Thursday, 16 May 2024
NEWS

กระทรวงการคลัง ยืนยัน ยังไม่มีมาตรการเยียวยาจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยง หลังมีข่าว ‘กระทรวงการคลัง จะแจกเงิน 4,000 บาทต่อเดือน’ ย้ำเป็นข่าวไม่จริง วอนประชาชน อย่าหลงเชื่อและแชร์ข้อมูลดังกล่าว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ แต่กลับไม่มีมาตรการเยียวยาจากรัฐบาลที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว

กระทรวงการคลังขอเรียนชี้แจงว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 28 จังหวัด นั้น เป็นการบริหารจัดการเพื่อควบคุมการระบาดและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้มีการยกระดับมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรค เช่น การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ การปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และการขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นต้น

โดยเป็นแนวทางในการดูแลสาธารณสุขที่เพียงพอและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังที่พร้อมจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป

โฆษกกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ภาครัฐมีแหล่งเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท

และเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป

นอกจากนี้ ตามที่มีข่าวปรากฏในภายหลังว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการเยียวยาแจกเงิน จำนวน 4,000 บาท ขอเรียนว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามสืบค้นข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังได้จากแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ในเว็บไซต์ www.mof.go.th หรือในเฟซบุ๊ก “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง”

ตีแผ่ที่มาของการหายตัวลึกลับของ แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของจีน

แจ็ค หม่า เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก ที่ใครๆ ต่างก็รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจ e-Commerce ชื่อดัง อาลีบาบา ที่มีมูลค่าสูงถึง 527,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อาลีบาบา กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

แต่นอกเหนือจากบทบาทของการเป็นผู้ริเริ่มสร้างธุรกิจ e-Commerce จากศูนย์ ให้กลายเป็นธุรกิจแสนล้าน แจ็ค หม่า ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการหัวสมัยใหม่ ที่มักแสดงวิสัยทัศน์ที่ทันยุค และน่าสนใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคนที่ยกให้เป็น "วิถี แจ็ค หม่า"

แต่วันนี้ แจ็ค หม่า กลับเดินหายเข้ากลีบเมฆ ไม่ออกสื่อมานานหลายเดือน แม้กระทั่งในรายการเรียลลิตี้ โชว์ ของตัวเอง ที่เขาเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินอย่าง Africa's Business Heroes ในตอนสุดท้ายก็ยังไม่ปรากฏตัว ซึ่งผิดปกติมากๆ เพราะรายการนี้ ถือเป็นรายการใหญ่ ได้รับทุนจากมูลนิธิของแจ็ค หม่า โดยตรง ที่มีเงินรางวัลสูงสุดถึง 300,000 เหรียญสำหรับผู้ชนะ

ครั้งสุดท้ายที่แจ็ค หม่า ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะแบบจริง ๆ จัง ๆ ก็คืองาน 2nd Bund Financial Summit งานประชุมสุดยอดนักลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา และในงานนั้น แจ็ค หม่าก็ได้เอ่ยวาทะสะเทือนวงการธนาคารจีน เมื่อเขาเปรียบระบบธนาคารของจีน ไม่ต่างจากโรงรับจำนำที่ล้าหลัง และขาดความเข้าใจในตัวนักลงทุนที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ในยุคปัจจุบัน

ซึ่งนั่นเป็นเหตุการณ์ก่อนที่ แจ็ค หม่า กำลังเข็นบริษัท Ant Group เตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์จีน และคาดว่าจะเปิดตัวด้วยมูลค่า IPO ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่กลับถูกทางการจีนออกคำสั่งด่วน ระงับการซื้อขายเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน และเมื่อขยี้มดตะนอยของแจ็ค หม่า เรียบร้อย รัฐบาลจีนก็จัดการบุกรังใหญ่ ด้วยการสั่งสอบสวนกลุ่มบริษัท อาลีบาบา ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดฐานผูกขาดตลาดทางการค้าหรือไม่

ตลอดช่วงที่เกิดพายุลูกใหญ่พัดใส่บริษัทในเครืออาลีบาบา ไม่มีใครได้เห็นแจ็ค หม่า ปรากฏกายอีกเลย จึงกลายเป็นเรื่องราวที่สำนักข่าวทั่วโลกออกประกาศตามหาแจ็ค หม่า กันอย่างครึกโครมว่าเขาหายไปไหนกันแน่

