Saturday, 27 April 2024
TODAY SPECIAL

6 เมษายน พ.ศ. 2325 ‘ในหลวง ร.1’ เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พร้อมก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงปัจจุบัน

วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง กว่าจะมาเป็นสยามได้ในทุกวันนี้

ทั้งนี้ วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 10 รัชกาล

จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง
จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกชาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซมและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

5 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่า งๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

4 เมษายน ของทุกปี ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ พระราชทานให้วันนี้เป็น ’วันภาพยนตร์แห่งชาติ‘ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยร่วมตระหนักถึงคุณค่าของ 'ภาพยนตร์ไทย'

วันภาพยนตร์แห่งชาติตรงกับวันที่ 4 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของภาพยนตร์ไทย เพราะภาพยนตร์ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมบ้านเราได้ดีที่สุด

สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือเรื่อง 'นางสาวสุวรรณ' เข้าฉายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาภาพยนตร์ออกมาเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ได้มีงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทย ที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดขึ้นมา เพื่อมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพ และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผลิต เช่น รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลพระสุรัสวดี รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง และอื่น ๆ อีกหลายรางวัล

3 เมษายน พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ฯ จ.กาญจนบุรี บรรเทาความเดือดร้อนคนไทยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.9’

จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกอบกับมีการขยายตัวของชุมชน ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ระบบประปาที่มีอยู่เดิมไม่สามารถจ่ายน้ำได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงแหล่งน้ำจากผิวดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลทำให้ราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ระยะแรก 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พิจารณาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ไม่มีศักยภาพในการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำเป็นต้องทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ พร้อมกับก่อสร้างระบบประปาบาดาลในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน โดยจัดทำโครงการต้นแบบ จำนวน 2 พื้นที่ คือ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับ ‘โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง’ เพิ่มเติม ระยะที่ 2 จำนวน 18 โครงการ ครอบคลุม 10 จังหวัด และระยะที่ 3 จำนวน 14 โครงการ ครอบคลุม 14 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 47 โครงการ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้น้อมนำพระบรมราโชบายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ไปดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย พระองค์ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า ‘เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย’ และ ‘วิศิษฏศิลปิน’ ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรียังมีมติให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์มรดกของชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

‘ในหลวง ร.5’ ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กระทรวงมหาดไทย’ พร้อมวางรากฐานให้หน่วยงานมุ่งมั่นในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ แก่ประชาชน

ครบรอบ 132 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงมหาดไทย โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนากระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 และได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และพระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย พร้อมทั้งได้ทรงปรับปรุงงานของกระทรวงมหาดไทยหลายประการ อาทิ การแก้ไขระเบียบการปฏิบัติงาน การจัดตั้งศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงจัดระเบียบการปกครอง ‘รูปแบบเทศาภิบาล’ และทรงวางรากฐานให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 132 ปี

ทั้งนี้ ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย หลัก ๆ มีดังนี้

>> ด้านการเมืองการปกครอง
รับผิดชอบเกี่ยวกับการอำนวยการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปกครอง และการบริหาร หน่วยราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และการรักษาความมั่นคงของชาติ

>> ด้านเศรษฐกิจ 
รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจะต้องประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรับผิดชอบการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร

>> ด้านสังคม
รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชน และการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

>> ด้านการพัฒนาทางกายภาพ
รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดชุมชนการจัดที่ดิน การให้บริการขั้นพื้นฐานในชนบท การจัดผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ และการให้บริการสาธารณูปโภคในเขตเมือง

31 มีนาคม พ.ศ. 2330 น้อมรำลึกวันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระบิดาแห่ง 'การค้า-การพาณิชย์นาวีไทย-การแพทย์แผนไทย' แห่งสยาม

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี และทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม (ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน)

เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ ครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2352 พระองค์ ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรม พระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงกำกับราชการกรมท่า ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเรียกพระองค์ว่า ’เจ้าสัว‘

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวม พระชนมพรรษาได้ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เฉลิมพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 3 ใหม่ เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ออกพระนามโดยย่อว่า ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3’

