Friday, 17 May 2024
NEWS

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (6 มกราคม พ.ศ.2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 365 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 9,331 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 รายรวมยอดผู้เสียชีวิต 66 ราย รักษาหายเพิ่ม 21 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,418 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,847 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 365 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากเอธิโอเปีย 2 ราย ,ตุรกี 2 ราย ,เยอรมนี 2 ราย ,แคนาดา 1 ราย ,อิสราเอล 1 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ,มาเลเชีย 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 6 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 250 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 99 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 172 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 383 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.46 แสน เสียชีวิต 23,109 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.23 แสน ราย รักษาหายแล้ว 99,449 ราย เสียชีวิต 509 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.11 ราย เสียชีวิต 2,766 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.48 แสน ราย เสียชีวิต 9,321 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,749ราย รักษาหายแล้ว 58,517 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,504 ราย รักษาหายแล้ว1,339 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ภาคเอกชน ดัน 4 ข้อเสนอ ส่งรัฐบาลพิจารณา แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ประกอบด้วย บังคับใช้มาตรการรัฐอย่างเคร่งครัด, ใช้งบประมาณช่วยเหลือ , เร่งรัดวัคซีน และเร่งรัดการเจรจาการค้าทวิภาคี

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม เห็นชอบให้จัดทำข้อเสนอ 4 เรื่องเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ประกอบด้วย

1.) ควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสม และเร่งจับผู้กระทำผิด ทั้งเรื่องบ่อนการพนัน และการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

2.) เสนอให้ภาครัฐเร่งใช้งบประมาณช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด 2 แสนล้านบาท เช่น ต่ออายุโครงการคนละครึ่งเพิ่มใช้จ่ายต่อคนเป็น 5,000 บาท และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

3.) เร่งรัดวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

4.) เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป)

รัฐบาล ยืนยันผู้เข้าร่วมโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ที่เลื่อนการจองที่พัก - ยกเลิกการจอง หรือ จองแล้วแต่ไม่ได้เข้าพัก ยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40% โดยไม่เสียสิทธิ์ เตรียมประชุมขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อร้องเรียนของประชาชนในการเลื่อนการจองที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แล้วทางโรงแรมแจ้งว่าเป็นการเสียสิทธิ์ร่วมโครงการนั้น กรณีนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีการเลื่อนการจองที่พักออกไป หรือยกเลิกการจอง รวมถึงการจองห้องพักแต่ไม่ได้เข้าพัก ต่างยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40% เช่นเดิม โดยไม่เสียสิทธิ์แต่อย่างใด

และขณะนี้ธนาคารกรุงไทย กำลังแก้ไขระบบเพื่อรองรับการเลื่อน หรือยกเลิกการจองที่พัก เมื่อมีการเลื่อนจองห้องพัก โรงแรมสามารถรับเรื่องไว้ได้ก่อน และขอให้โรงแรมแจ้งการเลื่อนในระบบต่อไป เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่

ทั้งนี้รัฐบาล ได้ขอความร่วมมือสมาคมโรงแรมไทยและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันทุกแห่ง รวมถึง Online Travel Agency (OTA) ที่เข้าร่วมโครงการให้พิจารณาการช่วยรักษาสิทธิ์ในรูปแบบการคืนเงิน หรือการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ โดยการออก Voucher ของโรงแรมให้แก่นักท่องเที่ยวไว้กลับมาใช้บริการภายหลัง ส่วนนักท่องเที่ยวที่ได้ชำระเงินไปแล้ว โดยที่การคืนเงินหรือการขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์นี้ ระบบจะไม่ตัดสิทธิ์การใช้ห้องพักของนักท่องเที่ยว และคืนสิทธิ์เข้าสู่ระบบของโครงการฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคนอื่นได้ใช้สิทธิ์ต่อไป

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7.3 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,514 แห่ง โดยรวมมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอที่ประชุมครม. ขยายระยะเวลาโครงการฯออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

'เยอรมนี' ขึ้นแท่น!! 'จ้าวพาสปอร์ต' สุดทรงพลังแห่งปี 2021 ทะลุผ่าน 134 ประเทศแบบไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า ส่วนไทยรั้งอันดับ 52 สามารถเดินทางไป 61 ประเทศ

การจัดอันดับ 'พาสปอร์ต' หรือหนังสือเดินทางที่ทรงพลังที่สุดในโลกจาก Global Passport Power Rank 2021 by 'Passportindex' ซึ่งมีเกณฑ์การวัดจากจำนวนประเทศที่ผู้ถือพาสปอร์ตนั้น ๆ สามารถเดินทางไปได้แบบไม่ต้องขอ 'วีซ่า' ล่วงหน้า

โดยในปี 2021 พาสปอร์ตของประเทศเยอรมนี 'ครองแชมป์' เพราะสามารถเดินทางไปได้กว่า 134 ประเทศ

ทั้งนี้ ยอดของการเข้าประเทศ จะนับจากจำนวนประเทศที่ Free-Visa หรือเดินทางเข้าได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่า และประเทศที่ Visa on Arrival หรือการที่ต้องไปขอวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทาง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้ โดยปกติถ้าไม่ติดปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ก็จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศปลายทางได้ตามปกติ

ปล. สำหรับประเทศไทย อยู่ในกลุ่มอันดับที่ 52 สามารถเดินทางไป 61 ประเทศ โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า


อ้างอิง: www.passportindex.org/byRank.php

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย ติดเชื้อเพิ่มอีก 365 คน ภาพรวมผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง วางแผนร่วมกันเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่สมุทรสาครเพิ่ม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 365 คน แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 250 คน จากการค้นหาเชิงรุก 99 คน พบจากสถานที่กักกันตัวของรัฐ 16 คน รวมติดเชื้อสะสม 9,331 คน หายป่วยแล้ว 4,418 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย

โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 63 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา อาชีพขับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง โดยวันที่ 27 ธ.ค.63 มีอาการป่วย ไอ มีน้ำมูก เข้ารับการรักษาในรพ.สมุทรสาคร พบออกซิเจนในเลือดตกเหลือ 76% อาการปอดอักเสบและตรวจพบเชื้อ โควิด-19 และเข้ารับการรักษาในรพ.

ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.มีอาการหอบหืด และใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นย้ายเข้าห้องผู้ป่วยหนัก(ไอซียู) แต่อาการยังไม่ดีขึ้นและมีอาการไตวายต้องฟอกเลือด จนถึงวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา หัวใจหยุด แพทย์ทำการช่วยชีวิต ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวและระบบภายในล้มเหลว เมื่อเวลา 13.08 น.

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภาพรวมของผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ถ้ายังประคองตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่สามหลักไปได้ต่อเนื่อง ก็ยังมีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอในการรักษาดูแล แต่หากจำนวนมากขึ้นไปถึงหลักพันก็น่าเป็นห่วง และมีตัวอย่างเหตุเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ไปถึงขั้นว่าหากพบผู้ที่มีอาการป่วยมากและทรัพยากรไม่พอ ต้องรักษาและเสียชีวิตอยู่ที่บ้านพัก จึงต้องร้องขอให้ทำตามมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อจากบ่อนไก่ จ.อ่างทองไปจ.นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ถึง 38 คน

โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณ 5 เท่า และส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วย 68% มีอาการป่วย 32 % โดยอยู่ในช่วงอายุ 45- 54 ปี ส่วนคลัสเตอร์ที่จ.ระยอง กระจายตัวไปจากบ่อนการพนันไปถึง 7-8 อำเภอ รวมทั้งจ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ชลบุรี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อวัยช่วงวัยทำงาน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.63 และในวันที่มา 4 ม.ค.64 ซึ่งการติดเชื้อกระจายตัวไปในหลายพื้นที่หลายตำบล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานกว่า 1 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้มี 100 แห่ง ที่ต้องเข้าไปสืบสวน

นอกจากนั้นยังมีตลาดอื่น ๆ นอกจากตลาดกลางกุ้ง ที่จะต้องเข้าไปตรวจคัดกรอง ทางกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง จึงวางแผนร่วมกันที่จะเข้าไปตรวจคัดกรองในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมโรคและการทำงานจะสำเร็จได้เมื่อประชาชนช่วยร่วมมือกัน

ตัวแทนร้านนวดร้านสปา ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอผ่อนผันให้เปิดบริการได้ หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิด ยืนยัน ที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนสั่งปิดกลุ่มแรก แต่ให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย นำโดย นายพิทักษ์ โยทา เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค. ผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