หลายคนเป็นห่วงว่า ตัวแจ็ค หม่า อาจถูกทางการจีนควบคุมตัวเข้ม ไม่ให้ออกสื่อใด ๆ เนื่องจากแจ็ค หม่า ได้ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ระบบธนาคารของจีน ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งในโครงสร้างการบริหารของรัฐบาลจีน และอย่างที่เราทราบกันว่า การแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลจีนไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวคนพูดยังอยู่ในแผ่นดินจีน มักจบไม่ค่อยสวยนัก

แม้จะเป็นถึงอภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1 อย่างแจ็ค หม่า ก็ไม่เว้นเช่นเดียวกัน

แต่ก็มีสื่อบางสำนักยังเชื่อว่า แจ็ค หม่า ยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เก็บตัวอยู่เงียบ ๆ รอมรสุมผ่านไปก่อนเท่านั้น เข้าตำราเมื่อเจ้ามือเห่า เราต้องหมอบ แต่บางสื่อกลับไม่คิดเช่นนั้น โดยมีกระแสข่าวว่า แจ็ค หม่า ถูกทางการจีนรวบตัว และสั่งให้เขาห้ามออกนอกประเทศ แม้แต่งานประกาศความสำเร็จของเว็บไซต์ อาลีบาบาในแคมเปญ เซลกระหน่ำในวันเทศกาลคนโสด หรือ 11.11 ที่แจ็ค หม่า เป็นผู้ริเริ่ม จะทำรายได้อย่างถล่มทลายทุบสถิติในปีนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครได้เห็นตัวแจ็ค หม่า เลย

ซึ่งสาเหตุการหายตัวไปของแจ็ค หม่า นั้นอาจจะพอคาดเดาได้ แต่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ แล้วเมื่อไรที่เราจะได้เห็น แจ็ค หม่าอีกครั้ง? และจะปรากฏตัวในรูปแบบไหน? เพราะแจ็ค หม่า ไม่ใช่อภิมหาเศรษฐีรายแรกของจีน ที่ถูก “เก็บเข้ากรุ” ตัวอย่างเศรษฐีตกสวรรค์ในจีนมีให้เห็นมาแล้วมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น อู๋ เสี่ยวฮุย ประธานบริษัท อันปัง อินชัวรันซ์ กรุ๊ป บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของจีน ถูกศาลตัดสินจำคุก 18 ปี และยึดทรัพย์อีกกว่า 1 หมื่นล้านหยวน ในข้อหาใช้อำนาจมิชอบ และเปิดระดมทุนอย่างผิดกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. 2018 และล่าสุด เหริน จื้อเฉียง มหาเศรษฐีอดีตเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปักกิ่ง ผู้ซึ่งเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน เรื่องการจัดการปัญหา Covid-19 และด่าท่านประธาน สี่ จิ้นผิง ว่าเป็นตัวตลก ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชั่น และตัดสินจำคุกนานถึง 18 ปี ปรับอีก 4.2 ล้านหยวน

นาทีนี้ จึงได้แต่หวังว่า แจ็ค หม่า จะไม่ตกในชะตากรรมเดียวกัน


แหล่งข่าว

https://www.theguardian.com/business/2021/jan/05/where-is-jack-ma-chinese-tycoon-not-seen-since-october-alibaba

https://www.cnbc.com/2021/01/05/alibaba-founder-jack-ma-is-laying-low-for-the-time-being-not-missing.html

https://www.chinabankingnews.com/2020/10/26/jack-ma-calls-for-replacing-pawnshop-mentality-of-traditional-banks-with-big-data-based-credit-system/

https://www.aljazeera.com/economy/2020/11/5/what-does-ant-groups-frozen-ipo-say-about-business-in-china

https://www.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/posts/2083532988529379

ธ.ก.ส. เตือนระวังแอปพลิเคชันแอบอ้างใช้โลโก้ ‘ธ.ก.ส.’ หลอกให้ประชาชนเข้ามาขอสินเชื่อฉุกเฉิน ย้ำ! อย่าดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว เพราะอาจถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปก่อให้เกิดความเสียหายได้

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้จัดทำแอปพลิเคชัน โดยใช้ชื่อแอปพลิเคชันว่า “ลงทะเบียนกู้เงิน ธกส. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท” โดยแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ของธนาคารและมีข้อความว่า “สินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท” เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าไปดาวน์โหลดใช้ผ่านทาง Play Store ในระบบปฏิบัติการ Android นั้น

