28 มีนาคม พ.ศ. 2451 วันคล้ายวันประสูติ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์’ ผู้ทรงสร้าง ‘ตึกจักรพงษ์’ สถานที่พบปะเรียนรู้-ทำกิจกรรม ในรั้วจุฬาฯ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก (สกุลเดิม เดสนิตสกายา) พระชายาชาวรัสเซีย ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 เมื่อเวลา 23.58 น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน

พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 - 2470 จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (ศศ.บ. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท (ศศ.ม. เกียรตินิยม) นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2475 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สหราชอาณาจักร เพื่อทรงสำรวจว่า จะทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใด โดยครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตามเสด็จ ได้กราบทูลว่า ต้องการช่วยเหลืออาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ให้มีสถานที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงพระราชทานคำแนะนำว่า ควรสร้างสโมสรสถาน ให้อาจารย์และนิสิตใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และเล่นกีฬาในร่ม เพราะช่วงเวลานั้นนิสิตไม่มีอาคารเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงประทานเงินจำนวน 20,000 บาท ให้สร้างขึ้นในปี 2475 และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์ ไปในคราวเดียวกัน 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตึกจักรพงษ์ได้กลายเป็นสถานที่ให้นิสิตได้รวมตัวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีการจัดตั้งสโมสรต่าง ๆ ให้นิสิตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงเป็นสถานที่เชื่อมการสมาคมในหมู่อาจารย์ นิสิตเก่า นิสิตใหม่ เข้าหากัน หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักอาศัยของเหล่าเด็กกิจกรรม ที่ทำงานกันจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับหอพัก 

ดังนั้น ตึกจักรพงษ์เป็นแหล่งรวมความทรงจำดี ๆ มากมาย และตึกจักรพงษ์ไม่เคยเงียบเหงา กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะเหล่านักคิด นักทำอย่างแท้จริง และล้วนมีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ 

จวบจนเมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่อสโมสรย้ายออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ ตึกจักรพงษ์จึงได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย