พ.นี้ โดยงานในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนฟ้องและหนี้หลังมีคำพิพากษา ทั้งในส่วน ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์และหนี้สินครัวเรือนประเภทอื่นๆ 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมเพื่อรับความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหนี้ ให้ลงทะเบียนก่อนเข้าร่วมผ่านแบบฟอร์ม โดยสแกน QR Code เพื่อให้ข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมการไกล่เกลี่ย รวมถึงข้อมูลคัดกรองติดโควิด -19 เช่น การได้รับวัคซีน, ผลตรวจ  ATK หรือ RT-PCR  มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินฯ ครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางการไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะไม่ถูกดำเนินคดี มีส่วนลดเบี้ยปรับ ได้รับโอกาสในการขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ถึงอายุ 65 ปี รวมถึงปลดผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย ในส่วนของชั้นบังคับคดี รวมถึงการลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ งดยึดทรัพย์ งดขายทอดตลาด โดยลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดี ขณะที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน จะได้รับสิทธิส่วนลดปิดบัญชีขั้นต่ำ 20% ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 60 งวด ในส่วนของชั้นบังคับคดี จะได้รับสิทธิส่วนลดปิดบัญชีสูงสุด 100% ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 36 งวด เป็นต้น

“นายกฯ” ยินดี กรุงเทพฯ ติดอันดับ 6 เมืองจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติระดับโลก พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ 

เมื่อวันที่24 ก.พ.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม    ยินดีที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอับดับที่ 6 ของเมืองจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติระดับโลก จากรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของเมืองที่เป็นจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติ ประจำปี 2564 (International Convention Destination Competitive Index 2021) ด้วยคะแนน 642.1 จากทั้งหมด 101 เมืองทั่วโลก (International Convention Destination 2021) ซึ่งจัดทำโดยบริษัท GainingEdge บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกด้านอุตสาหกรรมไมซ์(Meeting, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions: MICE) ซึ่ง 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ปารีส นิวยอร์ก สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ลอนดอน บาร์เซโลนา อิสตันบูล และวอชิงตัน ตามลำดับ 

นายธนกร กล่าวว่า กรุงเทพฯ ได้ขยับขึ้นมา 2 อันดับ จากเดิมอันดับ 8 ในปี 2563 และเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กรุงเทพฯ จะอยู่ในอันดับ 4 ของเมืองในทวีปเอเชียยอดนิยม (Top Asian Metropolises) ดังนี้ สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ กัวลาลัมเปอร์ และโซล สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการประชุมของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการจัดประชุมทุกระดับ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

นายธนกร กล่าวว่า รายงานผลการจัดอันดับดังกล่าว ใช้การวิจัยและรวบรวมข้อมูลจากจากรายชื่อเมืองที่มีการจัดประชุมนานาชาติมากที่สุดในแต่ละปีของสมาคมการประชุมและการประชุมนานาชาติ จากนั้นได้ประเมินคุณภาพของปัจจัยที่สำคัญในแต่ละเมือง ซึ่งพิจารณาใน 3 ปัจจัยหลัก และ 11 องค์ประกอบย่อย คือ 1. ด้านสุขอนามัย ได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนสำหรับการประชุม ข้อเสนอของโรงแรมที่พัก ตอบโจทย์การใช้งาน และการเดินทางทางอากาศซึ่งต้องมีทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศรองรับผู้เข้าร่วมการประชุม 2. ด้านความได้เปรียบในการแข่งขัน ได้แก่ เครือข่ายทางการตลาด ต้นทุนในการจัดเตรียมการประชุมคุ้มค่า และการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว 3. ด้านการสร้างความแตกต่าง ได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก มูลค่าทางการตลาดของประเทศนั้น ๆ ขนาดของเศรษฐกิจโดยคำนวณจากค่า GDP/ประชากร  สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและ ความปลอดภัยและเสถียรภาพในประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์สามารถนำมาพัฒนาจากธุรกิจท่องเที่ยว ต่อยอดไปสู่การให้บริการจัดประชุม งานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่สามารถนำเสนอที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ด้วยเช่นกัน โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นองค์กรภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการอำนวยความสะดวกและพัฒนามาตรฐานการจัดงานในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีศักยภาพในระดับนานาชาติ

โดยเฉพาะภายหลังช่วงสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งปัจจุบันการจัดการประชุมต่าง ๆ ได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง เช่น ในปีนี้ ประเทศไทยมีแผนการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC 2022) ซึ่งมีการจัดการประชุมทุกระดับในแต่ละพื้นที่ของประเทศตลอดปี 2565 และงาน Thailand International Air Show ในปี 2566 ณ พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่เมืองการบินภาควันออกในเขต EEC ซึ่งถือเป็นงานแสดงอากาศยานและยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

“บิ๊กตู่” ห่วงใยคนไทยในยูเครน รัฐบาลเตรียมพร้อมจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำหากจำเป็นต้องอพยพ 

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยคนไทยที่อยู่ในยูเครน โดยกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ได้กำหนดแผนอพยพคนไทยไว้พร้อมแล้ว หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจะใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ แต่หากมีการปิดน่านฟ้าจะจัดรถรับคนไทยข้ามแดนไปยังประเทศโปแลนด์ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานถึงสถานการณ์ในยูเครนเป็นระยะๆ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยความห่วงใยคนไทยที่อยู่ในยูเครนซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ได้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนไทยอย่างต่อเนื่อง

เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงทีหากมีเหตุจำเป็น รวมทั้ง ได้สอบถามความเป็นอยู่ของชาวไทยและให้เตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้ได้กำหนดแผนการว่าจะใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำอพยพคนไทยจากยูเครนโดยตรง ส่วนกรณีน่านฟ้าปิด จะอพยพคนไทยมารวมกัน เพื่อเดินทางข้ามแดนโดยรถต่อไปยังกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เพื่อขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำกลับไทย 

สภาฯ รับข้อเสนอ 'พรรคกล้า' โทษวินัย ส.ส.โดดประชุม ทำสภาล่ม เชื่อ!! ก้าวแรกการเมืองคุณภาพเริ่มขึ้นแล้ว 

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ผู้เสนอตัวสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. พรรคกล้า ผู้รวบรวมรายชื่อกว่า 8,000 รายชื่อ เสนอบทลงโทษทางวินัย ส.ส. ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” หลายครั้ง โดยล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร โดยรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายอาพัทธ์ สุขะนันท์ ได้ส่งหนังสือตอบรับแล้ว ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ในหนังสือระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีดำริให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาดำเนินการ

“สภารับฟังข้อเสนอแนะ จากตัวแทนพรรคกล้าและพี่น้องประชาชนอีก 8 พันคน เขาฟังเสียงพวกเราแล้ว เพราะฉะนั้น เสียงของท่านดังกึกก้องในสภา ณ ที่แห่งนี้ และพวกเรารอติดตามกันว่า ระเบียบวินัยที่จะถูกมาพิจารณาในกรรมาธิการในลำดับถัดไป เรามาคอยติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะนี่คือก้าวแรกที่จะทำให้การเมืองไทยคุณภาพดีขึ้น รอติดตามกันต่อ” 

คาดเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยคาดว่า ในปี 65 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4% เพราะโควิด-19 โอมิครอนไม่รุนแรงมากนัก คาดว่าจะใช้เวลา 12-15 เดือนในการฟื้นเศรษฐกิจไทย จากนี้ไปจึงต้องเตรียมตัวแผนลงทุนทุกด้าน เพราะคาดว่าการท่องเที่ยว ที่เคยทำรายได้เข้าประเทศ ต้องใช้เวลา 20 เดือน คาดว่าปี 65 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 6 ล้านคน ปี 66 จำนวน 20 ล้านคน

ทั้งนี้เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบตัว K ซึ่งมีทั้งกลุ่มฟื้นตัว เช่น ภาคส่งออก ท่องเที่ยว บริการออนไลน์ แต่ยังมีกลุ่มรายย่อย ลูกจ้าง อาชีพอิสระ ยังรู้สึกว่ารายได้ยังไม่เพิ่ม นับเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มและฟื้นตัว ขณะที่สำนักงานอีอีซี มุ่งส่งเสริมด้านเกษตร สมุนไพร การท่องเที่ยวชุมชนในเขตอีอีซี จากตัวอย่างของจีน รายได้มากกว่า 50% ของประเทศมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยจึงต้องมุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจอีอีซีให้มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้น โดยมุ่งผลักดันการใช้ระบบ 5 จี ทั้งโรงงานนับหมื่นราย โรงแรม 300 แห่ง และให้กระจายลงสู่ชุมชน

คลังเร่งแผนการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจ

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ในปี 2565 รัฐวิสาหกิจ มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ณ สิ้นเดือนม.ค. 2565 เป็นไปตามเป้าหมาย โดยสามารถเบิกจ่ายได้ 35,052 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ 34 แห่ง จำนวน 19,549 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของแผนเบิกจ่ายสะสม และรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน 9 แห่ง จำนวน 15,503 ล้านบาท หรือคิดเป็น 111% ของแผน 

ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2565 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ส่วนใหญ่สามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และงานก่อสร้างปรับปรุงขยายท่อประปาของการประปาส่วนภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top