ทั้งนี้ ขอเรียนแจ้งว่า ธ.ก.ส. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันดังกล่าวแต่อย่างใด จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปโปรดอย่าหลงเชื่อและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวมาใช้งาน เนื่องจากอาจ ถูกหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และถูกนำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายได้

โดยหากท่านได้ดาวน์โหลดแอปพิเคชันดังกล่าวไปแล้ว ให้รีบถอนการติดตั้งโดยเร็ว อนึ่ง ขอให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนโปรดใช้ความระมัดระวังในการใช้งานด้านธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟนและระบบดิจิทัล

เนื่องจากปัจจุบันเกิดกรณีผู้ไม่หวังดีใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของท่านบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายได้ หากพบเห็นการกระทำที่ไม่น่าไว้วางใจหรือแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ของ ธ.ก.ส. สามารถแจ้งได้ที่ Call Center 02 - 555 - 0555

สำหรับ โครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการแล้ว

การไฟฟ้านครหลวง ขยายระยะเวลายกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 จากกำหนดเดิมออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2564

ตามที่ การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ที่กำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งบังคับใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร

ตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 และได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดดังกล่าว จากกำหนดเดิมออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้าจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น

MEA จึงแจ้งขยายระยะเวลายกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จากกำหนดเดิมออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2564 ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 62/2563 (ครั้งที่ 705 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563) โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวจ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง


สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mea.or.th/upload/download/file_c85fe40878b0b5ad24c95685f2c3dea7.pdf

▶️ Facebook : https://www.facebook.com/497340003626475/posts/4249800021713769/

▶️ Website : https://www.mea.or.th/content/detail/87/5701

▶️ Twitter : https://twitter.com/mea_news/status/1346662743328215041?s=21

▶️ Gnews : https://gnews.apps.go.th/news?news=75877

▶️ Line OA: https://timeline.line.me/post/_dQn9zGwXj83CxqzRN98kNgtqOGsCdIGLMSbrTR8/1160990414601069167

เอกอัครราชทูตมองโกเลีย ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ยืนยันพร้อมสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างกันอย่างรอบดาน พร้อมเร่งเจรจาทวิภาคีฟื้นเศรษฐกิจ

นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมองโกเลียมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งกลไกการประชุมความร่วมมือทวิภาคีไทย-มองโกเลีย การจัดทำแผนงานร่วม (Work Plan) ระยะเวลา 5 ปี ตลอดจน ความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมากขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ยืนยันรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับเอกอัครราชทูตฯ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ก้าวหน้าอย่างรอบด้าน

เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าเยี่ยมคารวะ ยินดีที่ได้ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ยืนยันพร้อมสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับมองโกเลียให้มีความก้าวหน้าต่อไป โดยเฉพาะด้านวิชาการ การแพทย์ และสาธารณสุข นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมการทำงานอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทยเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมองโกเลียสนใจขอร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการ และด้านวัคซีนกับไทยด้วย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะการเร่งรัดหาข้อสรุปความตกลงที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนด้านการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าด้านเกษตรกรรม และการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในมองโกเลีย ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการขยายการลงทุนในมองโกเลียอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐบาลมองโกเลียช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนไทย โดยรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนมองโกเลียเช่นกัน

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (6 มกราคม พ.ศ.2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 365 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 9,331 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 รายรวมยอดผู้เสียชีวิต 66 ราย รักษาหายเพิ่ม 21 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,418 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,847 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 365 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากเอธิโอเปีย 2 ราย ,ตุรกี 2 ราย ,เยอรมนี 2 ราย ,แคนาดา 1 ราย ,อิสราเอล 1 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ,มาเลเชีย 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 6 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 250 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 99 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 172 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 383 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.46 แสน เสียชีวิต 23,109 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.23 แสน ราย รักษาหายแล้ว 99,449 ราย เสียชีวิต 509 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.11 ราย เสียชีวิต 2,766 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.48 แสน ราย เสียชีวิต 9,321 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,749ราย รักษาหายแล้ว 58,517 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,504 ราย รักษาหายแล้ว1,339 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ภาคเอกชน ดัน 4 ข้อเสนอ ส่งรัฐบาลพิจารณา แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ประกอบด้วย บังคับใช้มาตรการรัฐอย่างเคร่งครัด, ใช้งบประมาณช่วยเหลือ , เร่งรัดวัคซีน และเร่งรัดการเจรจาการค้าทวิภาคี