ตลอดระยะเวลาที่รัชกาลที่ 3 ทรงครองราชสมบัติ ประมาณ 27 ปี ตั้งแต่ปี 2367-2394 พระองค์ทรงปกครองประเทศโดยทำนุบำรุงให้ชาติเข้มแข็งรุ่งเรือง โดยทรงมีส่วนร่วมกับขุนนางในการบริหารราชการ และทรงควบคุมกิจการบ้านเมืองด้วยพระองค์เองมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ และทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศชาติอย่างหลากหลายวิธี อาทิ การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้าและแรงงานเป็นการชำระด้วยเงินตรา รวมถึงมีการเก็บภาษีตั้งขึ้นใหม่ถึง 38 อย่าง เพื่อมิให้บังเกิดความขาดแคลนเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลก่อน อีกทั้งยังได้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศ สร้างกองทัพเรือ ขุดคูคลอง สร้างป้อมปราการเพื่อรักษาปากน้ำจุดสำคัญ ๆ 

หรือจะเป็นด้านการค้ากับต่างประเทศ พระองค์ทรงสนับสนุนส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ากับจีนมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงดำรงพระอิสสริยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ส่งผลให้พระคลังสินค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ มีการแต่งสำเภาทั้งของราชการ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าชาวจีนไปค้าขายยังเมืองจีนและประเทศใกล้เคียง รวมถึงการเปิดค้าขายกับมหาอำนาจตะวันตกจนมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างกันคือ สนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ. 2369 และ 6 ปีต่อมาก็ได้เปิดสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและมีการทำสนธิสัญญาต่อกันใน พ.ศ. 2375 นับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สหรัฐอเมริกาทำกับประเทศทางตะวันออก ส่งผลให้ไทยได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก และในขณะเดียวกันก็ทำนุบำรุงประเทศพร้อมกันไปด้วย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาต่าง ๆ เช่น ในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ถวายพระราชสมัญญาว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า และได้ใช้เป็นสร้อยพระนามสืบมาจนปัจจุบัน ต่อมา พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการค้าไทย พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย และในปี พ.ศ. 2558 ถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย

ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็น วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันมหาเจษฎาบดินทร์ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และเห็นชอบให้ให้ถวายพระราชสมัญญาว่า ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ แปลว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่’

30 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ เสด็จฯ เปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา รพ.ศิริราช ใช้รองรับผู้ป่วยนอกได้ 5 แสนราย/ปี พร้อมมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเทียบเท่าสากล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุงเทพฯ

ครั้นเมื่อเสด็จฯ ถึงโรงพยาบาลศิริราช สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงเฝ้าฯ รับเสด็จ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น พระองค์ทรงเสด็จฯ ไปถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แล้วเสด็จฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล และจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ความว่า…

“ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภคทดแทนกลุ่มอาคาร 3 หลัง ได้แก่ อาคารหริศจันทร์-ปาวา ตึกผะอบนพ สุภัทรา ระเบียบ และอาคารเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม”

“ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 50 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชมีอาคารแพทย์ที่ให้บริการเฉพาะทางอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพและประสิทธิภาพด้านบริการ”

“การนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา มีความหมายว่าอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

“อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา สูง 25 ชั้นมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น แบ่งการใช้งานพื้นที่ตามลักษณะงาน ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจพิเศษต่าง ๆ รองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในประมาณ 20,000 รายต่อปี สามารถให้บริการทางแพทย์และและการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือทันสมัยได้อย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล”

“นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงทางเดินยกระดับ และทางเชื่อมระหว่างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา กับอาคารอื่น ๆ เพื่อความสะดวกคล้องตัวและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งรับปรุงสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ให้สวยงาม ปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดบริการให้ประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว”

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา 

ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จฯ ไปยังอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทอดพระเนตรนิทรรศการ ‘นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์’ ภายในอาคารจัดแสดงข้อมูลและนวัตกรรมภายในอาคาร เช่น ศูนย์รังสีวินิจฉัยกับเครื่องถ่ายภาพรังสีโพซิตรอนและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้ตรวจหาการแพร่กระจายในระยะเริ่มต้นของโรคมะเร็ง, ห้องจัดยาผู้ป่วยนอกอัตโนมัติ ซึ่งนำระบบจัดยาอัตโนมัติแบบครบวงจรมาให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ต่อมาเสด็จฯ ทอดพระเนตรเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็คตรอน พร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเครื่องแรก และเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