โดยเรียกร้องให้ผ่อนผันให้ร้านนวด ร้านสปา เปิดบริการได้หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการบริการและไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านนวด ร้านสปา ทั่ว กทม. มี 1,700 ร้าน ส่วนทั่วประเทศมี 15,000 ร้าน ปิดถาวรไปแล้ว 11,280 ร้าน เพราะไม่มีทุนไปต่อ เหลือเพียง 4,000 กว่าร้าน ก็ทำตามมาตรฐานทุกอย่าง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้เปิดบริการเพื่อให้พนักงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

แต่หากไม่ผ่อนผัน ก็เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา หรือออกคำสั่งยกเว้นค่าเช่าตึก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินกู้ซอฟโลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าถึง

กองทัพเรือ เดินหน้าส่งมอบโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ให้กระทรวงสาธารณสุข รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ชลบุรี รวม 320 เตียง หลังยอดผู้ติดเชื้อระบาดระลอกใหม่พุ่งสูง

พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ส่งมอบโรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ซึ่งในอยู่ความรับผิดชอบของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบที่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จ.ระยอง และจ.ชลบุรี พบการติดเชื้อขยายเป็นวงกว้าง กองทัพเรือได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งให้การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อกรณีเกินขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลักในพื้นที่จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.จันทบุรี โดยใช้สถานที่ของกองทัพเรือที่ห่างไกลจากชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่

พล.ร.ท.เชษฐา กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 กองทัพเรือได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารฝึกของศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ใช้อาคารฝึกที่ 13-16 สำหรับเป็นที่พักผู้ป่วย และอาคารฝึกที่ 2 เป็นอาคารอำนวยการสำหรับเจ้าหน้าที่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 320 เตียง โดยรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาและสังเกตอาการจากโรงพยาบาล กรณีอาการไม่รุนแรงให้มาพักรักษาและติดตามอาการต่อเนื่องจนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้นก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือ 3 แห่งซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 726 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) จ.ชลบุรี จำนวน 320 เตียง โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จ.ชลบุรี จำนวน 174 เตียง และโรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จ.จันทบุรี จำนวน 232 เตียง

‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เร่งช่วยชาวประมง จัดระเบียบทะเลสาบสงขลา แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย และขาดแคลนแรงงาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทย รองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายใต้ Covid-19

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ด้วยระบบประชุมทางไกลออนไลน์ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ในการแก้ไขปัญหาประมงของประเทศ ตามที่กฎหมายกำหนด และคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ เรื่องสำคัญได้แก่ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา และเห็นชอบผลการดำเนินงานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งประกอบด้วย เรื่องสำคัญได้แก่

1.) การบริหารจัดการทรัพยากรประมง อย่างยั่งยืน

2.) การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

3.) การดำเนินการด้านการประมงต่างประเทศ

และ 4.) การดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และชาวประมง ที่มีความสำคัญได้แก่ การนำเรือประมงออกนอกระบบ, โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง, การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ

ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการออกระเบียบกรมประมง ว่าด้วยการขอ และการออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้าน อย่างยั่งยืน รวมทั้งการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563 เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ ศรชล.,กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประมง อย่างจริงจัง ทุกพื้นที่ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคู่การผ่อนปรน อย่างเหมาะสม เป็นธรรม สำหรับการปรับปรุงกฎหมายจะต้องให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องมีการสร้าง การรับรู้ ความเข้าใจ แก่ทั้งผู้ประกอบการ ,แรงงาน ,ผู้บริโภค และประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในสินค้าประมง รองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ covid-19 ในขณะนี้ด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมความพร้อมในการเยียวยาเกษตรกร ทันทีที่มีนโยบายจากรัฐบาล พร้อมปฏิรูปการบริหารและการบริการด้วยเทคโนโลยี ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรให้เร็วที่สุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการเยียวยาเกษตรกรเพื่อความรวดเร็วทันทีที่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ในฐานะนายทะเบียนจะตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนในโครงการเยียวยาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกษตรกรเกือบ 8 ล้านรายได้รับเงินเยียวยารายละ 15,000 บาท โดยรมว.เกษตรฯ ยังมอบนโยบายให้เกษตรกรรายใหม่และที่ตกหล่นสามารถลงทะเบียนได้ครบถ้วน และทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบความถูกต้อง

สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ในปี 2563 สศก. ในฐานะนายทะเบียนจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและได้ตรวจสอบแล้ว ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรกว่า 1 แสนล้านบาท