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม เห็นชอบให้จัดทำข้อเสนอ 4 เรื่องเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ประกอบด้วย

1.) ควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสม และเร่งจับผู้กระทำผิด ทั้งเรื่องบ่อนการพนัน และการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

2.) เสนอให้ภาครัฐเร่งใช้งบประมาณช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด 2 แสนล้านบาท เช่น ต่ออายุโครงการคนละครึ่งเพิ่มใช้จ่ายต่อคนเป็น 5,000 บาท และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

3.) เร่งรัดวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

4.) เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป)

รัฐบาล ยืนยันผู้เข้าร่วมโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ที่เลื่อนการจองที่พัก - ยกเลิกการจอง หรือ จองแล้วแต่ไม่ได้เข้าพัก ยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40% โดยไม่เสียสิทธิ์ เตรียมประชุมขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อร้องเรียนของประชาชนในการเลื่อนการจองที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แล้วทางโรงแรมแจ้งว่าเป็นการเสียสิทธิ์ร่วมโครงการนั้น กรณีนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีการเลื่อนการจองที่พักออกไป หรือยกเลิกการจอง รวมถึงการจองห้องพักแต่ไม่ได้เข้าพัก ต่างยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40% เช่นเดิม โดยไม่เสียสิทธิ์แต่อย่างใด

และขณะนี้ธนาคารกรุงไทย กำลังแก้ไขระบบเพื่อรองรับการเลื่อน หรือยกเลิกการจองที่พัก เมื่อมีการเลื่อนจองห้องพัก โรงแรมสามารถรับเรื่องไว้ได้ก่อน และขอให้โรงแรมแจ้งการเลื่อนในระบบต่อไป เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่

ทั้งนี้รัฐบาล ได้ขอความร่วมมือสมาคมโรงแรมไทยและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันทุกแห่ง รวมถึง Online Travel Agency (OTA) ที่เข้าร่วมโครงการให้พิจารณาการช่วยรักษาสิทธิ์ในรูปแบบการคืนเงิน หรือการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ โดยการออก Voucher ของโรงแรมให้แก่นักท่องเที่ยวไว้กลับมาใช้บริการภายหลัง ส่วนนักท่องเที่ยวที่ได้ชำระเงินไปแล้ว โดยที่การคืนเงินหรือการขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์นี้ ระบบจะไม่ตัดสิทธิ์การใช้ห้องพักของนักท่องเที่ยว และคืนสิทธิ์เข้าสู่ระบบของโครงการฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคนอื่นได้ใช้สิทธิ์ต่อไป

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7.3 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,514 แห่ง โดยรวมมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอที่ประชุมครม. ขยายระยะเวลาโครงการฯออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

'เยอรมนี' ขึ้นแท่น!! 'จ้าวพาสปอร์ต' สุดทรงพลังแห่งปี 2021 ทะลุผ่าน 134 ประเทศแบบไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า ส่วนไทยรั้งอันดับ 52 สามารถเดินทางไป 61 ประเทศ

การจัดอันดับ 'พาสปอร์ต' หรือหนังสือเดินทางที่ทรงพลังที่สุดในโลกจาก Global Passport Power Rank 2021 by 'Passportindex' ซึ่งมีเกณฑ์การวัดจากจำนวนประเทศที่ผู้ถือพาสปอร์ตนั้น ๆ สามารถเดินทางไปได้แบบไม่ต้องขอ 'วีซ่า' ล่วงหน้า

โดยในปี 2021 พาสปอร์ตของประเทศเยอรมนี 'ครองแชมป์' เพราะสามารถเดินทางไปได้กว่า 134 ประเทศ

ทั้งนี้ ยอดของการเข้าประเทศ จะนับจากจำนวนประเทศที่ Free-Visa หรือเดินทางเข้าได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่า และประเทศที่ Visa on Arrival หรือการที่ต้องไปขอวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทาง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้ โดยปกติถ้าไม่ติดปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ก็จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศปลายทางได้ตามปกติ

ปล. สำหรับประเทศไทย อยู่ในกลุ่มอันดับที่ 52 สามารถเดินทางไป 61 ประเทศ โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า