และทรงเสด็จฯ ไปทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก แล้วฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารและคณะกรรมการ สมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนทั่วไป ครอบครัวผู้ป่วย เดินผ่านเข้าจุดคัดกรองเพื่อมารอเฝ้าฯ รับเสด็จ ซึ่งจัดไว้ตามเส้นทางเสด็จภายในโรงพยาบาลศิริราช ครั้นเสด็จฯ ถึงบริเวณด้านหน้าอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ประชาชนพร้อมใจเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวลทักทายประชาชน

สำหรับอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อศูนย์การแพทย์ว่า ‘อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา’ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556 และชื่อกำกับภาษาอังกฤษว่า ‘Navamindrapobitr 84th Anniversary Building’ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีความหมายว่า “อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเงิน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน

นอกจากนี้ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อสมทบทุนอาคารมาอย่างต่อเนื่อง นับจากวันแรกที่โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของศิริราชและประชาชาติไทย

ทั้งนี้ อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียงไอซียูเพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง

ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ในแต่ละชั้น อาทิ ชั้นบี 2 ศูนย์รังสีรักษาศิริราช (Siriraj Radiation Oncology Center) ศูนย์แห่งนี้มีเครื่องฉายรังสีที่ใช้รักษาผู้ป่วย มะเร็งที่เรียกว่า LINAC (Linear Accelerator) จำนวน 5 เครื่อง

นอกจากสามารถฉายรังสีในหลากหลายเทคนิคแล้ว ยังมีเครื่องที่มีนวัตกรรมทางการฉายรังสีขั้นสูง คือ เครื่องเร่งอนุภาค MR LINAC ที่เป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความแม่นยำสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

โดยชั้น 4 ศูนย์รังสีวินิจฉัย (Diagnostics Radiology Center) ให้บริการ MRI จำนวน 2 เครื่อง CT จำนวน 1 เครื่อง ห้องตรวจ PET/CT (PET/CT Imaging Unit) จำนวน 1 เครื่อง และศูนย์ภาพวินิจฉัยเต้านมศิริราช (Siriraj Breast Imaging), ชั้น R3 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) เป็นต้น โดยเริ่มเปิดทยอยให้บริการทางการแพทย์มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2561 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ เสด็จฯ เปิดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สะท้อนอีกมุมพระปรีชาด้านงานศิลปะที่รัก ควบคู่ภารกิจนานัปการ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่รวบรวมมาจัดแสดงครั้งแรก ภายใต้ชื่อนิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ในการทรงศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

โดยการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยพระองค์ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ถึงแรงดลใจที่ทำให้สนพระทัยในการวาดรูปว่า

“สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบศิลปะก็ตาม”

“แต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองว่ายังมีสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และมีความสุขเมื่อได้คิดถึงและมีโอกาสทำได้ สิ่งนั้นคือ การทำงานศิลปะ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีเวลาเหลือจากการปฏิบัติพระราชภาระ ข้าพเจ้ามีความสุขมากเมื่อได้ทำงานที่อยู่กับตัวเองและรู้สึกถึงโลกของตัวเอง มีอิสรภาพ ไม่คิดฝัน จินตนาการได้ตามใจไม่มีขีดจำกัด ความรู้สึกขณะนั้นทำให้เข้าใจและตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งนี้อาจเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้การทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ให้กับตัวเอง”

ส่วนแรงบันดาลพระทัยที่ทำให้ทรงวาดรูป ‘เสือ’ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“เสือและสิงโตเป็นสัตว์สี่เท้าที่ข้าพเจ้ารักและสนใจมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เสือและสิงโตเป็นรูปธรรมในการแสดงออกในผลงานศิลปะของข้าพเจ้า”

และเหนือสิ่งอื่นใด ‘พระราชบิดา’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแรงบันดาลพระทัยในผลงานศิลปะครั้งนี้ด้วย

“เสือที่ปรากฏในผลงานชุดวิทยานิพนธ์ คือรูปสัญลักษณ์แทนความหมายของเจ้าป่าหรือพระราชา เป็นราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