ซึ่งประกอบไปด้วย เกษตรกรกลุ่มพืช กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มหม่อนไหม กลุ่มชาวไร่อ้อย และกลุ่มชาวไร่ยาสูบ โดย 2 กลุ่มหลังขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังตามลำดับโดยส่งทะเบียนเกษตรกรผ่าน สศก. ก่อนส่งให้ ธกส. โอนตรงให้เกษตรกร

“ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาปฏิรูปการบริหารและการบริการด้วยเทคโนโลยี เช่น จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ มีบิ๊กดาต้าทำให้มีฐานข้อมูลเกษตรกร พร้อมดำเนินการในทุกภารกิจโดยเฉพาะการเยียวยาเกษตรกรกลางปีที่แล้วสามารถส่งฐานข้อมูลเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. ภายใน 5 วันทำการหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเยียวยาเกษตรกร โดยพร้อมช่วยเหลือเยียวยาถึงมือเกษตรกรให้เร็วที่สุด”

หนี้ครัวเรือน ของไทยยังพุ่งไม่หยุด หลังแบงก์ชาติ เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 63 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อ GDP ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 64 คนไทยอาจต้องแบกหนี้ ทะลุ 91% ต่อ GDP หากสถานการณ์โควิดยังลาม

จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ในไตรมาส 3 ปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี (จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563) นั้น

จากข้อมูลดังกล่าวของธปท. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของการก่อหนี้ก้อนใหม่ในภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2563 โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ ยังคงขยับขึ้นอีกประมาณ 1.60 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% ของการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งในไตรมาส 3/2563 หนี้ครัวเรือนมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นราว 1.82 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ระดับ 13.77 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสัญญาณการก่อหนี้ในส่วนอื่น ๆ (ทั้งหนี้ก้อนใหญ่ อย่างหนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่กลับมาเร่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3/2563 อีกครั้ง จากที่มีทิศทางชะลอลงในไตรมาส 2/2563 ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก

ปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดตัวรุนแรงจากความเสี่ยงโควิด-19 และหนี้ที่เพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 น่าจะเพิ่มความเปราะบางทางการเงินให้กับครัวเรือนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ความเปราะบางทางการเงินในภาคครัวเรือนของไทยทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้นตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจากฐานข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 ของสำนักงานสถิติที่พบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สวนทางกับภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ระดับการออมของครัวเรือนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอลงตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด

หากดูลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางในระดับครัวเรือนเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในขณะที่ภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27.0% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมี DSR อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มี DSR ที่สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มี DSR ประมาณ 40% โดยภาพดังกล่าวสะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นมาในปี 2563

ต่อภาพไปในปี 2564 คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 และน่าจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน (ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ที่รวมๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 10.68 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากธปท. ณ เดือน ต.ค. 2563)

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่ จะสะท้อนว่าลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการฯ และลูกหนี้บางส่วนได้รับการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2564 อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีนัยโดยตรงต่อกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และส่งผลทำให้ GDPในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%

ทั้งนี้ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า คือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้

กระทรวงการคลัง ชง!! จ่าย 4 พันต่อเดือน เยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน จากผลกระทบโควิดระบาดระลอกใหม่!! ลักษณะคล้าย 'เราไม่ทิ้งกัน' ระยะจ่าย 2 เดือน คาดดึงเงินกู้ 2 แสนล้านโปะ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ออกมาตรการเยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 2 เดือน

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในรายละเอียดในที่ประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจโควิด-19 หรือ ศบศ.กันอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนตัวเลขเยียวยา 40 ล้านคนจะมีที่มาอย่างไรนั้น ต้องนำตัวเลขมาจากจำนวนประชาชนที่ได้รับมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ในขณะนี้ประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตามจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง มีการเปิดเผยว่า ทางก.การคลัง จะเสนอให้รัฐบาลจ่ายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่ เหมือนกับโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่ดำเนินการไปครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันยังมีวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) เหลืออยู่ราว 2 แสนล้านบาท