อ้างอิง: www.passportindex.org/byRank.php

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย ติดเชื้อเพิ่มอีก 365 คน ภาพรวมผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง วางแผนร่วมกันเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่สมุทรสาครเพิ่ม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 365 คน แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 250 คน จากการค้นหาเชิงรุก 99 คน พบจากสถานที่กักกันตัวของรัฐ 16 คน รวมติดเชื้อสะสม 9,331 คน หายป่วยแล้ว 4,418 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย

โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 63 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา อาชีพขับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง โดยวันที่ 27 ธ.ค.63 มีอาการป่วย ไอ มีน้ำมูก เข้ารับการรักษาในรพ.สมุทรสาคร พบออกซิเจนในเลือดตกเหลือ 76% อาการปอดอักเสบและตรวจพบเชื้อ โควิด-19 และเข้ารับการรักษาในรพ.

ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.มีอาการหอบหืด และใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นย้ายเข้าห้องผู้ป่วยหนัก(ไอซียู) แต่อาการยังไม่ดีขึ้นและมีอาการไตวายต้องฟอกเลือด จนถึงวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา หัวใจหยุด แพทย์ทำการช่วยชีวิต ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวและระบบภายในล้มเหลว เมื่อเวลา 13.08 น.

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภาพรวมของผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ถ้ายังประคองตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่สามหลักไปได้ต่อเนื่อง ก็ยังมีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอในการรักษาดูแล แต่หากจำนวนมากขึ้นไปถึงหลักพันก็น่าเป็นห่วง และมีตัวอย่างเหตุเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ไปถึงขั้นว่าหากพบผู้ที่มีอาการป่วยมากและทรัพยากรไม่พอ ต้องรักษาและเสียชีวิตอยู่ที่บ้านพัก จึงต้องร้องขอให้ทำตามมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อจากบ่อนไก่ จ.อ่างทองไปจ.นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ถึง 38 คน

โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณ 5 เท่า และส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วย 68% มีอาการป่วย 32 % โดยอยู่ในช่วงอายุ 45- 54 ปี ส่วนคลัสเตอร์ที่จ.ระยอง กระจายตัวไปจากบ่อนการพนันไปถึง 7-8 อำเภอ รวมทั้งจ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ชลบุรี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อวัยช่วงวัยทำงาน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.63 และในวันที่มา 4 ม.ค.64 ซึ่งการติดเชื้อกระจายตัวไปในหลายพื้นที่หลายตำบล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานกว่า 1 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้มี 100 แห่ง ที่ต้องเข้าไปสืบสวน

นอกจากนั้นยังมีตลาดอื่น ๆ นอกจากตลาดกลางกุ้ง ที่จะต้องเข้าไปตรวจคัดกรอง ทางกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง จึงวางแผนร่วมกันที่จะเข้าไปตรวจคัดกรองในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมโรคและการทำงานจะสำเร็จได้เมื่อประชาชนช่วยร่วมมือกัน

ตัวแทนร้านนวดร้านสปา ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอผ่อนผันให้เปิดบริการได้ หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิด ยืนยัน ที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนสั่งปิดกลุ่มแรก แต่ให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย นำโดย นายพิทักษ์ โยทา เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค. ผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

โดยเรียกร้องให้ผ่อนผันให้ร้านนวด ร้านสปา เปิดบริการได้หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการบริการและไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านนวด ร้านสปา ทั่ว กทม. มี 1,700 ร้าน ส่วนทั่วประเทศมี 15,000 ร้าน ปิดถาวรไปแล้ว 11,280 ร้าน เพราะไม่มีทุนไปต่อ เหลือเพียง 4,000 กว่าร้าน ก็ทำตามมาตรฐานทุกอย่าง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้เปิดบริการเพื่อให้พนักงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

แต่หากไม่ผ่อนผัน ก็เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา หรือออกคำสั่งยกเว้นค่าเช่าตึก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินกู้ซอฟโลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าถึง

กองทัพเรือ เดินหน้าส่งมอบโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ให้กระทรวงสาธารณสุข รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ชลบุรี รวม 320 เตียง หลังยอดผู้ติดเชื้อระบาดระลอกใหม่พุ่งสูง

พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ส่งมอบโรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ซึ่งในอยู่ความรับผิดชอบของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบที่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จ.ระยอง และจ.ชลบุรี พบการติดเชื้อขยายเป็นวงกว้าง กองทัพเรือได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งให้การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อกรณีเกินขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลักในพื้นที่จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.จันทบุรี โดยใช้สถานที่ของกองทัพเรือที่ห่างไกลจากชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่

พล.ร.ท.เชษฐา กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 กองทัพเรือได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารฝึกของศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ใช้อาคารฝึกที่ 13-16 สำหรับเป็นที่พักผู้ป่วย และอาคารฝึกที่ 2 เป็นอาคารอำนวยการสำหรับเจ้าหน้าที่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 320 เตียง โดยรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาและสังเกตอาการจากโรงพยาบาล กรณีอาการไม่รุนแรงให้มาพักรักษาและติดตามอาการต่อเนื่องจนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้นก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือ 3 แห่งซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 726 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) จ.ชลบุรี จำนวน 320 เตียง โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จ.ชลบุรี จำนวน 174 เตียง และโรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จ.จันทบุรี จำนวน 232 เตียง

‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เร่งช่วยชาวประมง จัดระเบียบทะเลสาบสงขลา แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย และขาดแคลนแรงงาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทย รองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายใต้ Covid-19

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ด้วยระบบประชุมทางไกลออนไลน์ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ในการแก้ไขปัญหาประมงของประเทศ ตามที่กฎหมายกำหนด และคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ เรื่องสำคัญได้แก่ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา และเห็นชอบผลการดำเนินงานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งประกอบด้วย เรื่องสำคัญได้แก่

1.) การบริหารจัดการทรัพยากรประมง อย่างยั่งยืน

2.) การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

3.) การดำเนินการด้านการประมงต่างประเทศ

และ 4.) การดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และชาวประมง ที่มีความสำคัญได้แก่ การนำเรือประมงออกนอกระบบ, โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง, การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ

ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการออกระเบียบกรมประมง ว่าด้วยการขอ และการออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้าน อย่างยั่งยืน รวมทั้งการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563 เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ ศรชล.,กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประมง อย่างจริงจัง ทุกพื้นที่ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคู่การผ่อนปรน อย่างเหมาะสม เป็นธรรม สำหรับการปรับปรุงกฎหมายจะต้องให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องมีการสร้าง การรับรู้ ความเข้าใจ แก่ทั้งผู้ประกอบการ ,แรงงาน ,ผู้บริโภค และประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในสินค้าประมง รองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ covid-19 ในขณะนี้ด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมความพร้อมในการเยียวยาเกษตรกร ทันทีที่มีนโยบายจากรัฐบาล พร้อมปฏิรูปการบริหารและการบริการด้วยเทคโนโลยี ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรให้เร็วที่สุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการเยียวยาเกษตรกรเพื่อความรวดเร็วทันทีที่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ในฐานะนายทะเบียนจะตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนในโครงการเยียวยาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกษตรกรเกือบ 8 ล้านรายได้รับเงินเยียวยารายละ 15,000 บาท โดยรมว.เกษตรฯ ยังมอบนโยบายให้เกษตรกรรายใหม่และที่ตกหล่นสามารถลงทะเบียนได้ครบถ้วน และทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบความถูกต้อง

สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ในปี 2563 สศก. ในฐานะนายทะเบียนจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและได้ตรวจสอบแล้ว ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรกว่า 1 แสนล้านบาท

ซึ่งประกอบไปด้วย เกษตรกรกลุ่มพืช กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มหม่อนไหม กลุ่มชาวไร่อ้อย และกลุ่มชาวไร่ยาสูบ โดย 2 กลุ่มหลังขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังตามลำดับโดยส่งทะเบียนเกษตรกรผ่าน สศก. ก่อนส่งให้ ธกส. โอนตรงให้เกษตรกร

“ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาปฏิรูปการบริหารและการบริการด้วยเทคโนโลยี เช่น จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ มีบิ๊กดาต้าทำให้มีฐานข้อมูลเกษตรกร พร้อมดำเนินการในทุกภารกิจโดยเฉพาะการเยียวยาเกษตรกรกลางปีที่แล้วสามารถส่งฐานข้อมูลเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. ภายใน 5 วันทำการหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเยียวยาเกษตรกร โดยพร้อมช่วยเหลือเยียวยาถึงมือเกษตรกรให้เร็วที่สุด”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top