“แรงบันดาลใจจากความใกล้ชิดผูกพัน เคารพรัก เทิดทูน และตระหนักซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ผสมผสานกับภาพลักษณ์ของเสือ สิ่งมีชีวิตที่สงบสง่าเป็นเจ้าป่า เป็นราชาแห่งพงไพร นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทางศิลปะเชิงจินตนาการ โดยหยิบยืมลักษณะของเสือที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตามาถ่ายทอดผ่านทักษะกระบวนการวาดเส้นและงานจิตรกรรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในจิตใจภายใต้แนวคิด ราชาแห่งความรักและความเมตตา”

ส่วนรูปแบบและแนวความคิดของผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสนอในรูปแบบของงานศิลปะกึ่งแฟนตาซี กึ่งเหนือจริงผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ใจ โดยไม่ยึดถือแนวทางตามหลักวิชาการ โดยทรงใช้เทคนิคการทรงงานด้วยสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทรงงานด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่นและทำลายสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“การสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์ จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแสดงแนวคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างสรรค์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวของเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน เป็นเสือที่มีแต่ความรู้สึกด้านบวก มีพลังแห่งความดีงามอยู่ภายในจิตใจเสมอ”

ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ จัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุดเสือและผีเสื้อในอิริยาบถต่างๆ รวม 239 ภาพ แบ่งเป็นนิทรรศการชั้น 1 จัดแสดงผลงานประติมากรรมเสือ, ชั้น 2 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดเสือกับสิ่งแวดล้อมและการจัดวาง เสือกับสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเสือกับจินตนาการสร้างสรรค์, ชั้น 3 เสือกับลายเส้น ขาว-ดำ อัตลักษณ์ของเสือ และเสือกับธรรมชาติ และชั้น 4 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดผีเสื้อ ลวดแขวนชุดผีเสื้อ และผลงานอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ชุดผีเสื้อ

ด้าน ศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มศก. กล่าวว่า การที่พระองค์เสด็จเข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ ได้สร้างความแปลกใจแก่ตนอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งมีผู้ขอพระราชทานถวายพระสมัญญาว่า ‘เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ แต่เมื่อเสด็จฯ มาทรงศึกษาในสาขาศิลปกรรม กลับทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมในระดับเท่าเทียมกับศิลปินอาชีพ

“ในระหว่างทรงศึกษาในสาขาวิชาทัศนศิลป์ ทรงปฏิบัติพระองค์ดังเช่นนักศึกษาทั่วไป ทรงปฏิบัติตามเงื่อนไขของหลักสูตรและการสอน ทรงเสนอผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เพื่อให้คณาจารย์กราบทูลสอนและแนะนำ จนมีจำนวนผลงานที่มากกว่านักศึกษาที่ศึกษากันตามปกติ แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะกับผลงานมากกว่า 300 ชิ้น และเมื่อคณาจารย์กราบทูลสอนแต่ละครั้ง ทรงมีผลงานมากกว่า 10 ชิ้น มาพระราชทานคณาจารย์กราบทูลแนะนำทุกครั้ง ทำให้คณาจารย์ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ต้องทรงปฏิบัติภารกิจอื่นๆ เป็นอันมาก แต่ยังทรงมีเวลาเพื่อทำงานศิลปะได้มากมายเช่นนั้นได้อย่างไร” ศ.พิษณุ กล่าว

ด้าน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมปี 2557 หนึ่งในคณาจารย์ผู้ถวายการสอน กล่าวว่า พระองค์เคยมีรับสั่งถึงแรงบันดาลพระทัยด้านศิลปะ มาจากการได้ทรงออกแบบจิวเวลรีให้บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ที่ว่าจ้างเพื่อนำไปผลิตและจำหน่าย ขณะที่ทรงนำรายได้จากการออกแบบไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กระทั่งทรงออกแบบต่อเนื่องเป็นหลายร้อยชิ้น จึงสนพระทัยงานศิลปะโดยตรงอย่างจริงจัง

“ตอนสอนก็สังเกตว่า พระองค์หากสนพระทัยด้านใด ก็จะไปศึกษาค้นคว้า แต่กับงานด้านศิลปะ ทราบว่าพระองค์ไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน แต่ทรงศึกษาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นจุดเด่นของศิลปะของพระองค์คือ การใช้จินตนาการและความคิดที่มองข้ามการใช้ทักษะ อย่างวาดเสือ ผีเสื้อ ดอกไม้ จากจินตนาการกว่าความเป็นจริงทางธรรมชาติ และทรงต้องการจะสื่อความหมายออกมา”