จากนั้น ก็ต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ว่าจะทำหรือไม่ หากจ่ายจะจ่ายเท่าไร รวมถึงเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเงินอยู่ก็จริง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่สิ้นสุด ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายวงแค่ไหน ถ้าจ่าย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเหมือนครั้งก่อนอาจจะไม่พอ แต่ถ้าจ่ายก็ไม่น่าเกิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ตัวมาตรการเยียวยา จะมีความยาก เนื่องจากเป็นการแบ่งโซนประกาศพื้นที่ระบาด คลังจึงเสนอแนวทางให้จ่ายเงินเยียวยาเป็นตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของรัฐบาล แบ่งเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง โดยแต่ละสีอาจได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากัน ซึ่งยอมรับว่ามีความยากในการดำเนินการหลายด้าน และต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยตรวจสอบเช็กลิสต์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อรับเงินเยียวยา


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หรือ 'รด.' โดย พ.อ.นิธิ รัตนะวรรธนะ รองผู้บัญชาการ ทำการแทน ผู้บัญชาการ โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร มีหนังสือด่วนมาก เรื่อง 'การฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร ประจำปีการศึกษา 2563'

ลงวันที่ 5 ม.ค. โดยมีใจความว่า ตามที่โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร กำหนดการฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหารส่วนกลาง ประจำปีการศึกษา 2563 ที่ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (เขาชนไก่) ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ห้วงเดือนม.ค.- มี.ค.2564

จากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร ขอแจ้งให้สถานศึกษาวิชาทหารส่วนกลางทราบว่า กองทัพบกได้อนุมัติให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน 'ยกเลิก'การฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร ประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด พร้อมให้พิจารณาจัดกิจกรรม หรือการปฏิบัติอื่น ๆ ทดแทน เพื่อให้นักศึกษาวิชาทหารสามารถฝึกและได้รับการเลื่อนชั้นปีตามเกณฑ์ที่กำหนด

นายกรัฐมนตรี เปิดไทม์ไลน์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยืนยันคนไทย 60 ล้านคน ได้ฉีดตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน !!!

นายกรัฐมนตี เปิดไทม์ไลน์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยืนยันคนไทย 60 ล้านคน ได้ฉีดตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน !!!

หลังจากที่เริ่มมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ จากหลายบริษัทผู้ผลิตมาใช้ ก็มีกระแสของผลข้างเคียงต่าง ๆ นานาออกมา จนเกิดเสียงวิจารณ์ในวงกว้างถึงความกังวลในผลลัพธ์ที่อาจกระทบชีวิตพอสมควร

เพราะต้องยอมรับว่าการเร่งผลิตวัคซีนในครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูง เนื่องจากระยะเวลาการพัฒนาและทดสอบวัคซีนส่วนใหญ่สั้นมากเพียง 10 เดือน ซึ่งถือว่าสั้นกว่าวัคซีนโรคอุบัติใหม่ก่อนหน้านี้ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาและทดสอบกัน 2 - 5 ปี ขึ้นไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัคซีนที่ได้มานั้นใช้ได้ผล ปลอดภัย และป้องกันเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเป็นชนิดย่อย ๆ ได้ครอบคลุมที่สุด

แต่กับโควิด-19 ที่เหมือนว่าวัคซีนจะต้องเร่งพัฒนาแข่งกับเวลา จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีหยุด รวมทั้งเดิมพันด้วยเศรษฐกิจของโลกใบนี้ที่หยุดชะงักไปเพราะไวรัสทำพิษ มันกลายเป็นการบีบแบบไม่มีทางเลือกนอกจากเร่งทำมันออกมาให้เร็วที่สุด

แน่นอนว่าความเร็วที่ได้มาจากการเร่งผลิตนั้นย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากใครติดตามข่าวจะพบว่าการฉีดวัคซีนในตอนนี้ เริ่มมีผู้รับวัคซีนหลายรายเกิดอาการแพ้ ทั้งแบบเบาๆ และรุนแรงถึงขนาดต้องเข้าห้องไอซียู และส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ

ทั้งนี้วัคซีนที่ดูจะมีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงมากที่สุดก็เป็นของบริษัท Pfizer/BioNTech จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นบริษัทแรก ๆ ที่เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วในหลายประเทศ และเริ่มมีผู้มีอาการแพ้วัคซีนให้เห็นตามที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด แต่บางรายก็มีอาการรุนแรงมากจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินอย่างที่กล่าวไป ซึ่งเป็นแพทย์ในประเทศเม็กซิโก ที่เกิดอาการช็อกวัคซีนแทบจะทันทีที่ได้รับ

ไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลของสหราชอาณาจักรถึงกับต้องนำเอกสารกำกับยาของวัคซีนจากบริษัท Pfizer/BioNTech เผยแพร่ขึ้นบนเว็บไซต์ทางการของรัฐบาล เพื่อแจ้งไปยังประชาชนพร้อมกับคำเตือนสำหรับผู้ที่จะมารับวัคซีนที่จะต้องทำความเข้าใจให้เรียบร้อยว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในข้อต้องห้ามรับวัคซีนเหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนได้สรุปย่อมาให้จากเอกสารของ “Regulatory approval of Pfizer/BioNTech vaccine for COVID-19” อัปเดตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Gov.uk ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อของไทยยังไม่ค่อยพูดถึงหรือนำเสนอ

- วัคซีนโควิด-19 ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีสภาวะภูมิแพ้

- บุคคลที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือผู้ที่มีโรคเลือดออกซึ่งจะห้ามการฉีดเข้ากล้ามไม่ควรได้รับวัคซีน

- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงบุคคลที่ได้รับการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน อาจมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลง รวมทั้งผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้ม

- วัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแม่และทารกในครรภ์

- วัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ภายในไม่กี่เดือนหลังจากได้รับวัคซีน

- ผู้ได้รับวัคซีนจะไม่สามารถให้นมบุตรได้

- ผลข้างเคียงของวัคซีนอาจส่งผลกระทบให้มีอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่หรือใช้เครื่องจักรชั่วคราว

- มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดจากกลุ่มทดสอบอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้แก่ อาการปวดบริเวณที่ฉีด (> 80%) ความเมื่อยล้า (> 60%) ปวดศีรษะ (> 50%) ปวดกล้ามเนื้อ (> 30%) หนาวสั่น (> 30 %), ปวดข้อ (> 20%) และ เป็นไข้ (> 10%) และมักจะมีความรุนแรงน้อยหรือปานกลางและจะหายภายในไม่กี่วันหลังการฉีดวัคซีน

- พบความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง ระบบภูมิคุ้มกัน และความผิดปกติของระบบประสาท

- ในบางรายพบอาการอัมพาตที่ใบหน้าส่วนปลายเฉียบพลัน

- อาจมีอาการสูญเสียการรับรสชาติหรือรับกลิ่น เจ็บคอ ท้องเสีย หรืออาเจียน

- หากมีอาการแพ้จากสารออกฤทธิ์หรือส่วนผสมอื่น ๆ ของวัคซีนที่รวมถึงผื่นคันที่ผิวหนัง หายใจถี่ และบวมที่ใบหน้าหรือลิ้น ต้องติดต่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทันทีหรือไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

- วัคซีนยังไม่มีการทดสอบหรือทดลองเพื่อหาผลข้างเคียงในระยะยาว

- วัคซีนไม่มีการทดสอบหรือทดลองเพื่อตรวจสอบผลข้างเคียงหากรับประทานร่วมกับยาอื่นๆ ที่กำหนด

- การฉีดวัคซีนอาจไม่สามารถปกป้องผู้ที่ได้รับจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 100% และยังไม่มีข้อมูลในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือกำลังรับการรักษาเรื้อรังที่ยับยั้งหรือป้องกันการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

- การฉีดวัคซีนยังไม่ยืนยัน100% ว่าจะป้องกันไม่ให้ผู้รับวัคซีนจะไม่เป็นพาหะแพร่กระจายไวรัสไปสู่ผู้อื่น

- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่เคยมีการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง

- และ 'ไฮไลท์' ของเอกสารดังกล่าวอยู่ที่...หากเกิดอาการเจ็บป่วยส่วนบุคคล หรือ 'เสียชีวิต' อันเป็นผลมาจากการรับวัคซีน รัฐบาลสหราชอาณาจักรและผู้ผลิตวัคซีนจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

นี่เป็นเพียงข้อมูลที่สกัดได้จากเอกสารกำกับยาของวัคซีนจาก Pfizer/BioNTech ที่เรียบเรียงเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย แต่ใช่ว่าทุกคนที่รับวัคซีนของบริษัทนี้จะมีอาการดังกล่าวทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นเอกสารรัฐบาลสหราชอาณาจักรเผยแพร่ให้ผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับตัวเองน้อยที่สุด


อ้างอิง: https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-pfizer-biontech-vaccine-for-covid-19?fbclid=IwAR0iHwRPKxp_BicBt3YRMaVu-kQ4GlD_gytzpaS-8C3MDb_k5pAv86jRvRw


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top