“อย่างช่วงงานพระบรมศพในหลวง ร.9 ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ผีเสื้อกับดอกบัวที่สวยมาก ไปถวายที่เบื้องหน้าพระบรมโกศ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แต่ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงอื่น ๆ ก็สื่อไปด้วยความหมายต่อความรักความผูกพันที่มีต่อในหลวง ร.9 เช่น เสือที่นอนแนบกับแผ่นดิน เสือลุยไฟ ที่ต้องการสื่อถึงความยากลำบาก อุปสรรคของในหลวง ร.9 เสือที่มองเหลียวกลับมายังแผ่นดิน แฝงความหมายว่าในหลวง ร.9 มองมาที่แผ่นดินและราษฎร เหล่านี้ทรงสื่อความหมายเสือคือผู้ปกครองเหนือราชอาณาจักร อันสื่อถึงในหลวง ร.9 พระราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา”

ซึ่ง อ.ปัญญา จึงขอยกย่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่าทรงเป็นศิลปินที่หายากในโลก ด้วยทรงใช้เหตุผลและจินตนาการสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานศิลปะ ดั่งศิลปินระดับโลก เช่น เลโอนาร์โด ดาวินชี และเหมือนอัครศิลปินคือ ในหลวง ร.9 และมีความเพียรในการวาดภาพฝีพระหัตถ์ โดยจะทรงพกกระดานวาดภาพไปทุกครั้ง อย่างบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังทรงงานด้านศิลปะ ทรงวาดภาพเป็นประจำทุกวัน กระทั่งภายใน 3 ปี มีภาพวาดฝีพระหัตถ์กว่า 300 ภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อลายเสือ จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ บริเวณบูธ Art Shop ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยเสื้อลายเสือจากภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ จะเป็นภาพเสือในอิริยาบถต่าง ๆ และด้านล่างจะมีลายเซ็นพระนาม ‘ChulabhornMahidol’ ทุกตัว ราคาจำหน่าย ‘เสื้อยืด’ 350 บาท และ ‘เสื้อโปโล’ 450 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะทูลเกล้าถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยากไร้ในพระอนุเคราะห์ สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และเสริมรายได้ให้ประชาชน

28 มีนาคม พ.ศ. 2451 วันคล้ายวันประสูติ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์’ ผู้ทรงสร้าง ‘ตึกจักรพงษ์’ สถานที่พบปะเรียนรู้-ทำกิจกรรม ในรั้วจุฬาฯ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก (สกุลเดิม เดสนิตสกายา) พระชายาชาวรัสเซีย ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 เมื่อเวลา 23.58 น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน

พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 - 2470 จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (ศศ.บ. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท (ศศ.ม. เกียรตินิยม) นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2475 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สหราชอาณาจักร เพื่อทรงสำรวจว่า จะทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใด โดยครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตามเสด็จ ได้กราบทูลว่า ต้องการช่วยเหลืออาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ให้มีสถานที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงพระราชทานคำแนะนำว่า ควรสร้างสโมสรสถาน ให้อาจารย์และนิสิตใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และเล่นกีฬาในร่ม เพราะช่วงเวลานั้นนิสิตไม่มีอาคารเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงประทานเงินจำนวน 20,000 บาท ให้สร้างขึ้นในปี 2475 และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์ ไปในคราวเดียวกัน 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตึกจักรพงษ์ได้กลายเป็นสถานที่ให้นิสิตได้รวมตัวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีการจัดตั้งสโมสรต่าง ๆ ให้นิสิตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงเป็นสถานที่เชื่อมการสมาคมในหมู่อาจารย์ นิสิตเก่า นิสิตใหม่ เข้าหากัน หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักอาศัยของเหล่าเด็กกิจกรรม ที่ทำงานกันจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับหอพัก 

ดังนั้น ตึกจักรพงษ์เป็นแหล่งรวมความทรงจำดี ๆ มากมาย และตึกจักรพงษ์ไม่เคยเงียบเหงา กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะเหล่านักคิด นักทำอย่างแท้จริง และล้วนมีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ 

จวบจนเมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่อสโมสรย้ายออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ ตึกจักรพงษ์จึงได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top